บันทึก EISENHOWER FELLOWSHIP 2013 (28)

me-ethan.jpg

(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทางวันที่ 1 & 2วันที่สามวันที่สี่วันที่ห้าวันที่หกวันที่ 7 & 8วันที่เก้าวันที่สิบวันที่สิบเอ็ดวันที่สิบสองวันที่สิบสามวันที่สิบสี่วันที่สิบห้าวันที่สิบหกวันที่สิบเจ็ดวันที่สิบแปดวันที่สิบเก้าวันที่ยี่สิบวันที่ยี่สิบเอ็ดวันที่ยี่สิบสองวันที่ 23 & 24วันที่ยี่สิบห้าวันที่ยี่สิบหก, วันที่ยี่สิบเจ็ด, วันที่ยี่สิบแปด, วันที่ยี่สิบเก้า)

วันที่สามสิบ

บอสตัน :  29/10/2013

วันนี้เป็นวันอังคาร ได้เวลาเริ่มต้นครึ่งหลังของโปรแกรม พวกเราต่างคนต่างแยกย้ายกันไปทางใครทางมันเหมือนเดิม ผู้เขียนบินไปบอสตันกับเต๋า คืนนี้เมเกนจะบินมาเจอ ตามด้วยเอลิซาพรุ่งนี้ จะได้รวมตัวเป็น Eating Fellowship ตะลุยกินกันต่อไป ผู้เขียนอยากพาเพื่อนๆ ไปกินร้านโปรดที่เคยกินสมัยเรียนหนังสือที่นี่เมื่อยี่สิบปีก่อน

กว่าจะไปถึงบอสตันก็ค่ำแล้ว ต้องหมุนนาฬิกาเร็วขึ้นสามชั่วโมงอีกต่างหาก เพราะบินข้ามประเทศจากฝั่งตะวันตกมาตะวันออก เราพักที่โรงแรม Le Meridien อยู่ Central Square ระหว่างฮาร์วาร์ดกับเอ็มไอที แต่ค่อนไปทางเอ็มไอทีมากกว่า ผู้เขียนแทบไม่เคยมาแถวนี้เลยสมัยเรียนหนังสือ

โรงแรมแนะนำร้านอาหาร Cinderella’s เพราะเปิดถึงดึกดื่น เดินสองนาทีจากโรงแรมก็ถึง กว่าจะได้กินก็สี่ทุ่มกว่า แต่อาหารร้านนี้อร่อยดี กินกันสองคน สั่งมาสี่อย่าง กินกันพุงกางไปเลย

Dinner

Beef lasagna


วันที่สามสิบเอ็ด

บอสตัน :  30/10/2013

เช้านี้ตื่นมาก็ชวนเต๋าไปทานอาหารเช้าที่ Flour Bakery ร้านอาหารเช้าเจ้าอร่อยที่ผู้เขียนติดใจตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน สั่ง French toast กับเบคอนมากิน พลางอ่านหนังสือพิมพ์ Boston Globe ที่ถือติดมือมาจากโรงแรม ให้ความรู้สึกย้อนยุคเหมือนกลับไปเรียนปริญญาตรี

Flour Cafe

Breakfast

วันนี้ผู้เขียนไปตามนัดวันแรกในบอสตัน นัดแรกไปพบ อีริค กอร์ดอน (Eric Gordon) ผู้อำนวยการ Engagement Game Lab (EGL) ที่จริงนัดนี้เป็นของเอลิซา ผู้เขียนติดสอยห้อยตามมาเพราะสนใจประเด็นคาบเกี่ยวกัน ที่ทำงาน EGL อยู่ในสถานที่ที่ดีมาก คือไชน่าทาวน์ในบอสตัน คุยเสร็จเดินไม่กี่ก้าวก็หาขนมจีบซาละเปาอร่อยๆ กินได้ 🙂

อีริคเล่าว่าแล็บแห่งนี้ทำหน้าที่ประดิษฐ์ “ระบบขี้เล่น” (playful systems) ต่างๆ ขึ้นมาช่วยงานขององค์กรอื่นที่อยากกระตุ้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน หลายโครงการมีรูปแบบคล้าย “เกมคอมพิวเตอร์” แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะมีส่วนที่เล่นกันออฟไลน์ด้วย เพราะอยากกระตุ้นการมีส่วนร่วมในเกิดในโลกจริง เขายกตัวอย่างเกม Community PlanIt โครงการหลักของ EGL ว่า โค้ดเพื่อช่วยให้การวางแผนระดับชุมชนเป็นเรื่อง “สนุก” ดึงดูดให้สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วม

วิธีดึงดูดคนของเกมนี้คือ ให้เล่นทำคะแนน (ตัวเกมมักจะเป็นเซ็ตคำถามที่เกี่ยวกับปัญหาในชุมชน) ถ้าเล่นได้คะแนนจะได้ “เหรียญ” มาใช้โหวตให้กับ “ปัญหาน่าแก้” (cause) ที่ผู้เล่นเป็นคนเสนอเอง (แต่มีทีมงานคัดกรองก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นปัญหาของชุมชนนั้นๆ จริงๆ) ปัญหา 3 ข้อที่ได้เหรียญ (คะแนนโหวต) สูงสุดจะได้รับเงินในโลกจริงจากสปอนเซอร์ให้ไปแก้ปัญหาจริงๆ อีริคบอกว่า จุดเด่นของเกมนี้อยู่ที่ระบบเหรียญซึ่งดึงดูดให้คนมาเล่น เพราะอยากได้เหรียญไปโหวตให้กับปัญหาที่อยากแก้ จุดเด่นอีกข้อคือ ข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้เล่นก็ยังจัดเก็บอย่างเป็นระบบ ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อนักวางแผนหรือนักพัฒนาชุมชน เช่น สามารถเลือกดูผู้เล่นได้ตามเพศ อายุ อาชีพ เชื้อชาติ ฯลฯ นอกจากนี้ยังเลือกดูคอมเม้นท์ของคนเล่นบนเว็บเกมตามอาชีพได้ด้วย เช่น “นักเรียน” หรือ “เจ้าของกิจการ”

อีริคบอกว่าทีมของเขาพยายามโค้ดเกมให้ใช้ได้ในหลายพื้นที่ ตราบใดที่มีประเด็นเดียวกัน เช่น Community PlanIt: Life Online ช่วยผู้บริหารโรงเรียนศึกษาพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียในโรงเรียนเพื่อพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้อง เกมนี้เป็นเกม “สำเร็จรูป” หมายความว่าสามารถนำไปใช้ในโรงเรียนที่ไหนก็ได้และในเมืองไหนก็ได้

ถามว่าเขาวัดผลจากอะไรเป็นหลัก คำตอบคือดูจากจำนวนผู้เล่น ระดับความพึงพอใจ (ถามในแบบสอบถาม) และการสัมภาษณ์คนเล่นหลังจบโครงการ ถามต่อว่าความท้าทายหลักๆ อยู่ที่ไหน อีริคตอบทันทีว่าคนจำนวนมากเวลาพูดถึง “การพัฒนาชุมชน” จะมองไม่เห็นว่าต้องให้ “คน” มีส่วนร่วมขนาดไหน รัฐบาลท้องถิ่นหรือองค์กรพัฒนาชุมชนส่วนใหญ่ไม่มีศักยภาพที่จะระดมความคิดเห็นของคนในชุมชนได้มากขนาดนั้น เลยใช้เกมอย่าง Community PlanIt, StreetCred ฯลฯ ที่ EGL โค้ด เป็น “เครื่องมือ” ช่วยในการทำงาน

วันนี้สิ่งที่ EGL พยายามศึกษามากขึ้นคือคำถาม “เทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อการทำงานในชุมชนอย่างไร?” วันนี้ EGL ส่งนักวิจัยวัฒนธรรม (ethnographer) ไปนั่งทำงานกับองค์กรพัฒนาชุมชนที่ใช้เกมของ EGL เพื่อค้นคว้าหาคำตอบ แต่สิ่งที่เขาค้นพบแล้วคือ วิธีโค้ดเกมมีส่วนร่วม และเหตุผลที่ต้องให้คนมีส่วนร่วม – ทุกคนสามารถดาวน์โหลดคู่มือ “Engagement Game Guidebook” และอีริคก็เพิ่งตีพิมพ์งานวิจัย “Why We Engage: How Theories of Human Behavior Contribute to Our Understanding of Civic Engagement in a Digital Era” ร่วมกับผู้เขียนอีกสองคน อีริคเขียนเปเปอร์ชิ้นนี้ในนาม Berkman Center for Internet and Society ซึ่งเขาเป็น Fellow อยู่

Eric Gordon

คุยจบก็เที่ยงพอดี ผู้เขียนชวนเอลิซาเดินไปกินอาหารจีนที่ร้านโปรดสมัยเป็นนักเรียน ชื่อ Ocean Wealth แต่พอไปถึงก็พบว่าร้านนี้ปิดตัวไปนานแล้ว เลยเฉียดไปกินขนมจีบซาละเปาที่ร้าน China Pearl แทน ผู้เขียนสังเกตว่าไชน่าทาวน์ดูสะอาดสะอ้านกว่าตอนที่ผู้เขียนมาเรียนหนังสือ มีภาพวาดผนังตึกสวยๆ กับเขาด้วย

China Pearl

Mural

หลังเที่ยงผู้เขียนกับเอลิซาไปพบ ไนเจล (Nigel) กับ คริส (Chris) สองผู้อำนวยการ New Urban Mechanics ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “think tank/incubator” ของเทศบาลเมืองบอสตัน ทีมนี้ใช้ชื่อนี้เพราะเป็นความคิดริเริ่มของ โธมัส เมนิโน (Thomas Menino) นายกเทศมนตรีบอสตันคนก่อน ผู้ได้รับการขนานนามว่า “urban mechanic” เพราะชอบลงพื้นที่ แก้ไขปัญหาโครงสร้างต่างๆ ให้กับประชาชน ตั้งแต่ท่อแตก ท่อซึม ฯลฯ

New Urban Mechanics (NUM) ก่อตั้งมาได้สี่ปีแล้ว มีทีมงานทั้งหมดห้าคน วิธีทำงานคือ ทำ “การทดลอง” ร่วมกับพันธมิตร (ภาคเอกชน เอ็นจีโอ หรือพลเมืองปัจเจก) เชื่อมผู้เชี่ยวชาญในสถานีตำรวจ โรงเรียนรัฐ นักเทคโนโลยี นักการศึกษา ฯลฯ เข้าด้วยกัน เพื่อปรับปรุงบริการสาธารณะทั้งหลายที่อยู่ในข่ายอำนาจของเทศบาล เน้นสี่หัวข้อหลักคือ 1) การศึกษา 2) สาธารณูปโภค 3) การขนส่ง และ 4) การมีส่วนร่วมของพลเมือง ที่ผ่านมาทำการทดลองไปแล้ว 50-55 เรื่อง “ล้มเหลว” (คือไม่คิดจะเอากลับมาทำใหม่) ประมาณ 10 เรื่อง

นอกจากจะอยากพัฒนาบริการสาธารณะผ่านการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ เป้าหมายอีกประการของ NUM คืออยากให้พลเมืองบอสตันกลายเป็น “นักนวัตกรรม” ในภาคพลเมือง ทุกวันนี้ก็มีคนเดินมาเสนอโครงการมากมาย ทำให้ทีม NUM มองว่าตัวเองเหมือนกับ “นักปลุกปั้นธุรกิจระยะเริ่มต้น” (early-stage incubator) ไนเจลเล่าว่าทุกวันนี้คนที่มาหาพวกเขาแบ่งได้เป็นสองประเภท คือ 1) คนที่มาขอความรู้เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ของเมือง ไม่ว่าจะเป็นเอ็นจีโอ นักวิชาการ นักเทคโนโลยี ฯลฯ และ 2) พลเมืองที่อยู่กับปัญหาโดยตรง มาบ่นเรื่องปัญหาให้ฟัง กลุ่มนี้มักไม่มีประสบการณ์ด้านนวัตกรรมใดๆ แต่ยินดีเป็น “หนูทดลอง” หรือทดสอบโปรแกรม (beta-testers) ให้

โครงการของ NUM ที่ประสบความสำเร็จสูงมากคือ Citizens Connect แอพมือถือซึ่งให้คนบอสตันรายงานปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับบริการของเทศบาลซึ่งประสบด้วยตนเองให้เทศบาลรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นทางเท้าแตก ขยะท่วม รถเมล์มาช้า ฯลฯ วันนี้ข้อร้องเรียนราวร้อยละ 20 มาจากแอพตัวนี้ วันนี้ต่อยอดออกไปอีกด้วย StreetCred “เกมการมีส่วนร่วมของพลเมือง” โดย Engagement Game Lab ที่พวกเราไปพบเมื่อเช้า คือใครรายงานปัญหาได้เยอะจะได้ “cred” (แทนความน่าเชื่อถือ) เยอะ จูงใจให้คนแข่งกันใช้แอพ

ผู้เขียนถามว่า ความล้มเหลวที่เขาชอบคืออะไร เพราะเชื่อว่าความล้มเหลวน่าจะให้บทเรียนดีๆ มากมาย ไนเจลตอบว่าโครงการล้มเหลวที่เขาชอบคือ One Card โครงการปรับบัตรประชาชนของเด็กๆ ให้ใช้บริการสาธารณะทุกชนิด (ห้องสมุดสาธารณะ ฯลฯ) ที่จริงโครงการนี้ไม่ใช่ความล้มเหลวเสียทีเดียว เพราะวันนี้เด็กๆ ระดับมัธยมต้นกับมัธยมปลายทุกคนมีบัตรใบนี้แล้ว แต่ส่วนที่ล้มเหลวคือไม่สามารถยกระดับโครงการนี้ไปทำอย่างอื่นได้ เช่น ใส่ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ลงในบัตร

NUM มีส่วนที่เป็นการวิจัยและพัฒนาด้วย เพราะด้วยความที่เป็นส่วนหนึ่งของเทศบาล มีข้อมูลต่างๆ มากมายในมืออยู่แล้ว เช่น วันนี้รู้ว่ามีปัญหาด้านการศึกษาในเมืองบอสตัน ก็เลยไปขอความช่วยเหลือจาก Code for America ทีมกี๊ก (geek) ที่เก่งเรื่องการโค้ดแอพจากข้อมูลสาธารณะ งานหลายส่วนเพียงแต่ “เชื่อม” พลเมืองเข้ากับผู้เชี่ยวชาญผ่านเครือข่าย เช่น มีผู้หญิงชาวเมืองบอสตันมาบอกว่า อยากสร้างเครื่องมือช่วยการเรียนรู้ของเด็กออทิสติก NUM ก็เลยแนะนำนักเทคโนโลยีเก่งๆ ให้ คริสบอกว่า NUM ไม่ “หวงของ” ด้วย ถ้าหากทำโครงการไปแล้วพบว่ามีองค์กรพัฒนาชุมชนได้ดีกว่า

ผู้เขียนถามว่าเขา “กัน” ความเสี่ยงจากการทดลองต่างๆ ไม่ให้กระทบกับการทำงานปกติของเทศบาลอย่างไร เขาตอบว่าต้องสร้าง “กำแพง” (firewall) ระหว่างการทำงานของทีมนี้กับเทศบาล เพราะประชาชนไม่อยากเห็นรัฐ “ล้มเหลว” เพราะจะขาดความมั่นใจ แต่ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่จำเป็นและขาดไม่ได้ในการทำงานของนักนวัตกรรมและ incubator ทั่วไป ฉะนั้น NUM จึงทดลองกับกลุ่มย่อยหลายครั้งก่อนเปิดสู่สาธารณะ จะได้ “ล้มบ่อย ล้มเร็ว และล้มถูก” (fail often, fail  fast, and fail cheap) ตามหลักการสร้างกิจการใหม่ที่ดี

ใน 5 ปี ไนเจลอยากขยายเครือข่าย New Urban Mechanics ข้ามเมืองและขยายไปยังกลุ่มอื่นๆ ในเมืองที่หลากหลายกว่าเดิมด้วย

New Urban Mechanics

ไนเจลให้ข้อคิดปิดท้ายว่า ไม่มีทางที่ใครจะ “สร้างนักนวัตกรรม” ได้ สิ่งเดียวที่ทำได้คือ “สร้างบรรยากาศ” ที่เอื้อต่อการคิดนวัตกรรม (ฟังแล้วเหมือนหนังสือที่ผู้เขียนชอบเล่มหนึ่ง คือ Where Good Ideas Come From โดย สตีเวน จอห์นสัน (Steven Johnson))

ก่อนออกจากศาลาว่าการเมือง เอลิซากับผู้เขียนแวะเข้าไปในห้องโมเดลเมืองบอสตัน โมเดลนี้ทำจากไม้ แสดงการใช้สอยพื้นที่ปัจจุบัน และบริเวณพัฒนาใหม่

3D model

ศาลาว่าการเมืองบอสตันเป็นตึกสมัยใหม่ เขาอนุรักษ์ศาลาว่าการเก่าเอาไว้ ผู้เขียนเลยพาเอลิซาเดินไปดู ศาลาแห่งนี้อดีตเคยเป็นโรงเรียนสอนภาษาละติน เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) รัฐบุรุษคนสำคัญของอเมริกา เคยมาเรียนโรงเรียนนี้สมัยเขายังเด็ก มีลา (สัญลักษณ์ของพรรคเดโมแครต) ให้คนถ่ายรูปคู่ด้วย

Latin School

นัดสุดท้ายของวันผู้เขียนกับเอลิซาเดินทางไปพบ อีธาน ซุกเคอร์แมน (Ethan Zuckerman) นักเทคโนโลยีผู้เป็นฮีโร่ในดวงใจของผู้เขียนอีกคน อีธานวันนี้เป็นผู้อำนวยการศูนย์สื่อพลเมือง (MIT Center for Citizen Media) ที่มหาวิทยาลัยเอ็มไอที ยังเขียนเรื่องความท้าทายของสังคมเน็ต สื่อพลเมือง นโยบายที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพเน็ตและความเป็นส่วนตัวอย่างสม่ำเสมอ

อีธานเป็นสุดยอดอัจฉริยะ คุยกันแป๊บเดียวเขาก็ “เก็ต” ว่าผู้เขียนอยากได้คำปรึกษาเรื่องอะไร อีธานมีข้อแนะนำสามเรื่องในการขับเคลื่อนเสรีภาพเน็ตในเมืองไทย

1. ร่วมมือกับองค์กรอย่าง Accessnow.org (ไปคุยมาแล้ว) ที่พยายามช่วยบล็อกเกอร์กับนักข่าวทำงาน สิ่งที่นักเคลื่อนไหวในแต่ละประเทศทำได้คือ สร้างความตระหนักและตื่นตัวให้กับคนในประเทศ

2. บันทึกข้อมูลการเซ็นเซอร์เน็ตโดยรัฐและเอกชน ผ่านเครื่องมืออย่าง Herdict.org และติดตามรายงานอย่าง Transparency Report ของ Global Network Initiative ช่วยคิดว่าจะปรับปรุงอย่างไรให้ “มองเห็น” แบบแผนการเซ็นเซอร์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยมากขึ้น

3. เขาเข้าใจดีว่ามี “กำแพง” มากมายที่กีดขวางการรณรงค์เรื่องเสรีภาพเน็ตในไทย (บ่นให้ฟังเรื่องกฏหมายหมิ่นฯ ซึ่งขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลและแยกไม่ออกจากประเด็นเสรีภาพเน็ต เพราะคนใช้เน็ตวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ มากขึ้นมาก) แต่อีธานเสนอว่า ทำไมไม่ลองเปลี่ยนวิธีคิด ลองคุยกันว่าผู้ใช้เน็ตไทยจะมี “เสียง” ในการเสนอนโยบายกำกับเน็ตโลกได้อย่างไร แทนที่จะคิดแต่ปัญหาในประเทศ เพราะถ้าสู้เรื่องกฏหมายหมิ่นฯ มันก็จะเป็นการต่อสู้ “ของไทย” ประเทศเดียว เพราะเป็นบริบทไทย นักเสรีภาพเน็ตในประเทศอื่นช่วยอะไรไม่ได้

Ethan Zuckerman

อีธานท้าทายผู้เขียนว่า น่าจะลองคิดใหม่ ตั้งคำถามใหม่ว่า “กฏหมายอินเทอร์เน็ตที่ดีสำหรับไทยควรมีหน้าตาอย่างไร” กฎหมายที่สอดคล้องกับธรรมเนียมในชาติและหลักปฏิบัติระดับสากลไปพร้อมกัน ถ้าทำได้ ประเทศไทยก็จะเป็น “ข้อพิสูจน์” (proof positive) ว่าสามารถเขียนกฏหมายแบบนี้ได้ ทุกคนพร้อมสนับสนุนผู้ใช้เน็ตไทยในการเขียน “กฏหมายเน็ตในฝัน” เพราะทุกคนรู้ดีว่าวันนี้คนใช้เน็ตไทย “ไม่มีเสียง” บนเวทีโลก และรู้ว่ากฏหมายเน็ตของเราค่อนข้างแย่

ข้อท้าทายที่อีธานโยนมาให้ผู้เขียนน่าคิดมาก ผู้เขียนรับปากว่าจะกลับไปทำการบ้านกับคนอื่นที่สนใจเรื่องเสรีภาพเน็ตและกลไกกำกับเน็ตที่เมืองไทยต่อไป

ผู้เขียนถามว่าเขากังวลเรื่องแนวโน้มที่สหประชาชาติอาจเข้ามา “กำกับ” อินเทอร์เน็ต เหมือนกับนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ หรือเปล่า อีธานตอบทันทีว่ากังวลสิ มีสองข้อกังวลคือ 1) สหประชาชาติอาจไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะกำกับเน็ต และ 2) ประเทศที่เซ็นเซอร์เน็ตหนักๆ อย่างจีนกับรัสเซียอาจก้าวเข้ามาควบคุมกลไก ในฐานะสมาชิกขนาดใหญ่ของสหประชาชาติ เขาบอกว่า การดันเรื่องเสรีภาพเน็ตตอนนี้ดันผ่านผู้แทนของอเมริกาไม่ได้ เพราะไม่มีใครไว้ใจหลังเกิดเรื่อง NSA/Snowden (พูดไปก็น้ำท่วมปาก) แต่ง่ายกว่าที่จะทำงานกับประเทศกำลังพัฒนา อย่างเช่นบราซิล

คุยกันเรื่องสื่อเล็กน้อย อีธานมองว่า โมเดลหารายได้ที่ตอนนี้ดูจะเวิร์กสำหรับสื่อดิจิตอลคือ ระบบให้คนเป็นสมาชิก (เก็บค่าอ่าน) กับเชื้อเชิญให้คนมาสร้างเนื้อหาโดยสมัครใจ แล้วหารายได้ทางอื่น

ถามเรื่องการกระตุ้นให้คนมีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เวทีออนไลน์ อีธานมองว่าตอนนี้เราเริ่มเข้าใจแล้วว่า การมีส่วนร่วมแบ่งได้สองแบบ คือ “อ่อน” (thin engagement) กับ “เข้ม” (thick engagement) แบบอ่อนคือแค่ขอให้คนแสดงตัว คลิกไลก์ ฯลฯ แบบเข้มคือการที่คนรู้สึกว่า ฉันรู้สึกเซ็งกับเรื่องนี้มาก อยากทำอะไรสักอย่าง เช่น เขียนบล็อก บริจาคเงิน ฯลฯ นอกจากนี้เรายังสามารถแบ่งการมีส่วนร่วมตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ว่า “สร้างผลกระทบ” จริงๆ (Impactful) (เช่น ตั้งทีมฟ้อง NSA ข้อหาละเมิดสิทธิ) หรือเป็นการแสดงออก “เชิงสัญลักษณ์” (Symbolic) เป็นหลัก (เช่น ใส่เสื้อยืดประณาม NSA) เขาลุกขึ้นไปวาดแผนผังให้ผู้เขียนดู และอธิบายว่า งานของนักกิจกรรม เอ็นจีโอทั่วไปที่ผ่านมาเน้นเรื่อง “เข้ม” และ “สร้างผลกระทบ” เป็นหลัก แต่วันนี้อินเทอร์เน็ตทำให้เราเห็นการเคลื่อนไหวในอีกสามโซนมากขึ้น และเอ็นจีโอก็เคลื่อนไปใช้อีกสามโซนมากขึ้นเช่นกันเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่

Engagement

ถามเรื่องความเคลื่อนไหวของภาค “สื่อพลเมือง” อีธานตอบว่าวันนี้สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในความเห็นของเขาคือ สื่อพลเมืองจำนวนมากใช้เทคโนโลยีเป็น มีโปรแกรมเมอร์ช่วยโค้ด เพิ่มพลังในการติดตามตรวจสอบรัฐ ยกตัวอย่าง โครงการ Safecast ผลิตและแจกจ่ายอุปกรณ์ราคาถูกที่วัดระดับรังสีให้ประชาชนใช้เองได้ ข้อมูลอัพโหลดขึ้นเป็น open data โครงการนี้ก่อตั้งขึ้นหลังเกิดภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะที่ประเทศญี่ปุ่น วันนี้เครือข่ายกำลังขยายไปยังเมืองอื่นๆ ทั่วโลก

ฉะนั้นคำถามที่น่าติดตามวันนี้คือ “เกิดอะไรขึ้นถ้าประชาชนกลายเป็นผู้ตรวจสอบ?” วันนี้มีโครงการเจ๋งๆ มากมาย เช่น หลายประเทศทำเว็บ “Promise Tracker” เชื้อเชิญให้คนช่วยเช็คว่านักการเมืองรักษาสัญญาที่ให้ไว้หรือไม่  ในประเทศเซเนกัล ทวีปแอฟริกา สื่อพลเมืองกลุ่มหนึ่งกำลังหาทางช่วยให้ประชาชนด้วยกันติดตามตรวจสอบรัฐหลังจากที่ผ่านฤดูเลือกตั้งไปแล้ว

ก่อนกลับอีธานให้ Rewire หนังสือเล่มใหม่ของเขามา แถมเซ็นให้อย่างน่ารักว่า “wishing you a wide and wonderful world” 🙂

Rewire

ล็อบบี้ของ MIT Media Labs มีนิทรรศการ พวกเราเลยเดินเล่นถ่ายรูปข้างในกันก่อนไป ต้นไม้แถวนี้ก็สวยมากเพราะเข้าฤดูใบไม้ร่วงแล้ว ข้างนอกออกมาก็ถ่ายรูปกันเพลินเช่นกัน

Media Lab 1

Media Lab lobby

Fall in Boston

ตกเย็นพวกเราไปหา อัมฮารี Fellow ชาวมาเลเซียที่โชคดีได้ตั๋วฟรีเข้าไปดูประธานาธิบดีโอบามา วันนี้โอบามามาพูดเรื่อง Obamacare ที่ Feneuil Hall ใกล้กับ Legal Sea Foods สาขาใหม่ที่ผู้เขียนจองโต๊ะไว้พอดี เราเลยแวะมาเจออัมฮารี (ซึ่งเปิดหน้ากล้องโชว์รูปโอบามาให้ดูด้วยความตื่นเต้น มีคนอเมริกันมามุงดูอีกสามคน) ก่อนเดินไปกินข้าว

Feneuil Hall

คืนนี้ผู้เขียนแนะนำเต๋ากับเอลิซาให้รู้จักอาหารทะเลอร่อยๆ จาก Legal Sea Foods เจ้าดังของบอสตัน ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เราสั่งล็อบสเตอร์, Lobster Bisque และหอยนางรมมากินกัน ผู้เขียนเลี่ยงไปสั่งปลาเพราะรู้ว่าพรุ่งนี้จะต้องกลับมาที่นี่อีกรอบ มีนัดกับเมเกนซึ่งจะตามมาสบทบ ไว้พรุ่งนี้ค่อยสั่งล็อบสเตอร์

Legal oysters

Legal lobster

ก่อนกลับโรงแรมผู้เขียนพาเพื่อนทั้งคู่ขึ้นรถไฟใต้ดินไปกิน J.P. Licks ไอสกรีมโฮมเมดเจ้าดังสมัยเรียน อยู่ใน Harvard Square วันนี้ไม่ค่อยโฮมเมดแล้วเพราะเปิดหลายสาขาทั่วทั้งเมืองบอสตัน

JP Licks