บันทึก EISENHOWER FELLOWSHIP 2013 (34)

chicago-model.jpg

(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทางวันที่ 1 & 2วันที่สามวันที่สี่วันที่ห้าวันที่หกวันที่ 7 & 8วันที่เก้าวันที่สิบวันที่สิบเอ็ดวันที่สิบสองวันที่สิบสามวันที่สิบสี่วันที่สิบห้าวันที่สิบหกวันที่สิบเจ็ดวันที่สิบแปดวันที่สิบเก้าวันที่ยี่สิบวันที่ยี่สิบเอ็ดวันที่ยี่สิบสองวันที่ 23 & 24วันที่ยี่สิบห้าวันที่ยี่สิบหกวันที่ยี่สิบเจ็ดวันที่ยี่สิบแปดวันที่ยี่สิบเก้าวันที่ 30 & 31, วันที่สามสิบสอง, วันที่สามสิบสาม, วันที่สามสิบสี่, วันที่สามสิบห้า, วันที่สามสิบหก)

วันที่สามสิบเจ็ด

ชิคาโก & เออร์บานา :  5/11/2013

วันนี้มีนัดสุดท้ายในเมืองชิคาโก ก่อนจะนั่งรถไฟบ่ายนี้ลงใต้ไปเออร์บานา (Urbana) ผู้เขียนเลยถือโอกาสจองทัวร์สถาปัตยกรรมอีกทัวร์ก่อนไป เพราะติดใจ Chicago Architecture Foundation ตั้งแต่ไปล่องเรือชมตึกริมน้ำวันก่อน

นัดสุดท้ายผู้เขียนไปพบ ลอเรน แพบส์ (Lauren Pabst) เจ้าหน้าที่มูลนิธิแม็คอาเธอร์ (MacArthur Foundation) มูลนิธิเก่าแก่อีกแห่งที่ให้ทุนสื่ออิสระ โดยเฉพาะห้องข่าวสืบสวนสอบสวนหลายแห่ง ลอเรนอธิบายว่ามูลนิธินี้สนับสนุนสื่อมา 30 กว่าปีแล้ว โดยเริ่มจากการออกทุนผลิตสารคดีโทรทัศน์เพื่อสื่อสาธารณะ วันนี้หันมาสนับสนุนข่าวสืบสวนสอบสวนมากขึ้นหลังจากที่ห้องข่าวใหญ่ๆ ลดการทำข่าวประเภทนี้ลงเพื่อลดต้นทุน หลักๆ มูลนิธิจะให้การสนับสนุนค่ายข่าวเจาะไม่แสวงกำไรอย่าง ProPublica และ Center for Investigative Reporting

ถามถึงแนวโน้มข่าวเจาะวันนี้เทียบกับในอดีต ลอเรนบอกว่าแนวโน้มที่ชัดเจนที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงจากการ “แข่งขัน” ในวงการสื่อ มาเป็นการ “ร่วมมือกัน” ทำงาน โดยเฉพาะ ProPublica ซึ่งตอนนี้จับมือเป็นพันธมิตรกับสื่อกระแสหลักหลายค่าย ในการกระจายข่าวเจาะไปสู่คนอ่านในวงกว้าง

แนวโน้มอีกเรื่องที่ชัดเจนมากคือ การที่ทุกค่ายโดยเฉพาะสื่อดิจิตอลหันมายึด “วารสารศาสตร์ข้อมูล” (data journalism) เป็นวิถีการทำข่าว ไม่มีสื่อค่ายไหนไม่เห็นความสำคัญของข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลอีกต่อไปแล้ว เธอยกตัวอย่างซีรีส์ “ช่องว่างการศึกษา” บนเว็บ ProPublica ว่า ทีมนักข่าวทำงานร่วมกับบริษัท Narrative Science (ตอนนั้นยังเป็น start-up ในโครงการของมหาวิทยาลัย Northwestern) ใช้โปรแกรมแปลงข้อมูลเป็น “เรื่องราว” โดยอัตโนมัติ (automatic text) ทำให้เนื้อข่าวดูซ้ำซากจำเจ แต่ก็มีประโยชน์สำหรับคนที่อ่านข้อมูล (ตัวเลข) ไม่เป็น ต้องอ่านเนื้อความเอา และทำให้เสิร์ชเจอจากกูเกิลง่าย

ลอเรนเล่าว่า มุมมองของ โจนาห์ เพเร็ตตี (Jonah Peretti) น่าสนใจ เขาคือ “เจ้าพ่อ” สื่อไวรัล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ยอดนิยมอย่าง BuzzFeed และ Huffington Post ซึ่งจัดวาง “ข่าวไร้สาระ” ที่ไม่ใช่ข่าว (เช่น “15 Reasons We Need a Drink”) ติดกับข่าวจริงๆ โจนาห์บอกว่า “นี่คืออนาคต” ของสื่อ นี่คือร้านกาแฟยุคใหม่ที่คนมาเจอกันเพื่อความบันเทิงและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ทั้งเรื่องไร้สาระและมีสาระอยู่ในพื้นที่เดียวกัน คนจะเลือกเนื้อหาที่เขาต้องการเสพเอง

ลอเรนมองว่าการผนวกข้อมูลเป็นส่วนหนึ่งของการทำข่าวนั้นมีหลากหลายรูปแบบ The New York Times เป็นตัวอย่างที่ดี ทุ่มเงินลงทุนเยอะมากไปกับการนำเสนอเรื่องราวแบบสารคดี (แต่เธอไม่ตอบคำถามว่า คิดว่ามัน “คุ้ม” หรือไม่) การที่สื่อจะใช้ข้อมูลได้หรือไม่ได้ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐด้วย ว่าจะเปิดเผยข้อมูลเป็นข้อมูลสาธารณะให้คนเข้าถึงมากขนาดไหน เมืองชิคาโกเป็นตัวอย่างของเมืองที่นายกเทศมนตรีมีนโยบายเปิดข้อมูล ช่วยให้สื่อที่นี่ทำงานวารสารศาสตร์ข้อมูลได้ง่ายกว่าเมืองที่รัฐยังไม่เปิดกว้าง

ถามเรื่องแนวโน้มการผนวกสื่อและวารสารศาสตร์ข้อมูลเข้ากับโครงการอื่นๆ ของมูลนิธิแม็คอาเธอร์ที่ไม่ใช่สื่อโดยตรง เธอบอกว่าตอนนี้หลายโครงการเริ่มใช้ศักยภาพด้านนี้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น โครงการ Chicago Micrahack เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิกับสถาบันยุติธรรมและวารสารศาสตร์ (Institute for Justice & Journalism ได้ทุนจากมูลนิธิฟอร์ด) โครงการนี้เปิดอมรมด่วน 3 วันให้กับนักข่าว ดึงโปรแกรมเมอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานอพยพ ฯลฯ มาร่วมมือกันใช้ข้อมูลสาธารณะให้เป็นประโยชน์ ใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับแรงงานอพยพในอเมริกา โดยเฉพาะชาวเมืองเชื้อสายสเปน (เม็กซิกัน บราซิล ฯลฯ) โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะสื่อใหญ่ๆ อย่าง New York Times กับ Washington Post ทำวารสารศาสตร์ข้อมูลเยอะแล้ว แต่ยังไม่แตะเรื่องการอพยพ ส่วนสื่ออิสระของชนกลุ่มน้อยสนใจข้อมูลเรื่องนี้แต่ทำวารสารศาสตร์ข้อมูลไม่เป็น ลอเรนเน้นว่าต้องขอบคุณนักข่าวรุ่นก่อนๆ ที่ใช้กฏหมายข้อมูลข่าวสารต่อเนื่องมา 50 ปี เรียกร้องข้อมูลต่างๆ จากรัฐ จนตอนนี้มีข้อมูลเป็นสาธารณะค่อนข้างมาก เอาเทคโนโลยีมาใช้วิเคราะห์และต่อยอดได้

อีกยกตัวอย่างที่แม็คอาเธอร์ให้ทุนและลอเรนชอบคือ OpenSecrets.org โครงการติดตามเส้นทางเงินในภาคการเมืองอเมริกัน นำข้อมูลการล็อบบี้ บริษัทล็อบบี้ที่ใช้เงินมากที่สุด ฯลฯ มาเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ เธอบอกว่าข้อมูลแบบนี้จำเป็นต่อการเสริมสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง

Marquette 1

กว่าจะคุยกับลอเรนเสร็จก็ผ่านไปชั่วโมงครึ่ง ได้เวลาไปทัวร์เมืองต่อ ผู้เขียนสังเกตว่าตึกสำนักงานของมูลนิธินี้ก็เป็นตึกเก่าร้อยปีสไตล์สำนักชิคาโกยุคแรกที่สวยมากแห่งหนึ่ง ชื่อ Marquette Building ผู้เขียนเลยเดินขึ้นเดินลง ถ่ายรูปตึกหลายใบ สังเกตว่าบนผนังชั้นล็อบบี้มีโมเสกเล่าประวัติศาสตร์เมืองชิคาโก สวยมากๆ

Marquette 2

ทัวร์ที่จองวันนี้ชื่อ “Elevated Architecture: Chicago’s Loop by “L”” – ตัว L ย่อมา “Loop” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของรถไฟฟ้าที่นี่ เพราะวิ่งเป็นสี่เหลี่ยมรอบย่านกลางเมือง ทัวร์นี้กินเวลา 90 นาที เป็นทัวร์สถาปัตยกรรมเหมือนกับที่ไปนั่งเรือวันก่อน แต่คราวนี้จะได้ดูตึกระฟ้าจากชานชาลารถไฟฟ้า รวมถึงได้ฟังประวัติของระบบ Loop ด้วย ซึ่งก็เข้มข้นและมีสีสันไม่แพ้ประวัติของเมืองชิคาโก คิดสะระตะแล้วน่าจะคุ้มค่าทัวร์ 20 เหรียญ

ทัวร์วันนี้มีลูกทัวร์แค่ 5 คน ไกด์เป็นผู้หญิง ชื่อลิน (Lynne) ทำงานประจำเป็นครู มาทำงานเป็นไกด์อาสาสมัครให้กับ Chicago Architecture Foundation เพราะรักเมืองนี้มาก อยากแนะนำให้คนอื่นได้รู้จัก (ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า มูลนิธินี้จัดทัวร์ที่ดังที่สุดในเมืองชิคาโก โดยมีกองทัพไกด์อาสาสมัครมากถึง 400 คน!)

Lynne

เราเริ่มต้นกันที่ตึกสำนักงานของมูลนิธิ อยู่ใกล้กับ Millennium Park ที่ไปเดินเล่นมาเมื่อวาน ในตัวอาคารมีโมเดล 3D ชิคาโก ประกอบนิทรรศการเรื่องการฟื้นฟูลุ่มน้ำและแม่น้ำชิคาโก ผู้เขียนก็เลยเดินถ่ายยกใหญ่ เพราะโมเดลนี้สวยกว่าโมเดลเมืองบอสตันที่ไปเห็นในออฟฟิศเทศบาลบอสตันหลายเท่า 🙂

3D Model

ลินพาเราขึ้นรถไฟฟ้า ทุกสองป้ายเราลงจากรถไฟมายืนที่ชานชาลา ฟังจีนอธิบายตึกรอบๆ ผู้เขียนจดโน้ตได้ไม่นานก็ยอมแพ้ เพราะอากาศวันนี้หนาวมาก ลมก็แรง ดันลืมเอาถุงมือติดมาจากเมืองไทย

Library 1

Library 2   

สองรูปบนคืออาคารห้องสมุด สร้างมาไม่นานแต่สร้างเลียนแบบสำนักชิคาโกเมื่อร้อยปีก่อน รูปปั้นยักษ์แก้มยุ้ยคือ “windy men” สัญลักษณ์ของเมืองนี้

สถานีรถไฟฟ้าแห่งหนึ่งคือ ควินซี (Quincy) ถูกอนุรักษ์ไว้ให้เหมือนสมัยที่ L เปิดทำการใหม่ๆ กว่า 120 ปีที่แล้ว ลองดูป้ายในรูปทางขวามือ สถานีนี้เมื่อก่อนทำเครื่องหมายเครื่องบินเป็นสัญญาณบอกว่าไปสนามบินได้ พอฟื้นฟูใหม่ก็เลยเปลี่ยนรูปเป็นเครื่องบินไบเพลนสมัยร้อยปีก่อน ให้เข้ากับบรรยากาศ ดูน่ารักดี 🙂

Quincy Station

airport sign   

Former power plant

อดีตโรงไฟฟ้าของเมือง วันนี้แปลงโฉมเป็นภัตตาคารหลายแห่ง

Citigroup Chicago

ตึก Citigroup Center สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้ดูเหมือน “น้ำตก” (ภาพจาก http://www.chicagoarchitecture.info)

ตอนบ่ายผู้เขียนนั่งรถไฟเกือบสามชั่วโมงลงใต้ไปเมืองเออร์บานา (Urbana) ในรัฐอิลลินอยส์เหมือนกัน แต่เมืองนี้เล็กกว่าชิคาโกหลายเท่า (ทั้งเมืองมีประชากรประมาณ 40,000 คน มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ใหญ่กว่าตัวเมืองอีก) เมืองนี้ผู้เขียนมาค้างบ้านของ ดาเนียล ไชโนเว็ธ (Danielle Chynoweth) เว็บดีไซเนอร์และนักเคลื่อนไหวเรื่องสื่อพลเมืองชื่อดัง ผู้ร่วมก่อตั้ง Urbana-Champaign Independent Media Center (UCIMC) ในปี 2000 ซึ่งเป็นองค์กรสื่อพลเมืองแรกๆ ในอเมริกา

ดาเนียลมารับผู้เขียนที่สถานีรถไฟตอนทุ่มครึ่ง บอกว่าจะพาไปเที่ยว UCIMC เลยดีกว่า เพราะกลางคืนมีกิจกรรมคึกคักกว่าตอนกลางวัน ความที่สื่อพลเมืองที่นี่ก็เหมือนกับสื่อพลเมืองที่อื่น คือทำงานสื่อ (ที่นี่ผลิตนิตยสาร ข่าวออนไลน์ และวิทยุชุมชน) ในฐานะอาสาสมัครด้วยใจรัก ไม่ใช่อาชีพประจำ ไม่มีใครเป็นสื่อมืออาชีพ

น่าแปลกใจและดีใจที่ UCIMC วันนี้เป็นเจ้าภาพรองรับกิจกรรมอื่นๆ มากมายของคนในชุมชนนอกเหนือจากสื่อ เช่น School for Designing a Better Society กลุ่มพลเมืองที่มาปรึกษาหารือกัน ทำงานด้วยกัน พยายามผลิตสื่อรณรงค์ให้คนในเมืองนี้สนใจตอบคำถาม “คุณอยากอยู่ในสังคมแบบไหน?” วันนี้เขากำลังคุยกันเรื่องการผลิตคลิปวีดีโอรณรงค์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และการเหยียดผิว คลิปวีดีโอที่ผลิตจะถูกส่งไปออกอากาศในทีวีท้องถิ่น ในช่วง public service announcement (ทีวีท้องถิ่นต้องกันเวลาโฆษณาจำนวนหนึ่งไว้ออก “โฆษณาเพื่อประโยชน์สาธารณะ” จากรัฐและองค์กรไม่แสวงกำไรต่างๆ)  ต่อไป

School for Designing Society  

ห้อง School for Designing a Society

Maker Faire

3D Printer

ห้อง Maker Faire อาสาสมัครทดลองผลิตอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อชุมชน มีปริ้นท์เตอร์ 3D ใช้ด้วย!

Costume room

ห้องแต่งตัว ให้ใครๆ ก็ได้ในชุมชนมายืมคอสตูมเวลาแสดงละคร หรือถ่ายทำภาพยนตร์

Bike Project

โครงการ Bike Project ทำสหกรณ์จักรยาน ให้บริการซ่อมจักรยานฟรีและขายจักรยานมือสอง

Books to Prisoners

โครงการ Books to Prisoners ส่งหนังสือที่นักโทษอยากอ่านให้กับเรือนจำในบริเวณนี้ ที่ผ่านมาส่งหนังสือไปแล้วเกือบ 90,000 เล่มให้กับนักโทษกว่า 13,000 คน ทำงานด้วยอาสาสมัครล้วนๆ เหมือนโครงการอื่น

ผู้เขียนชอบมากที่ UCIMC วันนี้ทำตัวเป็น “incubator” หรือตัวจุดประกายให้กับกลุ่มพลเมืองที่หลากหลายในชุมชน หลังจากที่บทบาทขององค์กรสื่อพลเมืองดั้งเดิมเลือนรางไปมากแล้วในยุคแห่งโซเชียลมีเดียที่ “ใครๆ ก็เป็นสื่อเองได้” – เราจะคุยกันเรื่องนี้ในวันต่อๆ ไป