แนวปฏิบัติของเฟซบุ๊กเรื่องโปรโมชั่น – คำแปลและคำอธิบาย
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการและบริษัทไทยแห่กันใช้เฟซบุ๊กทำโปรโมชั่นมากมาย หลายอันสร้างเงื่อนไขให้คนทำกิจกรรมต่างๆ บนเฟซบุ๊กโดยใช้ฟังก์ชั่นของเฟซบุ๊ก เช่น ให้อัพโหลดรูปหรือโพสบน Wall บริษัท เรื่องทำนองนี้ผู้ใช้เน็ตไทยอาจยังไม่รวมกลุ่มกันแสดงความรำคาญเป็นกิจลักษณะ แต่ผู้ใช้เน็ตต่างประเทศจำนวนมหาศาลร้องเรียนและกดดันเฟซบุ๊กให้จัดการกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง (เฟซบุ๊กเองก็ไม่เคยได้ชื่อว่าเคารพในข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้สักเท่าไรนัก) ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 54 เฟซบุ๊กอัพเดท แนวปฏิบัติเรื่องโปรโมชั่น ออกมา เลยอยากแปลแปะไว้ในบล็อกนี้ พร้อม คำอธิบายจาก TheBlueDoor blog เพราะนักการตลาดหลายท่านกำลังละเมิดแนวปฏิบัติเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว ขอเชิญชวนให้ทุกท่านแจ้งบริษัทที่ทำโปรโมชั่นถ้าหากพบว่ารายใดละเมิดแนวปฏิบัติข้างล่างนี้ ถ้านานวันเข้าบริษัทไม่แก้ไข ก็สามารถไปร้องเรียนเฟซบุ๊กได้
ถ้ามีเวลา จะแปลแนวปฏิบัติเรื่องการโฆษณาในโอกาสต่อไป 🙂
UPDATE 15/5/54: สำหรับคำอธิบายเพิ่มเติมและตัวอย่างโปรโมชั่นที่ทำได้ อ่านได้ในบทความทำความเข้าใจกับโปรโมชั่นบน Facebook แบบไม่ผิดกฏกันเถอะ บน thumbsup
UPDATE 17/5/54: ถ้ายังไม่แน่ใจ ดูตัวอย่างแคมเปญที่ทำได้และไม่ได้ ชัดๆ บน Faceblog.in.th 🙂
แนวปฏิบัติเรื่องโปรโมชั่น
แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ พร้อมคำอธิบายจาก TheBlueDoor blog ในวงเล็บ
แนวปฏิบัตินี้ รวมถึง ประกาศเรื่องสิทธิและความรับผิดชอบของเฟซบุ๊ก, แนวปฏิบัติเรื่องโฆษณา, นโยบายว่าด้วยการเขียนแอพพลิเคชั่น และนโยบายอื่นๆ ของเฟซบุ๊ก ครอบคลุมการสื่อสารของคุณเกี่ยวกับการจัดการประกวด (contest), การแข่งขัน (competition), การจับรางวัล (sweepstakes) หรือข้อเสนออื่นใดที่มีลักษณะคล้ายกัน (“โปรโมชั่น”) บนเฟซบุ๊ก
ถ้าคุณใช้เฟซบุ๊กสื่อสารหรือจัดโปรโมชั่น คุณมีความรับผิดชอบที่จะจัดการโปรโมชั่นดังกล่าวอย่างถูกต้องตามกฏหมาย รวมถึงกฏกติกา เงื่อนไขข้อเสนอ และคุณสมบัติของผู้เข้าร่วม (เช่น ข้อกำหนดเรื่องอายุและภูมิลำเนา) และจะต้องปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดโปรโมชั่นและของรางวัล (เช่น เงื่อนไขการรับสมัคร และการได้รับอนุญาตจากทางการถ้าจำเป็น) โปรดตระหนักว่าลำพังการทำตามแนวปฏิบัตินี้มิได้แปลว่าโปรโมชั่นของคุณถูกต้องตามกฏหมาย โปรโมชั่นอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์จำนวนมาก และถ้าหากคุณไม่มั่นใจว่าโปรโมชั่นของคุณถูกต้องตามกฎหมายใดหรือไม่ กรุณาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
1. โปรโมชั่นบนเฟซบุ๊กจะต้องกระทำผ่านแอพพลิเคชั่นบนเว็บไซต์ Facebook.com – บนหน้า Canvas Page หรือแอพพลิเคชั่นบนแท็บ Page เท่านั้น (แปลว่าไม่ให้จัดโปรโมชั่นใดๆ นอกเหนือจากผ่านแอพพลิเคชั่น เช่น จัดบนหน้า Wall ของเฟซบุ๊กตรงๆ ไม่ได้)
2. โปรโมชั่นบนเฟซบุ๊กจะต้องมีข้อมูลต่อไปนี้
a. ข้อความยกเว้นความรับผิดชอบให้กับเฟซบุ๊กโดยผู้สมัครหรือผู้เข้าร่วมแต่ละคน (ผู้เข้าร่วมต้องติ๊กกล่องที่บอกว่า “เข้าใจดีว่าเฟซบุ๊กไม่ได้ร่วมจัดโปรโมชั่นนี้” หรือแสดงประโยคนี้อย่างชัดเจนในหน้า “เงื่อนไขและข้อกำหนด” ที่คนต้องติ๊ก “รับทราบและยินยอม” ก่อนส่งใบสมัคร)
b. ข้อความที่ระบุว่าโปรโมชั่นดังกล่าวไม่ได้รับการอุดหนุน ส่งเสริม จัดการ หรือเกี่ยวข้องใดๆ กับเฟซบุ๊ก (ให้บอกว่าเฟซบุ๊กไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับโปรโมชั่นของคุณ)
c. ข้อความที่ระบุว่าผู้เข้าร่วมโปรโมชั่นกำลังส่งข้อมูลให้กับ [ระบุชื่อผู้รับข้อมูล] ไม่ใช่เฟซบุ๊ก (ให้บอกอย่างชัดเจนว่าคุณรับข้อมูลส่วนตัวจากผู้เข้าร่วมโดยตรง เฟซบุ๊กไม่รู้เรื่องด้วย)
[UPDATE 5/7] PDF “ความเหลื่อมล้ำฉบับพกพา” และหนังสือแจกฟรีอื่นๆ
ในที่สุด “ความเหลื่อมล้ำฉบับพกพา” ที่เขียนให้กับสำนักงานปฏิรูปและแจกฉบับพิมพ์ในงานสมัชชาปฏิรูปไปแล้วก็ได้ฤกษ์คลอดเวอร์ชัน e-book (เสียที) ดาวน์โหลดได้ด้วยการคลิ้กปกหนังสือด้านล่างเลยค่ะ (PDF + ePub, 2.9
เหล่าบล็อกเกอร์เยือนเยอรมนี ตอนที่ 9 (จบ)
[อ่าน ตอนที่หนึ่ง ตอนที่สอง ตอนที่สาม ตอนที่สี่ ตอนที่ห้า ตอนที่หก ตอนที่เจ็ด ตอนที่แปด และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้]
Blogger Tour 2011
วันที่แปด: 12 เมษายน 2554
เช้านี้ขึ้นรถไฟจากแฮมบูร์กกลับไปที่เบอร์ลิน ท่ามกลางฝนพรำและอากาศที่หนาวกว่าเมื่อวานมาก นึกในใจว่าโชคดีจริงที่เพิ่งมาฝนตกวันที่เราจะกลับ ถ้าฝนตกเมื่อวานตอนที่เราทัวร์ท่าเรือแฮมบูร์กคงดูไม่จืด
สถานีรถไฟแฮมบูร์กสวยดี ดูไปดูมาข้างในหน้าตาคล้ายกับหัวลำโพง เพียงแต่รถไฟดูล้ำยุคกว่ารถไฟไทยประมาณสองปีแสง
ภายในสถานีรถไฟแฮมบูร์ก
วันนี้ลิซ่าดูอารมณ์ดีมาก คงเป็นเพราะทุกอย่างเป็นไปตามแผน(อันเที่ยงตรงตามแบบฉบับเยอรมัน)เป๊ะ เริ่มตั้งแต่เราไปรอรถไฟก่อนเวลา ไปรอถูกชานชาลา ได้รถไฟขบวนใหม่เอี่ยมที่ลิซ่าบอกว่าเราควรจะได้นั่งตั้งแต่ตอนขามา และตู้รถไฟที่เรามีตั๋วที่นั่งก็มาหยุดอยู่ตรงหน้าเราพอดิบพอดี เรื่องนี้น่าจะนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกได้ เห็นจะมีแต่เยอรมนีกับญี่ปุ่นเท่านั้นที่บ้านเมืองเดินอย่างเป็นระบบขนาดนี้
เหล่าบล็อกเกอร์เยือนเยอรมนี ตอนที่ 8
[อ่าน ตอนที่หนึ่ง ตอนที่สอง ตอนที่สาม ตอนที่สี่ ตอนที่ห้า ตอนที่หก ตอนที่เจ็ด และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้]
Blogger Tour 2011
วันที่เจ็ด: 11 เมษายน 2554
วันนี้เป็นวันทำงานวันแรกของสัปดาห์ แน่นอนว่าโปรแกรมเดินสายฟังบรรยายของเราก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง นึกขอบคุณลูเซียนอีกครั้งที่จัดโปรแกรมคร่อมเสาร์-อาทิตย์ ให้เรามีเวลาเที่ยวทั้งเบอร์ลินและแฮมบูร์กเมืองละวัน
ถ้าไม่สังเกตให้ดี อาจมองความละเอียดรอบคอบของคนเยอรมันผิดไปว่าเป็นความบังเอิญ เพราะเขาละเอียดทุกเม็ดจริงๆ
อาหารเช้าที่โรงแรมนี้ไม่อร่อยเหมือนกับโรงแรมที่เบอร์ลิน หรือที่จริงอาจอร่อยพอๆ กันก็ได้ แต่คนกินมีอคติเพราะติดใจชีสใส่สมุนไพรของโรงแรมเบอร์ลินเสียแล้ว แต่โดยรวมอาหารก็โอเค มีครัวซองกับ scramble egg ใส่ผักที่โรงแรมเบอร์ลินไม่มี
ParliamentWatch
ตอนเช้าเรานั่งรถแท็กซี่ไปเยือนสำนักงานของ ParliamentWatch (“โครงการจับตารัฐสภา”) สุดยอด “กิจการเพื่อสังคม” แห่งหนึ่งในเยอรมนี เกรกอร์ แฮ็คแม็ก (Gregor Hackmack) ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรนี้พาเดินขึ้นลงบันไดอย่างน่าเวียนหัวเล็กน้อย ต้อนเราเข้าไปในห้องประชุมชั้นสี่ แล้วก็เริ่มแนะนำโครงการที่บ้านเราน่าจะมีเป็นอย่างยิ่ง
เกรกอร์ แฮ็คแม็ก
เหล่าบล็อกเกอร์เยือนเยอรมนี ตอนที่ 7
[อ่าน ตอนที่หนึ่ง ตอนที่สอง ตอนที่สาม ตอนที่สี่ ตอนที่ห้า ตอนที่หก และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้]
Blogger Tour 2011
วันที่หก: 10 เมษายน 2554
วันนี้พวกเรานั่งรถไฟมาแฮมบูร์กแล้ว ไปนั่งเรือเที่ยวอ่าวและแม่น้ำเอลเบทั้งบ่ายตามโปรแกรม แต่ก่อนที่ทุกอย่างจะราบรื่น ช่วงเช้าก็ขลุกขลักเล็กน้อย เริ่มจากลิซ่ามาสายกว่าเวลานัดไปสิบกว่านาที ปกติเธอจะมาถึงเป็นคนแรก คอยกวาดต้อนพวกเราที่อ้อยอิ่งเอ้อระเหยอยู่ตามมุมต่างๆ ของโรงแรม พอไปถึงสถานีรถไฟเราก็ลงชานชาลาผิดหมายเลข ต้องลากกระเป๋ากลับไปกลับมา สุดท้ายพอรถไฟมาถึงก็ปรากฏว่าเป็นรถไฟรุ่นเก่า ผิดความคาดหมายของลิซ่า เก้าอี้ทั้งขบวนหันหน้าไปทางเดียวกัน เราทุกคนต้องนั่งดูวิว “ถอยหลัง” ชั่วโมงกว่าจนถึงแฮมบูร์ก
เราทุกคนไม่มีใครเดือดร้อนกับ “ปัญหา” ทั้งหมดนี้เลย สำหรับคนจากประเทศกำลังพัฒนาปัญหาทำนองนี้จิ๊บจ๊อยมาก (เมืองไทยวันไหนโป๊ะไม่ล่ม รถเมล์ไม่เทกระจาดคนลงมาตายก็นับว่าโชคดีมากแล้ว) แต่คงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนเยอรมันผู้เคร่งครัดและไม่ชินกับอุปสรรคที่ไม่ใช่ภัยธรรมชาติ ลิซ่าทำหน้าเครียดตลอดเวลาที่อยู่ในรถไฟ มิใยที่พวกเราจะพยายามปลอบใจ แต่พอถึงแฮมบูร์กและโรงแรมโดยสวัสดิภาพเธอก็ดูอารมณ์ดีขึ้นมาหน่อย
เขาให้เราพักโรงแรมร้อยปีริมอ่าวชื่อ Hotel Hafen Hamburg เก่าแก่ก็จริงแต่โชคดีที่ห้องน้ำทันสมัย ไม่ใช่ห้องน้ำชักโครกสูงสมัยวิคตอเรียนที่โรงแรมหรูหราโบราณในอังกฤษชอบใช้ เพียงแต่ห้องเล็กกว่าเบอร์ลิน ไม่มีตู้เสื้อผ้า มีแต่ตะขอแขวนเสื้อติดฝาผนัง ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่หอพักสมัยเรียนไฮสกูลที่อเมริกา ซึ่งก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นโอกาสได้รำลึกถึงความหลัง
เหล่าบล็อกเกอร์เยือนเยอรมนี ตอนที่ 6
[อ่าน ตอนที่หนึ่ง ตอนที่สอง ตอนที่สาม ตอนที่สี่ ตอนที่ห้า และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้ – จะทยอยอัพโหลดรูปใหม่ๆ ทุกวัน]
Blogger Tour 2011
วันที่ห้า: 9 เมษายน 2554
วันนี้เป็นวันแรกที่เราไม่มีฟังบรรยายที่ไหน โปรแกรมช่วงเช้าคือไปทัวร์เมืองเบอร์ลินบนรถบัส กินข้าวเที่ยงเสร็จแล้วลิซ่าจะปล่อยพวกเราเป็นอิสระ แต่ถึงเวลาเธอก็ไม่วายกำชับตามประสาคนเยอรมันผู้รอบคอบแต่จริงจังกับชีวิตไปหน่อยในสายตาของคนไทยผู้ใช้ชีวิต “ช่างหัวมัน” อย่างผู้เขียน (สงสัยเหมือนกันว่าภาษาเยอรมันมีคำคำนี้ไหม เดาว่าไม่มี – ผู้รู้วานตอบที))
วันนี้เพิ่งถึงบางอ้อว่าทำไมเขาถึงจัดโปรแกรมให้ไปทัวร์เมืองเบอร์ลินวันรองสุดท้ายก่อนออกเดินทางไปแฮมบูร์ก แทนที่จะเป็นวันแรกที่เรามาถึง – ผู้ทรงคุณวุฒิและเจ้าหน้าที่รัฐคงไม่อยากมาเป็นวิทยากรหรือเลี้ยงรับรองเราในวันหยุดสุดสัปดาห์ ก็เลยต้องจัดคร่อมวันหยุดแบบนี้แทน
เรื่องนี้ตอกย้ำอีกครั้งว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีเหตุมีผลและผ่านการจัดการทุกกระเบียดนิ้วสำหรับคนเยอรมัน มิน่า พวกเขาถึงได้ยังไม่ค่อย “เก็ต” อินเทอร์เน็ตในความรู้สึกของผู้เขียน เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่อึกทึกโกลาหลที่คนเยอรมันเข้าไป “จัดการ” ให้ได้ดั่งใจไม่ได้ อินเทอร์เน็ตเหมือนกับป่าดงดิบ ไม่ใช่โรงงานที่เราออกแบบและควบคุมได้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนและใครมีหน้าที่ทำอะไร
เช้าวันนี้เป็นวันแรกที่ลงมากินข้าวแล้วไม่เจอเพื่อนร่วมโต๊ะ (วิสักโซโน อิมาน และอาลิเชอร์) เลย คงเป็นเพราะลิซ่านัดเราเก้าโมงครึ่ง แทนที่จะเป็นแปดโมงครึ่งเหมือนวันก่อนๆ เดาว่าทุกคนคงหลับต่อ หรือไม่ก็รีบลงมากินแล้วกลับขึ้นห้อง
สังเกตมาหลายวันแล้วว่าพฤติกรรมของพวกเราในคณะไม่ค่อยเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไปเท่าไหร่ คือคุยกันอยู่ดีๆ เราก็สามารถก้มหน้างุดๆ ไปง่วนอยู่กับการทวีตหรือส่งอีเมลผ่านสมาร์ทโฟนหรือโน้ตบุ๊ค ราวกับว่าวิ่งข้ามไปมาระหว่างโลกเสมือนกับโลกจริงได้ทุกเมื่อ โดยที่คนอื่นก็ไม่รู้สึกว่าเสียมารยาทเพราะตัวเองก็เป็นเหมือนกัน แต่ละวันพอจบโปรแกรม เราก็แยกย้ายกันไปทำธุระหรือท่องเที่ยวตามลำพังได้ ทุกวันก่อนถึงเวลารวมพลเราจะส่งเมสเสจและโพสข้อความคุยกันบนเฟซบุ๊ก (เจ้าภาพใจดีตั้งกลุ่ม Blogger Tour 2011 ให้) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ทำนอง “มีใครรู้บ้างว่าเช้านี้เราต้องเจอกันที่ล็อบบี้กี่โมง” “ช่วยส่งรูปฉันที่เธอถ่ายเมื่อวานมาให้หน่อย” หรือเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น เช่น โอเลกเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลยูเครน ประท้วงการจับกุม ฮานา ซิงโควา กวีและนักเคลื่อนไหว เพียงเพราะเธอปิ้งไข่ล้อเลียนรัฐบาลยูเครน ชวนให้พวกเราร่วมลงนามด้วย
เหล่าบล็อกเกอร์เยือนเยอรมนี ตอนที่ 5
[อ่าน ตอนที่หนึ่ง ตอนที่สอง ตอนที่สาม ตอนที่สี่ และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้ – จะทยอยอัพโหลดรูปใหม่ๆ ทุกวัน]
Blogger Tour 2011
วันที่สี่: 8 เมษายน 2554
ดีใจในที่สุด jet lag ก็หาย เพราะตื่นหกโมงเช้าได้ตามเวลาตื่นปกติแล้ว
หลังจากที่ไปไหนต่อไหนและรับประทานอาหารแทบทุกมื้อร่วมกันตลอดสามวัน พลพรรคในคณะเราก็เริ่มสนิทสนมกัน พูดคุยหยอกล้อ แลกรูปถ่าย ลิงก์คลิปวีดีโอ ข้อมูลต่างๆ บนเฟซบุ๊กอย่างสนุกสนาน หลายคนเริ่มเขียนบล็อกเล่าทริปนี้แล้ว และใช้ Google Translate เพื่อพยายามทำความเข้าใจกับบล็อกของเพื่อนๆ (อิมานจากอินโดนีเซียเดินมาทักว่า เมื่อวานเขาใช้ Google Translate แปลบล็อกของผู้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ พอรู้เรื่องคร่าวๆ และบอกว่าบล็อกสนุกดี ผู้เขียนคิดว่า โพสของอิมานเกี่ยวกับการมาเยือนเยอรมนีก็สนุกดีเหมือนกัน)
ก่อนที่พวกเราจะออกเดินทาง ลิซ่าบอกว่าวันนี้เคเจป่วย วันนี้ขอพักผ่อน พวกเราบางคนตั้งข้อสังเกตว่าเธออาจถูกรัฐบาลจีนสั่งห้ามไม่ให้ออกไปประชุมวันนี้ จะได้ไม่ต้องตอบคำถามของกรรมาธิการเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชน(ซึ่งแย่มาก)ในจีน (เพราะถ้าเขารู้ว่ามีคนจากประเทศจีน เขาต้องถามแน่เลย) ผู้เขียนคิดว่าเป็นไปได้ เพราะรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของสื่อทั้งหมดในประเทศ ยกเว้นบล็อกต่างๆ ในเน็ต เคเจไม่ได้เป็นบล็อกเกอร์อย่างเดียวแต่ทำงานประจำให้กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง แต่เธอก็อาจไม่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนจริงๆ ก็ได้ แต่เกรงใจไม่กล้าบอกเจ้าภาพว่าไม่อยาก เลยเลี่ยงไปบอกว่าป่วย
ปรากฏว่าตอนเย็นเรามารู้ความจริงว่าเคเจป่วยเป็นไข้หวัดจริงๆ รู้สึกแย่ไปเลย พวกชอบคิด(มาก)เวลาอยู่ด้วยกันก็จะมีทฤษฎีโน่นนี่นั่นโผล่มาเต็มไปหมด ไม่เกี่ยงว่าเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก 🙂
กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนเยอรมัน
ช่วงเช้าวันนี้เราเดินทางไปพบคุณ มาร์คัส โลนิง (Markus Löning) กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของเยอรมนี ที่อาคารสำนักงานของกระทรวงการต่างประเทศ เขาแนะนำตัวว่า รัฐบาลเป็นคนแต่งตั้งเขาก็จริง แต่เขาก็มีอิสรภาพในการทำงาน จะเดินทางไปประเทศไหนเมื่อไรก็ได้
เหล่าบล็อกเกอร์เยือนเยอรมนี ตอนที่ 4
[อ่าน ตอนที่หนึ่ง ตอนที่สอง ตอนที่สาม และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้ – จะทยอยอัพโหลดรูปใหม่ๆ ทุกวัน]
Blogger Tour 2011
วันที่สาม: 7 เมษายน 2554
เช้านี้ตื่นตีห้าครึ่ง ช้ากว่าวานซืนหนึ่งชั่วโมง แต่ยังไม่ปกติดี หวังว่าพรุ่งนี้จะตื่นเจ็ดโมงเช้า (เวลาปกติ) ได้แล้ว แต่อย่างน้อยที่คิดว่าจะสัปหงกตอนกลางวันสองวันที่ผ่านก็ไม่เลย คงเป็นเพราะว่าฟังบรรยายแต่เรื่องที่น่าสนใจมากสำหรับผู้เขียน 🙂
ลงไปกินข้าวเช้าเจ็ดโมงครึ่งเวลาเดิม ปรากฏว่าเป็นคนแรกในคณะที่ไปทานอาหารเช้า (หรืออาจมีคนอื่นบางคนกินเสร็จแล้วกลับขึ้นห้องไปใหม่ก็ได้) ไม่กี่นาทีต่อมา ก๊วนเดิมจากเมื่อวานคือ อาลิเชอร์ วิสักโซโน กับ อิมาน ก็มานั่งด้วย เราเลยคุยกันต่อจากที่คุยค้างเมื่อวานเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในแต่ละประเทศ ฟังคนอื่นเกือบครบแล้วก็รู้สึกว่าไม่มีใครจะไร้เสถียรภาพและมีอนาคตที่ไม่แน่นอนเท่ากับเมืองไทย ตูนีเซียถึงแม้ว่าจะเพิ่งผ่านการปฏิวัติมาหมาดๆ คนของเขาก็เต็มไปด้วยความหวังและรู้คร่าวๆ ว่าประเทศควรจะเดินไปทางไหน ผิดกับเมืองไทยที่รู้สึกว่าผู้มีอำนาจขาดวิสัยทัศน์และทำงานไม่เป็น ไม่แน่ใจว่าสถานการณ์จะดีกว่าเดิมหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่กลางปีนี้หรือเปล่า
คุยไปคุยมาก็วกเข้าเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา อิมานตั้งข้อสังเกตว่าห้องภาวนาในตึกรัฐสภาที่เราไปดูเมื่อวานน่าจะก่อให้เกิดการถกเถียงใหญ่โตในเยอรมนี ตอนที่ ส.ส. ชาวคริสตัง (แคทอลิก) อยากให้ใส่ไม้กางเขนไว้ในห้อง เพราะเสรีภาพในการนับถือศาสนาต้องเท่าเทียมกันทุกคน ห้องภาวนาแต่เดิมไม่ใช่สำหรับศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ ทุกคนก็เลยใช้ได้ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร (ศิลปินที่ออกแบบก็ตั้งใจอย่างนั้น) แต่พอใส่ไม้กางเขนเข้าไปแล้วก็กลายเป็น “ห้องภาวนาของคริสต์” เท่ากับว่ากีดกันคนที่นับถือศาสนาอื่น ถ้ารัฐบาลเคารพในเสรีภาพในการนับถือศาสนาจริง รัฐบาลก็ต้องสร้างห้องภาวนาสำหรับคนที่นับถือศาสนาพุทธ อิสลาม และศาสนาอื่นๆ ด้วย ถ้าไม่อยากทำอย่างนั้นก็ไม่ควรสร้างห้องภาวนาเลยตั้งแต่แรก (หรือไม่ก็เอาไม้กางเขนออก)
อิมานมีประเด็นน่าคิดที่ผู้เขียนไม่เคยนึกมาก่อน เขาบอกว่าคนอินโดนีเซียถกเถียงเรื่องทำนองนี้กันบ่อยมาก เพราะมีหลายศาสนา คนที่นับถือแต่ละศาสนาก็แยกย่อยลงไปได้อีกว่าเคร่งครัดแค่ไหน และตีความคำสอนของศาสดาแบบไหน
เหล่าบล็อกเกอร์เยือนเยอรมนี ตอนที่ 3
[อ่าน ตอนที่หนึ่ง ตอนที่สอง และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้ – จะทยอยอัพโหลดรูปใหม่ๆ ทุกวัน]
Blogger Tour 2011
วันที่สอง: 6 เมษายน 2554 (ช่วงบ่าย)
แวดวงบล็อกเกอร์ในเยอรมนี และ carta.info
วิทยากรคนแรกของ Blogger Tour 2011 คือ ดร.โรบิน เมเยอร์-ลุกต์ (Robin Meyer-Lucht) ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหาร CARTA บล็อกการเมืองชั้นนำของเยอรมนี อาชีพของ ดร.โรบิน คือผู้สื่อข่าวด้านสื่อและที่ปรึกษาองค์กรสื่อ เขียนบล็อกเป็นงานอดิเรก
ดร.โรบินเริ่มต้นด้วยการถามว่า พวกเรามีใครบ้างที่มาจากประเทศที่มีเสรีภาพสื่อสูงมาก มีคนยกมือ 4-5 คน หรือหนึ่งในสามของคณะ มาจาก สโลวาเกีย อินโดนีเซีย ตูนีเซีย (แน่นอนว่าหมายถึงสถานการณ์หลังปฏิวัติประชาชน) แน่นอนว่าเวลาพูดถึงเสรีภาพสื่อ ต้องพูดกันเรื่อง “อิสรภาพสื่อ” ถึงจะมีความหมาย เพราะสื่อมวลชนส่วนใหญ่ในโลกมีเสรีภาพตามกฎหมาย แต่ “ใช้” เสรีภาพนั้นไม่ค่อยได้ (ขาดอิสรภาพนั่นเอง) ในโลกแห่งความจริง ยกตัวอย่างเช่น องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Sans Frontières, RSF) ยกให้คาซักสถานเป็นประเทศหนึ่งที่สื่อมีเสรีภาพต่ำที่สุดในโลก หน้าโปรไฟล์ของประธานาธิบดี บนเว็บ RSF ให้ข้อมูลว่า ในคาซักสถาน “การดูหมิ่นชื่อเสียงและศักดิ์ศรี” ของประธานาธิบดีมีโทษจำคุก นอกจากนี้เขายังแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจการควบคุมสื่อและทำให้ปิดหนังสือพิมพ์ได้ง่ายกว่าเดิม กฎหมายสื่อในคาซักสถานแย่ถึงขั้นแบนนักข่าวที่ทำงานให้กับหนังสือพิมพ์ที่ถูกปิดเป็นเวลา 3 ปี นอกจากนี้ยังกำหนดให้ บล็อก ห้องแช็ท และเว็บไซต์อื่นๆ บนอินเทอร์เน็ตมีสถานภาพทางกฎหมายเท่ากับสื่อ แปลว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐสั่งปิดได้อย่างง่ายดาย
ผู้เขียนเป็นหนึ่งในคนที่ยกมือว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ “พอจะมีเสรีภาพสื่อบ้าง” ร่วมกับสมาชิกส่วนใหญ่ในคณะ (เดาว่าหลายคนคงคิดเหมือนกัน คือสื่อมีเสรีภาพบนกระดาษ แต่ในความเป็นจริงยังเซ็นเซอร์ตัวเองค่อนข้างมาก) มีเพียงอาลี บล็อกเกอร์จากอาเซอร์ไบจัน เท่านั้นที่ยกมือว่าประเทศเขาเข้าข่าย “สื่อไร้เสรีภาพ”
หลังจากที่ทุกคนยกมือ ดร.โรบิน ก็เฉลยว่า ที่ถามนั้นเป็นเพราะระดับเสรีภาพสื่อมีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับการเติบโตและบทบาทของบล็อกเกอร์ ประเทศไหนสื่อมีเสรีภาพน้อย บล็อกเกอร์ยิ่งมีบทบาทมากในการถกประเด็นสาธารณะ
เหล่าบล็อกเกอร์เยือนเยอรมนี ตอนที่ 2
[อ่านตอนแรกได้ที่นี่ และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้ – จะทยอยอัพโหลดรูปใหม่ๆ ทุกวัน]
Blogger Tour 2011
วันที่สอง: 6 เมษายน 2554 (ช่วงเช้า)
ความพยายามที่จะปรับนาฬิการ่างกายเหลวไม่เป็นท่า เช้านี้ตื่นมาตีสี่ (สิบโมงเช้าเวลาไทย) แล้วก็หลับไม่ลงอีกเลย ทั้งที่พยายามถ่างตานอนจนถึงเที่ยงคืน
แต่ไม่เป็นไร ตื่นแล้วก็แล้วกัน วันนี้โปรแกรมแน่นและน่าสนใจ ไม่น่าจะผล็อยหลับกลางทางได้ง่ายๆ
ช่วงนี้อากาศที่เบอร์ลินกำลังสบาย อุณหภูมิประมาณ 12-13 องศา – หนาวพอให้กระฉับกระเฉง ฟ้าครึ้มทั้งวัน บางช่วงก็มีฝนปรอย ไม่กี่นาทีก็ซา ผู้เขียนลงมากินอาหารเช้า(ฟรี)ที่ร้านอาหารของโรงแรมตั้งแต่เจ็ดโมงครึ่ง เผื่อเวลาหนึ่งชั่วโมงก่อนเวลานัด นั่งโต๊ะเดียวกับ อาลิเชอร์ บล็อกเกอร์ร่างโย่ง (สูง 2 เมตร) จากคาซักสถาน กับ วิสักโซโน และ อิมาน สองคู่หูคู่ฮาจากอินโดนีเซีย (เป็นประเทศเดียวที่มากันสองคน อาจเป็นเพราะเป็นประเทศใหญ่มากละมัง) เป็นนักข่าวอาชีพทั้งคู่ วิสักโซโนแก่วัยและสุขุมกว่า อิมานพูดเร็วและโผงผาง อายุประมาณยี่สิบปลายๆ น่าจะได้ วิสักโซโนน่าจะมีอายุมากที่สุดในคณะของเรา คือประมาณหกสิบถ้าวัดจากผมสีดอกเลา แก่รองลงมาน่าจะเป็น บังจูมุน จากเกาหลีใต้ เขาเป็นนักข่าวอาชีพเหมือนกัน สงวนคำพูดยิ่งกว่าวิสักโซโนเสียอีก แต่หน้าตาใจดีและยิ้มละไมตลอดเวลา
วิสักโซโนกับบังจูมุนเหมือนกันตรงที่ไม่ค่อยพูดจากับใคร ไม่ใช้สมาร์ทโฟนหรือโน้ตบุ๊คคอมพิวเตอร์เหมือนกับบล็อกเกอร์วัยเด็กกว่า แต่บันทึกข้อมูลด้วยกระดาษกับปากกาตามประสานักข่าวรุ่นเดอะ ผู้เขียนเองจดบันทึกในสมุดจดเป็นหลักเพราะไม่อยากแบกโน้ตบุ๊คติดตัวไปทุกหนแห่ง แต่ก็ใช้ไอโฟนถ่ายรูปและทวีตระหว่างวัน พบว่านอกจากจะช่วยให้ใครก็ตามที่อยาก “ติดตาม” ได้รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่แล้ว รูปและทวีตเหล่านั้นยังเป็นบันทึกช่วยจำที่มีประโยชน์มากนอกเหนือจากสิ่งที่บันทึกในสมุด เพราะรูปถ่ายคือ “ภาพจำ” ที่ดี และทวีตก็บันทึกประโยคสำคัญที่ได้ยินในขณะนั้น (คือคิดว่าสำคัญพอที่จะทวีต)
อาหารเช้าในโรงแรมมีให้เลือกหลากหลายตามสไตล์ยุโรป ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็นชีส ซึ่งมีให้เลือกทั้งชีสใส่สมุนไพร (อร่อยดี อันนี้ไม่เคยกินมาก่อน) และบลูชีสชนิดต่างๆ รู้สึกว่าไส้กรอกกับเบคอนของที่นี่อร่อยเป็นพิเศษ แต่คงเชื่ออะไรไม่ได้เพราะรู้ตัวดีว่าลิ้นจรเข้