บทเรียนบางเรื่องที่ได้เรียนรู้โดยบังเอิญจากการเป็นนักเขียน

เคยเป็น “นักอยากเขียน” มานาน แต่หลังจากที่เขียนและแปลหนังสือมาเกือบ 30 เล่ม ออกจากงานประจำจนจวนจะครบ 3 ปีแล้วในต้นปีหน้า ตอนนี้ก็เรียกตัวเองว่า “นักเขียน” อย่างเต็มปากเต็มคำแล้ว ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้เรียนรู้อะไรๆ มากมายจากการเป็น “นักเขียนอาชีพ” ก็เลยมาจดกันลืมไว้ในบล็อกนี้ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นค่ะ โดยเฉพาะ “นักอยากเขียน” ที่บังเอิญมาอ่าน ถ้าไม่จดในนี้เดี๋ยวมันจะหายไปกับคำบ่นทีละ 140 ตัวอักษรในทวิตเตอร์ (ซึ่งยืนยันได้เลยว่ามีส่วนทำให้นักเขียนเสียสมาธิอย่างรุนแรง) 🙂

– “บทเรียน” ที่สำคัญที่สุดในชีวิต ล้วนเป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ทีหลัง ไม่ใช่ได้รู้ก่อนเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้บทเรียนนั้นเป็นประโยชน์ พูดอีกอย่างคือ “เจ็บแล้วจึงจำ” ไม่ใช่ “จำแล้วจึงไม่เจ็บ” เพราะกรณีหลังเป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากคนเรามักจะ “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา”

– “ความมั่นคงในชีวิต” เป็นสิ่งที่เราแต่ละคนสร้างเองได้จริงๆ (ประโยคเก่งของคุณเก่ง ผู้ก่อตั้งโอเพ่นดรีม) หัวใจของเรื่องนี้คือ การสร้างความมั่นคงด้วยตัวเองต้องเริ่มจากความกล้าที่จะปฏิเสธความมั่นคงที่คนอื่นสร้างให้เรามาตลอด ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ นายจ้าง ฯลฯ (นับเป็น paradox ที่น่าสนใจ คล้ายกับที่ใครบางคนบอกว่า จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของความสุข คือการเลิกแสวงหาความสุข)

– สิ่งที่ทำให้มองเห็นขอบเขตของสิ่งที่ตัวเอง “รู้” และ “ไม่รู้” ชัดเจนที่สุด คือเวลาที่พยายามเขียนเรื่องยากๆ ให้อ่านง่าย แล้วมีคนอ่านมาบอกว่า สิ่งที่เราเขียนทำให้เขาได้เริ่มเข้าใจเรื่องนั้นเป็นครั้งแรก ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าถ้าไม่เขียนหนังสือ ก็จะไม่มีวันมองเห็นอย่างชัดเจนว่าตกลงเรา “สนใจอะไร” และ “รู้อะไร” กันแน่ และจะไม่เคยขวนขวายอยากไป “รู้เพิ่ม” เพื่อนำมาเขียน และถ้าไม่เคยพูดคุยกับคนอ่านที่ไม่ชินกับเรื่องที่เราเขียน ก็จะไม่มีวันรู้ว่า ไอ้ที่คิดว่าเรา “รู้” นั้น ที่แท้นี่มัน “รู้จริง” มากน้อยแค่ไหน

– แต่การมองเห็นว่าเรารู้อะไรแค่ไหน ไม่ได้แปลว่าคนอ่านจะมองเห็นเหมือนกัน – คนอ่านมักจะคิดว่านักเขียน “รู้” อะไรๆ มากกว่าที่นักเขียน “รู้” จริงๆ คือบางทีเราก็เขียนทั้งหมดเท่าที่เรารู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ แต่คนอ่านนึกว่าเรากั๊กความรู้ไว้อีกเยอะที่ไม่ได้เขียนถึง ด้วยเหตุนี้ ความท้าทายข้อสำคัญของการพยายามเป็นนักเขียนที่ไม่หลงตัวเองคือ การกดอัตตาไม่ให้มันลอยฟูขึ้นมาเวลาที่มีคนชม ด้วยการเตือนสติตัวเองอยู่เสมอว่า ณ ขณะนี้เรารู้และไม่รู้อะไรบ้าง (คิดว่าคนเป็นอาจารย์ก็มีความท้าทายคล้ายกัน)

มองวิทยาศาสตร์และสังคมไทยผ่าน Brave New World – โลกใหม่อันกล้าหาญ หรือโลกเก่าอันดักดาน?

เขียนบทความชิ้นนี้เมื่อต้นปีที่แล้ว ก่อนเหตุการณ์ “เมษาเลือด” และ “พฤษภาเลือด” ในปีนี้ ก่อน พ.ร.ก. ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ ก่อนมหกรรมการปิดกั้นเว็บไซต์ขนานใหญ่ของรัฐ ฯลฯ แต่ถ้าเติมเหตุการณ์เหล่านี้ลงไปในบทความ คิดว่าเนื้อหาและประเด็นหลักก็จะยังคงเดิม

เขียนให้กับวารสารฉบับหนึ่งที่หยุดชะงักไป จึงไม่เคยได้ตีพิมพ์ ผ่านไปเกือบ 2 ปี เลยคิดว่าน่าจะเอามาเผยแพร่ในบล็อก เผื่อใครจะสนใจค่ะ

มองวิทยาศาสตร์และสังคมไทยผ่าน Brave New World – โลกใหม่อันกล้าหาญ หรือโลกเก่าอันดักดาน?
สฤณี อาชวานันทกุล
31 มกราคม 2552

ในบรรดาวรรณกรรมที่ได้รับการยกย่องว่า “คลาสสิก” ไม่เสื่อมคลาย โดยเฉพาะในหมู่นักอ่านช่างสงสัยที่ตั้งคำถามต่อโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ในสังคม (status quo) นวนิยายเรื่อง Brave New World (“โลกใหม่อันกล้าหาญ” หรือชื่อฉบับแปลไทย “โลกวิไลซ์” หรือที่แฟนพันธุ์แท้ย่อจนติดปากว่า BNW) ผลงานของ อัลดัส ฮักซเลย์ (Aldous Huxley) เป็นหนึ่งในนวนิยายแนว “ดิสโทเปีย” (dystopia หรือที่บางคนเรียกให้ชัดกว่านั้นว่า anti-utopia หรือ negative utopia) ที่มีคนที่รู้จักมากที่สุดในโลก และเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ในการเขียนนิยายชิ้นเอกเรื่อง 1984

บทความชิ้นนี้มุ่งเปรียบเทียบ BNW กับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่และสังคมไทย เพื่ออธิบายว่าเหตุใด BNW จึงเป็นนิยายที่จะ “ล้ำสมัย” ขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับ 1984 ซึ่งนับวันยิ่งจะ “ล้าสมัย” ลงเรื่อยๆ และเหตุใดความรู้สึกนึกคิดของชนชั้นนำไทยส่วนใหญ่ ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน จึงมีส่วนคล้ายกับรัฐโลกใน BNW อย่างน่าอัศจรรย์ แต่วิธีการควบคุมของชนชั้นนำไทยนั้นแนบเนียนและแยบยลกว่ากันหลายขุม

โลกใหม่อันกล้าหาญ?

โลกอนาคตใน BNW คือโลกที่ไม่แบ่งแยกออกเป็นประเทศต่างๆ อีกต่อไป มี “รัฐโลก” (World State) เป็นรัฐบาลเพียงหนึ่งเดียวที่ปกครองคนทั้งโลก ประชากรโลกแบ่งออกเป็นชนชั้นตั้งแต่แรกเกิด เรียกตามตัวอักษรในภาษากรีก ตั้งแต่อัลฟาพลัส (ชนชั้นนำ) จนถึงเอ็พซิลอน (ชนชั้นแรงงานไร้ทักษะ) รัฐโลกใช้เทคโนโลยีสุพันธุศาสตร์ (eugenics หมายถึงการปรับปรุงลักษณะทางพันธุกรรมของมนุษย์ให้ดีขึ้น ถ้าดัดแปลงพันธุกรรมให้แย่ลงจะเรียกว่า dysgenics) เพื่อ “สร้าง” ทารกแบบที่ต้องการ เช่น ผลิตแฝดเหมือนเก้าสิบหกคู่จากไข่ใบเดียวใน “กระบวนการโบคานอฟสกี” เพื่อเป็นชนชั้นแรงงาน และใช้กระบวนการควบคุมจิตใจ (social conditioning) เช่น เปิดเทปสะกดจิตทารกยามนอน และช็อตด้วยไฟฟ้า เพื่อ “กล่อม” ให้พวกเขามีความภาคภูมิใจและพอใจในชนชั้นของตัวเอง อยู่ในโอวาทของรัฐ รู้หน้าที่ของตัวเองในสังคม และปราศจากความทะยานอยากใดๆ ทั้งปวง

หนังสือแนะนำบางเล่มในงานหนังสือ :)

โบราณว่า “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร” แต่ในช่วง 4 วันแรกของงานมหกรรมหนังสือ ได้หนังสือใหม่มาหลายเล่มที่ทำให้รู้สึกเป็นปลื้ม ก็เลยอยากเขียนแนะนำก่อนค่ะ เผื่อใครจะอยากซื้อตาม 😀

สไลด์ + ไฟล์เสียง + หนังสือจากงาน “กิจการเพื่อสังคม: ทำดีโตได้”

วันนี้ไปบรรยายเรื่องกิจการเพื่อสังคมที่งาน “กิจการเพื่อสังคม: ทำดีโตได้” มาค่ะ ท่านใดที่สนใจดาวน์โหลดสไลด์ที่ใช้ และไฟล์เสียงจากวงสัมมนาต่างๆ ได้ที่นี่ — Social Enterprise

TEDTalk บางเรื่องที่ชอบที่สุด + ซับไทย :)

ช่วงนี้งานยุ่งมาก เวลานึกอะไรไม่ออกก็เลยคลายเครียดด้วยการแปลซับไตเติลของ TEDTalk ที่ชอบที่สุดเป็นภาษาไทยค่ะ เพลิดเพลินกับการดูใหม่และได้ฝึกภาษาไปด้วย คงจะทำไปเรื่อยๆ เมื่อโอกาสและเวลาอำนวย เพราะมี TEDTalk อีกหลายอันที่ชอบมากๆ แต่ยังไม่มีใครทำซับไทย

ดูรายการ TEDTalk ทั้งหมดที่มีซับไตเติลภาษาไทยได้ที่หน้านี้ คลิปการบรรยายต่างๆ ที่ผู้เขียนทำซับไทยและเอามาแปะด้านล่างนี้ลิงก์มาจาก dotSUB เพราะระบบของ TED คือต้องมีคนมา review ก่อน ซับไตเติลนั้นถึงจะไปโผล่บนเว็บของ TED อย่างเป็นทางการได้ ถ้าใครมีบัญชีนักแปลของ TED ก็รบกวนไป review ให้หน่อยค่ะถ้ามีเวลา 😀

1. เจน กู๊ดดอล ช่วยให้มนุษย์กับสัตว์อยู่ร่วมกันได้

(ข้อมูลเพิ่มเติม: The Jane Goodall Institute)

2. นิก มาร์คส์: ดัชนีโลกมีสุข

(ข้อมูลเพิ่มเติม: Happy Planet Index, บทความเรื่อง “ดัชนีโลกมีสุข”, หนังสือ ดัชนีโลก(ไม่)มีสุข)

เธอจะวัดชีวิตของเธออย่างไร โดย Clayton M. Christensen

เธอจะวัดชีวิตของเธออย่างไร?
แปลจาก How Will You Measure Your Life? โดย Clayton M. Christensen ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและ “นวัตกรรมก่อกวน” (disruptive innovation) คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดย สฤณี อาชวานันทกุล

ดาวน์โหลดฉบับ PDF เพื่อความสะดวกในการเผยแพร่ได้จากที่นี่ [8 หน้า]

ก่อนที่ผมจะตีพิมพ์หนังสือเรื่อง ปัญหาเขาควายของนักนวัตกรรม (The Innovator’s Dilemma) ผมได้รับโทรศัพท์จาก แอนดี โกรฟ ซึ่งตอนนั้นเป็นประธานกรรมการบริษัทอินเทล เขาอ่านบทความชิ้นแรกๆ ของผมเกี่ยวกับเทคโนโลยีก่อกวน (disruptive technology) และขอให้ผมไปคุยกับลูกน้องโดยตรงของเขา อธิบายว่าเรื่องนี้แปลว่าอะไรสำหรับอินเทล ผมบินไปซิลิคอนวัลเลย์ด้วยความตื่นเต้นตามนัด เพียงเพื่อที่จะเจอโกรฟบอกว่า “นี่แน่ะอาจารย์ ตอนนี้เรายุ่งมากเลย มีเวลาให้อาจารย์แค่ 10 นาที บอกเราหน่อยครับว่าโมเดลก่อกวนของอาจารย์หมายความว่าอะไรสำหรับอินเทล” ผมตอบว่าผมทำไม่ได้ แค่อธิบายโมเดลนี้อย่างเดียวก็ต้องใช้เวลา 30 นาทีแล้ว คนต้องเข้าใจบริบทนี้ก่อนที่จะเข้าใจความเห็นอะไรก็ตามของผมเกี่ยวกับอินเทล หลังจากฟังผมพูดไป 10 นาที โกรฟก็แทรกว่า “โอเคครับ ผมเข้าใจโมเดลนี้แล้ว บอกเรามาก็พอว่ามันแปลว่าอะไรสำหรับอินเทล”

ผมยืนยันว่าผมต้องใช้เวลาอีก 10 นาทีในการอธิบายวิธีที่กระบวนการก่อกวนทำงานในอุตสาหกรรมเหล็กกล้า ซึ่งแตกต่างจากอินเทลมาก ก่อนที่โกรฟกับลูกน้องจะเข้าใจว่าการก่อกวนทำงานอย่างไร ผมเล่าวิธีที่บริษัทนูคอร์ (Nucor) และโรงเหล็กขนาดจิ๋วโรงอื่นๆ เริ่มต้นด้วยการโจมตีตลาดที่อยู่ล่างสุด นั่นคือ เหล็กเส้น และค่อยๆ ไล่ไปตลาดบน ตัดราคาโรงเหล็กดั้งเดิม

พอผมเล่าเรื่องโรงเหล็กขนาดจิ๋วจบ โกรฟก็พูดขึ้นว่า “โอเค ผมเข้าใจละ เรื่องนี้หมายถึงอย่างนี้นะสำหรับอินเทล…” และอธิบายความคิดที่ต่อมากลายเป็นกลยุทธ์ของอินเทลในการเข้าตลาดล่างเพื่อออกชิพตัวใหม่ยี่ห้อเซเลรอน (Celeron)

ผมคิดถึงเรื่องนี้เป็นล้านครั้งได้หลังจากวันนั้น ถ้าผมยอมบอก แอนดี โกรฟ ว่าเขาควรจะคิดอย่างไรเกี่ยวกับธุรกิจไมโครโปรเซสเซอร์ วันนั้นผมก็คงถูกฆ่าแน่ๆ แต่แทนที่จะบอกว่าเขาควรคิด อะไร ผมสอนเขาว่าควรคิด อย่างไร – เสร็จแล้วเขาก็ไปถึงสิ่งที่ผมรู้สึกว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องได้ด้วยตัวเอง

ประสบการณ์นั้นมีอิทธิพลต่อผมมาก เวลาที่ใครถามว่าผมคิดว่าพวกเขาควรทำอะไร ผมแทบไม่เคยตอบคำถามนี้ตรงๆ แต่ป้อนคำถามเข้าไปในโมเดลของผมดังๆ ผมจะอธิบายวิธีทำงานของกระบวนการในโมเดลในอุตสาหกรรมที่แตกต่างจากพวกเขามาก เสร็จแล้วบ่อยครั้งพวกเขาจะพูดว่า “โอเค เราเข้าใจแล้ว” เสร็จแล้วก็ตอบคำถามของตัวเองได้อย่างลึกซึ้งกว่าที่ผมทำได้

สวนโมกข์กรุงเทพฯ กับความซับซ้อนและย้อนแย้ง

เมื่อวานไปร่วมงานเปิดหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพฯ) มา ดูรูปทั้งหมดที่ผู้เขียนถ่ายได้จาก Flickr set หน้านี้) ดาวน์โหลดไฟล์เสียงจากงานบางส่วนได้ที่นี่: พระไพศาล

โลกของจุดปลาย: สิ่งที่อินเทอร์เน็ตเป็น และวิธีเลิกเข้าใจผิดว่ามันเป็นอย่างอื่น

วันนี้พักผ่อนด้วยการแปลบทความคลาสสิกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต เพราะการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ปิดเว็บ โครงการ Cyber Scout ฯลฯ ในปัจจุบันเผยให้เห็นความเข้าใจผิดที่ยังแพร่หลายในบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นความเข้าใจผิดที่ทำให้ทู่ซี้ใช้วิธีที่ไม่มีทางบรรลุเป้าหมายที่อยากบรรลุ ยังไม่ต้องพูดกันในระดับหลักการว่า “ควรทำ” หรือไม่อย่างไร (ถ้ามีเวลาจะค่อยๆ เรียบเรียงประเด็นนี้ แต่โดยสรุปคือ – การอธิบายให้รัฐเข้าใจว่าสิ่งที่พยายามทำอยู่นั้นเปลืองเงินเปล่าๆ น่าจะเป็นวิธีที่ได้ผลกว่าการพยายามเปลี่ยนทัศนคติหรือความคิด ซึ่งยากมาก)

ดาวน์โหลดเวอร์ชั่น PDF เพื่อความสะดวกในการเผยแพร่ ได้ที่นี่ (12 หน้า)

โลกของจุดปลาย
สิ่งที่อินเทอร์เน็ตเป็น และวิธีเลิกเข้าใจผิดว่ามันเป็นอย่างอื่น

แปลจาก “World of Ends: What the Internet Is and How to Stop Mistaking It for Something Else” โดย Doc Searls and David Weinberger, 10 มีนาคม 2003 แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล, 31 กรกฏาคม 2553

โลกนี้มีความผิดพลาด มีหลายสิ่งที่คนทำพลาด

เราเรียนรู้จากความผิดพลาดบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ความคิดที่ว่าการขายของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยงบนเว็บคือเส้นทางเศรษฐีที่เยี่ยมยอด เราจะไม่คิดอย่างนั้นอีกแล้ว

แต่ความผิดพลาดอย่างอื่นเราทำซ้ำซาก ยกตัวอย่างเช่น การคิดว่า –

…เว็บเหมือนกับโทรทัศน์ คือเป็นวิธีสะกดลูกตาให้อยู่นิ่งๆ ระหว่างที่นักโฆษณาพ่นสารใส่หน้าคนดู

…เน็ตคือสิ่งที่บริษัทโทรคมนาคมและเคเบิลควรคัดกรอง ควบคุม และ “ปรับปรุง” ด้วยวิธีต่างๆ นานา

…เป็นเรื่องแย่ที่ผู้ใช้สื่อสารข้ามระบบสื่อสารทันควันต่างชนิดบนเน็ต

…เน็ตประสบปัญหาจากการที่ไม่มีกฏเกณฑ์ควบคุม เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมที่รู้สึกว่าถูกมันคุกคาม

เราหลายคนเกิดอาการผิดพลาดซ้ำซากเวลาพูดถึงเน็ต โดยเฉพาะนิตยสาร หนังสือพิมพ์ สื่อมวลชน เคเบิลทีวี อุตสาหกรรมดนตรี อุตสาหกรรมภาพยนตร์ และอุตสาหกรรมโทรศัพท์ หกสาขานี่แค่ตัวอย่างเท่านั้น

หนังสือใหม่จากสำนักพิมพ์ชายขอบ – กอปร เมื่อยอารมณ์ และประเทศของเราฯ

ได้เวลาคั่นโฆษณาเล็กน้อย ด้วยหนังสือกลอน 3 เล่ม 3 แนว ใหม่เอี่ยมจากสำนักพิมพ์ชายขอบค่ะ น่าจะวางแผงภายใน 1-2 สัปดาห์นี้