“Black Tuesday” ในตลาดหุ้นไทย – ได้ไม่คุ้มเสีย?

เจ็บตัวไปตามๆ กันสำหรับนักลงทุน “แมงเม่า” อย่างผู้เขียน หลังจากที่เมื่อวานตลาดหุ้นไทยดิ่งพสุธาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ ลดลงถึงกว่า 140 จุด หรือเกือบ 20% ก่อนที่จะมีแรงซื้อตอนก่อนตลาดปิดเล็กน้อย จนขึ้นมาปิดที่ติดลบ 108 จุด หรือกว่า 14.8%

ถ้าคิดแบบปลอบใจตัวเอง ก็โชคดีที่ไม่ได้ “ขาดทุน” จริงๆ (realized loss) เพราะถือแต่หุ้นบลูชิพไม่กี่ตัว ส่วนใหญ่จ่ายปันผลทุกปี ก็เลยกัดฟันถือมันต่อไป (แม้ว่าหุ้นสุดที่รัก ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK จะรูดลงมาถึง 30% หรือติด floor ให้ใจหายเล่นๆ หลายนาที) และได้ช้อนซื้อหุ้นบางตัวในราคาที่เคยคิดว่าชาตินี้จะไม่มีโอกาสเห็นอีกแล้ว (ช้อนแล้วช้อนอีก จนช้อนเกือบหัก :P)

ก็ขอให้เหตุการณ์อันเลวร้ายครั้งนี้เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับนักลงทุนทั้งหลายแล้วกันนะคะ ว่าควรมี “เงินสด” เก็บไว้ในมือ(หรือธนาคาร)ส่วนหนึ่งตลอดเวลาที่กันไว้สำหรับซื้อหุ้น เผื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ ตลาดหุ้นตกระนาวอย่างเมื่อวาน จะได้ฉวยโอกาสได้ เพราะตลาดหุ้นบ้านเราต้องยอมรับว่ายังด้อยพัฒนาอยู่มาก รายย่อยส่วนใหญ่ซื้อขายกันตามฝรั่ง หรือกระแสข่าวลือ มากกว่าจะดูปัจจัยพื้นฐานของหุ้นจริงๆ ความผันผวนจากความเสี่ยงทั้งระบบ (systemic risk) ค่อนข้างสูง

เมื่อวานผู้เขียนก็รอลุ้นอยู่เหมือนกันช่วงบ่าย ว่าจะมีคนไทยใจกล้ามาช่วยกันรับซื้อหุ้นขนาดไหน เพราะนักลงทุนฝรั่งต้องเทขายแน่ๆ เห็นมีนักลงทุนสถาบันไทยมาช่วยรับเหมือนกัน (ที่รู้ว่าเป็นสถาบันเพราะเขาซื้อทีละ 200,000-500,000 หุ้น ถ้าไม่เป็นสถาบันก็ต้องเป็นเศรษฐีพอสมควร) แต่ก็ต้านทานไม่ไหว เพราะฝรั่งเทขายหุ้นออกมาแบบมหาศาลจริงๆ ทีละล้านๆ หุ้น ซึ่งก็ควรขายออกมาจริงๆ เพราะ ธปท. บอกว่าเงินที่กันสำรอง 30% นั้นกันไว้เฉยๆ ไม่มีผลตอบแทนให้ (ตอนแรกผู้เขียนเข้าใจผิด คิดว่าอย่างน้อยน่าจะได้ดอกเบี้ยเงินฝาก) ดังนั้น ในเมื่อฝรั่งได้ผลตอบแทนเพียง 70% ของเงินที่ต้องการนำเข้า ก็แสดงว่าต้องเอาเงินมามากกว่าเดิมถึง 30% / 70% = 43% ถึงจะได้ผลตอบแทนเท่าเดิม (พูดง่ายๆ คือ ต้องชดเชยส่วน 30% ที่ถูกธปท. กันไว้เฉยๆ)

เมื่อเจอต้นทุนสูงขนาดนี้ แน่นอนว่าฝรั่ง โดยเฉพาะพวกนักลงทุนระยะสั้น ต้องโกยแน่บทันที


เจ็บตัวไปตามๆ กันสำหรับนักลงทุน “แมงเม่า” อย่างผู้เขียน หลังจากที่เมื่อวานตลาดหุ้นไทยดิ่งพสุธาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ ลดลงถึงกว่า 140 จุด หรือเกือบ 20% ก่อนที่จะมีแรงซื้อตอนก่อนตลาดปิดเล็กน้อย จนขึ้นมาปิดที่ติดลบ 108 จุด หรือกว่า 14.8%

ถ้าคิดแบบปลอบใจตัวเอง ก็โชคดีที่ไม่ได้ “ขาดทุน” จริงๆ (realized loss) เพราะถือแต่หุ้นบลูชิพไม่กี่ตัว ส่วนใหญ่จ่ายปันผลทุกปี ก็เลยกัดฟันถือมันต่อไป (แม้ว่าหุ้นสุดที่รัก ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK จะรูดลงมาถึง 30% หรือติด floor ให้ใจหายเล่นๆ หลายนาที) และได้ช้อนซื้อหุ้นบางตัวในราคาที่เคยคิดว่าชาตินี้จะไม่มีโอกาสเห็นอีกแล้ว (ช้อนแล้วช้อนอีก จนช้อนเกือบหัก :P)

ก็ขอให้เหตุการณ์อันเลวร้ายครั้งนี้เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับนักลงทุนทั้งหลายแล้วกันนะคะ ว่าควรมี “เงินสด” เก็บไว้ในมือ(หรือธนาคาร)ส่วนหนึ่งตลอดเวลาที่กันไว้สำหรับซื้อหุ้น เผื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ ตลาดหุ้นตกระนาวอย่างเมื่อวาน จะได้ฉวยโอกาสได้ เพราะตลาดหุ้นบ้านเราต้องยอมรับว่ายังด้อยพัฒนาอยู่มาก รายย่อยส่วนใหญ่ซื้อขายกันตามฝรั่ง หรือกระแสข่าวลือ มากกว่าจะดูปัจจัยพื้นฐานของหุ้นจริงๆ ความผันผวนจากความเสี่ยงทั้งระบบ (systemic risk) ค่อนข้างสูง

เมื่อวานผู้เขียนก็รอลุ้นอยู่เหมือนกันช่วงบ่าย ว่าจะมีคนไทยใจกล้ามาช่วยกันรับซื้อหุ้นขนาดไหน เพราะนักลงทุนฝรั่งต้องเทขายแน่ๆ เห็นมีนักลงทุนสถาบันไทยมาช่วยรับเหมือนกัน (ที่รู้ว่าเป็นสถาบันเพราะเขาซื้อทีละ 200,000-500,000 หุ้น ถ้าไม่เป็นสถาบันก็ต้องเป็นเศรษฐีพอสมควร) แต่ก็ต้านทานไม่ไหว เพราะฝรั่งเทขายหุ้นออกมาแบบมหาศาลจริงๆ ทีละล้านๆ หุ้น ซึ่งก็ควรขายออกมาจริงๆ เพราะ ธปท. บอกว่าเงินที่กันสำรอง 30% นั้นกันไว้เฉยๆ ไม่มีผลตอบแทนให้ (ตอนแรกผู้เขียนเข้าใจผิด คิดว่าอย่างน้อยน่าจะได้ดอกเบี้ยเงินฝาก) ดังนั้น ในเมื่อฝรั่งได้ผลตอบแทนเพียง 70% ของเงินที่ต้องการนำเข้า ก็แสดงว่าต้องเอาเงินมามากกว่าเดิมถึง 30% / 70% = 43% ถึงจะได้ผลตอบแทนเท่าเดิม (พูดง่ายๆ คือ ต้องชดเชยส่วน 30% ที่ถูกธปท. กันไว้เฉยๆ)

เมื่อเจอต้นทุนสูงขนาดนี้ แน่นอนว่าฝรั่ง โดยเฉพาะพวกนักลงทุนระยะสั้น ต้องโกยแน่บทันที

หลายคนอาจแย้งว่า อ้าว ก็มาตรการนี้ใช้สำหรับ “เงินใหม่” เท่านั้นไม่ใช่หรือ ฝรั่งที่เข้ามาซื้อหุ้นไปแล้ว และเป็นนักลงทุนระยะยาว ไม่เห็นต้องเดือดร้อนอะไร?

ในความเป็นจริง แม้จะเป็น “นักลงทุนระยะยาว” กองทุนระยะยาวต่างๆ ทั้งไทยและเทศ ก็มีการปรับพอร์ต ซื้อขายหุ้นเป็นระยะๆ อย่างน้อยทุกปีเหมือนกัน ดังนั้น ถ้านักลงทุนระยะยาวฝรั่งขายหุ้นออกไป เวลาจะเอาเงินเข้ามาซื้อหุ้นใหม่ก็จะโดนกฎเหล็กของธปท. ข้อนี้ ทำให้นักลงทุนระยะยาวหลายคนคงตัดสินใจว่า ไม่เอาล่ะ ไปลงทุนที่อื่นดีกว่า

ดังนั้น มาตรการของ ธปท. จึงไม่ได้ “ไล่” เฉพาะฝรั่งพวกเก็งกำไรระยะสั้นออกจากตลาดหุ้นอย่างเดียว แต่ยังไล่ “ฝรั่งดี” คือนักลงทุนระยะยาว ออกจากตลาดไปด้วย เพราะต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างมหาศาลนั่นเอง

ในเมื่อฝรั่งกระหน่ำขาย คนไทยเราที่เล่นหุ้นแบบปัจจัยพื้นฐานมีน้อย เงินก็น้อยกว่าเขา ไม่มีทางรับซื้อเท่ากับที่ฝรั่งอยากขาย ผลก็เลยออกมา “เละ” อย่างที่เห็น

เชื่อว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปคงมีแต่คนออกมา “ด่า” ธปท. มากมาย โดยเฉพาะนักลงทุนและบริษัทโบรกเกอร์ ว่าเอาสมองส่วนไหนคิดมาตรการงี่เง่าแบบนี้ออกมาวะ ฯลฯ และ ธปท. เองก็ดูเหมือนจะ “ยอมรับ” ความผิดพลาด ด้วยการรีบออกมาแก้ไขมาตรการ บอกว่าให้ยกเว้นการลงทุนในตลาดหุ้น

แต่ความเชื่อมั่นต่อ ธปท. ในสายตานักลงทุนต่างชาติ คงหดหายไปอีกนานอย่างปฏิเสธไม่ได้

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่ามาตรการนี้รุนแรงเกินไป แต่คิดว่านักลงทุนไทยทุกคนน่าจะพยายามมองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่าง “เป็นกลาง” และ “ไม่เข้าข้างฝรั่ง” บ้าง ในฐานะคนไทยธรรมดาๆ ที่เห็นใจพี่น้องคนไทยด้วยกันที่กำลังประสบปัญหาจากการแข็งค่าของเงินบาท ไม่ใช่ในฐานะนักเล่นหุ้น เพราะลำพังตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่เศรษฐกิจของประเทศ เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น (แม้ว่าจะเป็นส่วนที่สำคัญมากก็ตาม)

ผู้เขียนพยายามมองเหตุการณ์นี้อย่างเป็นกลาง แล้วก็สรุป(กับตัวเอง) ได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ธปท. ไม่เข้าใจพฤติกรรมของนักลงทุนดีพอ ทำให้ออกมาตรการ “เหวี่ยงแห” ที่มีต้นทุนสูงเกินเหตุ

ก่อนอื่น ถ้ามองจากเป้าหมายของ ธปท. ที่ต้องการสกัดกั้นการเก็งกำไรเงินบาทและฉุดให้บาทอ่อนตัวลง มาตรการนี้ต้องถือว่า “ได้ผล” มาก เพราะทำให้นักลงทุนฝรั่งทั้งตราสารทุน(หุ้น) และตราสารหนี้ เทขายกันถล่มทลาย ถ้าวันนี้ค่าบาท/USD ไม่หล่นไปอยู่แถวๆ 38-39 บาทผู้เขียนก็จะแปลกใจมาก

ทีนี้ถ้าเราลองถามว่า “ผลเสียที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น คุ้มกันหรือเปล่ากับประโยชน์ที่ได้รับ” คำตอบน่าจะขึ้นอยู่กับว่า จริงๆ แล้ว ธปท. ต้องการ จัดการกับนักเก็งกำไรค่าเงิน หรือ จัดการให้เงินบาทอ่อนตัวลง กันแน่

เพราะคำตอบในสองกรณีนั้น ไม่เหมือนกัน

ในกรณีแรก คือถ้าธปท. ต้องการจัดการกับนักเก็งกำไรค่าเงิน ก็น่าจะออกมาตรการที่เฉพาะเจาะจงหรือ selective กว่านี้ เช่น ใช้มาตรการกันเงินสำรอง 30% เดียวกันกับที่ออกมาก็ได้ แต่ใช้เฉพาะสำหรับเงินต่างชาติที่เข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ (debt instrument) ต่างๆ เช่น หุ้นกู้, ตั๋ว B/E (bill of exchange), ตั๋ว P/N (promissory note) โดยยกเว้นเงินต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น

เพราะนักเก็งกำไรค่าเงิน “หากิน” ในตลาดตราสารหนี้ทั้งหลายนั่นแหละ ไม่ใช่ตลาดหุ้น

จริงอยู่ ปริมาณเงินต่างชาติที่ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 มีจำนวนสูงถึง 114,000 ล้านบาท (net buy ของนักลงทุนฝรั่ง) สูงกว่าปริมาณเงินที่เอาเข้ามาซื้อตราสารหนี้ต่างๆ หลายเท่า แต่เงินต่างชาติที่เข้ามาในตลาดหุ้นนั้นน่าจะไม่ใช่การ “เก็งกำไรค่าเงิน” แต่เป็นการลงทุนในตลาดหุ้นจริงๆ เพราะตลาดหุ้นบ้านเราตอนนี้ต้องนับว่า น่าสนใจมากสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เพราะ “ถูก” กว่าประเทศเพื่อนบ้านเมื่อมองจากปัจจัยพื้นฐานที่ดีมาก (ค่า P/E ratio ของตลาดหุ้นไทยต่ำกว่า 8 แล้ว เทียบกับ 10-15 ของประเทศแถบนี้)

เมื่อหันไปดูตลาดตราสารหนี้ จากข้อมูลของ ThaiBMA มูลค่าการซื้อขาย (trading value) พุ่งจาก 3.9 แสนล้านในเดือนมกราคม 2549 ถึง 8.6 แสนล้านในเดือนกันยายน 2549

ตัวเลขนี้อาจบอกอะไรเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักเก็งค่าเงินไม่ได้มาก เพราะนับเฉพาะหุ้นกู้ที่ซื้อขายกันอย่างเปิดเผย (มีการ quote ราคาซื้อขาย) ไม่นับพวกตั๋ว B/E และตั๋ว P/N ซึ่งลูกหนี้กู้โดยตรงจากธนาคารพาณิชย์ และไม่แยกสัญชาติของคนซื้อคนขาย แต่การพุ่งสูงขึ้นของปริมาณการซื้อขาย แสดงว่าน่าจะมีฝรั่งนักเก็งกำไรค่าเงิน มาซื้อๆ ขายๆ ในตลาดนี้มากพอสมควร

นักเก็งกำไรค่าเงินปกติไม่ชอบซื้อหุ้น เพราะมีความไม่แน่นอนสูง วันไหนหากหุ้นที่ตัวเองถือราคาตก อาจทำให้กำไรจากค่าเงินหายวับไปทันที หรือไม่ก็ถูกกดดันให้ขายออกก่อนความตั้งใจ

นักเก็งกำไรค่าเงินเลยชอบตราสารหนี้ เพราะมีความแน่นอนมากกว่า ยิ่งตราสารระยะสั้น (1-3 เดือน) ที่ซื้อขายโดยตรงกับธนาคารพาณิชย์ เช่น ตั๋ว B/E และตั๋ว P/N ยิ่งชอบ

วิธีเก็งค่าเงินก็ทำกันง่ายๆ คือ เริ่มจากนักเก็งกำไรค่าเงินไปแลกดอลลาร์เป็นบาทมาก่อน เอาเงินบาทนั้นให้ธนาคารพาณิชย์กู้ (เช่น ให้ธนาคารออกตั๋ว B/E หรือ P/N ให้ ธนาคารเป็นลูกกู้ นักเก็งเป็นเจ้าหนี้) ธนาคารใช้หุ้นกู้เป็นหลักประกัน โดยทำสัญญากับธนาคารว่าจะขายหุ้นกู้คืนให้ พอนักเก็งได้กำไร ก็จะได้เงินบาทคืนเมื่อหุ้นกู้ครบกำหนด ขายหุ้นกู้นั้นเอาดอลลาร์ก่อนออกจากประเทศไป วิธีนี้ทำให้ได้ “กำไรสองต่อ” คือได้ทั้งดอกเบี้ย ได้ทั้งกำไรค่าเงินจากบาทที่แข็งขึ้น

นับเป็นการ “ซิกแซก” ของนักเก็งกำไร เพราะการให้ธนาคารกู้บาทโดยสัญญาว่าจะขายหุ้นกู้คืนให้แบบนี้ไม่ต่างอะไรเลยกับสัญญาซื้อคืน (repurchase agreement หรือสั้นๆ ว่า repo) ที่ ธปท. เคยออกกฎห้ามต่างชาติทำมาแล้ว และสัญญาแบบนี้ก็ช่วยหลบเลี่ยงข้อจำกัดของ ธปท. ที่ห้ามไม่ให้ต่างชาติ (Non-Resident หรือ NR) มีเงินมากกว่า 300 ล้านบาทในบัญชีเงินฝาก เพราะสัญญากู้เงินย่อมไม่ใช่เงินฝาก จะให้ธนาคารกู้เท่าไหร่ก็ได้ เจ้าเล่ห์ไหมล่ะ?

ตั้งแต่ต้นปี 2549 ธปท. ก็รู้อยู่ตลอดมาว่ามีการทำแบบนี้เพื่อหลบเลี่ยงกฎห้ามทำสัญญา repo แต่แทนที่จะสั่งธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายห้ามไม่ให้ทำสัญญาแบบนี้ กลับทำเพียง“ขอความร่วมมือ” ในหนังสือ ธปท. วันที่ 4 ธันวาคม 2549 เท่านั้น ซึ่งก็แปลว่า เมื่อไม่ต้องทำตาม ธนาคารพาณิชย์ก็ไม่จำเป็นต้องร่วมมือ

การออกมาตรการหฤโหดของ ธปท. เมื่อสองวันก่อน ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าการ “ขอความร่วมมือ” นั้นไม่ได้ผลเลย

ดังนั้น ถ้าเป้าหมายของ ธปท. คือการจัดการกับนักเก็งกำไรค่าเงิน เพียงอย่างเดียว เมื่อดูมาตรการอันแสนหฤโหดต่อตลาดหุ้น เทียบกับหนังสืออันหน่อมแน้มรอมชอมต่อธนาคาร ก็อาจมองได้ว่า ธปท. “ใจดี” กับธนาคารพาณิชย์ (ทั้งไทยและเทศ ที่สมรู้ร่วมคิดกับนักเก็งกำไรค่าเงิน) มากเกินไป และ “ใจร้าย” กับนักเล่นหุ้น (ซึ่งส่วนใหญ่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วย) มากเกินไป ซึ่งถ้าพยายามมอง ธปท. ในแง่ดี(เล็กน้อย) ธปท. อาจคาดไม่ถึงจริงๆ ว่ามาตรการนี้จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อตลาดหุ้นมากมายขนาดนี้ (ผู้เขียนก็นึกไม่ถึง) แต่อย่างไรก็ตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่า ธปท. “เหวี่ยงแห” เกินเหตุไปมาก ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่านักเก็งกำไรค่าเงินสิงสถิตอยู่ในตลาดตราสารหนี้ ไม่ใช่ตลาดหุ้น ก็ยังดันทุรังออกมาตรการที่ส่งผลกระทบมากมายต่อตลาดหุ้น ทำให้นักลงทุนสุจริตพลอยถูกหางเลขไปด้วย

เพราะ “นักเก็งกำไรราคาหุ้น” ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือเทศ (ที่เก็งกำไรจริงๆ คือซื้อเพราะคิดว่าหุ้นจะขึ้น ไม่ใช่เล่นหุ้นปั่น ซึ่งเป็นการสมคบกันสร้างราคาเทียมผิดกฎหมาย ทางการเราจับเจ้ามือปั่นหุ้นรายใหญ่ๆ ไม่เคยได้ จนเดี๋ยวนี้คนเริ่มไม่ค่อยรู้ความแตกต่างแล้ว) นั้น ย่อมเป็นนักลงทุนที่มีเจตนา “สุจริต” กว่า “นักเก็งกำไรค่าเงิน” ที่ตั้งใจมาปั่นค่าเงินเอากำไรอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ

เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องแยกแยะนักเก็งกำไรทั้งสองประเภทนี้ให้ได้ โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐอย่าง ธปท.

อย่างไรก็ตาม หากเป้าหมายหลักของ ธปท. ไม่ใช่การจัดการกับนักเก็งค่าเงิน แต่เป็นการจัดการให้เงินบาทอ่อนตัวลง มาตรการที่ออกมาก็ต้องนับว่า “ได้ผล” มาก และการเหวี่ยงแหที่ครอบคลุมตลาดหุ้นด้วยนั้น ก็อาจมีเหตุผลจริงๆ

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า สาเหตุเงินบาทแข็งขึ้นเยอะ ไม่ได้มาจากนักเก็งกำไรค่าเงินฝ่ายเดียว แต่เงินเข้าปริมาณมหาศาลกว่า 114,000 ล้านบาทที่มาลงทุนในตลาดหุ้น ก็เป็นสาเหตุหนึ่งด้วย

ดังนั้น ถ้า ธปท. ต้องการจัดการให้บาทอ่อนตัวลง ทางที่ดีที่สุดถ้าจะใช้มาตรการควบคุมเงินเข้าออก (capital control) ทั้งที ก็ต้อง “อุด” มันให้หมดทุกทางที่เงินสามารถไหลเข้ามาได้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดเงิน ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ เงินฝาก ฯลฯ

วิธีนี้ทำให้บาทอ่อนลงได้แน่ๆ แต่ในระยะยาว มันจะทำให้ต่างชาติ “เข็ด” จนไม่กลับมาซื้อหุ้นไทยอีกเลยหรือเปล่า และจริงๆ แล้ว รัฐและเอกชนควรจะหาวิธีพัฒนาศักยภาพและผลิตภาพธุรกิจส่งออกของเรามากกว่านี้หรือเปล่า แทนที่จะใช้วิธีหยาบๆ ซึ่งไม่มีทางปลอดผลเสีย คงเป็นเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์จะถกเถียงกันไปอีกนาน

ผู้เขียนไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ จึงขอยุติข้อเขียนที่เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ ไว้แต่เพียงเท่านี้ อย่างน้อย เหตุการณ์ Black Tuesday ก็ทำให้เราเห็นว่า ตลาดหุ้นเรายังต้องพึ่งพาเงินต่างชาติ (30% ของตลาด) อยู่มาก ตราบใดที่นักลงทุนสถาบันไทยยังมีส่วนแบ่งเพียง 10% ของตลาด และนักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ยังไม่เคยซื้อหุ้นบนปัจจัยพื้นฐานจริงๆ

ขอให้นักลงทุนทุกท่านโชคดีกับการช้อนซื้อ เพราะหุ้นคงไม่กระโดดกลับไปเท่าเดิมทันที เนื่องจากต่างชาติน่าจะยังคงขายสุทธิอยู่ และโบรกเกอร์้ต่างๆ คงต้องบังคับขาย (force sell) หุ้นที่เล่นแบบมาร์จิ้นหลายตัว ทำให้นักลงทุนไทยน่าจะมีโอกาสซื้อหุ้นดีๆ ในราคาสุดแสนถูกไปอีกอย่างน้อย 2-3 วัน

หวังว่ารายย่อยที่ชอบเล่นหุ้นปั่นจะ “เข็ด” จริงๆ เสียที 😉