Development as Freedom โดย Amartya Sen

[My third vote for the top 5 public intellectuals in the The Prospect/FP Top 100 Public Intellectuals list goes to Amartya Sen, Indian economist and the first Asian recipient of the Nobel prize in economics, whose works in welfare economics are highly influential, particularly in shaping human development policies of the World Bank and the United Nations. The book Development as Freedom summarizes Sen’s famous work on famines, and his proposal that human capabilities, not wealth, should be the core focus of development policies. He was among the first economists who added the dimension of ‘ethics’ to the typically-staid field of economics.]

ในขณะที่นักคิดอย่าง Fareed Zakaria ชี้ให้เราเห็นว่า ประชาธิปไตยนั้นไร้ประโยชน์หากเป็นประชาธิปไตยที่ไร้เสรี (illiberal democracy) ก็มีนักคิดอีกจำนวนหนึ่ง ที่เปรียบเสมือนไม้ผลัดที่สาม ผู้ส่องกล้องมองสังคมมนุษย์ในระดับที่แคบลงมากว่าระบอบการเมือง ด้วยการเพ่งความคิดไปที่ประเด็นว่า “เสรีภาพของมนุษย์” นั้น ควรมีขอบเขตหรือไม่ อย่างไร และเราจะใช้หลักการนี้ในการพัฒนาประเทศได้อย่างไร

หนึ่งในนักคิดผู้มีอิทธิพลในการศึกษาประเด็นนี้มากที่สุดคือ Amartya Sen นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย ชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี 2541 จากงานวิจัยและงานเขียนอันโดดเด่นด้านเศรษฐศาสตร์สังคมสงเคราะห์ (welfare economics) โดยเฉพาะบทวิจัยที่พิสูจน์ว่า ในหลายๆ ประเทศที่กำลังพัฒนา ภาวะอดอยากอย่างรุนแรง (famine) ไม่ได้เกิดจากภาวะการผลิตอาหารไม่เพียงพอ (food shortage) แต่เกิดจากปัญหาที่ผู้อดอยากไม่มีเงินซื้อข้าวกิน หรือไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพในการบริโภค

Sen เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกๆ ของโลก ที่ใส่มิติของศีลธรรม (ethics) เข้าไปในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ทำให้เศรษฐศาสตร์มีความอ่อนโยน และมีมนุษยธรรมเพิ่มขึ้น แนวคิดและงานวิจัยของ Sen ไม่จำกัดอยู่เพียงทฤษฎีในตำราเรียนเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลมหาศาลต่อเศรษฐศาสตร์สังคมสงเคราะห์ทั้งแขนง ตลอดจนนำไปใช้ในการปฏิบัติจริงโดยหน่วยงานสากลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการพัฒนา อาทิ ธนาคารโลก และโปรแกรมการพัฒนาของสหประชาชาติ (United Nations Development Programme) ผู้นำแนวคิดของ Sen ไปใช้ในการวิเคราะห์ความคืบหน้าของการพัฒนาประเทศทั่วโลก เพื่อสังเคราะห์และประมวลออกมาเป็น “รายงานการพัฒนามนุษย์” (Human Development Report) ที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา

Development as Freedom

Sen สรุปความคิดและผลงานวิจัยหลักๆ ของเขา โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างเสรีภาพและการพัฒนา ในหนังสือเรื่อง Development as Freedom (การพัฒนาในฐานะเสรีภาพ) แก่นของหนังสือเล่มนี้ คือข้อเสนอของ Sen ว่า เราไม่ควรวัดคุณภาพชีวิตมนุษย์ด้วยทรัพย์สินหรือรายได้ หรือแม้กระทั่งระดับความพึงพอใจ (ในหลักการ utilitarianism หรืออรรถประโยชน์นิยม) หากควรวัดด้วยระดับ เสรีภาพ เขามีจุดยืนแบบเสรีนิยม (liberalism) โดยกล่าวว่า “เป็นเรื่องยากที่การพัฒนาจะรุดหน้าไปได้ไกลโดยปราศจากกลไกตลาด” แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มองข้ามความสำคัญของกลไกรัฐ เพราะ “มีบทบาทในการช่วยสนับสนุนสังคม ควบคุมตลาด และเล่นการเมืองในทางที่สามารถช่วยให้คนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น การต่อต้านกลไกตลาดโดยทั่วไป เป็นเรื่องแปลกเหมือนกับต่อต้านการสนทนากันระหว่างคนสองคน เพราะกิจกรรมตลาดเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน”


[My third vote for the top 5 public intellectuals in the The Prospect/FP Top 100 Public Intellectuals list goes to Amartya Sen, Indian economist and the first Asian recipient of the Nobel prize in economics, whose works in welfare economics are highly influential, particularly in shaping human development policies of the World Bank and the United Nations. The book Development as Freedom summarizes Sen’s famous work on famines, and his proposal that human capabilities, not wealth, should be the core focus of development policies. He was among the first economists who added the dimension of ‘ethics’ to the typically-staid field of economics.]

ในขณะที่นักคิดอย่าง Fareed Zakaria ชี้ให้เราเห็นว่า ประชาธิปไตยนั้นไร้ประโยชน์หากเป็นประชาธิปไตยที่ไร้เสรี (illiberal democracy) ก็มีนักคิดอีกจำนวนหนึ่ง ที่เปรียบเสมือนไม้ผลัดที่สาม ผู้ส่องกล้องมองสังคมมนุษย์ในระดับที่แคบลงมากว่าระบอบการเมือง ด้วยการเพ่งความคิดไปที่ประเด็นว่า “เสรีภาพของมนุษย์” นั้น ควรมีขอบเขตหรือไม่ อย่างไร และเราจะใช้หลักการนี้ในการพัฒนาประเทศได้อย่างไร

หนึ่งในนักคิดผู้มีอิทธิพลในการศึกษาประเด็นนี้มากที่สุดคือ Amartya Sen นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย ชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี 2541 จากงานวิจัยและงานเขียนอันโดดเด่นด้านเศรษฐศาสตร์สังคมสงเคราะห์ (welfare economics) โดยเฉพาะบทวิจัยที่พิสูจน์ว่า ในหลายๆ ประเทศที่กำลังพัฒนา ภาวะอดอยากอย่างรุนแรง (famine) ไม่ได้เกิดจากภาวะการผลิตอาหารไม่เพียงพอ (food shortage) แต่เกิดจากปัญหาที่ผู้อดอยากไม่มีเงินซื้อข้าวกิน หรือไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพในการบริโภค

Sen เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกๆ ของโลก ที่ใส่มิติของศีลธรรม (ethics) เข้าไปในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ทำให้เศรษฐศาสตร์มีความอ่อนโยน และมีมนุษยธรรมเพิ่มขึ้น แนวคิดและงานวิจัยของ Sen ไม่จำกัดอยู่เพียงทฤษฎีในตำราเรียนเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลมหาศาลต่อเศรษฐศาสตร์สังคมสงเคราะห์ทั้งแขนง ตลอดจนนำไปใช้ในการปฏิบัติจริงโดยหน่วยงานสากลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการพัฒนา อาทิ ธนาคารโลก และโปรแกรมการพัฒนาของสหประชาชาติ (United Nations Development Programme) ผู้นำแนวคิดของ Sen ไปใช้ในการวิเคราะห์ความคืบหน้าของการพัฒนาประเทศทั่วโลก เพื่อสังเคราะห์และประมวลออกมาเป็น “รายงานการพัฒนามนุษย์” (Human Development Report) ที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา

Development as Freedom

Sen สรุปความคิดและผลงานวิจัยหลักๆ ของเขา โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างเสรีภาพและการพัฒนา ในหนังสือเรื่อง Development as Freedom (การพัฒนาในฐานะเสรีภาพ) แก่นของหนังสือเล่มนี้ คือข้อเสนอของ Sen ว่า เราไม่ควรวัดคุณภาพชีวิตมนุษย์ด้วยทรัพย์สินหรือรายได้ หรือแม้กระทั่งระดับความพึงพอใจ (ในหลักการ utilitarianism หรืออรรถประโยชน์นิยม) หากควรวัดด้วยระดับ เสรีภาพ เขามีจุดยืนแบบเสรีนิยม (liberalism) โดยกล่าวว่า “เป็นเรื่องยากที่การพัฒนาจะรุดหน้าไปได้ไกลโดยปราศจากกลไกตลาด” แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มองข้ามความสำคัญของกลไกรัฐ เพราะ “มีบทบาทในการช่วยสนับสนุนสังคม ควบคุมตลาด และเล่นการเมืองในทางที่สามารถช่วยให้คนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น การต่อต้านกลไกตลาดโดยทั่วไป เป็นเรื่องแปลกเหมือนกับต่อต้านการสนทนากันระหว่างคนสองคน เพราะกิจกรรมตลาดเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน”

“เสรีภาพ” ในแนวคิดของ Sen มีความหมายกว้างกว่า และครอบคลุมมากกว่าศัพท์ที่ใช้กันทั่วไป (เช่น กว้างกว่าความหมายของ “เสรีภาพพื้นฐานทางการเมือง” เช่น เสรีภาพในการพูดและการชุมนุม ที่ Zakaria พูดถึง) โดย Sen เสนอว่า มนุษย์ทุกคนควรได้รับเสรีภาพที่สำคัญห้าประการด้วยกัน คือ:

1.เสรีภาพทางการเมือง
2.เสรีภาพทางเศรษฐกิจ
3.โอกาสทางสังคม
4.หลักประกันความโปร่งใส
5.การคุ้มครองความปลอดภัย

Sen บอกว่า เสรีภาพเหล่านี้เป็นทั้ง “วิธีการ” และ “เป้าหมาย” ของการพัฒนา เสรีภาพควรเป็นวิธีการของการพัฒนาเพราะ “การใช้เสรีภาพถูกกำกับโดยคุณธรรม ซึ่งถูกกำกับอีกชั้นหนึ่งโดยการหารือสาธารณะ (public discussions) และการติดต่อกันทางสังคม ซึ่งถูกกำกับอีกทอดหนึ่งโดยเสรีภาพในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้”

นอกจากนี้ Sen เชื่อว่า ระดับการลิดรอนศักยภาพของคน (ในการใช้เสรีภาพข้างต้น) เป็นเครื่องวัด “ระดับความยากจน” ได้ดีกว่าตัวเลขรายได้ เพราะสามารถครอบคลุมแง่มุมของความยากจนที่มองไม่เห็นด้วยตัววัดทางรายได้ Sen ยกตัวอย่างเช่น ความแตกต่างระหว่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป ด้านสาธารณสุขและอัตราการตายของประชาชน และความแตกต่างระหว่างทวีปแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราและอินเดีย ด้านอัตราการรู้หนังสือ อัตราการตายของทารกแรกเกิด และความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ

Sen ไม่ได้เป็นนักคิด “ซ้ายจัด” ที่ปฏิเสธระบบตลาด (market economy) ใน Development as Freedom เขาย้ำให้เห็นความสำคัญ และประสิทธิภาพของระบบตลาด ในการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ นอกจากนี้ Sen ยังเชื่อว่าตลาดสามารถมีบทบาทในการช่วยรัฐเผยแพร่สินค้าสาธารณะ (public goods เช่น ความรู้ หรืออากาศบริสุทธิ์) เขาเสนอว่า การกำหนดให้ “การเพิ่มศักยภาพส่วนบุคคล” เป็นเป้าหมายของโครงการสังคมสงเคราะห์ต่างๆ (แทนที่จะใช้ “การเพิ่มรายได้” เป็นเป้าหมาย แบบที่รัฐส่วนใหญ่กำลังทำอยู่) จะช่วยลดการบิดเบือนของแรงจูงใจในตลาดได้ และช่วยให้ผู้ด้อยโอกาสมีเสรีภาพมากขึ้น ซึ่งก็จะนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น

การเสนอให้เสรีภาพส่วนบุคคล เป็นเป้าหมายและวิธีการของการพัฒนา ทำให้ Sen มองว่าระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นระบอบการเมืองที่เหมาะสมต่อการพัฒนาที่สุด เพราะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน (ซึ่งประเด็นนี้ถ้าเราเอาแนวคิดของ Zakaria มาปรับใช้ ก็ต้องเน้นว่า ประชาธิปไตยนั้นต้องใช้ เสรีนิยมใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional liberalism) ควบคู่ไปด้วย จึงจะคุ้มครองได้จริง) และมีบทบาทเชิงบวกในการสร้างคุณค่า และมาตรฐานต่างๆ ของสังคม ซึ่งรวมทั้งกรอบความต้องการทางเศรษฐกิจด้วย

บทที่เจ็ดใน Development as Freedom สรุปผลการวิจัยที่โด่งดังที่สุดของ Sen นั่นคือ การศึกษาวิเคราะห์สภาพความอดอยาก (famine) ของประชากร เขาสรุปผลว่า ภาวะอันน่าหดหู่นี้ ปกติไม่ได้เกิดจากการผลิตอาหารไม่เพียงพอ (food shortage) – บางครั้ง บางประเทศยังส่งออกอาหารได้ขณะที่ประชากรตัวเองต้องอดอยาก – แต่เกิดจากภาวะความยากจนอย่างรุนแรง เขาบอกว่า รัฐสามารถหลีกเลี่ยงภาวะความอดอยากได้ง่าย และใช้เงินไม่มาก โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือ โครงการจ้างงานของรัฐ Sen ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาความอดอยากอย่างรุนแรงนั้น ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตย และไม่น่าจะเกิดขึ้นด้วย เพราะปัญหานี้เกิดขึ้นได้เฉพาะในประเทศที่ใช้ระบอบเผด็จการ ที่ไร้ความโปร่งใส และปราศจากการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอ

จากการวิเคราะห์อัตราการเติบโตของประชากรโลก และอัตราการผลิตอาหาร Sen เสนอหลักฐานแย้งคำพยากรณ์ของนักคิด (ที่ดังที่สุดเห็นจะเป็น Thomas Malthus) ที่คาดว่า ปริมาณอาหารที่มนุษย์ผลิตได้ในอนาคต จะไม่สามารถรองรับความต้องการของประชากรโลกได้

สองร้อยปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีการเกษตรที่ก้าวหน้า ทำให้ผลผลิตต่อไร่ของเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ในขณะเดียวกัน อัตราการเติบโตของประชากรโลกก็ลดลง ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากอัตราการเกิดของทารกที่ลดลง Sen ชี้ว่า การช่วยเหลือให้ผู้หญิงมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้นนั้น สำคัญพอๆ กับการช่วยเหลือให้พวกเธอมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การรู้หนังสือ และระดับงานที่ผู้หญิงได้ทำ เป็นดัชนีที่ทำนายอัตราการรอดตายของเด็ก และอัตราชะลอตัวของอัตราการเกิด ที่ดีที่สุดในโลก

Sen เสนอข้อโต้แย้งนักคิดหลายๆ คน โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ที่ชอบอ้างว่า “คุณค่าแบบเอเชีย” (Asian Values) เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ โดย Sen ชี้ว่า ประวัติศาสตร์การพัฒนาในเอเชียนั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “ประเพณีของโลกตะวันตกนั้น ไม่ใช่เป็นแนวทางเดียวที่เตรียมตัวให้เราสามารถใช้วิธีการที่ตั้งอยู่บนหลักการแห่งเสรีภาพ ในการบรรลุความเข้าใจทางสังคม”

ทฤษฎีหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อนักเศรษฐศาสตร์ที่ต่อต้านแนวคิดของเศรษฐศาสตร์สังคมสงเคราะห์ คือ ทฤษฎีความเป็นไปไม่ได้ ของ Kenneth Arrow ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี พ.ศ. 2515 ทฤษฎีนี้กล่าวว่า ไม่มีทางที่เราจะ “รวบรวม” (aggregate) ความชอบต่างๆ ของมนุษย์ได้ โดยไม่ให้ผลที่ออกมานั้น ไร้เหตุผลหรือไม่ยุติธรรม ซึ่ง Sen ชี้ว่า ทฤษฎีนี้ไม่ได้แปลว่า เราไม่สามารถมีประชาธิปไตยที่ชอบธรรมได้ หากแปลว่า ประชาธิปไตยที่ดีนั้นจะต้องมีฐานข้อมูลที่หลากหลาย และพอเพียงต่อการตัดสินใจของประชาชนผู้ลงคะแนนเสียง

Sen บอกว่า แม้คนส่วนใหญ่จะมองว่า ความเห็นแก่ตัว (selfishness) เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ขับเคลื่อนระบบทุนนิยม แท้ที่จริงแล้วปัจจัยอื่นๆ เช่น จรรยาบรรณทางธุรกิจ (business ethics) ระดับคอร์รัปชั่น และการใช้นิติกรรมสัญญา (contract) ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อความก้าวหน้า หรือความตกต่ำของระบบทุนนิยม

Development as Freedom เป็นหนังสืออันยอดเยี่ยมที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรม เสรีภาพ และความรับผิดชอบในสังคม ชี้ให้เห็นว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลก สามารถบรรลุเป้าหมายของการคุ้มครอง และส่งเสริมเสรีภาพของประชาชนได้เหมือนกัน แม้ว่าจะมีความแตกต่าง และความหลากหลายทางวัฒนธรรมไม่เท่ากัน ตลอดจนแสดงให้เห็นว่า ศักยภาพของมนุษย์ ซึ่งแสดงออกโดยระดับเสรีภาพต่างๆ ห้าประการ เป็นตัววัดระดับการพัฒนาของประเทศที่ดีกว่า GDP ต่อหัว หรือแม้แต่หลักการเรื่อง “ทุนมนุษย์” (human capital) ซึ่งเป็นก้าวแรกที่สำคัญ แต่ก็ยังแคบเกินไป เพราะจำกัดความหมายอยู่เพียงผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต (effects of production) เท่านั้น ไม่รวมผลกระทบทางตรงของศักยภาพของมนุษย์ ต่อระดับความเป็นอยู่และเสรีภาพ และผลกระทบทางอ้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอันดีงาม

ท้ายนี้ขอแปลบางตอนจากบทสัมภาษณ์ Sen ในวารสาร AsiaSource ที่อธิบายความคิดเห็นของ Sen ว่า ปัจจุบันโลกเรามีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใดในการพัฒนามนุษย์:


คุณคิดว่าองค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนา – อาทิ ธนาคารโลกและ IMF – ทำงานได้สมกับที่เรามอบความไว้วางใจให้หรือเปล่า? หรือพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ คุณคิดว่าปัจจุบันโลกเรามีเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง ที่เอื้ออำนวยต่อการบรรลุเป้าหมายด้านศักยภาพ และเสรีภาพมนุษย์ ตามที่คุณเสนอไว้หรือไม่?

มีสามประเด็นที่ผมอยากอธิบายในเรื่องนี้นะครับ ประเด็นแรกคือ บางครั้ง ธนาคารโลกและ IMF ใช้นโยบายบางอย่าง ที่ในความเห็นของผม ไม่ใช่นโยบายที่ดีที่สุดในการส่งเสริมการพัฒนามนุษย์ ถ้าเราจะหาองค์กรที่มีสถิติสมบูรณ์แบบไร้ที่ติในด้านนี้ ผมจัดให้ธนาคารโลกและ IMF อยู่ในประเภทนี้ไม่ได้แน่ๆ

ประเด็นที่สองของผมคือ องค์กรต่างๆ รวมทั้งธนาคารโลกและ IMF ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้อยู่เสมอ เหมือนคนธรรมดาอย่างเราทุกคน บางครั้ง เราต้องใช้เงินตัวเองในการเรียนรู้ (เช่น ไปเข้าโรงเรียนเอกชนแพงๆ) ในขณะที่ธนาคารโลกและ IMF ได้บทเรียนราคาแพง ที่คนอื่นเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย จากความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็น หรือที่เป็นผลจากการดำเนินนโยบายผิดพลาด

หากมองในแง่ดี ธนาคารโลกและ IMF นั้น ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตจริงๆ ภายใต้การนำของ James Wolfensohn ธนาคารโลกได้ดำเนินนโยบายตามแนวทางที่คำนึงถึงมนุษยธรรมมากขึ้น เห็นได้จากการอุทิศแผนกใหญ่ๆ หนึ่งแผนก เพื่อ “การพัฒนามนุษย์” (human development) การปรับโครงสร้างองค์กรแบบเงียบๆ นี้ สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงด้านปรัชญาในการดำเนินงาน โดยหันมาเน้นการกำจัดความยากจน เป็นเป้าหมายสำคัญ

แน่นอนครับ เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่คล้ายคลึงกันใน IMF เหมือนกัน Camdessus และ Stanley Fisher ให้ความสนใจต่อการพัฒนามนุษย์อย่างมาก เทียบกับเมื่อหลายปีก่อน แม้ว่าธรรมชาติของ IMF ซึ่งเน้นภาคการเงินเป็นหลัก และไม่ค่อยเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาในระยะยาว จะทำให้การดำเนินปรัชญานี้แตกต่างจากของธนาคารโลกอย่างมาก

ประเด็นที่สามที่ผมอยากพูดก็คือ โครงสร้างการจัดการ (governing structure) ของธนาคารโลกและ IMF นั้น ถูกจำกัดด้วยกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ ทำให้องค์กรทั้งสองมีความไม่เท่าเทียมกัน ในแง่ของอิทธิพลของแนวคิดต่างๆ ซึ่งสะท้อนความจริงว่า ทั้งสององค์กรเป็นสถาบันการเงิน ไม่ใช่องค์กรทางการเมืองเหมือนสหประชาชาติ นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำในอำนาจของแต่ละประเทศสมาชิก ในการจัดการของธนาคารโลกและ IMF ทำให้ความแตกต่างมีมากขึ้น สหประชาชาติและองค์กรในเครือต่างๆ นั้น อุบัติขึ้นช่วงทศวรรษที่ 2480 ในโลกที่แตกต่างจากปัจจุบันมากมาย ธนาคารโลกและ IMF เกิดจากข้อตกลงที่ Bretton Woods (Bretton Woods Agreement) เมื่อปี พ.ศ. 2487 สมัยนั้นประเทศกว่าครึ่งทั่วโลก ยังอยู่ภายใต้ปกครองของชาติอื่น เป็นยุคก่อนอินเดีย และหลายๆ ประเทศในเอเชีย และแอฟริกา ได้รับเอกราช ส่วนจีนนั้น แม้ว่าจะเป็นประเทศอิสระ ก็เพิ่งพ้นจากการถูกครอบงำอันยาวนานของมหาอำนาจตะวันตก ที่ตามติดมาด้วยการยึดครองของญี่ปุ่น ในขณะเดียวกัน เยอรมัน ญี่ปุ่น และอิตาลีต่างเป็นผู้แพ้สงคราม หรือกำลังจะเป็นฝ่ายแพ้ ไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการจัดการโลก

โลกยุคนั้นเป็นโลกที่แตกต่างจากสมัยนี้มาก สมัยนั้นไม่มีประเทศยากจนที่เป็นประชาธิปไตยเลยแม้แต่ประเทศเดียว นอกจากนี้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนยังอยู่ในวงจำกัด สหประชาชาติมีบทบาทอย่างมากในการจัดทำแถลงการณ์สากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ไม่กี่ปีหลังจากข้อตกลงที่ Bretton Woods แต่แนวคิดแบบนั้นยังอยู่ในระยะเริ่มต้น

ปัจจุบันเราเห็น NGO ที่มีอิทธิพลมากมาย แต่หกสิบปีก่อนไม่มีเลย OXFAM ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2485 ตอนนั้นเป็นแค่องค์กรสังคมสงเคราะห์เล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีบทบาทระดับโลก ปัจจุบันมีองค์กรอย่าง OXFAM มากมายในโลก ที่ต่อสู้เพื่อผู้ด้อยโอกาสในสังคม ด้วยการช่วยเหลือโดยตรง และด้วยการรณรงค์ในด้านต่างๆ เช่น Amnesty International, Médecins Sans Frontières, Human Rights Watch, Save the Children, ActionAid และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งสมัยนั้นไม่มี หรือมีแต่มีบทบาทจำกัด CARE เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังเป็นองค์กรเล็กๆ ที่เน้นการแจกจ่ายอาหารเป็นหลัก (ผมจำได้ว่าตอนที่สอนหนังสือยามดึก ตามหมู่บ้านเล็กๆ ในรัฐเบงกอล โรงเรียนพวกนั้นใช้กล่องอาหารจาก CARE เป็นโต๊ะเรียนหนังสือ เก้าอี้ และแม้กระทั่งขาตั้งกระดานดำ!) ความคิดที่ว่า NGO สามารถมีบทบาทอันทรงอิทธิพลในวงสนทนาเกี่ยวกับการพัฒนานั้น เป็นความคิดที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เองครับ

ดังนั้นในบริบทนี้ อำนาจในโลกจึงตกอยู่ในมือของกลุ่มประเทศที่เราอาจเรียกว่า “ประเทศสถาบัน” (establishment countries) ตัวอย่างเช่น ประธานธนาคารโลกจะเป็นชาวอเมริกันเสมอ ในขณะที่ประธานของ IMF อาจเป็นชาวอเมริกันหรือชาวยุโรปก็ได้ แต่ไม่มีวันเป็นชาวปากีสถานหรือชาวเอธิโอเปียได้ (แม้เขาอาจมีคุณสมบัติส่วนตัวครบถ้วน) เราต้องพิจารณาแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันในโครงสร้างการจัดการนี้ แต่ผมไม่คิดว่าการแก้ปัญหานี้จะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้

สหประชาชาติมีปัญหาคล้ายๆ กัน (โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำในคณะมนตรีความมั่นคง) แต่ในฐานะที่เป็นองค์กรทางการเมือง ได้ทบทวนตัวเองหลายครั้ง (โดยไม่มีผลที่เห็นชัดเท่าไร) ผมไม่เชื่อว่าธนาคารโลกและ IMF ได้เคยคิดที่จะปฏิรูปโครงสร้างการจัดการองค์กรแบบใหญ่โตอะไร การที่ทั้งสองแห่งนี้เป็นสถาบันการเงิน ก็คงไม่คิดที่จะทำด้วย

ในบทความที่ลงใน Guardian (UK) ชื่อ ตลาดของเสรีภาพ (Freedom’s Market) คุณเสนอว่า “การถกเถียงเรื่องโลกาภิวัตน์นั้น ท้ายที่สุดแล้วไม่เกี่ยวกับประสิทธิภาพของระบบตลาด หรือความสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจ” คุณคิดว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะเปลี่ยนความไม่เท่าเทียมกันอย่างรุนแรงของอำนาจระหว่างรัฐต่างๆ โดยไม่ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างที่รุนแรงเช่นกัน?”

คำถามนี้ตอบยากครับ ผมอยากพูดสามประเด็น ประเด็นแรกคือ ความไม่เท่าเทียมกันในโลก ทั้งในแง่ของความร่ำรวยทางเศรษฐกิจ และของอำนาจทางการเมืองนั้น เป็นเรื่องใหญ่มากๆ ในปัจจุบัน การวิเคราะห์เรื่องโลกาภิวัตน์ทุกรูปแบบ ต้องคำนึงถึงความจริงข้อนี้ ทีนี้ต้องบอกว่า ผมเชื่อว่ากระบวนการที่ทำให้โลกเรานี้แคบลงเรื่อยๆ นั้น เป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อการพัฒนาประเทศ ไม่แต่เฉพาะในปัจจุบัน แต่เป็นมาแล้วนับเป็นพันๆ ปี คนมักจะมองว่า ประวัติศาสตร์ของการติดต่อกันระดับโลกนั้น เป็นเรื่องสมัยใหม่ ในแง่ของอิทธิพลจากตะวันตกไปตะวันออก หรือจากเหนือลงใต้ แต่จริงๆ แล้ว อิทธิพลที่อารยธรรมต่างๆ มีต่อชาติอื่นนั้น ไม่ได้เดินทางเป็นเส้นตรงในทิศเดียวเท่านั้น เห็นได้จากตอนปี ค.ศ. 1000 เมืองจีนรู้เรื่องต่างๆ มากมาย ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ยุโรปไม่รู้ เช่นเดียวกัน นักคณิตศาสตร์ชาวอินเดีย อาหรับ และอิหร่านรู้เรื่องมากมายที่ยุโรปยังไม่เข้าใจ รวมทั้งระบบทศนิยม และทฤษฎีใหม่ๆ ในตรีโกณมิติ และคณิตศาสตร์แขนงอื่นๆ ความรู้เหล่านี้โหนกระแสโลกาภิวัตน์ แพร่จากตะวันออก ไปสู่ตะวันตก คล้ายกับวิธีที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยแพร่จากตะวันตกไปตะวันออกในปัจจุบัน เป็นเรื่องเหลวไหลที่ยุโรปสมัยก่อนจะปฏิเสธความรู้จากตะวันออก เช่นเดียวกับถ้าตะวันออกในวันนี้ จะปฏิเสธความรู้จากตะวันตก ดังนั้น แม้เราจะเห็นความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจในโลก ประเด็นแรกของผมคือ คุณต้องมองเห็นประโยชน์ของการเดินทางแบบโลกาภิวัตน์ของความรู้ และความเข้าใจต่างๆ เสียก่อน

ประเด็นที่สองของผมคือ โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว มักก่อให้เกิดการพัฒนาด้านสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ความยากที่สำคัญที่สุดคือ สภาวะที่จะทำให้โลกาภิวัตน์เอื้อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ยากไร้นั้น ยังไม่มีในโลกนี้ นี่ไม่ได้เป็นข้อต่อต้านโลกาภิวัตน์นะครับ แต่เป็นข้อเรียกร้องให้เราช่วยกันพยายามแบ่งผลประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ กันให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

มันไม่ใช่ความจริง ถ้าเราจะบอกว่า ผลของโลกาภิวัตน์โดยทั่วไปนั้น คือคนจนกำลังจนลง และคนรวยกำลังรวยขึ้น มันอาจเป็นข้อเท็จจริงในบางประเทศ แต่ประเทศเหล่านั้นเป็นส่วนน้อย เราไม่ควรวัดความสำเร็จของโลกาภิวัตน์ ด้วยการมองว่าคนจนกำลังรวยขึ้นอีกนิดนึงหรือเปล่า แต่คำถามที่เราควรถามคือ: คนจนเหล่านั้นจะสามารถมีฐานะดีขึ้นมากด้วยกระบวนการเดียวกันหรือเปล่า หากสภาวะแวดล้อมของพวกเขาเปลี่ยนไป? คำตอบนั้นคือใช่ เราต้องใช้ทั้งนโยบายระดับรัฐและท้องถิ่น เช่น การปรับปรุงคุณภาพของการศึกษา สาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ และการปฏิรูปที่ดิน นอกจากนั้น เรายังสามารถปรับปรุงสถานการณ์ด้านการค้า และโครงสร้างเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้มีความเสมอภาคยิ่งขึ้น เช่น การเปิดโอกาสประเทศยากจน ส่งออกสินค้าไปยังประเทศร่ำรวยให้มากขึ้น ในการนี้ เราต้องทบทวนกฎหมายสิทธิบัตร และประเทศร่ำรวยต้องยินดียอมรับสินค้าโภคภัณฑ์จากประเทศยากจน มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้โลกาภิวัตน์เป็นกระบวนการที่เสมอภาค และมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น ดังนั้น ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า โลกาภิวัตน์กำลังทำลายชีวิตคนหรือไม่ ประเด็นอยู่ที่ว่า โลกาภิวัตน์สามารถยังประโยชน์ให้กับมนุษย์มากกว่าที่เป็นอยู่ ได้อย่างมากมายมหาศาล

ประเด็นที่สามของผมคือ ระบบตลาดเป็นเพียงสถาบันหนึ่ง ในหลายๆ ระบบ แม้เราจะยังไม่มีระบอบประชาธิปไตยโลก (global democracy) เรายังสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ได้ ด้วยการแสดงความคิดเห็น วิธีการของประชาธิปไตยทุกรูปแบบส่วนใหญ่ เกี่ยวกับการใช้เหตุผลร่วมกันในชุมชน ตัวอย่างเช่น การที่ธนาคารโลกและ IMF เปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทั้งสององค์กรต้องตอบสนองข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ที่มาจากทั่วทุกมุมโลก ดังนั้น เราไม่ควรคิดถึงประชาธิปไตยโลก ในรูปของ “รัฐบาลโลก” (global government) โชคดีที่ภายใต้การนำของ Kofi Annan สหประชาชาติสามารถกลายเป็นสื่อในการแสดงคำวิจารณ์ ในลักษณะที่ปกติอาจไม่ได้รับความสนใจ หนังสือพิมพ์ และสื่อต่างๆ โดยทั่วไป รับบทบาทนี้ได้ดี การเติบโตของเทคโนโลยีข่าวสาร โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ต และการเผยแพร่ข่าวไปทั่วโลก เช่น CNN หรือ BBC เป็นส่วนหนึ่งของปรากฎการณ์ที่ผมเรียกว่า “วาทะโลก” (global speech) ซึ่งกำลังช่วยส่งเสริมประชาธิปไตยโลกให้เกิดขึ้น.