Free Culture โดย Lawrence Lessig

[My fifth and final vote for the top 5 public intellectuals in the The Prospect/FP Top 100 Public Intellectuals (whose results have been announced) goes to Lawrence Lessig, Stanford professor who has arguably done more for the “free culture” movement than anyone alive. Readers who also frequent my other, slightly better-known website probably won’t be surprised to know that professor Lessig is one of my personal heroes, a visionary man who has seen, and fought against, the dangers of corporate greed on freedom and culture long before most people discovered the World Wide Web. Here I give a brief background on the man and translated the transcript of his 2002 speech, one of the last public presentations he gave on free culture. You can also watch his excellent presentation on-line as a 8MB Flash movie (which you can also download here), and download his 2004 book Free Culture from the official site.]

หลังจากที่เปลี่ยนบล็อกนี้ให้อยู่ในบรรยากาศอันน่านอนของ “วิชาเกิน” ไปหลายสัปดาห์ (ขอโทษคนอ่านด้วยนะคะ เพราะคนเขียนคนนี้ชอบเขียนถึงสิ่งที่ของตัวเองอยากเล่า โดยไม่ค่อยคิดว่าคนอ่านจะอยากฟังหรือเปล่า อือม์ เหมือนในชีวิตจริงเลย :P) ในที่สุดก็มาถึงนักคิดคนสุดท้ายที่ข้าพเจ้าโหวตให้เป็น 1 ใน 5 ของปัญญาชนสาธารณะดีเด่นแห่งโลก (ที่ประกาศผลไปแล้ว) หลังจากนี้บล็อกนี้จะกลับสู่ภาวะปกติเสียที (คือตามใจคนเขียนเหมือนเดิม แต่ลดความหนักของวิชาเกินทั้งหลายลงหลายดีกรี)

(พูดถึงรายชื่อปัญญาชนสาธารณะนี้แล้วก็ต้องบอกว่า เสียดายที่ท่าน ติช นัท ฮันท์ ไม่ติดหนึ่งในร้อยด้วย ทั้งๆ ที่มีผู้นำอิสลามติดโผกันหลายคน สงสัยคงต้องรอให้วิกฤติใหญ่ๆ เช่นสงครามศาสนาที่เกี่ยวพันกับศาสนาพุทธ ปะทุขึ้นซักแห่งในโลกก่อน คนถึงจะหันมาสนใจปัญญาชนสาธารณะที่ “โลว์ โปรไฟล์” อย่างท่านนัท ฮันท์ และในเมื่อนักคิดที่ “เขียนเก่งกว่าทำ” หลายคน เช่น Thomas Friedman และ Salman Rushdie ติดโผ การละเลยนักคิดสำคัญที่ “เขียนด้วยทำด้วย” อย่าง Milton Friedman และ Arundathi Roy เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง)

นักวิ่งผลัดที่ห้า ปัญญาชนสาธารณะในดวงใจของข้าพเจ้าคนสุดท้ายที่อยากเล่าความคิดของเขาให้ฟัง คือ Lawrence Lessig อาจารย์กฎหมายมหาวิทยาลัย Stanford ทนาย และหนึ่งในกรรมการของ Electronic Frontier Foundation มูลนิธิซึ่งกำลังงัดข้อกับรัฐบาลอเมริกา และบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ที่พยายามเปลี่ยนกฎหมายลิขสิทธิ์ให้เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม

ประเด็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเรื่อง “ร้อน” อีกเรื่องหนึ่งในโลกยุคโลกาภิวัตน์ คล้ายกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม คือเป็น “ไพ่ทางการเมืองใบสำคัญ” ที่ประเทศพัฒนาแล้วชอบใช้ในการเจรจากับประเทศที่กำลังพัฒนา ตอนนี้อเมริกากำลังใช้เรื่องนี้เป็นข้อต่อรองกับประเทศทั่วโลก บังคับให้ปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ อย่างเข้มงวดแข็งขันกว่าเดิม

ทั้งๆ ที่การละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่บริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ตั้งราคาแพงหฤโหด เรียกว่าโขกหัวคนใช้ด้วยอำนาจการผูกขาด ตอนนี้ปีหนึ่งๆ ก็กำไรไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว (มีกรณีมากมาย ที่ผู้ขายยอมละโมบน้อยลง ลดราคาสินค้าลงมาเพื่อสู้กับของเถื่อน แล้วก็พบว่าสถานการณ์ดีขึ้นเยอะเพราะตัวเองตั้งราคาสูงเกินไปตั้งแต่แรก ความสำเร็จของบริษัทแกรมมี่เมืองไทยตอนที่ยอมลดราคาปกซีดี เป็นตัวอย่างหนึ่ง เรื่องแรงจูงใจของคนที่ไม่ตรงกับความคิดคนส่วนใหญ่แบบนี้น่าสนใจมาก เดี๋ยววันหลังขอเล่าต่อ)


[My fifth and final vote for the top 5 public intellectuals in the The Prospect/FP Top 100 Public Intellectuals (whose results have been announced) goes to Lawrence Lessig, Stanford professor who has arguably done more for the “free culture” movement than anyone alive. Readers who also frequent my other, slightly better-known website probably won’t be surprised to know that professor Lessig is one of my personal heroes, a visionary man who has seen, and fought against, the dangers of corporate greed on freedom and culture long before most people discovered the World Wide Web. Here I give a brief background on the man and translated the transcript of his 2002 speech, one of the last public presentations he gave on free culture. You can also watch his excellent presentation on-line as a 8MB Flash movie (which you can also download here), and download his 2004 book Free Culture from the official site.]

หลังจากที่เปลี่ยนบล็อกนี้ให้อยู่ในบรรยากาศอันน่านอนของ “วิชาเกิน” ไปหลายสัปดาห์ (ขอโทษคนอ่านด้วยนะคะ เพราะคนเขียนคนนี้ชอบเขียนถึงสิ่งที่ของตัวเองอยากเล่า โดยไม่ค่อยคิดว่าคนอ่านจะอยากฟังหรือเปล่า อือม์ เหมือนในชีวิตจริงเลย :P) ในที่สุดก็มาถึงนักคิดคนสุดท้ายที่ข้าพเจ้าโหวตให้เป็น 1 ใน 5 ของปัญญาชนสาธารณะดีเด่นแห่งโลก (ที่ประกาศผลไปแล้ว) หลังจากนี้บล็อกนี้จะกลับสู่ภาวะปกติเสียที (คือตามใจคนเขียนเหมือนเดิม แต่ลดความหนักของวิชาเกินทั้งหลายลงหลายดีกรี)

(พูดถึงรายชื่อปัญญาชนสาธารณะนี้แล้วก็ต้องบอกว่า เสียดายที่ท่าน ติช นัท ฮันท์ ไม่ติดหนึ่งในร้อยด้วย ทั้งๆ ที่มีผู้นำอิสลามติดโผกันหลายคน สงสัยคงต้องรอให้วิกฤติใหญ่ๆ เช่นสงครามศาสนาที่เกี่ยวพันกับศาสนาพุทธ ปะทุขึ้นซักแห่งในโลกก่อน คนถึงจะหันมาสนใจปัญญาชนสาธารณะที่ “โลว์ โปรไฟล์” อย่างท่านนัท ฮันท์ และในเมื่อนักคิดที่ “เขียนเก่งกว่าทำ” หลายคน เช่น Thomas Friedman และ Salman Rushdie ติดโผ การละเลยนักคิดสำคัญที่ “เขียนด้วยทำด้วย” อย่าง Milton Friedman และ Arundathi Roy เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง)

นักวิ่งผลัดที่ห้า ปัญญาชนสาธารณะในดวงใจของข้าพเจ้าคนสุดท้ายที่อยากเล่าความคิดของเขาให้ฟัง คือ Lawrence Lessig อาจารย์กฎหมายมหาวิทยาลัย Stanford ทนาย และหนึ่งในกรรมการของ Electronic Frontier Foundation มูลนิธิซึ่งกำลังงัดข้อกับรัฐบาลอเมริกา และบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ที่พยายามเปลี่ยนกฎหมายลิขสิทธิ์ให้เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม

ประเด็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเรื่อง “ร้อน” อีกเรื่องหนึ่งในโลกยุคโลกาภิวัตน์ คล้ายกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม คือเป็น “ไพ่ทางการเมืองใบสำคัญ” ที่ประเทศพัฒนาแล้วชอบใช้ในการเจรจากับประเทศที่กำลังพัฒนา ตอนนี้อเมริกากำลังใช้เรื่องนี้เป็นข้อต่อรองกับประเทศทั่วโลก บังคับให้ปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ อย่างเข้มงวดแข็งขันกว่าเดิม

ทั้งๆ ที่การละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่บริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ตั้งราคาแพงหฤโหด เรียกว่าโขกหัวคนใช้ด้วยอำนาจการผูกขาด ตอนนี้ปีหนึ่งๆ ก็กำไรไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว (มีกรณีมากมาย ที่ผู้ขายยอมละโมบน้อยลง ลดราคาสินค้าลงมาเพื่อสู้กับของเถื่อน แล้วก็พบว่าสถานการณ์ดีขึ้นเยอะเพราะตัวเองตั้งราคาสูงเกินไปตั้งแต่แรก ความสำเร็จของบริษัทแกรมมี่เมืองไทยตอนที่ยอมลดราคาปกซีดี เป็นตัวอย่างหนึ่ง เรื่องแรงจูงใจของคนที่ไม่ตรงกับความคิดคนส่วนใหญ่แบบนี้น่าสนใจมาก เดี๋ยววันหลังขอเล่าต่อ)

Lessig เป็นฮีโร่ในดวงใจของข้าพเจ้าคนหนึ่ง เพราะมีอุดมการณ์ที่ตรงใจ “โรบินฮู้ดยุคดิจิตัล” อย่างข้าพเจ้า เป็นหนึ่งในผู้นำขบวนการรณรงค์เพื่อวัฒนธรรมเสรี (free culture) ซึ่งเชื่อว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ในปัจจุบันกำลังลิดรอนเสรีภาพของเราในการสร้างสรรค์งานต่างๆ และควบคุมวัฒนธรรมให้อยู่ในมือของคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจเงิน และอำนาจการเมือง

Free Culture โดย Lawrence Lessig

ในหนังสือเรื่อง Free Culture (ที่ฟรีสมชื่อ ใครอยากอ่านไปดาวน์โหลดได้นะ) Lessig อธิบายให้เห็นชัดว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ปัจจุบันนั้น ล้าหลังและเป็นอันตรายต่อสังคมอย่างไร หนังสือเล่มนี้เป็นการอัพเดทการบรรยายของเขาเรื่อง free culture หลายครั้ง แทนที่จะสรุปหนังสือ อยากแปล (อีกแล้ว) บทบรรยาย ที่ Lessig ไปกล่าวในงาน Open Source Convention เมื่อปี 2545 เพราะเป็น presentation ที่สนุกและเจ๋งมากๆ ใครที่อยากรู้ว่าสนุกยังไงแต่ไม่สันทัดสำเนียงอเมริกัน ขอแนะนำให้พริ้นท์บทแปลด้านล่างนี้ออกมาอ่าน แล้วไปดู presentation ของจริง ที่เป็น Flash movie ต่อ จะได้อรรถรสครบถ้วน 🙂 แต่ถ้าใครไม่มี hi-speed Internet หรือไม่อยากนั่งรอ presentation ขนาด 8 megabytes สามารถดาวน์โหลด Flash movie นี้ได้โดยคลิ้กที่นี่ แล้วเซฟลงเครื่องเอาไปส่งต่อให้เพื่อนๆ ดูมั่ง นี่ล่ะ ประโยชน์ของวัฒนธรรมเสรี 😉

บทบรรยายนี้แปลข้ามๆ ไปบ้างเพราะรายละเอียดปลีกย่อยมันเยอะ แต่ก็คิดว่ายังรักษาเนื้อความได้พอสมควรนะ


วัฒนธรรมเสรี
Free Culture

ผมไปพูดเรื่องนี้ในโอกาสต่างๆ มามากกว่า 100 ครั้งแล้ว ผมจะไปพูดอีกครั้งเดียวหลังจากนี้ แล้วจะหยุดครับ ผมเลยอยากแต่งเพลงไว้ร้องในโอกาสสุดท้าย แต่แล้วผมก็นึกได้ว่าผมร้องเพลงไม่ได้ แล้วก็แต่งเพลงไม่เป็น แต่อย่างน้อยผมก็คิดสร้อยได้นะครับ ถ้าคุณเข้าใจสร้อยเพลงนี้ได้ คุณจะเข้าใจทุกอย่างที่ผมจะเล่าในวันนี้ สร้อยนี้มีสี่ตอนครับ:

  • การสร้างสรรค์และนวัตกรรมต่างๆ ของมนุษย์สร้างอยู่บนรากฐานแห่งอดีต
  • อดีตมักพยายามควบคุมความคิดสร้างสรรค์ที่ใช้มันเป็นรากฐาน
  • สังคมเสรีทำให้มีเราอนาคต ด้วยการจำกัดอำนาจนี้ของอดีต
  • สังคมของเราเป็นสังคมที่มีเสรีภาพน้อยลงเรื่อยๆ

(1)

วัฒนธรรมเสรีเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2317 เป็นครั้งแรกในโลก ในคดี Donaldson v. Beckett ในสภาสูงของอังกฤษ วัฒนธรรมเสรีเกิดขึ้นเพราะลิขสิทธิ์ถูกระงับ ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2253 ลิขสิทธิ์ภายใต้กฎหมายมีอายุเพียง 14 ปีเท่านั้น แต่พอมาประมาณปี 2280 เมื่อสำนักพิมพ์ในสก็อตแลนด์เริ่มพิมพ์วรรณกรรมคลาสสิกออกมาขายใหม่ สำนักพิมพ์ในกรุงลอนดอนก็ร้องว่า “หยุด!” เขาบอกว่า “ลิขสิทธิ์ไม่มีวันหมดอายุ!” Sonny Bono แย้งว่า “ลิขสิทธิ์ควรมีอายุหนึ่งวันต่ำกว่าตลอดกาล” แต่สำนักพิมพ์ในกรุงลอนดอนก็ย้ำอีกว่า “ลิขสิทธิ์ไม่มีวันหมดอายุ”

สำนักพิมพ์เหล่านี้ พวกที่ Milton เรียกว่าผู้ได้รับสิทธิบัตรและพ่อค้าผูกขาดธุรกิจค้าขายหนังสือ คนที่ไม่ได้ประกอบอาชีพสุจริต คนที่คิดว่าการเรียนรู้ต้องเสียเงิน นักธุรกิจพวกนี้เรียกร้องลิขสิทธิ์ตามกฎหมายจารีตประเพณีของอังกฤษที่ไม่มีวันหมดอายุ ในปี พ.ศ. 2312 ในคดี Miller v. Taylor สำนักพิมพ์เป็นฝ่ายชนะ แต่อีกเพียงห้าปีต่อมา ในคดี Donaldson ศาลก็กลับคำตัดสิน นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่งานของมหากวีเชคเสปียร์เป็นอิสระจากเงื้อมมือของการผูกขาด วัฒนธรรมเสรีเกิดขึ้นจากคดีนั้น

(2)

วัฒนธรรมเสรีเผยแพร่ไปยังอเมริกา ในปีเกิดของประเทศเรา คือเมื่อ พ.ศ. 2333 เราสถาปนาระบอบที่ปล่อยความคิดสร้างสรรค์ให้อยู่นอกเหนือข้อบังคับของกฎหมาย มันอยู่นอกกฎหมายเพราะลิขสิทธิ์ครอบคลุมเฉพาะ “สิ่งพิมพ์” เท่านั้น ไม่รวมงานที่ดัดแปลงหรือพัฒนามาจากต้นฉบับ (derivative work) กฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์นี้เป็นเวลา 14 ปี

นั่นเป็นปีเกิดของชาติเรา ปี พ.ศ. 2333 ทุกอย่างที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์เป็นรหัสอิสระ [free code – หมายถึงงานของมนุษย์ทุกอย่างที่เป็นตัวอักษร เช่น วรรณกรรมหรือโค้ดเบสของโปรแกรมคอมพิวเตอร์] เพราะเทคโนโลยีสมัยนั้นมีขอบเขตจำกัด คุณสามารถศึกษางานของเชคเสปียร์ได้ด้วยการอ่านต้นฉบับ – ต้นฉบับคือหนังสือ คุณสามารถหยิบงานสร้างสรรค์อะไรก็ได้ที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย แล้วศึกษามันให้เข้าใจว่างานนั้นดีอย่างไร นี่เป็นระบบและระบอบ แม้แต่สิทธิบัตรต่างๆ (patent) ก็คุ้มครองเทคโนโลยีที่เรามองเห็น (transparent technology) ตัวอย่างเช่น คุณไม่ต้องไปอ่านสิทธิบัตรของเครื่องปั่นฝ้ายถ้าอยากเข้าใจว่ามันทำงานอย่างไร คุณแค่ต้องไปแยกส่วนมันเป็นชิ้นๆ ออกมาดู

เหล่านี้คือการคุ้มครองทางกฎหมาย ในบริบทที่ความเข้าใจและการเรียนรู้ยังเป็นอิสระ การควบคุมในวัฒนธรรมนี้มีขอบเขตจำกัด แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะสองร้อยปีก่อนนะครับ มันเป็นจริงตลอดมาถึงต้นศตวรรษที่แล้ว ผมจะเล่าตัวอย่างโปรดของผมให้ฟัง: ในปี พ.ศ. 2471 ฮีโร่ของผมนาม วอลท์ ดิสนีย์ สร้างงานที่น่าทึ่งขึ้นมาชิ้นหนึ่ง คือมิกกี้เม้าส์ ซึ่งชื่อเดิมของเขาคือ สตีมโบ้ทวิลลี่ (Steamboat Willie) แต่สิ่งที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับมิกกี้เม้าส์ก็คือ ในปี 2471 วอลท์ ดิสนีย์ “ขโมย” (ในภาษาของบริษัทดิสนีย์วันนี้) ตัวละครนี้มาจากเรื่อง “Steamboat Bill” ของบัสเตอร์ คีตัน

Steamboat Willie เป็นเรื่องล้อเลียน ลอกเลียนแบบมาจาก Steamboat Bill เรื่อง Steamboat Bill นี้ออกฉายปีเดียวกัน คือ 2471 – วอลท์ ดิสนีย์ ไม่รอ 14 ปีละครับ เขาเอาเรื่องนี้มาแยกส่วน ผสมใส่ของใหม่ และกลั่นออกมาเป็นงานที่สร้างอาณาจักรดิสนีย์ นั่นเป็นนิสัยของเขา วอลท์ชอบเลียนแบบภาพยนตร์เรื่องยาวดังๆ เพื่อสร้างอาณาจักรดิสนีย์ และเราเห็นผลลัพธ์จากการทำแบบนี้ นี่คือบริษัทดิสนีย์นะครับ: เอางานทั้งที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ (public domain) และที่เป็นสมบัติส่วนบุคคล แล้วดัดแปลงต่อเติมให้มันเป็นงานสร้างสรรค์ชิ้นใหม่ที่ดีกว่าเดิม ดิสนีย์เอางานของคนโน้นคนนี้ รวมทั้งพี่น้องตระกูลกริมม์ ที่คุณคงคิดว่าเป็นนักประพันธ์ชั้นยอดด้วยตัวของพวกเขาเองอยู่แล้ว สองพี่น้องกริมม์แต่งนิทานโหดๆ ที่ทุกคนควรห้ามไม่ให้ลูกหลานอ่าน เพราะมันเต็มไปด้วยเลือดและแฝงด้วยคำสั่งสอนทางศีลธรรม ไม่ใช่นิทานประเภทที่เด็กควรอ่าน แต่แล้วบริษัทดิสนีย์ก็เอานิทานพวกนั้นมาเล่าให้เราฟังใหม่ บริษัทดิสนีย์ทำแบบนี้ได้เพราะวัฒนธรรมสมัยนั้นดำรงอยู่ในพื้นที่สาธารณะแห่งปัญญา พื้นที่ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้สอยและสร้างสรรค์ได้โดยอิสระ เป็นโซนที่ปราศจากทนายครับ

(ผู้ชมปรบมือ)

มันเป็นวัฒนธรรมที่คุณไม่ต้องขออนุญาตใครเวลาเอาไปใช้และต่อเติม นั่นเป็นลักษณะการสร้างสรรค์เมื่อต้นศตวรรษที่ผ่านมา การสร้างสรรค์ที่ตั้งอยู่บนข้อบังคับในรัฐธรรมนูญที่จำกัดขอบเขตและอายุของลิขสิทธิ์ อายุเท่ากับ 14 ปี ถ้าคนสร้างยังมีชีวิตอยู่ แล้วก็ขยายไปเป็น 28 และ 42 ปี ในปี พ.ศ. 2374 ต่อมาในปี พ.ศ. 2452 ศาลขยายอายุลิขสิทธิ์ออกไปเป็น 56 ปี แล้วพอมาถึง พ.ศ. 2505 ปุ๊บ – ดูนะครับ อายุก็เริ่มขยายออกไปเรื่อยๆ เหมือนเล่นกล

ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา อายุลิขสิทธิ์ถูกขยาย 11 ครั้งสำหรับงานที่ถูกสร้างขึ้นในอดีต – ไม่ใช่งานใหม่ๆ ที่รอการสร้างสรรค์เท่านั้นนะครับ แต่งานที่มีอยู่ในปัจจุบัน การขยายอายุลิขสิทธิ์ครั้งล่าสุดคือกฎหมายชื่อ Sonny Bono copyright term extension act ซึ่งคนที่ชอบมันเรียกว่า Mickey Mouse protection act (กฎหมายคุ้มครองมิกกี้เม้าส์) แปลว่า ทุกครั้งที่มิกกี้เม้าส์จะกลายเป็นสมบัติของส่วนรวม กฎหมายก็ต่ออายุลิขสิทธิ์ให้ ความหมายของการกระทำแบบนี้ชัดเจนสำหรับคนที่จ่ายเงินซื้อกฎหมาย ความหมายคือ: ไม่มีใครทำกับบริษัทดิสนีย์ ได้อย่างที่วอลท์ ดิสนีย์ ทำกับสองพี่น้องกริมม์ แม้เราจะเคยมีวัฒนธรรมที่ทุกคนสามารถใช้อดีตในการสรรค์สร้างงานใหม่ๆ ยุคนั้นสิ้นสุดลงแล้ว ไม่มีคำว่า “พื้นที่สาธารณะ” ในสมองของคนที่ผลักดันกฎหมาย 11 ครั้งในรอบ 40 ปี เพราะตอนนี้วัฒนธรรมมีเจ้าของแล้ว

ผมอยากให้จำอย่างนี้นะครับ: เราสร้างวัฒนธรรมบนอดีต อดีตพยายามขวางเรา เสรีภาพเป็นเรื่องของการหยุดอดีตไม่ให้ทำเช่นนั้น แต่เราได้สูญเสียอุดมคตินั้นไปแล้ว

(3)

ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปมาก มากกว่าตอนที่วอลท์ ดิสนีย์ก่อตั้งบริษัทดิสนีย์ขึ้นเสียอีก เรามีระบบอันใหญ่โตมหาศาลที่ควบคุมการสร้างสรรค์ มีทนายเป็นกองทัพที่ทำหน้าที่นี้ ขณะที่กฎหมายลิขสิทธิ์แปรสภาพไปในรูปแบบต่างๆ ที่แทบไม่เหลือเค้าเดิม จากกฎหมายควบคุมการพิมพ์ เป็นกฎหมายควบคุมการก็อปปี้ สิ่งที่คอมพิวเตอร์ทำทุกครั้งที่คุณเปิดมันน่ะครับ จากกฎหมายควบคุมการก็อปปี้ต้นฉบับ เป็นกฎหมายควบคุมการก็อปปี้งานที่ดัดแปลงต่อเติมมาจากต้นฉบับ ขยายอายุจาก 14 ปีสำหรับงานใหม่ที่สร้างโดยคนเป็นๆ – ตอนนี้มีคนแบบนี้น้อยลงเรื่อยๆ – เป็นชั่วอายุขัยของผู้สร้างบวก 70 ปี นั่นเป็นการขยายตามกฎหมาย แต่ขอบเขตการควบคุมยังขยายผ่านเทคโนโลยีอีกด้วย

โอเค ก่อนอื่น ผมต้องอธิบายคอนเซปท์ของ “งานสร้างสรรค์แบบคลุมเครือ” (opaque creativity) นะครับ เรารู้จักงานสร้างสรรค์แบบนี้ในรูปโค้ดปิด (proprietary code) คือคุณไม่ได้รับอนุญาตให้เห็นว่ามันทำงานอย่างไร และกฎหมายคุ้มครองสิ่งที่คุณมองไม่เห็น มันไม่ใช่งานอย่างเชคเสปียร์ที่คุณสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้เพราะมันเป็นโค้ด “เปิด” โดยธรรมชาติของงานเขียน ธรรมชาติของงานสร้างสรรค์ได้เปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว ในยุคแห่งเทคโนโลยีของเรา ในทางที่ธรรมชาตินั้นอาจถูกซ่อนเร้น และกฎหมายยังคุ้มครองมัน – ไม่แต่เฉพาะโดยการปกป้องงานนั้นอย่างเดียว แต่โดยการควบคุมการ ใช้ งานนั้นๆ ที่เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ

Adobe eBook Reader

ที่ผมโชว์อยู่นี่เป็นโปรแกรม Adobe eBook Reader [โปรแกรมอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิคส์ ที่เรียกว่า e-book] นะครับ ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านในที่นี้คงเคยเห็นแล้ว ในนี้คือ Middle March วรรณกรรมชิ้นหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ นี่เป็น “คำอนุญาต” (permission) ต่างๆ (เห็นได้ชัดว่าทนายเขียน) ที่กำหนดว่าคุณทำอะไรกับงานสาธารณะชิ้นนี้ได้บ้าง: คุณได้รับอนุญาตให้ก็อปปี้เรื่องนี้ 10 ครั้ง ไปไว้ในคลิ้บบอร์ดทุกๆ 10 วัน – ผมไม่รู้ว่าใครคิดตัวเลขพวกนี้ขึ้นมา – แต่เขาให้คุณพริ้นท์ 10 หน้าจากหนังสือ 4 ล้านหน้าเล่มนี้ทุกๆ 10 วัน ในขณะที่เขาให้คุณใช้ฟังก์ชั่น “read-aloud” ฟังเสียงอ่านหนังสือให้ฟัง ใช่ไหมครับ?
Permissions for Middle March

ทีนี้เรามาดู e-book เรื่อง Politics ที่อริสโตเติลประพันธ์ไว้กว่าพันปีก่อน หนังสืออีกเล่มในพื้นที่สาธารณะที่ไม่เคยถูกคุ้มครองโดยกฎหมายลิขสิทธิ์มาก่อน เขาไม่ให้คุณก็อปปี้ตัวหนังสือ ไม่ให้คุณพริ้นท์ออกมาอ่าน แต่อนุญาตให้คุณฟังได้ทั้งเล่ม และที่ทำให้ผมขายหน้ามากคือ นี่เป็น e-book ของเรื่องล่าสุดที่ผมเขียน เขาไม่ให้ก็อปปี้ ไม่ให้พริ้นท์ และคุณอย่ากล้าดีมาใช้เทคโนโลยีอ่านหนังสือผมดังๆ เชียวนะ (ฮา) ผมอยากใส่ปุ่ม “ร้องเพลง” ไว้ในเวอร์ชั่นใหม่ของโปรแกรมนี้จัง

Permissions for Future of Ideas (Lessig's book)

ประเด็นของผมคือ อำนาจควบคุมนั้นถูกฝังอยู่ในเทคโนโลยี คนขายหนังสือเมื่อปี พ.ศ. 2303 ไม่มีทางจินตนาการได้ถึงอำนาจ ที่วันหนึ่งโปรแกรมเมอร์จะมอบให้กับอาชีพของพวกเขา และอำนาจควบคุมนั้นเอื้อต่อการขยายอำนาจของกฎหมาย เป็นอันว่ากฎหมายและเทคโนโลยีร่วมมือกันสร้างวิธีควบคุมการสร้างสรรค์ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ใช่ไหมครับ? เพราะนี่คือบทเรียนง่ายๆ จากกฎหมายลิขสิทธิ์: กฎหมายควบคุมก็อปปี้ ผมหมายถึงอะไรครับ? เอ้า ลองคิดดูว่า โลกก่อนที่อินเตอร์เน็ตจะเกิด เป็นโลกที่การใช้งานส่วนใหญ่ที่มีลิขสิทธิ์ อยู่นอกเหนือการควบคุมของกฎหมาย ในภาษาทนาย นี่ไม่ใช่ “การใช้โดยชอบธรรม” [fair use ซึ่งกฎหมายกำหนดนิยามและขอบเขต] นะครับ แต่เป็น “การใช้โดยอิสระ” [unregulated use คืออยู่นอกเหนือการควบคุมของกฎหมาย] การอ่านหนังสือไม่ใช่การใช้หนังสือโดยชอบธรรม แต่เป็นการใช้มันโดยอิสระ การให้หนังสือนั้นกับคนอื่นก็ไม่ใช่การใช้มันโดยชอบธรรม แต่เป็นการใช้โดยอิสระเช่นกัน คุณจะขายหนังสือนั้นหรือนอนทับมัน ก็เป็นการใช้โดยอิสระ ทีนี้ท่ามกลางวิธีการใช้โดยอิสระต่างๆ ก็มีการใช้บางอย่างที่ถูกควบคุมโดยกฎหมายลิขสิทธิ์ เช่น การพิมพ์หนังสือขาย แล้วในวิธีการใช้ต่างๆ ที่ถูกควบคุมโดยกฎหมายลิขสิทธิ์ ก็มีบางกรณีที่เราเรียกว่า fair use คือการใช้แบบที่กฎหมายบอกว่า คุณทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร ตัวอย่างเช่น การอ้างอิงข้อความในข้อเขียนอีกเรื่อง – นั่นเป็นการก็อปปี้ แต่ก็ยังนับเป็นการใช้แบบ fair use แปลว่า โลกเราได้ถูกแบ่งออกเป็นสามค่าย: โลกแห่งการใช้โดยอิสระ โลกแห่งการใช้ที่ถูกควบคุมแต่เป็น fair use และโลกแห่งการใช้ภายใต้ลิขสิทธิ์ สามค่ายนะครับ

โลกสามค่ายของงานสร้างสรรค์

ทีนี้มาดูโลกหลังอินเตอร์เน็ตเกิดกัน การกระทำทุกอย่างของคุณคราวนี้คือการก็อปปี้ ซึ่งก็หมายความว่าการใช้โดยอิสระไม่มีอีกแล้ว ทุกอย่างที่คุณทำในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเน็ตเวิร์ค [เช่น LAN] นับเป็นการใช้ที่ถูกควบคุม ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เราต้องมาถกกันว่า “แล้ว fair use ล่ะ? ขอบเขตของ fair use อยู่ตรงไหน?” ผมจะท้าอย่างนี้ครับ: ช่างหัวมันเถอะเรื่อง fair use น่ะ มาคิดกันดีกว่าว่า การใช้วัฒนธรรมโดยอิสระของเรา ก่อนที่กระบวนการควบคุมจะใหญ่โตมโหฬารขนาดนี้เนี่ย มันหายไปไหน? ตอนที่การใช้โดยอิสระหายไป เรามาเถียงกันเรื่อง fair use แล้วเขาก็จะหาวิธีเอา fair use ออก ใช่มั๊ยครับ? เอ้า เจ้าตัวนี้เป็นของเล่นที่หลายๆ ท่านคงคุ้นเคยดีนะครับ นี่เป็นหมาคอมพิวเตอร์ของ Sony ชื่อ ไอโบ้ (Aibo Pet) ซึ่งคุณสามารถสอนให้มันทำอะไรได้มากมาย มีแฟนของเล่นนี้คนหนึ่งสร้างเว็บไซด์ชื่อ aibopet.com เพื่อสอนเจ้าของถึงวิธีแฮคหมาของพวกเขา จำไว้ว่าหมา ของพวกเขา นะครับ เว็บไซด์นี้อยากช่วยคุณให้แฮคไอโบ้ เช่นสอนมันให้เต้นแจ๊สเป็น การเต้นแจ๊สไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายในอเมริกานะครับ

นี่เป็นกิจกรรมที่กฎหมายอนุญาตให้คุณทำเต็มที่ – แม้แต่การสอนหมาให้เต้นแจ๊สเป็น ผมไม่แน่ใจว่าบางพื้นที่ในรัฐจอร์เจียอาจห้ามทำอย่างนี้ (ฮา) แต่โดยทั่วไป การเต้นแจ๊สเป็นกิจกรรมถูกกฎหมาย aibopet.com เลยบอกว่า “โอเค นี่เป็นวิธีสอนหมาของคุณให้เต้นแจ๊สเป็น” ซึ่งนั่นควรจะเป็น fair use ในการใช้ของเล่นพลาสติกที่ราคา 1,500 เหรียญสหรัฐ ใช่มั๊ยครับ?

จดหมายจาก Sony ถึงเว็บไซด์นี้: “เว็บไซด์ของคุณมีข้อมูลที่อนุญาตให้คนแฮคไอโบ้ ละเมิดโปรโตคอลปกป้องลิขสิทธิ์ (copy protection protocol) ที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์ DMCA” ดังนั้น แม้การใช้แบบนี้จะเป็น fair use ก็ตาม ก็ยังนับว่าผิดกฎหมาย เท่ากับว่า fair use ถูกลบล้างโดยการผนึกกำลังระหว่างเทคโนโลยีและกฎหมายที่บอกว่า “ห้ามแตะ” ทำให้สามค่ายของเราเหลือเพียงหนึ่งเดียว คือโลกแห่งการใช้ภายใต้ลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นโลกที่ควบคุมการสร้างสรรค์ทุกชนิด

นี่เป็นประเด็นที่ผมอยากให้ทุกท่านจำไว้นะครับ คุณต้องเห็นประเด็นนี้: การสร้างสรรค์ไม่เคยถูกควบคุมขนาดนี้มาก่อน ถ้าเรามองดูกฎหมาย ข้อแก้ไขต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอายุและขอบเขตของลิขสิทธิ์ ผ่านเลนส์ของโครงสร้างสื่อที่กระจุกตัวอย่างมโหฬาร คุณจะเห็นความจริงว่าพัฒนาการของวัฒนธรรมเรา กำลังถูกควบคุมโดยคนจำนวนน้อยนิดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่เคยเลยนะครับ

ไม่เคยแม้แต่ยุคก่อนวัฒนธรรมเสรีจะเกิด แม้แต่ในปี พ.ศ. 2316 เมื่อลิขสิทธิ์ไม่มีวันหมดอายุ เพราะกฎหมายควบคุมเฉพาะการพิมพ์เท่านั้น มีซักกี่คนที่มีแท่นพิมพ์ในสมัยนั้น? คุณจะทำอะไรกับงานสร้างสรรค์ก็ได้ การใช้ทั่วไปอยู่นอกเหนือขอบเขตของกฎหมาย แต่วันนี้ ชีวิตของคุณถูกควบคุมตีกรอบโดยกฎหมาย นี่เป็นสร้อยเพลงผมนะครับ: การสร้างสรรค์ขึ้นอยู่กับการระงับการควบคุมนั้น ผู้มีส่วนได้เสียจะพยายามควบคุมตลอดเวลา เราต้องต่อต้านความพยายามนี้ ขณะที่เสรีภาพของเราหดหายลงไปเรื่อยๆ

(4)

พวกคุณหรือ GNU [operating system แบบเปิด] สามารถสร้างโลกแห่งการสร้างสรรค์ที่โปร่งใส – นั่นเป็นงานของคุณ ธุรกิจที่เน้นการสร้างสรรค์ที่มองเห็นได้ นับเป็นข้อยกเว้นที่ประหลาดในศตวรรษที่ 21 นี้ ซึ่งในปี 2333 ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นธรรมชาติ พวกคุณกำลังสร้างธรรมชาติขึ้นมาใหม่ คุณกำลังสร้างแนวร่วมที่คนอื่นมาสร้างต่อได้ แม้คุณอาจจะไม่ร่ำรวยอะไรมาก คุณก็สามารถเลี้ยงชีพจากงานนี้ได้ นี่เป็นภารกิจของคุณ สร้างสรรค์ให้เหมือนปี 2333 เถอะครับ คุณกำลังทำให้ทั่วโลกหวนระลึกถึงคืนวันเก่าๆ เมื่อการสร้างสรรค์และนวัตกรรม เป็นกระบวนการที่ทุกคนต่อเติมองค์ความรู้สาธารณะ ในการต่อสู้ระหว่างโครงสร้างใต้กรรมสิทธิ์ (proprietary structure) และโครงสร้างเสรี (free structure) นี้ คุณแสดงให้เห็นคุณค่าของงานเสรี และการเคลื่อนไหวของบริษัทอย่าง RealNetworks ก็แสดงให้เห็นว่างานเสรียังเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่สุดในธุรกิจนี้ แต่เฉพาะช่วงเวลานี้เท่านั้นครับ เพราะโค้ดเสรีเป็นอันตราย และอันตรายนั้นก็หวนกลับมาเป็นศัตรูกับโค้ดเสรี

(5)

ลองมาคุยเรื่องสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ (software patent) กันนะครับ ทุกคนรู้จักคุณบิล เกตส์ ใช่มั๊ยครับ? เขาเป็นคนฉลาดมาก เป็นนักธุรกิจ และนักวางนโยบายที่ฉลาดปราดเปรื่อง นี่เป็นสิ่งที่เขาเขียนเกี่ยวกับสิทธิบัตรซอฟต์แวร์: “ถ้าทุกคนคิดว่า ไอเดียส่วนใหญ่ในยุคนี้สามารถนำไปจดสิทธิบัตรได้ และต่างก็วิ่งไปจดสิทธิบัตรดังกล่าว อุตสาหกรรมนี้จะไม่ก้าวหน้าไปไหนเลย” ผมเชื่อว่าทุกท่านในที่นี้เห็นด้วย 100% กับบิล เกตส์นะครับ สิ่งที่เขาพูดมานั้นถูกต้องที่สุด แต่แล้วเขาก็เปลี่ยนเกียร์ไปสวมหมวกนักธุรกิจหัวกะทิ: “เราต้องแก้ปัญหานี้ด้วยการจดสิทธิบัตรทุกชนิดเท่าที่ทำได้ บริษัทเกิดใหม่ที่ไม่มีสิทธิบัตรเป็นของตัวเอง จะถูกบริษัทยักษ์ใหญ่บีบบังคับให้จ่ายเงินในอัตราที่บริษัทยักษ์ใหญ่กำหนด ราคานั้นอาจสูงลิบลิ่ว บริษัทต่างๆ ล้วนต้องการป้องกันคู่แข่งในอนาคต” ป้องกันคู่แข่งในอนาคต ขีดเส้นใต้ไว้นะครับ

โลกเราปัจจุบันเห็นจำนวนสิทธิบัตรซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง คำถามคือ: เราทำอะไรกับมันบ้าง? คุณทำอะไรกับมันบ้าง? การ “ป้องกันคู่แข่งในอนาคต” เป็นสโลแกนใช่มั๊ยครับ? และบริษัทที่ก่อกำเนิดสโลแกนนี้ใช้สิทธิบัตรเพื่อป้องกันตัวเท่านั้น แต่อย่างที่ Dan Gillmor เคยพูดไว้: “พวกเขา [ไมโครซอฟท์] บอกด้วยว่า ขบวนการ Open Source ทั้งหลายต้องสำนึกว่าเรื่องนี้เกี่ยวโยงกับผลประโยชน์ของสิทธิบัตรมากมาย อย่าคิดว่าพวกเขาจะไม่งัดมันขึ้นมาใช้เมื่อจำเป็น”

เราทุกคนรู้ดีว่า สิทธิบัตรไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ มันมีอำนาจไม่ใช่เพราะหลักการฟิสิกส์ แต่เพราะทนายและนักกฎหมายและรัฐสภา เรื่องของเรื่องคือ คุณจะต่อต้านฟิสิกส์ที่ทำให้อาวุธนิวเคลียร์ล้างโลกทั้งใบเท่าไรก็ได้ แต่คุณจะไม่มีวันชนะ แต่คุณต่อต้านเรื่องสิทธิบัตรนี้ได้ คุณสามารถกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติที่ต่อสู้คำขู่ทางกฎหมายที่คุณได้รับ คุณทำอะไรไปแล้วบ้างล่ะครับ? คุณทำอะไรไปแล้วบ้าง?

(ผู้ชมปรบมือ)

ประเด็นที่สอง เรื่องสงครามลิขสิทธิ์: ในแง่หนึ่งมันเป็นโศกนาฏกรรมกรีกเลยทีเดียว ผมพูดอย่างนี้แบบสมัยใหม่ อยากจะเล่าตัวอย่างเรื่องหนึ่ง: เคยมีผู้กำกับหนังสารคดีคนหนึ่ง ที่กำลังสร้างหนังเกี่ยวกับการศึกษาในอเมริกา ระหว่างการถ่ายทำ เขาบันทึกภาพห้องเรียนหนึ่งที่เด็กนักเรียนหลายคนกำลังเบนความสนใจไปที่ทีวีที่ตั้งอยู่หลังห้อง เมื่อกลับดูเทปม้วนนั้นในห้องอัด ก็เห็นว่าไอ้เรื่องที่ฉายอยู่บนทีวีในห้องเรียนนั้นคือการ์ตูนเรื่อง “The Simpsons” ซึ่งโผล่มาอยู่ในเทปประมาณสองวินาที กองถ่ายก็เลยโทรศัพท์ไปหา Matt Groenig [ผู้สร้าง The Simpsons] ซึ่งเป็นเพื่อนของผู้กำกับ ถามว่า นี่จะเป็นปัญหาอะไรรึเปล่า มันแค่สองวินาทีเอง? Matt ก็บอกว่า ไม่หรอก ไม่มีปัญหาแน่นอน แล้วก็ให้เบอร์โทรคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ แล้วกองถ่ายก็โทรไปหาคนนั้น ซึ่งเขาก็บอกให้โทรไปหาอีกคน เป็นแบบนี้ไปอีกหลายทอด

ในที่สุด คนสุดท้ายที่รับเรื่องนี้คือทนาย เมื่อกองถ่ายสาวไปถึงทนายก็ถามว่า เรื่องนี้เป็นปัญหารีเปล่า? เรากำลังทำสารคดีเกี่ยวกับการศึกษา คลิปของ “The Simpsons” อยู่บนจอแค่สองวินาทีเอง ทนายคนนั้นบอกว่าต้องจ่าย 25,000 เหรียญสหรัฐ อะไรกัน 25,000 ดอลลาร์?! มันแค่สองวินาที! แปลว่าอะไร 25,000 ดอลลาร์? ทนายตอบว่า ผมไม่สนใจหรอกว่าเอาไปทำอะไร จ่ายมา 25,000 เหรียญ ไม่งั้นก็ตัดต่อหนังของคุณใหม่ คุณคงบอกว่าเรื่องนี้ประสาทมาก ใช่ครับ มันประสาท และถ้าเผื่อมีวงการหนังเท่านั้นที่ต้องรับมือกับเรื่องอย่างนี้ โอเค ให้พวกเขาประสาทไป ปัญหาคือกฎเกณฑ์ประสาทๆ แบบนี้กำลังถูกใช้กับทั้งโลก ความประสาทของอำนาจควบคุมกำลังแผ่ขยาย เพราะทุกๆ การกระทำของคุณต้องแตะลิขสิทธิ์ของคนอื่น

เมื่อเร็วๆ นี้มีข้อเสนอแย่มากๆ ฉบับหนึ่งที่รัฐสภาอนุมัติไปแล้ว ที่มอบสิทธิให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ในการโจมตีคอมพิวเตอร์ที่ใช้ P2P [peer-to-peer คือการแชร์ไฟล์ระหว่างเครื่อง โดยใช้โปรแกรมเช่น eDonkey, KaZaA, eMule ฯลฯ] – โค้ดร้ายที่ส่งไปทำให้เครื่อง P2P พัง นี่คือศาลเตี้ยยุคดิจิตัล คุณสามารถไปฟ้องบริษัทที่ทำอย่างนี้กับเครื่องคอมพิวเตอร์คุณได้ แต่คุณต้องไปหาอัยการสูงสุดเพื่อขออนุญาตฟ้อง ก่อนที่คุณจะมีโอกาสฟ้องคนที่ส่งโค้ดร้ายมาทำลายเครื่องของคุณ คนที่ไม่ควรได้รับอนุญาตให้ใช้เจ้าโค้ดร้ายนี้ตั้งแต่แรก นี่เป็นเรื่องที่นักการเมืองถกกันอยู่ในวอชิงตัน นี่เป็นสิ่งที่พวกเขากำลังทำ ในคำพูดของ Jack Valenti นี่เป็น “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” ที่พวกผู้ก่อการร้ายคือตัวคุณและลูกๆ ของคุณ พอคุณถามว่า เพื่ออะไร? ทำไม? ปัญหาคืออะไร? พวกเขาก็บอกว่า เพื่อหยุดความเสียหาย (harm) ที่คุณกำลังก่อ

ความเสียหายนั้นคืออะไร? อะไรคือความเสียหายที่เน็ตเวิร์ค P2P ทั่วโลกกำลังก่อ? ลองดูตัวเลขของพวกเขานะครับ เขาบอกในปี 2544 ว่า ซีดีทั้งหมดที่คนแลกเปลี่ยนกันฟรีๆ บนอินเตอร์เน็ตนั้น คิดเป็นปริมาณได้ห้าเท่าของจำนวนซีดีทั้งหมดที่ขายได้ ห้าเท่านะครับ ทีนี้มาดูตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นจากจำนวนซีดีห้าเท่าที่แลกกันฟังฟรีๆ : ยอดขายลดลง 5% นี่ห้าเปอร์เซ็นต์นะครับ ปีนั้นเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย บริษัทต่างๆ ขึ้นราคาซีดี และเปลี่ยนวิธีคำนวณ แต่ถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งสองอย่างนี้จะเป็นที่มาของตัวเลขล้วนๆ เอาเป็นว่าความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนซีดีจำนวนห้าเท่าของยอดขาย คือห้าเปอร์เซ็นต์ ถึงตอนนี้ต้องบอกว่า ปกติผมสนับสนุนการทำสงครามที่มีหลักการดี แต่นี่เป็นเหตุผลที่เพียงพอต่อการเรียกร้องให้ทำ “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” กับเทคโนโลยีหรือครับ? ความเสียหายนี้น่ะหรือ? แม้ไอ้ห้าเปอร์เซ็นต์นี่ให้สิทธิในการทำลายอุตสาหกรรมเทคโนโลยี มีใครคิดบ้างว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าอุตสาหกรรมดนตรีหลายเท่า อาจถดถอยเนื่องจากสงครามนี้ ที่ต่อต้านใครก็ตามที่แตะคอนเท้นท์ใหม่ๆ? ถามนายทุน venture capital คนไหนก็ได้ว่า เขาอยากลงทุนกี่เหรียญในเทคโนโลยีใหม่ทีอาจแตะคอนเท้นท์ในทางที่ Hilary Rosen หรือ Jack Valenti ไม่เห็นด้วย? คำตอบคือศูนย์ครับ เลขศูนย์

พวกเขา [อุตสาหกรรมดนตรี] ทำลายอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่น่าทึ่ง ภายใต้ธงแห่งสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และนี่คือเหตุผล นี่คือความเสียหาย – ห้าเปอร์เซ็นต์

แล้วพวกคุณทำอะไรกับเรื่องนี้ครับ? มันเป็นเรื่องประสาท เรื่องตกขอบมากๆ มันถูกควบคุมโดยผลประโยชน์ทางการเมือง มันไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในคุณธรรมตามประเพณีที่รองรับการควบคุมทางกฎหมาย แต่แล้วเราก็ไม่ได้ทำอะไร พวกเราใหญ่กว่าพวกเขานะครับ สิทธิอยู่ข้างเรา แต่เราก็ไม่เคลื่อนไหว เรายอมให้พวกเขาควบคุมวิวาทะนี้ พวกเขาชนะเพราะเราไม่ทำอะไรที่จะหยุดมัน

(6)

มีผู้แทนราษฎรท่านหนึ่งชื่อ J.C. Watts เป็นหนึ่งในผู้นำผิวดำน้อยคนในพรรครีพับลิกัน เขากำลังจะลาออกจากรัฐสภาหลังจากที่อยู่ในตำแหน่งมาเจ็ดปีครึ่ง เพราะทนไม่ไหวแล้ว ไม่มีใครเชื่อเลยครับ เขาบอกว่า ผมน่ะชอบพวกคุณนะ แต่เจ็ดปีพอแล้ว แปดปียาวไปสำหรับผม ผมไปล่ะ ช่วงที่ J.C. Watts รับตำแหน่งในวอชิงตัน เป็นช่วงเดียวกับตอนที่สงครามต่อต้านโค้ดเสรีและวัฒนธรรมเสรีกำลังก่อตัวขึ้น

ในบทสัมภาษณ์เขาเมื่อสองวันก่อน Watts บอกว่า นี่เป็นปัญหาของวอชิงตัน: “ถ้าคุณกำลังอธิบาย แสดงว่าคุณกำลังแพ้” ถ้าคุณกำลังอธิบาย แสดงว่าคุณกำลังแพ้ นี่เป็นวัฒนธรรมแบบสติ้กเกอร์ติดหลังรถครับ ถ้าคุณไม่สามารถทำให้เขาเข้าใจได้ภายในสามวินาที คุณจะตกขอบเรดาร์ของเขาทันที ต้องเข้าใจภายในสามวินาที นี่คือปัญหาของเรา หกปีหลังจากที่สงครามนี้เริ่มต้น เรายังอธิบายกันอยู่ เรากำลังอธิบาย และเรากำลังแพ้ พวกเขามองสงครามนี้ว่าเป็นการหยุดการขโมยของ เป็นการปกป้องสมบัติ พวกเขาไม่เข้าใจว่าทำไมการเปลี่ยนโครงสร้างเน็ตเวิร์คจะทำลายนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ พวกเขายืดอายุลิขสิทธิ์ไปเป็นตลอดกาล ไม่เข้าใจว่าทำแบบนี้ก็นับเป็นการขโมยอย่างหนึ่ง เป็นการขโมยวัฒนธรรมส่วนรวมของเรา เราประสบความล้มเหลวในการทำให้พวกเขาเห็นว่าประเด็นที่สำคัญคืออะไร และนั่นเป็นสาเหตุที่เราต้องอยู่ในโลกที่มีประเพณีของเสรีภาพ ที่ถูกอำนาจควบคุมของพวกเขาทำลาย

ผมพูดเรื่องนี้มากว่าสองปีแล้วครับ แล้วเราก็ยังไม่ได้ทำอะไร เราใช้พลังงานมากมายในการสร้างบล็อกต่างๆ และบทความใน Slashdot แต่ไม่มีอะไรที่จะเปลี่ยนทัศนคติในวอชิงตัน เพราะเราเกลียดวอชิงตัน ใช่มั๊ยครับ? ใครกันอยากเสียเวลาในวอชิงตัน?

แต่ถ้าคุณไม่ทำอะไรตอนนี้ เสรีภาพที่คุณสร้าง ที่คุณใช้เวลาชั่วชีวิตโค้ด เสรีภาพนี้จะถูกพรากไป ไม่ว่าจะโดยฝ่ายที่คุณมองว่าเป็นศัตรู ที่ใช้ระบบทางกฎหมายที่เราเรียกว่าสิทธิบัตร หรือโดยฝ่ายที่ใช้อำนาจควบคุมที่กฎหมายลิขสิทธิ์มอบให้ ในการควบคุมนวัตกรรม ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะใช้กลไกทางกฎหมายสร้างโลกที่เสรีภาพของคุณถูกพรากไป ถ้าคุณไม่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของคุณ คุณก็ไม่สมควรได้รับมัน

แต่คุณกลับไม่ทำอะไร

(ผู้ชมปรบมือ)

มีกลุ่มคนส่วนน้อยที่เราเรียกชื่อได้ ที่คุณสนับสนุนเขาได้ …ใครเคยบริจาคเงินสนับสนุน Electronic Frontier Foundation (EFF) บ้างครับ? สี่คน ใครเคยให้เงิน EFF มากกว่าเงินที่จ่ายแต่ละปีให้กับกลุ่มผู้ผูกขาด? …นี่ไม่ได้เป็นเรื่องซ้ายกับขวานะครับ นี่เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกคนต้องเข้าใจ: นี่ไม่ใช่เรื่องการต่อสู้ระหว่างเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม

ในคดีของเรา ใน Eldred v. Ashcroft เรามีสำนวน ที่เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์ 17 คน เช่น Milton Friedman, James Buchanan, Ronald Kost, Ken Arrow ฯลฯ คุณอาจบอกว่าเป็นพวกเสรีนิยมฝั่งซ้าย ใช่ไหมครับ? Friedman บอกว่าเขาจะลงนามก็ต่อเมื่อเราใส่คำว่า “เรื่องกล้วยๆ” ลงไป เหมือนประเด็นนี้เป็นเรื่องง่ายมากสำหรับเขา นี่ไม่ใช่เรื่องของซ้ายกับขวา แต่เป็นเรื่องของถูกกับผิด นักวิชาการเหล่านี้มาจากทั้งฝั่งซ้ายและขวา Hank Perritt …กำลังพยายามนำสารนี้ไปเผยแพร่ในวอชิงตัน เหล่านี้คือแหล่งที่คุณไปสนับสนุนได้

แล้วเราก็มีองค์กรนี้ [EFF] ถึงตอนนี้พวกคุณหลายคนคงทราบว่าผมอยู่ในคณะกรรมการของ EFF ผมผ่านสนามรบมาหลายครั้งในฐานะนี้ บางคนบอกว่าพวกเราสุดขั้วเกินไป คุณส่งอีเมล์มาบอกว่า “พวกคุณสุดขั้วเกินไป คุณควรจะทำตัวตามกระแสกว่านี้” ผมเห็นด้วยครับ …ผมว่า EFF ต้องแก้ไขรูปแบบการต่อสู้ แต่ขอให้ช่วยพวกเราด้วยครับ อย่าช่วยด้วยเสียงบ่นอย่างเดียว ช่วยเราด้วยการเขียนบนเช็คบริจาคที่ส่งให้เราว่า “กรุณาตามกระแสกว่านี้” นี่เป็นมโนคติที่คุณต้องเปลี่ยน เพื่อเปลี่ยนทิศทางของสงครามนี้ เพราะถ้าคุณยังไม่ทำอะไรตอนนี้ อีกสองปีจะมีคนบอกว่า โอเค สองปีพอแล้ว ต้องกลับไปสู่ชีวิตปกติแล้ว พวกเขาจะบอกคุณว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยน ยกเว้นเสรีภาพของคุณที่ถูกลิดรอนโดยกลุ่มคนที่มองเห็นว่าพวกเขากำลังต่อสู้กับอนาคต และมีอำนาจในกรุงวอชิงตันที่จะปกป้องพวกเขาจากอนาคตนั้น ช่างหัวสังคมเสรีบ้าบออะไรนั่น

ขอบคุณมากครับ.