Guns, Germs, and Steel โดย Jared Diamond

[An advance apology to English speakers: I plan to write the next 5-6 blog entries in Thai, to talk about my votes for the top five in the The Prospect/FP Top 100 Public Intellectuals list. Basically in each entry, I will try to summarize a book written by the intellectual I voted for. What I’m talking about should be clear from English names of books and authors in the text, though, so if you are interested, please check out these wonderful books if you haven’t already 🙂 ]

ท่านผู้อ่านคงเคยสงสัยว่า ทำไมอารยธรรมต่างๆ ในโลก จึงอุบัติขึ้นตามที่เราเห็นในประวัติศาสตร์ เช่น ทำไมชนผิวขาวในตะวันออกกลางและยุโรป จึงบุกไปเอาชนะชนผิวดำในอาฟริกาได้ ทั้งๆ ที่มนุษย์เผ่าแรกของโลกเป็นชาวอาฟริกา? ทำไมทวีป Eurasia (หมายถึง Europe + Asia ตามหลักการแบ่งทวีปของธรณีวิทยา คือตามรอยต่อระหว่างแผ่นดินและผืนน้ำ ไม่ใช่ตามหลักภูมิศาสตร์การเมือง) จึงเป็นบ่อกำเนิดอารยธรรมเก่าแก่ที่แผ่อิทธิพลอย่างรวดเร็ว อย่างน้อย 2 ชนชาติด้วยกัน คือบริเวณลุ่มแม่น้ำ Tigris และ Euphrates (ที่เรียกว่า The Fertile Crescent) ในตะวันออกกลางแห่งหนึ่ง และบริเวณประเทศจีนตอนเหนืออีกแห่งหนึ่ง?

ต่อคำถามเหล่านี้ คนส่วนใหญ่มักตอบโดยไม่หยุดคิดว่า “เพราะคนเหล่านี้ฉลาดกว่าชนชาติอื่นน่ะสิ”

แต่คำตอบที่แท้จริงนั้น “ง่าย” และตรงตามอคติของเราขนาดนั้นจริงหรือ? ไม่ว่าจะผิวสีอะไร มนุษย์ทั้งมวลต่างก็เป็นสัตว์พันธุ์เดียวกัน หากพระเจ้าสร้างคนเชื้อชาติใด ให้ฉลาดกว่าคนเชื้อชาติอื่น ก็เป็นพระเจ้าที่ดูจะเห็นแก่ตัวหรือชอบเล่นตลกร้ายไปซักหน่อย

ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า กับชะตากรรมของสังคมมนุษย์

โชคดีที่โลกเรามี Jared Diamond นักภูิมิศาสตร์และสรีรวิทยา (geographer and physiologist) ผู้แสดงให้เห็นในหนังสือเรื่อง Guns, Germs, and Steel (ปืน, เชื้อโรค, และเหล็ก) ว่า “ปัจจัยพื้นฐาน” ที่ทำให้ประวัติศาสตร์มนุษย์ในช่วง 13,000 ปีที่ผ่านมา วิวัฒนาการเป็นอย่างที่เราเห็นนั้น ไม่เกี่ยวกับยีนของแต่ละเชื้อชาติแม้แต่น้อย หากเป็น ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิประเทศ สภาพอากาศ และทิศทางของ “แกนหลัก” ในแต่ละทวีป

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าชาวผิวดำเกิดใน Eurasia แทนที่อาฟริกา ป่านนี้คงเป็นมหาอำนาจแทนที่ชาวผิวขาวไปแล้ว


[An advance apology to English speakers: I plan to write the next 5-6 blog entries in Thai, to talk about my votes for the top five in the The Prospect/FP Top 100 Public Intellectuals list. Basically in each entry, I will try to summarize a book written by the intellectual I voted for. What I’m talking about should be clear from English names of books and authors in the text, though, so if you are interested, please check out these wonderful books if you haven’t already 🙂 ]

ท่านผู้อ่านคงเคยสงสัยว่า ทำไมอารยธรรมต่างๆ ในโลก จึงอุบัติขึ้นตามที่เราเห็นในประวัติศาสตร์ เช่น ทำไมชนผิวขาวในตะวันออกกลางและยุโรป จึงบุกไปเอาชนะชนผิวดำในอาฟริกาได้ ทั้งๆ ที่มนุษย์เผ่าแรกของโลกเป็นชาวอาฟริกา? ทำไมทวีป Eurasia (หมายถึง Europe + Asia ตามหลักการแบ่งทวีปของธรณีวิทยา คือตามรอยต่อระหว่างแผ่นดินและผืนน้ำ ไม่ใช่ตามหลักภูมิศาสตร์การเมือง) จึงเป็นบ่อกำเนิดอารยธรรมเก่าแก่ที่แผ่อิทธิพลอย่างรวดเร็ว อย่างน้อย 2 ชนชาติด้วยกัน คือบริเวณลุ่มแม่น้ำ Tigris และ Euphrates (ที่เรียกว่า The Fertile Crescent) ในตะวันออกกลางแห่งหนึ่ง และบริเวณประเทศจีนตอนเหนืออีกแห่งหนึ่ง?

ต่อคำถามเหล่านี้ คนส่วนใหญ่มักตอบโดยไม่หยุดคิดว่า “เพราะคนเหล่านี้ฉลาดกว่าชนชาติอื่นน่ะสิ”

แต่คำตอบที่แท้จริงนั้น “ง่าย” และตรงตามอคติของเราขนาดนั้นจริงหรือ? ไม่ว่าจะผิวสีอะไร มนุษย์ทั้งมวลต่างก็เป็นสัตว์พันธุ์เดียวกัน หากพระเจ้าสร้างคนเชื้อชาติใด ให้ฉลาดกว่าคนเชื้อชาติอื่น ก็เป็นพระเจ้าที่ดูจะเห็นแก่ตัวหรือชอบเล่นตลกร้ายไปซักหน่อย

ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า กับชะตากรรมของสังคมมนุษย์

โชคดีที่โลกเรามี Jared Diamond นักภูิมิศาสตร์และสรีรวิทยา (geographer and physiologist) ผู้แสดงให้เห็นในหนังสือเรื่อง Guns, Germs, and Steel (ปืน, เชื้อโรค, และเหล็ก) ว่า “ปัจจัยพื้นฐาน” ที่ทำให้ประวัติศาสตร์มนุษย์ในช่วง 13,000 ปีที่ผ่านมา วิวัฒนาการเป็นอย่างที่เราเห็นนั้น ไม่เกี่ยวกับยีนของแต่ละเชื้อชาติแม้แต่น้อย หากเป็น ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิประเทศ สภาพอากาศ และทิศทางของ “แกนหลัก” ในแต่ละทวีป

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าชาวผิวดำเกิดใน Eurasia แทนที่อาฟริกา ป่านนี้คงเป็นมหาอำนาจแทนที่ชาวผิวขาวไปแล้ว

แทนที่จะพยายามย่อหนังสือที่หนาหนักเล่มนี้ (ที่กลายเป็นหนังสือบังคับในอเมริกา สำหรับคอร์สเบื้องต้นของวิชาหลายแขนง ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และทำให้ภูมิศาสตร์กลับมา “ฮ็อต” ในแวดวงวิชาการอีกครั้ง) ให้สั้นพอที่จะไม่สะกดให้ท่านผู้อ่านม่อยหลับไปด้วยรายละเอียดต่างๆ ข้าพเจ้าขอแปล คัดย่อ และเรียบเรียงบางตอนจากคำบรรยายของ Diamond ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Edge เกี่ยวกับความคิดของเขาดีกว่า เพราะบรรยายได้กระชับ และน่าสนใจมาก:


ทำไมอารยธรรมของมนุษย์ จึงพัฒนาด้วยความเร็วที่แตกต่างกันมากระหว่างทวีปต่างๆ ในช่วง 13,000 ปีที่ผ่านมา? คำถามนี้ติดใจผมมานาน แต่เราเพิ่งจะสามารถสังเคราะห์ ปะติดปะต่อคำตอบได้เมื่อเร็วๆ นี้เอง ด้วยความก้าวหน้าในวิชาการแขนงต่างๆ ที่ดูเผินๆ เหมือนจะห่างไกลจากประวัติศาสตร์มาก เช่น ชีวโมเลกุล (molecular biology), ชีวภูมิศาสตร์ (biogeography) และพันธุศาสตร์ ของพืชและสัตว์, โบราณคดี, และภาษาศาสตร์

นักประวัติศาสตร์มักจะหลีกเลี่ยงที่จะศึกษาคำถามนี้ราวกับมันเป็นโรคร้าย เพราะนัยยะแห่งการเหยียดผิวที่ซ่อนอยู่ คนส่วนใหญ่มักนึกเอาเองว่า คำตอบนั้นต้องประกอบด้วยความแตกต่างทางชีววิทยา ของระดับ IQ เฉลี่ยระหว่างบรรดาชนชาติต่างๆ แม้ว่าปัจจุบันเราไม่มีหลักฐานใดๆ เลยที่บ่งบอกว่าความแตกต่างด้าน IQ นี้มีอยู่จริง

เราลองมาเปรียบเทียบประวัติศาสตร์มนุษย์ระหว่างทวีป “โลกเก่า” (Old World คือยุโรป) กับ “โลกใหม่” (New World คือทวีปอเมริกา ในที่นี้รวมทั้งอเมริกาเหนือ กลาง และใต้) ดูนะครับ ท่านทั้งหลายคงคุ้นเคยกับเรื่องราวตอนที่ทหารสเปนเพียงไม่กี่ร้อยคนภายใต้นายพล Cortés และ Pizarro สามารถพิชิตอารยธรรม Aztec และ Inca ที่มีประชากรรวมกว่าสิบล้านคน ยังไม่นับรายละเอียดอันน่าสยดสยองของการพิชิตอารยธรรมอื่นๆ ในโลกใหม่ โดยชาวยุโรป ผลที่เกิดขึ้นคือ ชาวยุโรปกลายเป็นผู้ครอบครองโลกใหม่ทั้งทวีป ในขณะที่ประชากรชาวอินเดียนแดงลดจำนวนลงอย่างฮวบฮาบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1492 เป็นต้นมา ทำไมจึงเป็นเช่นนี้? ทำไมจักรพรรดิชาว Aztec หรือ Inca ไม่ยกทัพไปพิชิตยุโรปแทน?

เหตุผลใกล้เคียง (proximate reasons) นั้นชัดเจน ชาวยุโรปที่ไปบุกอเมริกามีดาบ ปืน และม้า ขณะที่ชาวอินเดียนแดงมีแค่อาวุธที่ทำจากหินและไม้ และไม่มีสัตว์ใดๆ ที่ใช้เป็นพาหนะได้ ความได้เปรียบทางทหารเหล่านี้ ทำให้ทหารม้าสเปนไม่กี่สิบนาย สามารถเอาชนะกองทัพอินเดียนแดงหลายพันคน ได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยใกล้เคียงอื่นๆ อีก นอกเหนือจากดาบเหล็ก ปืน และม้า ที่อธิบายชัยชนะของชาวยุโรปในโลกใหม่ โรคระบาดที่ชาวยุโรปเป็นพาหะ เช่น โรคฝีดาษและหัด แพร่กระจายจากอินเดียนแดงเผ่าหนึ่งไปยังอีกเผ่าหนึ่ง อย่างรวดเร็วกว่าม้าของทหารผู้รุกราน เชื้อโรคเหล่านี้คร่าชีวิตชาวอินเดียนแดงกว่า 95% ของประชากรทั้งหมด โรคเหล่านี้เป็นโรคที่เกิดเฉพาะถิ่นในยุโรปมาช้านาน มีเวลาเพียงพอให้ยีนและระบบภูมิคุ้มกันของชาวยุโรป วิวัฒนาการขึ้นมาสร้างภูมิต้านทาน ซึ่งชาวอินเดียนแดงไม่มี บทบาทของเชื้อโรคในการพิชิตชนชาติดั้งเดิม มีให้เห็นในส่วนอื่นๆ ของโลกหลายทวีป เช่น ออสเตรเลีย อาฟริกาใต้ และเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิคใต้หลายเกาะ

ยังมีปัจจัยใกล้เคียงอีกประเภทหนึ่งที่เราต้องพิจารณา นั่นคือ Pizarro และ Cortés สามารถยกพลไปโลกใหม่ ก่อนที่ชาว Aztec และ Inca จะบุกไปยุโรปได้อย่างไร? คำตอบส่วนหนึ่งเกี่ยวกับเทคโนโลยี: ชาวยุโรปสร้างเรือเดินทะเลได้ ในขณะที่ ชาว Aztec และ Inca ทำไม่ได้ การเดินทะเลของเรือเหล่านี้ได้รับแรงสนับสนุนจากโครงสร้างการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจ (centralized political organization) ที่ทำให้สเปนและประเทศยุโรปอื่นๆ สามารถสร้างเรือ และหาคนมาเป็นลูกเรือได้ ปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันคือ บทบาทของตัวหนังสือ (writing) ที่ส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและละเอียดไปยังนักสำรวจ เช่น แผนที่ คู่มือการเดินเรือ และประสบการณ์การเดินทางของนักสำรวจรุ่นก่อนๆ

มาถึงตรงนี้ เราได้ชี้ปัจจัยใกล้เคียงหลายประการที่อยู่เบื้องหลังการยึดโลกใหม่ของชาวยุโรป: เรือเดินทะเล, โครงสร้างการเมือง, และตัวหนังสือช่วยทำให้ชาวยุโรปเดินทางไปยังโลกใหม่ได้สำเร็จ หลังจากนั้น เชื้อโรคจากยุโรปฆ่าชาวอินเดียนแดงส่วนใหญ่ให้ตาย ก่อนที่พวกเขาจะไปถึงสมรภูมิรบด้วยซ้ำ และท้ายที่สุด ปืน, ดาบเหล็ก, และม้าช่วยให้ทหารยุโรปได้เปรียบบนสมรภูมิ ทีนี้ เราลองหาเหตุผลที่ลึกกว่านั้นดู ทำไมความได้เปรียบเหล่านั้นตกเป็นของโลกเก่า แทนที่จะเป็นโลกใหม่? ในทางทฤษฎี ชาวอินเดียนแดงอาจจะสามารถคิดค้นดาบและปืนได้ก่อน ประดิษฐ์ตัวหนังสือและเรือเดินทะเลได้ก่อน ขี่สัตว์เลี้ยงที่น่ากลัวกว่าม้า และมีเชื้อโรคระบาดที่น่ากลัวกว่าฝีดาษก็เป็นได้

คำถามที่ตอบได้ง่ายที่สุด คือคำถามว่าทำไม Eurasia จึงมีเชื้อโรคที่อันตรายร้ายแรง ในขณะที่ชาวอินเดียนแดงไม่มีเชื้อโรครุนแรงอะไรไปมอบให้ชาวยุโรปเป็นการตอบแทน เหตุผลใหญ่ๆ มีสองข้อด้วยกัน ข้อแรก โรคระบาดส่วนใหญ่ที่เราคุ้นเคยดีนั้น ดำรงอยู่ได้เฉพาะในบริเวณที่มีประชากรจำนวนมาก ที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในหมู่บ้านและเมือง ซึ่งเป็นรูปแบบชุมชนที่อุบัติขึ้นในโลกเก่าก่อนโลกใหม่นานหลายพันปี ข้อสอง ผลการวิจัยจุลินทรีย์โดยนักชีวโมเลกุลบ่งชี้ว่า โรคระบาดในมนุษย์ส่วนใหญ่วิวัฒนาการมาจากโรคระบาดที่คล้ายคลึงกัน ในสัตว์เลี้ยงของโลกเก่าที่มนุษย์คลุกคลีในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น โรคหัดและวัณโรควิวัฒนาการมาจากโรคในวัวควาย ไข้หวัดใหญ่มาจากโรคในหมู และฝีดาษน่าจะมาจากโรคในอูฐ ในทางกลับกัน ทวีปอเมริกาหรือโลกใหม่มีสัตว์เลี้ยงน้อยชนิดมาก เป็นการลดช่องทางการเกิดของโรคระบาดในมนุษย์

เรามาลองหาเหตุผลย้อนไปอีกขั้นนะครับ ทำไม Eurasia จึงมีพันธุ์สัตว์ป่าที่คนนำมาเลี้ยงให้เชื่องเป็น “สัตว์เลี้ยง” มากกว่าในทวีปอเมริกา? การที่อเมริกามีสัตว์ป่าเฉพาะถิ่นกว่าหนึ่งพันชนิด น่าจะทำให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยงชั้นเลิศมิใช่หรือ?

แต่ในความเป็นจริง โลกนี้มีสัตว์ป่าที่เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงไม่กี่ชนิด ที่คนนำมาเลี้ยงให้เชื่องได้ ทั้งนี้เพราะการเลี้ยงสัตว์ให้เชื่องมีเงื่อนไขมากมาย: สัตว์ชนิดนั้นต้องกินอาหารประเภทที่มนุษย์สามารถหาให้ได้, มีอัตราการเติบโตสูง, ยอมผสมพันธุ์ในที่กักขัง, มีนิสัยว่านอนสอนง่าย, มีโครงสร้างสังคมที่ยอมตกอยู่ใต้อาณัติของสัตว์อื่นที่มีอำนาจเหนือกว่า, และมีแนวโน้มต่ำที่จะแตกตื่นเมื่อถูกล้อมกรอบ หลายพันปีมาแล้ว สัตว์ป่าที่เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดที่เลี้ยงได้ ที่มีคุณสมบัติตรงกับเงื่อนไขที่ผมบอก ได้ถูกมนุษย์ทำให้เชื่องเป็นสัตว์เลี้ยงไปหมด ผลก็คือไม่มีสัตว์ป่าพันธุ์อื่นอีกแล้วที่มนุษย์นำมาเลี้ยงหลังจากนั้น แม้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่จะพยายามเพียงใดก็ตาม

ทวีป Eurasia มีพันธุ์สัตว์ป่าที่มนุษย์นำมาเลี้ยง ในจำนวนมากกว่าทวีปอื่นๆ ส่วนหนึ่งเพราะมันเป็นพื้นแผ่นดินที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีพันธุ์สัตว์ป่ามากที่สุดตั้งแต่แรก ความแตกต่างระหว่าง Eurasia และทวีปอื่นๆ ในแง่นี้ขยายห่างมากกว่าเดิมเมื่อ 13,000 ปีก่อน ณ จุดจบของยุคน้ำแข็งยุคสุดท้าย (the last Ice Age) ที่นำมาซึ่งการสูญพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่แทบทั้งหมด ซึ่งอาจเกิดจากการถูกล่าโดยอินเดียนแดงเผ่าแรกๆ ผลที่ตามมาคือ ชาวอินเดียนแดงเผชิญกับภาวะที่จำนวนสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ มีจำนวนน้อยกว่าในทวีป Eurasia มาก คือเหลือเพียงตัวลามะ (llama) และอัลปาก้า (alpaca คือสัตว์ขนปุยคล้ายแกะ) ที่นำมาเลี้ยงได้เท่านั้น ความแตกต่างระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่ในแง่ของพันธุ์พืชป่าที่นำมาเพาะปลูกได้ ก็คล้ายคลึงกัน (นั่นคือ โลกเก่ามีจำนวนพันธุ์พืชป่าที่เลี้ยงได้ มากกว่าในโลกใหม่หลายเท่าตัว) เพียงแต่ความแตกต่างไม่ห่างกันขนาดนั้น

เหตุผลอีกข้อที่อธิบายได้ว่า ทำไมพันธุ์พืชและสัตว์ที่เลี้ยงได้ในทวีป Eurasia จึงมีจำนวนมากกว่าในทวีปอเมริกาคือ แกนหลักของ Eurasia พาดทางทิศตะวันออก-ตะวันตก ในขณะที่แกนหลักของทวีปอเมริกา พาดทางทิศเหนือ-ใต้ (โปรดดูรูปด้านล่างประกอบ คลิ้กเพื่อขยายรูป) แกนตะวันออก-ตะวันตกของ Eurasia ช่วยให้พันธุ์พืชและสัตว์ที่มนุษย์นำมาเลี้ยงในบริเวณหนึ่ง สามารถขยายพันธุ์เป็นพันๆ ไมล์ได้อย่างง่ายดายไปยังบริเวณอื่นๆ เพราะมีสภาพอากาศ และช่วงเวลากลางวัน ที่เหมือนกันกับบริเวณที่พันธุ์เหล่านั้นได้ปรับตัวมาแล้ว ดังนั้น ไก่และส้มที่คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นำมาเลี้ยง จึงแพร่ไปทางตะวันตกถึงยุโรปอย่างรวดเร็ว ม้าที่ชาว Ukraine นำมาเลี้ยง แพร่ไปทางตะวันออกถึงเมืองจีน และแกะ แพะ วัว ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์จากแถบ Fertile Crescent ก็แพร่ไปอย่างรวดเร็วทั้งทางตะวันตกและตะวันออก

axes of major continents

ในทางกลับกัน แกนเหนือ-ใต้ของทวีปอเมริกาหมายความว่า พันธุ์พืชและสัตว์ที่คนนำมาเลี้ยงได้ในบริเวณหนึ่ง ไม่สามารถแพร่พันธุ์ไปได้ไกล เพราะต้องเจอกับสภาพอากาศ และช่วงเวลากลางวันที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับบริเวณดั้งเดิมที่ถูกเลี้ยง นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมการเลี้ยงไก่งวง จึงไม่สามารถขยายจากเม็กซิโก แหล่งที่มนุษย์เลี้ยงได้สำเร็จ ลงใต้ไปยังลุ่มแม่น้ำ Andes ในอเมริกาใต้ ในขณะที่การเลี้ยงตัวลามะและอัลปาก้า ก็ไม่เคยขึ้นเหนือไปยังเม็กซิโก นี่เป็นเหตุว่าทำไมอารยธรรมในอเมริกากลางและอเมริกาเหนือ จึงต้องอยู่โดยปราศจากสัตว์ที่ใช้ขนของได้ และทำไมการเพาะปลูกพันธุ์ข้าวโพดที่วิวัฒนาการภายใต้ภูมิอากาศของเม็กซิโก ต้องใช้เวลานานหลายพันปีในการปรับตัว ก่อนที่มนุษย์จะสามารถปลูกมันได้ในอเมริกาเหนือ ที่ซึ่งมีฤดูการเก็บเกี่ยวสั้น และมีช่วงเวลากลางวันที่แตกต่างกันไปตามฤดูกาล

พืชและสัตว์ที่มนุษย์นำมาปลูกและเลี้ยงใน Eurasia ยังมีความสำคัญในแง่อื่น นอกเหนือจากเป็นบ่อเกิดของเชื้อโรคระบาดให้ชาวยุโรปด้วย กล่าวคือ พืชและสัตว์เลี้ยงที่คนนำมากินเหล่านี้ ให้แคลอรี่ต่อไร่ในปริมาณที่มากกว่าพันธุ์ที่อยู่ในป่า (ซึ่งส่วนใหญ่คนกินไม่ได้) ค่อนข้างมาก ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ชุมชนของชาวนาชาวไร่และคนเลี้ยงสัตว์ มีความหนาแน่นกว่าชุมชนของคนล่าสัตว์และคนเก็บของป่า เป็นสิบหรือร้อยเท่า ข้อเท็จจริงข้อนี้ข้อเดียวสามารถอธิบายว่า ทำไมชาวนาชาวไร่และคนเลี้ยงสัตว์ทุกหนทุกแห่งในโลก จึงสามารถกดดันหรือขับไล่คนล่าสัตว์และคนเก็บของป่า ให้ออกไปจากบริเวณที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ได้เสมอ

การเลี้ยงสัตว์ยังนำมาซึ่งการปฏิวัติการขนส่งทางบก และเกษตรกรรม เพราะช่วยทุ่นแรงให้ชาวนาหนึ่งคน สามารถไถพรวนดินได้มากกว่าถ้าเขาทำคนเดียว นอกจากนั้น สังคมของคนล่าสัตว์และคนเก็บของป่ามักมีลักษณะเสมอภาค (egalitarian) และไม่มีโครงสร้างทางการเมืองที่ซับซ้อนกว่าระดับกลุ่มหรือเผ่า ในขณะที่อาหารส่วนเกิน (food surplus) และการเก็บรักษาอาหาร ที่เป็นประโยชน์จากกิจกรรมเกษตร ทำให้สังคมมนุษย์สามารถพัฒนาไปสู่สังคมแบบชนชั้นที่มีศูนย์รวมทางการเมือง และชนชั้นปกครอง อาหารส่วนเกินยังช่วยเร่งพัฒนาการด้านเทคโนโลยี เพราะค้ำจุนช่างฝีมือต่างๆ ที่ไม่ได้ปลูกข้าวหรือเลี้ยงสัตว์ไว้กินเอง ทำให้คนเหล่านี้สามารถทุ่มเทเวลาให้กับการพัฒนาโลหกรรม (metallurgy) ตัวหนังสือ ดาบ และปืน

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า เราเริ่มต้นด้วยการหาปัจจัยใกล้เคียง – ปืน เชื้อโรค ฯลฯ – ที่สามารถอธิบายได้ว่าชาวยุโรปพิชิตโลกใหม่ได้อย่างไร ผมคิดว่าเราสามารถสืบสาวสาเหตุของปัจจัยใกล้เคียงเหล่านี้ ไปถึงพันธุ์พืชและสัตว์เลี้ยงในโลกเก่าที่มากกว่าโลกใหม่ และแกนเหนือ-ใต้ของโลกใหม่ ห่วงโซ่เหตุผลต่อเนื่องเส้นนี้ สามารถอธิบายความได้เปรียบของโลกเก่าในการมีม้าและเชื้อโรค ได้โดยตรงทีเดียว แต่พันธุ์พืชและสัตว์เลี้ยง เป็นสาเหตุทางอ้อมที่โลกเก่ามีปืน ดาบ เรือเดินทะเล โครงสร้างทางการเมือง และตัวหนังสือ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลจากการมีสังคมขนาดใหญ่ที่ตั้งรกรากอยู่กับที่ แบ่งชนชั้น และมีประชากรหนาแน่น ซึ่งการประกอบเกษตรกรรมเอื้อให้เกิดขึ้นได้

แน่นอนครับ มีปัจจัยที่สำคัญอีกมากมายในประวัติศาสตร์โลก ที่ผมไม่มีเวลาพูดถึงใน 40 นาทีนี้ แต่อธิบายไว้ในหนังสือ เช่น ผมไม่ค่อยได้กล่าวถึงการแพร่พันธุ์พืชที่คนนำมาปลูก (3 บทในหนังสือ) ไม่ได้พูดถึงวิธีที่องค์กรการเมืองอันซับซ้อนต่างๆ การคิดค้นตัวหนังสือ เทคโนโลยี และศาสนา ขึ้นอยู่กับเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ไม่ได้พูดถึงเหตุผลอันน่าพิศวงของความแตกต่างระหว่างบริเวณต่างๆ ภายใน Eurasia เช่น จีน อินเดีย และยุโรป และก็ไม่ได้พูดถึงผลกระทบจากการกระทำของคนในระดับปัจเจก และวัฒนธรรมต่างๆ ที่มีต่อประวัติศาสตร์ แต่ตอนนี้เป็นเวลาที่ผมจะสรุปความหมายของการทัวร์ประวัติศาสตร์มนุษย์ ที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมกันของจำนวนปืน และเชื้อโรคแล้วครับ

ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังแบบแผนประวัติศาสตร์มนุษย์

แบบแผน (หรือมุมมอง) ที่กว้างที่สุดของประวัติศาสตร์ – นั่นคือ ความแตกต่างของสังคมมนุษย์ในระดับทวีป – เป็นผลจากความแตกต่างของปัจจัยทางสภาพแวดล้อม ไม่ใช่ความแตกต่างทางชีววิทยา หรือสรีรวิทยาของคนเชื้อชาติต่างๆ นั่นคือ จำนวนพันธุ์พืชและสัตว์ป่าที่คนนำมาเลี้ยงได้ และความง่ายของการแพร่พันธุ์พืชและสัตว์ดังกล่าว โดยไม่ต้องเจอกับภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ไม่คุ้นเคย เป็นสาเหตุแน่นอนของอัตราการเติบโตของการประกอบเกษตรกรรม และปศุสัตว์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้จำนวนประชากรเติบโตได้มาก และสามารถผลิตอาหารส่วนเกินได้ ซึ่งเอื้อต่อวิวัฒนาการของเชื้อโรค และการพัฒนาตัวหนังสือ เทคโนโลยี และโครงสร้างทางการเมือง (โปรดดูแผนผังด้านบนประกอบ และคลิ้กรูปเพื่อขยาย) นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ของแทสมาเนีย (Tasmania – เกาะทางตอนใต้ของทวีปออสเตรเลีย) และออสเตรเลีย เตือนเราว่า ขนาดพื้นที่และระดับความโดดเดี่ยว (level of isolation) ของทวีปต่างๆ อาจเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษย์ เพราะมีผลกระทบต่อจำนวนสังคมมนุษย์ที่แข่งขันกัน

ในฐานะนักชีววิทยาที่ทำการทดลองในห้องแล็บ ผมตระหนักดีว่า นักวิทยาศาสตร์บางคนอาจมองข้ามการตีความประวัติศาสตร์เช่นนี้ว่า เป็นการตั้งข้อสมมุติที่ไม่มีทางพิสูจน์ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีทางบันทึกเป็นผลจากการทดลองที่ทำซ้ำๆ ให้มั่นใจได้ ข้อโต้แย้งนี้ใช้ได้กับวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นดาราศาสตร์ ชีววิทยาวิวัฒนาการ (evolutionary biology) ธรณีวิทยา และการศึกษาซากดึกดำบรรพ์ (paleontology) แน่นอนครับ ข้อโต้แย้งนี้ใช้ได้กับการศึกษาประวัติศาสตร์ทั้งหมด และสังคมศาสตร์เกือบทุกแขนง นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ ที่จะมองประวัติศาสตร์ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ เราถือว่าประวัติศาสตร์ เป็นสังคมศาสตร์แขนงหนึ่ง ซึ่งก็แปลว่าไม่ค่อยเป็นวิทยาศาสตร์นัก

แต่ขอให้จำนะครับ ว่าคำว่าวิทยาศาสตร์ในภาษาอังกฤษ คือ “science” ไม่ได้มีรากศัพท์มาจากคำในภาษาละตินที่แปลว่า “การทดลองที่ทำซ้ำได้” แต่มาจากคำว่า “scientia” ในละติน ซึ่งแปลว่า “ความรู้” (knowledge) ต่างหาก ในวิทยาศาสตร์ เราค้นหาความรู้ด้วยวิธีการอะไรก็ตาม ที่เรานำมาใช้ได้ และที่เหมาะสม มีวิชาการมากมายหลายแขนง ที่ไม่มีใครลังเลที่จะเรียกว่าวิทยาศาสตร์ ทั้งๆ ที่การทดลองที่ทำซ้ำได้ในวิชาการเหล่านี้ จะเป็นการผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย หรือเป็นไปไม่ได้ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของดาวดวงใดดวงหนึ่ง โดยใช้ดาวดวงอื่นๆ เป็นตัวควบคุมได้ เราไม่สามารถริเริ่มหรือระงับยุคน้ำแข็ง เราไม่สามารถทดลองออกแบบและพัฒนาไดโนเสาร์ แต่เราก็ยังสามารถแสวงหาความรู้ในวิชาการที่เป็นประวัติศาสตร์เหล่านี้ด้วยวิธีอื่น เช่นเดียวกัน เราควรจะสามารถเข้าใจประวัติศาสตร์มนุษย์ได้ เพราะการวิเคราะห์ตัวเราเอง และหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร บอกเราเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ในอดีต มากกว่าความรู้ที่เรามีเกี่ยวกับชีวิตของไดโนเสาร์ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงมีความหวังว่า วันหนึ่งเราจะมีคำอธิบายที่ครบถ้วนที่สุด เกี่ยวกับแบบแผนที่กว้างที่สุดของประวัติศาสตร์มนุษย์.


แม้ข้าพเจ้าคิดว่า Diamond จะมองโลกในแง่ดีไปหน่อย (เพราะพฤติกรรมของมนุษย์นั้นเข้าใจยากกว่าสิ่งอื่นใดในธรรมชาติมาก ดังที่เคยเกริ่นไปก่อนหน้านี้) คำอธิบายของเขาก็เป็นเหตุผลที่…

…ทรงพลัง เพราะมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ
…น่าดีใจ เพราะช่วยพิสูจน์ว่าอคติของมนุษย์ในการเหยียดผิวนั้น เป็นเรื่องไร้สาระ
…และน่าตื่นเต้น เพราะเป็นผลของการสังเคราะห์แนวคิด และหลักฐานจากวิชาการหลายสาขา แบบ “บูรณาการ” (integrated) ซึ่งเป็นแนวการศึกษาสมัยใหม่ ที่นับวันจะทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ

Guns, Germs, and Steel เป็นหนึ่งในหนังสือที่ข้าพเจ้ารักที่สุด หนังสือเล่มนี้เล่มเดียว ช่วยเปิดโลกทัศน์ของข้าพเจ้าให้กว้างกว่าเดิมหลายเท่า ตอนแรกที่เขียนเรื่องนี้คิดว่ายังไม่มีฉบับภาษาไทย ขอบคุณคุณปิ่น ที่ post comment มาแจ้งว่ามีผู้แปลแล้ว คือ อรวรรณ คูหาเจริญ นาวายุทธ ในชื่อ ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า กับชะตากรรมของสังคมมนุษย์ สำนักพิมพ์คบไฟเป็นผู้จัดพิมพ์ ใครยังไม่ได้อ่าน คุณปิ่นบอกว่างานหนังสือปีนี้ก็มีขายนะคะ

ข้าพเจ้าก็หวังว่าบทสรุปข้างต้นจะรักษา “แก่น” ของแนวคิด “ประวัติศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์” ได้ไม่มากก็น้อย 🙂