Nicola Tesla อัจฉริยะที่โลกลืม ผู้คิดค้นศตวรรษที่ยี่สิบ

Nicola Tesla

เพิ่งไปดูหนังเรื่อง The Prestige มาเมื่อสุดสัปดาห์ืที่ผ่านมา สนุกดี แม้จะรู้สึกผิดหวังเล็กน้อยที่ผู้กำกับ (Christopher Nolan) ยังทำหนังได้ไม่ “เจ๋ง” เท่ากับหนังเรื่อง Memento ของเขาก่อนหน้านี้ (ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังที่ผู้เขียนชอบที่สุด ดูแล้วดูอีกได้ไม่เืบื่อ) แต่อย่างน้อยก็ชอบเรื่อง The Prestige มากกว่าเรื่อง Batman Begins ที่ Nolan เป็นผู้กำกับเหมือนกัน (จริงๆ แล้ว คิดว่าถ้า 20 นาทีแรกของ Batman Begins ไม่ยืดยาวขนาดนั้น หนังจะสนุกกว่านั้นมาก)

เห็น นิโคลา เทสลา นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะยอดอาภัพ กลายเป็นตัวประกอบในหนังเรื่อง The Prestige เลยคิดว่าจะแปลเรื่องราวของเขามาเล่าสู่กันฟังในบล็อกนี้ดีกว่า เพราะเทสลาเป็นหนึ่งใน “อัจฉริยะที่โลกลืม” ที่มีประวัติน่าสนใจมาก เคยอ่านเรื่องของเขาสมัยเรียนหนังสือ ตอนแรกคิดว่าอาจเข้าข่าย “คนชายขอบ” สำหรับคอลัมน์ในโอเพ่นออนไลน์ได้ แต่ตัดสินใจไปแล้วว่าคอลัมน์นั้นอีก 4-5 คนจะเป็นใคร เลยเอาเรื่องเทสลามาแปะในนี้ก่อน วันหลังอาจเขียนบทแนะนำลงคอลัมน์ไปอีกรอบ

……

แปลจาก บทความใน The Independent:

ประวัติศาสตร์น่าจะจารึกชื่อ นิโคลา เทสลา (Nicola Tesla) ในฐานะชายผู้คิดค้นศตวรรษที่ 20 แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ทฤษฏีวิทยาศาสตร์ของเขาถูกหัวเราะเยาะ และเขาตายอย่างเดียวดายในห้องน้ำของโรงแรมแห่งหนึ่ง โรเบิร์ต โลมัส (Robert Lomas) เล่าเรื่องของศาสดาแห่งวิทยาศาสตร์ไฟฟ้าผู้ถูกลืมให้เราฟัง


Nicola Tesla

เพิ่งไปดูหนังเรื่อง The Prestige มาเมื่อสุดสัปดาห์ืที่ผ่านมา สนุกดี แม้จะรู้สึกผิดหวังเล็กน้อยที่ผู้กำกับ (Christopher Nolan) ยังทำหนังได้ไม่ “เจ๋ง” เท่ากับหนังเรื่อง Memento ของเขาก่อนหน้านี้ (ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังที่ผู้เขียนชอบที่สุด ดูแล้วดูอีกได้ไม่เืบื่อ) แต่อย่างน้อยก็ชอบเรื่อง The Prestige มากกว่าเรื่อง Batman Begins ที่ Nolan เป็นผู้กำกับเหมือนกัน (จริงๆ แล้ว คิดว่าถ้า 20 นาทีแรกของ Batman Begins ไม่ยืดยาวขนาดนั้น หนังจะสนุกกว่านั้นมาก)

เห็น นิโคลา เทสลา นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะยอดอาภัพ กลายเป็นตัวประกอบในหนังเรื่อง The Prestige เลยคิดว่าจะแปลเรื่องราวของเขามาเล่าสู่กันฟังในบล็อกนี้ดีกว่า เพราะเทสลาเป็นหนึ่งใน “อัจฉริยะที่โลกลืม” ที่มีประวัติน่าสนใจมาก เคยอ่านเรื่องของเขาสมัยเรียนหนังสือ ตอนแรกคิดว่าอาจเข้าข่าย “คนชายขอบ” สำหรับคอลัมน์ในโอเพ่นออนไลน์ได้ แต่ตัดสินใจไปแล้วว่าคอลัมน์นั้นอีก 4-5 คนจะเป็นใคร เลยเอาเรื่องเทสลามาแปะในนี้ก่อน วันหลังอาจเขียนบทแนะนำลงคอลัมน์ไปอีกรอบ

……

แปลจาก บทความใน The Independent:

ประวัติศาสตร์น่าจะจารึกชื่อ นิโคลา เทสลา (Nicola Tesla) ในฐานะชายผู้คิดค้นศตวรรษที่ 20 แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ทฤษฏีวิทยาศาสตร์ของเขาถูกหัวเราะเยาะ และเขาตายอย่างเดียวดายในห้องน้ำของโรงแรมแห่งหนึ่ง โรเบิร์ต โลมัส (Robert Lomas) เล่าเรื่องของศาสดาแห่งวิทยาศาสตร์ไฟฟ้าผู้ถูกลืมให้เราฟัง

ประกายอัจฉริยะ
โดย โรเบิร์ต โลมัส

การขยายตัวของอารยธรรมอาจเปรียบได้กับไฟ มันเริ่มจากประกายอันอ่อนแอ ค่อยๆ เติบโตเป็นเปลวเพลิงวับแวม ซึ่งกระพือขึ้นเป็นพระเพลิงลุกโพลง เพิ่มความเร็วและพลังทำลายล้างอย่างไม่สิ้นสุด
– นิโคลา เทสลา

ย้อนกลับไปสมัยทศวรรษที่ 1960 วิศวกรไฟฟ้าหนุ่มทั้งหลายมีนิสัยชอบซุกมือข้างหนึ่งไว้ในกระเป๋าเวลาเดินไปมา นั่นไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นคนสกปรก หรือต้องการจะแสดงท่าทีต่อต้านกระแสสังคม หากเป็นเพราะคำเตือนที่พวกเขาถูกกรอกหูในวันเข้าห้องแล็บครั้งแรกๆ ว่า “กระแสไฟฟ้าที่ช็อตบริเวณหน้าอกของพวกคุณนั้นจะทำให้ถึงตาย กระแสไฟฟ้าเดียวกันที่ช็อตลำตัวพวกคุณเพียงซีกเดียวจะทำให้รู้สึกเสียววูบเท่านั้น” คำแนะนำนี้ทำให้วิศวกรไฟฟ้าทุกคนที่ต้องการมีชีวิตรอด ซุกมือข้างหนึ่งในกระเป๋าเสื้อโดยอัตโนมัติทุกครั้งที่พวกเขาเดินผ่านกระแสไฟฟ้าอิสระ

สมุดบันทึกของนิโคลา เทสลา สมัยที่เขาพำนักในเมืองโคโลราโด สปริงส์ (Colorado Springs) สะท้อนให้เห็นว่าเขาเป็นวิศวกรคนแรกที่ให้คำแนะนำข้อนี้ ซึ่งนั่นแปลว่าวิศวกรไฟฟ้าหลายคนเป็นหนี้ชีวิตเขา นอกจากคำแนะนำนี้ เทสลายังเป็นผู้คิดค้นเครื่องวัดความเร็วติดรถยนต์ (speedometer) เครื่องวัดอัตราการหมุนของเครื่องจักร (mechanical rev counter) การกระจายเสียงผ่านวิทยุ กระแสไฟฟ้าสลับ (alternating current หรือย่อว่า AC) และเครื่องยนต์เทอร์ไบน์แบบไร้ใบมีด (bladeless turbines)

เป็นไปได้อย่างไร ที่ชายผู้เปี่ยมพรสวรรค์อันหลากหลาย ผู้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่ทำให้อารยธรรมสมัยใหม่ของเราเป็นความจริงขึ้นมาได้ จะถูกโลกลืม? ชื่อของนักประดิษฐ์รุ่นเดียวกันกับเขา ไม่ว่าจะเป็นเอดิสัน มาร์โคนี เวสท์ติงเฮาส์ และแม้กระทั่ง เจ.พี. มอร์แกน กลายเป็นตำนานสืบต่อมา แต่เทสลากลับไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างต่อสาธารณชนที่ยังใช้ประโยชน์จากงานของเขา

แวดวงวิทยาศาสตร์ให้การสดุดีเทสลา และชื่อของเขาก็ถูกยกให้เป็นหน่วยวัดสนามแม่เหล็ก ในแง่หนึ่งการสดุดีแบบนี้เหมาะสมกับเทสลา เพราะเขาถูกจัดให้อยู่ในทำเนียบเดียวกันกับนักวิทยาศาสตร์ผู้โด่งดังอย่างโวลตา แอมแปร์ กิลเบิร์ต เฮนรี เฮิร์ตซ์ โอห์ม และ ฟาราเดย์ ซึ่งชื่อของพวกเขาล้วนกลายเป็นหน่วยวัดค่าทางแม่เหล็กไฟฟ้าต่างๆ แต่แม้ว่าเขาจะได้รับการยกย่องจากผู้รู้ในแวดวงที่เกี่ยวข้อง ผมก็อดคิดไม่ได้ว่า เทสลาคงจะอยากได้รับการยอมรับจากประชาชนทั่วไปเหมือนกัน

เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณภาพของชีวิตสมัยใหม่ของเราทุกคนนั้น ขึ้นอยู่กับการจ่ายกระแสไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งคุณงามความดีของความสำเร็จข้อนี้ต้องยกให้เทสลา จริงอยู่ วิศวกรบางคนรู้จักเขา และถูกสอนชื่อเขาในฐานะหน่วยวัดค่าความแปรปรวนของแม่เหล็ก แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ประวัติของชายผู้คิดค้นศตวรรษที่ยี่สิบ และคนส่วนใหญ่ก็จำไม่ได้แล้วว่าเราเป็นหนี้บุญคุณอะไรกับเขา

ผมเป็นแค่เด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่ลุ่มหลงในไฟฟ้าและอยากได้ชุดวิทยุไร้สาย เมื่อผมได้ยินชื่อของนิโคลา เทสลาเป็นครั้งแรก ผมไม่ได้อยากได้แค่วิทยุธรรมดาๆ เท่านั้น แต่ผมอยากได้เครื่องรับวิทยุรุ่น AR88 ที่ใช้ในกองทัพเรือ ผมหมดเวลาช่วงบ่ายวันเสาร์ไปกับการควานหาวิทยุรุ่นนี้ในร้านขายวิทยุมือสองในเมืองแมนเชสเตอร์ หลายสัปดาห์ติดต่อกัน

เพื่อนพ้องของผมบางคนมีวิทยุส่วนตัว และบางครั้งพ่อแม่ผมก็อนุญาตให้ใช้เครื่องวิทยุโทรเลขในห้องนั่งเล่น แต่นั่นมันย่อมเทียบไม่ได้กับการมีวิทยุเป็นของตัวเอง เวลาผมหมุนเครื่องวิทยุโทรเลขลงไปที่คลื่นต่ำๆ เลยจากสถานี Radio Luxembourg ไปอีก ผมจะได้ยินผู้คนที่เป็นเจ้าของเครื่องวิทยุไร้สาย คุยกันเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับคลื่นระยะสั้นของวิทยุพวกเขา และโม้ว่าคุยกับโอเปอเรเตอร์ไกลๆ ที่ไหนได้บ้าง ผมกระหายที่จะรู้เรื่องวิทยุมากขึ้น และความอยากรู้อยากเห็นนี่เองที่ผลักดันให้ผมเสาะแสวงหาวิทยุมาเป็นของตัวเอง

ผมเดินเข้าออกร้านขายของเก่าร้านแล้วร้านเล่า มือกุมกระเป๋าที่ใส่เงินค่าขนมของผมทั้งหมด คุ้ยกองของเก่าไม่รู้กี่กองต่อกี่กอง และหมดเวลาหลายชั่วโมงไปกับการทำตาละห้อยดูวิทยุรุ่นใหม่ๆ ที่ผมไม่มีกำลังซื้อ เย็นวันเสาร์วันหนึ่ง ซึ่งเป็นอีกวันที่ผมไม่ประสบความสำเร็จ สายตาผมเหลือบไปเห็นของชิ้นหนึ่งบนหิ้งที่ดูไม่เข้าพวก – กล่องไม้ปิดฝาโลหะที่ยั่วยวนให้ผมเปิดดูของข้างใน และนั่นเป็นวันที่ผมต้องเสียเงินค่าขนมที่อุตส่าห์สะสมมาทั้งหมด ไปกับ “เครื่องบำบัดด้วยไฟฟ้าเทสลา” (Tesla Therapeutic Electrotherapy Machine)

เมื่อผมค่อยๆ ยกฝากล่องนั้นขึ้น ฝุ่นอันหนาเตอะฟุ้งขึ้นระคายจมูก ทำให้ผมต้องจามออกมาดังๆ ข้างในกล่อง เครื่องบำบัดนอนสงบนิ่งอยู่บนผ้าบุกำมะหยี่ ดูเหมือนอยู่ในสภาพสมบูรณ์ มันประกอบด้วยขดลวดเคลือบสะท้อนแสง กระบอกทองแดงสองกันเชื่อมกับหัวลวดงอได้ สวิตช์ทองเหลือง และช่องว่างสำหรับใส่แบตเตอรี่อันใหญ่ ตัวหนังสือบนป้ายที่ติดข้างใต้ฝากล่องพรรณนาถึงประโยชน์ของกระแสไฟฟ้าแรงสูงที่เจ้าเครื่องมือประหลาดนี้เคยผลิตได้:

กระแสไฟฟ้าที่ผลิตโดยเครื่องมือนี้ เป็นยำบำรุงชั้นเลิศสำหรับระบบประสาทของมนุษย์ ไฟฟ้าช่วยกระตุ้นการเดินของหัวใจและระบบย่อยอาหาร ทำให้นอนหลับอย่างผ่อนคลาย กำจัดสิ่งแปลกปลอมทีปูดขึ้นบนผิวหนัง และรักษาโรคหวัดและอาการไข้ด้วยความร้อนที่เกิดขึ้น กระแสไฟฟ้านี้ยังทำให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายที่เป็นอัมพาตกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง บรรเทาอาการทรมานต่างๆ และช่วยชีวิตมนุษย์ได้ปีละหลายพันคน

ผมตัดสินใจว่า จะชะลอการซื้อวิทยุไร้สายออกไปก่อน ก็ผมมีเครื่องผลิตไฟฟ้าแสนวิเศษอยู่ในมือแล้วนี่นา! ขณะที่ผมนั่งรถรางไฟฟ้ากลับบ้านมากับมัน ผมฝันถึงการทดลองต่างๆ ที่ผมจะทำ เครื่องช็อตไฟฟ้าเครื่องนี้ทำให้ผมมีความสุขมาก เมื่อผมสั่งซื้อแบตเตอรี่ตะเกียงขนาด 6 โวลต์มาจากร้านวิทยุแถวบ้าน เอามาใส่ในเครื่อง ขดลวดก็เริ่มเปล่งประกายแปลบๆ อย่างน่าพอใจ และทำให้ผมรู้สึกเสียววาบไปทั่วตัวเมื่อถือกระบอก ด้วยมือทั้งสองข้าง

เนื่องจากผมรู้สึกกระตือรือร้นกับประโยชน์ของกระแสไฟฟ้าบำบัดเทสลา ผมเลยไปเกลี้ยกล่อมเพื่อนๆ บางคนให้ยืนจับมือกันเป็นวงกลม แล้วก็เอามือของคนสุดท้ายสองคนในวงไปแตะขั้วไฟฟ้าทองแดงเพื่อปิดวง ความรู้สึกจั๊กจี้แผ่ขยายจากมือหนึ่งไปสู่อีกมือหนึ่งรอบๆ วง ทำให้หลายคนอุทานด้วยความแปลกใจที่มือกระตุกเวลากระแสไฟฟ้าแล่นผ่าน

ความสำเร็จสมัยเด็กครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจในการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดตราบชั่วชีวิตของผม ไฟฟ้าเป็นสิ่งค่อนข้างใหม่ และกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคมเมื่อไม่นานมานี้เอง คนรุ่นผมน่าจะเป็นรุ่นแรกที่เห็นว่ามันเป็นสิ่งธรรมดาสามัญ ยกตัวอย่างเช่น ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไอร์แลนด์ มีหุบเขาเล็กๆ ที่คนเรียกต่อๆ กันมาว่า หุบเขาดำมืด (Black Valley) เพราะมันเป็นที่เดียวในประเทศที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพียง 100 ปีที่แล้ว คนจะมองว่าการทำให้บ้านเราสว่างไสวเพียงกดปุ่มเดียวอย่างง่ายดายนั้น เปรียบเสมือนเวทมนตร์อันลึกลับ และหากปราศจากไฟฟ้า โลกนี้จะยังคงมืดมิดและเต็มไปด้วยความยากลำบากกว่าปัจจุบันหลายเท่า

ถ้าถามใครก็ตามที่มีความรู้รอบตัวดี ว่าใครเป็นผู้คิดค้นไฟฟ้า เขาคงตอบว่า “ไมเคิล ฟาราเดย์” (Michael Faraday) ไปเยือนโรงไฟฟ้าที่ไหนก็ได้สักแห่ง เล่นเกมตอบคำถามในห้องโถง แล้วคุณจะเชื่อว่านั่นเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่จริงๆ แล้ว ฟาราเดย์ไม่ได้เป็นผู้คิดค้นโลกใหม่ที่ใช้ไฟฟ้าเช่นในปัจจุบัน เขาเพียงแต่ทำการทดลองที่พิสูจน์ให้เห็นชัดว่า กระแสไฟฟ้าและกระแสแม่เหล็กเกิดขึ้นพร้อมกันเสมอ และเขียนหนังสือที่สำคัญมากชื่อ การวิจัยด้านไฟฟ้า (Researches in Electricity) ชายผู้มอบไฟฟ้าให้กับโลกคือ นิโคลา เทสลา ผู้ประดิษฐ์เครื่องบำบัดด้วยไฟฟ้าที่ผมในวัยเด็กมองว่าน่ามหัศจรรย์อย่างยิ่ง

แล้วเทสลามาตายอย่างโดดเดี่ยวและยากจนในโรงแรมเล็กๆ ได้อย่างไร? ทำไมจึงไม่มีใครพบศพของเขาจนกระทั่งสองวันให้หลัง ทำให้วันตายของเขาไม่แน่นอนพอๆ กับวันเกิดของเขา? เหตุใดคนที่ได้รับประโยชน์มากมายจากความช่างประดิษฐ์ของเขา จึงไม่เคยรู้จักชื่อของเขาเลย?

นิสัยของเทสลาเองเป็นต้นเหตุส่วนหนึ่งของความไร้ชื่อเสียงของเขา เทสลาไม่เหมือนกับเอดิสัน เวสต์ติงเฮ้าส์ มาร์โคนี หรือมอร์แกน ตรงที่เขาไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัทที่ช่วยอนุรักษ์ชื่อเสียง และเชิดชูผลงานต่อสาธารณชนตลอดมา หากคนทั่วไปจะจำเทสลาได้ พวกเขาก็จำได้แต่ฐานะคนประหลาดที่เขียนคอลัมน์ส่งหนังสือพิมพ์ ลองดูชื่อตอนที่เทสลาเขียนลงหนังสือพิมพ์ในบั้นปลายชีวิต:

คลื่นยักษ์ของเทสลาในการทำสงคราม – เป็นไปไม่ได้. การนอนหลับด้วยไฟฟ้า. วิธีการส่งสัญญาณไปดาวอังคาร. เทสลาพูดเรื่องอนาคต. นิโคลา เทสลา วางแผนใช้ ‘หัวแม่มือไร้สาย’ ในเรือเดินทะเล – สิ่งประดิษฐ์แห่งอนาคต. ภาพลวงตาทางวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง. นิโคลา เทสลา ประกาศว่าเราจะบินได้สูง 8 ไมล์ด้วยความเร็ว 1,000 ไมล์ต่อชั่วโมง. การสื่อสารระหว่างดวงดาว. เทสลาอ้างว่าหมากฝรั่งอันตรายกว่าเหล้ารัม. การสลายพายุทอร์นาโด. นิโคลา เทสลา อธิบายวิธีป้องกันเอธิโอเปียจากการรุกรานของอิตาลี. ดร. เทสลาพยากรณ์ว่าเราจะส่งข้อความไปยังดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ.

ในช่วงบั้นปลายชีวิต 26 ปีสุดท้ายของเทสลา ระหว่างปีที่เขาได้รับรางวัลเหรียญเอดิสัน และปีที่เขาตาย ภาพพจน์ของเทสลาในสายตาคนทั่วไปเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง คนเลิกมองเขาว่าเป็นวิศวกรผู้เก่งกาจ หันมามองว่าเขาเป็น “คนแก่สติเฟื่อง” ที่พยากรณ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า ปาฏิหาริย์ส่วนใหญ่ที่เทสลาพยากรณ์เกิดขึ้นจริงๆ นั้น ดูเหมือนจะไม่เคยช่วยให้ชื่อเสียงของเขาดีขึ้นเลย เทสลาไม่เคยเข้าใจหลักมนุษยสัมพันธ์ ไม่ว่าจะในการพูดคุยกับคนสองต่อสอง หรือการวางตัวท่ามกลางฝูงชน คำประกาศที่ฟังดูเหนือจริงที่สุดของเทสลา ล้วนตั้งอยู่บนการใช้เหตุผลทางทฤษฏี บางครั้งเทสลาอธิบายความคิดของเขา แต่บางครั้งก็สวมบท “อัจฉริยะผู้แก่กล้า” และหวังให้คนอ่านต้องยอมรับทุกอย่างที่เขาพูดโดยปริยาย เทสลาชอบเปลี่ยนเรื่องไปพูดถึงไอเดียใหม่ๆ ก่อนที่จะอธิบายไอเดียเก่าให้จบก่อน และนี่ทำให้เขาได้รับสมญานามว่า “สมองผีเสื้อ” แต่บางครั้ง โลกก็จำเทสลาได้และยกย่องเขา

ยกตัวอย่างเช่น ในวันเกิดครบรอบ 75 ปี เทสลาขึ้นปกนิตยสาร TIME ในขณะที่เขาพำนักฟรีอยู่ในโรงแรมชื่อ Grosvoner Clinton ด้วยความเอื้อเฟื้อของผู้จัดการ หลังจากที่ถูกเชิญออกจากโรงแรมหลายแห่งก่อนหน้านี้เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าห้อง หลังจากเหตุการณ์นี้ เขาต้องอพยพออกจากโรงแรม Grosvoner Clinton และยอมทิ้งสัมภาระไว้แทนค่าห้อง วิกฤตทางเศรษฐกิจ (Great Depression) ในอเมริกาช่วงนั้นซ้ำเติมให้เทสลามีปัญหาการเงินมากกว่าเดิม เขาพบ ‘บ้าน’ ที่จะอาศัยอยู่ไปชั่วชีวิตก็ต่อเมื่อรัฐบาลยูโกสลาเวีย ประเทศบ้านเกิดเมืองนอน รู้สึกสงสารพลเมืองที่โด่งดังที่สุดของประเทศ เลยอนุมัติเงินบำนาญให้เทสลาจำนวน 7,200 เหรียญสหรัฐต่อปี แต่ถึงกระนั้นเทสลาก็ยังต้องย้ายโรงแรมบ่อยครั้ง เพราะเขาชอบให้อาหารนกบนโต๊ะ ทำให้มีนกพิราบบินเข้ามาในห้องอยู่เสมอ

เทสลาชอบอ้างว่า เขาสาบานตอนเป็นเด็กว่าจะทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับงาน และจะไม่มีวันเสียเวลากับการแต่งงาน แต่เมื่อเขาแก่ตัวลง ปากจัดมากขึ้นและมีคนนับถือน้อยลง เทสลาคงรู้สึกเสียดายที่ไม่มีคนใกล้ชิดคอยเป็นคนฟัง พี่สาวน้องสาวของเทสลาทุกคนตายก่อนเขา และสมาชิกในครอบครัวเพียงคนเดียวที่เขาติดต่อด้วยในช่วงบั้นปลายชีวิตคือหลานชายชื่อ ซาวา โคซาโนวิช (Sava Kosanovich) ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ลุ่มๆ ดอนๆ ความว้าเหว่ทำให้เทสลามักตีสนิทกับนักข่าวสายวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้ชาย และโทรไปคุยกับพวกเขาเป็นชั่วโมงๆ ไม่เว้นเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน

เทสลาฉลองวันเกิดที่เขาอ้างว่าไม่มี (เพราะไม่รู้วันที่แน่ชัด) ด้วยการจัดงานเลี้ยงใหญ่โตที่เขาไม่มีปัญญาจ่าย ในร้านอาหารหรูๆ ของกรุงนิวยอร์ค เชิญนักข่าวมางานเลี้ยง ให้พวกเขา ‘จ่าย’ ค่าอาหารเย็นอย่างสาสมด้วยการบังคับให้ฟังปาฐกถาอันยืดยาวเกี่ยวกับอนาคต เทสลามีสุขภาพแข็งแรงจนกระทั่งเขาถูกรถแท็กซี่นิวยอร์คชนขณะเดินข้ามถนน ตอนเขาอายุ 81 ปี สุขภาพของเขาเริ่มทรุดโทรมลงหลังจากนั้น

หลังจากถูกรถชนไม่นาน สมองของเทสลาก็ยังใสพอที่จะให้เขาวิพากษ์ทฤษฏีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ในคำประกาศที่เขาแจกในงานวันเกิดของเขาในปีนั้น แทนที่จะพูดปาฐกถาเหมือนทุกปีที่ผ่านมา:

ผมได้คิดค้นทฤษฎีแรงโน้มถ่วงที่มีพลวัต (dynamic theory of gravity) ในรายละเอียดเสร็จสิ้นแล้ว และผมหวังว่าจะมอบทฤษฎีนี้ให้กับโลกในไม่ช้า ทฤษฎีนี้อธิบายสาเหตุต่างๆ ของแรงโน้มถ่วง และการเคลื่อนไหวของดวงดาวต่างๆ ภายใต้อิทธิพลของมัน อย่างน่าพอใจเสียจนทุกคนจะเลิกตั้งสมมุติฐานผิดๆ และเลิกเข้าใจผิด เช่นเรื่องอวกาศที่โค้งได้ เหล่านักทฤษฎีสัมพัทธภาพเชื่อว่า อวกาศมักจะโค้งงอเนื่องจากคุณสมบัติของวัตถุต่างๆ ในอวกาศ

แม้ว่าเราจะเชื่อว่าไอเดียนี้มีทางเป็นไปได้จริง มันก็ยังขัดแย้งในตัวเองอยู่ดี การกระทำทุกชนิด (action) ย่อมก่อให้เกิดแรงสะท้อนกลับ (reaction) ในทางตรงกันข้ามเสมอ ดังนั้นถ้าดวงดาวทำให้อวกาศรอบๆ โค้งงอ ผมก็คิดง่ายๆ ว่าอวกาศที่โค้งงอนั้นก็ต้องมีแรงสะท้อนกลับไปที่ดวงดาวเหล่านั้น ทำให้เส้นโค้งกลับเป็นเส้นตรง เพราะการกระทำและแรงสะท้อนเป็นของคู่กันเสมอ การโค้งงอของอวกาศจึงเป็นไปไม่ได้เลย และถึงมันจะมีอยู่จริง การโค้งงอนั้นก็ไม่สามารถอธิบายการเคลื่อนไหวของวัตถุต่างๆ ที่เราสังเกตได้ มีเพียงสนามพลังเท่านั้นที่อธิบายได้ และสมมุติฐานต่างๆ ในข้อนี้ก็หักล้างแนวคิดเรื่องการโค้งงอทั้งหมด ข้อเขียนทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไร้ประโยชน์ และในที่สุดก็จะถูกลืม

เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เทสลาไม่เคยตีพิมพ์ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงที่มีพลวัติของเขา องค์ความรู้ที่เรามีเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงในปัจจุบันบอกว่า เมื่อวัตถุหนักเคลื่อนที่ มันจะแผ่คลื่นแรงโน้มถ่วง (gravity wave) ออกมา ซึ่งมีความเร็วเท่ากับความเร็วแสง คลื่นแรงโน้มถ่วงนี้มีคุณสมบัติคล้ายกันกับคลื่นชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด สิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเทสลาล้วนตั้งอยู่บนองค์ความรู้เกี่ยวกับคลื่น เขาเชื่อมั่นว่า เสียง แสง ความร้อน รังสีเอ็กซ์เรย์ และวิทยุ ล้วนเป็นคลื่นที่เกี่ยวข้องกัน และเราสามารถค้นคว้าได้ด้วยสมการคณิตศาสตร์ประเภทเดียวกัน ความเห็นของเทสลาที่ไม่ตรงกันกับไอน์สไตน์ สะท้อนให้เห็นว่าเขาได้ขยายแนวคิดนี้ไปสู่แรงโน้มถ่วงด้วย

ในคริสตทศวรรษ 1980 ความคิดของเทสลาได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้อง ผลการวิจัยเรื่องการสูญเสียพลังงานในพัลซาร์ดาวคู่นิวตรอน (double neutron star pulsar) ชื่อ PSR 1913+16 พิสูจน์ว่าคลื่นแรงโน้มถ่วงมีอยู่จริง ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจกับไอเดียของเทสลาที่ว่า แรงโน้มถ่วงเป็นสนามพลัง มากกว่าที่ไอน์สไตน์ให้ความสนใจ โชคร้ายที่เทสลาไม่เคยอธิบายว่าอะไรทำให้เขาสรุปแบบนี้ และไม่เคยอธิบายทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของเขาให้โลกรู้ การโจมตีงานของไอน์สไตน์ทำให้แวดวงวิทยาศาสตร์ตอนนั้นโจมตีเทสลาอย่างมหาศาล เราเพิ่งจะเข้าใจแรงโน้มถ่วงมากพอที่จะระลึกได้ว่า ความคิดของเทสลานั้นถูกต้อง เมื่อไม่นานมานี้เอง

หลังจากนั้น เทสลาออกประกาศอีกฉบับหนึ่งที่อุกอาจกว่าเดิม เรื่องนี้ช่วยให้เขากลายเป็นคนที่โลกลืมหลังจากตายไปแล้ว:

ผมทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ในรอบปีที่ผ่านมา ไปกับการประดิษฐ์เครื่องมือใหม่ชิ้นเล็กๆ ที่สามารถส่งพลังงานปริมาณมหาศาลผ่านห้วงอวกาศได้ โดยปราศจากการแพร่กระจาย(ของพลังงาน) ผมกำลังจะส่งคำอธิบายเครื่องมือตัวนี้ พร้อมข้อมูลและผลการคำนวณต่างๆ ไปให้สถาบันฝรั่งเศส (Institute of France) เพื่อขอรับเงินรางวัล Guzman Prize จำนวน 100,000 ฟรังค์ ที่ประกาศให้กับคนที่คิดค้นวิธีติดต่อสื่อสารกับโลกอื่น ผมมั่นใจว่ารางวัลนี้จะตกเป็นของผม แน่นอน เงินไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ผมยินดีทุ่มเทให้เกือบทั้งชีวิต เพื่อเกียรติยศที่จะได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นคนแรกที่ทำให้ปาฏิหาริย์นี้เป็นจริง

เทสลาไม่ได้รับรางวัลนั้น และไม่เคยอธิบายงานชิ้นนี้ของเขา รัฐบาลฝรั่งเศสไม่เคยได้รับการติดต่อจากเทสลาอีกเลย หลังจากที่เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเกินการคาดเดาของทั้งสองฝ่าย ฮิตเลอร์เริ่มขยายอิทธิพลเข้ามาในยุโรป และยกทัพบุกฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2483

สิ่งประดิษฐ์ที่เทสลาพูดถึงข้างต้น น่าจะเป็นปืนพลาสมา หรือไม่ก็เครื่องยิงแสงเลเซอร์ เพื่อผลิตอนุภาคพลังงานสูงในบรรยากาศชั้นสูงของโลก บันทึกจากโคโลราโดของเขาแสดงให้เห็นว่า เทสลารู้ดีถึงความเป็นไปได้ทั้งสองอย่างนี้ และสิ่งประดิษฐ์ทั้งสองอย่างก็จะเป็นผลสืบเนื่องอันมีเหตุผลจากการทดลองเกี่ยวกับฟ้าแลบของเขา

ในปี 2483 หลังจากวันเกิดครบรอบ 84 ปีของเขาไม่กี่วัน เทสลาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ New York Times ซึ่งลงตีพิมพ์ในฉบับวันที่ 22 กันยายน ว่า:

นิโคลา เทสลา หนึ่งในนักประดิษฐ์ที่เก่งที่สุด ซึ่งเพิ่งฉลองวันเกิดอายุ 84 ปีของเขาไปเมื่อวันที่ 10 กรกฏาคมที่ผ่านมา บอกกับผู้เขียนว่า เขาพร้อมที่จะเปิดเผยความลับเกี่ยวกับพลัง ‘โทรกำลัง’ (teleforce) ต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกา พลังนี้มีอานุภาพหลอมละลายเครื่องยนต์ของเครื่องบินจากระยะไกลถึง 250 ไมล์ ทำให้สามารถสร้างแนวกำแพงป้องกันรอบประเทศแบบกำแพงเมืองจีน แต่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

ไม่มีนักวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยคนไหนวิจารณ์บทความชิ้นนี้ เมื่อมาถึงตอนนี้ ชื่อเสียงของเทสลาในฐานะคนอยากดัง พุ่งสูงกว่าความสามารถของเขาที่จะทำให้คนเชื่อในสิ่งที่พูด และในขณะที่ฮิตเลอร์กำลังกรีฑาทัพเข้าสู่ยุโรป ทุกคนมีเรื่องอื่นให้ปวดหัวมากกว่า

เมื่อถึงปีถัดมาคือ พ.ศ. 2484 สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง และเทสลาเองก็คงเป็นกังวลกับการที่ประเทศบ้านเกิดของเขาพ่ายแพ้ต่อกองทัพเยอรมันในเวลาเดียวกัน เขาจะทำอย่างไรกับ ‘รังสีหายนะ’ (Death Ray) ซึ่งเป็นชื่อที่หนังสือพิมพ์ขนานนามให้กับขีปนาวุธ ‘โทรกำลัง’ ของเขา? เทสลาต้องการยกมันให้กับรัฐบาลอเมริกัน เพื่อช่วยทั้งประเทศบุญธรรม และประเทศบ้านเกิดของเขา

ในวันที่ 5 มกราคม 2586 เทสลาโทรศัพท์ไปหาพันเอกเออร์สไกน์ (Erskine) รัฐมนตรีสงครามของอเมริกา เสนอยกความลับของขีปนาวุธ ‘โทรกำลัง’ ให้ทั้งหมด เออร์สไกน์ไม่รู้ว่าเทสลาคือใคร ก็เลยคิดว่าเขาเป็นแค่คนบ้าคนหนึ่ง ให้สัญญากับเทสลาว่าจะติดต่อกลับ แล้วหลังจากนั้นก็ลืมเขา นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เทสลาติดต่อกับโลกภายนอก ถึงตอนนี้เขาล้มป่วยอย่างรุนแรง หัวใจที่อ่อนแอของเขาก่อให้เกิดอาการเวียนหัวบ่อยครั้ง ตอนนั้นเทสลาพักอยู่ในโรงแรม New Yorker ในเย็นวันที่ 5 มกราคม วันเดียวกัน เทสลาแจ้งโรงแรมว่าไม่ต้องการให้ใครรบกวน แล้วหลังจากนั้นก็เข้านอน เขามักแจ้งโรงแรมว่าไม่ให้รบกวนช่วงละ 2-3 วัน แต่นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่มีคนเห็นเขาขณะมีชีวิต

เหตุการณ์ต่อจากจุดนั้นเกิดขึ้นเหมือนในหนังเร้าใจเรื่องแย่ๆ เรื่องหนึ่ง เทสลาตายด้วยอาการหัวใจล้มเหลวระหว่างเย็นวันอังคารที่ 5 มกราคม และเช้าวันศุกร์ที่ 8 มกราคม พนักงานทำความสะอาดเป็นคนพบศพเขาในเช้าวันศุกร์ ญาติคนเดียวของเทสลาที่คนรู้จัก คือหลานชายที่ชื่อ ซาวา โคซาโนวิช นั้น เป็นผู้อพยพจากยูโกสลาเวียที่หลบหนีกองทัพเยอรมันมายังอเมริกา เขาก็เหมือนผู้อพยพอื่นๆ อีกหลายคน คืออยู่ภายใต้การสอดแนมของตำรวจ FBI ในฐานะคนที่อาจเป็นสายลับของศัตรู

ในคืนวันที่ 8 มกราคม ซาวา โคซาโนวิช และชายอีกสองคนคือ จอร์จ คลาร์ก (George Clark) และเคนเน็ธ สวีซีส์ (Kenneth Sweezey) ซึ่งเป็นนักข่าวหนุ่มสายวิทยาศาสตร์ ไปที่ห้องของเทสลาในโรงแรม พร้อมกับช่างทำกุญแจเพื่อเปิดตู้เซฟข้างใน โคซาโนวิชบอกชายอีกสองคนว่าเขามาหาพินัยกรรมของลุง ผู้ช่วยผู้จัดการโรงแรมสามคน และตัวแทนจากกงสุลประเทศยูโกสลาเวีย อยู่ในห้องนั้นด้วยในฐานะพยาน สวีซีส์หยิบหนังสือเล่มหนึ่งออกมาจากเซฟ และหลังจากนั้นตู้เซฟก็ถูกล็อคด้วยรหัสใหม่ ที่มอบให้กับโคซาโนวิช ถ้าเขาพบพินัยกรรมของเทสลา เขาไม่เคยบอกให้ใครรู้ เพราะเทสลาถูกบันทึกว่าตายโดยที่ไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ (อย่างไรก็ตาม ในที่สุดโคซาโนวิชก็เก็บรวบรวมข้อเขียนและอุปกรณ์ต่างๆ ของเทสลาได้ครบ ของเหล่านี้ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เทสลา ในกรุงเบลเกรด)

เย็นวันเดียวกัน พันเอกเออร์สไกน์แจ้งกับตำรวจ FBI ว่า เทสลาตายแล้ว และบอกว่าหลานชายของเขาคือโคซาโนวิชได้ยึดเอกสารต่างๆ ที่อาจใช้ในการทำสงครามกับรัฐบาลอเมริกันได้ FBI ติดต่อกรุงนิวยอร์คทันที และได้รับคำยืนยันว่าโคซาโนวิชและคนอื่นๆ ได้เข้าไปในห้องของเทสลา พร้อมกับช่างกุญแจ FBI จึงไปขอให้หน่วยพิทักษ์ทรัพย์สินคนต่างด้าว (Alien Property Custodian) เป็นตัวแทนรัฐบาล ไปยึดของต่างๆ คืนมา

เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ทรัพย์สินคนต่างด้าวชื่อ ฟิตซ์เจอร์รัลด์ (Fitzgerald) ไปที่ห้องของเทสลาในโรงแรม ยกของที่เหลือออกไปทั้งหมด ได้ของประมาณเต็มสองคันรถบรรทุก เขาสั่งห่อของทั้งหมดให้แน่นหนา ส่งไปที่บริษัท Manhattan Storage and Warehouse ในนิวยอร์ค ซึ่งเป็นที่เก็บของอื่นๆ ของเทสลาอีก 30 กล่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 หลังจากนั้น หน่วยพิทักษ์ทรัพย์สินคนต่างด้าวเข้ายึดทรัพย์สินทั้งหมดของเทสลาในเช้าวันเสาร์ และแจ้งกองทัพเรือให้ช่วยถ่ายสำเนาเอกสารทั้งหมดของเขาลงบนไมโครฟิล์ม

ตำรวจ FBI ค้นพบด้วยว่า เทสลาเคยเก็บสิ่งประดิษฐ์ชิ้นหนึ่งในตู้เซฟของโรงแรม Grosvoner Clinton เมื่อปี พ.ศ. 2475 แต่เมื่อ FBI ไปยึด โรงแรมไม่ยอมเปิดตู้เซฟให้ จนกว่า FBI จะยอมจ่ายบิลค่าห้องและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เทสลาค้างชำระ อย่างไรก็ตาม โรงแรมตกลงว่าจะแจ้ง FBI ทันทีที่มีคนมาขอเปิดเซฟนี้

ข้อมูลของ FBI ระบุว่า ซาวา โคซาโนวิช พยายามครอบครองข้าวของต่างๆ ของเทสลา และกลัวว่าโคซาโนวิชจะนำความลับไปบอกศัตรู FBI ปรึกษากับที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรองประธานาธิบดีวอลเลซ (Wallace) และได้รับคำตอบว่า ให้ทำทุกวิถีทางที่จะยึดสมบัติของเทสลามาให้ได้ ที่ปรึกษาผู้นี้ยังบอก FBI ด้วยว่า เทสลาทดลองการส่งพลังงานไร้สายได้สำเร็จแล้ว และได้คิดค้นตอร์ปิโดแบบใหม่ ทั้งแบบแปลนและโมเดลใช้งานได้ ที่ใช้เงินกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐในการสร้าง ถูกเก็บไว้ที่เซฟในโรงแรม Grosvoner Clinton โมเดลนี้เกี่ยวโยงกับรังสีหายนะและการจ่ายกระแสไฟฟ้าแบบไร้สาย

FBI ตัดสินใจปรึกษาอัยการของรัฐ เกี่ยวกับแผนที่จะจับกุมโคซาโนวิช ในข้อหาลักทรัพย์ เพื่อยึดเอกสารที่เขาได้ไปจากตู้เซฟในห้องเทสลา เมื่อถึงตอนนี้ หน่วยพิทักษ์ทรัพย์สินคนต่างด้าวก็รับมอบอำนาจหน้าที่ไปจาก FBI ในการติดตามข้าวของของเทสลา ถึงตรงนี้บันทึกเหตุการณ์ของ FBI ก็สิ้นสุดลง

เจ. เอดการ์ ฮูเวอร์ (J Edgar Hoover – อดีตประธานาธิบดีอเมริกา) ลงนามในบันทึกฉบับหนึ่งที่ส่งไปยังเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องว่า ‘เรื่องราวทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับนิโคลา เทสลา ผู้ล่วงลับไปแล้ว ต้องถูกจัดการอย่างลับที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งประดิษฐ์ของเขาตกเป็นข่าว และทุกฝ่ายต้องระวังรักษาความลับของสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้น ให้เป็นความลับตลอดไป’

ด้วยเหตุนั้น งานทั้งชีวิตของเทสลา ก็ถูกตีตรา ‘ลับที่สุด’ และห้ามไม่ให้ใครอภิปรายเรื่องนี้อีกเลย

คงเป็นตลกร้าย ที่รังสีหายนะของเทสลาเป็นเรื่องจริง ซึ่งเพียงเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองที่วงการวิทยาศาสตร์ตามทันเขา ในวันที่ 18 ตุลาคม 2538 กระทรวงกลาโหมสหรัฐประกาศว่า กระทรวงฯ กำลังจะเริ่มสร้างศูนย์วิจัยไอโอโนสเฟียร์ (ionosphere คือชั้นบรรยากาศช่วงที่อยู่ห่างระหว่าง 80-1000 กิโลเมตรจากพื้นผิวโลก) ในเมืองกาโคนา มลรัฐอลาสกา ศูนย์นี้มีชื่อว่า HAARP (High Frequency Active Auroral Research Program) ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย Alaska, Massachusetts, Stanford, Penn State, Tulsa, Clemson, Maryland, Cornell, UCLA และ MIT ในการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อศึกษาคุณสมบัติการสะท้อน (resonant properties) ของโลกและชั้นบรรยากาศของโลก โครงการนี้มีความเกี่ยวโยงกับงานของเทสลาอย่างชัดเจน HAARP กำลังศึกษาปรากฏการณ์เดียวกันกับที่เทสลาค้นคว้าที่โคโลราโดกว่า 100 ปีที่แล้ว

HAARP ตั้งอยู่บนแนวคิดของเบอร์นาร์ด อีสต์ลันด์ (Bernard Eastlund) เจ้าของสิทธิบัตรสามใบที่จดในอเมริกา (หมายเลข 4,686,605 – 4,712,158 – 5,038,664) ซึ่งล้วนเป็นการปรับปรุงเทคโนโลยีในสิทธิบัตรที่เทสลาจดไว้ หลังจากทำการทดลองที่โคโลราโด ชื่อของสิทธิบัตรของเขาได้แก่: วิธีการและเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงบริเวณในชั้นบรรยากาศของโลก, วิธีการและเครื่องมือในการสร้างเครื่องเครื่องเร่งอิเล็คตรอนไซโคลตรอน (electron cyclotron) ด้วยความร้อนพลาสมา, วิธีการผลิตอนุภาคสัมพัทธภาพ (relativistic particles) เหนือพื้นผิวโลก

สิทธิบัตรใบสุดท้าย ซึ่งอธิบายโลห์ป้องกันจรวดขีปนาวุธที่สามารถทำลายวงจรอิเล็คทรอนิคส์ของจรวดหรือดาวเทียมศัตรูได้ คือรังสีหายนะของเทสลา มันทำงานด้วยการสร้างหลุมพลาสมาที่ประกอบด้วยอนุภาคพลังงานสูง นั่นคือเวอร์ชั่นยักษ์ของลูกบอลสายฟ้าของเทสลาที่โคโลราโดนั่นเอง

ฉะนั้น เทสลาจึงมีเรื่องให้ ‘หัวเราะทีหลังดังกว่า’ ถึงสองข้อด้วยกัน ข้อแรกคือ มีคนสร้าง ‘โทรกำลัง’ ของเขาขึ้นมาจริงๆ และข้อสอง เขาเป็นผู้ชนะในสงครามสิทธิบัตรกับมาร์โคนี หลังจากเทสลาตายไปแล้วหกเดือน เมื่อศาลสูงของอเมริกาออกคำตัดสินยืนยันว่า นิโคลา เทสลา เป็นผู้ประดิษฐ์วิทยุเป็นคนแรกของโลก! อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นชัยชนะที่ว่างเปล่า เพราะสิทธิบัตรทั้งสองใบได้หมดอายุไปแล้ว นักประดิษฐ์ทั้งสองคนก็ตายไปแล้ว และก็ไม่มีใครคุยกันเรื่องนี้ได้เพราะรัฐบาลมีคำสั่ง ‘ลับที่สุด’ ห้ามทุกคนพูดถึงงานของเทสลา

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากห่วงโซ่เหตุการณ์ที่น่าเศร้าดังกล่าวคือ ผู้ทำประโยชน์มหาศาลให้กับมนุษยชาติคนหนึ่งต้องกลายเป็นบุคคลที่โลกลืม เทสลาตายแบบเดียวกับที่เขาใช้ชีวิตในบั้นปลายสุดท้าย อย่างเดียวดาย ว้าเหว่ และลับที่สุด กลายเป็นคนลึกลับนานหลายปีเพราะให้ข้อเสนอสุดท้ายที่น่าตกใจต่อรัฐบาลอเมริกัน

เทสลาเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ชาญฉลาดอย่างน่าอัศจรรย์ใจ เป็นผู้ทำนายที่มองเห็นอนาคตได้จริง แต่ไม่ได้รับการเหลียวแลตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เขาเป็นปัจเจกชนที่เอาแต่ใจตัวเองเสียจนไม่เคยมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับใคร ไม่ว่าหญิงหรือชาย แต่เขาก็เป็นคนที่มีวัฒนธรรมสูงส่ง – เทสลาพูดได้หลายภาษา และอ่านหนังสืออย่างกว้างขวาง ในช่วงบั้นปลายชีวิต เทสลาหาเงินเลี้ยงชีพส่วนหนึ่งจากการรับแปลวรรณกรรมเป็นภาษายุโรปตะวันออก แต่เขาไม่เคยก่อตั้งบริษัท หรือสายสัมพันธ์ใดๆ กับสถาบันซึ่งจะช่วยอนุรักษ์ผลงานของเขาได้ พิพิธภัณฑ์เทสลาในกรุงเบลเกรดถูกก่อตั้งขึ้นนานหลังจากวันตายของเขา

โอกาสใดๆ ก็ตามที่โลกอาจมี ในการเฉลิมฉลองผลงานของเทสลา ต้องสลายไปหมดสิ้นกับความกลัวในอเมริกายุคสงคราม ที่ก่อตัวขึ้นเมื่อเขาตาย งานทั้งหมดของเขาถูกตีตรา ‘ลับที่สุด’ โดย FBI กองทัพเรือ และรองประธานาธิบดีวอลเลซ เราสามารถพูดถึงเขาได้เมื่อปัจจุบันนี้เอง หลังจากเวลาผ่านไปแล้วเกือบ 100 ปี เทสลาคงเป็นคนที่ใครๆ ทำงานด้วยยาก ความที่เขาเป็นคนบ้างานและไม่มีความอดทนที่จะคุยกับคนที่มีสติปัญญาด้อยกว่า แปลว่าคงมีวิศวกรหลายคนที่โดนเทสลาดุด่า แต่เขาคงเป็นคู่สนทนาที่ยอดเยี่ยมในงานเลี้ยงมื้อเย็นที่เขาเป็นเจ้าภาพสมัยยังหนุ่มๆ

ผมนั่งอยู่ที่นี่ รอบตัวแวดล้อมด้วยมรดกของเทสลา เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำงานด้วยไฟฟ้าของผมอยู่ข้างกายในห้องทำงาน สว่างไสวด้วยหลอดไฟนีออน ห้องอุ่นด้วยน้ำร้อนที่ปั๊มจากมอเตอร์ที่ใช้กระแสไฟฟ้าสลับ ฟังเสียงดนตรีจากวิทยุพลังแบตเตอรี่ เครื่องสแกนเนอร์และโมเด็มตั้งอยู่บนโต๊ะ เตรียมพร้อมที่จะส่งและรับสัญญาณภาพและข้อความจากทั่วโลก ผมกำลังใช้มรดกที่เทสลาเป็นผู้ให้

ขณะที่ดวงอาทิตย์กำลังตกหลังเนินเขาเพ็นไนน์ ผมมองเห็นอนุสรณ์ของเทสลามากมาย ที่กำลังส่งกระแสไฟฟ้าไปทั่วประเทศ เลยไปอีกไกลโพ้น ผมเห็นสายเคเบิลแรงสูงของกริดไฟฟ้าระโยงระยางระหว่างเสา ส่งเสียงแปลบปลาบในอากาศชื้นเย็นยามสนธยา อีกด้านหนึ่งของหุบเขา สายไฟฟ้าระดับ 11,000 โวลต์ขึงระหว่างเสาไม้รูปตัวที หม้อแปลงไฟฟ้าปรับแรงดันไฟฟ้าให้เหลือ 240 โวลต์ ส่งผ่านสายเคเบิลสั้นๆ เข้ามาในบ้านผม

เมื่อไหร่ที่คุณเห็นเสาไฟฟ้าแรงสูงที่ส่งพลังงานมาบันดาลให้ชีวิตสมัยใหม่ของคุณเป็นจริง ลองซุกมือข้างหนึ่งไว้ในกระเป๋า และใช้เวลาอึดใจหนึ่งขอบคุณนิโคลา เทสลา ชายผู้ว้าเหว่ ถูกลืม พูดมาก หมกมุ่น และปราดเปรื่องผู้มอบสิ่งนั้นให้กับคุณ

เทสลาสรุปชีวิตของเขาเองด้วยถ้อยคำสั้นๆ ดังต่อไปนี้:

ผมรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจอย่างบอกไม่ถูก ที่รู้ว่าระบบการจ่ายพลังงานของผม เป็นที่ใช้กันทั่วโลกเพื่อลดภาระของมนุษยชาติ และเพิ่มพูนความสะดวกสบายและความสุข และผมก็พอใจที่รู้ว่า ระบบ(การจ่ายไฟฟ้าแบบ)ไร้สายของผมถูกใช้ในการให้บริการและให้ความเพลิดเพลินกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วโลก.