The Skeptical Environmentalist โดย Bjørn Lomborg

[My fourth vote for the top 5 public intellectuals in the The Prospect/FP Top 100 Public Intellectuals list goes to Bjørn Lomborg, a Danish statistician who dares to go against the environmentalist establishment by claiming that the state of the world is much better than most environmentalists claim. This is the kind of argument that developing countries such as Thailand would do well to follow, disadvantaged as we are on the bargaining table on global trade where environmental issues are increasingly becoming powerful ‘bargaining chips’ of developed nations. The Skeptical Environmentalist summarizes Lomborg’s arguments with plenty of data and statistical evidence, which stand up to scrutiny four years later. You can download two of his articles, parts of which I translated here, from the downloads section of this site.]

เชื่อไหมว่า… สภาพสิ่งแวดล้อมของโลก อาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่นักสิ่งแวดล้อม “กระแสหลัก” ในโลกตะวันตก พยายามตอกย้ำให้เราเชื่อ?

ก่อนอื่นขอลำดับเหตุการณ์เล็กน้อย ว่าขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกันยังไงกับประเด็นเรื่องการพัฒนามนุษย์ เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับแนวคิดของนักวิ่งผลัดที่สามของเรา คือ Amartya Sen ที่คุยให้ฟังตอนที่แล้ว

ปัญหาหลักของโลกาภิวัตน์ และระบบทุนนิยมเสรี ไม่ใช่ปัญหาว่ามันเป็นระบบที่ควรถูกล้มล้าง (เพราะมีข้อดีมากกว่าข้อเสียมากมาย) หากเป็นปัญหาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำของอำนาจทางการเมือง ความไม่เสมอภาค และการไม่มีมนุษยธรรมเพียงพอในการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ด้อยโอกาสมักไม่ค่อยได้รับการันตีเรื่อง “ตาข่ายสังคม” (social safety net) ที่ดีกว่าในปัจจุบัน (ดังที่ได้แปลคำบ่น Amartya Sen ไว้ก่อนหน้านี้ว่า: “…สภาวะที่จะทำให้โลกาภิวัตน์เอื้อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ยากไร้นั้น ยังไม่มีในโลกนี้ …เรา[ต้อง]ช่วยกันพยายามแบ่งผลประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ กันให้ดีกว่าที่เป็นอยู่”)

โลกาภิวัตน์ กับทุนนิยมเสรีก็คล้ายกันกับรถ: มันจะไปได้ไกลแค่ไหน เสื่อมเร็วแค่ไหนก็อยู่ที่คนขับ ว่ารักษารถดีแค่ไหน มีวินัยขนาดไหน ถ้าคนขับ (รัฐ) ไม่ฟังเสียงคนโดยสาร (ประชาชน) ก็อาจขับพาเข้ารกเข้าพง จนรถวิ่งลงเหวไปได้

แต่รถที่มีปัญหา ก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนควรเอารถไปขายทิ้ง หันมาเดินเท้าแทน เพราะยังไงๆ นั่งรถก็เร็วกว่าเดินแน่ๆ เพียงแต่เราต้องวิเคราะห์ดูว่า ส่วนไหนของรถที่เสีย จะได้แก้ไข เอาอะไหล่มาเปลี่ยนให้มันวิ่งดีกว่าเดิม

สองปัญหาใหญ่ของรถโลกาภิวัตน์ ในบรรดาปัญหาร้อยแปด ที่ฉุดให้รถเรารวนอยู่เรื่อยๆ ไปไหนไม่ได้ไกล คือ ปัญหาคอร์รัปชั่นของคนขับ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

ปัญหาแรกเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพของระบอบการเมือง และความไร้คุณธรรมของผู้นำ ที่มักเกิดใน “ประเทศประชาธิปไตยไร้เสรี” (ตามนิยามของ Fareed Zakaria) คอร์รัปชั่นเป็นปัญหาหลักของการพัฒนา เป็นสาเหตุหลักที่อธิบายว่า ทำไมการ “โยนเงิน” ไปให้ประเทศที่กำลังพัฒนาเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่ช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้น (ข้าพเจ้าคิดว่าแนวคิดของ Jeffrey Sachs ที่เรียกร้องให้โลกพัฒนาเพิ่มเงินบริจาคนั้น “ไร้เดียงสา” เกินไปก็เพราะเหตุนี้แหละ นักพัฒนาอาชีพอย่าง William Easterly เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริงกว่าเยอะ)


[My fourth vote for the top 5 public intellectuals in the The Prospect/FP Top 100 Public Intellectuals list goes to Bjørn Lomborg, a Danish statistician who dares to go against the environmentalist establishment by claiming that the state of the world is much better than most environmentalists claim. This is the kind of argument that developing countries such as Thailand would do well to follow, disadvantaged as we are on the bargaining table on global trade where environmental issues are increasingly becoming powerful ‘bargaining chips’ of developed nations. The Skeptical Environmentalist summarizes Lomborg’s arguments with plenty of data and statistical evidence, which stand up to scrutiny four years later. You can download two of his articles, parts of which I translated here, from the downloads section of this site.]

เชื่อไหมว่า… สภาพสิ่งแวดล้อมของโลก อาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่นักสิ่งแวดล้อม “กระแสหลัก” ในโลกตะวันตก พยายามตอกย้ำให้เราเชื่อ?

ก่อนอื่นขอลำดับเหตุการณ์เล็กน้อย ว่าขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกันยังไงกับประเด็นเรื่องการพัฒนามนุษย์ เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับแนวคิดของนักวิ่งผลัดที่สามของเรา คือ Amartya Sen ที่คุยให้ฟังตอนที่แล้ว

ปัญหาหลักของโลกาภิวัตน์ และระบบทุนนิยมเสรี ไม่ใช่ปัญหาว่ามันเป็นระบบที่ควรถูกล้มล้าง (เพราะมีข้อดีมากกว่าข้อเสียมากมาย) หากเป็นปัญหาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำของอำนาจทางการเมือง ความไม่เสมอภาค และการไม่มีมนุษยธรรมเพียงพอในการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ด้อยโอกาสมักไม่ค่อยได้รับการันตีเรื่อง “ตาข่ายสังคม” (social safety net) ที่ดีกว่าในปัจจุบัน (ดังที่ได้แปลคำบ่น Amartya Sen ไว้ก่อนหน้านี้ว่า: “…สภาวะที่จะทำให้โลกาภิวัตน์เอื้อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ยากไร้นั้น ยังไม่มีในโลกนี้ …เรา[ต้อง]ช่วยกันพยายามแบ่งผลประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ กันให้ดีกว่าที่เป็นอยู่”)

โลกาภิวัตน์ กับทุนนิยมเสรีก็คล้ายกันกับรถ: มันจะไปได้ไกลแค่ไหน เสื่อมเร็วแค่ไหนก็อยู่ที่คนขับ ว่ารักษารถดีแค่ไหน มีวินัยขนาดไหน ถ้าคนขับ (รัฐ) ไม่ฟังเสียงคนโดยสาร (ประชาชน) ก็อาจขับพาเข้ารกเข้าพง จนรถวิ่งลงเหวไปได้

แต่รถที่มีปัญหา ก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนควรเอารถไปขายทิ้ง หันมาเดินเท้าแทน เพราะยังไงๆ นั่งรถก็เร็วกว่าเดินแน่ๆ เพียงแต่เราต้องวิเคราะห์ดูว่า ส่วนไหนของรถที่เสีย จะได้แก้ไข เอาอะไหล่มาเปลี่ยนให้มันวิ่งดีกว่าเดิม

สองปัญหาใหญ่ของรถโลกาภิวัตน์ ในบรรดาปัญหาร้อยแปด ที่ฉุดให้รถเรารวนอยู่เรื่อยๆ ไปไหนไม่ได้ไกล คือ ปัญหาคอร์รัปชั่นของคนขับ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

ปัญหาแรกเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพของระบอบการเมือง และความไร้คุณธรรมของผู้นำ ที่มักเกิดใน “ประเทศประชาธิปไตยไร้เสรี” (ตามนิยามของ Fareed Zakaria) คอร์รัปชั่นเป็นปัญหาหลักของการพัฒนา เป็นสาเหตุหลักที่อธิบายว่า ทำไมการ “โยนเงิน” ไปให้ประเทศที่กำลังพัฒนาเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่ช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้น (ข้าพเจ้าคิดว่าแนวคิดของ Jeffrey Sachs ที่เรียกร้องให้โลกพัฒนาเพิ่มเงินบริจาคนั้น “ไร้เดียงสา” เกินไปก็เพราะเหตุนี้แหละ นักพัฒนาอาชีพอย่าง William Easterly เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริงกว่าเยอะ)

ปัญหาที่สองของโลกาภิวัตน์ คือประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม กำลังกลายเป็นปัญหาโลกแตก เพราะถูก “กระพือ” โดยนักอนุรักษ์ทั้งหลาย ให้กลายเป็น “ศาสนา” ที่คนแตะต้องไม่ได้ และเป็น “ไพ่ทางการเมืองใบสำคัญ” ที่ประเทศพัฒนาแล้วงัดขึ้นมาใช้ในการต่อรองกับประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะในการเจรจาเปิดเสรีทางการค้า (เช่น ตอนนี้เมืองจีน ที่กำลังเติบโตอย่างฉุดไม่อยู่ กำลังตกเป็นเป้าโจมตีของนักสิ่งแวดล้อมหลายฝ่าย แม้ว่ามลพิษต่อหัวของประชากรจีน จะต่ำกว่าระดับของอเมริกาหลายเท่า)

ในสถานการณ์แบบนี้ สมควรที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา จะติดตามข้ออ้างต่างๆ ของขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ว่ามีเหตุผลมากน้อยแค่ไหน วันนี้ขอแนะนำให้รู้จักกับนักวิ่งผลัดที่สี่ Bjørn Lomborg ผู้หาญกล้าทวนแนวคิดสิ่งแวดล้อมกระแสหลัก ที่ชอบย้ำนักย้ำหนาว่า โลกเราใกล้ถึงกาลอวสานด้วยน้ำมือมนุษย์แล้ว

แนวคิดที่มองสภาพแวดล้อมโลกในแง่ดีของ Julian Simon นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เป็นแรงผลักดันให้ Bjørn Lomborg นักสถิติชาวเดนมาร์ก เริ่มศึกษาค้นคว้าในปี 2540 เพื่อหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงว่าแนวคิดของ Simon นั้นผิด และสนับสนุน scenario อันน่าหดหู่ที่เราคุ้นหูกันดี เขาหวังจะพิสูจน์ว่า “บทสวดรอวันโลกาวินาศ” (litany) ที่นักสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่มองว่าต้องมาถึงแน่ๆ ในอนาคต เมื่อปัญหาประชากรล้นโลก ทรัพยากรธรรมชาติสูญสิ้น อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น การตัดไม้ทำลายป่า มลภาวะ และภาวะความอดอยากอย่างรุนแรง – ภัยพิบัติที่ประกอบกันเป็นแรงบันดาลใจให้เรารู้สึกว่า วันโลกาวินาศกำลังใกล้เข้ามานั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่น่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์

The Skeptical Environmentalist

แต่ความจริงที่ Lomborg ค้นพบ ที่เขารายงานอย่างละเอียดในหนังสือเรื่อง The Skeptical Environmentalist (นักสิ่งแวดล้อมขี้สงสัย) กลับกลายเป็นโลกที่สามารถรองรับประชากรได้มากขึ้น มีอายุยืนขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น และอยู่ดีกินดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ในมุมมองของ Lomborg เราไม่ได้กำลังหลับหูหลับตาวิ่งไปหาวันโลกาวินาศ แต่กำลังเรียนรู้วิธีที่จะจัดการกับแรงกดดันต่างๆ ที่เราทับถมลงบนสภาพแวดล้อม ส่วนหนึ่งโดยนโยบายรัฐ อีกส่วนโดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ การปฏิวัติสีเขียว (green revolution) ในเกษตรกรรม ช่วยเพิ่มผลผลิตพืชเกษตรอย่างก้าวกระโดด ตัวอย่างเช่น แม้จะมีประชากรเพิ่มขึ้นมากในหลายปีที่ผ่านมา อินเดียตอนนี้กลายเป็นผู้ส่งออกธัญพืชไปแล้ว เทคนิคการเพาะพันธุ์พืชที่ดีขึ้น ประกอบกับปุ๋ยที่มีราคาถูก ทำให้ชาวนาสามารถเพิ่มผลผลิต และที่นาใช้งานได้นานขึ้น

ข้อมูลที่ Lomborg ค้นพบ ตอกย้ำผลวิจัยของ Amartya Sen ว่า ภาวะอดอยากอาหารส่วนใหญ่ในโลก เป็นผลมาจากวิกฤติทางการเมือง ไม่ใช่ว่าประเทศนั้นผลิตอาหารไม่เพียงพอ Lomborg โชว์ตัวเลขจากรัฐบาลต่างๆ และองค์กรในเครือสหประชาชาติ ที่แสดงให้เห็นว่า ขณะที่ประชากรโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น จำนวนแคลอรี่ต่อหัวของประชากรโลก ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเวลาเดียวกันด้วย ไม่ใช่ลดลงอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ

Lomborg สรุปว่า “บทสวดรอวันโลกาวินาศ” ของนักสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่นั้น แม้จะชี้ให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่ก็ไม่ได้สรุปสถานการณ์ที่แท้จริงของสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน อย่างเที่ยงตรงและไร้อคติ Lomborg ใช้เนื้อที่กว่า 500 หน้าใน The Skeptical Environmentalist อธิบายและแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ที่สำคัญต่างๆ ตั้งแต่การเผาผลาญพลังงาน การผลิตอาหาร ปัญหาโลกร้อน (global warming) มลภาวะ ทรัพยากรน้ำ ฯลฯ ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่นักสิ่งแวดล้อมกระแสหลักโพนทะนา ความน่าเชื่อถือของ Lomborg ส่วนหนึ่งมาจากข้อมูล อีกส่วนมาจากภูมิหลังของเขา ในฐานะ “อดีตสมาชิก Greenpeace ฝั่งซ้าย” ซึ่งหมายความว่าไม่น่าจะมีผลประโยชน์อะไรเคลือบแฝง (เพราะคนที่น่าจะอยากใช้ข้อมูลที่ “ต่อต้าน” ขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกระแสหลักแบบนี้ ควรเป็นนักโฆษณาชวนเชื่อฝั่งขวา ที่หวังผลทางการเมืองมากกว่า)

เนื่องจากบทสรุปของ Lomborg ขัดแย้งกับแนวคิดของขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกระแสหลักอย่างเห็นได้ชัด จึงไม่น่าแปลกใจที่ The Skeptical Environmentalist จะได้รับการโจมตีอย่างดุเดือด จากนักสิ่งแวดล้อม และวารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำหลายฉบับ ต่อเนื่องยาวนานเป็นปีๆ หลังจากหนังสือออก แต่ปัจจุบัน หลังจากผ่านไป 4 ปี เราเห็นได้ชัดว่าข้อโต้แย้งเหล่านั้นโดยรวมแล้วไม่มีมูล ยิ่งไปกว่านั้น ข้อโต้แย้งที่เข้าขั้น “หมิ่นประมาท” ของนักสิ่งแวดล้อมบางคน แทนที่จะแสดงให้เห็นว่า Lomborg ผิดพลาด กลับสะท้อนให้เห็นว่านักสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น ไร้ซึ่งความเป็นมืออาชีพ และไร้ซึ่งจรรยาบรรณขนาดไหน (ท่านใดที่สนใจ สามารถอ่านบทความที่ Lomborg ตอบโต้บทวิพากษ์ของ The Scientific American ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งที่มีเหตุผลที่สุด ในบรรดาผู้ไม่เห็นด้วยทั้งหลาย ได้โดยคลิ้กที่นี่)

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสรุปหนังสือ The Skeptical Environmentalist ให้ท่านผู้อ่านเข้าใจได้ในเนื้อที่ไม่กี่หน้า (ใช่ว่าข้าพเจ้าเองก็จะเข้าใจหนังสือเล่มนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาแรมเดือนกว่าจะอ่านจบ หมดกาแฟไปหลายขีดกว่าจะเข้าใจได้ประมาณครึ่งหนึ่ง 😛 ) แต่จะพยายามสรุปประเด็นสำคัญไว้ในที่นี้ ก่อนจะแปลบทความของ Lomborg สองสามเรื่อง ที่น่าจะช่วยแสดงจุดยืน และหลักฐานหลักๆ ที่เขาใช้ ให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพชัดขึ้น (น่าจะมีคนไทย แปลหนังสือ “pop science” ดีๆ แบบนี้ออกมานะ เห็นแปลอยู่แต่พวกนวนิยาย ไม่ก็หนังสือธุรกิจหรือเล่นหุ้นไม่กี่เล่ม)


ข้อคิดสำคัญที่ข้าพเจ้าได้จาก The Skeptical Environmentalist คือ Lomborg ไม่ได้บอกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นไม่มีจริง เขาเพียงแต่เน้นว่าวิธีมองแนวโน้มของปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะสั้น มีผลต่อการกำหนดนโยบายทางการเมือง และวิธีการแก้ปัญหาที่เราจะหา นโยบายของรัฐบาลที่ตั้งอยู่บน “บทสวดรอวันโลกาวินาศ” ของขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกระแสหลัก สามารถทำให้แม้แต่โครงการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด ต้องหยุดชะงักลงหรือถูกระงับโดยไม่มีกำหนด ราวกับว่าวิธีเดียวที่เราจะแก้ปัญหาการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมคือ การหยุดเวลาไม่ให้โลกหมุน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะทุกสิ่งในโลกเราล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

Lomborg ชี้ให้เห็นว่า จริงๆ แล้วโลกเรามีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2493 อากาศในโลกสะอาดขึ้นกว่าเดิม (มลพิษในเมืองไทยเราดูเหมือนจะ “สวนกระแส” เรื่องนี้พอสมควร) อัตราการเติบโตของประชากรโลกกำลังชะลอตัวลง ฝนกรดไม่ทำลายป่า จำนวนประชากรโลกที่อดอยากมีน้อยลงเรื่อยๆ และปัญหาโลกร้อนไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่หลายๆ คนอ้าง โดยสรุปก็คือ มนุษย์เราโดยเฉลี่ยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าสมัยรุ่นคุณตาคุณยายมาก

ปัญหาหลัก (หรืออาจเรียกว่า “เทคนิคในการเรียกร้องความสนใจ”) ประการหนึ่งของขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกระแสหลักคือ การใช้สถิติแบบไม่ครบถ้วน หรือแบบ “บิดเบือน” หรือโดยหยิบมาใช้นอกบริบท (out of context) เพื่อชี้ให้เห็นโทษเพียงด้านเดียว (ปัญหานี้ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ในวงการเศรษฐศาสตร์เหมือนกัน) ตัวอย่างที่ Lomborg ใช้ให้เห็นถึงปัญหานี้ เช่น สถิติที่ใช้กันแพร่หลาย ที่แสดงปัญหาการกัดกร่อนอย่างรุนแรงของผิวดิน (massive soil erosion) นั้น มาจากงานวิจัยโครงการเดียวที่ศึกษาพื้นที่ทำนาแปลงเล็กๆ ในเบลเยียม ที่ตั้งอยู่บนเขาชัน (ทำเลที่ตั้งอย่างเดียวก็อธิบายปัญหาการกัดกร่อนไปแล้วหนึ่งเปลาะ ว่าเป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่เท่านั้น) อีกตัวอย่างคือ รายงานที่ใช้กันแพร่หลายอีกฉบับ ที่อ้างว่าผลผลิตธัญพืชของโลกกำลังลดลงนั้น เลือกใช้สถิติการผลิตของ 3 ปีที่ผลผลิตต่ำ โดยละเลยอีก 50 ปีที่ผลผลิตดี (แบบนี้น่าจะเข้าข่ายปัญหา “อคติเลือกตัวเอง” (self-selection bias) ที่มีให้เห็นมากมายในโพลล์ต่างๆ)

ตัวอย่างหนึ่งของการใช้ข้อมูลครึ่งเดียวที่น่าสนใจคือ ตอนที่อากาศทั่วโลกร้อนผิดปกติที่เกิดจากความปรวนแปรฉับพลันของอุณหภูมิพื้นผิวน้ำ (ที่เรียกว่าปรากฏการณ์ El Niño) ในปี 2540-2541 นั้น ตัวเลขที่รับรู้กันทั่วไปคือ ปรากฏการณ์นี้ก่อให้เกิดความเสียหายถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากพายุทอร์นาโดและดินถล่ม แต่สิ่งที่ไม่ค่อยมีใคร (โดยเฉพาะสื่อต่างๆ) สนใจคือ งานวิจัยที่คำนวณว่าประโยชน์ที่โลกได้รับจากอากาศที่อุ่นขึ้น (คือหนาวน้อยลง) อาจมีมูลค่าสูงถึง 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่าของการประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำความร้อนอย่างเดียวก็ปาเข้าไป 6-7,000 ล้านเหรียญแล้ว)

นักสิ่งแวดล้อมบางคนอาจเถียงว่า ข้อเท็จจริงนั้นไม่สำคัญเท่ากับการส่งเสริมให้ทุกคนรับรู้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยวิธีการอะไรก็ได้ ในประเด็นนี้ Lomborg แย้งกลับว่า เราจะผลาญเงินในการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วนต่อไปอยู่เรื่อยๆ จนกว่าเราจะยอมรับปัญหาของโลกที่แท้จริง อย่างเปิดเผยและไร้อคติ ป่วยการที่เราจะเถียงกันด้วยการแลกเปลี่ยนสถิติเฉพาะพื้นที่ และเฉพาะช่วงเวลาสั้นๆ ไปมา Lomborg เรียกร้องว่าโลกเราต้องการสถิติระดับโลกที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และสะท้อนแนวโน้มในระยะยาวต่างหาก

นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสุดขั้วพยายามทำให้เราเชื่อว่า วิธีเดียวที่จะกอบกู้โลกให้พ้นจากหายนะได้ คือการกลับไปใช้ชีวิตแบบยุคหิน แต่ Lomborg ชี้ให้เห็นว่า จริงๆ แล้วระบบทุนนิยมที่หลายๆ ฝ่ายด่าว่าเป็นอาชญากรที่ทำให้โลกเลวลงนั้น เป็นระบบเดียวกับที่ให้เงินเราใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ และผลักดันศักยภาพของเรา ในการทำให้โลกนี้น่าอยู่ สะอาด และแข็งแรงขึ้น เขามองว่า “เราลืมความกลัววันโลกาวินาศไปได้เลย โลกเรากำลังเดินมาถูกทางแล้ว เราสามารถช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนา ด้วยการเน้นการจัดลำดับความสำคัญ (prioritization) ของเป้าหมายการพัฒนาต่างๆ ให้ถูกต้อง”

เมื่อพูดถึงการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายพัฒนา ก็ต้องบอกว่าเมื่อเร็วๆ นี้ Lomborg ตกเป็นเป้าการโจมตีของนักสิ่งแวดล้อมกระแสหลักอีกครั้ง เมื่อเขาแสดงความคิดเห็นต่อต้านสนธิสัญญาเกียวโต (Kyoto Protocol) ว่าเป็นการสิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุ เช่นในบทความนี้ใน The Guardian เขาบอกว่า “ถ้าเรายังเดินตามสนธิสัญญาเกียวโตต่อไป เราต้องใช้เงินกว่า 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในขณะที่เราจะไม่เห็นผลดีจนกระทั่งปี 2643 และมันก็เป็นผลเพียงน้อยนิดเท่านั้น เราควรจะเอาเงินจำนวนนี้ไปช่วยชีวิตผู้ยากไร้ในประเทศกำลังพัฒนาดีกว่า สหประชาชาติประเมินออกมาแล้วว่า เงินเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้สามารถให้ปัจจัยพื้นฐานเช่น สุขภาพ การศึกษา และสาธารณสุข กับประชากรในโลกที่สามทุกคน” (รายละเอียดอ่านได้ในบทความเรื่องปัญหาโลกร้อนของ Lomborg ที่ข้าพเจ้าแปลไว้ด้านล่างนี้)

ทุกคนที่สนใจอนาคตของโลกควรอ่านหนังสือเล่มนี้ แม้จะหนากว่า 500 หน้า อ่านไม่กี่บทแรกก็น่าจะพอให้เข้าใจแนวคิดของนักสิ่งแวดล้อมนอกกระแสผู้นี้

ท้ายนี้เป็นคำแปลบางส่วนจากบทความของ Lomborg ในหัวข้อนี้สองสามเรื่อง ท่านใดที่สนใจอ่านฉบับต้นตอแบบเต็มๆ (ที่ลานตาด้วย footnote ที่ข้าพเจ้าจนใจจะแปล) คลิ้กได้ที่ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษเพื่อดาวน์โหลดไปอ่านนะคะ

อีกอย่าง ถ้าใครสนใจมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ว่าหนังสือของ Lomborg เล่มนี้จะช่วยให้นักเศรษฐศาสตร์ กับนักสิ่งแวดล้อม “ปรับความเข้าใจ” กันได้ยังไง (แปล: นักสิ่งแวดล้อมควรใช้หลักเศรษฐศาสตร์ที่ถูกต้องมากขึ้น) ขอแนะนำให้อ่าน ข้อเขียนของ Arnold King เรื่องนี้.


บทสวดรอวันโลกาวินาศ และข้อมูลสนับสนุน
(The environmental Litany and data)

เราทุกคนรู้ดีว่าบทสวดรอวันโลกาวินาศมีเนื้อหาใจความอย่างไร สื่อต่างๆ ชอบประโคมข่าวว่าเรากำลังเดินทางสู่หายนะ เช่นเมื่อวารสาร TIME บอกเราว่า “ทุกคนรู้ดีว่า โลกอยู่ในภาวะย่ำแย่” และเมื่อวารสาร New Scientist จั่วหัวบทความเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมว่า “ทำลายตัวเอง” (Self-destruct) สารหลักของบทสวดรอวันโลกาวินาศคือ ทรัพยากรธรรมชาติกำลังจะหมดไป ประชากรโลกเพิ่มขึ้นมาก มีอาหารน้อยลง คุณภาพอากาศและน้ำแย่ลงจากมลพิษ พันธุ์พืชและสัตว์ต่างๆ บนโลกกำลังสูญพันธุ์ไปเรื่อยๆ ป่ากำลังจะหมด ปลากำลังจะไม่มีให้จับ แนวปะการังกำลังตาย ผิวดินอันอุดมสมบูรณ์กำลังหายไป เรากำลังทำลายพื้นที่สีเขียว ทำลายชั้นบรรยากาศของโลก และกำลังจะทำลายตัวเองไปด้วย ระบบนิเวศน์ของโลกกำลังถูกทำลาย และมนุษย์กำลังเดินทางเข้าสู่เพดานขีดจำกัดของการเติบโต

เราได้ยินสารนี้บ่อยจนเคยชิน แต่ปัญหาคือ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เรามี ไม่สนับสนุนแนวคิดแบบนี้ ข้อเท็จจริงคือ พลังงานและทรัพยากรไม่ได้กำลังหมดไป เรากำลังผลิตอาหารต่อหัวได้มากขึ้น คนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ในปี 2443 (ค.ศ. 1900) มนุษย์เรามีอายุเฉลี่ย 30 ปี ปัจจุบันเราอยู่ได้ถึง 67.7 ปีโดยเฉลี่ย สถิติของสหประชาชาติชี้ว่า เรากำจัดความยากจนในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ได้มากกว่าช่วง 500 ปีก่อนหน้า และระดับความยากจนนี้ลดลงในเกือบทุกประเทศในโลก ปัญหาโลกร้อนน่าจะกำลังเกิดขึ้นจริง แต่การลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) อย่างฉับพลันนั้น เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ผิดพลาด ก่อให้เกิดปัญหามากกว่าเดิมอีก และปัญหาโลกร้อนก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ที่จะทำให้เราเดือดร้อนแสนสาหัสในอนาคตอยู่ดี เราไม่ได้กำลังทำให้ 25-50% ของพันธุ์พืชและสัตว์ทั่วโลกสูญพันธุ์ในหนึ่งชั่วอายุคน ฝนกรดไม่ได้ทำลายป่า และสภาพอากาศและน้ำรอบตัวเราโดยรวมกำลังดีขึ้น [ข้อนี้เป็นข้อเดียวที่ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับ Lomborg เพราะไม่เชื่อว่ามลพิษที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศจีน จะถูกหักล้างได้หมด ด้วยคุณภาพอากาศและน้ำในโลกพัฒนาแล้วที่กำลังดีขึ้น – ผู้แปล]

ตรงนี้ต้องระวังว่าผมกำลังพูดถึงอะไรนะครับ ผมบอกว่าดัชนีส่วนใหญ่ ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเก่า ผมไม่ได้บอกว่าทุกอย่าง “ดีแล้ว” นะครับ

เราลองมาดูภาวะการเติบโตของประชากรโลก และภาวะการอดอยาก ประเด็นที่หลายๆ คนเป็นห่วงกันนะครับ ในปี 2511 Dr. Erlich นักสิ่งแวดล้อมแนวหน้า พยากรณ์ในหนังสือขายดีของเขาชื่อ “The Population Bomb” (ระเบิดประชากร) ว่า “การต่อสู้เพื่อป้อนอาหารให้มนุษย์ได้จบสิ้นลงแล้ว ในทศวรรษที่กำลังจะมาถึง โลกจะเห็นวิกฤติการอดอยากระดับโศกนาฏกรรม ผู้คนเป็นร้อยล้านจะอดอาหารตาย” ไม่เพียงแต่คำพยากรณ์นี้จะไม่เป็นจริงเท่านั้น แต่ตัวเลขของสหประชาชาติระบุว่า ผลผลิตทางการเกษตรในโลกกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นถึง 52% ต่อหัว ปริมาณอาหารต่อหัวต่อวันที่คนบริโภคในโลกกำลังพัฒนาก็เพิ่มขึ้นจาก 1,932 แคลอรี่ (ระดับที่แทบไม่พอยังชีพ) ในปี 2504 เป็น 2,650 แคลอรี่ในปี 2541 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3,020 แคลอรี่ ณ ปี 2573 (ดูแผนภูมิข้างล่างประกอบ)

แคลอรี่ต่อหัวต่อวัน

เช่นเดียวกัน สัดส่วนประชากรที่ขาดอาหารในประเทศกำลังพัฒนา ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด ลดลงจาก 45% ในปี 2492 เป็น 18% ในปัจจุบัน และคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องเป็น 12% ในปี 2553 และเหลือเพียง 6% ในปี 2573 ดังนั้นเราเห็นว่า อาหารไม่ได้ลดลง แต่มีปริมาณเพิ่มขึ้น ข้อเท็จจริงนี้สะท้อนให้เห็นในราคาอาหารด้วย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2343 เป็นต้นมา ราคาอาหารที่แท้จริง (ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ) ลดลงกว่า 90% และในปี 2000 ระดับราคาของอาหาร ต่ำอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

คำพยากรณ์ของ Dr. Erlich สะท้อนคำพยากรณ์ของ Thomas Malthus ที่พูดไว้เมื่อ 170 ปีก่อน Malthus มองว่า ประชากรโลกจะเพิ่มจำนวนแบบยกกำลัง (exponentially) ขณะที่การผลิตอาหารจะเพิ่มได้แบบเส้นตรง (linear) เท่านั้น ด้วยการนำที่ดินแปลงใหม่มาใช้ทำการเกษตร แต่เขาคาดผิด ตอนนี้เรารู้แล้วว่าการเติบโตของประชากรโลกนั้น มีกลไกกำกับภายใน (internal check) คือ เมื่อคนมีฐานะและสุขภาพดีขึ้น เขาก็มีครอบครัวเล็กลง [ถ้าจะอธิบายเรื่องนี้ในภาษาเศรษฐศาสตร์ก็คงต้องบอกว่า ผู้ปกครองที่มีฐานะดีนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรแต่ละคน (เพื่อให้มีระดับความเป็นอยู่ดีเท่าพ่อแม่) สูงกว่าครอบครัวยากจน ดังนั้นจึงเลือกมีบุตรน้อยคน – ผู้แปล] จากสถิติ เราเห็นว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกได้ถึงจุดสูงสุด คือมากกว่า 2% ต่อปี ไปแล้วเมื่อประมาณปี 2503 หลังจากนั้นอัตรานี้ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอัตรานี้อยู่ที่ 1.26% และคาดว่าจะลดลงเป็น 0.46% ในปี 2593 สหประชาชาติคาดว่า การเติบโตของประชากรในประเทศส่วนใหญ่ จะกลายเป็นศูนย์ก่อนปี 2643 (ค.ศ. 2100) เมื่อถึงเวลานั้น โลกเราน่าจะมีประชากรราวๆ 11,000 ล้านคน

ข้อผิดพลาดอีกประการของ Malthus คือ เขาไม่ได้คำนึงถึงการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการเกษตร ที่ช่วยให้เราสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และยังช่วยลดความจำเป็นที่ต้องนำพื้นที่สีเขียว มาทำเป็นพื้นที่เพาะปลูก เป็นการลดแรงกดดันต่อระบบนิเวศน์ได้อีกทางหนึ่ง

ข้อเท็จจริงที่เรามี ล้วนโต้แย้งบทสวดรอวันโลกาวินาศ แต่โพลล์ส่วนใหญ่ก็ยังชี้ว่า คนส่วนใหญ่ อย่างน้อยในโลกพัฒนาแล้ว ยังเชื่อว่าคุณภาพสิ่งแวดล้อมของโลกกำลังเสื่อมถอยลง ผมคิดว่ามีปัจจัยหลักๆ 4 ประการ ที่เป็นสาเหตุของความแตกต่างระหว่างความเชื่อ และความจริง:

ปัจจัยแรกคือความลำเอียงในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ทุนสนับสนุนการวิจัยส่วนใหญ่นั้น ใช้ในการศึกษาประเด็นที่มีปัญหามาก นั่นอาจเป็นนโยบายที่ถูกต้อง แต่มันก็ทำให้เกิดเจตคติว่า เรากำลังเผชิญปัญหามากมายกว่าความเป็นจริง

แหล่งที่มาของความเข้าใจผิดอีกแห่งคือ ผลประโยชน์ส่วนตัว (self-interest) ของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แม้ว่ากลุ่มเหล่านี้จะนำโดยนักอนุรักษ์ที่ไร้ความเห็นแก่ตัว ก็ยังคงมีลักษณะเหมือนกับกลุ่มที่ต้องวิ่งเต้นทางการเมือง (lobby groups) อื่นๆ คือต้องได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ และต้องเรียกเงินบริจาคไม่ให้ขาดสาย ดังนั้นจึงมีแรงจูงใจที่จะพูดเกินจริง เช่น ในปี 2540 Worldwide Fund for Nature ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งซึ่งอ้างว่า “โลกได้สูญเสียพื้นที่จำนวนสองในสามของป่าทั่วโลก ไปอย่างถาวร” ทั้งๆ ที่ตัวเลขที่แท้จริงคือประมาณ 20%

เรื่องนี้จะไม่เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าทุกคนใช้มาตรฐานในการวิเคราะห์เจตนาของนักวิ่งเต้นด้านสิ่งแวดล้อม ให้เหมือนกันกับที่ีใช้วิเคราะห์เจตนาของนักวิ่งเต้นด้านอื่นๆ แต่ความจริงคือ องค์กรด้านพาณิชย์ที่เรียกร้อง – อันนี้เป็นตัวอย่างนะครับ – ให้รัฐลดหย่อนกฎเกณฑ์เรื่องการควบคุมมลพิษ จะถูกมองทันทีว่าเป็นพวกเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ในขณะที่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ต่อต้านข้อเรียกร้องนี้ จะถูกมองทันทีว่าเป็นผู้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีมนุษยธรรมอันดี แม้ว่ากฎเกณฑ์เรื่องการควบคุมมลพิษนั้นอาจให้ผลเสียมากกว่าผลดีก็เป็นได้

สาเหตุที่สามของความสับสนคือ เจตคติ (attitude) ของสื่อต่างๆ แน่นอนว่าข่าวร้าย ย่อมเป็นที่สนใจของคนมากกว่าข่าวดี หนังสือพิมพ์และทีวี ล้วนอยากเสนอข่าวที่สาธารณชนต้องการ แต่นั่นอาจนำไปสู่การบิดเบือนอย่างร้ายแรง เห็นได้จากตอนที่อเมริกาประสบกับปรากฏการณ์ El Niño ในปี 2540 และ 2541 ปรากฏการณ์ของดินฟ้าอากาศนี้ ถูกกล่าวโทษว่าเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวเสียหาย คนเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้น ทำให้หิมะตกในรัฐโอไฮโอ ส่งผลให้คนตาย ฯลฯ ผมว่าข้อกล่าวหาที่แปลกที่สุด หนีไม่พ้นถ้อยแถลงของบริษัท Disney ว่า El Niño ทำให้ราคาหุ้นเขาตก

มุมมองที่เป็นกลางกว่า อยู่ในบทความเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ตีพิมพ์ในประกาศสมาคมนักอุตุนิยมวิทยาแห่งอเมริกา (Bulletin of American Meteorological Society) ซึ่งพยายามคำนวณทั้งผลเสีย และผลดีจากปรากฏการณ์ El Niño เมื่อปี 2540-2541 ประมาณการผลเสียอยู่ที่ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ผลดีตีเป็นมูลค่าได้ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากอุณหภูมิฤดูหนาวที่สูงขึ้น (ช่วยให้คนรอดตาย และลดค่าใช้จ่ายในการทำความร้อน) และลดปริมาณพายุเฮอร์ริเคนจากมหาสมุทรแอตแลนติก ในปี 2541 อเมริกาไม่ประสบพายุเฮอร์ริเคนใหญ่ๆ แม้แต่ลูกเดียว ประโยชน์เหล่านี้ไม่ได้รับการกระพือข่าวเท่ากับผลเสีย

ปัจจัยสุดท้ายคือมุมมองส่วนบุคคลที่ไม่ถูกต้อง เช่น คนส่วนใหญ่กังวลว่า ขยะที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น จะทำให้วันหนึ่งโลกเราไม่มีที่กำจัดขยะอีกต่อไป แต่ความจริงคือ แม้ต่อให้อังกฤษทิ้งขยะเพิ่มขึ้นต่อปีในอัตราเดียวกันกับอเมริกา (ซึ่งเป็นสมมติฐานที่เกินจริงแน่ๆ เพราะประชากรอังกฤษไม่ได้เพิ่มในอัตราเดียวกันกับอเมริกา) พื้นที่ทิ้งขยะที่อังกฤษทั้งประเทศต้องใช้ในศตวรรษที่ 21 ก็จะกินเนื้อที่เพียงสี่เหลี่ยมเล็กๆ ขนาดลึกประมาณ 30 เมตร และกว้างยาวประมาณ 20 กิโลเมตรเท่านั้น

เวลาเราเป็นห่วงสภาพแวดล้อม เรามักจะตกเป็นเหยื่อของการแก้ปัญหาระยะสั้น ที่ทุ่มเงินแก้ปัญหาเล็กๆ แต่ละเลยปัญหาใหญ่ที่สำคัญมากกว่า วันใดที่เราตระหนักว่า เราควรลืมวันโลกาวินาศไปได้เลย วันนั้นเราจะเห็นว่า โลกเรากำลังเดินมาถูกทางแล้ว เราสามารถช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนา ด้วยการเน้นการจัดลำดับความสำคัญ (prioritization) ของเป้าหมายการพัฒนาต่างๆ ให้ถูกต้อง ตัวเลขชี้ให้เราเห็นว่า เงินที่เราทุ่มลงไปกับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในแต่ละปีนั้น สามารถช่วยชีวิตคนได้ประมาณ 60,000 คนต่อปี นี่เป็นต้นทุนที่เราใช้ในการกังวลกับปัญหาที่ไม่เร่งด่วน – เราให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมมากเกินไป และกับประเด็นอื่นๆ น้อยเกินไป

ที่ผมพูดมานี้ไม่ได้หมายความว่า การบริหารจัดการและการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นความคิดที่เลวร้าย ผมเพียงแต่อยากเสนอว่า เราควรเปรียบเทียบต้นทุน และประโยชน์ของการลงทุนเหล่านี้ กับการลงทุนด้านอื่นๆ ที่สำคัญไม่น้อยหน้ากัน ในการพัฒนามนุษย์ เพื่อให้เรามั่นใจได้ว่า เราจะสามารถลำดับความสำคัญทางการเมืองของประเด็นเหล่านี้ได้อย่างมีเหตุผล เราต้องกำจัดความเชื่อในบทสวดรอวันโลกาวินาศที่เป็นเพียงมายา และหันมาเน้นที่ข้อเท็จจริงแทน – ความจริงที่ว่าโลกเรากำลังดีขึ้น แม้จะมีอีกหลายอย่างที่เราต้องทำ.


ปัญหาโลกร้อน – เรากำลังมาถูกทางหรือเปล่า?
(Global warming – are we doing the right thing?)

ที่กรุงบอนน์ ประเทศเกือบทั้งหมดในโลก (ยกเว้นอเมริกา และออสเตรเลีย) บรรลุข้อตกลงร่วมกัน ที่จะลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดอ็อกไซด์ (CO2) นักข่าวส่วนใหญ่รายงานว่าข้อตกลงนี้จะช่วยกอบกู้โลกให้พ้นจากหายนะ แต่นอกจากข้อสรุปนี้จะเป็นเท็จ – ข้อตกลงนี้แทบจะไม่ทำให้เกิดประโยชน์อะไรเลย – เราก็ยังไม่สามารถแน่ใจได้ว่า การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน เป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยพัฒนาโลก ในประเด็นที่สำคัญที่สุดหรือไม่

ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาสำคัญ ทั้งในแง่สิ่งแวดล้อม การเมือง และเศรษฐกิจ ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามนุษย์มีส่วนเพิ่มระดับ CO2 ในชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ผมจะไม่แจกแจงความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ในที่นี้ แต่จะยอมรับโมเดลและคำทำนายในรายงานปี 2544 ของคณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศของสหประชาชาติ (IPCC) ถึงกระนั้นเราก็จำต้องแยกแยะคำพูดเกินจริง ออกจากข้อเท็จจริง เพื่อที่จะกำหนดอนาคตของเราได้อย่างเหมาะสม

เมื่อ IPCC บอกเราว่า โลกนี้อาจร้อนขึ้นถึง 5.8°C ในศตวรรษนี้ ตัวเลขนี้เป็นผลจากโมเดลคอมพิวเตอร์อันหลากหลายซับซ้อน ที่ตั้งต้นด้วยการกำหนดค่าเบื้องต้นของตัวแปรต่างๆ แล้วเปลี่ยนแปลงมันในกรณีปกติ (normative scenario) “ในทางที่เราหวังว่ามันจะเกิดขึ้น” แต่กรณีที่มีการปล่อย CO2 สูงสุด (high-end scenarios) นั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลย ผลการวิเคราะห์ที่ผ่านมาชี้ว่า พลังงานทดแทนต่างๆ โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ จะสามารถแข่งขันกับ (หรือดีกว่า) เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ภายในกลางศตวรรษนี้ ซึ่งนั่นหมายความว่า ปริมาณการปล่อย CO2 น่าจะเป็นไปตามกรณีการปล่อย CO2 ต่ำ (low-end scenarios) มากกว่า ซึ่งกรณีเหล่านี้จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเพียง 2-2.5°C

นอกจากนั้น ปัญหาโลกร้อนจะไม่ทำให้ผลผลิตอาหารลดลง ไม่น่าจะเพิ่มความรุนแรง หรือความถี่ของพายุเฮอร์ริเคน (เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์ยังหาข้อสรุปไม่ได้) และจะไม่เพิ่มความรุนแรงของโรคมาเลเรียหรือทำให้คนตายมากขึ้น (โมเดลทางคณิตศาสตร์ ที่ map โซนอุณหภูมิต่างๆ ที่ยุงชอบอยู่ แสดงผลว่า ภาวะโลกร้อนต่อเนื่องในปี 2623 อาจทำให้จำนวนคนที่อาจจะเข้าข่ายเสี่ยงต่อการเป็นโรคมาเลเรีย สูงขึ้นประมาณ 2-4% (260-320 ล้านคน จากประชากร 8,000 ล้านคน) แต่ IPCC ชี้ว่า คนส่วนใหญ่ที่อาจเสี่ยงต่อการติดโรคนี้ จะมาจากประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางหรือระดับสูง ซึ่งมีภาคสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ และสาธารณูปโภคที่แข็งแกร่ง ทำให้โอกาสเป็นโรคนี้แทบไม่มีเลย ดังนั้น ผลการวิจัยมาเลเรียระดับโลกจึงสรุปว่า ปัญหาโลกร้อน “ไม่ส่งผลกระทบในนัยสำคัญต่อปัญหามาเลเรีย” นอกจากนี้ โลกร้อนก็ไม่น่าจะทำให้มีคนตายจากน้ำท่วมมากขึ้นด้วย เพราะโลกในอนาคตที่มีฐานะดีขึ้น จะสามารถป้องกันตัวได้ดีขึ้น (ค่าใช้จ่ายในการป้องกันนั้นค่อนข้างถูก คือประมาณ 0.1% ของ GDP ของประเทศส่วนใหญ่)

อย่างไรก็ดี ปัญหาโลกร้อนจะนำมาซึ่งความเสียหายมหาศาล มีผู้คาดว่าความเสียหายทั้งหมดจะมีมูลค่าประมาณ 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ การคำนวณแบบนี้มีความไม่แน่นอนสูง แต่เป็นผลจากโมเดลที่คำนวณผลกระทบที่โลกร้อนมีต่อสังคมด้านต่างๆ เช่น เกษตรกรรม การประมง การป่าไม้ พลังงาน ปริมาณน้ำ สาธารณูปโภค ความเสียหายจากฝนแล้ง การเสียพื้นที่บนแผ่นดินไปให้กับพื้นน้ำ จากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การสูญเสียพื้นที่ป่า ชีวิตคน พันธุ์พืชและสัตว์ มลภาวะ และการย้ายถิ่น

ประเทศที่กำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนอย่างรุนแรง ในขณะที่ประเทศในโลกพัฒนาแล้วอาจได้รับผลประโยชน์สุทธิ (net benefit) จากการที่อุณหภูมิทั้วโลกสูงขึ้น 2-3°C สาเหตุส่วนใหญ่ที่ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบทางลบคือ ภาวะความยากจน ที่ส่งผลให้ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยากลำบาก

แม้สัญชาติญาณอาจบอกเราว่า เราต้องทำอะไรซักอย่างที่ใหญ่โต เพื่อรับมือกับปัญหาราคาแพงนี้ก็ตาม เราไม่ควรใช้วิธีแก้ปัญหาที่ต้องใช้เงินมากกว่าความเสียหายของมัน ผลการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การลดปริมาณการปล่อย CO2 อย่างฉับพลันนั้น แพงกว่าค่าใช้จ่ายในการปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น อย่างมากมายหลายเท่าตัว

การประชุมที่กรุงบอนน์ เป็นการตกลงเรื่องวิธีปฏิบัติที่จะทำตามแนวทางของสนธิสัญญาเกียวโตก่อนหน้านี้ ที่ตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อย CO2 ให้เหลือ 5.2% ต่ำกว่าระดับของปี 2533 ภายในปี 2553 คือลดถึงเกือบ 30%

การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก

ข้อตกลง Kyoto และที่กรุงบอนน์ ที่มีต่อสภาพอากาศ จะส่งผลดีน้อยมากๆ จนแทบวัดไม่ได้ โมเดลทุกอันของนักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องต้องกันในเรื่องนี้ โมเดลหนึ่งที่สร้างโดยผู้นำ IPCC ในปี 2539 แสดงให้เราเห็นว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 2.1°C ในปี 2643 จะลดลงเหลือ 1.9°C หากสนธิสัญญาเกียวโตบรรลุผลสำเร็จ (ดูรูปด้านบนประกอบ) อธิบายให้เห็นชัดขึ้นก็คือ ข้อตกลงนี้ไม่สามารถกำจัดปัญหาโลกร้อนให้หมดไปได้ เพียงแต่จะช่วยยืดเวลาให้เรา 6 ปี คืออุณหภูมิที่เราจะเห็นในปี 2637 เราจะไปเห็นในปี 2643 แทน

ถ้าเรานำสนธิสัญญาเกียวโตมาใช้โดยไม่มีอะไรรองรับเลย ยกเว้นตลาดค้าอัตราการปล่อย CO2 (global emissions trading) มันก็แทบจะไม่ส่งผลอะไรเลยกับสภาพอากาศ และยังเป็นการใช้ทรัพยากรไม่ถูกทางอีกด้วย ค่าใช้จ่ายของการปฏิบัติตามสนธิสัญญาเกียวโต เฉพาะประเทศใหญ่อย่างอเมริกา จะสูงกว่าเงินที่สามารถใช้แก้ปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดในโลก – การทำให้พลเมืองทั่วโลกมีน้ำดื่ม และสาธารณสุขที่สะอาด มีผู้ประเมินว่าหากเราแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ จะช่วยชีวิตคนได้ประมาณ 2 ล้านคนต่อปี และป้องกันไม่ให้คนอีก 500 ล้านคน ต้องล้มป่วยลงด้วยโรคร้ายแรงในแต่ละปี ถ้าเราไม่สร้างตลาดค้าอัตราการปล่อย CO2 ให้เกิดขึ้นจริง ค่าใช้จ่ายอาจสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 5 เท่าของเงินที่เราจะใช้ทำให้พลเมืองทั่วโลกมีน้ำดื่ม และสาธารณสุขที่สะอาด ถ้าผมจะเปรียบเทียบให้เห็นนะครับ ปัจจุบันเงินบริจาคเพื่อการพัฒนาทั่วโลกมีจำนวน 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี สรุปก็คือ สนธิสัญญาเกียวโตนั้นมีราคาแพงมาก และไม่ได้ส่งผลดีมากมายอะไร

แทนที่เราจะเอาเงินมาถลุงในการปฏิบัติตามสนธิสัญญาเกียวโต ถ้าเราเอาเงินนั้นมาใช้ในประเทศที่กำลังพัฒนา จะเป็นการช่วยผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศเหล่านั้นในปัจจุบัน ตลอดจนลูกหลานของพวกเขา โลกที่สามจะมีฐานะที่ดีกว่านี้มากในอนาคต และให้ผลตอบแทนต่อการลงทุนที่สูงกว่าการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน (16% เทียบกับ 2%) ทางเลือกของเรานั้น จริงๆ แล้วคือ: เราอยากช่วยสมาชิกโลกที่สาม ที่มีฐานะดีขึ้นมากในอีก 100 ปีจากนี้ ให้ชีวิตเขาตอนนั้นดีขึ้นเล็กน้อย หรือเราอยากช่วยสมาชิกโลกที่สามที่ยังยากจนอยู่ในปัจจุบัน ให้ชีวิตเขาตอนนี้ดีขึ้นมาก? การลงทุนในโลกที่สามตอนนี้ ยังจะช่วยให้ประเทศเหล่านั้น มีทรัพยากรและสาธารณูปโภค ที่พร้อมรับมือกับปัญหาโลกร้อนในอนาคต ได้ดีกว่าเดิมมาก

เพราะการลดการปล่อย CO2 อย่างฉับพลันมีราคาแพง และไม่ค่อยเกิดประโยชน์ เราควรเน้นการหาวิธีการที่จะช่วยลดการปล่อย greenhouse gases ต่างๆ ในระยะยาว นั่นหมายความว่า เราต้องเพิ่มการวิจัยด้านพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานฟิวชั่น และแหล่งพลังงานทดแทนอื่นๆ ปัจจุบันอเมริกาใช้เงินวิจัยด้านนี้เพียง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ เราควรเปิดใจให้กว้างมากขึ้น กับวิธีแก้ปัญหาโดยใช้เทคโนโลยี (techno-fixes) ต่างๆ ที่เรียกรวมกันว่า วิศวพันธุกรรมศาสตร์ (geo-engineering) อาทิเช่น การใส่ปุ๋ยให้ท้องทะเล (เพื่อให้สาหร่าย “ผูกตัว” เข้ากับคาร์บอนมากขึ้น เมื่อมันตายไปและร่วงลงสู่พื้นทะเล) การฉีดอณูกำมะถันเข้าไปในบรรยากาศชั้นบนสุด (ทำให้โลกเย็นลง) ตลอดจนสกัด CO2 ออกมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อัดมันกลับเข้าไปในแผ่นดินเพื่อเก็บไว้ใช้ต่อ แม้แนวทางเหล่านี้เพียงแนวทางเดียวสามารถลดปัญหาการปล่อย CO2 ได้จริง ก็จะเป็นคุณประโยชน์มหาศาลต่อโลก.