(UPDATE 26/9) ตรรกะวิบัติที่พบบ่อยที่สุดในเน็ตไทย

contradiciton-fallacy.jpg

คิดคร่าวๆ ไปเรื่อยๆ

 

1) ยิงหุ่นฟาง – เอาจุดที่อ่อนที่สุดของฝ่ายตรงข้ามมาขยายใหญ่ให้พองโตเกินกว่าที่เขาพูด และโจมตีแต่เฉพาะจุดนั้นราวกับว่าเขาพูดแต่จุดนั้น ไม่เคยมีเหตุผลอื่นเลย

 

2) อ้างคัมภีร์ – ยกหลักการหรือนามธรรมกว้างๆ เช่น ศีลห้า มรรคแปด หลักธรรมาภิบาล ตลาดคือพระเจ้า ฯลฯ และชอบยกมาเป็นพืดให้อ่านจนเวียนหัวตาลาย ทั้งที่บอกอะไรเกี่ยวกับกรณีที่กำลังถกกันอยู่ไม่ได้เลย

 

3) ชิ่งหนีกลบเกลื่อน – เวลาใช้เหตุผลสู้คนอื่นไม่ได้ก็ใช้วิธีเบี่ยงประเด็น ไพล่ไปพูดเรื่องอื่นที่ตัวเองใช้เหตุผลได้ดีกว่า เพื่อกลบเกลื่อนความไร้เหตุผลในเรื่องที่กำลังถกกันอยู่

 

4) อ้างเพื่อนอ้างครู – ไม่ชอบใช้เหตุผลด้วยตัวเอง ชอบยกแต่คำกล่าวของเพื่อน ครู นักวิชาการ ฯลฯ ขึ้นมา แล้วพอถูกซักไซ้ไล่เลียง ก็แน่นอนว่าให้เหตุผลแทนไม่ได้เลย

 

5) ก็กูเก็บกด– ไม่ว่าเขาจะคุยเรื่องอะไรกันอยู่ ก็จะยกประเด็นคาใจที่ตัวเองชอบด่าขึ้นมา โดยไม่สนว่าจริงๆ มันเกี่ยวอะไรกับเรื่องที่กำลังคุยกันหรือไม่ ที่แย่กว่านั้นคือลากเส้นเชื่อมโยง ชักแม่น้ำทั้งห้ามาถึงเรื่องที่ตัวเองอยากด่าจนได้

 

6) เจ้ายศเจ้าอย่าง – คล้ายข้อ 4) แต่คราวนี้อวดอ้างตัวเอง ฉันจบปริญญาเอกด้านนี้มานะ ฉันเป็นผู้บริหารบริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้นะ บลาบลาบลา ราวกับว่าการได้ยศถาบรรดาศักดิ์มาย่อมแปลว่าฉันใช้เหตุผลได้เก่งกว่าคนอื่น ดังนั้นไม่ต้องฟังเหตุผล แค่รู้ว่าฉันเป็นใครก็พอ

 

7) ถากถางส่วนตัว – ยกเรื่องส่วนตัวของคนอื่นมาพยายามดิสเครดิต แทนที่จะคุยประเด็นที่คุยกัน  

 

8) ดีชั่วมั่นใจ – อ้างว่าเรื่องนี้ใครๆ ก็รู้ว่าดี หรือใครๆ ก็รู้ว่าเลว ไม่ต้องอธิบายเหตุผลหรอก

 

9) ใครๆ ก็ทำ – อ้างว่าเรื่องนี้ใครๆ ก็ทำ ไม่ต้องอธิบายเหตุผลหรอก

 

10) ศัพท์ล้ำกว่าใคร – ชอบใช้ศัพท์แสงสวยหรู คำใหญ่ๆ ภาษาอังกฤษ พูดไทยคำอังกฤษคำ ทั้งที่มันไม่เกี่ยวอะไรกับประเด็นที่คุย หรือคนที่อ้างคำศัพท์เหล่านี้เองนั่นแหละที่ยังไม่เข้าใจความหมาย

 

11) ทำได้ไหมล่ะแก – ความคิดแปลกๆ ที่ว่า ต้องอยู่ในวงการเดียวกัน บางทีเลยเถิดถึงขั้น “ฝีมือเท่ากัน” เท่านั้นถึงจะมี “สิทธิในการวิจารณ์” คนอื่นอย่าสะเออะมาแสดงความคิดเห็นหรือข้อมูล ตรรกะวิบัติชนิดหยาบของข้อนี้คือ “ถ้าแน่จริง ทำไมไม่ลงมือทำเอง” – ทั้งสองแบบมักใช้ในกรณีถือหางคนที่กำลังถูกวิจารณ์

 

12) แย่กว่าเลวกว่า – คล้ายกับข้อ 11) แต่อ้างว่าเรื่องหรือคนที่แย่กว่านี้มีอีกตั้งเยอะ ทำไมไม่ด่า มาด่าเรื่องนี้หรือคนคนนี้ทำไม – มักใช้ในกรณีถือหางคนที่กำลังถูกวิจารณ์ และใช้ควบคู่กับข้อ 5) (ก็กูเก็บกด)

 

13) ตั้งตาโหนเจ้า – ไม่ว่าเขาคุยเรื่องอะไรกันก็จะอ้างเจ้า ถ้าคิดว่าเจ้าเห็นตรงกับตัวเอง โดยเฉพาะการอ้างพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆ ประมาณว่าถ้าอ้างแล้วไม่ต้องใช้เหตุผลแล้วนะ หรือว่ายกขึ้นมาแล้วเรื่องนี้ต้อง “จบ” แน่ๆ (อย่างไรก็ดี ควรย้ำว่าลำพังการอ้างพระราชดำรัสอาจไม่ใช่ตรรกะวิบัติก็ได้ ถ้าเน้นเหตุผลในเนื้อหาของพระราชดำรัสว่าสนับสนุนหรือคัดค้านประเด็นอย่างไร ไม่ใช่เน้นที่ความเป็นพระราชดำรัสเฉยๆ)

 

ตรรกะวิบัติข้อนี้ฝ่ายที่อยากล้มเจ้าหรือไม่ค่อยชอบเจ้าก็ใช้เหมือนกัน

 

14) ก็เขาว่ามา – มักถูกยกเป็นข้ออ้างในการจะไม่ใช้เหตุผลด้วยตัวเอง ปกติปิดท้ายข้อถกเถียงที่ตัวเองยก มีความหมายประมาณว่า ฉันฟังคนอื่นมาอีกทีนะ มีเหตุผลหรือไม่มีแค่ไหนอย่ามาถามฉัน ไปถามคนอื่นเองละกัน

 

15) ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ – ข้ออ้างคลาสสิกข้อหนึ่งในการถกเถียง มักจะถูกยกขึ้นมาแบบผิดฝาผิดตัว เพราะเขากำลังถกกันด้วยเหตุผล ด้วยการยกข้อมูลหลักฐาน อยู่ดีๆ มาหาว่ากำลังถกกันเรื่อง “ความเชื่อ” หรือ “ไม่เชื่อ” เสียอย่างนั้น

 

#ทดไว้ก่อน รอหาเวลาเขียนปีหน้า

 

LAST UPDATE: 26/9/13