[UPDATE 7/5] ก.ล.ต. ตัดสิน ‘ยิ่งลักษณ์’ ไม่ผิดอินไซเดอร์ : อ้างกฎหมายอะไร?

[UPDATE 7 พ.ค. 2550 ไฟล์ PDF] วันก่อนโพสฟอร์เวิร์ดเมล์ขำๆ วันนี้มีเรื่องซีเรียสที่หวังว่าจะกลายเป็นฟอร์เวิร์ดเมล์มานำเสนอ ก่อนที่จะบล็อกนี้จะกลับไปเที่ยวลพบุรีต่อ ใช้บล็อกนี้เป็น “ที่พักทางใจ” จากเรื่องยุ่งวุ่นวายในบ้านเมืองข้างนอกไว้สักสัปดาห์สองสัปดาห์ก็ดีเหมือนกัน ผู้เขียนก็เครียดน้อยลง หวังว่าผู้อ่านจะเครียดน้อยลงตามไปด้วย 🙂

เพื่อนๆ ในแวดวงการเงินเขียนบทความใหม่เีกี่ยวกับดีลชินอีกแล้ว ใช้ชื่อ “ก.ล.ต. ตัดสิน ‘ยิ่งลักษณ์’ ไม่ผิดอินไซเดอร์ : อ้างกฎหมายอะไร?” อ่านออนไลน์ได้ที่โอเพ่น หรือ ดาวน์โหลด PDF 9 หน้า ไปฟอร์เวิร์ดกันต่อๆ ไปได้ (UPDATE 7 พ.ค. 2550: ไฟล์ PDF รวมจดหมายเปิดผนึก 3 หน้า ที่ “ม้านอก” และ “เด็กนอกกรอบ” เขียนถึง ก.ล.ต. หลังจากที่ ก.ล.ต. ออกมายืนยันผลการตรวจสอบอีกครั้งใน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ และ The Nation)

ความเห็นส่วนตัวสั้นๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้:

  1. เป็นไปได้ืที่ยิ่งลักษณ์จะ “ไม่รู้” จริงๆ ว่าครอบครัวชินวัตรกำลังเจรจาขายหุ้นให้กับเทมาเส็กอยู่ มารู้เอาตอนที่จะเซ็นสัญญาอยู่แล้ว ดังนั้นการทยอยขายหุ้น ADVANC ของเธออาจไม่ใช่การใช้ข้อมูลภายในจริงๆ แต่ในกรณีนั้น ยิ่งลักษณ์ก็ต้องยอมรับว่าเป็นนอมินีถือหุ้น SHIN แทนใคร เพราะถ้าไม่ได้ถือแทนใคร ก็เป็นไปไม่ได้ที่ไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดดีลขายชินคอร์ป เพราะเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นที่ขายหุ้น SHIN ให้เทมาเส็ก และก็ไม่ได้ถือแค่ไม่กี่หมื่นหุ้น แต่ถือตั้ง 20 ล้านหุ้น สรุปว่า เรื่องนี้ถ้าไม่ผิดอินไซเดอร์ ใครบางคนก็ต้องผิดข้อหา “ซุกหุ้น” ถ้าไม่ผิดอะไรเลยนี่จะแสดงให้เห็นความแย่ของหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐจริงๆ
  2. การทำ insider trading (ซึ่งผิดกฎหมายหลักทรัพย์ทั่วโลก) เป็นเรื่องหนึ่งที่ “ใครๆ เขาก็ทำกัน” อย่างแพร่หลายในตลาดหุ้นไทย โดยที่ ก.ล.ต. และ ตลท. ก็มักจะลงโทษแต่พวกปลาซิวปลาสร้อย พอให้เห็นว่ามีผลงานการปราบปรามในแต่ละปี แต่เคสใหญ่จริงๆ ไม่เห็นมีใครเคยโดนปรับ ข้างที่ปรึกษาทางการเงินเองก็มีพฤติกรรมเหลวแหลกไม่ต่างจากลูกค้า ผู้เขียนรู้จักวาณิชธนกร (investment banker) นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์หลายคนที่เปิดบัญชีเล่นหุ้นในชื่อคนอื่น (ใช้นอมินีนั่นแหละ) เพื่อหลบเลี่ยงกฎ ก.ล.ต. ที่ห้ามบุคลากรของบริษัทหลักทรัพย์เล่นหุ้นของบริษัทที่ตัวเองรู้ข้อมูลภายใน เพราะในหน้าที่ คนเหล่านี้รู้ข้อมูลภายในค่อนข้างบ่อย เพราะพูดคุยและทำดีลใหญ่ๆ ที่เป็นความลับให้กับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนอยู่เสมอ
  3. จากข้อสอง ถ้า ก.ล.ต. ยอมทบทวนคดีนี้ หรือผู้ถือหุ้นรายย่อย ADVANC ฟ้องศาลตามที่เพื่อนเสนอจริงๆ ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นอันดีที่จะพัฒนาธรรมาภิบาลในตลาดหุ้นไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ทำให้ “ต้นทุน” ในการทำ insider trading สูงขึ้น (เพราะหมายความว่าภาครัฐบังคับใช้กฎหมายจริงๆ) คนจะได้เลิกทำ insider trading ประหนึ่งว่ามันเป็นเรื่อง “ธรรมดาๆ” ที่ไม่ผิดกฎหมายเสียที ต้องยอมรับว่าการบังคับใช้กฎหมาย insider trading ในบ้านเรายังอ่อนมากๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศอเมริกา ประเทศในทวีปยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ที่มีข่าวการจับหรือปรับคนเด่นคนดัง หรือแม้กระทั่งผู้มีอิทธิพลในการเมือง ในข้อหา insider trading อยู่เนืองๆ และกฎหมายของประเทศเหล่านั้นก็เข้มกว่าของเรามาก