ยังยุ่งมากเช่นเคย (แหะๆ) แวะมาแจ้งข่าวเกี่ยวกับงานเขียน 2 เรื่องค่ะ อ้อ ท่านใดที่สนใจไฟล์เสียงจากงานเปิดตัวหนังสือ พลังของคนหัวรั้น และงานเสวนาเรื่อง “โอกาสและอนาคตของผู้ประกอบการเพื่อสังคมในไทย” หรือการบรรยายเรื่องครีเอทีฟคอมมอนส์ กฎหมาย และพอดคาสท์ ที่บรรยายคู่กับ ‘bact ในงานสัมมนา “ชวนทำพอดคาสท์” ที่จัดโดยช่างคุยดอทคอม ดาวน์โหลดไฟล์เสียงทั้งสองงานได้ที่หน้า Media ของบล็อกนี้ค่ะ
เรื่องแรก ดัชนีโลก(ไม่)มีสุข (The (Un)Happy Planet Index) หนังสือเล่มแรกในชีวิตที่ได้เครดิตเป็นบรรณาธิการ จัดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้วโดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา พิมพ์สี่สีทั้งเล่ม หนา 188 หน้า ราคา 250 บาท หนังสือเล่มนี้แปลโดยคุณ เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ จากรายงานชื่อเดียวกันของ Nic Marks แห่ง new economics foundation (nef) “think-and-do tank” ทางเศรษฐศาสตร์ที่ชอบมากๆ (และคุณ Nic ก็เป็นหนึ่งในคิว “คนชายขอบ” ที่ตั้งใจจะเขียนถึง) ดัชนีตัวนี้เป็นดัชนีตัวแรกของโลกที่ตั้งใจประเมินประสิทธิภาพในการใช้ระบบนิเวศเพื่อนำส่ง “ความเป็นอยู่ที่ดี” ให้กับมนุษย์ อ่านรายละเอียดและดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่เว็บ Happy Planet Index และสั่งซื้อหนังสือฉบับแปลได้จากหน้านี้ของเว็บสวนเงินมีมาค่ะ น่าจะหาซื้อได้ตามร้านหนังสือเร็วๆ นี้
เรื่องที่สอง ขอแปะบทความเรื่อง “เศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน” ที่เขียนลงคอลัมน์ by the way ในนิตยสาร way ฉบับเดือนสิงหาคม 2552 ในบล็อกนี้ เพราะเวอร์ชั่นที่ตีพิมพ์ใน way กอง บก. อีดิทให้อย่างเรียบร้อยสวยงามเพราะมีเนื้อที่จำกัด เลยเอาฉบับเต็มมาแปะในนี้ค่ะ (ขอเขาแล้ว กอง บก. ใจดีไม่ว่าอะไร หนังสือยังขายอยู่เลย ถ้าสนใจเรื่องราวของเงินตราชุมชน เศรษฐกิจชุมชน ฯลฯ ก็ขอแนะนำให้ไปซื้อที่แผงนะคะ :D)
เศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน
โดย สฤณี อาชวานันทกุล, 7 สิงหาคม 2552
คำว่า ‘เศรษฐกิจชุมชน’ อาจชวนให้หลายคนหลับตานึกภาพชวนฝันสมัยครึ่งศตวรรษที่แล้ว ที่คนไทยในชนบทอยู่กันอย่างเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว การแลกเปลี่ยนในชุมชนใช้น้ำใจแลกหามากกว่าค้าขายด้วยเงินตรา
ต่อมาเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคทุนนิยมเสรีอย่างเต็มตัวหลังผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ความเป็น ‘เศรษฐกิจ’ ของชุมชนเริ่มเลือนหายไปพร้อมๆ กับความเป็น ‘ชุมชน’ เมื่อหนุ่มสาวออกเดินทางเข้าเมืองไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า ใครที่ยังไม่ขายที่ไปให้นายทุนก็ทำการเกษตรเชิงเดี่ยวตามคำโฆษณาชวนเชื่อของภาครัฐ ไม่ทำนาก็ปลูกมันสำปะหลัง ไม่ปลูกยางก็ปลูกปาล์ม เผชิญกับความเสี่ยงร้อยแปดพันเก้าและความไม่เป็นธรรมในสนามแข่งขันที่รัฐไม่เคยแก้ไขอย่างจริงจังจนต้องหาอาชีพเสริม ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงปลากะพงในคลองน้ำกร่อยควบคู่ไปกับทำสวนผลไม้ หรือทิ้งเรือประมงไปเป็นแรงงานก่อสร้างยามน้ำมันแพงและในน้ำไม่มีปลาอีกต่อไป
ยังยุ่งมากเช่นเคย (แหะๆ) แวะมาแจ้งข่าวเกี่ยวกับงานเขียน 2 เรื่องค่ะ อ้อ ท่านใดที่สนใจไฟล์เสียงจากงานเปิดตัวหนังสือ พลังของคนหัวรั้น และงานเสวนาเรื่อง “โอกาสและอนาคตของผู้ประกอบการเพื่อสังคมในไทย” หรือการบรรยายเรื่องครีเอทีฟคอมมอนส์ กฎหมาย และพอดคาสท์ ที่บรรยายคู่กับ ‘bact ในงานสัมมนา “ชวนทำพอดคาสท์” ที่จัดโดยช่างคุยดอทคอม ดาวน์โหลดไฟล์เสียงทั้งสองงานได้ที่หน้า Media ของบล็อกนี้ค่ะ
เรื่องแรก ดัชนีโลก(ไม่)มีสุข (The (Un)Happy Planet Index) หนังสือเล่มแรกในชีวิตที่ได้เครดิตเป็นบรรณาธิการ จัดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้วโดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา พิมพ์สี่สีทั้งเล่ม หนา 188 หน้า ราคา 250 บาท หนังสือเล่มนี้แปลโดยคุณ เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ จากรายงานชื่อเดียวกันของ Nic Marks แห่ง new economics foundation (nef) “think-and-do tank” ทางเศรษฐศาสตร์ที่ชอบมากๆ (และคุณ Nic ก็เป็นหนึ่งในคิว “คนชายขอบ” ที่ตั้งใจจะเขียนถึง) ดัชนีตัวนี้เป็นดัชนีตัวแรกของโลกที่ตั้งใจประเมินประสิทธิภาพในการใช้ระบบนิเวศเพื่อนำส่ง “ความเป็นอยู่ที่ดี” ให้กับมนุษย์ อ่านรายละเอียดและดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่เว็บ Happy Planet Index และสั่งซื้อหนังสือฉบับแปลได้จากหน้านี้ของเว็บสวนเงินมีมาค่ะ น่าจะหาซื้อได้ตามร้านหนังสือเร็วๆ นี้
เรื่องที่สอง ขอแปะบทความเรื่อง “เศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน” ที่เขียนลงคอลัมน์ by the way ในนิตยสาร way ฉบับเดือนสิงหาคม 2552 ในบล็อกนี้ เพราะเวอร์ชั่นที่ตีพิมพ์ใน way กอง บก. อีดิทให้อย่างเรียบร้อยสวยงามเพราะมีเนื้อที่จำกัด เลยเอาฉบับเต็มมาแปะในนี้ค่ะ (ขอเขาแล้ว กอง บก. ใจดีไม่ว่าอะไร หนังสือยังขายอยู่เลย ถ้าสนใจเรื่องราวของเงินตราชุมชน เศรษฐกิจชุมชน ฯลฯ ก็ขอแนะนำให้ไปซื้อที่แผงนะคะ :D)
เศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน
โดย สฤณี อาชวานันทกุล, 7 สิงหาคม 2552
คำว่า ‘เศรษฐกิจชุมชน’ อาจชวนให้หลายคนหลับตานึกภาพชวนฝันสมัยครึ่งศตวรรษที่แล้ว ที่คนไทยในชนบทอยู่กันอย่างเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว การแลกเปลี่ยนในชุมชนใช้น้ำใจแลกหามากกว่าค้าขายด้วยเงินตรา
ต่อมาเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคทุนนิยมเสรีอย่างเต็มตัวหลังผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ความเป็น ‘เศรษฐกิจ’ ของชุมชนเริ่มเลือนหายไปพร้อมๆ กับความเป็น ‘ชุมชน’ เมื่อหนุ่มสาวออกเดินทางเข้าเมืองไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า ใครที่ยังไม่ขายที่ไปให้นายทุนก็ทำการเกษตรเชิงเดี่ยวตามคำโฆษณาชวนเชื่อของภาครัฐ ไม่ทำนาก็ปลูกมันสำปะหลัง ไม่ปลูกยางก็ปลูกปาล์ม เผชิญกับความเสี่ยงร้อยแปดพันเก้าและความไม่เป็นธรรมในสนามแข่งขันที่รัฐไม่เคยแก้ไขอย่างจริงจังจนต้องหาอาชีพเสริม ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงปลากะพงในคลองน้ำกร่อยควบคู่ไปกับทำสวนผลไม้ หรือทิ้งเรือประมงไปเป็นแรงงานก่อสร้างยามน้ำมันแพงและในน้ำไม่มีปลาอีกต่อไป
ในเมื่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านทุกวันนี้ผูกโยงอยู่กับระบบเศรษฐกิจนอกชุมชนมากกว่าในชุมชน อาทิ ตลาดข้าวระดับโลก ตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับชาติ ในเมื่อความสะดวกสบายสมัยใหม่ล้วนต้องใช้เงินซื้อ และในเมื่อเงินทองใช้ง่ายแต่หายาก ก็ไม่น่าแปลกใจที่คนในชุมชนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จะมีหนี้สินพอกพูนขึ้นทุกวันเพราะรายรับโตช้ากว่ารายจ่าย
ในขณะเดียวกัน ทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าก็ถูกถ่ายโอน ถอนรื้อ หรือทำลายจากการรุกคืบของนายทุนต่างถิ่นที่เห็นมูลค่าของทรัพยากรเฉพาะแต่ในฐานะ ‘ปัจจัยการผลิต’ สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกชีวิตของชุมชน เช่น ผันน้ำจากในนาไปรดหญ้าสนามกอล์ฟ ตัดไม้ทำลายป่าไปสร้างบ้านเศรษฐีกลางกรุง ฯลฯ
ส่วน ‘โครงการพัฒนา’ นานาชนิดที่รัฐส่งเข้าไปในหมู่บ้าน ถ้ายังอยู่ก็มักจะอยู่แบบตัวใครตัวมันหรือรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ ไม่ทำหน้าที่เป็น ‘กาว’ หรือ ‘หัวเชื้อ’ ที่จะช่วยผนึกกำลังของสมาชิกในชุมชนเพื่อสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เข้มแข็ง วัวจากโครงการวัวล้านตัวยืนตาปริบๆ ในคอกเดียวกันกับควายจากโครงการกระบือเฉลิมพระเกียรติ ติดกับศาลาประชาคมและห้องสมุดชุมชนที่แทบไม่มีคนใช้ เพราะไม่มีหนังสือเล่มไหนในนั้นที่ช่วยปลดหนี้เรือนแสนที่ติด ธ.ก.ส. ได้
ในเมื่อวิถีการพัฒนาในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ‘ไม่ยั่งยืน’ ทำลายสิ่งแวดล้อมและความเป็นชุมชนมากกว่าจะส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง กระแสความสนใจในการฟื้นฟูและต่อยอด ‘ระบบเศรษฐกิจชุมชน’ ที่เริ่มก่อตัวขึ้นอีกครั้ง จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี
ผู้เขียนมิใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านอะไรเลย มีเพียงข้อสังเกตสั้นๆ เกี่ยวกับเงื่อนไขสองข้อหลักที่คิดว่าน่าจะจำเป็นต่อการสร้าง ‘เศรษฐกิจชุมชน’ ในศตวรรษที่ 21 ให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนแท้จริง
1. การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะความไม่เป็นธรรมในโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของคนในชุมชน รวมทั้งสร้างกลไกใหม่ๆ
ชาวบ้านใน ‘ชุมชนเข้มแข็ง’ หลายแห่ง ‘เพิ่มรายได้’ ด้วยการ ‘ลดรายจ่าย’ เช่น ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคบางอย่างที่ทำเองได้ในชุมชน เช่น แชมพู สบู่ น้ำยาซักผ้า และน้ำยาล้างจาน ส่วนหนึ่งเพราะการ ‘เพิ่มรายได้’ จากการทำมาหากินนั้นยังลำบากยิ่ง ตราบใดที่โครงสร้างการทำมาหากินของพวกเขายังถูกบิดเบือนและบิดเบี้ยวอย่างไม่เป็นธรรม เช่น นโยบายและกฏเกณฑ์ของรัฐที่อุดหนุนนายทุนอุตสาหกรรมและพ่อค้าคนกลางมากกว่าเกษตรกรรายย่อย
ในเมื่อการ ‘ลดรายจ่าย’ มีข้อจำกัด เพราะคนเราทุกคนย่อมมีรายจ่าย เมื่อลดถึงจุดหนึ่งก็จะลดอีกไม่ได้ และชาวบ้านทุกคนย่อมอยากมี ‘กำลังซื้อ’ และ ‘ฐานะ’ มากกว่าเดิม คงไม่ยุติธรรมถ้าใครจะยัดเยียดความคิดที่ว่าชาวบ้านไม่ควรมีสิทธิใช้สินค้าที่ชนชั้นกลางเอ็นจอยและชุมชนผลิตเองไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ มอเตอร์ไซค์ คอมพิวเตอร์ เคเบิลทีวี ฯลฯ
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าชาวบ้านไม่ควรบริโภค แต่อยู่ที่ว่าควรบริโภคอย่างไรให้ไม่มีปัญหามากกว่าเดิม ควรบริหารจัดการเงินอย่างไร ในเมื่อการบริโภคถูกจำกัดด้วยปัญหาด้านรายได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลพวงจากปัญหาความบิดเบี้ยวและบิดเบือนในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รัฐก็จะต้องเข้ามาทำหน้าที่แก้ไขความบิดเบี้ยวเหล่านั้นอย่างจริงจัง ไม่ใช่ปล่อยให้ชุมชนดิ้นรนที่จะเข้มแข็งด้วยลำแข้งของตัวเอง เพราะชุมชนย่อมไม่มีพลังหรืออำนาจพอที่จะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ รัฐต้องผลักดันให้เกิดกลไกเชิงโครงสร้างใหม่ๆ ที่จะหนุนเสริม ‘เศรษฐกิจชุมชน’ และคุ้มครองสิทธิชุมชนในระดับรากฐาน เช่น กฎหมายป่าชุมชน กระบวนการทำประชามติในกรณีสร้างโครงการขนาดใหญ่ ฯลฯ
2. รู้เท่าทันนายทุน ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนที่ถึงพร้อมด้วยองค์ความรู้ เพื่อให้ ‘เศรษฐกิจชุมชน’ เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจนอกชุมชนในลักษณะเกื้อกูลกัน
ตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา หลายหมู่บ้านสามารถสร้าง ‘เศรษฐกิจชุมชน’ ขึ้นมาได้อย่างน่าชื่นชมด้วยการหาวิธีพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุดโดย ‘ตัดขาด’ จากโลกภายนอก อย่างไรก็ดี ชุมชนที่ไม่อยากหยุดอยู่แค่การพึ่งตนเอง แต่อยากเติบโตและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ก็ควรจะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในฐานะ ‘หุ้นส่วน’ ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ นักพัฒนา หรือภาคธุรกิจที่สนใจจะทำ ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ และ ‘โครงการซีเอสอาร์’
การพัฒนา ‘เศรษฐกิจชุมชน’ ทำได้ยากหากไม่สร้างปฏิสัมพันธ์กับเศรษฐกิจนอกชุมชนในทางที่ยั่งยืน เพราะชุมชนมีขนาดเล็ก ลำพังการขายสินค้าและบริการกันเองภายในไม่อาจสร้างรายได้พอที่จะซื้อเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อยกฐานะ จำเป็นจะต้องอาศัยองค์ความรู้จากโลกธุรกิจและกลไกส่งเสริมที่เหมาะสมมาสร้าง ‘ผู้ประกอบการขนาดจิ๋ว’ ในชุมชน เช่น ความรู้ด้านการผลิต การตลาด และการกระจายสินค้า ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อป ความรู้ด้านการพัฒนาและบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสร้างธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศหรือท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นต้น
กระบวนการเรียนรู้ในชุมชนสมัยนี้ไม่ได้หมายถึงมายาคติเดิมที่ว่าจะต้องรอให้รัฐมา ‘สงเคราะห์’ หรือ ‘เอื้ออาทร’ ให้ชาวบ้านหาย ‘โง่-จน-เจ็บ’ อีกต่อไป หากหมายถึงการช่วยให้พวกเขาค้นพบศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง และสร้างแรงจูงใจให้ผนึกกำลังกัน เช่น ผ่านกระบวนการ ‘ประชาพิจัย’ ที่ให้สมาชิกในชุมชนร่วมกันวิเคราะห์ตัวเอง หาวิธีใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
กระบวนการวิจัยตนเองของชุมชนเริ่มปรากฎผลลัพธ์ให้เห็นมากมายหลายรูปแบบ เช่น ‘แผนแม่บทชุมชน’ ตอนนี้ความท้าทายดูจะอยู่ที่การทำแผนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ให้ ‘เศรษฐกิจชุมชน’ เกิดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน บนฐานความรู้และความรักในชุมชนของสมาชิก
นอกจากนี้ ความท้าทายที่เกี่ยวข้องประการสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ซึ่งหลายชุมชนกำลังใช้ขับเคลื่อนแนวคิด ‘เศรษฐกิจชุมชน’ กลายเป็น ‘องค์ความรู้’ ทางวิชาการที่มากกว่าปรัชญาหรือวาทกรรม ได้รับการค้นคว้า วิจัย ต่อยอดด้วยนวัตกรรมและองค์ความรู้จากโลกธุรกิจ ให้สอดคล้องกับวิถี ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ ที่เริ่มปรากฏมาตรฐานสากลให้เราเห็นแล้วทั่วโลก.