ทำให้เงินกู้ปลอดภัยกว่าเดิม : เหตุผลที่รัฐควรกำกับดูแลตลาดสินเชื่ออเมริกัน

[เมื่อวานไปเล่น “5-minute freeze” ที่หน้ามาบุญครองกับสยามพารากอน (สองรอบ) มา สนุกมากๆ ขอขอบคุณคุณ PaePae, jedineko, โปจิ และท่านอื่นๆ ที่ร่วมกันจัด 🙂 วีดีโอยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี เสร็จเมื่อไหร่จะเอามาเผยแพร่ ระหว่างนี้ติดตามความคืบหน้าได้จาก Forum ของ Thai Viral Video Project]

เพิ่งแปลบทความดีๆ ของ Elizabeth Warren แห่ง Harvard Law School ลงโอเพ่นออนไลน์ไปหมาดๆ เลยอยากเอามาเผยแพร่ในนี้ด้วย ตอนนี้ประเด็นเรื่องขอบเขตการกำกับดูแลภาคการเงิน ที่ปะทุขึ้นเป็นวิวาทะสาธารณะหลังเกิดวิกฤตซับไพรม กำลังเป็น “ประเด็นร้อน” ที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในหลายแวดวงในอเมริกา โชคร้ายที่สื่อมวลชนและนักวิชาการไทยยังไม่ค่อยติดตามหรือรายงานเรื่องนี้กันเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่นี่เป็นวิวาทะครั้งสำคัญมากที่จะเป็นประโยชน์มากมายต่อธุรกิจการเงิน นักกฎหมาย องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และประชาชนไทยทั้งหลายผู้เป็น “ลูกหนี้” หวังว่าในช่วงเวลานับจากนี้จะได้ยินการถกเถียงเรื่องนี้ในเมืองไทยมากขึ้น เพราะวิกฤตซับไพรมยังไม่มีทีท่าว่าจะ “หายไป” ง่ายๆ (อ่านบทความนี้แล้วจะเข้าใจเหตุผลว่าทำไม)

ทำให้เงินกู้ปลอดภัยกว่าเดิม : เหตุผลที่รัฐควรกำกับดูแลตลาดสินเชื่ออเมริกัน

แปลจาก Making Credit Safer – The Case For Regulation เขียนโดย Elizabeth Warren อาจารย์คณะนิติศาสตร์และผู้อำนวยการหลักสูตรกฎหมายสำหรับตุลาการ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดย สฤณี อาชวานันทกุล ตัวหนาเน้นโดยผู้แปล

มันเป็นไปไม่ได้ที่จะซื้อเครื่องปิ้งขนมปังที่มีโอกาสหนึ่งในห้าที่จะระเบิดเป็นไฟและเผาบ้านคุณจนวอดวาย แต่คุณกลับสามารถรีไฟแนนซ์บ้านคุณด้วยเงินผ่อนที่มีโอกาสหนึ่งในห้าเหมือนกันที่จะทำให้ครอบครัวคุณต้องถูกไล่ออกไปนอนกลางถนน และสินเชื่อบ้านแบบนี้จะไม่เปิดเผยความเสี่ยงดังกล่าวด้วยซ้ำ ในทำนองเดียวกัน มันเป็นไปไม่ได้ที่คนขายเครื่องปิ้งขนมปังจะเปลี่ยนราคาของมันหลังจากที่คุณซื้อไปแล้ว แต่หลังจากที่คุณเซ็นสลิปบัตรเครดิต บริษัทบัตรเครดิตสามารถขึ้นราคาสินเชื่อที่คุณใช้ในการซื้อของอีกสามเท่า ถึงแม้ว่าคุณจะทำตามเงื่อนไขทุกอย่างโดยไม่เคยบิดพลิ้ว ทำไมผู้บริโภคจึงปลอดภัยเวลาพวกเขาซื้อสินค้าที่มองเห็นด้วยเงินสด แต่ต้องอาศัยความกรุณาของเจ้าหนี้เมื่อเขาใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินพื้นๆ อย่างสินเชื่อบ้านและบัตรเครดิต?

ความแตกต่างระหว่างตลาดสองตลาดนี้คือการกำกับดูแลของภาครัฐ ถึงแม้ว่าคำนี้จะกลายเป็นคำหยาบในกรุงวอชิงตันตั้งแต่สมัยที่โรนัลด์ เรแกน เป็นประธานาธิบดี “การกำกับดูแล” ก็เป็นสิ่งที่เอื้อต่อการเติบโตของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเหล่านี้แทบทุกชิ้นในอเมริกาต้องผ่านกฎระเบียบพื้นฐานด้านความปลอดภัย นานก่อนที่มันจะปรากฏบนหิ้ง ในขณะที่ผลิตภัณฑ์สินเชื่อถูกกำกับดูแลแบบลุ่มๆ ดอนๆ ตามยถากรรม ด้วยชุดกฎหมายระดับชาติและระดับมลรัฐที่ล้มเหลวที่จะปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสภาวะตลาด นอกจากนี้ การกำกับดูแลที่มีประสิทธิผลในตลาดสินค้าที่จับต้องได้ยังสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย ที่ทำให้สินค้าเหล่านี้มีความปลอดภัยและทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่นวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ด้านการเงินมีแต่นำไปสู่เงื่อนไขซับซ้อนที่ไม่มีใครเข้าใจ และพฤติกรรมไร้ความปรานีที่ทำให้ครอบครัวของคนทั่วไปต้องพึ่งพิงความกรุณาของคนเขียนสัญญา


[เมื่อวานไปเล่น “5-minute freeze” ที่หน้ามาบุญครองกับสยามพารากอน (สองรอบ) มา สนุกมากๆ ขอขอบคุณคุณ PaePae, jedineko, โปจิ และท่านอื่นๆ ที่ร่วมกันจัด 🙂 วีดีโอยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี เสร็จเมื่อไหร่จะเอามาเผยแพร่ ระหว่างนี้ติดตามความคืบหน้าได้จาก Forum ของ Thai Viral Video Project]

เพิ่งแปลบทความดีๆ ของ Elizabeth Warren แห่ง Harvard Law School ลงโอเพ่นออนไลน์ไปหมาดๆ เลยอยากเอามาเผยแพร่ในนี้ด้วย ตอนนี้ประเด็นเรื่องขอบเขตการกำกับดูแลภาคการเงิน ที่ปะทุขึ้นเป็นวิวาทะสาธารณะหลังเกิดวิกฤตซับไพรม กำลังเป็น “ประเด็นร้อน” ที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในหลายแวดวงในอเมริกา โชคร้ายที่สื่อมวลชนและนักวิชาการไทยยังไม่ค่อยติดตามหรือรายงานเรื่องนี้กันเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่นี่เป็นวิวาทะครั้งสำคัญมากที่จะเป็นประโยชน์มากมายต่อธุรกิจการเงิน นักกฎหมาย องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และประชาชนไทยทั้งหลายผู้เป็น “ลูกหนี้” หวังว่าในช่วงเวลานับจากนี้จะได้ยินการถกเถียงเรื่องนี้ในเมืองไทยมากขึ้น เพราะวิกฤตซับไพรมยังไม่มีทีท่าว่าจะ “หายไป” ง่ายๆ (อ่านบทความนี้แล้วจะเข้าใจเหตุผลว่าทำไม)

ทำให้เงินกู้ปลอดภัยกว่าเดิม : เหตุผลที่รัฐควรกำกับดูแลตลาดสินเชื่ออเมริกัน

แปลจาก Making Credit Safer – The Case For Regulation เขียนโดย Elizabeth Warren อาจารย์คณะนิติศาสตร์และผู้อำนวยการหลักสูตรกฎหมายสำหรับตุลาการ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดย สฤณี อาชวานันทกุล ตัวหนาเน้นโดยผู้แปล

มันเป็นไปไม่ได้ที่จะซื้อเครื่องปิ้งขนมปังที่มีโอกาสหนึ่งในห้าที่จะระเบิดเป็นไฟและเผาบ้านคุณจนวอดวาย แต่คุณกลับสามารถรีไฟแนนซ์บ้านคุณด้วยเงินผ่อนที่มีโอกาสหนึ่งในห้าเหมือนกันที่จะทำให้ครอบครัวคุณต้องถูกไล่ออกไปนอนกลางถนน และสินเชื่อบ้านแบบนี้จะไม่เปิดเผยความเสี่ยงดังกล่าวด้วยซ้ำ ในทำนองเดียวกัน มันเป็นไปไม่ได้ที่คนขายเครื่องปิ้งขนมปังจะเปลี่ยนราคาของมันหลังจากที่คุณซื้อไปแล้ว แต่หลังจากที่คุณเซ็นสลิปบัตรเครดิต บริษัทบัตรเครดิตสามารถขึ้นราคาสินเชื่อที่คุณใช้ในการซื้อของอีกสามเท่า ถึงแม้ว่าคุณจะทำตามเงื่อนไขทุกอย่างโดยไม่เคยบิดพลิ้ว ทำไมผู้บริโภคจึงปลอดภัยเวลาพวกเขาซื้อสินค้าที่มองเห็นด้วยเงินสด แต่ต้องอาศัยความกรุณาของเจ้าหนี้เมื่อเขาใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินพื้นๆ อย่างสินเชื่อบ้านและบัตรเครดิต?

ความแตกต่างระหว่างตลาดสองตลาดนี้คือการกำกับดูแลของภาครัฐ ถึงแม้ว่าคำนี้จะกลายเป็นคำหยาบในกรุงวอชิงตันตั้งแต่สมัยที่โรนัลด์ เรแกน เป็นประธานาธิบดี “การกำกับดูแล” ก็เป็นสิ่งที่เอื้อต่อการเติบโตของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเหล่านี้แทบทุกชิ้นในอเมริกาต้องผ่านกฎระเบียบพื้นฐานด้านความปลอดภัย นานก่อนที่มันจะปรากฏบนหิ้ง ในขณะที่ผลิตภัณฑ์สินเชื่อถูกกำกับดูแลแบบลุ่มๆ ดอนๆ ตามยถากรรม ด้วยชุดกฎหมายระดับชาติและระดับมลรัฐที่ล้มเหลวที่จะปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสภาวะตลาด นอกจากนี้ การกำกับดูแลที่มีประสิทธิผลในตลาดสินค้าที่จับต้องได้ยังสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย ที่ทำให้สินค้าเหล่านี้มีความปลอดภัยและทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่นวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ด้านการเงินมีแต่นำไปสู่เงื่อนไขซับซ้อนที่ไม่มีใครเข้าใจ และพฤติกรรมไร้ความปรานีที่ทำให้ครอบครัวของคนทั่วไปต้องพึ่งพิงความกรุณาของคนเขียนสัญญา

บางครั้ง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเจ้าหนี้เป็นเรื่องสมเหตุสมผล สินเชื่อช่วยสร้างมูลค่าที่แท้จริงให้กับหลายล้านครัวเรือน ทำให้พวกเขาสามารถซื้อบ้านที่เสริมสร้างความมั่งคั่ง และรถยนต์ที่สามารถขยับขยายโอกาสในการหางาน นอกจากนี้ สินเชื่อยังเป็นตาข่ายสร้างความปลอดภัยที่สำคัญ ในแง่ที่มันเป็นโอกาสให้ครัวเรือนหยิบยืมอนาคตที่ดีกว่าปัจจุบัน มาใช้แก้ปัญหาปัจจุบันทันด่วนที่พวกเขาต้องเผชิญ เช่น ถูกไล่ออกจากงาน หรือปัญหาฉุกเฉินทางสุขภาพ ประกันชีวิตและสัญญาลงทุนที่จ่ายเงินคืนรายปี (annuity) สามารถเสริมสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวได้อย่างมหาศาล ผู้บริโภคอาจไม่ใช้เวลาหลายชั่วโมงในการเพ่งพินิจรายละเอียดของเงื่อนไขบัตรเครดิต หรือเข้าใจกระดาษทุกแผ่นที่พวกเขาลงนามตอนซื้อบ้าน แต่ผลิตภัณฑ์การเงินเหล่านั้นจำนวนมากตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่เป็นธรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

แต่สำหรับครัวเรือนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ถูกชักจูงให้ใช้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่แพงเกินเหตุ และสัญญาประกันที่ตั้งใจล่อลวงให้เข้าใจผิด ความเชื่อมั่นในเจ้าหนี้มีต้นทุนสูงมาก และสำหรับครัวเรือนที่ติดอยู่ในร่างแหของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่อันตรายจริงๆ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นการสูญเสียเงินออมทั้งชีวิต สูญเสียบ้านของตัวเอง ต้องเสียค่าประกันรถยนต์แพงกว่าเดิม ถูกปฏิเสธงาน ชีวิตสมรสมีปัญหา ชีวิตหลังเกษียณหดหู่ และชีวิตส่วนตัวพังพินาศ

ผู้บริโภคที่เดินเข้าตลาดมาเพื่อหาซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ควรได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกันกับผู้บริโภคที่หาซื้อเครื่องใช้ในครัวเรือน เราต้องมีหน่วยงานรัฐใหม่ที่ปกป้องผู้บริโภคที่ใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ในทำนองเดียวกับที่เรามีคณะกรรมการคุ้มครองความปลอดภัยของสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Product Safety Commission หรือ CPSC) ซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองผู้ซื้อสินค้าและสนับสนุนตลาดที่มีการแข่งขัน ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องตระหนักว่า การกำกับดูแลของทางการสามารถสนับสนุนและส่งเสริมตลาดที่มีประสิทธิภาพและมีพลวัตดีกว่าเดิม

ปัญหาสินเชื่อระบาด

ชาวอเมริกันกำลังจมอยู่ในทะเลหนี้ ครอบครัวหนึ่งในสี่ของทั้งประเทศบอกว่าพวกเขากังวลว่าจะจ่ายค่าบัตรเครดิตเดือนนี้ได้อย่างไร ผู้ถือบัตรเครดิตอีกเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมดผิดนัดชำระหนี้ในปี 2006 (ปีสุดท้ายที่เรามีข้อมูล) และอีก 2.1 ล้านครัวเรือนผิดนัดชำระดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ในปี 2006 ครอบครัวอเมริกันกว่า 1.3 ล้านครัวเรือนได้รับการแจ้งว่าจะถูกยึดบ้าน สูงเป็นประวัติการณ์ หลังจากนั้นในปี 2007 อีก 2.2 ล้านครัวเรือนก็ถูกยึดบ้าน

ความเดือดร้อนของครอบครัวลูกหนี้ถูกทับถมเป็นทวีคูณด้วยค่าธรรมเนียมแพงหูฉี่ในตลาดสินเชื่อ ที่ทำให้ผู้บริโภครุ่นนี้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงของสินเชื่อสูงกว่าคนรุ่นก่อนหน้านี้ การเปิดเสรีดอกเบี้ย [ให้ลอยตัวได้อย่างเสรี] ผนวกกับนวัตกรรมในการคิดรายได้ของเจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็น “อัตราดอกเบี้ยแนะนำ” (teaser rates), การตัดจ่ายแบบติดลบ (negative amortization), ค่าธรรมเนียมประเภทใหม่ๆ, เงื่อนไขการผิดนัดไขว้ (cross-default) [หมายความว่าถ้าลูกหนี้ผิดนัดกับเจ้าหนี้รายอื่นใด ให้ถือว่าเป็นการผิดนัดกับเจ้าหนี้รายนี้ด้วย] และการคิดดอกเบี้ยผิดนัด (penalty interest rate) เปลี่ยนธุรกรรมสินเชื่อให้เป็นธุรกรรมที่ซับซ้อนอย่างมีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว การทำการตลาดเชิงรุกทำให้ประเด็นนี้ยากกว่าเดิม ชี้นำและชักจูงความต้องการของผู้บริโภคไปในทิศทางที่ไม่คาดฝันและมีต้นทุนสูง เวลาและระดับความรู้เท่าทันของผู้บริโภคตามไม่ทันตลาดสินเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไป พวกเขาเซ็นสัญญาซื้อผลิตภัณฑ์สินเชื่อโดยมีความเข้าใจเพียงผิวเผินเท่านั้นในเงื่อนไขสัญญาดังกล่าว

ธุรกิจบัตรเครดิตสะท้อนให้เราเห็นต้นทุนของอุตสาหกรรมสินเชื่อที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2006 ชาวอเมริกันจ่ายเงินค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย ต้นทุนส่วนต่างในการซื้อของ และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบัตรเครดิต คิดเป็นเงินรวมกันกว่า 89,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นั่นคือ 89,000 ล้านเหรียญสหรัฐที่ออกจากกระเป๋าสตางค์ของชนชั้นกลางทั่วไป คนที่มีงานทำ ต้องส่งลูกไปโรงเรียน และไปจ่ายตลาด นั่นคือ 89,000 ล้านเหรียญสหรัฐที่ไม่ได้นำไปซื้อรถใหม่ ซื้อรองเท้าใหม่ หรือซื้อสินค้าและบริการอื่นๆ แน่นอนว่าเงินจำนวนนี้ทำให้พนักงานสถาบันการเงินจำนวนมากมีงานประจำทำ และช่วยทำให้นักติดตามหนี้เป็นหนึ่งในอาชีพที่โตเร็วที่สุดในระบอบเศรษฐกิจ

ต้นทุนบางอย่างของหนี้ไม่สามารถวัดได้ด้วยเงิน ความกังวลและความอับอายกลายเป็นความรู้สึกที่ติดตัวชาวอเมริกันทุกคนที่ดิ้นรนกับหนี้ ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ชาวอเมริกันกว่า 10 ล้านครัวเรือนขอยื่นล้มละลาย ปัจจุบันคนอเมริกันหนึ่งในเจ็ดครอบครัวต้องเจรจากับนักติดตามหนี้ อีกหลายล้านครอบครัวถูกยึดบ้านและผิดนัดชำระหนี้ พวกเขารู้สึกอย่างไรบ้างที่ไม่สามารถจ่ายบิลได้? ในปี 2005 สภาวิจัยความเห็นแห่งชาติ (National Opinion Research Council) ไปสัมภาษณ์ประชาชนเกี่ยวกับเหตุการณ์แง่ลบต่างๆ ที่พวกเขาประสบในชีวิต คำตอบคือ ความตายของลูกและการเป็นคนเร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัย ต้องนอนในบ้านพักอนาถาเป็นเหตุการณ์ที่ทำความสะเทือนใจสูงสุด แต่การยื่นขอล้มละลายก็อยู่ไม่ต่ำกว่านั้นมาก คนมองว่าเรื่องนี้ซีเรียสกว่าความตายของเพื่อนสนิท หรือการแยกกันอยู่กับคู่สมรส ในบรรดาคนที่ยื่นขอล้มละลาย กว่าร้อยละ 85 พยายามซ่อนข้อเท็จจริงนี้จากครอบครัว เพื่อนๆ หรือเพื่อนบ้าน

เหตุใดคนเราถึงเป็นหนี้ตั้งแต่แรก? ทุกคนรู้ดีว่าบัตรเครดิตนั้นอันตราย และอันตรายกว่าปกติถ้าหากมียอดค้างชำระ ผู้บริโภครายใดก็ตามที่เซ็นสัญญาผ่อนบ้านโดยไม่อ่านสัญญาอย่างรอบคอบหรือหาคำแนะนำทางกฎหมายเสียก่อน ไม่ควรจะรู้สึกแปลกใจถ้าปรากฏในภายหลังว่าเงื่อนไขบางข้อทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ เจ้าหนี้เงินด่วนที่หากินกับคนหาเช้ากินค่ำมีชื่อเสียมานานแล้วว่าฉวยโอกาสเอาเปรียบลูกหนี้ ไม่มีใครควรหวังว่าจะได้รับการปฏิบัติที่ดีจากพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ที่ปล่อยเงินกู้ไปผ่อนรถ ห้องแถวที่รับซื้อเช็ค หรือการให้การคุ้มครองเงินเบิกเกินบัญชี (overdraft protection) – ประเด็นเดียวกันโผล่ให้เราเห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า นั่นคือ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินนั้นเป็นอันตราย และจะสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภคทุกรายที่ไม่รอบคอบ แต่แล้ว ไม่ว่ามันจะอันตรายเพียงใด ชาวอเมริกันหลายล้านคนก็ทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินเชื่อที่มีมูลค่านับล้านล้านเหรียญสหรัฐทุกปี

การวางกับดัก

ชาวอเมริกันบางคนอ้างว่า เพื่อนบ้านของพวกเขากำลังจมอยู่ในทะเลหนี้เพราะคนเหล่านั้นไม่แยแสกับความเสี่ยง แน่นอน ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าวิกฤตสินเชื่อบางส่วนเป็นผลจากความเขลาและพฤติกรรมสุรุ่ยสุร่ายของลูกหนี้ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมด เจ้าหนี้เป็นฝ่ายจงใจใส่กลอุบายและกับดักลงไปในผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เพื่อล่อลวงให้ครอบครัวติดอยู่ในวงจรเงินกู้ราคาแพง

การสร้างตลาดที่ปลอดภัยกว่าเดิม หมายถึงการสร้างกลไกให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า คุณสมบัติในตัวเองของผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะไม่กลายเป็นต้นเหตุของความเดือดร้อน นั่นหมายความว่า เงื่อนไขที่ซุกซ่อนอยู่ในหมายเหตุตัวเล็กๆ หรือถูกทำให้คลุมเครือไม่ชัดเจนด้วยภาษาเข้าใจยาก การสงวนอำนาจไว้กับผู้ขายและไม่เหลือสิทธิใดๆ ให้กับผู้ซื้อ ตลอดจนเล่ห์เพทุบายทำนองเดียวกัน จะต้องไม่มีที่ยืนในตลาดที่ทำงานได้ดี

ผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีอันตรายขนาดนี้ได้อย่างไร? ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการที่การเปิดเผยข้อมูล (disclosure) กลายเป็นวิธีที่เจ้าหนี้ใช้ทำให้ลูกหนี้สับสน แทนที่จะให้ข้อมูล ในต้นทศวรรษ 1980 สัญญาบัตรเครดิตทั่วไปมีความยาวหนึ่งหน้า แต่พอมาถึงต้นทศวรรษ 2000 สัญญานี้ก็งอกเป็นสัญญาหนากว่า 30 หน้าที่เต็มไปด้วยภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจ เนื้อหาส่วนใหญ่ที่งอกขึ้นมานั้นส่วนใหญ่ถูกออกแบบให้เป็นภาษาเข้าใจยากที่สร้างความได้เปรียบให้กับบริษัทบัตรเครดิต สัญญาสินเชื่อบ้าน สัญญาเงินด่วน เงื่อนไขสินเชื่อรถยนต์ และผลิตภัณฑ์สินเชื่ออื่นๆ มักจะเข้าใจยากเช่นเดียวกัน นี่ไม่ใช่สิ่งที่นักรณรงค์เพื่อผู้บริโภครู้สึกไปเอง ในบันทึกเมื่อเร็วๆ นี้ที่ส่งให้ผู้บริหารธนาคารอ่าน รองผู้อำนวยการบริษัทที่ปรึกษา Booz Allen Hamilton ตั้งข้อสังเกตว่า ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของธนาคาร “ซับซ้อนเกินกว่าที่ผู้บริโภคทั่วไปจะเข้าใจได้”

บางครั้ง เจ้าหนี้จะอ้างว่าสัญญาอันยืดยาวของพวกเขาต้องหนาขนาดนั้นเพื่อปกป้องตัวเองจากการถูกฟ้อง แต่ข้ออ้างนี้มองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า เจ้าหนี้ได้ค้นพบวิธีการอื่นๆ มากมายที่สามารถคุ้มครองพวกเขาจากความเสี่ยงนี้ได้อย่างดีเยี่ยม ยกตัวอย่างเช่น เงื่อนไขเกี่ยวกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการ (arbitration clauses) อาจดูไม่มีพิษภัยอะไรในสายตาของผู้บริโภค แต่เป้าหมายที่แท้จริงของมันมักจะเป็นการหลบให้พ้นขอบเขตของคดีฟ้องร้องแบบรวมกลุ่ม (class-action lawsuit) นั่นหมายความว่า เจ้าหนี้สามารถทำผิดกฎหมายได้ แต่ถ้ามูลค่าเงินไม่สูง ก็จะมีผู้บริโภคไม่กี่คนที่อยากลงทุนเสียเวลาฟ้องร้อง

การคุ้มครองทางกฎหมายเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของภาษาเยิ่นเย้อที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เจ้าหนี้บรรจุเล่ห์เหลี่ยมมากมายเข้าไปในสัญญาเงินกู้ สำหรับใครก็ตามที่ยินดีลงแรงทำความเข้าใจกับคำศัพท์อย่าง “LIBOR” และ “Cash Equivalent Transactions” เสียจนทำให้ความพยายามใดๆ ที่จะเข้าใจและประเมินความเสี่ยงที่แท้จริง กลายเป็นความพยายามที่ไร้ความหมาย ยกตัวอย่างเช่น หลังจากที่ใช้ 47 บรรทัดในการอธิบายวิธีการคำนวณดอกเบี้ย บริษัทบัตรเครดิตชั้นนำรายหนึ่งก็เขียนสรุปว่า “เราสงวนสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทุกเวลา ด้วยเหตุผลใดก็ได้” เป็นที่ชัดเจนว่าเป้าหมายของภาษาที่วกไปวนมาทั้งหมดนั้นคือการปกปิดความจริงที่สำคัญที่สุด นั่นคือ เจ้าหนี้จะเก็บเงินเท่าไรก็ได้ที่พวกเขาอยากเก็บ ผลลัพธ์สุดท้ายที่เกิดขึ้นคือ เจ้าหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้นกับเงื่อนไขหรือราคาใดก็ตามที่กลายเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ชอบใจในอนาคต แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาคาดหวังให้ลูกค้ารับผิดชอบเงื่อนไขทุกอย่างที่อยากบังคับ และก็คาดหวังให้ศาลรับรองเงื่อนไขเหล่านั้นด้วย

สิ่งที่แย่ไปกว่านั้นคือ ผู้บริโภคที่ไม่ไว้ใจเล่ห์กลของเจ้าหนี้อาจมองหาความช่วยเหลือ แต่กลับลงเอยในอ้อมแขนของคนอื่นที่รอวันปอกลอกพวกเขา แล้วส่งผู้บริโภคต่อไปให้เจ้าหนี้ปอกลอกอีกทอดหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริโภคอาจโทรหาคนที่ลงโฆษณาว่าเป็น “เพื่อนที่จะช่วยคุณหาสินเชื่อบ้านที่มีเงื่อนไขดีที่สุด” “คนที่จะอยู่เคียงข้างคุณ” และ “เข้าถึงสินเชื่อบ้านเป็นพันๆ ด้วยการหมุนโทรศัพท์เพียงครั้งเดียว – ทำการช้อปปิ้งเปรียบเทียบทั้งหมดของคุณที่นี่” เมื่อผู้บริโภคไปติดต่อนายหน้าเงินผ่อนบ้าน (mortgage broker) พวกเขาอาจเชื่อว่านายหน้าคนนั้นจะให้คำแนะนำที่ดี เพื่อนำทางพวกเขาในป่าทึบอันตราย และนายหน้าบางคนก็ทำแบบนั้นจริงๆ แต่ผู้บริโภคก็ความเสี่ยงพอๆ กันที่จะเจอนายหน้าที่ทำงานเพื่อผลประโยชน์ตัวเองเท่านั้น พวกที่รับเงินค่าตอบแทน ซึ่งก็คือเงินสินบนดีๆ นี่เอง จากบริษัทสินเชื่อ เพื่อชักจูงให้ครอบครัวตัดสินใจเลือกสินเชื่อบ้านราคาแพงที่มี “อัตราดอกเบี้ยแนะนำ” ต่ำมากในช่วงแรก แทนที่จะเลือกสินเชื่อบ้าน 30 ปี ที่คิดดอกเบี้ยคงที่ในอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี เพราะนายหน้าคนนั้นจะได้รับค่าตอบแทนที่เรียกว่า “yield service premium” หรือ YSP จากเจ้าหนี้ถ้าสามารถขายสินเชื่อแบบแพงได้ โครงสร้าง YSP เป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นมหกรรมการขายแบบไม่ลืมหูลืมตา ที่นำไปสู่การล่มสลายของตลาดสินเชื่อซับไพรม

ถึงแม้ว่า YSP จะมีลักษณะที่ทำให้รองผู้อำนวยการมูลนิธิ Fannie Mae คนหนึ่งเรียกมันว่า “เงินใต้โต๊ะของเจ้าหนี้” สภาคองเกรสและหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐกลับยอมให้ใช้กันต่อไป ภายใต้แรงกดดันจากอุตสาหกรรมนายหน้าสินเชื่อบ้าน อันที่จริง นายหน้าสินเชื่อบ้านเผชิญกับข้อจำกัดทางกฎหมายที่น้อยมากๆ โดยเฉพาะในตลาดสินเชื่อของผู้มีรายได้น้อย (YSP อยู่ในร้อยละ 85-90 ของสินเชื่อบ้านที่เป็นซับไพรม ชี้ให้เห็นว่านายหน้าพยายามชักจูงลูกค้าให้ใช้สินเชื่อแพงๆ โดยไม่จำเป็นเลย) ต้นทุนของการทำแบบนี้สูงอย่างน่ากลัว – Fannie Mae ประเมินว่า กว่าร้อยละ 50 ของลูกหนี้ที่เลือกสินเชื่อซับไพรมที่ทำให้พวกเขาล่มจม มีคุณสมบัติดีพอที่จะได้รับอนุมัติสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ชั้นดี (prime-rate loan) งานวิจัยของกรมที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมือง (Department of Housing and Urban Development) ชี้ให้เห็นว่า หนึ่งในเก้าครอบครัวที่มีรายได้ปานกลาง (และหนึ่งในสิบสี่ครอบครัวที่มีรายได้สูง) ที่รีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้าน ลงเอยด้วยการใช้สินเชื่อซับไพรมที่คิดค่าธรรมเนียมแพงและเก็บดอกเบี้ยสูง การชักจูงให้ครอบครัวที่มีศักยภาพพอที่จะได้รับอนุมัติเงินกู้ร้อยละ 6.5 หันไปใช้เงินกู้แพงๆ จะทำให้ครอบครัวมีต้นทุนแพงกว่าเดิมหลายหมื่นเหรียญสหรัฐ แต่เรื่องนี้จะไม่โผล่ให้เห็นในสถิติใดๆ ทั้งสิ้นเกี่ยวกับสินเชื่อซับไพรม

เจ้าหนี้ประเภทอื่นมีเทคนิคของตัวเองในการปอกลอกลูกหนี้ เจ้าหนี้เงินด่วนเสนอความช่วยเหลือเมื่อผู้บริโภคร้อนเงิน แต่สิ่งที่ถูกฝังอยู่ในส่วน “เปิดเผยข้อมูล” ของสัญญาเงินกู้ของเจ้าหนี้รายหนึ่ง (แทนที่จะอยู่ในหน้า “ค่าธรรมเนียม” ซึ่งเป็นส่วนที่ลูกค้าน่าจะมองเห็น) คือหมายเหตุที่ระบุว่า สินเชื่อนี้มีดอกเบี้ยร้อยละ 485.450 ในธุรกรรมที่ศูนย์ส่งเสริมการให้กู้อย่างรับผิดชอบ (Center on Responsible Lending) เก็บตัวเลขเมื่อไม่นานมานี้ พบว่าครอบครัวหนึ่งต้องจ่ายเงินทั้งหมด $2,700 บนสินเชื่อ $300 ขณะที่อีกครอบครัวหนึ่งกู้เงินมา $400 จ่ายคืนไปแล้วกว่า $3,000 และยังถูกเจ้าหนี้เงินด่วนตามจี้เก็บเงินอีกเดือนละ $1,200 จนกระทั่งพวกเขายอมแพ้ ไปยื่นขอล้มละลายต่อศาล มีผู้ประเมินว่าต้นทุนของครอบครัวอเมริกันที่เสียให้กับเงินด่วนมีมูลค่ากว่า 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี กระทรวงกลาโหมประกาศว่าเงินด่วนเป็นปัญหาที่ร้ายแรงมากในหมู่ทหารเสียจนมัน “ลิดรอนความพร้อมทางการทหาร” ปัจจุบัน สภาคองเกรสได้ประกาศห้ามบริษัททุกแห่งไม่ให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 36 ต่อปี กับครอบครัวทหาร แต่ยังปล่อยให้ครอบครัวอื่นๆ ตกเป็นเป้าของการปล่อยสินเชื่อโหดๆ แบบนี้ต่อไป

สำหรับบางคน คำเตือนของเชคเสปียร์ที่ว่า “อย่าเป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้” ดูจะเป็นนโยบายที่ดี แต่ไม่มีใครรณรงค์ให้คนที่ไม่อยากเห็นบ้านถูกเผาเลิกซื้อเครื่องปิ้งขนมปัง หรือรณรงค์ให้คนที่ไม่อยากเสียนิ้วมือและนิ้วเท้าเลิกใช้เครื่องตัดหญ้า การอ้างว่าตลาดสินเชื่อควรจะใช้โมเดล “caveat emptor” [หลักว่าผู้ซื้อต้องรับผิดชอบในความบกพร่องของสินค้า] นั้น เท่ากับเป็นการละเลยความสำเร็จของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค และละเลยความเจ็บปวดที่ผลิตภัณฑ์สินเชื่ออันตรายกระทำต่อผู้บริโภค

ว่ากันตามจริง ความเจ็บปวดที่เกิดจากผลิตภัณฑ์สินเชื่ออันตรายนั้น ร้ายกาจยิ่งกว่าความเจ็บปวดที่เกิดจากเครื่องใช้ในครัวที่ทำงานบกพร่อง ครอบครัวร่ำรวยสามารถมองข้ามกับดักของหนี้บัตรเครดิตได้ เพราะเงินออมของพวกเขาจะช่วยออกค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินจากขอบเขตของประกันสุขภาพ หรือค่าซ่อมรถที่เข้าอู่จากอุบัติเหตุไม่คาดฝัน แต่ครอบครัวผู้ใช้แรงงานและชนชั้นกลางมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่านั้นมาก สำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่บนชายขอบของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ บัตรเครดิตที่ดอกเบี้ยพุ่งสูงถึงร้อยละ 29.99 โดยไม่คาดฝัน หรือความเชื่อมั่นผิดพลาดในนายหน้าที่แนะนำให้ใช้สินเชื่อบ้านแบบแพงๆ อาจเป็นชนวนสู่หุบเหวทางเศรษฐกิจที่ครอบครัวอาจไม่มีวันปีนออกมาได้เลย

อันที่จริง ธุรกรรมสินเชื่อถูกกำกับดูแลโดยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นตัวบทกฎหมายหรือกฎหมายจารีต ตั้งแต่กำเนิดของสาธารณรัฐแห่งนี้ ตามประเพณีปฏิบัติ รัฐบาลท้องถิ่นระดับมลรัฐต่างๆ มีหน้าที่ปกป้องพลเมืองของพวกเขาจากเจ้าหนี้ที่ค้ากำไรเกินควร ด้วยการกำหนดเพดานดอกเบี้ยขูดรีด (usury caps) และกฎระเบียบอื่นๆ ที่บริษัททุกรายที่ทำธุรกิจในพื้นที่ต้องปฏิบัติตาม ถึงแม้ว่ารัฐบาลระดับมลรัฐจะยังมีบทบาทอยู่บ้าง โดยเฉพาะในการกำกับดูแลธุรกรรมในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายเกี่ยวกับดอกเบี้ยซึ่งเป็นเครื่องมือหลักของพวกเขา ก็ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงด้วยกฎหมายระดับประเทศ ทุกวันนี้ เจ้าหนี้รายใดก็ตามที่ได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจระดับประเทศ (federal bank charter) สามารถไปทำธุรกิจในมลรัฐที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไว้สูงมาก (เช่น เซ้าท์ดาโกต้า หรือเดลาแวร์) แล้ว “ส่งออก” เพดานดอกเบี้ยของรัฐนั้นๆ (หรือรัฐที่ไม่กำหนดเพดานเลย) ไปยังลูกค้าทั่วประเทศ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ อัตราดอกเบี้ยลอยตัวทั้งประเทศเสมือนภาวะเปิดเสรี เรื่องนี้ไม่เคยเป็นวิวาทะสาธารณะ ในเดือนเมษายน 2007 ศาลฎีกาขยับไปในทิศทางนั้นอีกก้าวหนึ่ง ในคำพิพากษาคดี Watters v. Wachovia [Wachovia คือธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของอเมริกา] ซึ่งศาลตัดสินว่า ผู้กำกับดูแลระดับชาติมีอำนาจยับยั้งความพยายามของรัฐบาลระดับมลรัฐในการควบคุมเจ้าหนี้เงินผ่อน โดยไม่จำเป็นต้องออกกฎเกณฑ์ควบคุมดูแลระดับชาติที่ได้ผลเข้ามาแทนที่

กฎหมายระดับท้องถิ่นมีปัญหาอีกข้อหนึ่ง ในขณะที่เจ้าหนี้กระจุกตัวมากขึ้น [จากการควบรวมกิจการระหว่างผู้เล่นในตลาด] และตลาดสินเชื่อกลายเป็นตลาดระดับชาติ กฎระเบียบมากมายระดับมลรัฐทำให้ต้นทุนของเจ้าหนี้พุ่งสูงขึ้น บีบบังคับให้พวกเขาเปิดเผยข้อมูลแบบซ้ำซากและแจกแจง “ข้อยกเว้น” ที่ไร้ความหมาย และในขณะเดียวกันกฎเกณฑ์เหล่านี้ก็เปิดช่องโหว่มากมาย ยกตัวอย่างเช่น ระหว่างทศวรรษ 1970 จนถึงต้นทศวรรษ 1980 สภาคองเกรสย้ายอำนาจในการกำกับดูแลบางแง่มุมของสินเชื่อส่วนบุคคล จากระดับมลรัฐ (state level) ไปสู่ระดับประเทศ (federal level) ด้วยการออกกฎหมายสำคัญๆ เป็นซีรี่ส์ เช่น กฎหมายบังคับให้เปิดเผยข้อเท็จจริงในการปล่อยกู้ (Truth-in-Lending หรือ TIL), กฎหมายรายงานสินเชื่ออย่างเป็นธรรม (Fair Credit Reporting) และกฎหมายห้ามพฤติกรรมลำเอียงในการปล่อยกู้อีกหลายฉบับ กฎหมายเหล่านี้มักมีเงื่อนไขเฉพาะเจาะจงมากๆ เช่น TIL ระบุข้อมูลที่จะต้องเปิดเผยในธุรกรรมสินเชื่อ แม้กระทั่งขนาดของตัวอักษรที่เจ้าหนี้ต้องใช้ และวิธีเปิดเผยอัตราดอกเบี้ย แต่ความเฉพาะเจาะจงของกฎหมายเหล่านี้กลับลิดรอนประสิทธิผลของกฎหมาย กีดกันนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ (เช่น วิธีการใหม่ๆ ในการเปิดเผยข้อมูลต่อลูกค้า) และล้มเหลวในการควบคุมนวัตกรรมที่เป็นอันตราย (เช่น เจ้าหนี้ไม่ต้องอธิบายวิธีการตัดจ่ายแบบติดลบ) ที่แย่ไปกว่านั้นคือ กฎหมายเก่าแก่อายุหนึ่งชั่วคนเหล่านี้ ไม่ครอบคลุมฟีเจอร์ (feature) ใหม่ๆ ของผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เช่น การผิดนัดแบบสากล (universal default ซึ่งแปลว่า เจ้าหนี้สามารถเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น แม้ในภาวะที่ลูกค้าเป็นลูกหนี้ชั้นดี คือสามารถทำตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ได้ทุกประการไม่เคยขาดตกบกพร่อง) และการวางบิลสองรอบ (double-cycle billing หมายถึงการคิดดอกเบี้ยบนยอดเงินที่ชำระคืนไปแล้ว)

ความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะเพิ่มมาตรการหรือปฏิรูประบบการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ทางการเงิน จะถูกต่อต้านโดยกลุ่มนักล็อบบี้ของธุรกิจการเงินที่ทรงอิทธิพล ที่ไม่ถูกคานอำนาจโดยนักล็อบบี้จากฝั่งผู้บริโภคที่มีประสิทธิผลทัดเทียมกัน ทำให้แม้กระทั่งความพยายามขั้นพื้นฐานที่สุดก็ไม่สามารถเป็นกฎหมายได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อทศวรรษที่แล้ว กรณีเอารัดเอาเปรียบลูกค้าในอุตสาหกรรมสินเชื่อบ้านไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่วันนี้ ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าพฤติกรรมฉ้อฉลและหลอกลวงในอุตสาหกรรมนี้ทำให้ความมั่งคั่งของเจ้าของบ้านหายไปกว่า 9.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะจากครอบครัวผู้สูงอายุและผู้ใช้แรงงาน ก่อนที่วิกฤตซับไพรมจะปะทุขึ้นเสียด้วยซ้ำ นักการเมืองผู้หวังดีที่ใจกล้าบางคนพยายามเสนอกฎหมายเพื่อยับยั้งพฤติกรรมเหล่านี้ แต่ร่างกฎหมายเหล่านั้นไม่เคยผ่านคณะกรรมาธิการ แม้ว่าอำนาจในการควบคุมสภาคองเกรสจะเปลี่ยนขั้วในปี 2006 [จากพรรครีพับลิกันมาสู่พรรคเดโมแครต] ความพยายามที่จะควบคุมเจ้าหนี้ก็แทบไม่มีความก้าวหน้าใดๆ เลย

นอกสภาคองเกรส ธนาคารกลาง (Federal Reserve Board หรือ Fed), สำนักงานกำกับดูแลบริการทางการเงิน (Office of the Comptroller of the Currency หรือ OIC), และสำนักงานกำกับดูแลร้านขายของมือสอง (Office of Thrift Supervision) มีอำนาจทางอ้อมในการกำกับดูแลบางแง่มุมของผลิตภัณฑ์การเงิน โดยเฉพาะบางรูปแบบของการปล่อยกู้แบบค้ากำไรเกินควร (predatory lending) แต่พันธกิจหลักของหน่วยงานเหล่านี้คือการคุ้มครองเสถียรภาพของธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ ไม่ใช่การคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงพุ่งความสนใจไปที่ความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร และแทบไม่ให้ความสนใจกับผลกระทบต่อลูกค้าที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของธนาคารเหล่านั้น

ความยุ่งเหยิงในระบบกำกับดูแลยังสร้างปัญหาอีกข้อหนึ่ง นั่นคือ การกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับลูกค้ารายย่อยตั้งอยู่บน “ตัวตน” (identity) ของผู้ขาย ไม่ใช่ธรรมชาติของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ตลาดสินเชื่อซับไพรมเป็นตัวอย่างที่น่าตระหนกของการกำกับดูแลแบบขาดๆ เกินๆ ที่เป็นผลจากหลักการข้อนี้ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2006 ผู้ออกสินเชื่อซับไพรมร้อยละ 23 คือร้านขายของมือสองที่ภาครัฐกำกับดูและ และธนาคารพาณิชย์ อีกร้อยละ 25 ออกโดยบริษัทโฮลดิ้งของธนาคาร (ซึ่งถูกกำกับโดยกฎเกณฑ์อีกชุดหนึ่ง) แต่ผู้ออกสินเชื่อที่เหลือร้อยละ 52 คือบริษัทที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลกลาง ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นนายหน้าสินเชื่อบ้านและบริษัทไฟแนนซ์ ความแตกต่างข้อนี้เป็นชนวนให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกำกับดูแล (regulatory arbitrage) กล่าวคือ ผู้กำกับดูแลรู้ดีว่า ถ้าพวกเขากดดันสถาบันการเงินมากเกินไป สถาบันเหล่านี้ก็เพียงแต่ต้องไปก่อตั้งองค์กรใหม่ (reincorporate) โดยใช้รูปแบบที่จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐอีกที่หนึ่ง หรือไม่ก็ไม่ต้องถูกกำกับดูแลเลย และในความเป็นจริง ก็มีเครดิตยูเนี่ยนจำนวนไม่น้อยที่ล้มเลิกกิจการ เพื่อตั้งตัวขึ้นมาใหม่ในรูปของธนาคารระดับมลรัฐหรือระดับประเทศ เพื่อจะได้อยู่ภายใต้ระบบการกำกับดูแลที่อนุญาตให้พวกเขามีทางเลือกมากกว่าเดิมในการพัฒนาและขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ถ้าผู้ถูกกำกับดูแลสามารถเลือกได้ว่าอยากถูกกำกับดูแลโดยใคร ก็ไม่มีใครควรประหลาดใจที่พวกเขาสามารถฉวยโอกาสหลบเลี่ยงกฎเกณฑ์ในทางที่ตัวเองได้ประโยชน์

โชคร้ายที่ในโลกที่ธุรกิจการเงินเป็นหนึ่งในสามธุรกิจที่ให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองสูงสุด แนวโน้มที่รัฐบาลจะดำเนินการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วและกำกับดูแลภาคการเงินอย่างแข็งขันและมีความหมาย เป็นแนวโน้มที่ริบหรี่ลงเรื่อยๆ ผู้บริโภคถูกทอดทิ้ง ไร้การคุ้มครองในโลกที่พ่อค้าผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายรายได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขายินดีที่จะกอบโกยเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ด้วยวิธีใดก็ตามที่ทำได้

คณะกรรมการคุ้มครองความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน

ถึงเวลาแล้วที่เราจะใช้โมเดลใหม่ในการกำกับดูแลภาคการเงิน โมเดลที่มีเป้าหมายอยู่ที่การคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ไม่ใช่ขีดความสามารถในการทำกำไรของสถาบันการเงิน โมเดลสำหรับการกำกับดูแลทำนองนี้คือ คณะกรรมการคุ้มครองความปลอดภัยของสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Product Safety Commission หรือ CPSC) องค์กรอิสระที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1972 ในสมัยของประธานาธิบดีนิกสัน พันธกิจของ CPSC คือการปกป้องประชาชนจากความเสี่ยงที่จะประสบความบาดเจ็บและความตาย จากสินค้าที่ใช้ในบ้านเรือน โรงเรียน และในการละเล่น องค์กรนี้มีอำนาจในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยสากล สั่งให้บริษัทเรียกคืนสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และห้ามขายสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงอย่างไม่เป็นธรรม ตอนที่ก่อตั้ง CPSC นั้น สภาคองเกรสตระหนักดีว่า “ความซับซ้อนของสินค้าอุปโภคบริโภค และความหลากหลายของธรรมชาติและทักษะของผู้บริโภค มักจะส่งผลให้ผู้ใช้สินค้าไม่สามารถประเมินความเสี่ยงและป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงเหล่านั้นได้อย่างเพียงพอ”

ข้อมูลหลักฐานที่ผ่านมาแสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า CPSC ทำงานคุ้มค่าใช้จ่าย นับจากวันก่อตั้งองค์กรเป็นต้นมา อัตราการตายและการบาดเจ็บจากสินค้าในอเมริกาลดต่ำลงอย่างฮวบฮาบ CPSC ประเมินว่า มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดสำหรับสินค้าสามชนิดคือ ไฟแช็ค คอกเด็กเล็ก และโครงช่วยเด็กหัดเดิน ช่วยเซฟเงินกว่า 2 พันล้านเหรียญทุกปี (มากกว่างบประมาณรวมสะสมขององค์กรที่ได้รับตั้งแต่วันก่อตั้ง)

แล้วทำไมเราถึงไม่ควรก่อตั้งคณะกรรมการคุ้มครองความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (Financial Product Safety Commission หรือ FPSC) ขึ้นมาทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลสำหรับผู้บริโภค เก็บและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ตรวจสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ และสั่งให้ผู้ออกผลิตภัณฑ์อันตรายกลับไปแก้ไขมัน ก่อนที่จะนำไปขายต่อประชาชน? องค์กรนี้ควรตรวจสอบและทบทวนสินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ ฯลฯ และอาจมีอำนาจเหนือผลิตภัณฑ์ประกันและสัญญาลงทุนที่จ่ายเงินคืนรายปี (annuity) อีกด้วย ในทางปฏิบัติ FPSC จะวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพื่อกำจัดเล่ห์เหลี่ยมที่ซุกซ่อนไว้ ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์บางชนิดมีอันตรายมากกว่าชนิดอื่นๆ และเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีผลิตภัณฑ์ใดที่มีความเสี่ยงสูงเกินไปสำหรับผู้บริโภค

FPSC จะทำหน้าที่ส่งเสริมประโยชน์ของตลาดเสรี ด้วยการให้ความเชื่อมั่นว่า ผู้บริโภคจะสามารถเดินเข้าตลาดสินเชื่อด้วยความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาซื้อ ได้ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยขั้นพื้นฐานมาแล้ว องค์กรนี้อาจเก็บข้อมูลไปวิเคราะห์ว่า ผลิตภัณฑ์ทางการเงินชนิดใดที่ผู้บริโภคเข้าใจน้อยที่สุด วิธีการเปิดเผยข้อมูลแบบไหนที่ได้ผลดีที่สุด และผลิตภัณฑ์แบบไหนที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้ลูกหนี้ผิดนัดมากที่สุด องค์กรนี้อาจใช้อำนาจในการกำกับดูแลอย่างลุ่มลึก เช่น สั่งห้ามเงื่อนไขสินเชื่อบางประการ แต่อนุญาตให้ใช้เงื่อนไขบางข้อได้ถ้าเจ้าหนี้ยอมเปิดเผยข้อมูลอย่างชัดเจน องค์กรนี้สามารถส่งเสริมมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นสากล ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ง่ายกว่าเดิม และทำให้มองเห็นผลประโยชน์ทับซ้อนของนายหน้าสินเชื่อบ้านหรือผู้ขายผลิตภัณฑ์ที่ตอนนี้ถูกกำกับดูแลอย่างหละหลวม ยกตัวอย่างเช่น FPSC อาจจะทบทวนเงื่อนไขต่อไปนี้ที่ปรากฏในสัญญาบัตรเครดิตบางแห่ง (แต่ไม่ทุกแห่ง) : เงื่อนไขการผิดนัดสากล ค่าธรรมเนียมที่ไร้ขีดจำกัดและไม่มีคำอธิบาย การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 10 [จากอัตราเดิม] และข้ออ้างของเจ้าหนี้ว่าสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเงินกู้หลังจากที่ปล่อยเงินไปแล้ว

นอกจากนี้ FPSC ยังสามารถส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นผลดีต่อตลาด เช่น ย่อหน้าหนึ่งย่อหน้าที่อธิบายการเก็บดอกเบี้ยทั้งหมดเป็นภาษาชาวบ้าน, คำอธิบายที่ชัดเจนว่าจะเก็บค่าธรรมเนียมเมื่อใดบ้าง, ข้อกำหนดว่าเงื่อนไขทุกข้อของบัตรเครดิตจะต้องไม่เปลี่ยนแปลงจนกว่าบัตรใบนั้นจะหมดอายุ, ห้ามทำการตลาดที่พุ่งเป้าไปที่นักศึกษาหรือเยาวชน, และกำหนดให้เปิดเผยอย่างชัดเจนว่าลูกค้าจะต้องใช้เวลาชำระยอดที่ค้างอยู่อีกนานเท่าไร และจะต้องจ่ายดอกเบี้ยจำนวนเท่าไรถ้าตัดสินใจชำระเพียงขั้นต่ำบนยอดเงินที่ค้างชำระ

องค์กรกำกับดูแลทุกแห่งของรัฐล้วนกังวลตลอดเวลาว่าจะถูกล้อมคอกโดยคนที่พวกเขามีหน้าที่กำกับดูแล แต่ในโลกที่ปราศจากชุดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลใดๆ ที่มีผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง การมี FPSC ที่มีอำนาจปฏิบัติก็ยังดีกว่าทางเลือกอื่นๆ มากมายมหาศาล ไม่ว่าองค์กรนี้ควรอยู่ในหน่วยงานที่มีอยู่เดิม เช่น CPSC หรือเป็นหน่วยงานอิสระ ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือการรวมศูนย์อำนาจในการตรวจสอบและทบทวนผลิตภัณฑ์ทางการเงินทุกประเภทไว้ในที่เดียวกัน โดยมีจุดมุ่งหมายที่ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นต่อผู้บริโภค บริษัทที่เสนอขายผลิตภัณฑ์คุณภาพดีจะไม่มีอะไรต้องกังวล และอันที่จริง ถ้าพวกเขาดำเนินธุรกิจได้โดยไม่ต้องแข่งกับบริษัทอื่นที่โมเดลธุรกิจคือหลอกลวงลูกค้า บริษัทที่ขายผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยกว่าก็จะมีแนวโน้มที่จะเจริญรุ่งเรืองมากกว่า นอกจากนี้ ถ้าเรามี FPSC ผู้ขายสินเชื่อให้กับลูกค้ารายย่อยก็จะสามารถสร้างนวัตกรรมในสนามการแข่งขันที่เท่าเทียม ภายใต้ขอบเขตของเงื่อนไขที่เปิดเผยอย่างชัดเจน และการแข่งขันเสรี ไม่ใช่เงื่อนไขซุกซ่อนที่ถูกออกแบบมาเพื่อหลอกลวงลูกค้า

อุตสาหกรรมการเงินสำหรับลูกค้าส่วนบุคคลได้เติบใหญ่จนทำรายได้กว่า 3 ล้านล้านเหรียญทุกปี เจ้าหนี้จ้างทนาย บริษัทการตลาด นักสถิติ และนักวางกลยุทธ์ทางธุรกิจหลายพันคน เพื่อหาทางให้พวกเขาทำกำไรมากขึ้น ในตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ลูกค้าต้องการใครสักคนที่อยู่ข้างเดียวกันกับพวกเขา เพื่อให้พวกเขามั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อไปนั้นผ่านมาตรฐานความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน ความรับผิดชอบส่วนบุคคลย่อมเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้บัตรเครดิตหรือสินเชื่ออื่นๆ เช่นเดียวกับที่ความรับผิดชอบส่วนบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้สินค้าอื่นๆ อย่างปลอดภัย แต่คณะกรรมการคุ้มครองความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทางการเงินจะเป็นพันธมิตรของผู้บริโภค และสำหรับทุกครอบครัวที่หลีกเลี่ยงกับดักหรือไม่หลงกลเล่ห์เหลี่ยมของเจ้าหนี้ – นั่นคือระบบการกำกับดูแลที่ใช้การได้จริง.