(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทาง, วันที่ 1 & 2, วันที่สาม, วันที่สี่, วันที่ห้า, วันที่หก, วันที่ 7 & 8, วันที่เก้า, วันที่สิบ, วันที่สิบเอ็ด, วันที่สิบสอง, วันที่สิบสาม, วันที่สิบสี่, วันที่สิบห้า, วันที่สิบหก, วันที่สิบเจ็ด, วันที่สิบแปด, วันที่สิบเก้า, วันที่ยี่สิบ, วันที่ยี่สิบเอ็ด, วันที่ยี่สิบสอง, วันที่ 23 & 24, วันที่ยี่สิบห้า, วันที่ยี่สิบหก, วันที่ยี่สิบเจ็ด, วันที่ยี่สิบแปด)
วันที่ยี่สิบเก้า
เซโดนา & แกรนด์ แคนยอน : 28/10/2013
วันนี้เป็นวันที่หลายคนรอคอย คือนั่งรถบัสจากเซโดนาขึ้นเหนือไปเที่ยว แกรนด์ แคนยอน โดยเราจะมองดูวิวจากทางตอนใต้ พอไปถึงก็เปลี่ยนรถบัสไปนั่งรถบัสคันเล็ก มีไกด์พาทัวร์ ซึ่งเขาก็ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าพูดติดตลกและขับพาเราไปแวะตามจุดชมวิวต่างๆ แต่เท่านั้นก็พอแล้ว 🙂
ระหว่างทางไกด์แวะให้เราหยุดที่กระท่อมไม้ขายของ(ตามระเบียบ) ผู้เขียนเลยสั่งกาแฟมากินแก้หนาว เพราะวันนี้นอกจากจะอากาศเย็นแล้วยังลมแรงอีกต่างหาก มิน่าที่ แกรนด์ แคนยอน มีนักท่องเที่ยวตายถึงเกือบ 300 คนทุกปี ส่วนใหญ่จากการเดินป่าแล้วกะเวลาผิด ขาดน้ำตายอยู่กลางแดด หลงทาง หรือไม่ก็พลัดตกเขาจากทางเดิน พวกเราถึงบางอ้อว่าทำไมถึงมีป้ายเตือนว่า อย่านั่งหรือยืนโพสท่าชิดกว่า 2 เมตรจากปากเหว ก็ตอนที่ฮารี (จากมาเลเซีย เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็น “ดาโต๊ะ” ระหว่างทริปนี้ ผู้เขียนชอบเขาเพราะนิสัยดีมาก) นั่งยิ้มโพสอยู่ตรงปากเหว วูบหนึ่งลมพัดมา เล่นเอาเสียวทั้งคนโพสคนถ่าย (ฮารีบอกว่า ลมพัดไหล่เขาขยับ โชคดีที่ก้นไม่ขยับตามไปด้วย)
หน้าร้านขายของที่ระลึกมีป้ายเตือน “อย่าให้อาหารกระรอก!” แถมวาดรูปน่ากลัวให้ดูว่าเสี่ยงที่จะเป็นกาฬโรค (plague) จากเห็บบนตัวกระรอก อ่านแล้วมึนเลย นึกว่ากาฬโรคหมดไปจากโลกนี้ตั้งแต่หลายร้อยปีก่อนแล้วเสียอีก
ตอนบ่ายไกด์พากลับมาส่งที่จุดนัดพบกลางตอนใต้ของ แกรนด์ แคนยอน ให้พวกเราเดินเล่นตามสะดวก หลายคนไปไต่ลงเขาตามทางเดิน คนเข่าไม่ดีอย่างผู้เขียนรู้ตัวดี เลยเลือกไปนั่งรถบัสเล่น ก่อนอื่นเรานั่งไปลงศูนย์รับรองนักท่องเที่ยวทางทิศตะวันออก ไปดูนิทรรศการประวัติการสำรวจ แกรนด์ แคนยอน และสารคดีสองเรื่อง สนุกดีและถ่ายสวยมาก ที่นิทรรศการนี้ทำให้ผู้เขียนได้ความรู้ใหม่ว่า รัฐบาลกลางของอเมริกาเคยมีแนวคิดที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เจ็ดเขื่อนกั้นแม่น้ำโคโลราโดที่ไหลผ่าน แกรนด์ แคนยอน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและผลิตไฟฟ้าจากกระแสน้ำ แต่สุดท้ายก็พับแผนไป ป้ายนิทรรศการบอกว่า “ถ้าหากเขื่อนทั้งเจ็ดแห่งถูกสร้าง ถึงวันนี้จะไม่มีแม่น้ำโคโลราโดไหลผ่านหุบเขาอีกต่อไป”
อ่านแล้วอยากให้พวกที่ตะแบงสนับสนุนให้สร้างเขื่อนยักษ์ในพื้นที่อนุรักษ์อย่างแม่วงก์ในไทยได้มาเยือนที่นี่สักครั้ง จะได้เลิกพูดมั่วๆ ว่า “ที่ไหนๆ ก็สร้างเขื่อน” โดยไม่ดูตาม้าตาเรือและศึกษาประวัติศาสตร์ให้ดี
ชมสารคดีเสร็จแล้วพวกเราก็นั่งรถบัสฟรีไปทางตะวันตกบ้าง คราวนี้ไปชมเมืองประวัติศาสตร์เมืองแรกที่นักบุกเบิกมาตั้งเมื่อร้อยกว่าปีก่อน น่ารักดี ครึ่งชั่วโมงก็เดินได้รอบเมือง เราเดินผ่านสถานีรถไฟเก่าแก่ทำด้วยไม้ทั้งหลัง มีอาคารขายของที่ระลึกฝีมืออินเดียนแดง อาคารนี้ชื่อ Hopi House ฝีมือสถาปนิกหญิงชื่อ แมรี โคลเทอร์ (Mary Colter) เธอตั้งใจออกแบบให้เหมือนกับบ้านของอินเดียนแดงเผ่าโฮปี ข้างในขายของน่าซื้อหลายอย่าง ผู้เขียนดูภาพวาดสมัยใหม่ กับตุ๊กตารูป “คุณยายนักเล่านิทาน” (อุ้มหลานหลายคนบนตัก) แล้วก็อยากซื้อเหมือนกัน แต่ไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหนในบ้านเพราะไม่มีที่จะวางหรือแขวนอะไรแล้ว เลยตัดใจไม่ซื้ออะไรเลย
โรงแรม El Tovar ตรงข้าม Hopi House ก็เป็นโรงแรมเก่าร้อยปีเหมือนกัน แต่สร้างคนละสไตล์กับ Hopi House อย่างสิ้นเชิง คือเหมือนบ้านคนรวยอเมริกันสมัยคาวบอยครองเมือง ไม่ใช่บ้านชนเผ่าท้องถิ่น ข้างในโรงแรมรักษาบรรยากาศผจญภัย Wild West แบบเดิมๆ เอาไว้ รวมทั้งหัวสัตว์สตาฟหลายตัว พวกเราสั่งกาแฟกับเค้กมานั่งกินหลบหนาวที่ระเบียงโรงแรม ก่อนออกเดินทางต่อ
เดินไปเราก็ถ่ายรูป แกรนด์ แคนยอน ไปด้วย เพราะเมืองนี้เลียบขอบตอนใต้ของหุบเขา ผู้เขียนสังเกตว่าหุบเขาตอนบ่ายสวยกว่าตอนสายๆ ที่มีไกด์พาเที่ยวมากเลย น่าจะเป็นเพราะตอนบ่ายมีเมฆ สาดแสงเงาลงไปที่ภูเขาข้างล่าง ทำให้เรามองเห็นความลึกมากกว่าตอนใกล้เที่ยงที่พระอาทิตย์อยู่กลางหัว หุบเขาเลยดูแบนกว่านี้มาก
ผู้เขียนชอบที่อาบีดิน เพื่อนชาวมาเลเซียเดินมาบอกว่า เมื่อคืนวานเรามองดูอดีตหลายพันล้านปีของจักรวาลด้วยการดูดาว วันนี้เรามองดูอดีตหลายล้านปีของโลกด้วยการมาเยือน แกรนด์ แคนยอน 🙂
กว่าจะกลับถึงโรงแรมที่เซโดนาก็เกือบสี่ทุ่มพอดี หลังจากแวะกินข้าวเย็นที่ร้านอาหารไทยในตัวเมืองก่อน อร่อยใช้ได้ทีเดียว พวกเราเหนื่อยจนแยกย้ายกันไปนอน ผู้เขียนแว่บออกมาดูท้องฟ้ากลางคืน เผื่อจะมีใครอยากดูดาวต่อ แต่ปรากฏว่าคืนนี้เมฆมาก ถึงอยากดูดาวแค่ไหนก็ไม่มีดาวให้ดู สรุปว่าโชคดีมากๆ ที่ท้องฟ้าเปิดติดต่อกันสองคืนก่อนหน้านี้ ให้พวกเราได้ออกมานอนดูดาว เปิดโอกาสให้ผู้เขียนได้แนะนำความมหัศจรรย์ของท้องฟ้ากลางคืนให้กับเพื่อนๆ หลายคนที่ไม่เคยตั้งใจดูดาวมาก่อน 🙂