(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทาง, วันที่ 1 & 2, วันที่สาม, วันที่สี่, วันที่ห้า, วันที่หก, วันที่ 7 & 8, วันที่เก้า, วันที่สิบ, วันที่สิบเอ็ด, วันที่สิบสอง, วันที่สิบสาม, วันที่สิบสี่, วันที่สิบห้า, วันที่สิบหก, วันที่สิบเจ็ด, วันที่สิบแปด, วันที่สิบเก้า, วันที่ยี่สิบ, วันที่ยี่สิบเอ็ด, วันที่ยี่สิบสอง, วันที่ 23 & 24, วันที่ยี่สิบห้า, วันที่ยี่สิบหก, วันที่ยี่สิบเจ็ด, วันที่ยี่สิบแปด, วันที่ยี่สิบเก้า, วันที่ 30 & 31)
วันที่สามสิบสอง
บอสตัน : 31/10/2013
วันนี้มีนัดสองนัด ที่ฮาร์วาร์ดทั้งคู่ แต่ก่อนอื่นผู้เขียนมีนัดพาเพื่อนๆ ไปทัวร์มหาวิทยาลัย 🙂 ได้รื้อฟื้นความหลังสมัยเป็นไกด์นักเรียน พาเด็กกับผู้ปกครองทัวร์โรงเรียนเกือบทุกสองเดือนถ้าจำไม่ผิด สมัยนี้มหา’ลัยมีแอพทัวร์มือถือให้ดาวน์โหลดฟรี ศิษย์เก่าบางคนหัวใส ตั้งบริษัท Harvard Tour ให้รุ่นน้องที่กำลังเรียนอยู่เป็นทัวร์ไกด์ ผู้เขียนเลยไปดาวน์โหลดแอพมือถือมาอ่านให้เพื่อนๆ ฟัง เพราะลืมประวัติศาสตร์ไปเยอะแล้วตั้งแต่เรียนจบ
เริ่มต้นทัวร์กันที่ประตูทางเข้าโรงเรียน มีคำขวัญพาดโล่สัญลักษณ์ว่า “Veritas” ซึ่งแปลว่า “ความจริง” ผู้เขียนเล่าว่าสมัยเป็นนักศึกษา เวลามีแข่งฟุตบอลอเมริกันประเพณีระหว่างฮาร์วาร์ดกับเยล (แข่งกันทุกปี เหมือนฟุตบอลจุฬา vs. ธรรมศาสตร์ในเมืองไทย) พวกเราจะแค้นมากเวลาได้ยินฝั่งเยลร้องเพลงปลุกใจว่า “Veritas sucks cos it ain’t got no Lux! Veritas sucks cos it ain’t got no Lux!” ซ้ำไปซ้ำมา (คำขวัญของมหาวิทยาลัยเยลคือ “Lux et Veritas” ซึ่งแปลว่า “แสงสว่างและความจริง”)
เล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่า เขตในรั้วโรงเรียนนี้เรียกว่า Harvard Yard เป็นส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของมหาวิทยาลัย ในนี้คือสถานที่ตั้งของอาคารเรียนระดับปริญญาตรี และหอพักนักศึกษาปริญญาตรีปีที่หนึ่ง (freshman dorms) ส่วนคณะต่างๆ ระดับปริญญาโทจะกระจายอยู่รอบนอก (บางคณะอย่างเช่นบริหารธุรกิจและแพทยศาสตร์อยู่ฝั่งบอสตัน คืออีกฝั่งของแม่น้ำชาร์ลส์) หอปีหนึ่งในบริเวณ Yard มีสิบกว่าแห่ง ฮาร์วาร์ดมีกฏว่านักศึกษาปีหนึ่งจะต้องถูกโรงเรียนจับสุ่มมาอยู่ด้วยกัน ห้ามแยกออกไปเช่าหอพักเอง เพื่อให้นักศึกษาปีหนึ่งได้ทำความรู้จักกัน ไม่อย่างนั้นอาจจะจับกลุ่มกับเพื่อนตัวเองที่มาจากโรงเรียน ม.ปลาย เดียวกันตลอดเวลา ไม่ได้รู้จักคนใหม่ๆ เลย
พาเพื่อนๆ เดินไปดู Science Center ตึกเรียนวิชาที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ จำได้แม่นว่าเคยเดินโซซัดโซเซกลับหอจากตึกนี้ตอนตีสามหลายครั้ง โดยเฉพาะเทอมที่ลงเรียนวิชาโปรแกรมมิ่งขั้นต้น แต่ม้านั่งทำจากไม้กับร่มชายหาดสีขาวที่เรียงกันเป็นตับอยู่หน้าตึกนี่สมัยผู้เขียนไม่มีแน่ๆ เห็นแล้วนึกอิจฉารุ่นน้องขึ้นมาตะหงิดๆ
จุดแวะต่อไปคือ Memorial Hall ที่ตั้งของ Sanders Theatre โรงละครที่ใช้แสดงคอนเสิร์ต ปาฐกถาคนสำคัญ แต่ที่สำคัญสำหรับผู้เขียนคือ ใช้เป็น “ห้องเรียน” วิชายอดนิยมทั้งหลาย เพราะสามารถจุนักศึกษาได้มากถึง 1,100 กว่าคน ตัวอย่างวิชาที่ผู้เขียนเคยมาเรียนในโรงละครนี้ก็มี Ancient Greek Hero โดยอาจารย์ เกรกอรี นาจี (Gregory Nagy) (ซึ่งตอนนี้เปิดเป็นคอร์สออนไลน์ ให้ลงทะเบียนเรียนฟรี) และ Justice: What’s the Right Thing To Do? อันลือลั่นของอาจารย์ ไมเคิล แซนเดล (Michael Sandel) (นึกไม่ถึงว่าอีกยี่สิบปีให้หลังจะได้แปลหนังสือของอาจารย์ซึ่งเขียนขึ้นจากเลกเชอร์วิชานี้)
ต่อไปเราเดินเข้าไปดู Memorial Church โบสถ์ประจำโรงเรียน ถึงวันนี้ก็ยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ที่น่าสนใจคือตั้งใจสร้างเป็นแบบไม่ยึดติดนิกาย (non-denominational) คือศาสนาไหนจะมาใช้สถานที่ก็ได้ (สมัยเรียนผู้เขียนเคยมาฟังพระเทศน์ในนี้ด้วย) ถึงแม้จะมีเสียงเรียกร้องหนาหูจากนักเรียนว่าต้องเปิดกว้างมากกว่านี้ โดยให้ประกาศตัดขาดความสัมพันธ์กับนิกายโปรแตสแตนท์ (ซึ่งก็เป็นนิกายคริสต์ที่ “หลวม” มากแล้ว”) อย่างสิ้นเชิง
บรรยากาศภายใน Memorial Church “โบสถ์เปิดรับทุกศาสนา” ของฮาร์วาร์ด
ปิดท้ายทัวร์ฮาร์วาร์ดด้วยไฮไลท์ คือรูปปั้น จอห์น ฮาร์วาร์ด ซึ่งได้สมญาว่า “รูปปั้นแห่งมุสาสามข้อ” (statue of three lies) เพราะ 1) จอห์น ฮาร์วาร์ด ไม่ใช่ “ผู้ก่อตั้ง” มหาวิทยาลัยตามคำจารึกบนฐานรูปปั้นนี้ (founder) (ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่เขาเพราะเขาบริจาคเงินและหนังสือให้กับโรงเรียน) 2) ฮาร์วาร์ดไม่ได้ก่อตั้งในปี 1638 ตามจารึกบนรูปปั้น แต่ก่อตั้งในปี 1636 (ปี 1638 คือปีที่ฮาร์วาร์ดบริจาคให้กับโรงเรียน) และ 3) หน้าตาของรูปปั้นนี้ไม่ใช่ จอห์น ฮาร์วาร์ด เพราะไม่มีใครรู้ว่าเขามีหน้าตาอย่างไรตอนที่สร้างรูปปั้นนี้ ศิลปินเลยใช้นายแบบหน้าตาดีที่คิดว่า “สะท้อนคุณค่าของ จอห์น ฮาร์วาร์ด” ได้ดีที่สุด (เป็น ideal representation)
รูปปั้น จอห์น ฮาร์วาร์ด เท้าทั้งสองข้างเป็นเงาวับเพราะนักศึกษามาถูก่อนเข้าห้องสอบ เป็นเคล็ดเอาฤกษ์เอาชัยที่ทำติดต่อกันมานาน (ที่มาภาพ: http://thesomewhere.com/images/2011/08/John-Harvard2.jpg)
หลังจากพาเพื่อนๆ เที่ยวโรงเรียนพอหอมปากหอมคอ (แต่กินเวลาเป็นชั่วโมง) ก็ได้เวลาแยกย้ายไปตามนัด นัดแรกผู้เขียนไปเจอ ร็อบ ฟาริส (Rob Faris) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Berkman Center for Internet and Society ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนนี่เอง ศูนย์นี้เป็น think tank เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและความสัมพันธ์ระหว่างอินเทอร์เน็ตกับสังคมที่น่าจะโด่งดังที่สุดแล้วในอเมริกา ผลิตผลงานวิชาการ บทความ และสานเสวนาต่างๆ มากมาย
ถามร็อบคำถามเดียวกันกับที่ถามคนอื่นว่า ทำไมคนอเมริกันถึงไม่แตกตื่นตกใจที่ถูก NSA ดักข้อมูลส่วนตัวกันมากกว่านี้ เขามองว่าเป็นเพราะคนอเมริกันส่วนใหญ่ยังกลัวการก่อการร้าย ยังอยากให้รัฐมีอำนาจ “จัดการ” กับผู้ก่อการร้าย แม้จะต้องแลกกับการถูกลิดรอนสิทธิส่วนบุคคล
ไรอัน บูดิช (Ryan Budish) ผู้อำนวยการโครงการ Herdict.org เครื่องมือบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าไม่ถึงเนื้อหาในเน็ต (ถูกโจมตีหรือปิดกั้น) ที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดในโลก ให้ความเห็นว่าสิ่งที่ทำให้เขาแปลกใจที่สุดเกี่ยวกับข่าว NSA/Snowden คือ การที่บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Yahoo! ยังไม่เสียลูกค้ามูลค่าหมื่นล้านเหรียญไป เพราะข่าวนี้ชี้ชัดว่าบริษัทอินเทอร์เน็ตรักษาความลับของลูกค้า (จากเงื้อมมือของรัฐ) ไว้ไม่ได้ แต่ในอนาคตก็ไม่แน่เหมือนกัน เมื่อข่าวทยอยออกมาเรื่อยๆ อาจจะถึงจุดนั้นก็ได้ เมื่อถึงตอนนั้นบริษัทเน็ตจะต้องปรับตัว เพราะบริษัทอย่าง Facebook, Google, Twitter ฯลฯ จะอยู่หรือจะไปขึ้นอยู่กับ “ความไว้วางใจ” ที่ลูกค้ามอบให้ ถ้าหากเครื่องมือของบริษัทเหล่านี้ไม่ปลอดภัย อีกหน่อยก็จะไม่มีใครอยากใช้ ทำให้เขาเชื่อว่า “การต่อสู้” ในเรื่องนี้จะเป็นการต่อสู้เรื่องเทคโนโลยี (กี๊กโค้ดโปรแกรมเข้ารหัส รัฐจ้างคนมาหาทางถอดรหัส) เป็นหลัก
ก่อนจากกันร็อบทิ้งท้ายว่า โครงการวิจัย “Internet Monitor” ของศูนย์เบิร์กแมนจะยินดีมากถ้าหากผู้เขียนหรือคนอื่นเขียนบทความเกี่ยวกับเมืองไทยส่งไปลง และเห็นว่า เรื่องการคุ้มครองตัวกลางจากความรับผิด (intermediary liability protection) เป็น “การต่อสู้ที่ควรสู้” (a fight worth fighting) สำหรับเมืองไทย ผู้เขียนรับปากว่ากลับไปจะไปหาทางดันเรื่องนี้ต่อ
ตอนเที่ยงผู้เขียนพาเอลิซาไปกินข้าวเที่ยงที่ร้าน Border Café ร้านอาหารเม็กซิกันใน Harvard Square ซึ่งสมัยผู้เขียนเรียนที่นี่เป็นร้านอาหาร (รวมทุกเชื้อชาติ) ที่ดีที่สุดในเขตโรงเรียน มากินทุกสองอาทิตย์ก็ว่าได้ เวลาคนแน่นร้านคิวยาวเหยียดเขาจะใช้วิธีแจกเพจเจอร์คนละเครื่องและจดชื่อไว้ พวกเราจะไปเดินดูหนังสือในร้านหนังสือของโรงเรียนที่อยู่ติดกัน พอถึงคิวเราเพจเจอร์ตัวนี้ก็จะสั่นเป็นสัญญาณให้กลับไปกิน ด้วยระบบนี้ผู้เขียนเลยชอบร้านนี้มาก เพราะนอกจากอาหารจะอร่อยแล้วยังไม่เคยต้องเสียเวลายืนรอคิว แถมเจอหนังสือถูกใจระหว่างไปยืนรออีกต่างหาก!
ไม่น่าเชื่อว่าบรรยากาศในร้านยังเหมือนเมื่อยี่สิบปีก่อนเปี๊ยบ รสชาติก็อร่อยเหมือนเดิม โดยเฉพาะนาโช่จิ้มซอสซัลซาที่เขายกมาแจกทุกโต๊ะ เป็นนาโช่กับน้ำจิ้มที่อร่อยที่สุดตั้งแต่เคยกิน ดีใจที่เอลิซาก็ชอบมากเหมือนกัน ผู้เขียนสั่ง Fajita เนื้อ กับ Fajita ปลาช่อนราดซัลซามะม่วงมาแบ่งกันกิน จานหลังจำไม่ได้ว่าร้านนี้เคยมี น่าจะเป็นเมนูใหม่
นาโช่ที่อร่อยที่สุดในโลก 🙂
Catfish Fajita with Mango Salsa
หลังเที่ยงผู้เขียนไปหาฮีโร่ในดวงใจอีกคน คืออาจารย์ ลอว์เรนซ์ เลสสิก (Lawrence Lessig) นักกฏหมายผู้เชี่ยวชาญกฏหมายไอทีและกฏหมายลิขสิทธิ์ หลังจากให้กำเนิดชุดสัญญาอนุญาต Creative Commons ก็ผันตัวมาเป็นนักรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่น ผ่านเว็บ Rootstrikers การเขียนหนังสือ เผยแพร่บทความ และขยายแนวร่วมกับพลเมือง นักกฏหมาย และนักการเมืองอย่างต่อเนื่อง
อาจารย์เลสสิกมองว่า คอร์รัปชั่นระดับ “ต้นตอ” ในอเมริกาซึ่งถูกกฏหมายร้อยเปอร์เซ็นต์คือ การที่วันนี้ผู้แทนราษฎรพึ่งพาเงินจากคนรวยและบริษัทรวยจำนวนหยิบมือเดียวเวลาหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้สภาคองเกรสไม่ทำงานเพื่อประชาชนทั่วไป แต่ทำงานพิทักษ์ผลประโยชน์ “นายทุน” ของตัวเองเป็นหลัก (อาจารย์เคยคำนวณและนำเสนอในการบรรยายบนเวที TED ว่า อเมริกาทั้งประเทศมีคนราว 311 ล้านคน แต่ทุนในการหาเสียงเลือกตั้งแต่ละครั้งมาจากคนเพียง 144,000 คน หรือร้อยละ 0.05 เท่านั้น)
แกมองว่าวิธีที่จะขจัดคอร์รัปชั่นระดับนี้ได้คือต้องแก้รัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนมีอำนาจในการออกทุนให้นักการเมือง ยกตัวอย่างเช่น กำหนดให้ประชาชนแต่ละคนได้ “คูปอง” มูลค่า $50 – แต่ละคนมีสิทธิใช้คูปองนั้นออกทุนหาเสียงให้กับผู้สมัครคนไหนก็ได้ที่ตัวเองต้องการ วิธีนี้จะทำให้ผู้แทนมี “ฐานทุน” ที่กว้างกว่าเดิม ต้องคำนึงถึงความต้องการของประชาชนจริงๆ นอกจากนี้ก็ต้องจำกัดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการระดมทุน (PAC ย่อมาจาก Political Action Committee) ด้วย ไม่ให้มีอิทธิพลมหาศาลเหนือผู้แทนอย่างในปัจจุบัน
ผู้เขียนถามอาจารย์ว่ามี “เส้นชัย” ในใจหรือเปล่าที่จะผลักดันเรื่องนี้ แกตอบว่าตั้งเป้าที่ปี 2016 ซึ่งจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป อาจารย์มองด้วยว่ากรณี government shutdown ช่วยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของแก เพราะเป็นหลักฐานชั้นดีว่า สภาคองเกรส “ไม่ทำงาน” จริงๆ
ผู้เขียนถามว่า อาจารย์เสียดายหรือเปล่าที่หันมาทำงานเรื่องคอร์รัปชั่นในประเทศอเมริกา ประเทศที่มี “คอร์รัปชั่นของการออกทุนเลือกตั้ง” เป็นลักษณะเฉพาะอเมริกาประเทศเดียว ทั้งที่งานของแกเรื่องกฏหมายลิขสิทธิ์และกลไกกำกับเน็ต (ซึ่งอาจารย์ชี้ให้เห็นว่า ไม่ได้มีแต่กฎหมายเท่านั้น แต่กลไกตลาด ธรรมเนียมปฏิบัติ และโค้ดคอมพิวเตอร์ก็สำคัญ) มีความสำคัญในระดับสากล แกตอบว่าไม่เสียดายเลย เพราะถึงแม้คอร์รัปชั่นในอเมริกาจะเป็นเอกลักษณ์ มันก็สร้างต้นทุนในระดับสากล เช่น การที่สภาคองเกรสไม่ทำงาน ปล่อยให้กฏหมายลิขสิทธิ์แย่ๆ ดำรงอยู่ต่อไป ก็สร้างผลกระทบต่อคนในประเทศอื่นมากมายเวลาที่มีใคร “ละเมิด” ลิขสิทธิ์อเมริกัน ปัญหาโลกร้อนตอนนี้ที่รัฐบาลกลางอเมริกันยังวางเฉยไม่ทำอะไรก็เหมือนกัน มีรากมาจากการที่สมาชิกสภาคองเกรสทำงานให้กับ “ฐานทุน” ซึ่งเป็นคนรวยจำนวนหยิบมือเดียว ฉะนั้นการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นต้นตอข้อนี้จึงเป็นด่านแรกของการแก้ปัญหาจำนวนนับไม่ถ้วนที่มีผลกระทบต่อประเทศอื่นด้วย
ก่อนจากกันผู้เขียนขอถ่ายรูปด้วย อารามดีใจสุดขีด เอาหนังสือคลาสสิกของอาจารย์เรื่อง Code 2.0 (ที่ไปซื้อมาก่อนเจออาจารย์สิบนาที) มาให้แกเซ็น เสียดายที่ไม่แบกหนังสือล่าสุดของแก (Republic, Lost) มาให้เซ็น เพราะที่ร้านหนังสือโรงเรียนไม่มีขาย และไม่ได้ขนมาจากเมืองไทย
ตกเย็นผู้เขียนกลับไปกิน Legal Sea Foods สาขาเดียวกันกับเมื่อคืน คราวนี้กับเมเกนที่เพิ่งมาถึงบอสตัน วันนี้ก็เลยสั่งซุปล็อบสเตอร์, crab cake และล็อบสเตอร์หนัก 1.5 ปอนด์ อร่อยจุกคอหอยกันเลยทีเดียว