(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทาง, วันที่ 1 & 2, วันที่สาม, วันที่สี่, วันที่ห้า, วันที่หก, วันที่ 7 & 8, วันที่เก้า)
วันที่สิบ
วอชิงตัน ดี.ซี. : 8/10/2013
วันนี้มีนัด 4 นัด! วุ่นวายมาก บอกลีห์ (เจ้าหน้าที่ Eisenhower Fellowships ซึ่งเป็น “ผู้คุมตารางนัด”) ว่าขออย่านัดไม่เกิน 3 นัดต่อวัน ไม่งั้นกลัวหัวระเบิด นอกจากจะไม่มีเวลาทบทวนว่าคุยอะไรกับใครไปบ้างแล้วยังจะไม่มีเวลาถ่ายเทโน้ตจากสมุดบันทึกมาขึ้นบล็อกอีกต่างหาก
นัดแรกของวันไปคุยกับทีม Freedom House เอ็นจีโอใหญ่ของที่นี่ซึ่งรณรงค์เรื่องเสรีภาพทั่วโลก ตั้งแต่เสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพเน็ต เสรีภาพสื่อ ฯลฯ งานหลักของ Freedom House คือการให้คะแนนและจัดอันดับ “ดัชนีเสรีภาพโลก” (Freedom in the World) ทุกปี เขาเพิ่งออกรายงานเสรีภาพเน็ตประจำปี 2013 ชื่อ “Freedom on the Net 2013” หนึ่งวันก่อนวันที่เรามาเจอ ให้คะแนนเน็ตไทยว่า “มีเสรีภาพบางส่วน” (Partly Free) ขยับขึ้นมาจากระดับ “ไร้เสรีภาพ” (Not Free) ของปีที่แล้ว ตลกร้ายคือคะแนนเราเด้งขึ้นมาคะแนนเดียวเท่านั้น คือจาก 61 (เต็ม 100) เป็น 60 แต่พอดี 60 เป็นเส้นแบ่งระหว่างสองระดับนี้ ก็เลยได้เลื่อนขั้นเฉยเลย 🙂
ไม่ค่อยชอบทีมที่มาคุยกับเราเท่าไหร่ เพราะยังอายุน้อยและประสบการณ์ก็น้อยกันทั้งนั้นเลย ถึงแม้จะมากันตั้งสามคน สองคนคือ เครก (Craig) กับ อิซาเบล (Isabel) มาจากทีมโปรแกรม Southeast Asia (“Program” ในความหมายอเมริกันหมายถึงโครงการที่ให้ทุนสนับสนุน) ส่วน อิลานา (Ilana) อยู่ทีม Internet Freedom สองคนแรกถามอะไรก็ตอบไม่ค่อยได้ กลายเป็นว่าเขาถามผู้เขียนเรื่องสถานการณ์ในไทย มากกว่าผู้เขียนถามเขา โดยสรุปก็คือตอนนี้โปรแกรมของ Freedom House ระดับภูมิภาคอาเซียนเน้นสองเรื่อง คือการรณรงค์สิทธิเสรีภาพของคนหลากเพศ และการรณรงค์สิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มคนชายขอบ เช่นผู้พิการในอินโดนีเซีย
เครกบอกว่าเงินทุนสนับสนุน Freedom House มาจากรัฐบาลสหรัฐ (ผ่าน USAID) ก็จริง แต่เวลาเปลี่ยนรัฐบาลจากเดโมแครตเป็นรีพับลิกันหรือกลับกัน ไม่ค่อยมีผลมากนักต่อการทำงานของเขา เพราะทิศทางนโยบายรวมๆ ยังคงเหมือนเดิม (ไม่แปลกใจเพราะสองพรรคใหญ่ในอเมริกาไม่ค่อยทะเลาะกันเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองขั้นพื้นฐาน ทะเลาะกันเรื่องอื่นที่ละเอียดกว่า เช่น สิทธิที่จะพกปืนติดตัว และสิทธิในการทำแท้ง)
อิลานา (Ilana) จากทีมเสรีภาพเน็ตคุยสนุกกว่าและรู้เรื่องกว่าอีกสองคน เธอบอกว่าตอนนี้เขาพยายามผลักดันเชิงนโยบายเหมือนกัน อย่างเช่นทำงานร่วมกับพันธมิตรในพม่า พยายามแก้ไขกฎหมายอินเทอร์เน็ตเพราะตอนนี้บรรยากาศ “เปิด” กว่าสมัยก่อน (คงหมายถึงก่อนที่ อองซาน ซูจี จะถูกปล่อยตัว)
ถามว่าเธอคิดว่าบริษัทอินเทอร์เน็ตบริษัทไหนบ้างที่ส่งเสริมเสรีภาพเน็ต ต่อต้านการเซ็นเซอร์โดยรัฐมากที่สุด อิลานาตอบว่า กูเกิลกับทวิตเตอร์ค่อนข้างดี ส่วนไมโครซอฟท์กับเฟซบุ๊กค่อนข้างแย่ ที่จริงบริษัทอินเทอร์เน็ตทุกบริษัทต้องทำตามกฎหมายของแต่ละประเทศ ไม่ทำตามคำสั่งของรัฐไม่ได้หรอกถ้าอยากทำธุรกิจ แต่ก็มีหลายอย่างที่ช่วยผู้ใช้ได้ เช่น ทวิตเตอร์มีฟีเจอร์ให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเซ็นเซอร์ตาม “ตำแหน่ง” ของผู้ใช้ แต่ก็จงใจโค้ดให้เราหลบเลี่ยงการเซ็นเซอร์ได้ง่ายมาก คือแค่เรากดเปลี่ยนตำแหน่ง (เช่น เปลี่ยนจาก “กรุงเทพ” เป็น “นิวยอร์ก”) แค่นี้รัฐก็เซ็นเซอร์ไม่ได้แล้ว 😉
นัดที่สองของวันนี้ไปเจอ Sunlight Foundation มูลนิธิที่อยากเจอมานานแล้ว เป้าหมายของเขาคือ “ใช้เทคโนโลยีผลักดันให้รัฐมีความโปร่งใสและรับผิดมากขึ้น” ทีมโปรแกรมเมอร์ที่นี่โค้ดเว็บและแอพฟรีเจ๋งๆ หลายตัวที่ดึงข้อมูลของภาครัฐมาประมวล ตรวจสอบ วิเคราะห์และแสดงผล แอพที่ผู้เขียนชอบมากคือ Congress ดึงข้อมูงจากเว็บสภาคองเกรสมาแสดงว่า ตอนนี้มีร่างกฎหมายอะไรบ้างที่รอเข้าสภา แต่ละฉบับ ส.ส. คนไหนเป็นผู้เสนอ สามารถกดปุ่มติดต่อ (อีเมล) ส.ส. คนนั้นได้ทันที กดอีกปุ่มเพื่อดูสถิติการโหวตของ ส.ส. คนนั้นว่าเคยโหวตผ่านไม่ผ่านกฎหมายอะไรบ้าง
อีริก มิล (Eric Mill) นักพัฒนาโปรแกรมของมูลนิธิ เล่าว่าโครงการนึงที่เขาชอบคือ ClearSpending จุดกำเนิดของโครงการนี้คือ USASpending.gov เว็บไซต์ของรัฐบาลกลาง ซึ่งน่าชื่นชมตรงที่พยายามแสดงข้อมูลรายจ่ายของรัฐอย่างโปร่งใสและเข้าใจง่าย แต่ปัญหาคือข้อมูลหลายอย่างดูไม่ถูกต้อง เช่น ตกศูนย์ไปหนึ่งตัว หรือตัวเลขดูไม่น่าเป็นไปได้ เขาเลยสร้างเว็บ ClearSpending ดึงข้อมูลจากเว็บอื่นๆ มาเปรียบเทียบกับข้อมูลบน USASpending.gov เพื่อดูว่าตรงกันแค่ไหน ปรากฏว่าต่างกันเป็นล้านล้าน (!) เหรียญสหรัฐ (คือหน่วยงานรัฐใช้เงินมากกว่าที่เว็บกลางประกาศมาก) เราสามารถคลิกเข้าไปดู “สมุดพก” ได้เลยว่าหน่วยงานราชการหน่วยไหนที่รายงานการใช้จ่ายต่ำกว่าตัวเลขกลาง หน่วยไหนสูงกว่า และเรียงลำดับได้ตามใจชอบ
การโค้ด ClearSpending ทำให้เขาค้นพบว่า ปัญหาหนึ่งของ USASpending.gov คือ ยังไม่มีหน่วยงานราชการหน่วยใดโดยเฉพาะที่มีหน้าที่รับผิดชอบความถูกต้องของข้อมูลที่เอามาใส่ในเว็บนี้ ทั้งที่มันถูกเอาไปอ้างอิงมากมายทั้งโดยประชาชนและสื่อมวลชน ข้อค้นพบนี้ช่วยให้ทีมนโยบายของ Sunlight สามารถผลักดันกฎหมายใหม่ ชื่อ DATA Act (ถูกเสนอเข้าสภาล่างและสภาสูงแล้ว) ซึ่งถ้ากฎหมายนี้ผ่าน จะทำให้หน่วยงานรัฐใช้มาตรฐานข้อมูลเดียวกันและในรูปแบบที่ดีกว่าเดิม (ดึงมาใช้งานง่ายขึ้น ฯลฯ) และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบความถูกต้องของข้อมูลโดยตรง
อีริกบอกว่า เขาโค้ดเองโดยไม่ขอความร่วมมือจากรัฐ ดึงข้อมูลที่มีอยู่แล้วตามเว็บต่างๆ แต่ Sunlight ไม่ได้ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ “เรามักจะทำเว็บและแอพต่างๆ เพื่อแสดงให้รัฐบาลเห็นว่าพวกเขาทำอะไรได้บ้าง” อาลิชา กรีน (Alisha Green) จากทีมนโยบายเสริมว่า เขาเอาข้อมูลที่ได้จากโปรแกรมเหล่านี้มาผลักดันให้รัฐโปร่งใสกว่าเดิม ยกตัวอย่างว่าเขาได้ทุนจาก Google.org (เป็นมูลนิธิของกูเกิล) มาศึกษาว่ารัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ ในอเมริกาเปิดเผยข้อมูลอะไรบ้าง เพราะคนมักจะโฟกัสไปที่รัฐบาลกลาง ไม่ค่อยสนใจรัฐบาลท้องถิ่น หลังจากที่ค้นหา best practice และวิธีปรับปรุง ปีที่แล้วเขาก็เขียนและเผยแพร่ “Open Data Policy Guidelines” ออกมา ซึ่งใครจะมาดาวน์โหลดไปอ่านและใช้ก็ได้
อีริกเสริมว่า นโยบาย Open Government ของประธานาธิบดีโอบามาเป็นก้าวที่ดี แต่ต้องมีกลไกกำกับและความรับผิดมากกว่านี้มาก
เกร็ก บราวน์ (Greg Brown) จากทีมนโยบายระหว่างประเทศ บอกว่า Sunlight เพิ่งเริ่มขยายงานไปต่างประเทศไม่นาน โดยจับมือเป็นพันธมิตรกับองค์กรท้องถิ่นที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เขาเน้นงานสี่ด้านคือ 1) อบรมเพิ่มทักษะ (capacity building) 2) โครงการแลกเปลี่ยนพนักงาน 3) รณรงค์ร่วมกับองค์กรพันธมิตร เช่น ไม่นานมานี้ออกแถลงการณ์ เขียนบทบรรณาธิการ ฯลฯ ร่วมกับพันธมิตรในฝรั่งเศส เรียกร้องให้รัฐบาลฝรั่งเศสเปิดเผยข้อมูลการล็อบบี้ของนักล็อบบี้มากขึ้น
ถ่ายกับทีม Sunlight จากซ้ายไปขวาคือ เกร็ก อีแวน อีริก และอาลิชา อายุยังน้อยกันทั้งนั้น 🙂
อีกสองนัดตอนบ่ายเริ่มจาก รอส ลาเจอเนสส์ (Ross LaJeuNesse) ตำแหน่ง Global Head of Free Expression and International Relations ของกูเกิล ไม่รู้จะแปลเป็นไทยว่าอะไรดี ใกล้เคียงที่สุดอาจเป็น “หัวหน้าฝ่ายเสรีภาพในการแสดงออกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” ซึ่งการที่กูเกิลมีฝ่าย Free Expression ก็เป็นเครื่องยืนยันระดับหนึ่งว่ากูเกิลเอาจริงกับเรื่องนี้ขนาดไหน
ห้องรับแขกของกูเกิลมีรายงาน Freedom on the Net 2013 ของ Freedom House แจกด้วย ไอ้ลูกกลมๆ บนโต๊ะไม่รู้ว่าคืออะไร ไม่มีเวลาแงะดู เดาคงว่าเป็นขนมอะไรสักอย่าง
คุยกับรอสหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเมืองและเบื้องหลังการเมืองไทย กฎหมายหมิ่นฯ และแนวโน้มที่คงจะยังไม่มีการแก้ไขไปอีกนาน เขาถามว่ากูเกิลควรทำอะไรอีกไหมที่จะช่วยผลักดันเรื่องเสรีภาพเน็ตในเมืองไทย ผู้เขียนตอบว่ารายงานอย่าง Transparency Report ก็เป็นประโยชน์มากแล้วโดยเฉพาะสถิติการขอให้เซ็นเซอร์จากภาครัฐ แต่กูเกิลน่าจะทำ “เหตุผลทางเศรษฐกิจ” ให้แหลมคมมากขึ้น คือแสดงข้อมูลให้ชัดว่าการเซ็นเซอร์เน็ตนั้นทำให้เน็ตช้าลงอย่างไร ทำให้บริษัทอินเทอร์เน็ตขนาดเล็กเติบโตไม่ได้อย่างไร และคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจเท่าไร และทำให้เครื่องมืออย่าง Herdict (บันทึกเว็บที่ถูกเซ็นเซอร์) ใช้การได้ดีขึ้นและเอาข้อมูลจากเครื่องมือแบบนี้มาคำนวณต้นทุน เขาบอกว่าไอเดียน่าสนใจ จะให้ M-Lab ซึ่งเก็บสถิติเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตไปลองคิดดูว่าทำได้แค่ไหนอย่างไร แต่คิดว่าน่าจะทำได้ เพราะสมัยก่อนวิศวกรคอมพิวเตอร์แยกปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อความเร็วของเน็ตไม่ค่อยได้ แต่ตอนนี้พอจะแยกได้แล้ว
พอถามเรื่องข่าวใหญ่ที่กูเกิลถอนตัวจากเมืองจีนเพราะไม่อยากทำตามคำสั่งของรัฐบาลจีนให้เซ็นเซอร์ผล search รอสตอบว่าที่จริงไม่ได้ “ถอนตัว” ออกไปหรอก เพราะยังมีวิศวกรตั้งหลายคนที่ทำงานในจีน ถามว่าเขาคิดว่าระบบเซ็นเซอร์ยักษ์ของจีน (“Great Firewall”) จะอยู่ไปได้อีกนานแค่ไหน รอสตอบว่าถึงที่สุดรัฐบาลจีนก็ต้องยอมแพ้ เพราะ “เปิดชนะปิดอยู่แล้ว” ไม่มีทางที่รัฐบาลจะต้านทานประชาชนหลายร้อยล้านคนที่ใช้เน็ตได้ ยิ่งปิดยิ่งเหมือนแมวไล่จับหนู ถึงยังไงหนูก็วิ่งเร็วกว่า
ถามว่าเขามี “มาตรฐาน” ในการทำตามหรือไม่ทำตามคำสั่งของรัฐบาลประเทศต่างๆ อย่างไร เวลาที่รัฐบาลขอให้เซ็นเซอร์เนื้อหา เขาตอบว่าที่จริงขึ้นอยู่กับแต่ละบริการของกูเกิล ว่าแล้วก็ลุกขึ้นไปวาดแผนผังให้ดูบนผนัง ผู้เขียนลอกและสรุปความมาได้ประมาณนี้ น่าสนใจไม่น้อย –
นัดสุดท้ายของวันไปหา ชาร์ลส์ ลูวิส (Charles Lewis) นักข่าวเจาะชั้นเซียน ผู้ก่อตั้ง Center for Public Integrity ที่ไปเจอวันก่อน ที่มาคุยกับชาร์ลส์เพราะ บิล บูเซ็นเบิร์ก ผู้อำนวยการ CPI แนะนำให้เรามาคุย
ในอดีต ชาร์ลส์ทำงานเป็น producer ของ 60 Minutes รายการดังของอเมริกา นอกจากเขาจะเป็นนักข่าวที่ทำงานมาอย่างโชกโชน ผู้เขียนคิดว่าชาร์ลส์ยังเป็น “ผู้ประกอบการ” (entrepreneur) ตัวจริง เพราะก่อตั้งองค์กรต่างๆ มากมายที่ขยับขยายงานด้านสื่อสืบสวนสอบสวน เขาลาออกจาก 60 Minutes ไปก่อตั้ง CPI ในปี 1989 หลังจากนั้นปี 1997 เขาก็ก่อตั้ง International Consortium of Investigative Journalists (ICIJ) ขึ้นภายใน CPI เพื่อสร้างเครือข่ายนักข่าวสืบสวนสอบสวนทั่วโลก ต่อมาปี 2005 เขาก็ก่อตั้ง Global Integrity (ซึ่งจะไปพบพรุ่งนี้) เป็นองค์กรไม่แสวงกำไรแนวใหม่ ไม่ใช่ค่ายสื่อหรือบริษัทวิจัย แต่จ้างทั้งนักข่าวและนักสังคมศาสตร์มาทำงานร่วมกัน หาวิธีติดตามตรวจสอบและ “วัด” ระดับคอร์รัปชั่นและธรรมาภิบาลในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
เราไปหาชาร์ลส์ที่สำนักงานขององค์กรล่าสุดที่เขาก่อตั้ง – Investigative Reporting Workshop (IRW) “ศูนย์ปฏิบัติการ” ข่าวสืบสวนสอบสวนแห่งแรกในอเมริกาที่ก่อตั้งภายในมหาวิทยาลัย ในที่นี้คือ American University วันนี้ชาร์ลส์เป็นผู้อำนวยการศูนย์และเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เข้าไปถึงสิ่งที่เตะตาเราเป็นอันดับแรกคือ รูปถ่ายและคำคมใส่กรอบจากนักข่าวเจาะเก่งๆ จากโครงการ Investigative Power ที่ชาร์ลส์บอกว่า ทำเพื่อบันทึกผลงานและเกียรติประวัติของนักข่าวที่มีส่วนสร้างประวัติศาสตร์ ทั้งหมดนี้ผู้เขียนชอบคำคมของ Christiane Amanpour นักข่าวเจาะผู้เชี่ยวชาญข่าวสงคราม มากที่สุด –
“ฉันเชื่อว่าความเป็นภววิสัย (ของนักข่าว) หมายถึงการเปิดให้แต่ละฝ่ายได้พูด แต่ไม่ใช่การปฏิบัติต่อทุกฝ่ายเหมือนกัน ไม่ขีดเส้นว่าทุกฝ่ายเท่าเทียมกันทางศีลธรรม ซึ่งเป็นเพียงความเท่าเทียมจอมปลอม ไม่พูดว่า “ในทางกลับกัน, ในทางกลับกัน” ราวกับว่าคนที่ตายจากการถูกลอบยิงนั้นเท่าเทียมกับคนที่กำลังลอบยิง ลอบฆ่าคนอยู่” – คริสเตียน อามันปูร์
ชาร์ลส์บอกว่าเขาทำ IJW อย่างจริงจังมาแล้วสามปี แต่ละปีจะคัดเลือกนักศึกษาเอกวารสารศาสตร์ 5 คน จากคนสมัครราว 80 คน มหาวิทยาลัย American เป็นคนจ่ายค่าตอบแทนนักศึกษา ศูนย์นี้ผลิตซีรีส์ข่าวเจาะมาแล้ว 55 ชิ้น ผลิตสารคดีโทรทัศน์หลายชิ้น ซีรีส์หลายเรื่องผลิตร่วมกับสื่อระดับชาติ ทั้งโทรทัศน์ชื่อดังอย่าง Frontline และ Showtime จนถึงหนังสือพิมพ์ใหญ่อย่าง New York Times และ Philadelphia Inquirer ซีรีส์สืบสวนบางเรื่องร่วมงานกับทั้งสถานีโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ เช่น ผู้ผลิตสารคดี ซีรีส์เรื่องการขังเดี่ยว ใช้เวลาค้นคว้าข้อมูลกว่า 5 ปี เธอเป็น producer ใน IJW (“in residence”) ทำงานร่วมกับนักข่าวของหนังสือพิมพ์ New York Times ฉะนั้นซีรีส์นี้จึงมีทั้งสารคดีโทรทัศน์และข่าวหนังสือพิมพ์ด้วย
ที่ IJW มีนักข่าวและ producer ชื่อดังมาทำงานร่วมกับนักศึกษาหลายคน เช่น Dan Rather มาเป็น producer ที่นี่ด้วย ไม่นานมานี้เพิ่งจ้างนักข่าวเจาะที่ได้รางวัลพูลิตเซอร์มาเขียนข่าวให้ เขารับเงินเดือนครึ่งหนึ่งจากที่นี่ อีกครึ่งหนึ่งจาก Washington Post (งานของเขาโผล่ทั้งสองที่)
ถามชาร์ลส์ว่าหนังสือพิมพ์อยากทำงานร่วมกับ IJW เพราะอะไร เพราะแต่ไหนแต่ไรมาสื่อแข่งขันสูง เห็นนักข่าวมีแต่แย่งกันลงข่าวก่อน ไม่ค่อยเห็นใครร่วมมือกัน เขาตอบยิ้มๆ ว่า “สื่อตอนนี้ร่วมมือกับเราด้วยความจำเป็น เพราะทุกคนกำลังลำบาก” คือกำไรหายากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคที่โลกเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ไม่อ่านหนังสือพิมพ์อีกแล้ว ยิ่งสื่อประสบปัญหาทางการเงิน ข่าวคุณภาพโดยเฉพาะข่าวเจาะยิ่งเหลือน้อย เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงและใช้เวลาหลายเดือนในการเจาะข้อมูล แต่ข่าวที่ดีมีคุณค่าถึงยังไงก็จะยังเป็นที่ต้องการ (เขาบอกว่า “ถ้าคุณทำงานเป็นวัวเป็นควายหกเดือน ขณะที่คนอื่นไม่ทำงาน ยังไงๆ คุณก็ชนะ”) ฉะนั้นเขาจึงมองว่า น่าจะเห็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักข่าวเจาะแบบไม่แสวงกำไร กับค่ายสื่อทั่วไป (แสวงกำไรและไม่เน้นข่าวเจาะ) มากขึ้นเรื่อยๆ
เขาเล่าประสบการณ์ตัวเองอย่างสนุกสนาน บอกว่าผลงานชิ้นโบแดงของ CPI สมัยที่เขายังอยู่คือ การเปิดโปงร่างกฎหมาย “Patriot II” ของอเมริกาในปี 2003 ซึ่งเป็นส่วนขยายของกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายหรือ Patriot Act หลังเกิดเหตุ 9/11 ร่างกฎหมายฉบับนี้ละเมิดสิทธิพลเมืองมากกว่า Patriot Act อีก เช่น ให้อำนาจรัฐถอนสัญชาติพลเมืองที่สนับสนุนกิจกรรมของคนหรือองค์กรที่รัฐบาลมองว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” โดยอัตโนมัติ ศูนย์ CPI ได้ร่างกฎหมายนี้จากแหล่งข่าวไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะบุกอิรัก ชาร์ลส์บอกว่ากระทรวงยุติธรรมกับสำนักงานอัยการสูงสุดขู่ว่า ถ้าเขาโพสร่างกฎหมายนี้เขาจะ “เสียใจ” (“you’ll be sorry”) แต่ไม่อธิบายว่าแปลว่าอะไร แน่นอน ชาร์ลส์ตัดสินใจเผยแพร่ เว็บ CPI ล่มอย่างรวดเร็วเพราะมีคนคลิกเข้ามาดู 15 ล้านครั้งภายใน 24 ชั่วโมง และสื่อหลายร้อยค่ายก็ลงข่าว ทำให้กฎหมายนี้ถูกตีตกทันทีที่เข้าสภาคองเกรส
ชาร์ลส์มองว่า การโพสร่างกฎหมายนี้เป็น “การทำข่าวเจาะในเวลาจริง” (real-time investigative reporting) ซึ่งทำยากกว่าข่าวเจาะทั่วไป (เป็นข่าวหลังจากเกิดเหตุการณ์อะไรสักอย่างไปแล้ว – เขาเรียกว่า after-the-fact reporting) หลายเท่า
ถามว่าแล้วข่าวเจาะในทีวีล่ะ เขาบอกว่าข่าวเจาะส่วนใหญ่ในทีวีเป็นการ “รายงานข่าวของคนอื่นอีกที” (“derivative reporting”) คือเอาเรื่องที่ถูกตีเป็นข่าว (โดยเฉพาะในหน้าหนังสือพิมพ์) ไปแล้วมาย่อย เล่าใหม่ หามุมใหม่ ฯลฯ โดยจะมีลักษณะ “ดรามา” กว่าข่าวเจาะในหนังสือพิมพ์ ตามธรรมชาติของทีวีที่ต้องดึงดูดคนดู รายการ 60 Minutes ก็เหมือนกัน ส่วนใหญ่เป็น derivative ข่าวที่เปิดประเด็นเองเป็นส่วนน้อย
มีบ้างเหมือนกันที่สถานีจะทำข่าวเจาะเอง (original reporting) แต่ปกติจะทำเฉพาะช่วงที่กำลังถูกจัดเรตติ้ง ประเมินผลงาน หรืออะไรแบบนี้ และเรื่องราวที่นำเสนอก็ฉาบฉวยมาก ชาร์ลส์เรียกข่าวเจาะบนทีวีแบบนี้ว่า “candid camera does news” คือซ่อนกล้องไว้ที่ไหนสักแห่ง แล้วพอได้เรื่องก็เอามาเล่าราวกับเป็นนิทานสั่งสอนศีลธรรม (moralize) แต่ไม่ได้เจาะลึกหาข้อมูล เบื้องลึกเบื้องหลังอะไรมากกว่านั้น (ชอบวิธีที่เขาอธิบาย เห็นภาพชัดเจน!)
ผู้เขียนแลกเปลี่ยนว่าตอนนี้หนังสือพิมพ์ในเมืองไทยเจอปัญหาทางการเงินไม่ต่างจากในอเมริกา หลายฉบับตะเกียกตะกายหารายได้เพิ่มด้วยการรับจัดอีเว้นท์และลงพีอาร์ ซึ่งแน่นอนว่าทำให้คุณภาพข่าวตกต่ำเพราะจะลงข่าวที่เป็นลบกับสปอนเซอร์ไม่ได้อีกต่อไป นอกจากนั้นก็แห่กันไปทำทีวี เพราะวงการทีวีมีเม็ดเงินโฆษณามหาศาล ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าจะอยู่ได้ เพราะสู้มืออาชีพในวงการไม่(ค่อย)ได้ ชาร์ลส์บอกว่าในอเมริกาก็คล้ายกัน เรตติ้งของทีวีในอเมริกาโดยรวมลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปีที่ผ่านมา นายทุนเจ้าของหนังสือพิมพ์ทยอยขายกิจการแล้วไปทำทีวี ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้เรื่อง กลายเป็น “วอลล์เปเปอร์” ประจำบ้าน เขาบอกว่าตอนนี้ทั้งประเทศมีทีวีเป็นพันๆ สถานีแล้ว ผลิตความบันเทิงป้อนคนไปวันๆ ทำให้คนถอยห่างจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง
ถามว่าพูดอย่างนี้แปลว่าเขาเห็นด้วยกับ Neil Postman ที่วิพากษ์ทีวีในหนังสือเรื่อง “Amusing Ourselves to Death” ใช่ไหม ชาร์ลส์บอกว่าใช่เลย เขาคิดว่าอันตรายตอนนี้คือแนวนี้มากกว่าแนวเผด็จการ คือคิดว่าโลกจะเป็นโลกแบบในหนังสือ Brave New World มากกว่า 1984
วันนี้นักการเมืองเถลิงอำนาจส่วนหนึ่งเพราะเขตเลือกตั้งจำนวนมากแทบไม่มีคู่แข่งขัน เขาบอกว่าสื่อโทรทัศน์เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สังคมอเมริกันอยู่ในสภาพนี้ เพราะหาเงินได้มากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในทุกฤดูเลือกตั้ง จากเงินค่าโฆษณาที่ผู้สมัครต่างๆ จ่ายให้กับทีวี ชาร์ลส์ชี้ว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศประชาธิปไตยประเทศเดียวในโลกแล้วที่ไม่มีกฎหมายกำหนดให้ผู้ลงสมัครทุกคนได้ “ออกอากาศฟรี” ช่วงหาเสียง นี่ไม่ใช่เหตุบังเอิญแน่ๆ เขาบอกว่า จอห์น แม็คเคน (John McCain) วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เคยบอกเขาว่าธุรกิจที่มีอิทธิพลที่สุดในประเทศนี้คือธุรกิจโทรทัศน์นี่แหละ
ชาร์ลส์อายุ 60 แล้วแต่ยัง active มาก คุยสนุก มีไอเดียบรรเจิดตลอดเวลา ไอเดียหนึ่งของเขาคือ อยากให้ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ อย่างเช่นนักบัญชี นักรัฐศาสตร์ที่ติดตามคอร์รัปชั่น มาทำงานร่วมกับนักข่าวเจาะ สร้างเครือข่ายผลิต “งานศึกษาเรื่องความรับผิด” ในอนาคตถ้าเขาไปก่อตั้งองค์กรใหม่มาทำเรื่องนี้ จะไม่แปลกใจแม้แต่น้อย 🙂