[เพิ่งกลับจากไปล่องใต้ 6 วัน (ดูรูปทั้งหมดได้ที่ Flickr collection นี้) อยากเขียนเรื่อง ‘ไม่หนัก’ สลับฉากกับเรื่องที่ต้องเขียนเป็นประจำบ้าง ในบทความนี้สามารถคลิ้กที่รูปเพื่อดูขนาดขยาย ดูรูปพิพิธภัณฑ์เปลือกหอยทั้งหมดของผู้เขียนได้ที่ Flickr set หน้านี้; อ่านตอนแรกของเรื่อง “พิพิธภัณฑ์ไทยในดวงใจ” ได้จากหน้านี้ของบล็อก (เขียนไว้นานแล้ว ต้องหาเวลาไปใหม่)]
เวลาไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ เกณฑ์ส่วนตัวง่ายๆ ข้อหนึ่งที่ผู้เขียนใช้วัดระดับ ‘คุณภาพ’ ของพิพิธภัณฑ์ คือ ‘ความสนุก’ ที่รู้สึกเวลาเดินชม และ ‘ความรู้’ ใหม่ๆ ที่ได้รับหลังจากเดินออกมาแล้ว
เป็นความรู้ชนิดที่ไม่รู้สึกว่าหนักหัวหรือไร้ค่า เพราะได้เรียนรู้มาด้วยความสนุก
ถ้าคำกล่าวที่ว่า “อะไรก็ตามที่ทำด้วยใจรัก คนดูย่อมรู้สึกได้ถึงความรักของคนทำ” เป็นจริง พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยที่ภูเก็ต ก็เป็นหนึ่งในบทพิสูจน์ที่ดีที่สุดเท่าที่ผู้เขียนรู้จัก
พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยตั้งอยู่ริมถนนวิเศษ ไม่ไกลจากหาดราไวย์ ตอนจ่ายค่าเข้าชมคนละ 100 บาท (200 บาทสำหรับชาวต่างชาติ) ผู้เขียนก็นึกในใจว่าแพง แต่หลังจากที่ใช้เวลากว่าชั่วโมงครึ่ง ออกมาแล้วก็รู้สึกว่าคุ้มค่ามากๆ เพราะรู้สึกเหมือนกับได้หลุดเข้าไปในโลกอีกใบหนึ่งที่ให้ทั้งความรู้ ความสนุก และความประทับใจจนลืมเวลา
นิทรรศการทั้งหมดในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงในห้องใหญ่ห้องเดียวในชั้นใต้ดิน ชั้นบนเป็นร้านขายของที่ระลึก เดินเข้าไปเพียงก้าวแรกก็สัมผัสได้ถึงความรักแบบนักสะสม และความกระตือรือร้นที่อยากถ่ายทอดความหลงใหลในเปลือกหอยให้คนทั่วไปได้รับรู้ในเนื้อที่เพียงไม่กี่ตารางเมตร
[เพิ่งกลับจากไปล่องใต้ 6 วัน (ดูรูปทั้งหมดได้ที่ Flickr collection นี้) อยากเขียนเรื่อง ‘ไม่หนัก’ สลับฉากกับเรื่องที่ต้องเขียนเป็นประจำบ้าง ในบทความนี้สามารถคลิ้กที่รูปเพื่อดูขนาดขยาย ดูรูปพิพิธภัณฑ์เปลือกหอยทั้งหมดของผู้เขียนได้ที่ Flickr set หน้านี้; อ่านตอนแรกของเรื่อง “พิพิธภัณฑ์ไทยในดวงใจ” ได้จากหน้านี้ของบล็อก (เขียนไว้นานแล้ว ต้องหาเวลาไปใหม่)]
เวลาไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ เกณฑ์ส่วนตัวง่ายๆ ข้อหนึ่งที่ผู้เขียนใช้วัดระดับ ‘คุณภาพ’ ของพิพิธภัณฑ์ คือ ‘ความสนุก’ ที่รู้สึกเวลาเดินชม และ ‘ความรู้’ ใหม่ๆ ที่ได้รับหลังจากเดินออกมาแล้ว
เป็นความรู้ชนิดที่ไม่รู้สึกว่าหนักหัวหรือไร้ค่า เพราะได้เรียนรู้มาด้วยความสนุก
ถ้าคำกล่าวที่ว่า “อะไรก็ตามที่ทำด้วยใจรัก คนดูย่อมรู้สึกได้ถึงความรักของคนทำ” เป็นจริง พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยที่ภูเก็ต ก็เป็นหนึ่งในบทพิสูจน์ที่ดีที่สุดเท่าที่ผู้เขียนรู้จัก
พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยตั้งอยู่ริมถนนวิเศษ ไม่ไกลจากหาดราไวย์ ตอนจ่ายค่าเข้าชมคนละ 100 บาท (200 บาทสำหรับชาวต่างชาติ) ผู้เขียนก็นึกในใจว่าแพง แต่หลังจากที่ใช้เวลากว่าชั่วโมงครึ่ง ออกมาแล้วก็รู้สึกว่าคุ้มค่ามากๆ เพราะรู้สึกเหมือนกับได้หลุดเข้าไปในโลกอีกใบหนึ่งที่ให้ทั้งความรู้ ความสนุก และความประทับใจจนลืมเวลา
นิทรรศการทั้งหมดในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงในห้องใหญ่ห้องเดียวในชั้นใต้ดิน ชั้นบนเป็นร้านขายของที่ระลึก เดินเข้าไปเพียงก้าวแรกก็สัมผัสได้ถึงความรักแบบนักสะสม และความกระตือรือร้นที่อยากถ่ายทอดความหลงใหลในเปลือกหอยให้คนทั่วไปได้รับรู้ในเนื้อที่เพียงไม่กี่ตารางเมตร
เปลือกหอยและฟอสซิลกว่า 2,000 พันธุ์จากน่านน้ำไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก อาทิ เม็กซิโก ยุโรป ญี่ปุ่น และแอฟริกาใต้ ได้รับการจัดวางอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยตามหมวดหมู่ เริ่มจากฟอสซิลแอมโมไนต์ (ปลาหมึกโบราณ) อายุกว่า 350 ล้านปี ขนาดเท่าล้อรถ พร้อมหอยดึกดำบรรพ์ชนิดต่างๆ ตั้งตระหง่านต้อนรับผู้มาเยือน ลูกศรบนพื้นบอกให้เดินชมตามเข็มนาฬิกา
ตู้กระจกติดผนังรอบห้องจัดแสดงเปลือกหอยนานาชนิด ทุกชนิดติดภาพถ่ายหอยที่ยังมีชีวิตอยู่เหนือเปลือกที่จัดแสดง ให้เราเปรียบเทียบกัน พร้อมป้ายบอกชื่อสามัญและชื่อวิทยาศาสตร์ คำบรรยายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษบอกแหล่งที่มา ถิ่นที่อยู่อาศัย ลักษณะการดำรงชีวิตที่น่าสนใจ อาทิ วิธีหาอาหาร วิธีเคลื่อนไหวหนีศัตรู และวิธีสืบพันธุ์ พร้อมเกร็ดความรู้เกี่ยวโยงอีกมากมาย
ป้ายหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากคือป้ายบรรยายใต้ตู้ฟอสซิลหอยงวงช้างโบราณและแอมโมไนต์ มีข้อความว่า
“เนื่องจากแอมโมไนต์ ซึ่งเป็นปลาหมึกมีเปลือกโบราณ มีชีวิตอาศัยอยู่ในท้องทะเลมาก่อนยุคของหอยงวงช้าง ซึ่งมีความเกี่ยวดองกัน เป็นการยากที่จะพบสัตว์ 2 กลุ่มนี้อยู่ในหินยุคเดียวกัน ซากฟอสซิลชิ้นนี้จึงนับเป็นหลักฐานสำคัญของรอยต่อแห่งวิวัฒนาการและความเกี่ยวดองกันระหว่างหอยงวงช้างโบราณ และแอมโมไนต์ พบระหว่างการก่อสร้างถนน Bundesautobah 27, ประเทศเยอรมนี มีชีวิตอยู่ในยุคจูราสสิก ประมาณ 180 ล้านปีก่อน”
บรรยายแบบนี้นอกจากคนดูจะได้ความรู้เรื่องฟอสซิลแล้ว ยังได้รู้เรื่องวิธีทำงานของนักวิทยาศาสตร์ด้วย
หอยหลายชนิดที่เป็น ‘ตระกูล’ ใหญ่มีหลายร้อยชนิด เช่น หอยสังข์ หอยเบี้ย จะแสดงหลายชนิดหลายขนาดและจัดวางอย่างมีศิลปะสวยงาม ดังตัวอย่างตู้หอยเบี้ยในรูปด้านล่าง
คนโบราณใช้หอยเบี้ยเป็นเงินตรา คนไทยเรียกว่า ‘เบี้ยเงิน’ จนคำว่า ‘เบี้ย’ ปัจจุบันก็ยังแปลว่า ‘เงิน’ อยู่ แต่เบี้ยเงินแทบไม่มีใครรู้จักแล้ว รู้จักแต่ดอกเบี้ย หอยเบี้ยในพิพิธภัณฑ์นี้มีหลายชนิดที่มีสีสันสวยงามและหายากกว่าชนิดที่ใช้เป็นเงินมาก
หอยเต้าปูน เป็นหอยกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มที่มีสีสันและลวดลายต่างๆ นานาที่ล้วนแต่สวยงามราวกับมีใครตั้งใจมาออกแบบให้ หอยเต้าปูนระนองซึ่งถูกค้นพบที่เมืองไทยเป็นแห่งแรกในโลกก็มีให้ดูที่นี่ด้วย
ลวดลายของหอยเต้าปูนสวยงามจนหลายคนอาจไม่คาดคิดว่ามันเป็นหอยอันตรายที่ใช้เข็มพิษล่าเหยื่อ ซึ่งมีตั้งแต่หนอนทะเล หอยอื่นๆ ไปจนถึงปลา หอยเต้าปูนส่วนน้อยที่ล่าปลาเป็นอาหารนั้นหลายชนิดมีพิษรุนแรงถึงขั้นทำให้คนตายได้
ป้ายในพิพิธภัณฑ์บรรยายอย่างน่าขนลุกว่า หอยเต้าปูนจะหาตำแหน่งของเหยื่อด้วยการใช้ประสาทสัมผัสทางกลิ่น “…หลังจากเหยื่อถูกพบและติดตาม หอยเต้าปูนจะฝังเข็มพิษลงยังร่างของเหยื่อ เหยื่อซึ่งเป็นอัมพาตหรือตายแล้วจะถูกกลืนเข้าไปทั้งตัว การย่อยจะดำเนินต่อไป กินเวลาหลายชั่วโมง และยุติลงด้วยการขับเอาชิ้นส่วนที่ไม่ถูกย่อยออกมา”
อ่านแล้วชวนให้นึกถึงฉากสู้กันด้วยเข็มพิษในหนังกำลังภายใน แบบนี้กระมังที่เขาเรียกว่า “สวยพิฆาต”
หอยกลุ่มใหญ่ที่มีหลายลวดลายหลายสีถูกจัดแสดงอย่างสวยงาม ให้เราได้ชื่นชมความเป็นศิลปินเอกของธรรมชาติกันอย่างเต็มที่ จากซ้ายไปขวาคือ หอยลุกับหอยน้ำพริก หอยสังข์ปีก และหอยนมสาว
หอยสองฝาหายากชนิดหนึ่งที่ใครได้เห็นแล้วคงอดอมยิ้มไม่ได้มีชื่อน่ารักว่า หอยหัวใจ
ส่วนหอยหนามทุเรียนก็เป็นหนามทุเรียนสมชื่อ
ดูหอยสองชนิดนี้คู่กันแล้วก็อดทึ่งในความหลากหลายอันมหัศจรรย์ของธรรมชาติไม่ได้
ยิ่งเดินดูก็ยิ่งรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณคุณสมนึก ปัทมคันธิน เจ้าของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่บรรจงถ่ายทอดความรัก ความรอบรู้ และประสบการณ์การสะสมเปลือกหอยกว่า 40 ปี ให้ผู้มาเยี่ยมชมได้ซึมซับอย่างลึกซึ้ง หอยชนิดไหนมีลักษณะพิเศษที่น่าสนใจ คุณสมนึกก็ไม่พลาดที่จะทำป้ายอธิบายเพิ่มเติม ตัวอย่างที่ผู้เขียนชอบมากคือป้ายแสดงตาของหอยสังข์ปีกชนิดต่างๆ และรูปถ่ายหอยเชลล์ขณะว่ายน้ำ (เป็นหอยที่ว่ายน้ำได้เร็วมาก คือกว่า 2 ฟุตต่อวินาที ด้วยการปิดและเปิดฝาหอยทั้งสองด้านอย่างรวดเร็ว ขับพ่นน้ำทะเลที่ไหลเข้าระหว่างเปลือกออกมาด้านหน้า ดันให้หอยพุ่งในทิศตรงกันข้าม)
พอพูดถึงหอยเชลล์ก็ต้องพูดถึงความเป็น ‘พระเอก’ ของหอยชนิดนี้ในพิพิธภัณฑ์ เพราะที่นี่จัดแสดงหอยเชลล์หลากสีสันอย่างประณีตบนบอร์ดกลางห้อง ตั้งเด่นเป็นสง่าแต่ไกลและเชื้อเชิญให้ถ่ายรูป ไม่นับป้ายเล่าเกร็ดน่ารู้อีกมากมาย เช่น หอยเชลล์ในศิลปะยุโรป อาหารจากหอยเชลล์ (คนนิยมกินเพราะเนื้อนุ่มอร่อย พัฒนามาจากเนื้อเอ็นที่ยึดเปลือกสองข้าง แค่ในมหาสมุทรแอตแลนติกก็ถูกจับกินถึง 30 ล้านตันต่อปี) และตาของหอยเชลล์ (เป็นเม็ดเล็กๆ สีฟ้าสดใสจำนวนมาก เรียงกันตามขอบเปลือกทั้งสองด้าน อย่างนี้คงต้องเรียก “สวยพิสดาร”)
นอกจากจะจัดแสดงเปลือกหอยอย่างเป็นระบบในตู้ติดผนังแล้ว พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยยังจัด ‘นิทรรศการพิเศษ’ ในโดมกระจกตั้งพื้นหลายสิบอันที่เรียงอยู่รอบห้อง โดมเหล่านี้แสดงเปลือกหอยหายากที่มีความน่าสนใจแตกต่างกัน เช่น ไข่มุกสีทองจากหอยสังข์ทะนานหนัก 140 กะรัต พบที่ภูเก็ต นัยว่าเป็นไข่มุกสีทองที่มีความสมบูรณ์และสวยงามที่สุดเท่าที่เคยพบมา (ป้ายไม่ได้ระบุว่าในโลกหรือในประเทศไทย แต่ผู้เขียนลุ้นว่าน่าจะในโลก เพราะอุตส่าห์จัดโชว์อยู่ในปากมังกรแก้ว)
โดมกระจกอีกโดมหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากจัดแสดงหอยแปลกชื่อ หอยแต่งตัว ป้ายอธิบายว่าหอยชนิดนี้ “มีความสามารถพิเศษตามชื่อของมัน ในการนำเอาเศษวัสดุเช่น หิน เศษไม้ หรือซากเปลือกหอยที่พบในพื้นที่อาศัยมาติดตามแนวขอบเปลือกเพื่อช่วยในการพยุงตัว และอำพรางตัวให้สามารถอยู่อาศัยในพื้นที่ทรายปนเลนได้ ที่น่ารักคือแม้แต่หอยแต่งตัวตัวจิ๋วก็ยังอุตส่าห์หาเศษหินเศษเปลือกหอยที่เล็กกว่าตัวมันมา ‘แต่งตัว’ (ในรูปซูมทางขวามือด้านล่าง หอยแต่ละตัวมีขนาดเล็กกว่าเหรียญ 50 สตางค์)
หอยแต่งตัวมีอีกชื่อหนึ่งคือ หอยแสงอาทิตย์ เพราะเวลาแต่งตัวเสร็จแล้วมันจะดูเหมือนพระอาทิตย์ที่เราชอบวาดกันตอนเด็ก
‘ไฮไลท์’ อีกรายการหนึ่งที่ไม่ควรพลาดชมคือหอยสังข์โนรีย์เวียนซ้าย (ทวนเข็มนาฬิกา) แทนที่จะเวียนขวาตามปกติ เป็นหอยที่หายากมาก ป้ายบอกว่าตัวที่แสดงอยู่นี้เป็นตัวแรกของโลกที่มีเปลือกเวียนซ้าย พบในทะเลฝั่งอ่าวไทย มีมูลค่า “สูงยิ่งกว่ามูลค่าซึ่งมีผู้ประเมินไว้สูงแล้วอย่างมากมาย”
อีกโดมหนึ่งที่ผู้เขียนชอบคือโดมที่แสดงเปลือกหอยผิดธรรมชาติ ซึ่งหายากมากและต้องรวบรวมมาจากหลายประเทศเป็นเวลานานหลายปีกว่าจะจัดแสดงได้ขนาดนี้ เช่น หอยสังข์ที่วนออกมาสวยๆ ตอนแรกแต่แล้วก็ ‘เละ’ ตอนปลาย ดูแล้วตลกดี ให้ความรู้สึกว่าหอยพวกนี้พยายามแล้วที่จะสร้างเปลือกสวยๆ เหมือนพวกพ้อง แต่ทำไม่สำเร็จเลยออกมาสวยแค่ครึ่งๆ กลางๆ เหมือนเมากัญชา
นอกจากที่ได้เล่าไปแล้ว พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยยังมีหอยอีกมากมายที่ต้องบรรยายอีกหลายหน้าถึงจะหมด ใครก็ตามที่มาเยือนจะได้ประทับใจกับความงดงาม ความพิลึก ความน่าเกลียด (แต่ไม่มีอะไรน่ากลัว) เรื่อยไปจนถึงความประหลาดพิสดารของสัตว์โลกตัวเล็กๆ ที่ผู้เขียนนึกไม่ถึงว่ามีอะไรน่าสนใจนักหนาก่อนมาที่นี่
การทำให้สิ่งที่คนเคยคิดว่าไม่น่าสนใจ กลับดูน่าสนใจระหว่างชมและถึงขั้นอัศจรรย์ใจก่อนกลับ คงเป็นเครื่องพิสูจน์ ‘คุณภาพ’ ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ดีที่สุด ใครที่อยากรู้ว่าหอยมีอะไรดี หรือแค่อยากรู้ว่านักสะสมที่ใจกว้างแสดงออกซึ่งความรักในของสะสมอย่างไร ไม่ควรพลาดพิพิธภัณฑ์เปลือกหอยด้วยประการทั้งปวง.
หมายเหตุ: สำหรับคนกรุงเทพฯ ที่สนใจจะไปเยี่ยมชมแต่ยังไม่มีเวลาไปเยือนภูเก็ต สามารถไป ‘เรียกน้ำย่อย’ ด้วยการเยือนพิพิธภัณฑ์เปลือกหอยกรุงเทพฯ ก่อน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ 1043 หัวมุมถนนสีลม ซอย 23 เยื้องสี่แยกโรงพยาบาลเลิดสิน เพิ่งได้ฤกษ์เปิดตัวเมื่อต้นปี 2009 แถมเจ้าของที่นี่ก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก คุณสมหวัง ปัทมคันธิน สุดยอดแฟนพันธุ์แท้เปลือกหอย 2 สมัย ปี 2007 และปี 2008 ทายาทของคุณสมนึก ปัทมคันธิน เจ้าของพิพิธภัณฑ์เปลือกหอยที่ภูเก็ตนั่นเอง