ราคาของการซื้อเสียง

pricetopay-vote.jpg

ราคาของการซื้อเสียง

ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “Price to Pay” นิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนกุมภาพันธุ์ 2557

(ภาพประกอบโดย wrongdesign)

“การซื้อเสียง” ถูกประโคมมาช้านานว่าเป็น “ปีศาจ” ของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ เพราะแน่นอนว่าเมื่อนักการเมือง “ลงทุน” อะไรไป ก็ย่อมต้องอยาก “ถอนทุน” เมื่อได้อำนาจทางการเมืองหลังจากที่ชนะการเลือกตั้งไปแล้ว

ในเมื่อการซื้อเสียงในความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป หมายถึงการควัก “เงินสด” ให้กับผู้มีสิทธิออกเสียง หาใช่การสัญญาว่าจะดำเนินการตามนโยบายหาเสียง ถ้าเราปล่อยให้การซื้อเสียงดำเนินไปอย่างแพร่หลาย ก็เท่ากับเปิดทางให้นักการเมืองที่ลงทุนซื้อเสียงได้เข้าไป “ถลุง” และ “กอบโกย” งบประมาณของรัฐ ซึ่งก็คือเงินภาษีของประชาชน มาคืนทุนของตัวเอง

อย่างไรก็ดี สังคมการเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากแล้วตั้งแต่ยุค “เงินผัน” สมัย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2518 จนนักวิชาการไทยหลายคน อาทิ ศจ. ผาสุก พงษ์ไพจิตร ชี้ว่า “เงินไม่ได้เป็นสิ่งที่ชี้ขาดผลการเลือกตั้งอีกต่อไปแล้ว”[1] อย่างน้อยก็ไม่ใช่การเลือกตั้งระดับชาติ

ศจ. ผาสุก อธิบายโดยยกตัวอย่างว่า “ในการเลือกตั้ง…เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2554 แบบแผนของการเลือกตั้งมีความแตกต่างอย่างชัดเจน  …เขตการเลือกตั้งที่ติดกัน ส.ส. ที่มาจากพรรคเดียวกันมักชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย [ยกตัวอย่างเช่น] ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคอีสาน ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยชนะขาดด้วยคะแนนเสียงมากกว่าร้อยละหกสิบ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละสิบ ในภาคใต้ (ยกเว้นบริเวณใต้สุด) พรรคประชาธิปัตย์ชนะด้วยคะแนนมากกว่าร้อยละหกสิบ ในขณะที่พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงต่ำกว่าร้อยละสิบ”

ผลการเลือกตั้งซึ่งสองพรรคใหญ่มีคะแนนเสียงห่างกันมากขนาดนี้ชี้ว่า การซื้อเสียงมิใช่ประเด็นสำคัญที่ชี้ขาดผลการเลือกตั้ง เพราะพรรคการเมืองไม่มีแรงจูงใจใดๆ ที่จะทุ่มเงินซื้อเสียงเพื่อให้ตัวเองชนะคู่แข่งอย่างขาดลอยขนาดนี้ (ทุ่มให้ชนะเพียงเล็กน้อยก็พอแล้ว)

แน่นอน สถานการณ์เปลี่ยนไปย่อมมิได้หมายความว่า การซื้อเสียงสมควรจะถูกประณามน้อยลง หรือเราควรไปแก้กฏระเบียบให้มันกลายเป็นเรื่องถูกกฏหมายขึ้นมา

การซื้อเสียงในความหมายที่แคบที่สุด คือผู้สมัครรับเลือกตั้งจ่ายเงินสดให้กับผู้มีสิทธิออกเสียง เป็นพฤติกรรมที่ผิดกฏหมายในทุกประเทศทั่วโลกที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย เพราะการซื้อเสียงมีราคาจริงๆ ที่ทุกคนในสังคมต้องแบกรับ

บทความคลาสสิกเรื่อง “Vote Buying” (ซื้อเสียง) โดยศาสตราจารย์ด้านกฏหมาย ริค ฮาเซน (Rick Hasen) ตีพิมพ์ในวารสาร California Law Review ปี 2000[2] อธิบายว่า ถึงแม้การซื้อเสียงจะถูกประณามอย่างแทบจะเป็นสากล แต่ละคนก็มีเหตุผลที่แตกต่างกันไปในการประณาม ฮาเซนสรุปเหตุผลที่สนับสนุนให้การซื้อเสียงเป็นพฤติกรรมผิดกฏหมายไว้สามประการด้วยกัน ได้แก่ เหตุผลด้านความเท่าเทียมกัน เหตุผลด้านประสิทธิภาพ และเหตุผลด้านสิทธิอันละเมิดมิได้

เหตุผลด้านความเท่าเทียมกัน (equality) บอกว่า ในเมื่อคนจนมีแนวโน้มที่จะขายเสียงมากกว่าคนรวย (เพราะมีความต้องการเงินมากกว่า และคนรวยมีช่องทางเข้าถึงนักการเมืองมากกว่าคนจน เช่น ผ่านการบริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองโดยตรง) ถ้าอนุญาตให้ซื้อเสียง ผลการเลือกตั้งก็อาจเอนเอียงไปเข้าข้างคนรวยได้ (นักการเมืองที่มาจากกลุ่มคนรวยสามารถเลือกซื้อเสียงคนจน เพื่อจะได้ไม่ต้องออกนโยบายช่วยคนจน ไปเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยแทน)  

เหตุผลด้านประสิทธิภาพ (efficiency) บอกว่า การอนุญาตให้ซื้อเสียงเท่ากับอนุญาตให้นักการเมืองแสวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (rent seeking) เมื่อชนะเลือกตั้งไปแล้ว แทนที่จะดำเนินนโยบายสาธารณะที่สังคมได้ประโยชน์ (เหตุผลข้อนี้เป็นข้อที่เราคนไทยน่าจะคุ้นเคยและเห็นพ้องมากที่สุด จากการได้มองเห็นคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายอย่างโจ๋งครึ่มมาแล้วมากมาย)

เหตุผลด้านสิทธิส่วนบุคคลอันละเมิดมิได้ (inalienability) เป็นเหตุผลเชิงศีลธรรม นั่นคือ มองว่าเสียงที่เราทุกคนมีเท่ากัน 1 คน 1 เสียงนั้น เป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่ไม่ควรถูกขายหรือโอนให้กับคนอื่น ผู้ที่สนับสนุนเหตุผลข้อนี้มักมองว่า การเลือกตั้งเป็น “หน้าที่พลเมือง” หรือบางคนอาจมองถึงขั้นเป็น “หน้าที่ทางศีลธรรม” ที่ไม่ทำไม่ได้ การยอมให้ซื้อเสียงเท่ากับยอมให้เสียงอันศักดิ์สิทธิ์ของเราแต่ละคนกลายเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันในท้องตลาด

นอกจากนี้ นักปรัชญากฏหมายหลายคน อาทิ แคส ซันสตีน (Cass Sunstein) ยังมองต่อไปว่า การยอมให้บุคคลรับเงินสดแลกกับการออกเสียงเป็นการบิดเบือนเป้าหมายของการไปเลือกตั้ง ทำให้เราหมกมุ่นกับประโยชน์ส่วนตนเฉพาะหน้า (“หัวคะแนนพรรคไหนจ่ายเราเท่าไร”) มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม (หรืออย่างน้อยก็ประโยชน์ของชุมชนหรือกลุ่มที่เราสังกัด) ที่เราคาดหวังให้นักการเมืองสร้าง มองจากมุมนี้ การยอมให้ซื้อเสียงจึงเท่ากับยอมให้เป้าหมายของการเลือกตั้งถูกบิดเบือนไป บั่นทอนคุณภาพของระบอบการเมืองโดยรวม

ฮาเซนนำเสนอว่า การซื้อเสียงในความหมายที่แคบที่สุด คือ การจ่ายเงินสดให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงแลกกับความคาดหวังว่าจะได้คะแนนเสียงนั้น สมควรเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฏหมายด้วยเหตุผลทั้งสามประการข้างต้น เขานำเสนอต่อไปว่า เราสามารถใช้ชุดเหตุผลข้างต้นเป็น “บรรทัดฐาน” ในการมองว่า พฤติกรรมใดน่าจะเข้าข่ายการซื้อเสียงที่ผิดกฏหมาย กล่าวคือ ก่อนจะบัญญัติให้พฤติกรรมใดๆ ผิดกฏหมาย เราก็ควรประยุกต์ใช้เหตุผลได้ครบทั้งสามข้อ

ตัวอย่างพฤติกรรมที่ไม่ใช่การซื้อเสียงตรงๆ แต่หลายคนมองว่าน่าจะเข้าข่ายมีอะไรบ้าง? ตัวอย่างที่ใช้กันแพร่หลายได้แก่ การแลกเสียงโหวตในสภาเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน (logrolling) ระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (“ฉันจะยกมือสนับสนุนกฏหมายที่แกเสนอ ถ้าแกยกมือสนับสนุนกฏหมายที่ฉันเสนอ”) และการเสนอผลประโยชน์ที่จับต้องได้ในแคมเปญรณรงค์ให้คนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (เมืองไทยซึ่งคนตื่นตัวออกไปใช้สิทธิสูงมากไม่คุ้นเคยกับแคมเปญทำนองนี้ แต่ในประเทศที่อัตราการออกไปใช้สิทธิยังค่อนข้างต่ำ แคมเปญลักษณะนี้พบเห็นได้ทั่วไป เช่น ในสหรัฐอเมริกา กลุ่มพ่อค้าเมือง ซาน รามอน ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เคยจับมือกันมอบส่วนลดราคาสินค้า ลดค่าอาหารในร้านอาหาร และเปิดบัญชีออมทรัพย์ฟรี ให้กับชาวเมืองทุกคนที่เอา “หางบัตร” หลังจากไปลงคะแนนเลือกตั้งมาแสดงให้ดู)

การแลกเสียงโหวตในสภาควรถูกจัดเป็น “การซื้อเสียงที่ผิดกฏหมาย” หรือไม่? เมื่อมองจากเหตุผลด้านความเท่าเทียม ไม่ชัดเจนว่าพฤติกรรมนี้ละเมิดหลักความเท่าเทียม เนื่องจาก ส.ส. แต่ละคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในสภา เมื่อมองจากเหตุผลด้านประสิทธิภาพ ก็ไม่ชัดเจนเช่นกันว่าการทำแบบนี้จะลิดรอนประโยชน์ส่วนรวมเสมอไป เนื่องจากอาจเป็นวิธีที่สร้างประโยชน์ส่วนรวมก็ได้ เช่น ร่างกฏหมายที่ ส.ส. สองคนตกลงแลกกัน อาจเป็นกฏหมายที่ดีมากทั้งคู่

สุดท้าย เมื่อมองจากเหตุผลด้านสิทธิอันละเมิดมิได้ เราก็ไม่อาจพูดว่าการแลกเสียงโหวตในสภาเป็นการบิดเบือนหรือบั่นทอนการเมือง เพราะ ส.ส. เจรจาแลกเสียงกันโดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่ได้รับประโยชน์ส่วนตนใดๆ ตอบแทน

ในเมื่อการแลกเสียงโหวตในสภา “ผ่าน” เหตุผลทั้งสามประการ ก็หมายความว่าพฤติกรรมนี้ไม่ควรเข้าข่ายที่ผิดกฏหมาย

เราสามารถใช้เหตุผลสามประการและแนวคิดของฮาเซน เป็น “เครื่องมือ” วัดระดับความ “แย่” (ยิ่งแย่ยิ่งควรผิดกฏหมาย) ของพฤติกรรมต่างๆ ที่หลายคนข้องใจ เช่น ถ้าเราไม่ได้พูดถึงการเจรจา “แลก” เสียงโหวตในสภา แต่พูดถึงการ “ซื้อ” เสียงโหวตของ ส.ส. เช่น ถ้าหากนายทุนพรรคอยากทุ่มเงินมหาศาลให้ ส.ส. ทั้งสภายอมออกกฏหมายแย่ๆ ทำนอง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่ง พฤติกรรมนี้ก็ชัดเจนว่าไม่ผ่านเหตุผลทั้งสามด้าน ทั้งด้านความเท่าเทียม (นายทุนทุ่มเงิน ทำให้เสียงของคนจนไร้ค่า) ด้านประสิทธิภาพ (กฏหมายนี้ไม่สร้างประโยชน์ส่วนรวม) และด้านสิทธิอันละเมิดมิได้ (ส.ส. ขายความไว้วางใจของประชาชนที่เลือกเข้าสภา แลกกับการรับทรัพย์เข้ากระเป๋าตัวเอง)

ลองมาดูอีกพฤติกรรมที่คนไทยคุ้นเคย – ข้ออ้างที่ว่านักการเมืองสมัยนี้ “ซื้อเสียงด้วยนโยบาย” เป็นนัยว่าการที่นักการเมืองนำเสนอนโยบายต่างๆ นานา จูงใจให้คนเลือกนั้น แย่พอๆ กับ “การซื้อเสียง” ด้วยเงินสด

ลองตรองดูไม่ช้าก็จะพบว่า พฤติกรรมนี้ “ผ่าน” เหตุผลทั้งสามข้อ ทั้งด้านความเท่าเทียม (ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกหรือไม่เลือกก็ได้) ด้านประสิทธิภาพ (บางนโยบายสร้างประโยชน์ส่วนรวม) และด้านสิทธิอันละเมิดมิได้ (ัประชาชนไม่ได้ขายเสียงของตัวเองแลกเงิน) เป็นเครื่องยืนยันว่า การหาเสียงด้วยนโยบายไม่ใช่การซื้อเสียง และไม่ใช่ปัญหาใดๆ เป็นเพียงครรลองปกติของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น

พฤติกรรมบางอย่างมีราคาที่มองไม่เห็น แต่การมองให้เห็นราคาอย่างถูกต้อง ไม่ประเมินราคาสูงเกินจริง ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าการรณรงค์เรียกร้องให้คนมองเห็นมัน มิฉะนั้นเราอาจเลือกวิธีแก้ปัญหาผิดพลาด ก่อให้เกิดโทษที่มีมูลค่าสูงกว่าต้นทุนที่เราประหยัดได้

อย่างเช่นการเรียกหารัฐประหารหรือ “รัฐบาลคนกลาง” มาแก้ปัญหาการซื้อเสียง.

 


[1] Pongpaichit, Pasuk. “Vote-buying claims nothing but dangerous nonsense,” Bangkok Post, 6 December 2013. http://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/383418/vote-buying-claims-nothing-but-dangerous-nonsense

[2] ดาวน์โหลดได้จาก http://papers.ssrn.com/sol3/papers.cfm?abstract_id=257564