ว่าด้วยเรื่อง geek, nerd, และ dork + แนะนำหนัง

ไหนๆ ก็ประกาศว่า “เป็น geek ที่ภูมิใจในความเป็น geek ของตัวเอง” ไปแล้วในหนังสือเรื่อง Bhutan: A Sketchbook วันนี้ก็ขออธิบายความหมายของคำนี้เพิ่มเติมยาวๆ หน่อย รวมทั้งคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่ใครจะเข้าใจผิดว่าเป็น “กิ๊ก” กับใคร เพราะเมืองไทยตอนนี้ก็เห็นมี geek เยอะพอสมควร รวมทั้งผู้อ่านบล็อกนี้หลายคนด้วย (เป็นใครบ้างก็คงรู้ตัวกันเอาเองนะคะ ;)) แต่ศัพท์คำนี้ก็ยังไม่มีในภาษาไทย ที่ใกล้เคียงที่สุดอาจเป็น “แฟนพันธุ์แท้” แต่คำนี้ก็ตรงความหมายประมาณ 80% เท่านั้น เพราะความสนใจของ geek สมัยใหม่ส่วนใหญ่จะอยู่ในขอบเขตของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก “ศาสตราจารย์สติเฟื่อง” อย่าง ดร. สลัมพ์ ในการ์ตูนญี่ปุ่น และโอตากุ (otaku คือแฟนพันธุ์แท้การ์ตูนญี่ปุ่น) ส่วนใหญ่จึงน่าจะเป็น geek แต่แชมป์แฟนพันธุ์แท้ประวัติศาสตร์อยุธยา พระเครื่อง หรือศูนย์การค้า น่าจะเข้าข่าย nerd มากกว่า ไม่ใช่ geek ยกเว้นในกรณีที่พวกเขาหมกมุ่นกับความสนใจมากจนถึงขนาดไม่สนใจสุขภาพ คนรอบตัว หรือสิ่งอื่นใดในชีวิต

การเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่กำลังคืบคลานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเรา ในรูปแบบใหม่ๆ อันน่าตื่นเต้น และบางครั้งก็น่าฉงน (ทำไมเราถึงจะอยากเช็คอีเมล์บนเครื่องปิ้งขนมปัง?!?) ทำให้คนประเภท geek ซึ่งใช้ชีวิตผูกพันกับเทคโนโลยี นับวันจะมีจำนวนสูงขึ้น และทวีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย

ดังนั้น ลองมาทำความรู้จักกับ geek กันสักนิด เพราะถึงคุณจะไม่เป็น วันใดวันหนึ่งข้างหน้าคุณอาจถูกแวดล้อมด้วยพวกเขา


ไหนๆ ก็ประกาศว่า “เป็น geek ที่ภูมิใจในความเป็น geek ของตัวเอง” ไปแล้วในหนังสือเรื่อง Bhutan: A Sketchbook วันนี้ก็ขออธิบายความหมายของคำนี้เพิ่มเติมยาวๆ หน่อย รวมทั้งคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่ใครจะเข้าใจผิดว่าเป็น “กิ๊ก” กับใคร เพราะเมืองไทยตอนนี้ก็เห็นมี geek เยอะพอสมควร รวมทั้งผู้อ่านบล็อกนี้หลายคนด้วย (เป็นใครบ้างก็คงรู้ตัวกันเอาเองนะคะ ;)) แต่ศัพท์คำนี้ก็ยังไม่มีในภาษาไทย ที่ใกล้เคียงที่สุดอาจเป็น “แฟนพันธุ์แท้” แต่คำนี้ก็ตรงความหมายประมาณ 80% เท่านั้น เพราะความสนใจของ geek สมัยใหม่ส่วนใหญ่จะอยู่ในขอบเขตของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก “ศาสตราจารย์สติเฟื่อง” อย่าง ดร. สลัมพ์ ในการ์ตูนญี่ปุ่น และโอตากุ (otaku คือแฟนพันธุ์แท้การ์ตูนญี่ปุ่น) ส่วนใหญ่จึงน่าจะเป็น geek แต่แชมป์แฟนพันธุ์แท้ประวัติศาสตร์อยุธยา พระเครื่อง หรือศูนย์การค้า น่าจะเข้าข่าย nerd มากกว่า ไม่ใช่ geek ยกเว้นในกรณีที่พวกเขาหมกมุ่นกับความสนใจมากจนถึงขนาดไม่สนใจสุขภาพ คนรอบตัว หรือสิ่งอื่นใดในชีวิต

การเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่กำลังคืบคลานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเรา ในรูปแบบใหม่ๆ อันน่าตื่นเต้น และบางครั้งก็น่าฉงน (ทำไมเราถึงจะอยากเช็คอีเมล์บนเครื่องปิ้งขนมปัง?!?) ทำให้คนประเภท geek ซึ่งใช้ชีวิตผูกพันกับเทคโนโลยี นับวันจะมีจำนวนสูงขึ้น และทวีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย

ดังนั้น ลองมาทำความรู้จักกับ geek กันสักนิด เพราะถึงคุณจะไม่เป็น วันใดวันหนึ่งข้างหน้าคุณอาจถูกแวดล้อมด้วยพวกเขา

นิยามของ geek ในวิกิพีเดีย สรุปความหมายและวิวัฒนาการของการใช้คำว่า geek ได้ดีพอสมควร เลยขอแปลและขยายความบางส่วนมาให้อ่านกัน:

“…เชื่อกันว่า ต้นตอของคำว่า “geek” มาจาก “circus geeks” หมายถึงนักแสดงละครสัตว์ที่ยืนโชว์ความสามารถพิเศษประหลาดๆ เช่น กลืนสัตว์เป็นๆ เคี้ยวแมลง กัดหัวไก่ ฯลฯ ให้คนดู ก่อนการแสดงจะเริ่มต้น จุดเปลี่ยนในการใช้คำว่า geek ในอเมริกา คือเมื่อนักมวยปล้ำชื่อเฟรดดี้ บลาซซี่ (Freddie Blassie) คิดคำว่า “pencil-neck geek” (กี๊กคอดินสอ) ขึ้น และใช้คำนี้เป็นชื่อเพลงที่เขาแต่งเมื่อปี พ.ศ. 2519 เนื้อเพลงเชื่อมความหมายเก่าของ geek ละครสัตว์ กับความหมายใหม่ในแง่ของคนหัวโตตัวลีบ ที่ “สมควร” ถูกสังคมเยาะเย้ยและโจมตี ซึ่งแปลว่านัยยะที่ซ่อนเร้นอยู่คือ geek เป็น “คนนอกคอก” ที่สังคมไม่ยอมรับ (social outcast) บลาซซี่อาจเป็นผู้ทำให้คำว่า geek ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย

ปัจจุบันนิยามของ geek ได้เปลี่ยนไปมากจากสมัยก่อน และไม่มีนิยามตายตัว นัยยะด้านลบในสังคมที่ค่อนไปทางดูถูกเหยียดหยามทำให้การจำกัดความยากยิ่งขึ้นไปอีก ความแตกต่างระหว่าง “geek” และ “nerd” ยังเป็นที่ถกเถียง แต่โดยทั่วไป nerd หมายถึงคนฉลาดไอคิวสูง ในขณะที่ geek หมายถึงคนที่มีความสนใจแบบแปลกๆ เข้าขั้นหมกมุ่นอยู่กับอะไรสักอย่าง (ดังนั้น geek กับ nerd อาจเป็นคนๆ เดียวกันได้) ความหมายของ geek ที่ใช้กันในปัจจุบันในบริบทต่างๆ มีตัวอย่างดังต่อไปนี้

  • นิยามที่ geek ส่วนใหญ่ยอมรับ (รวมทั้งเจ้าของบล็อกนี้ด้วย) คือ: “คนที่ทำอะไรด้วยความชอบเป็นหลัก” คือคนที่ใช้เหตุผลและตัดสินใจบนพื้นฐานของความชอบหรือความหลงใหลส่วนตัว (personal passions) ไม่ใช่เป้าหมายอื่นเช่น เงินทอง หรือการยอมรับจากสังคม แนวคิดที่ว่า ความชอบส่วนตัวควรเป็นแรงบันดาลใจในการตัดสินใจทุกอย่างในชีวิต นับเป็น “หลักการเบื้องต้น” ที่ geek ทุกประเภทคิดตรงกัน
  • คนที่สนใจเทคโนโลยี โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และสื่อสมัยใหม่ (เช่น อินเทอร์เน็ต MP3 ฯลฯ) นิยามนี้ใกล้เคียงกับนิยามคลาสสิกของ “แฮคเกอร์” (hacker คือโปรแกรมเมอร์ระดับเซียน สามารถ “hack” เข้าเว็บไซด์หรือคอมพิวเตอร์คนอื่นได้)
  • คนที่มุ่งพัฒนาความสนใจเฉพาะด้าน แทนที่จะทำตัวตามความคาดหวังของสังคม (conformity) ทักษะ (โดยเฉพาะด้านเทคนิค) และจินตนาการสำหรับ geek สำคัญกว่าการยอมรับจากสังคม geek ปกติเป็นพวก neophilia (ชอบความแปลกใหม่และของใหม่ๆ) geek ส่วนใหญ่ใช้คอมพิวเตอร์คล่อง (แม้อาจไม่ถึงขั้นเขียนโปรแกรมเป็น) มองว่า “แฮคเกอร์” เป็นคำแสดงความยกย่อง แต่แฮคเกอร์หลายคนก็เรียกตัวเองว่า geek อยู่ดี เพราะเชื่อว่า “แฮคเกอร์” เป็นคำที่ควรให้คนอื่นเรียก ไม่ใช่เรียกตัวเอง
  • คนที่ทุ่มเทความสนใจกับอะไรสักอย่าง จนถึงระดับที่ทำให้อยู่นอก “กระแสหลัก” ของสังคม นิยามนี้กว้างมาก เพราะพูดถึงหัวข้อความสนใจเป็นหลัก ดังนั้นจึงครอบคลุมตั้งแต่ geek คณิตศาสตร์, geek เครื่องบิน, geek ดนตรี, geek คอมพิวเตอร์, geek วิทยาศาสตร์ (ซึ่งแยกย่อยลงไปได้หลายสาขา) , geek ภาพยนตร์, geek อานิเมและการ์ตูนญี่ปุ่น (otaku), geek ละคร, geek ประวัติศาสตร์, geek เกมคอมพิวเตอร์, geek ภาษา, geek ระบบขนส่งมวลชน, geek สตาร์ วอร์ส, geek สตาร์ เทร็ค, geek แฟนตาซี ฯลฯ (ถ้าเป็นเมืองไทย โดยเฉพาะคนที่ป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆ บล็อกนี้ คงต้องรวม geek การเมือง กับ geek เศรษฐศาสตร์เข้าไปด้วย ;))
  • ใช้ในความหมายเชิงลบ เรียกคนที่ไม่มีทักษะในการเข้าสังคม ไม่ว่าจะฉลาดหรือไม่ ความหมายนี้เหมือนกับศัพท์แสลงอังกฤษอีกคำคือ “dork” แต่ตอนนี้เมื่อ geek “เท่” กว่าสมัยก่อนมากแล้ว คนที่เข้าสังคมไม่เป็นจึงเรียกว่า dork อย่างเดียว ไม่ใช่ geek (ดูคำอธิบายในตอนถัดไป)
  • คนที่ปฏิเสธสังคม แต่อยู่ในสังคมได้ ไม่เหมือนฤาษียุคดิจิตัล (นิยามนี้ยังใช้เรียกคนที่คนส่วนใหญ่มองว่าฉลาดหลักแหลมกว่าคนธรรมดามาก)

Geeko Sapiens

ปัจจุบัน geek เป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะ geek ด้านเทคนิค เพราะ geek หลายคนเช่น บิล เกตส์ ประสบความสำเร็จอย่างสูงในสาขาของตน คือได้ทั้งเงินได้ทั้งกล่อง (การยอมรับจากสังคม) แถม geek บางคน เช่น สตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้ง Apple Computer ยังได้รับความนิยมในฐานะ geek นักธุรกิจที่ “เท่” กว่า geek สมัยก่อน ที่เอาแต่หมกตัวอยู่ในห้อง ไม่ชอบสุงสิงกับใคร

อย่างไรก็ตาม geek ในสาขาเฉพาะด้านอื่นๆ เช่น การ์ตูน ที่ต้องการประกอบอาชีพในสิ่งที่ตัวเองรัก (เช่น เป็นนักเขียนหรือนักวาดการ์ตูน) ยังต้องพบกับความยากลำบาก แนวโน้มที่ฝันจะเป็นจริงยังริบหรี่ นอกจากนี้ นัยยะด้านลบของคำว่า “geek” ยังทรงอิทธิพลอยู่มาก โดยคนส่วนใหญ่ใช้เรียกคนที่ทุ่มเทให้กับสิ่งที่ตัวเองรัก จนไม่สนใจทักษะในการเข้าสังคม สุขอนามัยส่วนตัว หรือความรับผิดชอบของผู้ใหญ่ทั่วไป เช่น มีงานทำเป็นหลักแหล่ง และมีที่อยู่เป็นของตัวเอง ไม่ว่าความเป็น geek จะมาจากงานอดิเรก หรืองานประจำก็ตาม คนส่วนใหญ่ยังมองว่า geek ต้องออกจากห้องไป “ใช้ชีวิตจริงๆ เสียบ้าง” (get a life)

ปัจจุบัน องค์ประกอบบางส่วนของวัฒนธรรมคนขี้เกียจ (slacker culture) ได้หลอมรวมกันกับวัฒนธรรม geek เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงวัฒนธรรมและความบันเทิงแบบป๊อป ที่เน้นผู้บริโภคเป็นหลัก อย่างง่ายดายกว่า (และมีราคาถูกกว่า) เมื่อหลายสิบปีก่อน ตัวละคร Jay และ Silent Bob ในหนังของ Kevin Smith เป็นตัวอย่างของ geek รุ่นใหม่ที่ซึมซับความรู้เรื่องสัพเพเหระในหัวข้อ geek ทั่วๆ ไป (เช่น เรื่องหนัง การ์ตูน ฯลฯ) เก่งมาก แต่ไม่ได้เรียนจบการศึกษาสูงๆ ไม่ขยัน และไม่ค่อยฉลาด (แถมเป็นพ่อค้ายาเสพติดข้างถนนอีกต่างหาก)”

ถึงตรงนี้ คุณน่าจะรู้ตัวแล้วว่าเป็น geek ประเภทใดประเภทหนึ่งหรือไม่ ถ้ายังไม่แน่ใจ ลองทำแบบทดสอบนี่ดู แต่พึงระวังว่าความหมายของ “geek” ในแบบทดสอบนี้ค่อนข้างแคบพอสมควร (ผู้เขียนได้คะแนน 22.8% จัดว่าเป็น “geek” แ่ต่ยังไม่ใช่ระดับ “total geek”)

……

เมื่อพูดถึง geek หลายคนคงสงสัยว่า geek กับ nerd แตกต่างกันอย่างไร

ไปดูคำอธิบาย “เนิร์ด” ในวิกิพีเดียไทย แต่ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เพราะมีความกำกวมค่อนข้างมาก ขอสรุปสั้นๆ ตามความเข้าใจของตัวเองแบบนี้ก็แล้วกัน:

nerd หรือที่เริ่มปรากฎคำว่า “เด็กเนิร์ด” ในภาษาไทย หมายถึงคนที่มีสติปัญญาดีกว่าคนปกติ คนส่วนใหญ่ที่ถูกเพื่อนๆ เรียกว่า “เด็กเรียน” และ/หรือ “หนอนหนังสือ” น่าจะเป็น nerd (ได้ยินสองคำนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ผู้เขียนยังเด็ก)

ความแตกต่างระหว่าง nerd กับ geek น่าจะอยู่ที่ “ระดับความสนใจ” ในสิ่งที่ตัวเองชอบ (passion) เป็นหลัก โดยระดับความทุ่มเทของ geek ในสิ่งที่ตัวเองสนใจ จะมากกว่าของ nerd หลายเท่า เช่น nerd บางคนอาจชอบอ่าน Lord of the Rings มากจนจำบางประโยคในนั้นได้ แต่ geek ที่ชอบมากๆ จะใช้เวลาเป็นเดือนๆ ศึกษาภาษาSindarin ของพวกเอลฟ์จนพูดได้ หรือ nerd อาจชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น แต่ geek ประเภท otaku ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้จริงๆ จะหมดเวลาไปกับการตามเก็บสะสมการ์ตูนที่ชอบให้ครบทุกเวอร์ชั่น แต่งตัวเป็นตัวการ์ตูนที่ชอบไปงานแฟนตาซี ฯลฯ

พูดง่ายๆ คือ ระดับความสนใจของ nerd ไม่ว่าจะในเรื่องอะไรก็แล้วแต่ จะอยู่ในระดับ “วิชาการ” เป็นหลัก เป็นความรู้ที่มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ ในขณะที่ระดับความสนใจของ geek จะเข้าขั้น “หมกมุ่น” คือระดับที่คนทั่วไปจะไม่เข้าใจว่าทำไปทำไม เสียเวลาทำมาหากินเปล่าๆ 😉

สิ่งที่หลายคนเข้าใจผิดคือ จริงๆ แล้วความเป็น nerd และ geek ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับทักษะในการเข้าสังคม กล่าวคือ nerd หรือ geek บางคนอาจประหม่า ทำตัวไม่ถูกเวลาเจอคนมากๆ ในขณะที่ nerd หรือ geek หลายคนไม่มีปัญหานั้นเลย แต่ถ้าพูดรวมๆ แล้ว geek โดยเฉลี่ยอาจมีความสามารถในการเข้าสังคมต่ำกว่าคนที่ไม่ใช่ geek เพราะใช้เวลาอยู่กับความสนใจของตัวเอง (เช่น อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ อ่านหนังสือเงียบๆ คนเดียว หรือสังสรรค์กับคนอื่นที่เป็น geek ในสาขาเดียวกัน) มากกว่าคนทั่วไป

ภาษาอังกฤษมีศัพท์เฉพาะสำหรับเรียกคนที่มีปัญหาในการเข้าสังคมจริงๆ อยู่แล้ว คือคำว่า “dork” ฉะนั้น dork ส่วนใหญ่อาจเป็น nerd หรือ geek แต่ nerd หรือ geek ไม่จำเป็นต้องเป็น dork ด้วย

การ์ตูนบนเว็บเรื่อง Cat and Girl (ที่ geek หลายคนชอบอ่าน แรวมทั้งเจ้าของบล็อกนี้ด้วย) ตอนหนึ่ง สรุปความแตกต่างระหว่าง nerd, geek, และ dork ไว้ค่อนข้างดีดังนี้:

geek, nerd, and dork

……

วิวัฒนาการของคำว่า “geek” จากที่มีความหมายด้านลบเพียงอย่างเดียวที่อธิบายโปรแกรมเมอร์ใส่แว่นหนาเตอะ แต่งตัวเชยๆ คุยกับคนไม่รู้เรื่อง มาเป็นความหลากหลายในปัจจุบันที่รวม “geek เท่ๆ” (cool geek) อย่างสตีฟ จ็อบส์ หรือแฮคเกอร์สุดหล่อแบบ Hugh Jackman ในหนังเรื่อง Swordfish สะท้อนให้เราเห็นผ่านจอเงินและจอแก้ว ไม่ต่างจากปรากฎการณ์อื่นๆ ที่เป็นผลพวงจากวัฒนธรรมป๊อป และเทคโนโลยีสมัยใหม่

หนังที่มีตัวเอกเป็น nerd/geek/dork ที่ผู้เขียนค่อนข้างชอบ (ไม่ใช่หนังที่ geek ชอบที่สุด ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) คือเรื่องต่อไปนี้:

WarGames WarGames (1983) เป็นหนังเรื่องแรกๆ ของโลกที่มีแฮคเกอร์เป็นพระเอก เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ geek อัจฉริยะคอมพิวเตอร์คนหนึ่ง ที่บังเอิญไปเข้าคอมพิวเตอร์ลับสุดยอดที่ควบคุมคลังอาวุธนิวเคลียร์ของอเมริกาทั้งประเทศ ขณะกำลังเล่นเกมอยู่ เขาต้องทำให้คอมพิวเตอร์เชื่อให้ได้ว่าอยากเล่นเกม ไม่ใช่เริ่มสงครามโลกครั้งที่ 3 จริงๆ แม้ว่าประเด็นหลักของหนังเรื่องนี้คือการต่อต้านสงคราม มากกว่าเรื่องเทคโนโลยี แต่ก็ทำออกมาได้สนุกน่าตื่นเต้น และ Matthew Broderick ก็เล่นเป็น geek ได้สมบทบาทดี

Hackers Hackers (1995) เป็นเรื่องเกี่ยวกับกลุ่ม geek หนุ่มสาวที่ค้นพบแผนร้ายของอัจฉริยะคนหนึ่งที่ตั้งใจจะปล่อยไวรัสคอมพิวเตอร์ซึ่งหนึ่งในกลุ่ม geek เป็นผู้โค้ดมันขึ้นมา พวกเขาต้องใช้ฝีมือหาหลักฐานที่จะสาวไปถึงต้นตอของไวรัส ในขณะที่หลบหลีกการติดตามจากสายลับ CIA ที่รัฐบาลส่งมา แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะดู “เชย” ไปมากแล้วเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีปัจจุบัน แต่ก็ยังสนุกแบบเชยๆ อยู่ เมื่อผู้เขียนได้ดูอีกรอบเมื่อสามปีก่อน แถมดารานำในหนังเรื่องนี้ก็ล้วนอยู่ในวัยหนุ่มสาว ก่อนที่พวกเขาจะดังเป็นพลุแตก โดยเฉพาะ Angelina Jolie ผู้เป็นขวัญใจ 99.99% ของ geek ชายทั่วโลก 😉

Rushmore หนึ่งใน “หนังในดวงใจ” ของผู้เขียน Rushmore (1998) เป็นเรื่องเกี่ยวกับ nerd วัยรุ่นแก่แดดคนหนึ่งในโรงเรียน prep school (โรงเรียนเอกชนดัดจริต) แห่งหนึ่งในอเมริกา ที่ตกหลุมรักครูสาว และพยายามทุกวิถีทางที่จะเอาชนะใจเธอ นอกจากบทหนังอันแสนฉลาด เฉียบคม และพระเอกที่เล่นตลกหน้าตายได้เก่งมากๆ แล้ว จุดเด่นอีกประการของหนังเรื่องนี้คือบทพระรอง ซึ่งผู้เขียนคิดว่า Bill Murray เล่นได้ดีที่สุดในชีวิตการแสดงของเขา (ดีกว่าในเรื่อง Lost in Translation เสียอีก)

Antitrust หนังที่ได้รับแรงบันดาลใจเห็นๆ จากคดีที่ Netscape ฟ้อง Microsoft ขึ้นศาลด้วยข้อหาผูกขาดการค้าในตลาดเบราส์เซอร์อย่างไม่เป็นธรรม Antitrust (2001) เป็นเรื่องเกี่ยวกับโปรแกรมเมอร์อัจฉริยะคนหนึ่ง เป็น geek หน้าตาดีที่ได้รับการทาบทามจากซีอีโอของบริษัทผลิตซอฟต์แวร์ชื่อ NURV (สวมบทโดย Tim Robbins และเห็นชัดว่าถอดแบบมาจาก บิล เกตส์) ให้มาช่วยบริษัทเขียนโปรแกรมด้านการสื่อสาร แต่หลังจากเพื่อนสนิทของเขาตาย พระเอกก็เริ่มสงสัย NURV และพบแผนร้ายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง แม้ Antitrust จะไม่ใช่หนังดีเลิศ แต่ก็เป็นหนังค่อนข้างสนุก และใช้ศัพท์แสงต่างๆ ค่อนข้างถูกต้อง ผิดกับหนังเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทั่วๆ ไป (ถึงแม้ว่าในเรื่องนี้เราจะไม่เห็นพระเอกโปรแกรมอะไรจริงๆ จังๆ เลยก็ตาม เอาแต่จ้องจอคอมฯ เป็นส่วนใหญ่)

Jay and Silent Bob Strike Back ตัวละครสองคนคือ Jay กับ Silent Bob (ได้ชื่อนั้นเพราะนานๆ พูดที ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นใบ้) มีบทบาทในหนังของ Kevin Smith แทบทุกเรื่อง ตั้งแต่ Clerks เป็นต้นมา พฤติกรรม geek ของสองคนนี้ เช่น รู้รายละเอียดหนังฮอลลีวู้ด และการ์ตูนฝรั่งแทบทุกเรื่อง สะท้อนนิยามของ geek ที่เปลี่ยนไปและกว้างขึ้นกว่าสมัยก่อน จากเดิมที่หมายถึงโปรแกรมเมอร์หรือแฮคเกอร์อัจฉริยะ กลายเป็นใครก็ได้ที่ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการศึกษาหรือติดตามอะไรสักอย่าง โดยไม่สนใจเงินทอง ชื่อเสียง หรือภาพพจน์ตัวเอง และก็ไม่ขยันเรียนหนังสือด้วย นอกจาก Jay และ Silent Bob จะเป็น geek ขี้เกียจ พวกเขายังเป็นพ่อค้ายาเสพติดข้างถนนเสียด้วยซ้ำ หลังจากเป็นตัวประกอบมานาน ในที่สุดพวกเขาก็มีหนังเป็นของตัวเอง เรื่อง Jay and Silent Bob Strike Back (2001) เนื้อเรื่องเกี่ยวกับตอนที่ Jay กับ Silent Bob พยายามขอรับค่าลิขสิทธิ์จากผู้กำกับที่เอาเรื่องราวของพวกเขาไปทำเป็นหนังโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นหนังตลกแบบ geek ตามสไตล์ Kevin Smith ไม่ใช่ตลกคาเฟ่แบบ Dumb and Dumber

Harold & Kumar Go to White Castle Harold & Kumar Go to White Castle (2004) เป็นหนังตลกมากๆ เกี่ยวกับการผจญภัยของ nerd หนุ่มขี้ยา สมองดีแต่โชคไม่เข้าข้างสองคนที่เคยเป็นรูมเมทกันสมัยเรียนหนังสือ คนหนึ่งเป็นวาณิชธนกร (investment banker) ชาวเกาหลี อีกคนเป็นแพทย์ฝึกหัดชาวอินเดีย ในวันที่พวกเขาตามหาร้านขายแฮมเบอร์เกอร์ยี่ห้อ White Castle ในรัฐ New Jersey หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยทัศนคติแบบสำเร็จรูป (stereotype) มากมาย เช่น คนเชื้อสายจีนจะขยันและอดทนกว่าคนเชื้อชาติอื่นหลายเท่า ฯลฯ แต่ใช้ในลักษณะตลกขบขันและชัดเจนจนดูออกว่าผู้กำกับตั้งใจใช้เป็นมุกตลก ไม่ใช่ต้องการดูถูกเชื้อชาติไหนจริงๆ เป็นหนึ่งใน cult comedy สุดโปรดของผู้เขียน

Napoleon Dynamite Napoleon Dynamite (2004) เป็นเรื่องตลกระคนเศร้าของ dork หนุ่ม (คือ nerd เงอะงะที่เข้าสังคมไม่เป็น) ที่อยู่บ้านกับยายแก่ๆ และพี่ชาย dork อีกคนอายุ 32 ที่หมกมุ่นอยู่กับการจีบสาวตาม chatroom ออนไลน์ เรื่องนี้ทั้งเรื่องเกี่ยวกับความพยายามของพระเอกในการแย่งชิงตำแหน่งประธานนักเรียนจากหนุ่มหล่อยอดนิยม สนุกดีและมีมุกให้อมยิ้มเงียบๆ เยอะ แต่ใครที่ไม่ชอบหนังที่ใช้ความเงียบยาวๆ เป็นส่วนหนึ่งของมุกตลก อาจทนดูเรื่องนี้จนจบไม่ได้

Brick Brick (2005) เป็นหนังเกี่ยวกับ geek/nerd เรื่องล่าสุดที่ผู้เขียนได้ดู และก็รู้สึกชอบมากๆ เพราะพระเอกในเรื่องนี้เป็น nerd สมัยใหม่ที่กล้าชกต่อยกับคนตัวใหญ่กว่า (และบางครั้งก็เอาชนะเขาได้) มีเพื่อนสนิทเป็น geek ที่คอยช่วยเหลือด้านข้อมูลลับ เนื้อเรื่องเกี่ยวกับวงการค้ายาเสพติดในโรงเรียน ม. ปลายของพระเอก ที่ต้องเข้าไปยุ่งกับเหล่ามาเฟียเพราะต้องการสืบสาวสาเหตุการตายของแฟนสาว บทสนทนา มุมกล้อง และการเดินเรื่องของ Brick ทำได้เท่มากๆ แบบฟิล์มนัวร์ (film noir) ยุคใหม่ จนทำให้นึกถึงหนังเท่อีกเรื่องคือ Donnie Darko ซึ่งชอบมากจนตั้งใจจะเล่ายาวๆ ที่นี่ ในโอกาสหน้า 🙂

หนังเหล่านี้ในกรุงเทพฯ น่าจะหาซื้อได้ตามแผงขายดีวีดีเถื่อนทั่วไป เพราะของจริงหายากมาก ยกเว้นเรื่อง Brick เพราะดีวีดีเพิ่งออกได้ไม่นาน