แปลจากบท “The Art of Collecting Lightbulbs” ในหนังสือเรื่อง The Accidental Masterpiece: on the Art of Life and Vice Versa โดย Michael Kimmelman
เมื่อสามสี่ปีที่แล้วผมได้รู้จักกับทันตแพทย์ในเมืองบัลติมอร์คนหนึ่งชื่อ ฮิว ฟรานซิส ฮิกส์ (Hugh Francis Hicks) เขามีสำนักงานอยู่ชั้นบนของตึกหินหลังหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะวอลเตอร์ส (Walters Art Museum) บ่ายวันหนึ่งเขาพาผมไปเที่ยวชั้นใต้ดินของตึก เพื่อโชว์คอลเล็คชั่นที่เขาใช้เวลาสะสมกว่า 70 ปี ดร. ฮิกส์ ผู้ล่วงลับไปเมื่อปี 2545 ด้วยอายุ 79 ปี ชอบสะสมหลอดไฟฟ้า ซึ่งชั่วชีวิตเขาสะสมได้ประมาณ 75,000 อัน ท่านผู้อ่านคงไม่แปลกใจถ้าผมจะบอกว่า นี่เป็นคอลเล็คชั่นหลอดไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดร. ฮิกส์ ได้แปลงคอลเล็คชั่นส่วนตัวเป็นพิพิธภัณฑ์ชื่อ “พิพิธภัณฑ์หลอดไฟฟ้าแห่งเม้าท์ เวอร์นอน” (Mount Vernon Museum of Incandescent Lighting) ข้างในมีหลอดไฟขนาด 50,000 วัตต์ สูงสี่ฟุต ซึ่งเคยเป็นหลอดไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตลอดจนหลอดไฟฟ้าขนาดเล็กจิ๋วที่สุด ที่มองเห็นด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ดูเท่านั้น
ในพิพิธภัณฑ์นี้ คุณจะได้ชมหลอดไฟหลายอันที่ใช้ในการทดลองครั้งแรกๆ ของธอมัส เอดิสัน รวมทั้งไส้หลอดดั้งเดิมที่ทำจากแผ่นกระดาษแข็ง หนึ่งหลอดในกลุ่มนี้ยังใช้การได้อยู่ หลอดไฟเหล่านี้ถูกจัดเรียงอย่างประณีตในตู้กระจกที่ทำจากไม้ เหมือนตู้แสดงในพิพิธภัณฑ์เมื่อร้อยปีก่อน ตู้ทั้งหมดมีป้ายอธิบายสีเหลืองซีด พิมพ์จากพิมพ์ดีด ที่เต็มไปด้วยข้อมูลจิปาถะมากมาย เช่น ที่มาของชื่อมาสด้า (เป็นชื่อเทพพระอาทิตย์ในศาสนา Zoroastrian) และประวัติไส้หลอดที่ทำจากทังสเตน ดร. ฮิกส์ มีคอลเล็คชั่นของหลอดไฟมาสด้า “แบบ B” ซึ่งบรรดานักสะสมหลอดไฟถือว่าสุดยอด เขาสะสมสวิตช์ เบ้าหลอดไฟ และ adapter นานาชนิด และยังมีสมบัติประเภท “หนึ่งเดียวในโลก” หรือเกือบหนึ่งเดียวในโลก เช่น ไฟหน้าจากรถเบนซ์ของฮิมเลอร์ [Heinrich Himmler เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพนาซี สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง] และหลอดไฟสามดวงจากเครื่องบิน อีโนล่า เกย์ [Enola Gay เป็นชื่อเครื่องบิน B-29 ที่ทิ้งระเบิดปรมาณูลงฮิโรชิม่า] นอกจากนี้ คุณจะเห็นหลอดไฟดีไซน์ตลกต่างๆ เช่น หลอดไฟรูปร่างเหมือนตัวการ์ตูนดิ๊ก เทรซี่ เนคไทเรืองแสง และตู้อธิบายประวัติของการประดับไฟระหว่างเทศกาลคริสต์มาส ชั้นใต้ดินที่เหมือนรังกระต่ายแห่งนี้มีห้องมุมตึก ในห้องมีโต๊ะกลมปูผ้าคลุมพลาสติกลายดอกไม้ ที่ดร. ฮิกส์ใช้แจกคุ้กกี้ให้กับเด็กนักเรียนที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่ผมจะไปหาเขา ผมโทรศัพท์ไปนัดก่อน ดร. ฮิกส์ มาพบผมในออฟฟิศของเขา (ตอนนั้นไม่มีคนไข้แล้ว) แล้วก็พาผมลงไปข้างล่าง เปิดไฟให้ดู
แปลจากบท “The Art of Collecting Lightbulbs” ในหนังสือเรื่อง The Accidental Masterpiece: on the Art of Life and Vice Versa โดย Michael Kimmelman
เมื่อสามสี่ปีที่แล้วผมได้รู้จักกับทันตแพทย์ในเมืองบัลติมอร์คนหนึ่งชื่อ ฮิว ฟรานซิส ฮิกส์ (Hugh Francis Hicks) เขามีสำนักงานอยู่ชั้นบนของตึกหินหลังหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะวอลเตอร์ส (Walters Art Museum) บ่ายวันหนึ่งเขาพาผมไปเที่ยวชั้นใต้ดินของตึก เพื่อโชว์คอลเล็คชั่นที่เขาใช้เวลาสะสมกว่า 70 ปี ดร. ฮิกส์ ผู้ล่วงลับไปเมื่อปี 2545 ด้วยอายุ 79 ปี ชอบสะสมหลอดไฟฟ้า ซึ่งชั่วชีวิตเขาสะสมได้ประมาณ 75,000 อัน ท่านผู้อ่านคงไม่แปลกใจถ้าผมจะบอกว่า นี่เป็นคอลเล็คชั่นหลอดไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดร. ฮิกส์ ได้แปลงคอลเล็คชั่นส่วนตัวเป็นพิพิธภัณฑ์ชื่อ “พิพิธภัณฑ์หลอดไฟฟ้าแห่งเม้าท์ เวอร์นอน” (Mount Vernon Museum of Incandescent Lighting) ข้างในมีหลอดไฟขนาด 50,000 วัตต์ สูงสี่ฟุต ซึ่งเคยเป็นหลอดไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตลอดจนหลอดไฟฟ้าขนาดเล็กจิ๋วที่สุด ที่มองเห็นด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ดูเท่านั้น
ในพิพิธภัณฑ์นี้ คุณจะได้ชมหลอดไฟหลายอันที่ใช้ในการทดลองครั้งแรกๆ ของธอมัส เอดิสัน รวมทั้งไส้หลอดดั้งเดิมที่ทำจากแผ่นกระดาษแข็ง หนึ่งหลอดในกลุ่มนี้ยังใช้การได้อยู่ หลอดไฟเหล่านี้ถูกจัดเรียงอย่างประณีตในตู้กระจกที่ทำจากไม้ เหมือนตู้แสดงในพิพิธภัณฑ์เมื่อร้อยปีก่อน ตู้ทั้งหมดมีป้ายอธิบายสีเหลืองซีด พิมพ์จากพิมพ์ดีด ที่เต็มไปด้วยข้อมูลจิปาถะมากมาย เช่น ที่มาของชื่อมาสด้า (เป็นชื่อเทพพระอาทิตย์ในศาสนา Zoroastrian) และประวัติไส้หลอดที่ทำจากทังสเตน ดร. ฮิกส์ มีคอลเล็คชั่นของหลอดไฟมาสด้า “แบบ B” ซึ่งบรรดานักสะสมหลอดไฟถือว่าสุดยอด เขาสะสมสวิตช์ เบ้าหลอดไฟ และ adapter นานาชนิด และยังมีสมบัติประเภท “หนึ่งเดียวในโลก” หรือเกือบหนึ่งเดียวในโลก เช่น ไฟหน้าจากรถเบนซ์ของฮิมเลอร์ [Heinrich Himmler เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพนาซี สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง] และหลอดไฟสามดวงจากเครื่องบิน อีโนล่า เกย์ [Enola Gay เป็นชื่อเครื่องบิน B-29 ที่ทิ้งระเบิดปรมาณูลงฮิโรชิม่า] นอกจากนี้ คุณจะเห็นหลอดไฟดีไซน์ตลกต่างๆ เช่น หลอดไฟรูปร่างเหมือนตัวการ์ตูนดิ๊ก เทรซี่ เนคไทเรืองแสง และตู้อธิบายประวัติของการประดับไฟระหว่างเทศกาลคริสต์มาส ชั้นใต้ดินที่เหมือนรังกระต่ายแห่งนี้มีห้องมุมตึก ในห้องมีโต๊ะกลมปูผ้าคลุมพลาสติกลายดอกไม้ ที่ดร. ฮิกส์ใช้แจกคุ้กกี้ให้กับเด็กนักเรียนที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่ผมจะไปหาเขา ผมโทรศัพท์ไปนัดก่อน ดร. ฮิกส์ มาพบผมในออฟฟิศของเขา (ตอนนั้นไม่มีคนไข้แล้ว) แล้วก็พาผมลงไปข้างล่าง เปิดไฟให้ดู
ทำไมคนบางคนจึงชอบสะสม? ศิลปะทำให้เราสบายใจได้หลายรูปแบบ บางคนได้ความสบายใจจากการสรรค์สร้าง บางคนได้จากการเก็บสะสม ดร. ฮิกส์ ได้ความสบายใจจากการเสาะแสวงหา และสะสมถ้วยรางวัลชนิดเรืองแสงได้ คนส่วนใหญ่อย่างเราได้ความสบายใจอย่างเรียบง่าย จากการชื่นชมคุณค่าของสิ่งที่คนอย่าง ดร. ฮิกส์ สะสม เพียงแค่ได้ยืนดูสมบัติอันน่ามหัศจรรย์ของคนอื่น ดร. ฮิกส์ เล่าว่า ความหลงใหลนี้ก่อตัวขึ้นตั้งแต่เขายังแบเบาะ วันหนึ่งแม่ของเขาสังเกตเห็นว่า เขาเบื่อของเล่น ก็เลยให้หลอดไฟเก่าๆ เขามาเล่นหนึ่งอัน ดร. ฮิกส์ รอดพ้นอันตรายคราวนั้นมาได้ และเริ่มคิดค้นโครงการวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้า ไม่นาน เขาก็ได้รู้จักกับนักสะสมหลอดไฟคนอื่นๆ เริ่มแลกเปลี่ยนของกัน และเขาก็ไม่อยู่เหนือการลักเล็กขโมยน้อย ครั้งหนึ่งระหว่างที่เขาไปเที่ยวกรุงปารีส เขาสังเกตเห็นหลอดไฟทังสเตนยุคปี 2463 เรียงกันเป็นแถวในสถานีรถไฟใต้ดินแห่งหนึ่ง แอบเก็บมาหนึ่งอัน ทันใดนั้นไฟทั้งสถานีก็ดับลง เพราะสถานีต่อวงจรไว้แบบที่ถ้าใครถอดหลอดใดหลอดหนึ่งออก หลอดไฟทั้งแถบจะดับ ดร. ฮิกส์ พยายามเสียบหลอดไฟที่ขโมยมากลับเข้าที่เดิม แต่ก็ทำไม่ได้ เขาเลยตัดสินใจวิ่งหนี ในพิพิธภัณฑ์ เขาแสดงหลอดไฟอันนี้ในตู้ที่ติดฉลากว่า “ของร้อน” (Hot Types)
จิตแพทย์หลายคนมาสัมภาษณ์ ดร. ฮิกส์ ถึงสาเหตุที่เขาสะสม เขาเล่าเรื่องของวิลเลี่ยม เจ. แฮมเมอร์ (William J. Hammer) วิศวกรผู้ช่วยคนหนึ่งของเอดิสัน ผู้สะสมหลอดไฟฟ้าได้กว่า 130,000 หลอด ก่อนปี 2443 หลังจากเขาตาย คอลเล็คชั่นนี้ก็กระจัดกระจายไป แฮมเมอร์ตายเดือนเดียวกับเดือนที่ ดร. ฮิกส์ เกิด “พวกคุณเชื่อเรื่องตายแล้วเกิดใหม่ไหมครับ?” เขาถาม จิตแพทย์ดูจะงงงันกับคำตอบนี้
บางคนเป็นนักสะสมเพราะการสะสมอาจกลายเป็นศิลปะที่ยิ่งใหญ่ ถ้าเราใส่ใจมันอย่างจริงจัง นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงชอบดูคอลเล็คชั่นขนาดใหญ่ แม้เราอาจไม่สะสมอะไรเอง การสะสมเป็นวิธีหนึ่งที่จะจัดระเบียบให้กับโลก ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของพิพิธภัณฑ์ และมันก็เป็นวิธีนิยาม niche สำหรับนักสะสม แบบเดียวกับที่ศิลปินให้นิยามงานศิลปะ นักสะสมบางรายสะสมกระดาษห่อขนม และอาหารที่กินไม่ได้ ถ้าคุณไปค้นหาพิพิธภัณฑ์ของ ดร. ฮิกส์ ในอินเตอร์เน็ต คุณจะพบลิ้งก์ไปยังคอลเล็คชั่นอีกมากมายหลากหลายของนักสะสมโบราณวัตถุทางเทคโนโลยี (technological artifact) เช่น ไม้บรรทัดเลื่อน ตะเกียบ เครื่องคิดเลขขนาดพกพา และเครื่องโรเนียว ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ผมเคยไปเยือนพิพิธภัณฑ์ขยะ และชั้นใต้ดินของคนเคร่งศาสนาที่ไม่ดื่มสุราคนหนึ่ง ผู้สะสมขวดเหล้าจำลองหลายพันขวด และโปสเตอร์ติดผนังที่แถมมาในแพ็คบุหรี่ อีกหลายโหล (เขาไม่สูบบุหรี่เหมือนกัน) ผมเคยไปพิพิธภัณฑ์นิโคลัส โรริช (Nicholas Roerich) ในกรุงนิวยอร์ค เป็นศาลเจ้าอุทิศแด่พ่อมดหมอผีชาวรัสเซีย (หรือนักต้มตุ๋น แล้วแต่ว่าคุณอ่านเรื่องของเขาจากไหน) ข้างในสะสมภาพที่เขาวาดมากมาย
ผมเคยเห็นรถและเครื่องบินบางลำ ที่ประติมากรเจมส์ เทอร์เรลล์ (James Turrell) สะสมในรัฐอาริโซนา เทอร์เรลล์เหมือนโดนัลด์ จัดด์ (Donald Judd) และแดน ฟลาวิน (Dan Flavin) ตรงที่เป็น minimalist ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะที่ใช้ความเรียบง่ายเป็นหลัก มีองค์ประกอบน้อยชิ้น แต่ในชีวิตส่วนตัวกลับอยู่อย่างคนบ้าเก็บของ เทอร์เรลล์เหมือนนักสะสมขวดเหล้าที่เคร่งศาสนา ตรงที่เป็นนักสะสมที่มีความขัดแย้งในตัวเองสูง งานศิลปะของเขาใช้วัตถุดิบที่จับต้องไม่ได้และไม่จีรังที่สุด นั่นคือแสงอาทิตย์ ในขณะที่เขาสะสมเครื่องยนต์ขนาดใหญ่เทอะทะ ซึ่งผมเดาว่าต้องสนองความปรารถนาส่วนตัวอะไรซักอย่าง นอกเหนือจากประโยชน์ใช้สอยในฐานะพาหนะโดยสาร ความปรารถนาส่วนตัวที่ว่านี้ส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุทางสุนทรียะ แต่ผมเชื่อว่ามีสาเหตุทางจิตวิทยาด้วย จัดด์สะสมรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่ (เต็มโกดังทั้งหลัง) งานหัตถกรรมจากอินเดีย หนังสือ และอาคารทั้งหลัง ส่วนฟลาวิน ศิลปินผู้สร้างศิลปะจากแสงที่สะท้อนจากหลอดนีออน สะสมเฟอร์นิเจอร์ยี่ห้อสติ้กลี่ย์ (Stickley) ภาพแกะสลักของเรมบรังดท์ (Rembrandt) เครื่องปั้นดินเผาเอเชีย เพชรพลอยอินเดีย รูปวาดอเมริกันยุคศตวรรษที่สิบเก้า ภาพวาดสไตล์ญี่ปุ่น และภาพสเก็ตช์โดยศิลปินโมเดิร์นที่เขาชื่นชอบ อาทิ แบรนคูซี่ (Brancusi) และมาเลวิช (Malevich)
เป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะสะสมภาพวาดของเรมบรังดท์ เพราะมันเป็นศิลปะและมีราคาแพง แต่นักสะสมจะสะสมของแทบทุกชนิดในโลก โดยอาจไม่คำนึงถึงคุณค่าทางสุนทรียะหรือตัวเงิน เช่นในกรณีของ ดร. ฮิกส์ สำหรับนักสะสม เกียรติเป็นเรื่องส่วนบุคคล เหมือนกับรสนิยมในศิลปะ และคุณค่าที่แท้จริงอาจมีมูลค่าสูงสุด เมื่อมันเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น ของที่เก็บสะสมจะกลายเป็นสัญลักษณ์ เมื่อมันสูญเสียประโยชน์ใช้สอยดั้งเดิม ยกตัวอย่างเช่น นักโทษในค่ายกักกันของสตาลินในรัสเซียคนหนึ่ง สะสมกุญแจสำหรับล็อคที่ไม่มีใครใช้แล้ว กุญแจไม่เป็นแค่กุญแจ ถ้ามันมาจากคุกบาสติลล์ [Bastille คือคุกในกรุงปารีสที่ผู้ปฏิวัติโจมตี เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศส] และเข็มเย็บผ้าก็ไม่ได้เป็นแค่เข็มเย็บผ้า ถ้ามันเป็นเข็มที่เบ็ตตี้ รอส ใช้ [Betsy Ross เป็นผู้ออกแบบและเย็บธงชาติอเมริกาผืนแรกในประวัติศาสตร์] ฟิลลิป บลอม (Philipp Blom) ผู้บันทึกเรื่องราวของนักสะสม กล่าวว่า “สิ่งของที่คนสะสม กว่าครึ่งเป็นของที่เหลือใช้จากสังคม เป็นของใช้แล้วที่ถูกทิ้งขว้าง มองข้าม หมดสมัย หรือล้าสมัย” ความไร้ประโยชน์ของสิ่งเหล่านี้กลายเป็นคุณสมบัติสำคัญ: มันกลายเป็นสัญลักษณ์หรือเศษที่หลงเหลือจากโลกที่สาบสูญไปแล้ว เพราะเหตุนี้ เราจึงบูชาแขนของแม่ชีเทเรซาแห่งอาวิล่า ไม่ใช่เพราะมันเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ในฐานะตัวอย่างกล้ามเนื้อและกระดูก แต่เพราะมันเชื่อมโยงกับ “ดินแดนแห่งจิตวิญญาณอันลี้ลับ กุญแจสู่สวรรค์ สู่โลกที่มหัศจรรย์กว่าชีวิตคนเดินดินมากมาย” ในคำพูดของบลอม มันกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ศิลปะมอบความพิศวงให้กับเรา ความตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นดินแดนนอกเหนือจากชีวิตประจำวัน ประสบการณ์นี้อาจช่วยให้เราเข้าใจชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น ในทำนองเดียวกัน คอลเล็คชั่นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันก็ทำให้เราพิศวงได้ เพราะของเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งสามัญอีกต่อไปเมื่อนักสะสมนำมันขึ้นหิ้ง วอลเตอร์ เบนจามิน (Walter Benjamin) นักสะสมหนังสือ กล่าวว่า “หนึ่งในความทรงจำที่งดงามที่สุดของนักสะสมคือ วินาทีที่เขาช่วยชีวิตหนังสือเล่มหนึ่งที่เขาไม่เคยสนใจมาก่อน เพราะเขาเห็นมันนอนอยู่อย่างเดียวดายในตลาด และซื้อมาเพื่อมอบอิสรภาพให้กับมัน – ไม่ต่างจากเจ้าชายที่ซื้อตัวหญิงทาสใน “อาหรับราตรี” …สำหรับนักสะสมหนังสือแล้ว อิสรภาพที่แท้จริงของหนังสืออยู่ตรงไหนซักแห่งบนหิ้งของเขา”
สำหรับเบนจามิน การสะสมนำความหมายมาสู่โลกที่ไร้ความหมาย นักสะสม “ลุกขึ้นต่อต้านการกระจัดกระจายเร่ร่อน นักสะสมรู้สึกได้อย่างลึกซึ้งถึงความสับสนและการกระจัดกระจายตามธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ในโลกนี้” นักสะสมใช้ระบบเหตุผลส่วนตัวกับสิ่งที่พวกเขาครอบครอง สร้างระเบียบจากความวุ่นวาย อัลเบิร์ต ซี. บาร์นส์ (Albert C. Barnes) ร่ำรวยเป็นเศรษฐีร้อยล้านประมาณร้อยปีก่อน จากธุรกิจขายยาฆ่าเชื้อยี่ห้ออาร์ไจซอล (Argysol) เขาทุ่มเงินมหาศาลสร้างคอลเล็คชั่นที่แปลกที่สุดในโลก: ภาพวาดของเซซานน์ (Cézanne) มาติส (Matisse) และศิลปะพื้นบ้านจากแอฟริกา ตลอดจนของชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เป็นโลหะ และของใช้ชาวบ้านเช่น รูกุญแจประตู และรูปปั้นรูปจิ้งหรีดที่สลักจากผลโอ๊ก เขาจัดแสดงของทั้งหมดนี้ในคฤหาสน์หลังใหญ่นอกเมืองฟิลาเดลเฟีย แบบเคล้าคละปะปนจนดูไร้เหตุผลสำหรับคนไม่เคยชิน
ดร. บาร์นส์อธิบายเหตุผลและวิธีแสดงคอลเล็คชั่นของเขาว่า ใช้หลักเกณฑ์ส่วนตัวที่ได้แรงบันดาลใจมาจากจอห์น ดูวี่ย์ (John Dewey) บาร์นส์ตั้งโรงเรียนในตึกเดียวกับพิพิธภัณฑ์ เพื่อสอนและเผยแพร่แนวคิดของเขาที่เกี่ยวกับศิลปะ ตีพิมพ์โฆษณาและหนังสือด้วยถ้อยคำร้อนแรงเหมือนผู้สอนศาสนา ดร. บาร์นส์อาจจัดวางรูปต่างๆ ตามตรรกะของตัวเอง ดังนั้นภาพวาดอันยิ่งใหญ่ของเซอราท์ (Seurat) อาจแขวนอยู่ข้างๆ รูปชื่อ “Balloon Man” โดยจิตรกรไม่มีชื่อที่้เขาค้นพบ …มาติสดูเหมือนจะชอบความแปลกของ ดร. บาร์นส์ ประกาศว่าการจัดวางแบบนี้เป็นผลดีต่อสาธารณชน เพราะทำให้คนสามารถ “เข้าใจหลายสิ่งหลายอย่างที่นักวิชาการไม่สอน” ซึ่งนี่เป็นความจริง ไม่มีใครมองศิลปะแบบเดียวกับบาร์นส์ เขาเรียนรู้เรื่องนี้ด้วยตัวเอง จากพื้นเพผู้ใช้แรงงาน หาเงินจ่ายค่าเล่าเรียนช่วงปริญญาตรีจากการเล่นเบสบอลอาชีพ ดร. บาร์นส์ มองสถาบันศิลปะว่าหยิ่งยโส และต่อสู้กับทุกคนที่เขามองว่า ทำตัวศักดินา คอลเล็คชั่นของเขาเปิดเฉพาะสำหรับ “ชาวบ้าน นั่นคือชายและหญิงทุกคนที่หาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานในโรงงาน โรงเรียน ร้านค้า ฯลฯ” มีเรื่องเล่าว่านักประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ยิ่งยง เออร์วิน ปานอฟสกี้ (Erwin Panofsky) ถึงกับต้องปลอมตัวเป็นคนขับรถ เพื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์บาร์นส์
เก้าเดือนก่อนที่เขาตายในปี พ.ศ. 2494 ด้วยวัย 79 ปี เมื่อรถแพ็คการ์ดที่เขาขับประสานงากับรถสิบล้อ บาร์นส์ตัดสินใจยกทุกสิ่งทุกอย่างให้กับมหาวิทยาลัยเล็กๆ ของคนผิวดำ ในอำเภอเชสเตอร์ รัฐเพนซิลวาเนีย ชื่อมหาวิทยาลัยลินคอล์น (Lincoln University) ซึ่งไม่มีประสบการณ์สะสมศิลปะมาก่อน ในพินัยกรรม บาร์นส์กำหนดให้โรงเรียนนี้อนุรักษ์พิพิธภัณฑ์ของเขาไว้ในสภาพเดิม ข้อกำหนดนี้นำมาซึ่งการโต้แย้งทางกฎหมาย วิกฤติการเงิน และโอกาสอันจำกัดในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งสำหรับชาวบ้านทั่วไปด้วย ยาวนานหลายสิบปี จนกระทั่งปี 2547 ศาลออกคำสั่งลบล้างพินัยกรรมของบาร์นส์ ให้สร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นใหม่ในเมืองฟิลาเดลเฟีย ในแบบที่คล้ายคลึงต้นฉบับเดิม ณ พื้นที่ที่สะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว ด้วยเงินบริจาคของมูลนิธิท้องถิ่นหลายราย ที่ขอให้ย้ายพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่พวกเขาจะให้การสนับสนุน
ดร. บาร์นส์ตระหนักดีว่า คอลเล็คชั่นของเขาเป็นการแสดงความคิดสร้างสรรค์แบบใหม่ คุณอาจไม่เคยสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างภาพวาดขนาดจิ๋วจากเปอร์เซีย และภาพวาดสมัยหนุ่มของจิตรกรชาวอเมริกันชื่อ มาร์สเด็น ฮาร์ทลีย์ (Marsden Hartley) ถ้าบาร์นส์ไม่เอางานเหล่านี้มาวางอยู่ด้วยกัน การจัดแสดงแบบแหกคอกแบบนี้ ซึ่งแตกต่างจากหลักเกณฑ์ของพิพิธภัณฑ์อื่นๆ อย่างสิ้นเชิง เชื้อเชิญให้คุณมองศิลปะจากมุมใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่พิพิธภัณฑ์ทุกแห่งควรทำ บาร์นส์เปิดโลกทัศน์ของผู้ชมศิลปะให้กว้างกว่าเดิมด้วยเทคนิคการจัดแสดงของเขา และแสดงให้โลกเห็นศิลปะแห่งการสะสม และศิลปะแห่งการชื่นชมคอลเล็คชั่นของคนอื่น
เราควรถามว่า นักสะสมอย่าง ดร. บาร์นส์ ตั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวเพราะเขาเป็นพวกชอบอวด หรืออยากโฆษณาปรัชญาส่วนบุคคล หรือมีสำนึกทางสังคม หรือเหตุผลเหล่านี้รวมกัน? แน่นอน นักสะสมส่วนใหญ่ไม่ใช่คนแปลก แม้ว่านักสะสมที่ดีที่สุดจะเป็นอย่างนั้น: ด้วยความชอบและความเชื่อส่วนตัว พวกเขาสะสมสิ่งที่สังคมยังไม่ประเมินค่า ไม่ใช่สิ่งที่แฟชั่นและตลาดตีราคาไปแล้ว ด้วยความเชื่อมั่นว่า รสนิยมของสาธารณะควรตามทันในวันหน้า นิยามของ “นักสะสมที่น่านับถือ” คือคนที่มีทั้งสำนึกทางสังคม และความเชื่อส่วนตัว นักสะสมอาจสะสมเพราะหวังว่าชื่อของเขาจะกลายเป็นอมตะ ไม่ต่างจากศิลปินหลายคน
ระหว่างขับรถไปเยี่ยม ดร. ฮิกส์ ในบัลติมอร์ ผมสังเกตเห็นป้ายโฆษณาบนทางด่วน เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์เป้าหลอกที่ใช้ในการล่าสัตว์ (museum of hunting decoys) ในเมืองฮาฟ เดอ กราซ (Havre de Grace) รัฐแมรี่แลนด์ ผมก็เลยแวะเข้าไปดู ปรากฎว่าเมืองนี้เป็นเมืองสวรรค์สำหรับนักล่าเป็ด แม้กฎหมายที่ออกช่วงปี 2473 ถึง 2483 ทำให้การล่าเป็ดเพื่อสันทนาการ และสำหรับร้านอาหารนั้น ลดน้อยลงไปมาก พิพิธภัณฑ์เป้าหลอกนี้อนุรักษ์เป้าหลอกรูปเป็ดหลายร้อยชิ้น [ส่วนใหญ่แกะจากไม้] ที่ประดิษฐ์โดยช่างแกะสลักท้องถิ่น ที่น่าอัศจรรย์กว่านั้นคือ พิพิธภัณฑ์นี้อนุรักษ์รูปเหมือนเท่าตัวจริงของช่างแกะสลักหลายคน เหมือนหุ่นขี้ผึ้ง ตู้แสดงหลายตู้โชว์ผลงานของช่างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะคน ผมมองไม่ค่อยเห็นความแตกต่างระหว่างงานของอาร์ แมดิสัน มิทเชลล์ (R. Madison Mitchell) เจ้าของร้านขายโลงศพที่ดูเหมือนจะเป็นปรมาจารย์ในด้านนี้ กับงานของบ็อบ แม็คกอว์ (Bob McGaw) ผู้คิดค้นวิธีการตกแต่งเป้าหลอกที่เรียกกันว่า การระบายสีแบบขีด (scratch painting) แต่ผมมั่นใจว่า ความแตกต่างเหล่านี้เป็นเรื่องกล้วยๆ สำหรับคนที่ชื่นชมศิลปะแขนงนี้มายาวนานกว่าผม สถานะของ “ผู้เชี่ยวชาญ” เป็นผลจากการพินิจพิเคราะห์ เปรียบเทียบงานต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด หรือเป็ดไม้แกะสลัก
ยุคใหม่อันรุ่งเรืองของพิพิธภัณฑ์ ที่เริ่มขึ้นเมื่อสองร้อยปีก่อน มีบ่อเกิดส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของนักสะสมที่จะใช้หลักเกณฑ์จัดหมวดหมู่ของสิ่งที่พวกเขาสะสม และวางระบบเผยแพร่ความรู้และความชำนาญในด้านนี้ พิพิธภัณฑ์เริ่มกลายเป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะด้าน กีบม้าไปที่หนึ่ง ภาพวาดไปอีกที่หนึ่ง เป้าหมายของพิพิธภัณฑ์โน้มเอียงไปข้างการให้ “การศึกษา” มากกว่าให้ “ความบันเทิง” พิพิธภัณฑ์ใหม่ๆ เริ่มจัดหมวดหมู่ของโชว์อย่างมีระบบแบบแผน เพื่อสร้างระเบียบ หรืออย่างน้อยก็ความรู้สึกว่าชีวิตมีระเบียบ เรอเน เดสการ์ต (René Descartes) ผู้กล่าวว่า ความพิศวงคือตัณหาแรกของมนุษย์ กล่าวด้วยว่า ความพิศวงที่เกินพอดีอาจทำให้คน “บิดเบือนการใช้เหตุผล” ยุคแห่งตู้พิศวง [wonder cabinet คือตู้แสดงสิ่งของประหลาด เช่น หัวคนย่อส่วน ฯลฯ การติดตั้งตู้พิศวงในห้องรับแขก และหาของมาใส่โชว์ เป็นงานอดิเรกที่นิยมมากในกลุ่มคนรวยในยุโรป เมื่อ 400-500 ปีก่อน] แปรเปลี่ยนเป็นยุคแห่งเดสการ์ต และนักสารานุกรม
แต่จิตวิญญาณของตู้พิศวงไม่เคยตาย พิพิธภัณฑ์ศิลปะ ตลอดจนพิพิธภัณฑ์ของสมัยใหม่เช่นหลอดไฟ อนุรักษ์สิ่งที่หายาก และสิ่งที่เราไม่มีวันเห็นข้างนอก จึงช่วยเพิ่มพูนความอยากรู้อยากเห็นของเรา ในสิ่งแวดล้อมรอบตัว ธอมัส เดนท์ มัตเตอร์ (Thomas Dent Mütter) เป็นศัลยแพทย์ชาวเมืองฟิลาเดลเฟีย ผู้เดินทางไปยังกรุงปารีสช่วงปี พ.ศ. 2340 ซึ่งตอนนั้นปารีสเป็นศูนย์กลางของวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่นั่นเขาเห็นโรงพยาบาลจัดวอร์ดคนไข้ (ward) ต่างๆ ตามโรค เพื่อให้แพทย์สามารถเปรียบเทียบอาการของคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคเดียวกัน และเห็นคอลเล็คชั่นเนื้องอก นิ่ว กระดูก ฯลฯ เขากลับมายังฟิลาเดลเฟีย ด้วยแรงบันดาลใจจากความสัมพันธ์ที่มีระบบ ระหว่างสรีรศาสตร์อันน่ากลัว กับอายุรเวชศาสตร์อันเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่นานหลังจากนั้น มัตเตอร์เริ่มสร้างคอลเล็คชั่นตัวอย่างทางสรีรศาสตร์และอายุรเวชศาสตร์ ให้นักเรียนแพทย์ได้ศึกษา ในศตวรรษที่สิบเก้า นักเรียนแพทย์ปกติเรียนเรื่องเกี่ยวกับความผิดปกติทางสรีระ เช่น เขาที่งอกบนหัวคน และแฝดตัวติดกัน จากโมเดลที่ทำจากขี้ผึ้งหรือกระดาษ และชิ้นส่วนตากแห้งที่หลงเหลือจากการผ่าตัด แต่มัตเตอร์สะสมของจริงที่เขาเอามาเป่าให้แห้ง แช่แอลกอฮอล์ หล่อปูนปลาสเตอร์ รวมทั้งสะสมภาพวาดสีน้ำและสีน้ำมัน – รวมทั้งสิ้น 1,344 ชิ้น ของทั้งหมดนี้เขายกเป็นมรดกให้กับวิทยาลัยแพทย์แห่งฟิลาเดลเฟีย องค์กรเอกชนที่มีคอลเล็คชั่นของประหลาดอยู่แล้วเหมือนกัน และมีปัญญาชนหลายรายเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง เช่น เบนจามิน รัช (Benjamin Rush) หนึ่งในผู้ร่างคำประกาศเอกราชของอเมริกา
มัตเตอร์เข้าใจดีว่า ความแปลกใหม่เปรียบเสมือนเหยื่อล่อนักสะสม ดังนั้น เขาจึงเก็บแม้กระทั่งก้อนนิ่ว ที่ผ่าตัดออกมาจากจอห์น มาร์แชล (John Marshall) ผู้พิพากษาสูงสุด โดยบิดาแห่งศัลยกรรมอเมริกัน ฟิลิป ซิง ฟิสิกข์ (Philip Syng Physick) เมื่อปี พ.ศ. 2374 และโครงกระดูกอันบิดเบี้ยวของผู้หญิงคนหนึ่ง ซี่โครงของเธอถูกบีบชิดจากการใส่กระโปรงรัดติ้วเกินไป ไม่นานวิทยาลัยแพทย์ก็ใส่ของเข้าไปเพิ่ม ตอนนี้ พิพิธภัณฑ์มัตเตอร์ ตั้งอยู่ในตึกใหญ่สองชั้นใจกลางเมือง เมื่อไม่นานมานี้มีการลดจำนวนของโชว์ลง ทำให้ดูน่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ก็บิดเบือนจุดยืนดั้งเดิมของพิพิธภัณฑ์ในความรู้สึกของสาธารณชน [ในแง่เป้าหมายเพื่อการศึกษา] ด้วยการโชว์เฉพาะของที่ประหลาดที่สุด ผิดปกติที่สุด หรือดูน่าสนใจที่สุด วันนี้ถ้าคุณไปเยือนพิพิธภัณฑ์ คุณจะได้เห็นตับเชื่อมกันของแฝดสยามอิน-จัน ลำคอของจอห์น บูธ [John Booth ผู้สังหารประธานาธิบดีลินคอล์น] เนื้องอกที่ผ่าออกมาจากกรามของประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ (Grover Cleveland) เท้าที่ถูกมัดของหญิงชาวจีนโบราณ ซากศพของ “สาวสบู่” (Soap Lady) ที่เน่าเปื่อยลงเป็นสารเหนียวเหนอะสีขาวอมเทาที่เรียกว่า adipocere และชิ้นส่วนสิ่งของต่างๆ ที่เคยติดคอผู้ป่วยกว่าสองพันชิ้น จัดเรียงในลิ้นชักตามประเภท: ชิ้นอาหาร ถั่ว เข็มกลัด กระดุม และชิ้นของเล่น ซึ่งประเภทสุดท้ายนี้ได้รับบริจาคจากเชวาเลียร์ จอห์นสัน (Chevalier Johnson) แพทย์ด้านหลอดอาหารยุคบุกเบิก ผู้คิดค้นเทคนิคล้วงมันออกมาจากคอผู้ป่วย
ตอนนี้เราสามารถเห็นสิ่งที่มัตเตอร์เรียกว่าเป็นงานศิลปะ ได้นอกพิพิธภัณฑ์ของเขา: ธีโอดอร์ เจริโกต์ (Theodore Géricault) จิตรกรยุคโรแมนติคผู้ยิ่งใหญ่ วาดแขนขามนุษย์หลายรูป กีกี้ สมิธ (Gigi Smith) ศิลปินรุ่นใหม่ ปั้นรูปคนถูกแล่หนัง เนย์แลนด์ เบลค (Nayland Blake) และแดเมียน เฮิร์สท์ (Damien Hirst) จัดแสดงอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างมีศิลป์ในงานของพวกเขา และปากอันอ้าซ่าของสาวสบู่ ทำให้เรานึกถึงคนร้องโหยหวนในรูปวาดของโซราน มิวสิค (Zoran Music) ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างโคตรของทหารนาซี แล้วผันตัวมาเป็นจิตรกร โครงกระดูกตากแห้งของทารกแรกเกิด ที่ถูกแขวนด้วยมือเหยียดกาง หัวไพล่ไปข้างหลัง อาจทำให้คุณนึกถึงรูปพระเยซูบนไม้กางเขนของปีเตอร์ พอล รูเบนส์ (Peter Paul Rubens) ตาของพระเยซูเหลือกมองข้างบน เสมือนตกอยู่ในภวังค์แห่งความอิ่มเอมทางวิญญาณ
แต่ผมไม่อยากโยงความสัมพันธ์แบบนี้มากเกินไป ผมเพียงอยากจะเน้นว่า สถานที่อย่างพิพิธภัณฑ์มัตเตอร์นั้น ช่วยทำให้เส้นแบ่งระหว่าง “วิทยาศาสตร์” และ “ศิลปะ” พร่าเลือนลง ด้วยการให้ความสนใจกับสิ่งที่น่าพิศวง นอกเหนือจากบทบาททางการแพทย์ คอลเล็คชั่นของมัตเตอร์ทำให้เราเกิดปฏิกิริยาในลักษณะเดียวกันกับงานศิลปะ คืออยู่นอกเหนือเหตุผล และกระตุกเส้นประสาท ดร. มัตเตอร์สะสมของประหลาดเหล่านี้ด้วยเหตุผลทางการศึกษาเพียงอย่างเดียวจริงหรือ? บางทีอาจจะใช่ แต่คอลเล็คชั่นของเขาก็เหมือนกับของนักสะสมคนอื่นๆ ตรงที่แสดงให้เราเห็นความหมกมุ่นหลงใหล เกินระดับของประโยชน์ใช้สอย นักจิตวิทยาชาวนิวยอร์คชื่อ เวอร์เนอร์ มันสเตอร์เบอร์เกอร์ (Werner Muensterberger) เสนอในหนังสือชื่อ “การสะสม: ตัณหาที่ควบคุมไม่ได้” (Collecting: An Unruly Passion) ว่า การสะสมเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความพยายามชดใช้ประสบการณ์วัยเด็กที่ขาดหาย นักสะสมปรารถนาจะได้ความอบอุ่นจากพ่อแม่ ของที่พวกเขาสะสมกลายเป็นตัวแทนของเต้านมมารดา เหมือนหลอดไฟในเตียงของ ดร. ฮิกส์ ผมไม่ใช่นักสะสม ผมจึงพูดไม่ได้ แต่ผมว่าการสะสมเป็นวิธีปลอบประโลมใจสำหรับนักสะสมหลายๆ คน และเป็นวิธีชื่นชมสำหรับคนอื่น นอกเหนือจากนั้น มันสามารถเป็นทั้งความพิศวง และความเร้นลับ
ในบทนำนิยายเรื่อง “ชายล่องหน” (The Invisible Man) ราล์ฟ เอลลิสัน (Ralph Ellison) กล่าวว่า “ในชั้นใต้ดินของผม มีไฟ 1,369 ดวงพอดิบพอดี ผมติดไฟเกือบทุกตารางนิ้วของเพดาน แล้วก็ไม่ใช้ไฟนีออน แต่เป็นไฟแบบเก่าที่มีไส้ แบบที่ใช้ยากกว่า… เมื่อผมติดไฟผนังหมดทั้งสี่ด้านแล้ว ผมจะติดไฟที่พื้น ไม่รู้แน่ว่าจะหยุดตรงไหน แต่ถ้าคุณใช้ชีวิตเป็นคนล่องหนนานเท่าผม คุณก็จะมีความคิดที่หลักแหลมเหมือนกัน”
ดร. ฮิกส์ เจ้าแห่งหลอดไฟของเราที่มีพิพิธภัณฑ์อยู่ชั้นใต้ดิน เล่าให้ผมฟังเรื่องจิตแพทย์ที่มาสัมภาษณ์เขา “พวกนั้นน่ะแปลกดีนะ” เขาบอก “พวกเขาไปสัมภาษณ์นักสะสมทั่วโลก หลังจากใช้เงินวิจัยไป 4 ล้านเหรียญ ก็สรุปออกมาว่านักสะสม สะสมเพราะลุ่มหลงในสิ่งของที่เขาเก็บ และไม่มีเหตุผลอื่นนอกจากนั้น เฮอะ แค่นี้ถ้าเอาเงินให้ผม 1 ล้านเหรียญ ผมก็บอกพวกเขาได้”.