ผมอาจไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด แต่ตราบวันตายของคุณ ผมจะต่อสู้เพื่อสิทธิของคุณในการพูดสิ่งนั้น – โวลแตร์
(I may not agree with what you say, but to your death I will defend your right to say it. – Voltaire)
ไปดูรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” ของสนธิ ลิ้มทองกุล ที่สวนลุมฯ ติดต่อกันมาหลายสัปดาห์แล้ว
ที่ไปเพราะอยากสนับสนุนคนที่กล้าพูดความจริง เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่น และการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐบาลนี้
ในฐานะคนที่ทำงานอยู่ในแวดวงการเงินการธนาคาร พูดได้เต็มปากว่าข้อมูลหลายๆ อย่าง ที่สนธินำมาแฉให้ฟัง เช่น การทุจริตโครงการก่อสร้างที่มีญาตินายกฯ เป็นเจ้าของบริษัทนั้น เป็นเรื่องจริง แม้ว่าสนธิจะ “ใส่ไข่” บางประเด็น หรือกระพือความเห็นส่วนตัวเพื่อเชื่อมโยงเหตุการณ์บางประการ ให้ดูเป็นเหตุเป็นผล แม้มันจะเป็นแค่ “ความบังเอิญ” ก็ตาม
จริงอยู่ การทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองมีมาทุกยุคทุกสมัย แต่การโกงกินสมัยนี้พัฒนาไปไกลมาก เพราะมันสมองของนักการเมืองในรัฐบาลนี้ ที่มีนักธุรกิจหัวใสหลายราย บวกกับอำนาจเงินที่ทำให้รัฐบาลมีอำนาจ “สั่ง” เกือบทุกแขนงของการปกครองประเทศ รวมทั้งทหารและตำรวจ ทำให้สามารถผ่านกฎหมาย และปรับเปลี่ยนกระบวนการทางการ ให้ดำเนิน “คอรัปชั่นเชิงนโยบาย” ได้อย่างไม่ต้องกลัวเกรงใคร (แต่จะอายฟ้าดินหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
ตราบใดที่สนธิยังนำความจริงเหล่านี้มาเปิดโปงให้ประชาชนรับทราบ ในห้วงเวลาที่รัฐบาลพยายาม “ปิดปากสื่อ” แบบเบ็ดเสร็จตลอดเวลาแล้ว ทุกคนก็ควรมองว่า สนธิกำลังทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากกว่าโทษ
…ไม่ว่าสนธิจะมี “ผลประโยชน์” เกี่ยวข้องอะไรในการออกมาโจมตีรัฐบาลในครั้งนี้
…ไม่ว่าจะมีกี่คนที่ชอบฟังสนธิเพียงเพราะอยาก “ตามกระแส” หรือ “เอามันส์”
…ไม่ว่าจำนวนคนที่ไปฟังสนธิพูด จะมีกี่หมื่นหรือกี่แสนคน เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของ 19 ล้านเสียง ที่เลือกไทยรักไทยกลับมาเป็นรัฐบาล
…ไม่ว่าการปะทะกันในครั้งนี้ จะทำให้ 19 ล้านเสียงนั้นหายไปแล้วกี่เสียง
…ไม่ว่าการกระทำของสนธิ จะเข้าข่าย “ปลุกระดม” หรือไม่ (ไม่ว่าจะเรียกว่าปลุกระดมหรือไม่ ก็สำคัญน้อยกว่าคำถามที่ว่า พฤติกรรมของรัฐบาลที่สนธิมาแฉนั้น “สมควร” ที่จะทำให้ประชาชนโกรธหรือเปล่า)
…และไม่ว่าการปลุกกระแส “ถวายคืนพระราชอำนาจ” ของสนธิในครั้งนี้ จะเป็นวิธีการที่ดีหรือไม่ เพียงใด (โดยส่วนตัว ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้อย่างยิ่ง เพราะเป็นการสนับสนุนให้ระบอบประชาธิปไตยของเราเดิน “ถอยหลังเข้าคลอง” คือแทนที่จะเน้นการกระตุ้น และสร้างช่องทางให้ประชาชนมีความรู้ ความตื่นตัว และส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น กลับมุ่งเน้นการพึ่ง “เบื้องสูง” เวลามีปัญหาเฉพาะหน้า)
ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นรองทั้งสิ้น
ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลยังไม่สามารถ “ตอบคำถาม” ของสนธิในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการคอรัปชั่น และเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้อง ได้อย่างชัดเจน มีเหตุผล และน่าเชื่อถือ
ผมอาจไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด แต่ตราบวันตายของคุณ ผมจะต่อสู้เพื่อสิทธิของคุณในการพูดสิ่งนั้น – โวลแตร์
(I may not agree with what you say, but to your death I will defend your right to say it. – Voltaire)
ไปดูรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” ของสนธิ ลิ้มทองกุล ที่สวนลุมฯ ติดต่อกันมาหลายสัปดาห์แล้ว
ที่ไปเพราะอยากสนับสนุนคนที่กล้าพูดความจริง เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่น และการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐบาลนี้
ในฐานะคนที่ทำงานอยู่ในแวดวงการเงินการธนาคาร พูดได้เต็มปากว่าข้อมูลหลายๆ อย่าง ที่สนธินำมาแฉให้ฟัง เช่น การทุจริตโครงการก่อสร้างที่มีญาตินายกฯ เป็นเจ้าของบริษัทนั้น เป็นเรื่องจริง แม้ว่าสนธิจะ “ใส่ไข่” บางประเด็น หรือกระพือความเห็นส่วนตัวเพื่อเชื่อมโยงเหตุการณ์บางประการ ให้ดูเป็นเหตุเป็นผล แม้มันจะเป็นแค่ “ความบังเอิญ” ก็ตาม
จริงอยู่ การทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองมีมาทุกยุคทุกสมัย แต่การโกงกินสมัยนี้พัฒนาไปไกลมาก เพราะมันสมองของนักการเมืองในรัฐบาลนี้ ที่มีนักธุรกิจหัวใสหลายราย บวกกับอำนาจเงินที่ทำให้รัฐบาลมีอำนาจ “สั่ง” เกือบทุกแขนงของการปกครองประเทศ รวมทั้งทหารและตำรวจ ทำให้สามารถผ่านกฎหมาย และปรับเปลี่ยนกระบวนการทางการ ให้ดำเนิน “คอรัปชั่นเชิงนโยบาย” ได้อย่างไม่ต้องกลัวเกรงใคร (แต่จะอายฟ้าดินหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
ตราบใดที่สนธิยังนำความจริงเหล่านี้มาเปิดโปงให้ประชาชนรับทราบ ในห้วงเวลาที่รัฐบาลพยายาม “ปิดปากสื่อ” แบบเบ็ดเสร็จตลอดเวลาแล้ว ทุกคนก็ควรมองว่า สนธิกำลังทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากกว่าโทษ
…ไม่ว่าสนธิจะมี “ผลประโยชน์” เกี่ยวข้องอะไรในการออกมาโจมตีรัฐบาลในครั้งนี้
…ไม่ว่าจะมีกี่คนที่ชอบฟังสนธิเพียงเพราะอยาก “ตามกระแส” หรือ “เอามันส์”
…ไม่ว่าจำนวนคนที่ไปฟังสนธิพูด จะมีกี่หมื่นหรือกี่แสนคน เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของ 19 ล้านเสียง ที่เลือกไทยรักไทยกลับมาเป็นรัฐบาล
…ไม่ว่าการปะทะกันในครั้งนี้ จะทำให้ 19 ล้านเสียงนั้นหายไปแล้วกี่เสียง
…ไม่ว่าการกระทำของสนธิ จะเข้าข่าย “ปลุกระดม” หรือไม่ (ไม่ว่าจะเรียกว่าปลุกระดมหรือไม่ ก็สำคัญน้อยกว่าคำถามที่ว่า พฤติกรรมของรัฐบาลที่สนธิมาแฉนั้น “สมควร” ที่จะทำให้ประชาชนโกรธหรือเปล่า)
…และไม่ว่าการปลุกกระแส “ถวายคืนพระราชอำนาจ” ของสนธิในครั้งนี้ จะเป็นวิธีการที่ดีหรือไม่ เพียงใด (โดยส่วนตัว ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้อย่างยิ่ง เพราะเป็นการสนับสนุนให้ระบอบประชาธิปไตยของเราเดิน “ถอยหลังเข้าคลอง” คือแทนที่จะเน้นการกระตุ้น และสร้างช่องทางให้ประชาชนมีความรู้ ความตื่นตัว และส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น กลับมุ่งเน้นการพึ่ง “เบื้องสูง” เวลามีปัญหาเฉพาะหน้า)
ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นรองทั้งสิ้น
ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลยังไม่สามารถ “ตอบคำถาม” ของสนธิในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการคอรัปชั่น และเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้อง ได้อย่างชัดเจน มีเหตุผล และน่าเชื่อถือ
รัฐบาลไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ เพราะคำถามเหล่านี้เป็นความจริงที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธ
ก็เลยต้องพยายาม “เบี่ยงประเด็น” ด้วยการอ้างถึงความชอบธรรมของตัวเอง ว่ามีประชาชนสนับสนุนมากมายมหาศาลกว่าจำนวนคนที่ไปสวนลุมฯ รายสัปดาห์
ทั้งๆ ที่นี่เป็นการใช้เหตุผลแบบน่าหัวร่อ เพราะความจริงย่อมไม่มีวันตาย ถึงมีคนไปฟังสนธิแค่หยิบมือเดียว ก็ไม่ได้แปลว่าข้อมูลที่สนธินำมาแฉนั้น ไม่เป็นความจริง
แม้สิ่งที่สนธิกล่าวหารัฐบาลเป็นจริงแค่หนึ่งในสิบ รัฐบาลนี้ก็สมควรลาออกแล้ว เพราะแต่ละอย่างที่กล่าวหานั้น เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติทั้งนั้น
ยิ่งรัฐบาลพยายามเบี่ยงประเด็นเท่าไหร่ ประชาชนคนธรรมดาอย่างเราก็ยิ่งต้องตั้งสติ ใช้วิจารณญาณไตร่ตรองข้อมูลให้มาก เพราะพฤติกรรม “โหนกระแส” ของหลายๆ คนที่ไปฟังสนธิเพราะความมันส์ ความสะใจ เหมือนไปดูคอนเสิร์ต ตลอดจนกระแส “พระราชอำนาจ” ที่กำลังมาแรง (ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายเท่ากับการคอรัปชั่นระดับชาติ) ทำให้เราแยกแยะระหว่าง “อารมณ์” และ “เหตุผล” ระหว่าง “คนพูด” และ “สิ่งที่พูด” และระหว่าง “กระแส” และ “ความจริง” ได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก
ดังนั้น นี่อาจเป็นเวลาที่เหมาะแก่การเล่าเรื่องแนวคิดของชาวตะวันตก เกี่ยวกับการใช้เหตุผลผิดๆ ซึ่งมีนักคิด นักปรัชญาหลายคนศึกษาต่อกันมาหลายร้อยปี เป็นส่วนหนึ่งของตรรกวิทยาที่มีแนวคิดเป็นแบบแผน และเป็นระบบ
ฝรั่งเรียกการใช้ตรรกะแบบผิดๆ ว่า “fallacy” ซึ่ง fallacy นั้นมีมากมายหลายรูปแบบ
รูปแบบเหล่านั้น เปรียบเสมือนเป็นการขยายความพฤติกรรมที่คนไทยเราเรียกว่า “ไม่มีเหตุผล” หรือ “ตอบไม่ตรงประเด็น” หรือ “เบี่ยงประเด็น”
นักปรัชญาชาวอังกฤษชื่อ เจมี่ ไวท์ (Jamie Whyte) เขียนสรุปรูปแบบต่างๆ ของการใช้ตรรกะแบบผิดๆ ไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือเล่มเล็กๆ ชื่อ Crimes Against Logic ซึ่งถ้าแปลเป็นไทยก็อาจใช้ว่า “โทษเรื่องตรรกะ”
มี fallacy หลายประการที่ตรงกับสถานการณ์ในประเทศเราเวลานี้พอดี จึงอยากแปล เรียบเรียง และเปลี่ยนตัวอย่างการใช้ จากการเมืองอังกฤษเป็นการเมืองไทย ไว้ดังต่อไปนี้
1)”ความจริง” เป็นเอกเทศจาก “สิทธิส่วนบุคคล” (rights fallacy)
สนธิ:[กล่าวหาทักษิณในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์]
ผู้คัดค้าน:[สนธิไม่มีสิทธิกล่าวหาท่านนายกฯ]
สนธิ และประชาชนชาวไทยทุกคน มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะในกรณีที่ความคิดเห็นนั้นเป็นเรื่องของ “ความจริง” ที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ความคิดเห็นที่เกี่ยวกับรสนิยม (เช่น ถ้าสนธิตำหนินายกฯ ว่ารูปไม่หล่อ ก็คงไม่ถูกฟ้องร้องขนาดนี้)
ถ้าสิ่งที่สนธิกล่าวหาเป็นความเท็จ นายกฯ ก็มีสิทธิเต็มที่ในการฟ้องกลับ รอไปสู้กันด้วยข้อมูลในศาล
ซึ่งนายกฯ ก็ได้ใช้สิทธินั้นไปแล้วเรียบร้อยหลายครั้ง
แต่ไม่ได้หมายความว่าสนธิไม่มีสิทธิพูด
เวลาเราพูดว่าคนเราแต่ละคนมีสิทธิในการมีความเห็นส่วนตัวนั้น จริงๆ แล้วคำว่า “สิทธิ” ในกรณีนี้แปลได้ 2 อย่าง ความหมายแรกคือสิทธิในแง่กฎหมาย ตามมาตรา 39 ในรัฐธรรมนูญไทยซึ่งกำหนดว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” แต่การที่เราจะมี เสรีภาพ ตามกฎหมายในการแสดงความเห็นใดๆ ได้ ย่อมหมายความว่าเรามี สิทธิ ตามกฎหมายในการถือความเห็นนั้นๆ ด้วยโดยปริยาย เพราะกฎหมายไม่สามารถให้เสรีภาพเราทำอะไรได้ หากไม่ให้สิทธิที่เกี่ยวข้องกับเราก่อน ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารัฐบาลบอกว่าคนไทยมุสลิมทุกคนมีเสรีภาพที่จะประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในศาสนาอิสลาม แต่ในขณะเดียวกันก็บังคับให้คนไทยทุกคนนับถือศาสนาพุทธเพียงศาสนาเดียว นั่นแปลว่าคนไทยมุสลิมไม่มีสิทธิจะนับถืออิสลาม และในเมื่อไม่มีสิทธินั้นแล้ว ก็ไม่สามารถแสดงออกซึ่งการนับถือด้วยการประกอบพิธีทางศาสนาได้ เท่ากับว่าเขาไม่มีเสรีภาพที่แท้จริง แม้ว่ากฎหมายจะเขียนว่ามีก็ตาม
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สิทธิและเสรีภาพเป็นของคู่กันในแง่กฎหมาย สิทธิเป็นสิ่งที่เราครอบครอง มีความชอบธรรมโดยกฎหมาย ในขณะที่เสรีภาพให้อำนาจเราใช้สิทธินั้นๆ ในทางปฏิบัติ ดังนั้นในมุมมองนี้ เราอาจแปล “เสรีภาพตามกฎหมาย” ว่า “การแสดงออกหรือการใช้สิทธิส่วนบุคคล”
ความหมายที่สองของ “สิทธิในการมีความเห็นส่วนตัว” คือ สิทธิที่เราได้มาโดยชอบธรรม (earned right) ความชอบธรรมในที่นี้หมายความว่า เรามีหลักฐานที่มีน้ำหนักมากพอที่จะสนับสนุนความเห็นนั้นๆ ว่า น่าจะเป็นข้อเท็จจริงหรือสัจธรรม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น ถ้าเพื่อนเรามีความเห็นว่า พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก และยืนกรานว่าเขามีสิทธิคิดแบบนั้น เราก็ควร “ละเมิดสิทธิ” ของเขาด้วยความหวังดี ชักชวนให้ไปดูพระอาทิตย์ขึ้นด้วยกันตอนเช้า จะได้รู้ว่าจริงๆ แล้วเพื่อนเราไม่มีสิทธิที่จะคิดอย่างนั้น เพราะเป็นความเห็นที่ผิดพลาด ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่สามารถพิสูจน์ได้
ในการอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นส่วนตัวซึ่งกันและกัน เราควรใช้ความหมายหลังของคำว่า “สิทธิ” ข้างต้น นั่นคือสิทธิโดยชอบธรรมหรือ earned right หากความเห็นส่วนตัวเหล่านั้นเป็นการถกเพื่อค้นหาความจริง (เช่น พระอาทิตย์ขึ้นทิศไหน) เพราะไม่น่าจะมีความเห็นส่วนตัวใดๆ ของใครในโลกนี้ที่ศักดิ์สิทธิ์ ล่วงละเมิดไม่ได้ ถ้าเป็นเรื่องของความจริง ความคิดนี้ตรงกับหลักพุทธศาสนาที่ว่า คนเราไม่ควรหลงผิดในอวิชชา หรือความไม่รู้ แน่นอนว่าไม่มีกฎหมายใดๆ ในโลกนี้ที่คุ้มครองอวิชชา เช่นเดียวกับที่ไม่มีกระบวนการศาลใดๆ ที่มีเจตนารมณ์จะปกปิดความจริงไม่ให้ปรากฏ
แต่ถ้าเรากำลังพูดถึงความเห็นส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงใดๆ เลย เช่น เรื่องของรสนิยม หรือความชอบส่วนบุคคล เราก็ควรจะใช้ความหมายแรกของ “สิทธิ” คือสิทธิที่ได้รับการปกป้องโดยกฎหมาย นั่นคือยอมรับว่าเราทุกคนมีสิทธิที่จะคิดไม่เหมือนกันถ้าเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลจริงๆ เช่น สีที่ชอบ อาหารจานโปรด ดาราที่เกลียด ฯลฯ
ดังนั้น คราวหน้าเมื่อคุณคุยกับใครสักคนเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริง ซึ่งคู่สนทนาของคุณมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่ยืนกรานว่ามีสิทธิที่จะเชื่อข้อมูลนั้น คุณก็ตอบด้วยความมั่นใจได้ว่า เขาไม่มีสิทธิที่จะคิดเช่นนั้นเลย
ในทำนองเีดียวกัน รัฐบาลไม่มี “สิทธิ” ที่จะ “ไม่เห็นด้วย” กับสนธิ หากสิ่งที่สนธิกล่าวหานั้นเป็นความจริง
2)”ความจริง” เป็นเอกเทศจาก “แรงจูงใจ” (motive fallacy)
สนธิ: การใช้เครื่องบิน ซี 130 ของกองทัพอากาศ ในการจัดงานวันเกิดน้องนายกฯ เป็นตัวอย่างการใช้อำนาจและทรัพย์สินของรัฐ เอื้อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง
โฆษกรัฐบาล: ข้อมูลนี้เอามาจากคนของพรรคประชาธิปัตย์
จริงๆ แล้วโฆษกรัฐบาลตอบตรงประเด็นกว่านี้เหมือนกัน (เช่น บอกว่าการใช้เครื่องบินแบบนี้เป็นเรื่องปกติ ใครๆ ก็ขอได้ ฯลฯ) แต่ที่คัดเฉพาะประโยคนี้มาเพราะนอกจากจะ “ไม่ตรงประเด็น” อย่างร้ายกาจแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความไร้เหตุผลข้อนี้ได้ดีมาก
เพราะการตอบคำถามว่า การใช้ทรัพย์สินของรัฐแบบนี้ “ผิด” หรือไม่ผิด ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับแหล่งข้อมูลของสนธิ ว่าจะเป็นใครมาจากไหน
นี่เป็นตัวอย่างของการพยายามใช้ “แรงจูงใจ” เป็นเหตุผลหักล้างประเด็นของคู่ต่อสู้ พยายามทำให้คนฟังคล้อยตามว่า คำกล่าวหาของสนธิอาจเชื่อถือไม่ได้ เพราะนำข้อมูลมาจากฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล
การใช้เหตุผลแบบผิดๆ ข้อนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ตัวอย่างที่เห็นชัดในกรณี สนธิ vs. ทักษิณ คือการที่อดีตกองเชียร์สนธิหลายๆ คน เลิกเชียร์ เพราะตอนนี้เริ่มมีข่าวว่า การออกมาต่อต้านนายกฯ ของสนธิในครั้งนี้ อาจมี “เบื้องหลัง” ที่ไม่บริสุทธิ์ใจเหมือนที่เขาเคยกล่าวอ้างเสียแล้ว
ทั้งๆ ที่ไม่ว่าสนธิจะมีเหตุจูงใจอะไร ผลประโยชน์แอบแฝงอะไรในการออกมาต่อต้านนายกฯ ก็ไม่อาจทำให้สิ่งที่เขากล่าวหาว่ารัฐบาลนี้ทำ เปลี่ยนจากจริงเป็นเท็จ หรือเท็จเป็นจริงไปได้
ความจริงย่อมไม่มีวันตาย
ไม่มีความเห็นหรือข้อมูลใดๆ ที่ “ผิด” เพียงเพราะผู้พูดมีแรงจูงใจหรือมูลเหตุที่จะคิดเช่นนั้น
เนื่องจากข้อกล่าวหาของสนธิส่วนใหญ่นั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวกับประโยชน์ของประเทศชาติ ทุกฝ่ายควรหันมาให้ความสนใจกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเหตุผลว่า ข้อกล่าวหาของสนธิทั้งหลายนั้น เป็น “ความจริง” หรือไม่เพียงใด มากกว่าที่จะมานั่งโหนกระแส “ต้านนายกฯ” หรือเลิกโหนกระแส เพียงเพราะสนธิมีเบื้องหลังหรือมูลเหตุจูงใจ ที่ดีกว่าหรือเลวกว่าที่เราเคยรับรู้
3)”ความจริง” เป็นเอกเทศจาก “อำนาจหรือวุฒิ” (authority fallacy)
“ประชาชน 19 ล้านคน เลือกเราให้มาทำงานและก็ได้บอกกติกาประชาชนไปแล้วว่าจะทำอะไรให้บ้าง วันนี้ยังไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะเพิ่งทำงานมาไม่ถึงปี เราก็ต้องทำตามที่เราบอกกับเขาไว้ เมื่อครบ 4 ปี ประชาชนก็จะมาตรวจสอบว่า ทำเหมือนที่เราได้สัญญาไว้หรือไม่” (นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร, 30 พ.ย. 48)
ประโยคนี้ฟังดูเหมือนนายกฯ กำลังบอกว่า ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบรัฐบาลได้เพียงทุกๆ รอบ 4 ปีเท่านั้น เมื่อฤดูเลือกตั้งมาเยือน ระหว่างนั้นทุกคนก็ควรหลับหูหลับตา ไม่สนใจพฤติกรรมการโกงกินต่างๆ ของรัฐบาล และประชาชนไม่มีสิทธิตรวจสอบอะไรก็ตามที่อยู่นอกเหนือ “สัญญา” ที่รัฐบาลให้กับประชาชน
อย่างที่หลายๆ คนพูดไปแล้วนั่นแหละ: ถ้ารออีก 4 ปีให้รัฐบาลโชว์ผลงาน ก็ไม่รู้ว่าจะโกงกินไปอีกเท่าไหร่
นอกจากนี้ “ความชอบธรรม” ควรเป็นคุณสมบัติสัมบูรณ์ (absolute quality) ที่แสดงออกซึ่งระดับคุณธรรมของรัฐบาลในการบริหารประเทศ ความชอบธรรมไม่เกี่ยวอะไรเลยกับตัวเลขคนโหวตลงคะแนนเสียง หรือจำนวนเสียงส่วนใหญ่ เพราะประชาชนอาจไม่รู้ข้อเท็จจริง หรือถูกหลอกด้วยโฆษณาชวนเชื่อในฤดูหาเสียงของนักการเมือง
ดังนั้นความชอบธรรมจึงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “คุณธรรม” ที่เป็น “ความจริง”
แม้พฤติกรรมที่ผ่านมาอาจทำให้หลายๆ คนเข้าใจผิดว่า นายกฯ ทักษิณเป็นพหูสูตผู้รอบรู้ทุกเรื่อง ตั้งแต่ผู้อยู่เบื้องหลัง “โจรกระจอก” ภาคใต้ ไปจนถึงหลักการบริหารจัดการตามหนังสือขายดีของฝรั่งก็ตาม มีความจริงหลายอย่างในโลกนี้ ที่ไม่มีทางกลายเป็นเท็จเพียงเพราะนายกฯ เป็นคนพูด ความเข้าใจผิดข้อนี้ปกติเกิดขึ้นเมื่อเราเคลิบเคลิ้มไปกับความดัง หรือวุฒิการศึกษาของคนพูด จนลืมไปว่าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอาจไม่รู้เรื่องที่อยู่นอกวงการของตน
ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความเห็นของคนหมู่มากไม่ได้ “ถูก” เสมอไป อำนาจของประชาชน (ซึ่งในระบอบประชาธิปไตย แสดงออกเป็นมติมหาชนผ่านการโหวตลงคะแนน ประชาพิจารณ์ และช่องทางแสดงความคิดเห็นอื่นๆ) ตัดสินได้อย่างมากที่สุดเพียงลงมติเลือก นโยบายหรือโครงการที่รัฐบาลจะนำไปปฏิบัติเท่านั้น ลำพังมติมหาชนบอกเราไม่ได้ว่า นโยบายหรือโครงการเหล่านั้น “ดี” จริงหรือไม่ นี่เป็นประเด็นสำคัญที่เราควรสำเหนียกกันให้มาก โดยเฉพาะในรัฐบาลปัจจุบันที่ชอบใช้นโยบายประชานิยม และอ้างถึงคะแนนเสียง 19 ล้านเสียงที่พรรคได้รับในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ว่าเป็นเครื่องแสดง “ความชอบธรรม” ในการบริหารประเทศ ทั้งๆ ที่มติมหาชนนั้นเป็นเพียงเครื่องแสดง “ความเห็น” ของคนส่วนใหญ่ ณ ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น คือ ณ วันเลือกตั้ง มิใช่เป็นมาตรวัด “ความถูกผิด” ของการดำเนินนโยบาย และพฤติกรรมต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งสะสมตามกาลเวลา และเป็นกระจกสะท้อน “ความชอบธรรม” ที่แท้จริง
4)”ความจริง” เป็นเอกเทศจาก “อคติและความเชื่อ” (prejudice fallacy)
ในบรรดาสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์กับความจริงและการเปิดเผยความจริง อคติเป็นหนึ่งในศัตรูกับปัญญาที่น่ากลัวที่สุด
ที่น่ากลัวเพราะอคติฝังรากลึกลงในจิตใต้สำนึก ผ่านประสบการณ์ที่เราสะสมมา ทำให้เรามักไม่ค่อยสังเกตตัวเราเอง ว่ามีอคติมากน้อยเพียงใด
สมัยเป็นนักเรียนอยู่อเมริกา เคยเถียงกับเพื่อนคนหนึ่งที่เชื่อว่า อคติเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” ที่ไม่สามารถกำจัดได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสัญชาติญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ โดยยกตัวอย่างถามผู้เขียนว่า ถ้ากำลังเดินอยู่บนถนนเปลี่ยว ข้างหนึ่งมีชายผิวดำกำลังเดินอยู่ อีกข้างมีชายผิวขาว จะเลือกเดินข้างไหน?
ตอบเขาไปว่า โจทย์นี้ไม่ให้ข้อมูลเพียงพอ เพราะต้องอธิบายก่อนว่า ชายทั้งสองคนนั้นดูท่าทางน่ากลัวขนาดไหน เช่น ระหว่างคนผิวดำที่แต่งตัวเหมือนคนทำงานออฟฟิศ กับคนผิวขาวที่แต่งตัวรุ่งริ่ง หนีบขวดเหล้าเดินโซซัดโซเซมา ส่งเสียงดังน่ากลัว ทุกคนคงเลือกเดินสวนกับคนผิวดำ
ดังนั้นโจทย์นี้แสดงถึงอคติของคนถามเอง เพราะนึกไม่ถึงว่าจะมี “ปัจจัยแวดล้อม” อื่นๆ นอกเหนือจากสีผิว ที่สำคัญต่อการตัดสินใจของคนตอบ
ระวังอย่าให้อคติของเรา ที่เกี่ยวกับคุณวุฒิ วัยวุฒิ ภูมิหลัง และแม้แต่ประสบการณ์ ของทั้งสนธิ ลิ้มทองกุล และทักษิณ ชินวัตร มามีอำนาจเหนือการใช้สติและเหตุผล ในการวิเคราะห์ข้อมูลของทั้งสองฝ่าย
5)”ความจริง” เป็นเอกเทศจาก “คำว่างเปล่า” (empty / weasel words)
“…เรื่องภาคใต้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องจัดการโดยเด็ดขาด …มีอะไรเกิดขึ้น ผมรับผิดชอบเองครับ” (นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ในรายการนายกฯ คุยกับประชาชน เดือนกันยายน 2548)
ฟังเผินๆ อาจดูเหมือนนายกฯ น่าชื่นชมที่ออกมาแสดงความ “กล้า” ที่จะรับผิดชอบเรื่องปัญหาภาคใต้
แต่เดี๋ยวก่อน …ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไรที่เป็นเรื่องสำคัญขนาดนี้ นายกรัฐมนตรี ก็ต้องเป็นผู้ “รับผิดชอบ” อยู่แล้วไม่ใช่หรือ?
นอกจากนั้น การ “รับผิดชอบ” ของนายกฯ แปลว่าอะไร? แปลว่าจะประกาศลาออก ถ้าปัญหาภาคใต้ยังแก้ไม่สำเร็จ? แล้วเอาอะไรเป็นเกณฑ์วัดว่า “สำเร็จ” หรือเปล่า? จำนวนชาวบ้านที่ตายต่อวันเหลือศูนย์ภายใน 3 เดือนต่อจากนี้? จับคนบงการได้? ถ้ายังไงๆ นายกฯ ก็ไม่ลาออก เขาจะแสดงความ “รับผิดชอบ” นั้นอย่างไร? ออกมาขอโทษประชาชนบนทีวี? ถ้าประชาชนไม่คิดว่าทำแค่นั้นเป็นการ “แสดงความรับผิดชอบ” ที่เพียงพอต่อความล้มเหลว ประชาชนทำอะไรได้บ้าง?
เนื่องจากนายกฯ ไม่เคยตอบคำถามเหล่านี้ การพูดแบบนี้จึงเป็น “คำพูดว่างเปล่า” ที่ไร้ความหมาย ไม่ต่า่งจากผู้บริหารหลายๆ บริษัท ที่ชอบให้สัมภาษณ์ว่า “เราคาดว่าปีนี้ยอดขายอาจเพิ่มขึ้น 10%” แทนที่จะบอกว่า “เราคาดว่าปีนี้ยอดขายจะเพิ่มขึ้น 10%” ซึ่งฟังดูหนักแน่นกว่ามาก
คำประเภท “อาจจะ…” “มีแนวโน้มที่จะ…” และ “เป็นไปได้ที่…” ล้วนเป็น “คำว่างเปล่า” ทีผู้พูดใช้ได้โดยไม่ต้องกังวลว่า ผลที่แท้จริงในอนาคตจะออกมาเป็นอย่างไร
ใครๆ จะพูดอะไรก็ได้ในโลกนี้ ถ้าไม่ต้องรับผิดชอบคำพูดของตัวเองด้วยการกระทำ และถ้าใช้เพียงคำพูดหลวมๆ ที่ไม่ “ผูกมัด” ตัวเองให้ต้องรับผิดชอบอะไรทีหลัง
นอกจากนั้น การยืดอกประกาศความรับผิดชอบของนายกฯ ไม่ได้แปลว่าการดำเนินนโยบายปัจจุบันนั้นถูกต้องดีอยู่แล้ว
การพูดแสดงอำนาจ เป็นคนละเรื่องกับความจริง
การพูดแสดงความรับผิดชอบไม่มีประโยชน์ หากไม่มีใครสามารถ “เอาผิด” คนพูดได้.