[อ่านตอนแรกของบทความนี้ได้ที่นี่]
สามประโยคอันตรายที่กำลังกัดกร่อนสังคมไทย (“ใครๆ เขาก็ทำกัน” “ช่าง(หัว)มัน” และ “คนดีไม่ควรเปลืองตัว”) คงไม่เป็นอันตรายมากเท่าไหร่ หากคนไทยเราไม่มี “นิสัยอันตราย” สองอย่าง ที่เปรียบเสมือน “พาหะ” เพาะเชื้อประโยคอันตรายทั้งสามให้ลุกลาม
สองนิสัยที่ว่าคือ นิสัยปากว่าตาขยิบ (double standard) และนิสัยมักง่าย ซึ่งนับวันดูเหมือนจะแพร่หลายมากขึ้น และเลวร้ายกว่าสมัยผู้เขียนยังเด็ก
ในเมืองไทย นิสัยสองอย่างนี้ดูเหมือนจะสงวนไว้สำหรับชนชั้นสูง และชนชั้นกลางเท่านั้น อาจเป็นเพราะคนที่ปากว่าตาขยิบนั้นต้องรู้ก่อนว่าหลักการ กฎเกณฑ์ หรือมาตรฐานที่กำลัง “เลือกปฏิบัติ” อยู่นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร และคนที่มักง่ายต้องมีโอกาส ทรัพยากร หรือพูดรวมๆ ว่าทางเลือกในการดำรงชีวิตหลายๆ ทางเสียก่อน ถึงจะสามารถ “เลือก” ทางที่มักง่ายได้ (เช่น ใครที่ได้เงินเดือนสูงๆ แต่ไม่มีเส้นก็ต้องทนทำงานหนักเพื่อไต่เต้าบันไดอาชีพ แต่คนที่มีเส้นใหญ่ก็สามารถเลือกทำตัว “มักง่าย” ด้วยการกินเงินเดือนสูงๆ โดยไม่ต้องทำงาน)
คนจนต้องใช้เวลาและพลังงานทั้งหมดไปกับการทำมาหากินเพื่อเอาชีวิตรอดไปวันต่อวัน ไม่มีเวลาว่างจะมาเรียนหลักการหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ในสังคม นอกเหนือจากที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของพวกเขาโดยตรง และแน่นอน พวกเขาไม่มีทางเลือกมากนักในการดำรงชีวิต
คนจนจึงไม่มีนิสัย “มักง่าย” เพราะมักง่ายไม่ได้ ใครมักง่ายก็แปลว่ายอมอดตาย
ไม่ได้หมายความว่าคนจนไม่มีนิสัยไม่ดีอะไรเลย เพราะคนจนหลายคนย่อมมี “นิสัยเสีย” หลายอย่าง ไม่่ต่างจากคนรวย เช่น เกียจคร้าน หูเบา ขี้โมโห ฯลฯ
แต่คนจนไม่มักง่าย
พูดอีกแบบคือ ใครมักง่ายได้แปลว่าจนไม่จริง
[อ่านตอนแรกของบทความนี้ได้ที่นี่]
สามประโยคอันตรายที่กำลังกัดกร่อนสังคมไทย (“ใครๆ เขาก็ทำกัน” “ช่าง(หัว)มัน” และ “คนดีไม่ควรเปลืองตัว”) คงไม่เป็นอันตรายมากเท่าไหร่ หากคนไทยเราไม่มี “นิสัยอันตราย” สองอย่าง ที่เปรียบเสมือน “พาหะ” เพาะเชื้อประโยคอันตรายทั้งสามให้ลุกลาม
สองนิสัยที่ว่าคือ นิสัยปากว่าตาขยิบ (double standard) และนิสัยมักง่าย ซึ่งนับวันดูเหมือนจะแพร่หลายมากขึ้น และเลวร้ายกว่าสมัยผู้เขียนยังเด็ก
ในเมืองไทย นิสัยสองอย่างนี้ดูเหมือนจะสงวนไว้สำหรับชนชั้นสูง และชนชั้นกลางเท่านั้น อาจเป็นเพราะคนที่ปากว่าตาขยิบนั้นต้องรู้ก่อนว่าหลักการ กฎเกณฑ์ หรือมาตรฐานที่กำลัง “เลือกปฏิบัติ” อยู่นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร และคนที่มักง่ายต้องมีโอกาส ทรัพยากร หรือพูดรวมๆ ว่าทางเลือกในการดำรงชีวิตหลายๆ ทางเสียก่อน ถึงจะสามารถ “เลือก” ทางที่มักง่ายได้ (เช่น ใครที่ได้เงินเดือนสูงๆ แต่ไม่มีเส้นก็ต้องทนทำงานหนักเพื่อไต่เต้าบันไดอาชีพ แต่คนที่มีเส้นใหญ่ก็สามารถเลือกทำตัว “มักง่าย” ด้วยการกินเงินเดือนสูงๆ โดยไม่ต้องทำงาน)
คนจนต้องใช้เวลาและพลังงานทั้งหมดไปกับการทำมาหากินเพื่อเอาชีวิตรอดไปวันต่อวัน ไม่มีเวลาว่างจะมาเรียนหลักการหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ในสังคม นอกเหนือจากที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของพวกเขาโดยตรง และแน่นอน พวกเขาไม่มีทางเลือกมากนักในการดำรงชีวิต
คนจนจึงไม่มีนิสัย “มักง่าย” เพราะมักง่ายไม่ได้ ใครมักง่ายก็แปลว่ายอมอดตาย
ไม่ได้หมายความว่าคนจนไม่มีนิสัยไม่ดีอะไรเลย เพราะคนจนหลายคนย่อมมี “นิสัยเสีย” หลายอย่าง ไม่่ต่างจากคนรวย เช่น เกียจคร้าน หูเบา ขี้โมโห ฯลฯ
แต่คนจนไม่มักง่าย
พูดอีกแบบคือ ใครมักง่ายได้แปลว่าจนไม่จริง
……
หนังสือเรื่อง ภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2545 ให้คำจำกัดความ “ปากว่าตาขยิบ” ว่า “พูดอย่างหนึ่ง แต่ทำอีกอย่างหนึ่ง”
ลึกๆ แล้ว ความหมายของคำพังเพยนี้ไม่ต่างจาก “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลแต่กินน้ำแกง” หรือแม้กระทั่งคำว่า “เลือกปฏิบัติ” หากพูดกันในระดับหลักการ
ลำพังถ้าหัวข้อของพฤติกรรม “ปากว่าตาขยิบ” เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ระดับปัจเจก เช่น บอกว่าเกลียดเทสโก้-โลตัสแต่อุดหนุนเขาทุกเดือน ปากบอกว่ารักใครแต่ไม่เคยทำอะไรให้เขา ฯลฯ นิสัยนั้นก็คงเป็นเพียง “นิสัยเสียส่วนตัว” ที่อาจทำให้คนไม่อยากคบ แต่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียอะไรต่อส่วนรวม
แต่ถ้าพฤติกรรม “ปากว่าตาขยิบ” นั้นเป็นเรื่องสำคัญที่อาจมีผลกระทบต่อสังคม หรือเป็นการสร้าง “บรรทัดฐาน” ใหม่ที่แย่กว่าเดิม เช่น บิดเบือนหลักกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจ นิสัยนี้ก็อันตรายอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะถ้าคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าพฤติกรรมนั้นเป็นการ “ปากว่าตาขยิบ” หรือที่แย่กว่านั้นคือ รู้ แต่ไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ใครควรลุกขึ้นต่อต้าน เพราะ “ใครๆ เขาก็ทำกัน”
ดังนั้นอันตรายจริงๆ ของนิสัยปากว่าตาขยิบ ที่ทำให้สังคมเสื่อมลงทุกวัน คือในกรณี “กฎหมาย/ระเบียบ/กฎเกณฑ์ ระบุไว้อย่างหนึ่ง แต่เจ้าหน้าที่รัฐทำอีกอย่างหนึ่ง” เพราะผลของมันคือการลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ความไม่เที่ยงธรรมของรัฐ หรือการเบียดบังประโยชน์ส่วนรวม
โดยเฉพาะเมื่อคนที่ “ปากว่าตาขยิบ” เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงที่เป็น “ผู้คุมกฎ” โดยตำแหน่ง มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ของประเทศ
สมมุติฐานที่อยู่ภายใต้พฤติกรรมในกรณีนี้คือ กฎหมาย/ระเบียบ/กฎเกณฑ์ในสถานการณ์ที่พูดถึงนั้น เป็นชุดที่ “เหมาะสม” แล้วกับ “ผู้ถูกกระทำ” คือบุคคลที่เจ้าหน้าที่รัฐกำลังใช้กฎหมาย/ระเบียบ/กฎเกณฑ์นั้นตัดสินความผิด
เพราะกฎหมาย/ระเบียบ/กฎเกณฑ์หลายฉบับ ถูกออกแบบมาให้ใช้สำหรับคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ต่างจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีระดับความเป็น “สากล” (universality) สูงสุดในบรรดากฎหมายทั้งหมด มีขอบเขตครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศ
ยกตัวอย่างเช่น เราคงไม่บอกว่า ตำรวจที่จับขโมยแต่ไม่จับผู้บริสุทธิ์ กำลังมีพฤติกรรม “ปากว่าตาขยิบ” หรือ “เลือกปฏิบัติ” อยู่ เพราะบทลงโทษขโมยในกฎหมายนั้น ย่อมใช้ไม่ได้กับผู้บริสุทธิ์
หรือพูดอีกอย่างก็คือ “ผู้บริสุทธิ์” ไม่อยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายที่ลงโทษ “ขโมย” ดังนั้นตำรวจที่ไม่ลงโทษผู้บริสุทธิ์ จึงทำหน้าที่ถูกต้องแล้ว ไม่สมควรถูกประณามเป็นคน “ปากว่าตาขยิบ” หรือ “เลือกปฏิบัติ”
เช่นเดียวกัน การที่ “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ต้องเปิดเผยทรัพย์สินต่อ ปปช. ในขณะที่คนอื่นไม่ต้องทำแบบนั้น ก็ไม่ใช่การ “เลือกปฏิบัติ” เพราะกฎหมายระบุไว้แบบนี้
ถ้ากฎหมายระบุให้นักการเมืองทุกคนเปิดเผยทรัพย์สิน แล้ว ปปช. ไม่บังคับให้นักการเมืองคนไหนเปิดเผยเลย นั่นจึงถือเป็นการ “ปากว่าตาขยิบ”
ถ้ากฎหมายระบุให้นักการเมืองทุกคนเปิดเผยทรัพย์สิน แล้ว ปปช. บังคับเฉพาะนักการเมืองบางคน ยกเว้นให้นักการเมืองบางคนไม่ต้องเปิดเผย นั่นจึงถือเป็นการ “เลือกปฏิบัติ”
ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินได้ว่า ใครกำลัง “ปากว่าตาขยิบ” หรือ “เลือกปฏิบัติ” อยู่ เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ขอบเขตของกฎหมาย/ระเบียบ/กฎเกณฑ์ในบริบทนั้นอยู่ที่ไหน แค่ไหน ใครบ้างที่เป็น “หัวข้อ” (subject) ของกฎหมาย/ระเบียบ/กฎเกณฑ์นั้นๆ
(ส่วนประเด็นว่ากฎหมายหรือระเบียบนั้น “ดี” แค่ไหน (ในแง่ความสมเหตุสมผล ความเป็นธรรม ความเป็นไปได้ในการบังคับใช้ ฯลฯ) ก็เป็นเรื่องที่อาจสะท้อนปัญหาการ “เลือกปฏิบัติโดยหลักการ” แต่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ขอยกยอดไปอธิบายในโอกาสหน้า)
โชคร้ายที่ในสังคม “มักง่าย” อย่างสังคมไทย คนทั่วไป “ขี้เกียจ” ใช้วิจารณญาณกลั่นกรองข้อมูลต่างๆ และไม่พยายามหาข้อเท็จจริงและตัวบทกฎหมาย/ระเบียบ/กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจก่อนว่า “กรอบ” ในการพิจารณานั้นอยู่ตรงไหน ใครบ้างที่เข้าข่ายกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ความเข้าใจนี้เป็น “ความรู้พื้นฐาน” ที่จำเป็น ก่อนที่เราจะสรุปได้ว่าเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐมีพฤติกรรม “ปากว่าตาขยิบ” หรือ “เลือกปฏิบัติ” ในแต่ละกรณีหรือไม่
เราอาจไม่สามารถแยกแยะระหว่าง “ขโมย” และ “ผู้บริสุทธิ์” ได้ ก่อนที่การสอบสวนของรัฐจะสิ้นสุดลง เพราะเราอาจไม่มีข้อมูลเพียงพอ
แต่อย่างน้อย เราควรต้องเข้าใจ “หลักการ” ก่อน เช่น นิยามของ “ขโมย” ภายใต้กฎหมายคืออะไร แตกต่างจากคนทั่วไปอย่างไร เหตุใดขโมยจึงควรถูกลงโทษ กรณีใดบ้างที่เป็นข้อยกเว้น (ถ้ามี)
แต่นิสัยมักง่ายของสังคมไทย ทำให้ไม่ค่อยมีใครอภิปรายประเด็นต่างๆ ในระดับ “หลักการ” เท่าที่ควร
สังคมไทยใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เชื่อ “คนพูด” มากกว่า “สิ่งที่พูด” ทำให้การตัดสินใจประเด็นต่างๆ บางครั้งบิดเบือนไปจากความเป็นจริงมาก โดยเฉพาะเมื่อ “คนพูด” ติดนิสัยมักง่ายเหมือนกับ “คนฟัง”
พอเจอเรื่องอะไรที่ต้องใช้ความพยายามในการทำความเข้าใจ เราำก็บอกว่า “ช่างมัน ขี้เกียจคิด ปวดหัว” แล้วก็กลับไปสนใจข่าวบันเืทิงตามเดิม
นิสัย “ปากว่าตาขยิบ” อันตรายก็จริง แต่นิสัยมักง่ายอันตรายกว่า
เพราะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม บางครั้งอาจถูกประณามอย่างผิดๆ ว่ากำลัง “ปากว่าตาขยิบ” หรือ “เลือกปฏิบัติ” เพียงเพราะคนพูดไม่เข้าใจกฎหมาย และไม่พยายามเข้าใจกฎหมาย
……
นิสัยมักง่าย เป็นนิสัยอันตรายอันดับหนึ่งของสังคมไทย
เรายอมรับคนประเภท “โกงแต่เก่ง” เพราะเราคิดว่าการ “รวยลัด” นั้นเป็นเรื่องดี ไม่มีอะไรผิด ทำอะไรก็ได้ให้รวย ตราบใดที่ไม่โดนจับ (innocent until caught)
เราเห็นนักธุรกิจจำนวนมากจ่ายค่าแรงถูกๆ และใช้เส้นสายกับนักการเมืองให้ออกมาตรการกีดกันคู่แข่ง เพราะวิธีแบบนั้น “ง่าย” กว่าการฝึกทักษะให้แรงงาน หรือใช้เงินลงทุนวิจัย เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
เราเห็นธุรกิจรับจ้างเขียนวิทยานิพนธ์หรือโกงข้อสอบเฟื่องฟูในปัจจุบัน เพราะนักเรียนจำนวนมาก โดยเฉพาะลูก “คนมีเงิน” ไม่เห็นคุณค่าของการ “ทำงานหนัก” อีกต่อไป
จะตั้งใจเรียนไปทำไม ในเมื่อพอโตขึ้น เดี๋ยวพ่อแม่ก็จัดการใช้เส้นสาย “ฝาก” เข้าทำงานในบริษัทที่ให้งานสบาย-เงินเดือนดี โดยอัตโนมัติ?
เราไม่สนใจหลักการ เพราะเรามักง่าย แปลว่าเราขี้เกียจคิดมาก และคิดว่า “หนทาง” อะไรก็ตามที่ทำให้เกิด “ผลสำเร็จ” ย่อมมีความชอบธรรมโดยอัตโนมัติ (“the means justify the ends”) ไม่ว่าหนทางนั้นจะผิดหลักการ ผิดศีลธรรมเพียงใด
เพราะความมักง่าย ชนชั้นกลางจำนวนมากจึงสนับสนุนนโยบาย “ฆ่าตัดตอน” ของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เพราะมันช่วยปราบยาบ้าได้เป็นผลสำเร็จ (อย่างน้อยก็ชั่วคราว) แม้ว่านโยบายนี้จะละเมิดสิทธิมนุษยชนนับไม่ถ้วนและฆ่าผู้บริสุทธิ์ไปหลายพันศพ
เพราะความมักง่าย ชนชั้นกลางจำนวนมากจึงสนับสนุนการทำรัฐประหาร เพราะมันทำให้บ้านเมืองกลับสู่ “ความสงบเรียบร้อย” โดยเร็ว แม้ว่ามันจะทำลายรัฐธรรมนูญและโครงสร้างสำคัญของระบอบประชาธิปไตยลงอย่างย่อยยับ ทำให้เราเกิดความ “เคยตัว” มากขึ้น และมักง่ายยิ่งกว่าเดิม
เพราะความมักง่าย ชนชั้นกลางจำนวนมากจึงคิดว่า “ความสงบเรียบร้อย” ของบ้านเมือง สำคัญกว่า “การจับคนผิดมาลงโทษ”
เพราะความมักง่าย ชนชั้นกลางจำนวนมากจึงคิดว่า “การจับคนผิดมาลงโทษ” ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด สำคัญกว่า “การให้ความเป็นธรรม” ต่อผู้ต้องหา ในกระบวนการศาล
เพราะความมักง่าย ชนชั้นกลางจำนวนมากจึงใช้ชีวิตอย่างสุขสบายไปวันๆ ไม่รู้สึกทุกข์ร้อนกับความเดือดร้อนของคนจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้
……
อันตรายที่ร้ายแรงที่สุดของนิสัยมักง่าย คือทำให้ “หลักการ” ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย คุณธรรม หรือศักดิ์ศรี ปลาสนาการไปอย่างสิ้นเชิง และทำให้คนขาดความขยัน (work ethic) ซึ่งเป็นหัวจักรที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ
แต่ “ทางลัด” ทุกอย่างย่อมมี “ราคา” ที่เราต้องจ่าย ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ความมักง่ายของชนชั้นกลาง กำลังบ่อนทำลายความสามารถในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมกับประชาชนทุกระดับชั้น โดยเฉพาะในเมื่อค่าแรงที่ถูกกว่าในประเทศกำลังพัฒนาใหม่ๆ อย่างจีน อินเดีย และเวียดนาม ทำให้ภาคเอกชนไทยกำลังถูกกดดันอย่างหนักให้เลิกใช้วิธี “มักง่าย” (กดค่าแรงและใช้เส้นสายกับนักการเมือง) ในการทำธุรกิจ
นิสัยมักง่ายของคนไทย อาจมีรากมาจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในอดีต ที่ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” และความที่ประเทศไม่เคยประสบกับวิกฤติร้ายแรงชนิดอาจทำให้ประเทศล่มสลาย (เช่น เป็นประเทศแพ้สงครามอย่างญี่ปุ่น หรือตกเป็นเมืองขึ้นมหาอำนาจตะวันตกอย่างอินเดีย) ทำให้คนไทยไม่เคยรู้สึกว่าต้องขวนขวายเท่าไหร่
แต่ตอนนี้ เราไม่ใช่ประเทศที่ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว อีกต่อไปแล้ว
เลิกมักง่ายกันได้หรือยัง?