เรื่องย่อ:
ตำรวจผิวดำมีน้องชายเป็นหัวขโมยและแม่ที่รู้สึกถูกทอดทิ้ง หัวขโมยผิวดำสองคนยังชีพด้วยการปล้นรถคนผิวขาวไปขาย อัยการจังหวัดต้องเรียกคะแนนนิยมจากกลุ่มคนผิวดำ และมีภรรยาคุณนายที่ถูกตามใจจนเคยตัว ผู้กำกับฮอลลีวู้ดผิวดำต้องทนเห็นภรรยาถูกลวนลามโดยตำรวจผิวขาวที่มีพ่อแก่ที่บ้าน และมีคู่หูเป็นตำรวจมือใหม่ที่รังเกียจพฤติกรรมเหยียดผิวของตน พ่อค้าชาวอิหร่านซื้อปืนมาป้องกันตัวจากคนอเมริกันบ้าเลือดที่จ้องทำร้ายคนมุสลิม และเรียกใช้บริการของช่างซ่อมกุญแจผิวดำที่มีลูกสาวตัวเล็กๆ ผู้หวาดกลัวกระสุนปืน โชคชะตาและเหตุบังเอิญนานานับประการ นำพาให้คนต่างผิวพรรณ ต่างเชื้อชาติเหล่านี้ในมหานครลอสแองเจลิสของอเมริกา โคจรมาพบกันภายในช่วงเวลา 2 วันของชีวิต แต่ช่วงเวลาสั้นๆ นั้นก็เกินพอที่จะแสดงให้เห็นว่า อคติเกี่ยวกับสีผิวที่ฝังรากลึกในจิตใต้สำนึกของคนเรานั้น สามารถนำมาซึ่งความขัดแย้ง และความรุนแรงอย่างไรบ้างในชีวิตประจำวัน
เรื่องย่อ:
ตำรวจผิวดำมีน้องชายเป็นหัวขโมยและแม่ที่รู้สึกถูกทอดทิ้ง หัวขโมยผิวดำสองคนยังชีพด้วยการปล้นรถคนผิวขาวไปขาย อัยการจังหวัดต้องเรียกคะแนนนิยมจากกลุ่มคนผิวดำ และมีภรรยาคุณนายที่ถูกตามใจจนเคยตัว ผู้กำกับฮอลลีวู้ดผิวดำต้องทนเห็นภรรยาถูกลวนลามโดยตำรวจผิวขาวที่มีพ่อแก่ที่บ้าน และมีคู่หูเป็นตำรวจมือใหม่ที่รังเกียจพฤติกรรมเหยียดผิวของตน พ่อค้าชาวอิหร่านซื้อปืนมาป้องกันตัวจากคนอเมริกันบ้าเลือดที่จ้องทำร้ายคนมุสลิม และเรียกใช้บริการของช่างซ่อมกุญแจผิวดำที่มีลูกสาวตัวเล็กๆ ผู้หวาดกลัวกระสุนปืน โชคชะตาและเหตุบังเอิญนานานับประการ นำพาให้คนต่างผิวพรรณ ต่างเชื้อชาติเหล่านี้ในมหานครลอสแองเจลิสของอเมริกา โคจรมาพบกันภายในช่วงเวลา 2 วันของชีวิต แต่ช่วงเวลาสั้นๆ นั้นก็เกินพอที่จะแสดงให้เห็นว่า อคติเกี่ยวกับสีผิวที่ฝังรากลึกในจิตใต้สำนึกของคนเรานั้น สามารถนำมาซึ่งความขัดแย้ง และความรุนแรงอย่างไรบ้างในชีวิตประจำวัน
ทัศนะของข้าพเจ้า:
Crash เป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของ Paul Haggis ผู้มีผลงานโดดเด่นจากการเขียนบทหนังเรื่อง Million Dollar Baby เจ้าของ 4 รางวัลออสการ์ในปี 2547 สำหรับ Crash เรื่องนี้ Paul Haggis เขียนบทเอง กำกับเอง และผลที่ออกมาคือหนังเกี่ยวกับการเหยียดผิวที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ เป็นหนังเล็กแต่ใจใหญ่ที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะต้องได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ปี 2549 หลายสาขาอย่างแน่นอน (เว้นแต่กรรมการฮอลลีวู้ดจะตาบอด)
Crash เป็นหนังที่ใช้ “ensemble cast” กล่าวคือ ไม่มีตัวละครหลัก แต่ใช้ตัวละครหลากหลายดำเนินเรื่อง ตัดสลับฉากไปมาระหว่างกัน บทภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมทำให้รู้สึกว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในหนัง เป็นเรื่องจริงทีเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะความที่ลอสแองเจลิสเป็นเมืองที่มีคนอยู่หลายเชื้อชาติหลายภาษา ทำให้ความขัดแย้ง กระทบกระทั่งกันเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องเจอ (ในฐานะคนที่มีเพื่อนเป็นชาวเมืองลอสแองเจลิสหลายคน และเคยไปอยู่ที่นั่นเกือบเดือนสมัยเป็นนักเรียน ข้าพเจ้ายืนยันได้ถึงความสมจริงของหนังเรื่องนี้)
นอกเหนือจา่กความสมจริงของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว จุดเด่นของหนังเรื่องนี้อยู่ที่การสื่อประเด็นที่ชัดเจน และกินใจว่า อคติของมนุษย์โดยเฉพาะการเหยียดผิวนั้น เป็นเรื่อง “ปกติ” เพียงใดในสังคมอเมริกัน และมีผลอย่างไรต่อชีวิตประจำวัน สิ่งที่ข้าพเจ้าชอบมากคือ การที่หนังไม่มี “วาระซ่อนเร้น” หรือคติทางการเมืองใดๆ ที่จะมาบังคับให้คนดูต้องตัดสินใจว่าตัวละครต่างๆ ทำ “ถูก” หรือ “ผิด” แม้เราทุกคนรู้ว่าอคติเป็นเรื่องไม่ดี แต่เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน Crash ทำให้เราต้องคิดว่า เราสามารถสลัดมันทิ้งไปได้จริงหรือ? โดยเฉพาะในสังคมที่เราต้องเผชิญกับมันอย่างไม่หยุดหย่อน บางครั้ง การเอ่ยคำว่า “ขอโทษ” และแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อคนต่างเชื้อชาติ อาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้ยามคับขัน
นักแสดงทุกคนในหนังเรื่องนี้ต่างแสดงได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะ Matt Dillon, Don Cheadle และ Terrance Howard แม้ว่าเหตุบังเอิญจะมากเกินไปหน่อย และตัวละครบางคนแสดงอารมณ์แบบ “เวอร์” เกินจริงก็ตาม เช่นเดียวกับในชีวิตจริง ตัวละครต่างๆ ในเรื่องล้วนแต่มีปัญหาชีวิต ไม่มีใครเป็นคนดี 100% และไม่มีใครเป็นคนชั่ว 100% คนที่เราคิดว่าเป็นฮีโร่ตอนต้นเรื่อง อาจต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่บีบคั้นให้เขาต้องตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ในทำนองเดียวกัน โชคชะตาก็อาจชักนำให้ตำรวจกักขฬะคนหนึ่ง ผู้ไม่เคยปิดบังความชิงชังที่ตนมีต่อชนกลุ่มน้อย กลับกลายเป็นวีรบุรุษไปได้ในพริบตา ช่วงเวลาเพียง 48 ชั่วโมงในหนัง แสดงให้เห็นธาตุแท้ของมนุษย์ ที่เต็มไปด้วยอคติและความแคลงใจต่อคนต่างเผ่าพันธุ์ แต่ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ยามตกทุกข์ได้ยาก และนี่เป็นเหตุที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่า Crash ไม่ใช่เป็นหนังหดหู่แต่อย่างใด
แม้ว่าตัวละครต่างๆ ในหนังเรื่องนี้อาจไม่สำนึกในอคติของตนหลังจาก 48 ชั่วโมงอันเข้มข้นผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม ข้าพเจ้าเชื่อว่า Crash จะทำให้คนดูทุกคน ต้องหันมามองลึกลงไปในจิตใจว่าตนมีอคติมากน้อยเพียงใด นานหลังเดินออกจากโรงหนัง และหนังทุกเรื่องที่สามารถทำให้คนดูรู้สึก “ดูละคร แล้วย้อนดูตัว” เช่นนี้ได้ ต้องนับว่าเป็นหนังดีที่ควรดูอย่างยิ่ง