“เหรียญคนละด้าน” พิภพ อุดร

[ว่าจะไม่เขียนเรื่องการเมืองไปอีกพักใหญ่ แต่ได้อ่านสัมภาษณ์ อจ.พิภพ อุดร ในไทยโพสต์แทบลอยด์วันนี้แล้วชอบมาก จึงขอแปะมาแบ่งปันกัน เผื่อใครไม่อ่านไทยโพสต์แทบลอยด์รายสัปดาห์ – ผู้ผลิตบทสัมภาษณ์ด้านการเมือง-เศรษฐกิจที่ดีที่สุด ณ เวลานี้ ในความเห็นของผู้เขียน]

“เหรียญคนละด้าน” พิภพ อุดร

“พื้นที่ทับซ้อนบริเวณชายแดนไม่ได้มีเฉพาะไทย-กัมพูชา มีทุกประเทศทั่วโลก แต่เขาไม่มีปัญหาเพราะเขามีวิธีจัดการที่ดี เขาไม่เล่นเรื่องชาตินิยม เขาเล่นเรื่องประโยชน์ของคน 2 ชาติ 2 ฝั่ง การขีดเขตแดนขีดตรงไหนก็มีปัญหาหมด เพราะฉะนั้นการขีดให้ชัดอาจไม่เป็นประโยชน์เท่ากับเราร่วมกันพัฒนาดีไหม เพื่อประโยชน์แก่กันและกันดีไหม ถ้าเล่นเรื่องดินแดน อธิปไตย มันเป็นปัญหาหมด ถ้าเล่นเรื่องพื้นที่พัฒนาร่วม-จบ”

รองศาสตราจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้นำเสนออีกมุมมองในกรณีประสาทพระวิหาร ว่าไทย-กัมพูชามีทัศนะที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง นั่นคือไทยมองเป็นเรื่องของดินแดนและอธิปไตย ขณะที่กัมพูชามองว่ามรดกโลกเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ

3 รัฐบาลยอมรับ

“ผมมองว่าปราสาทพระวิหารเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ-ไม่ใช่เรื่องการเมือง เพราะพื้นที่ทับซ้อนเรื่องใหญ่ก็คือเรื่องการจัดการ ว่าทำอย่างไรจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข พอเป็นเขตชายแดนมันหนีไม่พ้น การปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชาทำมานานก็ยังไม่สำเร็จสักที แนวชายแดน 800 กว่ากิโลเมตรยังไงมันก็ต้องทับซ้อนกันอยู่ เพราะฉะนั้นดีที่สุดคือต้องบริหารจัดการให้ทั้ง 2 ฝั่งอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข และก็ไม่เอาเรื่องชาตินิยมเข้ามา เรื่องการปักปันเขตก็คงต้องทำไปเรื่อยๆ ทำวันนี้มันไม่เสร็จพรุ่งนี้หรอก เพราะฉะนั้นตอนนี้ตอนที่ยังไม่ชัดทำอย่างไรที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”

“กัมพูชาเขามองเรื่องนี้เป็นเรื่องเศรษฐกิจชัดเจน เพราะเห็นเลยว่าเงินจะเข้าเท่าไหร่ เห็นการท่องเที่ยวจะโตเป็น 2 พันล้านเหรียญฯ ต่อปี จากการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ผมถึงได้เรียกว่าเป็นเหรียญคนละด้านของเงินคนละสกุล กัมพูชามองตรงนี้ว่าเป็นเศรษฐกิจกับการพัฒนา ประเทศไทยมองเป็นเรื่องดินแดนและอธิปไตย มันคนละเรื่องกันเลย มันก็ลำบากสำหรับเรา จุดยืนอย่างเราไม่มีใครเล่นด้วย จุดยืนอย่างเราประชาคมโลกไม่เอา คุณจะมาเล่นเรื่องรบพุ่งเพื่อแย่งดินแดนโลก สมัยนี้ไม่มีใครกล้าเล่นแล้ว ประชาคมโลกก็มีแนวโน้มจะเข้าข้างกัมพูชา เพราะเขามองว่านี่เป็นประเทศยากจน คน 35 เปอร์เซ็นต์อยู่ใต้เส้นความยากจน เมื่อเขามีโอกาสจะใช้ปราสาทพระวิหารเป็นกลไกในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ประเทศส่วนใหญ่ก็ต้องเข้าข้างกัมพูชา ใครเขาจะเข้าข้างเรา ผมว่าเราอยู่ในจุดยืนที่ไม่มีวันชนะในเรื่องนี้”


[ว่าจะไม่เขียนเรื่องการเมืองไปอีกพักใหญ่ แต่ได้อ่านสัมภาษณ์ อจ.พิภพ อุดร ในไทยโพสต์แทบลอยด์วันนี้แล้วชอบมาก จึงขอแปะมาแบ่งปันกัน เผื่อใครไม่อ่านไทยโพสต์แทบลอยด์รายสัปดาห์ – ผู้ผลิตบทสัมภาษณ์ด้านการเมือง-เศรษฐกิจที่ดีที่สุด ณ เวลานี้ ในความเห็นของผู้เขียน]

“เหรียญคนละด้าน” พิภพ อุดร

“พื้นที่ทับซ้อนบริเวณชายแดนไม่ได้มีเฉพาะไทย-กัมพูชา มีทุกประเทศทั่วโลก แต่เขาไม่มีปัญหาเพราะเขามีวิธีจัดการที่ดี เขาไม่เล่นเรื่องชาตินิยม เขาเล่นเรื่องประโยชน์ของคน 2 ชาติ 2 ฝั่ง การขีดเขตแดนขีดตรงไหนก็มีปัญหาหมด เพราะฉะนั้นการขีดให้ชัดอาจไม่เป็นประโยชน์เท่ากับเราร่วมกันพัฒนาดีไหม เพื่อประโยชน์แก่กันและกันดีไหม ถ้าเล่นเรื่องดินแดน อธิปไตย มันเป็นปัญหาหมด ถ้าเล่นเรื่องพื้นที่พัฒนาร่วม-จบ”

รองศาสตราจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้นำเสนออีกมุมมองในกรณีประสาทพระวิหาร ว่าไทย-กัมพูชามีทัศนะที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง นั่นคือไทยมองเป็นเรื่องของดินแดนและอธิปไตย ขณะที่กัมพูชามองว่ามรดกโลกเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ

3 รัฐบาลยอมรับ

“ผมมองว่าปราสาทพระวิหารเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ-ไม่ใช่เรื่องการเมือง เพราะพื้นที่ทับซ้อนเรื่องใหญ่ก็คือเรื่องการจัดการ ว่าทำอย่างไรจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข พอเป็นเขตชายแดนมันหนีไม่พ้น การปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชาทำมานานก็ยังไม่สำเร็จสักที แนวชายแดน 800 กว่ากิโลเมตรยังไงมันก็ต้องทับซ้อนกันอยู่ เพราะฉะนั้นดีที่สุดคือต้องบริหารจัดการให้ทั้ง 2 ฝั่งอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข และก็ไม่เอาเรื่องชาตินิยมเข้ามา เรื่องการปักปันเขตก็คงต้องทำไปเรื่อยๆ ทำวันนี้มันไม่เสร็จพรุ่งนี้หรอก เพราะฉะนั้นตอนนี้ตอนที่ยังไม่ชัดทำอย่างไรที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”

“กัมพูชาเขามองเรื่องนี้เป็นเรื่องเศรษฐกิจชัดเจน เพราะเห็นเลยว่าเงินจะเข้าเท่าไหร่ เห็นการท่องเที่ยวจะโตเป็น 2 พันล้านเหรียญฯ ต่อปี จากการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ผมถึงได้เรียกว่าเป็นเหรียญคนละด้านของเงินคนละสกุล กัมพูชามองตรงนี้ว่าเป็นเศรษฐกิจกับการพัฒนา ประเทศไทยมองเป็นเรื่องดินแดนและอธิปไตย มันคนละเรื่องกันเลย มันก็ลำบากสำหรับเรา จุดยืนอย่างเราไม่มีใครเล่นด้วย จุดยืนอย่างเราประชาคมโลกไม่เอา คุณจะมาเล่นเรื่องรบพุ่งเพื่อแย่งดินแดนโลก สมัยนี้ไม่มีใครกล้าเล่นแล้ว ประชาคมโลกก็มีแนวโน้มจะเข้าข้างกัมพูชา เพราะเขามองว่านี่เป็นประเทศยากจน คน 35 เปอร์เซ็นต์อยู่ใต้เส้นความยากจน เมื่อเขามีโอกาสจะใช้ปราสาทพระวิหารเป็นกลไกในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ประเทศส่วนใหญ่ก็ต้องเข้าข้างกัมพูชา ใครเขาจะเข้าข้างเรา ผมว่าเราอยู่ในจุดยืนที่ไม่มีวันชนะในเรื่องนี้”

มันเป็นเรื่องการเมืองภายในมากกว่า

“ถามว่าคนที่ออกมาเล่นเป็นประเด็นการเมืองรู้ข้อเท็จจริงไหม-รู้ แต่เรื่องนี้ใช้เพื่อล้มรัฐบาลสมัครกับทักษิณ คือตราบใดที่เชื่อว่าสมัครคือนอมินีของทักษิณ ก็ต้องการล้มสมัคร และเห็นชัดว่าประชาธิปัตย์พร้อมทั้งพันธมิตรฯ เป็นตัวการสำคัญในการระดมเรื่องพวกนี้เข้ามา ที่น่ากลัวคือพอปลุกขึ้นมาแล้วมันสงบยาก อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ จึงเรียกว่าเป็นหลุมดำ คือลงไปแล้วมันขึ้นไม่ได้แล้ว และคราวนี้เรื่องต่างๆ ก็ถูกเปิดออกมาเต็มไปหมด ใครทำอะไรอย่างไรกับใคร ผมคิดว่ามัน emotional over ไม่ฟังเหตุผลกันแล้วตอนนี้ เรื่องรักชาติปลุกขึ้นง่ายมาก ปลุกขึ้นแล้วก็แก้กันให้ดีแล้วกัน”

อาจารย์พิภพบอกว่าเขาโดดลงไปทำ paper เรื่องนี้ เพราะสนใจว่ากัมพูชาคิดอย่างไรกับการเอาปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนมรดกโลก

“กัมพูชาภายใต้รัฐบาลสมเด็จฮุน เซน มีนโยบายที่เรียกว่ายุทธศาสตร์สี่เหลี่ยม (จตุโกณ) เขาต้องการพัฒนา 4 ด้าน 1.คือเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของเขา 2.เรื่องการจ้างงาน 3.เรื่องความเสมอภาค และ 4.ประสิทธิภาพ ฉะนั้นความมุ่งมั่นในเรื่องนี้ เขาก็ต้องหาอะไรที่เป็นกลไกสักตัวหนึ่งดึงดูดเงินลงทุนสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะกัมพูชามีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด”

“เรื่องสำคัญอันหนึ่งคือเมื่อปี 2547 กัมพูชาเข้าเป็นสมาชิก WTO เพื่อให้ได้การยอมรับในวงการค้าของตลาดโลก ประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักๆ ของกัมพูชาอย่างอเมริกาและประเทศอื่นๆ ต้องยกเลิกสิทธิพิเศษโควตานำเข้าสิ่งทอกัมพูชา ซึ่งคิดเป็นประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการส่งออก กัมพูชาก็ลำบากต้องแข่งกับประเทศอื่นๆ กังวลว่ารายได้จะหายไปเยอะ จึงมองว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะมาชดเชยรายได้จากสิ่งทอที่หายไป”

“เขามองตั้งแต่ปี 2547 พอ ม.ค.49 ก็ยื่นจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และมาจบเอาปี 2551 ที่จริงคาดว่าจะเสร็จตั้งแต่ปี 2549 แต่ไม่เสร็จเพราะถูกเราคัดค้าน”

อ.พิภพบอกว่าสิ่งที่น่าประหลาดใจคือ จุดยืนของไทยเปลี่ยนไปตั้งแต่ปี 2548

“2544-2549 เราอยู่ภายใต้รัฐบาลชุดเดิมตลอด คือรัฐบาลทักษิณ ก่อน 2548 จุดยืนเราคือขึ้นทะเบียนร่วมกัน จัดการร่วมกัน ทำอะไรร่วมกันหมด แต่พอปี 2548 เป็นต้นมาทั้งที่ยังเป็นรัฐบาลทักษิณ 2549 รัฐบาลสุรยุทธ์ 2551 รัฐบาลสมัคร 3 รัฐบาลจุดยืนเปลี่ยน-ให้กัมพูชาขึ้นไป จุดยืนเราคือพอขึ้นเสร็จเราจะไปร่วมลงทุน ไปแสวงหารายได้จากการท่องเที่ยว การร่วมลงทุน”

“เรื่องใหญ่คือทำไมจึงเปลี่ยนจุดยืน ทั้งที่อยู่ในรัฐบาลเดิมด้วยนะ ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลเราพอเข้าใจ จุดยืนรัฐบาลเปลี่ยนตั้งแต่ปี 2548 และมันเห็นชัด ปี 2546 มีมติร่วมคณะรัฐมนตรีไทย-กัมพูชา บอกว่าจะทำอะไรร่วมกันหมด ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ออกมาแถลงตั้งคณะกรรมการร่วมพัฒนาปราสาทพระวิหาร มีรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นประธาน มีอนุกรรมการอีก 2 ชุด แต่พอปี 2548 เปลี่ยนรัฐมนตรีต่างประเทศเป็น ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล ยินดีให้กัมพูชาขึ้นฝ่ายเดียว”

“ข้อน่าสงสัยก็คืออะไร รัฐบาล 3 สมัยที่ผ่านมา ไทยรู้มาตลอดว่ากัมพูชาจะขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร ยินดี-ยินยอม จุดยืนเราคือคุณขึ้นเสร็จ เราจึงจะเข้าไปร่วมลงทุนและหารายได้จากตรงนั้น”

แล้วทำไมถึงเปลี่ยน

“มันเป็นคำถามที่ยังต้องหาคำตอบ ส่วนหนึ่งคนก็นำเรื่องนี้ไปโยงกับการขุดพบน้ำมันในอ่าวไทยของกัมพูชา ซึ่งบริษัทเชฟรอนบอกว่าเจอเยอะมาก หลายคนคงรู้เรื่องนี้ว่าเชฟรอนขุดประมาณ 7 แห่ง เวิลด์แบงก์คาดว่าจะมีน้ำมันถึง 2 พันล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติอีก 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งอันนี้ไปโยงกับการเยือนกัมพูชาของคุณทักษิณเมื่อ ส.ค.ปี 2549 หนึ่งใน agenda ที่ไปคือ เจรจาเรื่องทรัพยากรใต้ทะเลเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน คนเลยจับไปโยงกัน”

“เพื่อจะให้แฟร์ก็ต้องยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นข้อสงสัย เป็นข้อสังเกต ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่นายกฯ ไทยยืนยันก่อนไปเดือน ส.ค.49 ก็คือบอกว่าให้ร่วมกันสำรวจและใช้ทรัพยากรใต้ทะเลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในยามที่เกิดวิกฤติพลังงานขึ้นในโลก มันแปลอย่างอื่นไม่ได้”

“หลังจากนั้นพอ ก.ย.49 เกิดรัฐประหาร ต.ค.49 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไปกัมพูชา ไปก็เพื่อยืนยันว่ายินดีช่วยกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร และก็ยังยืนยันว่าที่เรารับปากจะช่วยสร้างถนนสาย 68, 48 และ 67 ก็จะช่วยต่อ”

“ความหมายคือเราไปลงทุนพัฒนาถนนต่างๆ เพื่อให้ขนส่งเข้าไปได้ เดินทางเข้าไปสะดวก ประเด็นคือหลังจากนั้นเราเตรียมลงทุนหรือทำอะไรต่อหรือเปล่า อันนี้ผมไม่รู้ รู้แต่ว่าสาย 68 รัฐบาลไทยเข้าไปช่วยสนับสนุน มีคนพูดถึงเรื่องเงินให้เปล่า เงินกู้จากเอ็กซิมแบงก์ดอกเบี้ยถูก ผมไม่รู้ว่าสัดส่วนเป็นอย่างไร และก็มีข่าวออกมาชัดเจนว่าคนที่ได้โปรเจ็กต์คือ ช.การช่าง สาย 68 วิ่งไปต่อกับสาย 67 และ 64 จะวิ่งไปชนกำปงธม กัมพูชาออกแบบให้เป็นสามเหลี่ยมท่องเที่ยว วิ่งจากปราสาทพระวิหารลงมาเสียมเรียบ แล้วลงไปกำปงธม ก็คือจากปราสาทพระวิหาร ไปปราสาทนครวัด ปราสาทซำโบ ฉะนั้นก็จะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่น่าสนใจ”

แสดงว่าเราสนับสนุนเขามาตลอด

“นี่คือเรื่องใหญ่ ถ้าพูดกันตรงๆ คือกัมพูชามีกลยุทธ์ มีแผน และก็ดำเนินการตามแผน เรื่องการท่องเที่ยวก็ระดมคนมาช่วยทำถนนให้ และถ้าขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารสำเร็จก็ดึงเงินลงทุน ที่เป็นข้อสังเกตของผมคือการขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท มันสร้างความคล่องตัวให้กัมพูชาในการจัดการพื้นที่โดยรอบ เพราะเป็นมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาท พื้นที่โดยรอบไม่เป็น ฉะนั้นพื้นที่โดยรอบทำอะไรได้เยอะ สร้างกระเช้าก็อาจจะง่ายขึ้น สร้างสนามบิน โรงแรม กาสิโน มันไม่ถูกคุมโดยยูเนสโก ยูเนสโกจัดการเฉพาะพื้นที่ปราสาท ถ้าถามผมกัมพูชาต้องแฮปปี้กว่าแน่ที่จะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท”

ตกลงไทยเราได้อะไรจากการสนับสนุนเขามา 3 รัฐบาล

“เรื่องนี้รัฐบาลไม่เคยชี้แจง รัฐบาลคุณสมัครชี้แจงแต่ว่าเราไม่เสียนะ ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชามาตั้งแต่ปี 2505 แล้ว เราไม่เสียดินแดนไม่เสียอธิปไตย แต่ไม่เคยบอกว่าเราได้อะไร เราไม่เคยบอกว่าเมื่อเขาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว การค้าชายแดนจะดีขึ้นไหม ซึ่งจริงๆ แล้วการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา มีมูลค่าตั้ง 3 หมื่นกว่าล้านต่อปีนะครับ ฉะนั้นการค้าจะเฟื่องฟูไหม การลงทุนจะดีขึ้นไหม รัฐบาลไม่เคยพูด ทั้งที่ก่อนหน้านี้เราไปลงทุนสร้างถนน 3 สายเพื่อให้กัมพูชาพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ปัญหาคือแล้วลูกต่อเนื่องล่ะ ไม่ได้พูดถึง มันก็เลยทำให้ เอ๊ะ-ถ้าเราไปลงทุนแล้วมันน่าจะมีอะไรต่อเนื่องสิ ถ้าเขาจะต้องขึ้นทะเบียนในส่วนของเขาตามคำตัดสินของศาลโลก เขาก็ต้องมีสิทธิ์ขึ้น แต่เราได้ประโยชน์อะไรจากตรงนั้นไหม ผมคิดว่ารัฐบาลไม่ได้พูดชัดและก็อาจจะเป็นเพราะมัวแต่ต้องมาแก้เรื่องดินแดนอธิปไตย ถ้าไม่ต้องมามัวแก้เรื่องพวกนี้ก็อาจพูดอะไรได้ชัดเจน”

มันมีการโจมตีกันเรื่องผลประโยชน์ด้วย

“เรื่องผลประโยชน์ถ้ารัฐบาลตรงไปตรงมา ก็ต้องสามารถอธิบายได้ว่าการเข้าไปเป็นกรรมการร่วมฯ การเข้าไปมีส่วนพัฒนาจะเป็นประโยชน์อย่างไร เรามีโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-กัมพูชา ประมาณ 17 ฉบับ ฉบับสำคัญๆ เช่น สามเหลี่ยมมรกต (Emerald Triangle) ลุ่มแม่น้ำอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ถ้าเปิดออกมาก็แปลว่าสามารถให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนได้เยอะมาก ถ้ารัฐบาลทำตรงไปตรงมาก็สามารถเปิดแผนออกมาได้ เปิดให้คนที่สนใจ-มีคุณสมบัติเข้าไปร่วมได้ แต่ผมคิดว่าคุณสมัครอาจจะไม่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจก็เลยไม่ได้อธิบายเรื่องนี้ชัดเจน รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจก็อาจจะไม่มีใครเชี่ยวชาญเรื่องการค้า การลงทุน เลยไม่สามารถหยิบเรื่องนี้ออกมาอธิบายและทำให้เกิดความกระจ่างต่อสาธารณชนได้”

ใช่หรือไม่ว่ามีการเจรจาแลกกับเรื่องพลังงานที่พบในอ่าวไทยซึ่งบางส่วนเป็นพื้นที่ทับซ้อน

“ผมคงต้องอ้างคำพูดของ อ.สุรชาติ บำรุงสุข ถ้าเราคิดว่าปักปันเขตแดนบนบกยากแล้ว ในทะเลยากกว่าเยอะ กฎหมายทางทะเลซับซ้อนมาก ฉะนั้นถ้าถามว่ามีพื้นที่ทับซ้อนไหม ผมว่าน่าจะมีและน่าจะเข้าใจยากกว่าพื้นที่บนบกด้วยซ้ำ ฉะนั้น ในทางปฏิบัติเราจึงไม่รู้ว่ามีการเจรจาแบ่งผลประโยชน์จริงไหม ถ้ามีจริงก็ต้องมีคนไปหาคำตอบเรื่องพวกนี้ และเรื่องการเจรจาระหว่าง 2 ฝ่าย ถึงแม้เราไม่รู้ผลของการเจรจา แต่การลงทุนหลังการเจรจาสุดท้ายก็ต้องเปิดตัวว่าใครลงทุนบ้าง มันก็จะเป็นคำตอบที่เราพอจะได้ในอนาคต”

ให้ขึ้นฝ่ายเดียว

ทำไมไม่ขอขึ้นทะเบียนร่วมกันซึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่า

“การขึ้นทะเบียนร่วมกันเราได้ประโยชน์มากกว่าอยู่แล้ว ถ้าขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียวก็เป็นประโยชน์กับกัมพูชา แต่คำถามคือเราไม่ให้เขาจดได้ไหม ก็เขาจะจดในสิทธิ์ของเขา สิ่งที่เราทำได้และควรจะทำคือ คุณยื่นของคุณ-เรายื่นของเรา แล้วให้ไปเจอกันในกรรมการมรดกโลก พิจารณาไปพร้อมกัน แต่นี่เปล่า ในเมื่อเขาไม่ยอม เขาจะขึ้นของเขา เราก็เฉยๆ แย้งบ้าง แต่ถามว่าเราทำอะไรไหม มีข้อเสนออะไรไหม-ไม่มี ไม่ให้ขึ้นๆๆ แล้วทำไมไม่ยื่นของเราไปด้วยล่ะ ไปชนกันข้างบน ง่ายสำหรับกรรมการมรดกโลกที่จะให้ทั้งคู่ ไทยดูแลโดยรอบ กัมพูชาดูแลปราสาท ทั้งหมดมีกรรมการ ICC มาดูแล”

“ม.ค.49 เรารู้ว่าเขาจะขึ้นแต่ไม่ทำอะไร ซึ่งอันนี้เป็นประเด็นที่สงสัยว่าตกลงอะไรกันหรือเปล่าถึงบอกให้เดินหน้าฝ่ายเดียว ถ้าเราจะเดินเราก็เดินได้ ปี 2550 ที่เขาพิจารณากันที่นิวซีแลนด์ก็ยังไม่ขึ้นให้ ที่จริงเรามีเวลาจะขึ้นพร้อมเขา แต่พอปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนไปแล้ว บริเวณโดยรอบไปขึ้นทีหลัง คุณค่าจะพอให้ขึ้นหรือเปล่า จึงเป็นข้อผิดพลาดของฝั่งเรา ถ้าเขาไม่ให้ขึ้นร่วมอย่างน้อยก็ขึ้นแยก แต่ต้องเดินเรื่องไปพร้อมกัน อันนี้น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ดี แต่ดูเหมือนจุดยืนฝั่งไทยคือ ขอให้กัมพูชาขึ้นแล้วเราไปร่วมลงทุนในภายหลัง”

“จุดยืนเราอยู่ตรงนี้จริงๆ ซึ่งผมก็ตอบไม่ได้ว่าทำไมจู่ๆ จุดยืนเราเปลี่ยน เพราะมติ ครม.ยังไม่ได้ยกเลิก ไทย-กัมพูชา ยังมีอยู่ตั้งแต่ปี 2546 มีกรรมการพัฒนาร่วมเขาพระวิหารที่มีรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นประธาน มีอนุกรรมการ 2 ชุด อนุกรรมการบูรณะปฏิสังขรณ์เขาพระวิหาร มีคุณเตช บุนนาค เป็นประธาน มีอนุกรรมการวางแผนพัฒนาร่วมเขาพระวิหาร มีคุณบัณฑิต โสตถิพลาฤทธิ์ เป็นประธาน มันชัดหมดว่าเราทำอะไรมา แต่พอ 2548 เปลี่ยน”

รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ก็เดินแนวทางไม่ต่างกัน

“ที่คุณนพดลมาบอกว่ารัฐบาลสุรยุทธ์มีจุดยืนอย่างนั้นก็จริง ตอนที่ พล.อ.สุรยุทธ์ไปกัมพูชาเมื่อ ต.ค.49 1.พล.อ.สุรยุทธ์พูดว่าจะให้ความช่วยเหลือตามที่ตกลงไว้ 2.บอกว่าสำหรับการเปิดช่องที่บริเวณช่องตาเฒ่า-เขาพระวิหารนั้น ไทยพร้อมที่จะร่วมพัฒนาเขาพระวิหารกับกัมพูชา และยินดีที่กัมพูชายื่นจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแล้ว”

“พูดอย่างนี้แปลว่าอะไร แปลว่ารู้-ยินดี และจะร่วมพัฒนาหลังจากคุณขึ้นทะเบียนแล้ว พล.อ.สุรยุทธ์รู้และจุดยืนก็ไม่ได้เปลี่ยนไป คือรับลูกจากรัฐบาลทักษิณ เพราะฉะนั้นตอนที่เขาออกมาตีว่าสมัยคุณคุณก็ยอม ก็จุดยืนเดียวกัน ทักษิณ สุรยุทธ์ สมัคร จุดยืนเดียวกันครับ เชิญขึ้นแล้วฉันจะเข้าไปร่วมลงทุน”

“ที่ผมพูดนี่นับจาก 2548 นะครับ ก่อน 2548 อีกเรื่องหนึ่ง ก่อน 2548 ต้องขึ้นทะเบียนร่วม หลัง 2548 ให้กัมพูชาขึ้นฝ่ายเดียว มันถึงชวนให้คนสงสัยเพราะ 2548 คือปีที่เชฟรอนเจอแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ คนมันก็โยงกัน พอ ส.ค.49 คุณทักษิณไปกัมพูชาเจรจาเรื่องทรัพยากรใต้ทะเล”

“รายละเอียดตรงนี้เราไม่รู้แต่ก็ไม่เห็นเป็นอย่างอื่น ในเมื่อเจรจากันมาแล้ว กรรมการร่วมก็มีแล้ว มติร่วม ครม.ก็มีแล้ว พอปี 2549 กัมพูชายื่นฝ่ายเดียว มันอธิบายไม่ได้เลย ถามว่าทำไมเขากล้ายื่น แปลว่าเราต้อง say yes ก่อนถูกไหม”

ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ก็มีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ไครสต์เชิร์ช

“ดร.มนัสพาสน์ ชูโต ผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปประชุมที่ไครสต์เชิร์ช กลับมา ก.ค.50 เชิญหน่วยงานราชการมาประชุม ดร.มนัสพาสน์พูดว่าทางการไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกมาโดยตลอด และขอให้หน่วยราชการทุกฝ่ายแสดงความพร้อมที่จะให้ความสนับสนุนเกื้อกูลความ ร่วมมือ นี่เป็นถ้อยแถลงจากกระทรวงต่างประเทศเอง”

“หลังจากนั้น ส.ค.50 ดร.มนัสพาสน์ไปกัมพูชา และแถลงว่าไทยตอบตกลงตามคำเชิญของกัมพูชาที่จะเป็นสมาชิกคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ ที่เขาเรียก ICC ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาประสาทพระวิหารอย่างยั่งยืน”

“ไทยตอบรับการเป็น ICC ตั้งแต่ปี 2550 แล้วนะครับ ปีนี้ทำเป็นมาตื่น โห! 7 ประเทศเข้ามา ตอบไปตั้งแต่ปี 2550 แล้วว่าจะเป็น เพราะฉะนั้น ข้อเท็จจริงเรื่องปราสาทพระวิหารมันเดินมาค่อนข้างชัด เพียงแต่มีบางกลุ่มบางพวกที่หยิบมาเป็นประเด็น แล้วก็จะปลุกอารมณ์เพื่อใช้ล้มรัฐบาล ไม่มีประเด็นอื่น”

สิ่งที่ประเทศไทยคัดค้านในตอนนั้นมีเพียงแผนที่เท่านั้น

“5 ก.ค.51 ที่กัมพูชายื่นแผนที่ใหม่ คือแผนที่ที่ขีดเส้นพรมแดนตามมติ ครม.ปี 2505 เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่ได้ทำอะไรเกินเลย ก่อนนั้นแผนที่อาจจะผิด ฉะนั้นอันใหม่เป็นไปตามมติ ครม.2505 ที่เราเป็นคนขีดเอง”

“เราก็โอเค.ตามนั้น เพราะเป็นไปตามมติ ครม.2505 หลังจากนั้นคุณนพดลกลับมาแถลง ตอนที่คุณสมัครไปกัมพูชาก็เจรจา กัมพูชาก็พูดชัดเจนว่าขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารไม่เกี่ยวกับพรมแดน ซึ่งมันคนละเรื่องจริงๆ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินเรื่องปราสาทพระ วิหารว่าอยู่ในอาณาเขตอธิปไตยของกัมพูชา ไม่ได้พูดเรื่องเขตแดนเพราะไม่มีอำนาจ คนที่มีอำนาจปักปันเขตแดนคือ 2 ประเทศที่เจรจา เพราะฉะนั้นยูเนสโกก็ไม่มีอำนาจเรื่องเขตแดน เขามีหน้าที่แค่ชี้ว่าจะให้เป็นมรดกโลกหรือไม่ให้”

เกมขาดทุน

“การเอาเรื่องนี้มาปลุกปั่นกัน จนกระทั่งมันกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขนาดนี้ มันก็ลดโอกาสร่วมลงทุนกับกัมพูชา เขาก็ต้องเกิดความรู้สึกไม่ดี จะไปร่วมลงทุนกับเขาได้ยังไงคุณปลุกปั่นกันขนาดนี้ 1,500 ชีวิตในกัมพูชา ที่ไปลงทุนร้านอาหาร โรงแรม กระทบหมด จุดยืนอย่างนี้คือจุดยืนที่เสี่ยงต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เสี่ยงต่อความปลอดภัยของคนไทยในกัมพูชา และก็เสี่ยงต่อการสูญเสียการค้าการลงทุนบริเวณชายแดน เป็นเรื่องที่อันตรายมาก”

อ.พิภพเห็นว่าถ้าไม่เกิดปัญหาชาตินิยม แม้กัมพูชาขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียวไปก่อนก็สามารถพัฒนาร่วมกันได้

“เราก็พัฒนาพื้นที่ร่วม แทนที่จะเรียกเป็นพื้นที่ทับซ้อน กลุ่มที่ศึกษาเรื่องความมั่นคง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เขาเรียกว่า joint cultural development เป็นพื้นที่ร่วมพัฒนาทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ก็เข้าไปพัฒนาร่วมกัน ไทยอาจจะประกาศเป็นพื้นที่พิเศษให้เรื่องของการลงทุน ลดภาษี ให้ไทยมีสิทธิ์เข้าไปลงทุนก่อนคนอื่น การลงทุนร่วมในโรงแรม ร้านอาหาร กระเช้าลอยฟ้า เราเข้าได้หมด”

เขาบอกว่ากัมพูชาต้องการให้ไทยเปิดช่องทางบริเวณช่องตาเฒ่า เพื่อสร้างเมืองใหม่

“กัมพูชาเขาวางผังเมืองไว้แล้ว เมืองใหม่ของกัมพูชาด้านล่างของเขาพระวิหารตรงข้ามช่องตาเฒ่า เขาจะมีโรงแรม กาสิโน สนามบิน รถกระเช้า”

ตัวรถกระเช้าจะเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยว

“พูดอย่างนักธุกิจ นั่งกระเช้าขึ้นมาไม่เห็นอะไรเลย เห็นแต่ป่าเขา แต่พอขึ้นมาถึงปุ๊บ โอ้โห-ปราสาทมันงดงาม การขึ้นจากกระเช้าลอยฟ้ามันได้ impact มาก ความประทับใจของนักท่องเที่ยวจะมากกว่าที่ขึ้นจากฝั่งเราเยอะ เขาถึงอยากจะทำกระเช้าลอยฟ้า”

บอกว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไทยไปลงทุนได้

“กัมพูชาเขามีเหมือน BOI ดูเรื่องการลงทุน เรียกว่า Cambodia Development Council ปีปีหนึ่งกัมพูชาสนับสนุนการลงทุนเยอะมาก ของไทย-สามารถคอร์ปอเรชั่นก็ไปลงทุนทำโรงไฟฟ้า และเราก็มีสัมปทานเรื่องอ้อย โรงพยาบาลเครือกรุงเทพก็ไป พวกนี้ได้ส่งเสริมการลงทุนหมด กัมพูชาต้องการการลงทุนอย่างมาก ประเทศที่ไปลงทุนเป็นอับดับ 1 คือจีน แต่ความสัมพันธ์เราดีกว่า ดังนั้นเรามีโอกาสอยู่แล้ว ต่อให้ไม่มีข้อตกลงอะไรเลย ไทยก็มีโอกาสเข้าไปลงทุนได้มากกว่า และถ้าบอกว่าพื้นที่ร่วมให้ priority กับไทย เราก็ยิ่งมีโอกาสเยอะมาก พื้นที่ช่องตาเฒ่าฝั่งกัมพูชา ยังไงเราก็มีโอกาสมากกว่าคนอื่น แต่ตอนนี้ความสัมพันธ์มันเสีย และที่สำคัญก็คือไม่เพียงแต่รัฐบาลกัมพูชาจะมีความรู้สึกไม่ดี แต่รวมทั้งคนกัมพูชาที่อยู่บริเวณชายแดน ต่อไปพอเกิดปัญหาจะเกิด sensitive ตรงตะเข็บบริเวณชายแดนทั้งหมด”

ตอนนี้ฝั่งเราแรงกว่า

“แต่ต่อไปถ้าเราทำอะไรกระเทือนเขา คราวนี้เขาขึ้นแล้ว ตอนนี้ฝั่งเขาเห็นเป็นเรื่องเศรษฐกิจการลงทุน ไม่ได้มองเรื่องดินแดน แต่ถ้าเรา move จนกระทั่งฝั่งโน้นเอามาเป็น issue ก็เจ๊ง ตอนนี้สมเด็จฮุนเซน คุมอยู่ พอขึ้นทะเบียนสำเร็จ คนก็แฮปปี้ มีโอกาสได้รับเลือกตั้งอีกรอบหนึ่ง เขาก็สบายแล้ว แต่ถ้าฝ่ายค้านเขาหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเล่นบ้าง เหมือนกับที่ฝ่ายค้านเราเล่น ก็พังทั้ง 2 ประเทศ ตอนนี้มุมของเขายังเป็นเศรษฐกิจการลงทุนการพัฒนา ไม่ใช่ดินแดนและอธิปไตย เมื่อไหร่ก็ตามที่พลิกมาเป็นเหรียญด้านเดียวกัน-เสร็จ ตอนนี้มันเป็นคนละด้าน ถ้าด้านเดียวกันเมื่อไหร่ผมว่าเจ๊ง”

คนไทยตอนนี้คงไม่ยอมฟังเรื่องประโยชน์การค้าการลงทุนกับเขมร เพราะปลุกกันจนคิดว่าเป็นของเราหมด ต้องเอาคืน บางคนบอกว่าปราสาทเป็นของเขมรที่ดินเป็นของเราต้องเก็บค่าเช่า

“ผมไปโคราช พันธมิตรฯ เขาก็มีเวที เขียนว่าศักดิ์ศรีชาวโคราช คือปราสาทพระวิหารคืนมา มาจากไหน ทำไมไปไกลขนาดนั้น ปลุกกันทั่วประเทศ ประเด็นรักชาติมันไปไกลมากเลยนะ จนผมตกใจว่าเล่นอะไรกันอยู่ เอาเขาพระวิหารของเราคืนมา-เป็นของเราตั้งแต่เมื่อไหร่-สู้ๆๆ เอาแผ่นดินไทยคืนมา”

“มันเคยเป็นของเราตอนจอมพล ป.ไปยึดมา เปลี่ยนเป็นจังหวัดพิบูลสงคราม หลังจากนั้นเราก็คืนเขาไป อาจารย์ชาญวิทย์ตั้งข้อสังเกตน่าสนใจมาก ทำไมรัฐบาลที่แล้วต้องส่ง ดร.มนัสพาสน์ ชูโต ไปแทนรัฐมนตรีต่างประเทศ ก็รัฐมนตรีต่างประเทศนามสกุลพิบูลสงคราม ไปเจรจากับเขาได้เหรอ (หัวเราะ) ตอน พล.อ.สุรยุทธ์กัมพูชาไป คุณนิตย์ไปด้วยหรือเปล่า ต้องย้อนกลับไปดู ตอนเราจัดสัมมนาอาจารย์ชาญวิทย์เอาให้ดู สัญลักษณ์จังหวัดพิบูลสงครามเป็นรูปไก่กระพือปีก จอมพล ป.เกิดปีระกา ประเด็นใหญ่คือเราถูกสอนหรือเลือกให้จำบางเรื่อง และให้ลืมบางเรื่อง เรื่องที่รุกรานคนอื่นเราไม่เคยพูด เราพูดเฉพาะคนอื่นรุกรานเรา เวลาพูดเราเสียเสียมเรียบ พระตะบอง เราไม่พูดว่าเราได้จันทบุรี ตราด กลับคืน มันแลกกัน”

“เรื่องนี้เอาเข้าจริงแล้วคือคนที่มีเจตนาล้มรัฐบาล เล่นเกมแย่งชิงอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่ใช้ และไม่คำนึงถึงชีวิตของบรรดาตัวเบี้ยตัวหมากที่ตัวเองวางไว้ ถึงเวลาปะทะก็สูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ ผมว่าเป็นการกระทำที่เลวร้าย ไร้ความรับผิดชอบ เราเล่นเกมนี้แล้วเราจะขึ้นมาลำบาก มันเป็นเกมที่จะไม่มีวันชนะ เราไปเรียกร้องทวงคืนสิ่งที่ไม่ได้เป็นของเรามา 46 ปี โดยตลอด 46 ปีเราไม่ได้ทำอะไรเลย ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศก็วางกติกาชัดเจนว่าถ้ามีหลักฐานใหม่เอามายื่น แต่เราไม่เคยทำอะไรเลย แล้วเรามาพูดเรื่องสงวนสิทธิ์ เราจะสงวนสิทธิ์ไปได้ตลอดชีวิตหรือ ผมก็ยังนึกไม่ออก สงวนสิทธิ์อะไร เราเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ถ้าเราไม่ทำตามคำตัดสินเราก็ยืนอยู่บนเวทีโลกลำบาก”

“ที่จริงเรื่องนี้ไม่น่าจะมี issue อะไรเลย เรื่องใหญ่คือใช้อารมณ์ความรู้สึกมากเกินไป ตอนนี้ไม่มีใครฟังข้อเท็จจริงแล้ว สื่อส่วนใหญ่ก็ไม่เล่น เหมือนไม่รับกับอารมณ์ของคนในประเทศ เลือกที่จะเล่นข้อมูลที่มันไปกับอารมณ์ความรู้สึก นักวิชาการก็มีหลายประเภท บางคนก็มีเครดิต บางคนก็ไม่ค่อยมี ก็ต้องเลือกฟังเหมือนกัน ผมเองก็ไม่มีเครดิต แต่ผมคิดว่าเรื่องใหญ่คือเรื่องข้อมูล ความเป็นจริง อย่าเอาอารมณ์เพราะมันจะพัฒนาไปสู่ความตึงเครียด”

“ทำไมปลุกเรื่องชาตินิยมขนาดนี้ ผมกลัวเลยเถิดแล้วมันจะพัง การค้าการลงทุนไม่เท่าไหร่แต่ชีวิตคน และมันจะกลายเป็นอีกแผลหนึ่งที่อยู่ในประวัติศาสตร์ไทย ถ้าฟังอาจารย์ชาญวิทย์ ปราสาทก็เป็นชาตินิยมของกัมพูชา เพลงชาติเขาร้องว่าชาติเราเกรียงไกรสร้างปราสาทกันนานมา ปราสาทขอมเป็นสัญลักษณ์ชาตินิยมของเขาอยู่แล้ว เราไปเล่นเกมอย่างนี้ ถ้าเขาปลุกกันบ้าง-มันพังหมด”

เลิกยึดติดร่วมจัดการ

อ.พิภพเห็นว่าเรื่องนี้เข้าสู่เวทีระหว่างประเทศเมื่อไหร่ไทยเสียเปรียบ

“1.ปราสาทพระวิหารตามคำตัดสินศาลโลก บอกว่าอยู่ในอาณาเขตอธิปไตยกัมพูชาตั้งแต่ปี 2505 และยังไม่เคยเปลี่ยน 2.ครม.2505 ขีดเส้นให้อยู่ฝั่งเขา ด้วยหลักฐาน 2 ชิ้นนี้ ประชาคมโลกจะอยู่ฝ่ายไหนล่ะ”

แล้วยูเนสโกก็อุ้มเขมรอยู่แล้วเพราะเห็นเป็นประเทศยากจน

“เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของกัมพูชา (Cambodia Millennium Development Goal) ภายใต้การสนับสนุนของ UNDP คือระดมเงินจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อการพัฒนา”

“ถ้าพูดกันตรงไปตรงมา fact ชัดมาก จากคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จากมติ ครม.2505 จากข้อตกลงต่างๆ จุดยืนของรัฐบาลมันชัดหมด ทำไมคนไม่ฟังรัฐบาลเลย เพราะรัฐมนตรีต่างประเทศ นายกรัฐมนตรี รวมถึง ครม. มีต้นทุนความน่าเชื่อถือทางสังคมต่ำ แม้พูดเรื่องจริงคนก็ยังไม่ฟัง มันแปลว่าอะไรทั้งๆ ที่ตัวเองมี authority มีอำนาจ มีข้อมูลข้อเท็จจริง แต่ไม่มีผลไม่มีใครเชื่อ อีกฝั่งหนึ่งเป็นใคร คนเชื่อถือมากกว่า ต้นทุนความน่าเชื่อถือทางสังคมของรัฐบาลต่ำมาก สะท้อนว่าคุณจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน มันไม่มีคำอธิบายอื่น ปกติคนไทยส่วนใหญ่เชื่อรัฐบาล คนในชนบทส่วนใหญ่ฟังรัฐบาล ฟังอำนาจรัฐ ยังไม่เชื่อสิ่งที่รัฐบาลเพียรย้ำแล้วย้ำอีก”

“รัฐบาลพูดอย่างอื่นไม่เป็น เราไม่เสีย ที่เสียเสียมานานแล้ว-เราไม่เสีย ซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น ไม่มีคำอื่น ไม่บอกว่าได้อะไร คนก็อยากฟังทั้งได้และเสีย โอเค.ตอนนี้เราไม่ได้ ประโยชน์เป็นของกัมพูชา ต่อไปเราได้อะไร ถ้าฟังได้คนก็จะรู้สึกเออยังดีนะ ตรงนั้นยอมก็ได้ เราได้อะไร สิทธิพิเศษจากการที่อยู่พื้นที่ติดกัน พื้นที่ทับซ้อน รัฐบาลสามารถเจรจาได้จำนวนมาก เช่น สิทธิพิเศษในการลงทุนบริเวณนั้นให้กับเรา สิทธิในการเข้าชม สิทธิในการจัดการ สิทธิพิเศษจำนวนมาก เรามีสิทธิ์ได้หมด”

พื้นที่ทับซ้อนถ้าจะให้บริหารจัดการร่วม ก็ถูกหาว่าเสียดินแดนอีก

“เรื่องนี้เขาถึงต้องแยกว่าปักปันเขตแดนคนอื่นไม่มีสิทธิ์ มี 2 ประเทศเท่านั้น และตราบใดที่ 2 ประเทศยังไม่ขีดเส้น คนอื่นก็ไม่รู้”

“พื้นที่ทับซ้อนบริเวณชายแดนไม่ได้มีเฉพาะไทย-กัมพูชา มีทุกประเทศทั่วโลก แต่ที่เขาไม่มีปัญหาเพราะเขามีวิธีจัดการที่ดี เขาไม่เล่นเรื่องชาตินิยม เขาเล่นเรื่องประโยชน์ของคน 2 ชาติ 2 ฝั่ง ขีดตรงไหนก็มีปัญหาหมด ขีดฝั่งแม่น้ำก็อีกด้านหนึ่งได้แม่น้ำไป ขีดตรงกลางแม่น้ำแล้วเรือจะวิ่งอย่างไร เพราะฉะนั้นการขีดให้ชัดอาจจะไม่เป็นประโยชน์เท่ากับว่าเราร่วมกันพัฒนาดี ไหม แบ่งประโยชน์ร่วมกันดีไหม เพื่อประโยชน์แก่กันและกันดีไหม ขีดให้ชัดยังไงก็มีปัญหา โดยสภาพภูมิประเทศ ลองนึกภาพขีดแม่น้ำจะทำอย่างไร ถ้าเล่นเรื่องดินแดนอธิปไตยมันเป็นปัญหาหมด ถ้าเล่นเรื่องพื้นที่พัฒนาร่วม-จบ และไม่ใช่ไม่มีตัวอย่าง มีหลายประเทศ ประเทศทั้งหลายเขตมันติดกันหมด ที่ไม่ค่อยมีปัญหาคือเกาะ มันไม่ติดกับใคร ของเรามันเป็นไหล่ทวีป พื้นที่ทับซ้อนหลายจุดเรายังสำรวจไปไม่ถึงด้วยซ้ำ และมันก็ไม่ง่ายโดยสภาพภูมิศาสตร์ที่มันไม่ได้เข้าถึงง่ายๆ”

“สมมุติบอกว่าทำพื้นที่ทับซ้อนอยู่ตรงกลาง เรียกพื้นที่พัฒนาร่วม ไม่เคลมดินแดนนะ เรื่องปักปันเขตแดนก็ปักปันต่อไป ปักปันเสร็จก็ยังเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมอยู่ดี พัฒนาร่วมแปลว่าฉันยินดีให้อีกฝ่ายเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนา ร่วมใช้ประโยชน์ แต่ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม ปักปันเขตแดนยังต้องทำ-ทำไปเถอะ และมันใช้เวลา”

20 ปีอาจไม่เสร็จด้วยซ้ำ

“สำหรับเราดูเหมือนมันง่ายๆ ขีดเส้นก็จบ ความจริงมันไม่ได้ เรื่องรักชาติเป็นความคิดสมัยใหม่ คนในดินแดนติดกันเขาอยู่มาตั้งนาน ไม่รู้ด้วยซ้ำไปใครเป็นชาติอะไร ฉันใช้ชีวิตของฉันยู่ตรงนี้มาตั้งนานแล้ว ถึงวันหนึ่งคุณมาขีดเส้นว่าครึ่งหนึ่งของกระท่อมฉันเป็นของประเทศนี้ อีกครึ่งอยู่ฝั่งหนึ่ง เขาไม่เข้าใจหรอก เพราะฉะนั้นแนวคิดรักชาติสมัยใหม่ขีดแบ่งดินแดนทำให้เกิดปัญหา และก็ไม่ควรเล่นเกมนี้อีกต่อไป เกมนี้มันเกิดยุคล่าอาณานิคม มันต้องขีดเส้นกันว่านี่พื้นที่ฉัน นี่พื้นที่เธอ คนสมัยก่อนพื้นที่ขอบๆ เป็นที่เข้าใจตรงกันว่าขอบ แต่ขอบที่ชัดๆ ไม่มี พอขยับมาใกล้ๆ ฝั่งนี้ก็บอกว่าอยู่ฝั่งนี้ พอใกล้อีกฝั่งก็เป็นของฝั่งนั้น แต่ตรงรอยตะเข็บเขาไม่ใช้ความพยายามที่จะขีดเส้น ถ้าจะชัดอย่างมากคือชัดตรงด่าน เพราะจะได้รู้ว่าเข้า-ออกกันตรงไหน แต่ถ้าไม่ใช่ด่านก็ยากมาก เราไม่เคยถึงขั้นที่จะไปทำกำแพงเมืองจีนหรืออะไรกั้น ถามว่าใครจะไปลงทุนทำอย่างนั้นมันไม่คุ้ม เรื่องใหญ่ไม่ใช่เรื่องเขตแดนว่าใครมีมากมีน้อย เรื่องใหญ่คือทำให้ผู้คนใน 2 พื้นที่มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีจากการช่วยเหลือกันของทั้ง 2 ประเทศ”

ถ้าสลัดความคิดชาตินิยมเสีย เราจะเดินต่อไปอย่างไรในเรื่องปราสาทพระวิหาร

“เราต้องบอกว่าปราสาทพระวิหารตอนนี้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งมันต่อเนื่องมาจากคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มติ ครม.2505 เดินมาอย่างนี้แล้ว เรามีหน้าที่พัฒนาพื้นที่ทับซ้อนให้เป็นประโยชน์สูงสุด เลิกเรียกว่าพื้นที่ทับซ้อน เปลี่ยนเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมเสีย ให้มีการร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย คิดเรื่องประโยชน์ของ 2 ฝ่ายมากกว่าจะคิดว่าเป็นดินแดนของใคร พื้นที่ร่วมไม่ได้แปลว่ากรรมสิทธิ์ของใครนะครับ ต้องยืนยันเรื่องนี้ก่อน คนจำนวนมากที่มีความคิดเรื่องชาติสมัยใหม่จะกังวลมากว่าตกลงมันเขตใคร ถ้าพื้นที่พัฒนาร่วมก็ออกกฎพิเศษสำหรับพื้นที่พัฒนาร่วมสิ จะไปยากอะไร เหมือนพื้นที่พิเศษพัฒนาความร่วมมือ 2 ฝ่าย เลิกยุ่งเรื่องเขตแดนและอธิปไตยเสีย”

แต่ตอนนี้คงจบไม่ง่ายเหมือนกับต้องไล่รัฐบาลก่อน

“ประเด็นนี้ไม่ยอมจบเพราะจะไล่รัฐบาล แต่เมื่อรัฐบาลไปแล้วจะจบได้หรือเปล่า เพราะมันถูกเปิดแผลและเริ่มลึกลงเรื่อยๆ มันอาจจะลุกลาม ผมว่าน่ากลัวและอยากให้ตระหนัก เพราะเราคิดสั้นมาก คิดสั้นว่ากูไล่ก่อน อย่างอื่นคิดทีหลัง”

เขาทิ้งท้ายด้วยการหวนมามองปัญหาภายใน

“ที่น่ากลัวคือเรื่อง 3 อำนาจอธิปไตย อำนาจบริหารตอนนี้คนไม่เชื่อรัฐบาล นิติบัญญัติแหล่งมาเดียวกัน คนไม่เชื่อสภาฯ เหลือตุลาการ ตอนนี้ที่คุณสมัครเดินเกมอยู่ก็คือดิสเครดิตตุลาการ สัปดาห์ก่อนออกมาติงศาลว่าก้าวละเมิดอำนาจบริหาร สัปดาห์ต่อมาตี ป.ป.ช. ตี ส.ว.ว่ามาจากการแต่งตั้ง เป็นผลพวงรัฐประหาร สรุปแล้วต่อไปบริหารเจ๊ง นิติบัญญัติเจ๊ง ตุลาการไม่มีใครเชื่อถือ องค์กรอิสระไม่มีความน่าเชื่อถือ ประเทศนี้อยู่ยังไง ถ้าตัดสินอะไรไม่มีใครฟังก็ยกพวกตีกัน ปรากฏการณ์คนไปยืนหน้าศาลฎีกาตอนคดีคุณยงยุทธ ขว้างปาตะโกนด่า ศาลต้องระมัดระวังมากที่จะไม่พาตัวเองไปสู่จุดที่สุดท้ายคนไม่ยอมรับ ตอนนี้เหลือศาลอย่างเดียวแล้วนะและก็หมิ่นเหม่มาก คำสั่งศาลปกครอง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มีคนออกมาให้ความเห็นเต็มไปหมด ถ้าศาลเสียเครดิตมันจบ ไม่เหลืออะไรอีกแล้วประเทศนี้ ต่อไปศาลตัดสินอะไรคนก็จะไม่รับ เมื่อมีพันธมิตรฯ ก็มีเสื้อแดง มันก็ตีกันอยู่อย่างนี้ ถ้ามันลามไปทั่วประเทศล่ะ คุณมีพันธมิตรฯ ฉันมี นปก. สุดท้ายมันก็ต้องตีกัน เป็น 2 ขั้วที่วิ่งเข้ามาหากันตลอดเวลา เราหนีไม่พ้น ตอนนี้เรื่องมันเดินไปแล้ว ถามว่าจะไปหยุดตรงไหน คือมันต้องปะทะกันจนกระทั่งมีคนออกมาบอกว่าหยุด เราไม่อยากให้ไปถึงตรงนั้น แต่ต่างคนต่างยั่วกันให้มันไปถึงให้ได้”