[กำลังทยอยเรียบเรียงบันทึกลงบล็อก ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ทุกวันหรือเปล่าแต่จะพยายาม ถ้าทำไม่สำเร็จก็จะกลับไปทำต่อหลังจากที่กลับถึงเมืองไทย วันที่ 14 เม.ย. นี้ค่ะ :)]
Blogger Tour 2011
วันแรก: 5 เมษายน 2554
เวลา 17.30 น. เดินทางมาถึงเบอร์ลินโดยสวัสดิภาพ หลังจากที่นั่งแกร่วอยู่บนเครื่องบินถึง 11 ชั่วโมงครึ่ง (ที่จริงก็ไม่แกร่วเท่าไหร่ เพราะอ่านหนังสือที่สนุกมากจบไปหนึ่งเล่ม และเที่ยวบินนี้ก็ราบรื่นดี สายการบิน Air Berlin นี่ใช้ได้เลยทีเดียว เสียอย่างเดียวอาหารไม่อร่อย จุดนี้เหมือนกับ Lufthansa มาก) แต่ผู้เขียนไม่ใช่คนที่ใช้เวลาเดินทางนานที่สุด ตำแหน่งนั้นตกเป็นของ บังจูมุน จากเกาหลีใต้ ซึ่งคิดว่าเขาคงต้องบินมาไม่ต่ำกว่า 20 ชั่วโมง มีบล็อกเกอร์อีกคนหนึ่งบินมาจากเมืองกวางโจวในจีน ชื่อ เฉินเคอจุน (เธอบอกว่าให้เรียกชื่อย่อว่า “เคเจ” (Kejun) ดีกว่า เพราะเรียกยากและถ้าออกเสียงไม่ถูกมันจะแปลว่าอย่างอื่น) ใช้เวลาบินกว่า 15 ชั่วโมง แต่เธอมาถึงตั้งแต่เช้าแล้ว (เป็นคนแรกของกลุ่มที่มาถึง) ก็เลยมีเวลาออกไปเดินเล่นมาแล้วหนึ่งรอบ (แต่เคเจบอกว่ายังไม่ได้ไปไหนไกล ไปแค่ซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้โรงแรมเท่านั้น)
ทุกคนกว่าจะทยอยมาถึงก็เย็นย่ำค่ำมืด ผู้เขียนมาถึงเป็นคนรองสุดท้าย คืนนี้เจ้าภาพคือกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีเลยเลี้ยงต้อนรับในห้องอาหารของโรงแรม อาหารของโรงแรมนี้ถือว่าไม่เลว มีไก่อบกับข้าวอบชีส (เหมือนริซ็อตโตของอิตาลี) แล้วก็ crème brulee เป็นของหวาน โรงแรมที่เขาให้เราพักเป็นโรงแรมสี่ดาว ชื่อ NH Hotel Friedrichstrasse ห้องเตียงคู่ไม่คับแคบ แถมมีไวไฟฟรีด้วย (ที่จริงไม่ฟรีหรอก เขาคิด 10 ยูโรต่อ 24 ชั่วโมง แต่เจ้าภาพใจดีจ่ายให้ตลอดงานนี้) ที่จริงขอแค่มีไวไฟฟรี นักท่องเที่ยวคณะนี้ก็พอใจแล้ว 🙂
[กำลังทยอยเรียบเรียงบันทึกลงบล็อก ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ทุกวันหรือเปล่าแต่จะพยายาม ถ้าทำไม่สำเร็จก็จะกลับไปทำต่อหลังจากที่กลับถึงเมืองไทย วันที่ 14 เม.ย. นี้ค่ะ :)]
Blogger Tour 2011
วันแรก: 5 เมษายน 2554
เวลา 17.30 น. เดินทางมาถึงเบอร์ลินโดยสวัสดิภาพ หลังจากที่นั่งแกร่วอยู่บนเครื่องบินถึง 11 ชั่วโมงครึ่ง (ที่จริงก็ไม่แกร่วเท่าไหร่ เพราะอ่านหนังสือที่สนุกมากจบไปหนึ่งเล่ม และเที่ยวบินนี้ก็ราบรื่นดี สายการบิน Air Berlin นี่ใช้ได้เลยทีเดียว เสียอย่างเดียวอาหารไม่อร่อย จุดนี้เหมือนกับ Lufthansa มาก) แต่ผู้เขียนไม่ใช่คนที่ใช้เวลาเดินทางนานที่สุด ตำแหน่งนั้นตกเป็นของ บังจูมุน จากเกาหลีใต้ ซึ่งคิดว่าเขาคงต้องบินมาไม่ต่ำกว่า 20 ชั่วโมง มีบล็อกเกอร์อีกคนหนึ่งบินมาจากเมืองกวางโจวในจีน ชื่อ เฉินเคอจุน (เธอบอกว่าให้เรียกชื่อย่อว่า “เคเจ” (Kejun) ดีกว่า เพราะเรียกยากและถ้าออกเสียงไม่ถูกมันจะแปลว่าอย่างอื่น) ใช้เวลาบินกว่า 15 ชั่วโมง แต่เธอมาถึงตั้งแต่เช้าแล้ว (เป็นคนแรกของกลุ่มที่มาถึง) ก็เลยมีเวลาออกไปเดินเล่นมาแล้วหนึ่งรอบ (แต่เคเจบอกว่ายังไม่ได้ไปไหนไกล ไปแค่ซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้โรงแรมเท่านั้น)
ทุกคนกว่าจะทยอยมาถึงก็เย็นย่ำค่ำมืด ผู้เขียนมาถึงเป็นคนรองสุดท้าย คืนนี้เจ้าภาพคือกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีเลยเลี้ยงต้อนรับในห้องอาหารของโรงแรม อาหารของโรงแรมนี้ถือว่าไม่เลว มีไก่อบกับข้าวอบชีส (เหมือนริซ็อตโตของอิตาลี) แล้วก็ crème brulee เป็นของหวาน โรงแรมที่เขาให้เราพักเป็นโรงแรมสี่ดาว ชื่อ NH Hotel Friedrichstrasse ห้องเตียงคู่ไม่คับแคบ แถมมีไวไฟฟรีด้วย (ที่จริงไม่ฟรีหรอก เขาคิด 10 ยูโรต่อ 24 ชั่วโมง แต่เจ้าภาพใจดีจ่ายให้ตลอดงานนี้) ที่จริงขอแค่มีไวไฟฟรี นักท่องเที่ยวคณะนี้ก็พอใจแล้ว 🙂
ระหว่างที่เรานั่งโต๊ะแต่อาหารยังไม่มา เจ้าภาพคือลิซ่า (ไกด์ฟรีแลนซ์ที่รัฐบาลจ้างมาดูแลเรา) กับลูเชียน (เจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศ) ก็แนะนำโครงการ Blogger Tour 2011 ที่เชิญพวกเรามาว่า เป็นโครงการที่อยากให้ชาวต่างชาติมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อเยอรมนี (พูดง่ายๆ ก็คือทำพีอาร์นั่นเอง) ปีก่อนๆ รัฐบาลจะเชิญแต่นักข่าวมาจากทั่วทุกมุมโลก แต่ปีที่แล้วเป็นปีแรกที่เขารู้สึกว่าน่าจะเชิญบรรดาบล็อกเกอร์ต่างหากอีกกลุ่มด้วย เพราะบล็อกเกอร์เดี๋ยวนี้มีอิทธิพลทางความคิดสูงมากในหลายประเทศ ไม่ต่างจากสื่อ เขาเลยจัดโปรแกรมให้บล็อกเกอร์เป็นพิเศษ คือมีพาไปพูดคุยกับคนทำเว็บเจ๋งๆ ของเยอรมนีด้วย นอกจากจะพาไปเที่ยวสถานที่สำคัญๆ และพาชมสื่อกระแสหลักค่ายใหญ่ๆ อย่างเดียว เจ้าภาพบอกว่าอยากให้พวกเราได้คลุกคลีพบปะพูดคุยกับคนเยอรมัน (อีกสามวันพวกเราจะได้เจอบล็อกเกอร์ดังๆ ของเยอรมนี) และทำความรู้จักกัน ยิ่งเป็นเพื่อนกันได้ยิ่งดี
ปีนี้โครงการนี้จัดเป็นปีที่สอง เจ้าภาพเขาภูมิใจกับโครงการปีแรกมาก เพราะมีบล็อกเกอร์ชื่อ มาห์มูด จากบาห์เรน ซึ่งมาร่วมโครงการปีแรก ถูกตำรวจจับเมื่อไม่กี่เดือนก่อน รัฐบาลเยอรมันรู้ข่าวแทบจะในทันทีเพราะบล็อกเกอร์ชาวจีนซึ่งอยู่ในโครงการเดียวกันส่งข่าวและกระจายข่าวจนทั่ว ทำให้รัฐบาลเยอรมันรีบออกแถลงการณ์คัดค้านร่วมกับรัฐบาลประเทศอื่นๆ ในยุโรป เรียกร้องให้รัฐบาลบาห์เรนปล่อยตัวมาห์มูด สุดท้ายรัฐบาลบาห์เรนยอมทำตาม คือคงไม่ใช่ว่าบาห์เรนปล่อยตัวนายคนนี้เพียงเพราะรัฐบาลเยอรมันส่งจดหมายประท้วง แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าการสร้างเครือข่ายของบล็อกเกอร์ข้ามชาตินั้นมีประโยชน์
พอเจ้าหน้าที่เล่าจบ วิคเตอร์ บล็อกเกอร์จากโรมาเนีย ก็พูดติดตลกขึ้นทันทีว่า “แปลว่าพวกเราอาจถูกจับสินะครับ” เรียกเสียงฮาจากทั้งโต๊ะ
จากซ้ายไปขวา: แซมมวลจากสโลวาเกีย วิคเตอร์จากโรมาเนีย และวลาดาจากมอลโดวา
พออาหารทยอยลงโต๊ะ ไวน์แดงพร่องแก้ว บทสนทนาก็เริ่มลื่นไหล จากที่ก่อนหน้านี้ทุกคนดูเกร็งและเกรงใจเจ้าภาพ ทาเร็กจากตูนิเซียบ่นพึมพำว่า คำว่า “บล็อกเกอร์” ยังไม่ได้รับความเชื่อถือ แม้กระทั่งภายหลังจากบล็อกเกอร์และประชาชนรวมพลังกันผ่านโซเชียลมีเดียขับไล่ผู้นำประเทศเป็นผลสำเร็จ ทาเร็กบอกว่าเขาต้องบอก “ตำแหน่ง” ของตัวเองว่าเป็น “ที่ปรึกษา” คนถึงจะให้การยอมรับ
เรื่องนี้ดูจะเป็นปัญหาไปทั่วโลก ผู้เขียนเองก็สังเกตว่าสื่อมวลชนไทยไม่ค่อยชอบเรียกผู้เขียนว่า “บล็อกเกอร์” ชอบเรียกว่า “นักวิชาการอิสระ” มากกว่า (“นักเขียน” ก็ไม่ค่อยอยากเรียกเหมือนกัน) ทั้งที่หลายครั้งเรื่องที่มาสัมภาษณ์นั้นมาจากโพสบนบล็อกเท่านั้น ไม่ได้อยู่ในงานวิจัยอะไรหรอก
ทาเร็กเพิ่งจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดมาหมาดๆ เคยตั้งใจที่จะกลับไปทำวิจัยต่อที่อเมริกา แต่หลังจากที่ประชาชนปฏิวัติสำเร็จ (และกลายเป็นชนวนเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในประเทศอื่นๆ ในโลกอาหรับ) ก็เปลี่ยนใจ ย้ายกลับตูนีเซีย เขาตั้งใจว่าจะทำงานที่บ้านเกิด 2-3 ปี เพราะ “โอกาสแบบนี้มีครั้งเดียวในชีวิต คล้ายกับเวลาเกิดสุริยคราสนั่นแหละครับ”
วลาดา สาวน้อยบัณฑิตจบใหม่จากมอลโดวา เพิ่งอายุ 21 ไม่นาน และมีประสบการณ์ประท้วงรัฐบาลผ่านโซเชียลมีเดียครั้งแรกตอนอายุ 19 เล่าว่าเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา (ครบรอบ 2 ปี “การปฏิวัติทวิตเตอร์” หรือ Twitter Revolution ของมอลโดวา) หนุ่มสาวรวมทั้งเธอด้วยพยายามจัดการชุมนุมประท้วงอีกครั้ง แต่รอบนี้รัฐบาลใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นแล้ว ระดมคนมาปล่อยข่าวลือว่าจะมีรถถัง อย่าออกมาเลย จะเป็นอันตราย ฯลฯ คนก็เลยไม่กล้าออกมาจากบ้าน รวมพลได้เพียง 50 คนเท่านั้น
นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา ยังต้องคอยรับมือกับการ “ชุบมือเปิบ” ของนักการเมืองอย่างสม่ำเสมอ – ประชาชนนัดแนะชุมนุมกันเอง แต่นักการเมือง (ปกติจะเป็นพรรคฝ่ายค้าน เพราะต่อต้านรัฐบาลเหมือนกับผู้ชุมนุม) หลายคนชอบเอาประชาชนมาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง หรือเคลมเครดิตของการชุมนุม ยังไม่นับปัญหา “มือที่สาม” ที่พยายามก่อความรุนแรง สร้างความสับสนและบั่นทอนความชอบธรรมของประชาชนผู้มีเจตนาบริสุทธิ์
เรื่องแบบนี้เคยคิดว่าจะเกิดแต่ที่เมืองไทย แท้ที่จริงเป็นสากลพอสมควร
คืนนี้พบว่าชอบคุยกับบล็อกเกอร์จากประเทศ “ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ” ในยุโรปมาก คือจาก โรมาเนีย ยูเครน มอลโดวา บัลแกเรีย สโลวาเกีย และอาเซอร์ไบจัน ประเทศละคน เพราะพวกเขาและเธอมีอารมณ์ขันแบบ “ตลกร้าย” ที่สนุกมาก คือประมาณว่าสถานการณ์ในประเทศของตัวเองย่ำแย่สุดๆ จนแทบไม่มีความหวังแล้ว ก็เลยต้องมองมันเป็นเรื่องตลก ไม่อย่างนั้นคงจะทุกข์เกินทน ยกตัวอย่างเช่น โอเลก บล็อกเกอร์จากยูเครน บอกว่าหัวหน้าหน่วยตำรวจลับของยูเครนเป็นเจ้าพ่อในวงการสื่อ มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 40% (ตำรวจลับเคยมาขู่โอเลกถึงที่บ้าน เพราะเขาเขียนบล็อกตอนหนึ่งว่า อยากฆ่าประธานาธิบดี ซึ่งอันนี้ผู้เขียนก็คิดว่ามันเป็นตลกร้ายที่เล่นแรงเกินไปหน่อย)
ขณะที่พวกเรากำลังแสดงอาการไม่เชื่อหูว่านักการเมืองและตำรวจทหารในยูเครนนี่ผูกขาดธุรกิจกันอย่างไม่อายฟ้าดินเลยหรือ วลาดาจากมอลโดวาก็พูดขำๆ เจือเศร้าขึ้นมาว่า รู้ไหม ในมอลโดวานี่ประชาชนยังไม่รู้เลยนะว่าสถานีโทรทัศน์ทั้งหมดน่ะเป็นของใครบ้าง!
โอเลกคนนี้เคยเป็นวิศวกรในเมืองเล็กๆ ในยูเครน ไม่เคยสนใจข่าวสารบ้านเมือง เขาบอกว่านายกรัฐมนตรีชื่ออะไรยังไม่รู้เลย แต่พอเกิด “ปฏิวัติสีส้ม” (Orange Revolution) ในยูเครนเมื่อปี 2004 (ประชาชนลุกฮือขึ้นประท้วงพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง เพราะมองว่ามีการโกงเลือกตั้งอย่างมโหฬาร) เขาก็เข้ามามีส่วนร่วมในการประท้วง เลยกลายเป็นว่าเปลี่ยน “อาชีพ” เป็นบล็อกเกอร์ไปโดยปริยาย ปัจจุบันเขาค่อนข้างโด่งดังในยูเครน เขียนบล็อกด้วยชื่อจริง แถมยังได้บัตรนักข่าว และทำวงดนตรีด้วย ผู้เขียนคิดว่าเท่สุดๆ ไปเลย 🙂
จากซ้ายไปขวา: เคเจจากจีน ซาโบชจากฮังการี และโอเล็กจากยูเครน
โครงการปีนี้เขาเชิญคนหลากหลายดี นอกจากประเทศที่กล่าวถึงไปข้างต้นแล้ว ก็มีบล็อกเกอร์ (บางคนก็เป็นทั้งบล็อกเกอร์ ทั้งนักข่าวอาชีพ) จาก ฮังการี ตูนีเซีย (คนหลังหมายถึงทาเร็ก ซึ่งกลายเป็นหนุ่มเนื้อหอม โดนคนอื่นซักถามไม่หยุดเกี่ยวกับการปฏิวัติตูนีเซีย แต่ผู้เขียนไม่ค่อยได้ยินเพราะนั่งไกลเขาเกินไป) จีน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ คาซักสถาน อียิปต์ อาเซอร์ไบจัน รวมผู้เขียนจากไทยเป็น 15 คนพอดี
พรุ่งนี้เช้าจะได้ฤกษ์เริ่มต้นโครงการนี้อย่างเป็นทางการ เริ่มด้วยการไปทัวร์ตึกรัฐสภา ชื่อ Reichstag อันโด่งดัง ต่อด้วยการสัมมนาทั้งวันกับเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เชี่ยวชาญ ว่าด้วยสังคมบล็อกเกอร์ในเยอรมนี นโยบายอินเทอร์เน็ตของรัฐบาลเยอรมัน กฎหมายเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ฯลฯ หวังว่าพรุ่งนี้คงได้ทำความรู้จักเพื่อนร่วมคณะมากขึ้น วันนี้ต้องไปนอนเสียที อุตส่าห์ถ่างตารอเวลานอนด้วยความหวังว่าพรุ่งนี้ร่างกายจะปรับเวลาได้เป็นปกติ ไม่ต้องมี jet lag อีกต่อไป