เอกสารน่าอ่านก่อนลงประชามติ

ก่อนที่จะถึงวันลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ขอเชิญชวนให้ทุกท่านได้อ่านบทความเหล่านี้ ก่อนตัดสินใจว่าจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 (ขออภัยที่อาจจะไม่ได้โพส “ข้อดี” ของร่าง รธน. ฉบับนี้เท่าที่ควร แต่นั่นเป็นเพราะว่ารัฐบาลได้โหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ “ข้อดี” ไปแล้วมากมาย ทุกท่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลดข้อมูลประเภท “ตีแผ่แต่ด้านดีด้านเดียว” ได้โดยตรงจากเว็บไซต์สภาร่างรัฐธรรมนูญ)

  1. ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญ 2550 [PDF, 44 หน้า] – โดย ทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ อดีตสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ. 2549 และแฟนพันธุ์แท้การเมืองไทย พ.ศ. 2546
  2. นับถอยหลัง “รับ-ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ การเมืองไทยจะไปทางไหน? [PDF, 13 หน้า] คอลัมน์ “อ่านเอาเรื่อง” นิตยสาร สารคดี ฉบับเดือนสิงหาคม 2550
  3. ทำไมต้องโหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญ?
  4. ชำแหละระบบบัญชีรายชื่อในร่าง รธน. 2550: gerrymandering แบบไทยๆ? [PDF, 2 หน้า] – โดย ‘ม้านอก’ และ ‘เด็กนอกกรอบ’
  5. บทวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับลงประชามติ [PDF, 20 หน้า] – โดย ‘ม้านอก’ และ ‘เด็กนอกกรอบ’

ดาวน์โหลดรัฐธรรมนูญฉบับเต็มได้ที่นี่:

  1. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับลงประชามติ พ.ศ. 2550 [PDF, 206 หน้า, 2.0MB]
  2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 [PDF, 99 หน้า, 4.7MB]

ผู้เขียนขอยืนยันว่า ส่วนตัวไม่เคยชอบ ปัจจุบันยังไม่ชอบ และในอนาคตก็คงไม่มีวันชอบ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และนโยบายส่วนใหญ่ของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ทั้งยังเชื่อมั่นด้วยข้อมูลหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฎต่อสาธารณะด้วยว่า พ.ต.ท. ทักษิณ กระทำผิดฐานซุกหุ้นและ “ร่ำรวยผิดปกติ” จากผลประโยชน์ทับซ้อน ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตัวเองเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของตนและพรรคพวกในทางที่ลิดรอนประโยชน์สาธารณะและเอาเปรียบรัฐ ยังไม่นับการใช้นโยบายหรือการนิ่งดูดายการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมาย เช่นการฆ่าตัดตอนยาเสพติด กรณีตากใบ ฯลฯ (ใครที่ติดตามบล็อกนี้ช่วงความเคลื่อนไหว “กู้ชาติ” เมื่อปีก่อนคงทราบจุดยืนนี้ดี) แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า พ.ต.ท. ทักษิณสมควรได้รับโทษโดยกระบวนการยุติธรรมที่เที่ยงธรรม เป็นกลาง ไม่ใช่ด้วยการกลั่นแกล้งทางการเมือง หรือการใ้ช้อำนาจรัฐเขียน “กติกู” ในทางที่ไม่ไว้ใจประชาชน โดยวางกฎใหม่ให้นำไปสู่ภาวะที่ฐานเสียงเ่ก่าของพรรคไทยรักไทยจะมีสิทธิด้อยกว่าประชาชนในภาคอื่นๆ ของประเทศ และโอนอำนาจส่วนหนึ่งออกจากมือประชาชนไปใส่มือ “ผู้ใหญ่” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดังที่ปรากฎในระบบเลือกตั้งที่ไร้หลักการของร่าง รธน. 2550

เพราะ ‘ความยุติธรรม’ ที่แท้จริง จะต้องยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย ไม่ใช่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แม้ว่าใครจะมองว่าเป็นฝ่ายที่มีส่วน “ดี” มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งก็ตาม

ขอให้ทุกท่านไปลงประชามติด้วยวิจารณญาณของพลเมืองที่พึงมี แล้วพบกันใหม่หลังวันที่ 19 สิงหาคม.