แกรมมี่ถอยทัพ…โล่งอกไปที

หลังจากที่ข่าวการฮุบหนังสือพิมพ์มติชน ดูจะกำลังคลี่คลายไปในทางดี เมื่อแกรมมี่ประกาศขายหุ้นคืนให้คุณขรรค์ชัย บุนปาน เจ้าของมติชนให้เหลือไว้ไม่เกิน 20% ข้าพเจ้าก็ใจชื้นขึ้นหนึ่งเปลาะ เห็นใจนักลงทุนแมงเม่าทั้งหลาย (รวมทั้งเพื่อนๆ บางคน) เหมือนกัน ที่ไปซื้อหุ้นมติชนไว้หลังแกรมมี่ประกาศราคาเทนเดอร์ที่ 11.10 บาทต่อหุ้น เพราะเก็งว่าแกรมมี่ต้องปรับราคาเทนเดอร์ให้สูงขึ้น และเก็งว่าจะเกิดสงครามแย่งซื้อหุ้น ระหว่างแกรมมี่และคุณขรรค์ชัย เมื่อการณ์กลับตาลปัตรไป (ในทางที่ดีต่อสังคม) แบบนี้ ใครที่ซื้อหุ้นแพงกว่า 11.10 บาทก็คงต้องทำใจ เพราะราคาตลาดน่าจะกลับมาอยู่แถวๆ นั้นใหม่ แต่อย่างว่า… “การลงทุนมีความเสี่ยง” ใครเล่นหุ้นก็ต้องเตรียมใจเจ็บกันบ้าง 😉 […]

หลังจากที่ข่าวการฮุบหนังสือพิมพ์มติชน ดูจะกำลังคลี่คลายไปในทางดี เมื่อแกรมมี่ประกาศขายหุ้นคืนให้คุณขรรค์ชัย บุนปาน เจ้าของมติชนให้เหลือไว้ไม่เกิน 20% ข้าพเจ้าก็ใจชื้นขึ้นหนึ่งเปลาะ เห็นใจนักลงทุนแมงเม่าทั้งหลาย (รวมทั้งเพื่อนๆ บางคน) เหมือนกัน ที่ไปซื้อหุ้นมติชนไว้หลังแกรมมี่ประกาศราคาเทนเดอร์ที่ 11.10 บาทต่อหุ้น เพราะเก็งว่าแกรมมี่ต้องปรับราคาเทนเดอร์ให้สูงขึ้น และเก็งว่าจะเกิดสงครามแย่งซื้อหุ้น ระหว่างแกรมมี่และคุณขรรค์ชัย เมื่อการณ์กลับตาลปัตรไป (ในทางที่ดีต่อสังคม) แบบนี้ ใครที่ซื้อหุ้นแพงกว่า 11.10 บาทก็คงต้องทำใจ เพราะราคาตลาดน่าจะกลับมาอยู่แถวๆ นั้นใหม่ แต่อย่างว่า… “การลงทุนมีความเสี่ยง” ใครเล่นหุ้นก็ต้องเตรียมใจเจ็บกันบ้าง 😉

เรื่องนี้ทำให้แกรมมี่เสียชื่อไปไม่น้อย เพราะนอกจากจะเป็นการแสดงเจตนา “ฮุบสื่ออิสระ” แบบเหตุผลฟังไม่ค่อยขึ้นแล้ว (หลักๆ เพราะลูกค้าของมติชนและบางกอกโพสต์ ไม่ใช่ระดับรากหญ้าหรือ “mass market” แบบลูกค้าของแกรมมี่) ยังเป็นการใช้วิธีเทคโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร (hostile takeover) ที่ไม่ค่อยมีให้เห็นในเมืองไทย เพราะคนไทยปกติชอบใช้วิธีอะลุ้มอล่วย คุยกันฉันท์มิตรมากกว่า เท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ และเท่าที่สอบถามคนเก่าแก่ในวงการ การใช้วิธี hostile takeover ในเมืองไทยมีมาแล้วไม่กี่ครั้ง ครั้งแรกคือตอนที่ “เสี่ยสอง” ประกาศเทคโอเวอร์ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ หรือบีบีซี และอีกครั้งในยุคเศรษฐกิจไอเอ็มเอฟ ตอนที่กลุ่มนักลงทุนฝรั่งนำโดย Goldman Sachs เทคโอเวอร์บมจ. โรงแรมราชดำริ (โรงแรมรีเจนท์เก่า ที่เดี๋ยวนี้บริหารโดย Four Seasons แล้ว) แต่ดีลของเสี่ยสองเป็นดีลจอมปลอม เพราะสุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องปล่อยข่าวเพื่อปั่นหุ้น ส่วนดีลของโรงแรมราชดำรินั้นเป็นการเทคโอเวอร์โดยชาวต่างชาติ ซึ่งช่วงนั้นก็มีอีกสองสามดีล เช่นการซื้อโรงพยาบาลพญาไท โดยคุณวิชัย ทองแตง แต่ส่วนใหญ่เป็นการซื้อแบบ distressed assets หรือสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (คือซื้อในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีมากๆ)

นั่นแปลว่าดีลของแกรมมี่คราวนี้ นับเป็น hostile takeover ครั้งแรกในเมืองไทยที่ทำโดยคนไทย ที่ต้องการซื้อบริษัทช่วงเศรษฐกิจ “ปกติ” จริงๆ แล้ว hostile takeover เป็นการเล่นตามกฎกติกาในระบอบทุนนิยมเสรีที่ถูกต้อง แต่เมื่อคำนึงว่า สื่อมวลชนทั้งหลายนั้นเป็นมากกว่า “ธุรกิจ” เพราะมีความรับผิดชอบต่อสังคมสูง โดยหน้าที่ที่จะต้องรายงานข้อเท็จจริงต่อประชาชน และเมื่อคำนึงว่ากลไกต่างๆ ทางกฎหมายที่ออกแบบมาการันตีเสรีภาพสื่อ ต่างก็ถูกแทรกแซงหรือแช่แข็งโดยอำนาจ “กลุ่มทุนการเมือง” แล้ว (ล่าสุด คณะกรรมการ กสช. ก็ส่อเค้าว่าจะเต็มไปด้วยลูกขุนพลอยพยักอีกตามเคย เช่นเดียวกับ กทช. ที่เต็มไปด้วยอดีตผู้บริหารบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย) ข้าพเจ้าก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับทีดีอาร์ไอ ที่ออกมาจี้ให้กระทรวงพาณิชย์บังคับใช้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า เข็นกฎหมายลูกออกมาสร้างกติกาธุรกิจ โดยเฉพาะมาตรา 26 ซึ่งกำหนดให้รัฐมีนโยบายและวางกติกาเกี่ยวกับการควบรวมกิจการให้ชัดเจน

การผูกขาดไม่ว่าจะในธุรกิจไหนก็แย่พออยู่แล้ว แต่การผูกขาดโดยทุนนิยมการเมืองในธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กับสังคมสูง (เช่น สื่อต่างๆ โรงเรียน โรงพยาบาล ธนาคาร) เป็นเรื่องอันตรายกว่าหลายเท่า

ข้าพเจ้าไม่ชอบแกรมมี่มาตั้งนานแล้ว เพราะตั้งแต่ทักษิณเป็นนายกฯ ก็ “สนองนโยบายรัฐบาล” แบบออกนอกหน้าอยู่เสมอ เมื่อปีที่แล้ว ตอนที่บิ๊กบอสแกรมมี่ออกมาประกาศว่าสนใจจะซื้อสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล ทันที่ที่ทักษิณเจอแรงต่อต้านมหาศาล เมื่อประกาศว่ารัฐบาลไทยสนใจจะซื้อสโมสรนี้ ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นชัดเจนถึงบทบาทของแกรมมี่ในการเป็น “หน้าม้าให้ทักษิณ” นอกจากนี้ในธุรกิจของตัวเอง แกรมมี่ก็ค่อนข้าง “เขี้ยว” และไม่สร้างสรรค์ ดูได้จากปริมาณการเอาเพลงเก่ามาร้องใหม่ การเอาเพลงฮิตเพลงเดียวไปงอกอีก 20 เวอร์ชั่นด้วยการมิกซ์เสียงใหม่ เช่น เวอร์ชั่นแดนซ์ เวอร์ชั่นร็อค และอื่นๆ อีกมากมายที่ตั้งชื่ออย่างโก้เก๋ การออกชุด “รวมฮิต” ต่างๆ แบบจับแพะชนแกะทุกรูปแบบ นี่ยังไม่นับเพลงที่ลอกทำนองเพลงต่างชาติมาเกือบทั้งดุ้น หรือเพลงที่เอาของนักร้องอื่นในอดีตมาร้องโดยไม่ให้เครดิตคนเก่า

เคยคิดเล่นๆ กับเพื่อนว่าในบรรดาซีดีทั้งหมดที่แกรมมี่ออกในแต่ละปี มีเพลง “ต้นฉบับ” จริงๆ กี่เปอร์เซ็นต์ ข้าพเจ้าเดาว่าไม่น่าจะสูงกว่า 40% จริงๆ แล้วนี่น่าจะเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่น่าสนใจ ใครที่เรียน MBA หรือเศรษฐศาสตร์โปรดรับไว้พิจารณา 😉