เพิ่งกลับมาจากภูฐานได้สองวัน อีกไม่กี่วันคงได้โพสต์ร่างแรกของบทนำหนังสือในบล็อกนี้ ตอนนี้รอรูปของช่างภาพประจำทีมอยู่ เพราะเขาถ่ายได้สวยจริงๆ รูปจากกล้องตัวเอง ชิดซ้ายไปเลย 😛
ระหว่างที่รอรูปภูฐาน และระหว่างที่อุณหภูมิการเมืองยังไม่กลับไปร้อนฉ่าเหมือนเดือนก่อน ก็ขอแนะนำหนังสือใหม่ถอดด้ามบางเล่มที่เพิ่งอ่านจบไปเมื่อเร็วๆ นี้ ที่เขียนโดยนักเขียนคนโปรดที่อาจยังไม่อยู่ในประเภท “ชื่อรับประกันคุณภาพ” (อาทิ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ มุกหอม วงษ์เทศ ปราบดา หยุ่น วินทร์ เลียววาริณ และกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ยอดนักประพันธ์ที่เราจะไม่มีวันได้อ่านงานของเขาอีกแล้ว)
วรรณกรรม
ร่างพระร่วง โดย เทพศิริ สุขโสภา
นวนิยายล่าสุดของผู้เขียน “บึงหญ้าป่าใหญ่” และจิตรกรร่วมสมัยที่มีผลงานวาดภาพประกอบตามหน้านิตยสารมากมาย “ร่างพระร่วง” เป็นนวนิยายขนาดยาวที่คุณเทพศิริใช้เวลาเก็บรวบรวมข้อมูลกว่า 20 ปี เขียนขึ้นเพื่อบูชาท่านพุทธทาสภิกขุ ในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาล เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ “เซีียนพระเครื่อง” ในจังหวัดสุโขทัยคนหนึ่งชื่อ “อาจารย์ดอน” ผู้คร่ำหวอดในวงการ ดำิเนินชีวิตบนเส้นบางระหว่างไสยและพุทธ คุณเทพศิริสอดแทรกธรรมะอย่างแยบยลตลอดเรื่อง ด้วยภาษาพื้นบ้านที่เรียบง่ายแต่เปี่ยมลีลาไหวพลิ้วเหมือนบทกวี พลิ้วแค่ไหนก็ลองอ่านบทนำจากเว็บมติชนบุ๊คส์ดู:
“ความโง่ของเขาอาจช่วยให้เราเห็นบางอย่าง จากโลภสู่เสียสละ จากมารสู่พระ จากไสยสู่พุทธ จากมายาสู่ความจริง จากผู้ยิ่งใหญ่กลายเป็นคนเล็กๆ สิ่งล้ำค่ากลับไร้ราคา จากการยึดมั่นสู่การปล่อยมือ ความกลัวทำให้เห็นผิดเป็นถูก สิ่งเหลวไหลกลายเป็นมีเหตุผล สิ่งเลวร้ายทุกชนิดเกิดจากความไม่รู้ เราเองสร้างศัตรูยักษ์มารขึ้นมา นิยายช่วยให้แว่บเห็นความจริง เรื่องเล่าคือข้าวเปลือก ให้เอาไปสีเอาไปหุง สุกหอมชวนกินถ้าก่อไฟเป็น”
แม้ว่าภาษากวีจะพลิ้วเสียจนบดบังเนื้อหาบางตอน แต่โดยรวมแล้วต้องนับว่า “ร่างพระร่วง” เป็น “วรรณกรรมอันยิ่งใหญ่” ชิ้นหนึ่งของไทย ใครที่ชอบนวนิยายประเภท “magical realism” เช่นงานของ Gabriel Garcia Marquez หรือ Jorge Luis Borges หรือวรรณกรรมอิงธรรมะ ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
กรณีฆาตกรรม โต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด โดย ศิริวร แก้วกาญจน์
นวนิยายฉบับเต็มของเรื่องสั้นชื่อเดียวกัน ที่ถูกตัดสินให้ไม่ได้รับรางวัลวรรณกรรมการเมืองดีเด่น “พานแว่นฟ้า” ประจำปี 2548 โดยคณะกรรมการตัดสินฝ่ายรัฐสภา ทั้งๆ ที่กรรมการส่วนใหญ่ให้คะแนนเต็มร้อย อ่านจบแล้วก็เข้าใจว่าเหตุใดกรรมการภาครัฐจึงมองว่าเรื่องนี้มี “เนื้อหาล่อแหลม” และ “บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ” – คุณศิริวรถ่ายทอดมุมมองของฝ่ายต่างๆ ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางวิกฤติ “ไฟใต้” ได้อย่างละเอียด จริงจัง และจริงใจ ซึ่งย่อมหมายความว่า ความหวาดระแวงที่ชาวบ้านมีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และ “ความบกพร่อง” ของเจ้าหน้าที่รัฐเองในการจัดการสถานการณ์ ก็ถูกบันทึกไว้ในเรื่องอย่างตรงไปตรงมาด้วย
แม้จะ “เข้าใจ” ว่าทำไมเรื่องนี้ไม่ได้รับรางวัล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียน “เห็นด้วย” กับการตัดสิทธิ์หนังสือเรื่องนี้ เพราะวรรณกรรมการเมืองจะเติบโตอย่างมีความหมายได้อย่างไร ถ้าถูก “เซ็นเซอร์” จากกลุ่มคนเดียวกันกับที่นักเขียนพยายามวิพากษ์ และตีแผ่ข้อเท็จจริงผ่านตัวหนังสือ?
ดังนั้น การที่หนังสือเล่มนี้ถูกคัดออก จึงเปรียบเสมือนเป็น “ตราประกันคุณภาพ” รับประกันว่าเป็นหนังสือดีที่สมควรหามาอ่านอย่างยิ่ง
ผู้เขียนซื้อหนังสือเล่มนี้มาจากบูธเคล็ดไทย ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่จบไปเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่คาดว่าน่าจะหาซื้อได้ไม่ยากนัก จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผจญภัย ราคา 135 บาท
เพิ่งกลับมาจากภูฐานได้สองวัน อีกไม่กี่วันคงได้โพสต์ร่างแรกของบทนำหนังสือในบล็อกนี้ ตอนนี้รอรูปของช่างภาพประจำทีมอยู่ เพราะเขาถ่ายได้สวยจริงๆ รูปจากกล้องตัวเอง ชิดซ้ายไปเลย 😛
ระหว่างที่รอรูปภูฐาน และระหว่างที่อุณหภูมิการเมืองยังไม่กลับไปร้อนฉ่าเหมือนเดือนก่อน ก็ขอแนะนำหนังสือใหม่ถอดด้ามบางเล่มที่เพิ่งอ่านจบไปเมื่อเร็วๆ นี้ ที่เขียนโดยนักเขียนคนโปรดที่อาจยังไม่อยู่ในประเภท “ชื่อรับประกันคุณภาพ” (อาทิ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ มุกหอม วงษ์เทศ ปราบดา หยุ่น วินทร์ เลียววาริณ และกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ยอดนักประพันธ์ที่เราจะไม่มีวันได้อ่านงานของเขาอีกแล้ว)
วรรณกรรม
ร่างพระร่วง โดย เทพศิริ สุขโสภา
นวนิยายล่าสุดของผู้เขียน “บึงหญ้าป่าใหญ่” และจิตรกรร่วมสมัยที่มีผลงานวาดภาพประกอบตามหน้านิตยสารมากมาย “ร่างพระร่วง” เป็นนวนิยายขนาดยาวที่คุณเทพศิริใช้เวลาเก็บรวบรวมข้อมูลกว่า 20 ปี เขียนขึ้นเพื่อบูชาท่านพุทธทาสภิกขุ ในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาล เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ “เซีียนพระเครื่อง” ในจังหวัดสุโขทัยคนหนึ่งชื่อ “อาจารย์ดอน” ผู้คร่ำหวอดในวงการ ดำิเนินชีวิตบนเส้นบางระหว่างไสยและพุทธ คุณเทพศิริสอดแทรกธรรมะอย่างแยบยลตลอดเรื่อง ด้วยภาษาพื้นบ้านที่เรียบง่ายแต่เปี่ยมลีลาไหวพลิ้วเหมือนบทกวี พลิ้วแค่ไหนก็ลองอ่านบทนำจากเว็บมติชนบุ๊คส์ดู:
“ความโง่ของเขาอาจช่วยให้เราเห็นบางอย่าง จากโลภสู่เสียสละ จากมารสู่พระ จากไสยสู่พุทธ จากมายาสู่ความจริง จากผู้ยิ่งใหญ่กลายเป็นคนเล็กๆ สิ่งล้ำค่ากลับไร้ราคา จากการยึดมั่นสู่การปล่อยมือ ความกลัวทำให้เห็นผิดเป็นถูก สิ่งเหลวไหลกลายเป็นมีเหตุผล สิ่งเลวร้ายทุกชนิดเกิดจากความไม่รู้ เราเองสร้างศัตรูยักษ์มารขึ้นมา นิยายช่วยให้แว่บเห็นความจริง เรื่องเล่าคือข้าวเปลือก ให้เอาไปสีเอาไปหุง สุกหอมชวนกินถ้าก่อไฟเป็น”
แม้ว่าภาษากวีจะพลิ้วเสียจนบดบังเนื้อหาบางตอน แต่โดยรวมแล้วต้องนับว่า “ร่างพระร่วง” เป็น “วรรณกรรมอันยิ่งใหญ่” ชิ้นหนึ่งของไทย ใครที่ชอบนวนิยายประเภท “magical realism” เช่นงานของ Gabriel Garcia Marquez หรือ Jorge Luis Borges หรือวรรณกรรมอิงธรรมะ ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
กรณีฆาตกรรม โต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด โดย ศิริวร แก้วกาญจน์
นวนิยายฉบับเต็มของเรื่องสั้นชื่อเดียวกัน ที่ถูกตัดสินให้ไม่ได้รับรางวัลวรรณกรรมการเมืองดีเด่น “พานแว่นฟ้า” ประจำปี 2548 โดยคณะกรรมการตัดสินฝ่ายรัฐสภา ทั้งๆ ที่กรรมการส่วนใหญ่ให้คะแนนเต็มร้อย อ่านจบแล้วก็เข้าใจว่าเหตุใดกรรมการภาครัฐจึงมองว่าเรื่องนี้มี “เนื้อหาล่อแหลม” และ “บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ” – คุณศิริวรถ่ายทอดมุมมองของฝ่ายต่างๆ ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางวิกฤติ “ไฟใต้” ได้อย่างละเอียด จริงจัง และจริงใจ ซึ่งย่อมหมายความว่า ความหวาดระแวงที่ชาวบ้านมีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และ “ความบกพร่อง” ของเจ้าหน้าที่รัฐเองในการจัดการสถานการณ์ ก็ถูกบันทึกไว้ในเรื่องอย่างตรงไปตรงมาด้วย
แม้จะ “เข้าใจ” ว่าทำไมเรื่องนี้ไม่ได้รับรางวัล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียน “เห็นด้วย” กับการตัดสิทธิ์หนังสือเรื่องนี้ เพราะวรรณกรรมการเมืองจะเติบโตอย่างมีความหมายได้อย่างไร ถ้าถูก “เซ็นเซอร์” จากกลุ่มคนเดียวกันกับที่นักเขียนพยายามวิพากษ์ และตีแผ่ข้อเท็จจริงผ่านตัวหนังสือ?
ดังนั้น การที่หนังสือเล่มนี้ถูกคัดออก จึงเปรียบเสมือนเป็น “ตราประกันคุณภาพ” รับประกันว่าเป็นหนังสือดีที่สมควรหามาอ่านอย่างยิ่ง
ผู้เขียนซื้อหนังสือเล่มนี้มาจากบูธเคล็ดไทย ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่จบไปเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่คาดว่าน่าจะหาซื้อได้ไม่ยากนัก จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผจญภัย ราคา 135 บาท
กระจกเงา | เงากระจก โดย อุทิศ เหมะมูล
นวนิยายร่วมสมัยโดยนักเขียนหน้าใหม่ หนึ่งในทีมงานจอมขยันของ FilmVirus (นำโดยสนธยา ทรัพย์เย็น) ซื้อมาเพราะชอบสำนวนวิจารณ์หนังของคุณอุทิศ และก็ไม่ผิดหวัง เนื้อเรื่องว่าด้วยความรักอันปราศจากเพศ ที่ลึกซึ้งและเต็มไปด้วยการไตร่ตรอง ใคร่ครวญมองดูตัวเอง ไม่ต่างจากการมองกระจกตามชื่อหนังสือ ชอบที่ผู้เขียนพยายามแยกแยะระหว่างความจริงที่เป็นภววิสัยของตัวเอก กับสภาพแวดล้อมที่พยายาม “ตีความ” ตัวตนของเขา
อ่านแล้วทำให้นึกถึงหนังโปรดเรื่อง “Closer” คงเพราะมีเนื้อหาเกี่ยวกับความจริง ความเท็จ และการหลอกลวงตัวเองและผู้อื่น คล้ายๆ กัน
ความสุขของกะทิ และ ความสุขของกะทิ ตอน ตามหาพระจันทร์ โดย งามพรรณ เวชชาชีวะ
“วรรณกรรมเยาวชน” ดีเด่นที่เพิ่งได้อ่าน (เล่มแรกออกมาตั้งแต่ปี 2546 เล่มที่สองชื่อตอน “ตามหาพระจันทร์” เพิ่งออกทันงานหนังสือปีนี้) เพราะตอนแรกนึกว่าเป็น “หนังสือเด็กเพื่อเด็กเท่านั้น” ทำนองมานะ มานี ปิติ ชูใจ ฯลฯ แต่พออ่านแล้วก็รู้สึกดีใจที่ได้อ่าน เพราะเป็นหนังสือที่แฝงด้วยข้อคิดดีๆ มากมายสำหรับผู้ใหญ่
ความน่ารัก ช่างคิดช่างสงสัยของกะทิ บรรยากาศอบอุ่นของครอบครัว และความเรียบง่ายแต่กินใจของภาษา ทำให้อ่านแล้วรู้สึกเหมือนหนูแหวนจาก โลกของหนูแหวน ในยุค 30 ปีที่แล้ว กลับชาติมาเกิดใหม่เป็นกะทิในยุคนี้ 🙂
บทความ / ศาสนา
สวรรค์ชั้นประหยัด โดย วิทวัส โปษยะจินดา
หนังสือท่องเที่ยวภาษาไทยที่ดีที่สุดตั้งแต่เคยอ่านหนังสือมา ขอขอบคุณ พี่แป๊ด มากๆๆ ที่แนะนำให้อ่าน เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้อยู่ตรงการใช้ภาษาที่ละเมียด ละมุนละไม ไหลลื่น เก็บตกได้ทั้งอารมณ์ และเสี้ยวหนึ่งของชีวิตความเป็นอยู่ ของชาวเมืองต่างๆ อย่างไม่น่าเชื่อ แม้จะไม่ใช่หนังสือนำเที่ยวแบบมาตรฐาน ที่บรรจุคำบรรยายประวัติเมือง พร้อมกับแนะนำโรงแรมและร้านอาหาร ปลายปากกาของคุณวิทวัสก็ทำให้ชาวเมืองที่เขาได้พบปะ “มีชีวิต” โลดแล่นอยู่บนหน้ากระดาษ เย้ายวนให้ออกเดินทางไปตามหา “ท้องฟ้าสีสดแสบเหมือนไปรษณียบัตรตอแหล” และนั่งจิบเมรัยรอเวลาที่ “…พระจันทร์ดวงโตเท่าจานบิน ค่อยๆ ลอยขึ้นจากทะเลเบื้องหน้า สาดส่องรังสีดังเงินยวงใส่ผืนน้ำเป็นประกายระยิบระยับ ประดุจจะกลั่นแกล้งให้มวลมนุษยชาติในสากลโลกเกิดวิกลจริตจนถึงกาลกิริยาไป”
หนังสือนำเที่ยวที่เน้น “ข้อมูล” แบบ Lonely Planet จะหาเมื่อไหร่ก็หาได้ ไปกูเกิ้ลในอินเตอร์เน็ตเอาก็ได้ แต่หนังสือที่บันทึก “อารมณ์” ของสถานที่ ณ ห้วงเวลาหนึ่ง แล้วถ่ายทอดเป็นตัวอักษรได้อย่างหมดจดงดงามเช่นนี้ มีเพียงหนึ่งในล้านเท่านั้น
ชาตินี้ถ้าเขียนหนังสือได้อย่างคุณวิทวัสสักหนึ่งเล่ม ก็คงนอนตายตาหลับเป็นแน่แท้
ความเกี่ยวข้องของคนอื่นไกล โดย อธิคม คุณาวุฒิ
รวมบทบรรณาธิการเสาร์สวัสดี หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร a day weekly ของคุณอธิคม บอกอรุ่นใหม่ที่มีมุมมองน่าสนใจ และคล้ายคลึงกับตัวเองอย่างไม่น่าเชื่อ (แต่ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือได้เก่งกว่าหลายเท่า) อ่านข้อเขียนของเขาทีไร เป็นต้องได้ “วาทะโปรด” มาบันทึกใส่ในสมุดบันทึก(ออนไลน์)ของตัวเองทุกที เล่มนี้ก็เช่นกัน:
“…การได้ทุกอย่างมาโดยไม่เคยผ่านการทำงานหนัก มันจะดีกว่าคนทั่วไปจริงๆ หรือ …ผมว่าอันนี้ไม่แน่ เพราะเมื่อถึงจุดที่ไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองใดๆ เลย ไม่ต้องไขว่คว้าหาความสำเร็จใหม่ๆ มันก็ไม่แน่ว่าคนเหล่านี้จะมีความสุข มันอาจจะกลายเป็นอาการ ‘คว้าง’ ที่คนรุ่นนี้ต้องเผชิญ เหมือนกับที่ มิลาน คุนเดอรา พูดไว้ว่า บางครั้ง ‘ความเบาหวิว’ มันก็โหดร้ายกว่า ‘ความหนักหน่วง’ อยู่หลายเท่าตัว” (หน้า 46-47)
“…มีคนตั้งข้อสงสัยว่า เอ็ดมันด์ ฮิลลารี อาจไม่ใช่คนแรกที่พิชิตเอเวอเรสต์ แต่เป็นคนแรกที่เดินลงจากจุดสูงสุดของเอเวอเรสต์ลงมาสู่พื้นล่างอย่างปลอดภัย ขาลงจากที่สูงจึงเป็นบททดสอบความไม่ประมาทในชีวิต เพราะธรรมชาติของคนที่เพิ่งพิชิตอะไรก็ตามมาหยกๆ นั้น มักเว้นช่องว่างให้ความประมาทกว้างกว่าปกติเสมอ” (หน้า 166)
dhamma talk: สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นด้วยตา โดย ว. วชิรเมธี โตมร ศุขปรีชา และ วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ
เล่มแรกในหนังสือชุด “dharma talk” ของสำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์ น่าซื้อเก็บทั้งสามเล่ม เล่มนี้เน้นบทสนทนาเรื่องเกี่ยวกับสภานการณ์(อันน่าหดหู่)ของพุทธศาสนาในไทย ประชาธิปไตย ทักษิโณมิคส์ นิพพาน ฯลฯ ท่าน ว. วชิรเมธี ให้ข้อคิดมากมายเช่นเคย อาทิ:
“พระพุทธศาสนามีสัจธรรมอย่างน้อยๆ 3 ขั้นก็คือ ศีลธรรม จริยธรรม ปรมัตถธรรม เดี๋ยวนี้เราสอนอะไรกัน เราสอนแต่จริยธรรม พูดตามตรง จริยธรรม ทุกๆ วัฒนธรรมที่มีมนุษย์เจริญเติบโตขึ้นมาแล้วสร้างบ้านแปลงเมืองอยู่ เขามีจริยธรรมกำกับทั้งนั้น นั่นเราจึงเห็นได้ว่าคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่เขียนกันโครมๆ อยู่เดี๋ยวนี้มันไปได้แค่ขั้นจริยธรรม อย่างสอนให้ไม่ประมาท เพื่ออะไร ก็เพื่อให้ทำบุญ ทำบุญเพื่ออะไร จะได้เกิดมาอีก ถ้าเป็นท่านพุทธทาส ท่านบอกว่า ทำบุญไม่ต้องอธิษฐาน ไม่ต้องเกิดดี ไม่เกิดเลย ลึกกันไปเลย แต่เราไม่กล้าสอนอย่างนั้นแล้ว” (หน้า 31)
“…ธรรมะทั้งหลายถูกทำให้เป็นธรรมะฮาว-ทู ซึ่งไปๆ มาๆ ก็ไม่ลึกซึ้งอะไร เป็นธรรมะที่สอนให้คนหาเงิน ไม่ต่างจากหนังสือฮาว-ทูทั้งหลาย แล้วก็ถูกทำให้บูมเทียมๆ ด้วยกระบวนการทางการตลาด” (หน้า 48)
“หนังสือประเภทสอนเพื่อนให้รวย …ทำไมอาตมาจึงว่าน่ากลัว ก็เพราะว่าหนังสือเหล่านี้มุ่งแต่สอนคนให้รวย แต่ไม่คำนึงถึงคุณภาพของความรวยนั้น เช่น สอนทำอย่างไรถึงจะเสียภาษีให้น้อยที่สุด ทั้งที่คุณกำลังกอบโกยจากประเทศนี้ …พูดง่ายๆ ว่าคุณอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขภายใต้การพึ่งพาอาศัยคนอื่นอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ยอมเสียอะไรให้ใครเลย” (หน้า 76)
“…คุณไม่สามารถเปลี่ยนกระแสโลกทั้งกระแสได้ เพราะมันเป็นของโลก แต่คุณเปลี่ยนวิธีบริโภคของคุณได้ ให้มีวิธีคิดแบบวิภัชชวาท แยกแยะทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณกำลังเกี่ยวข้องปฏิสัมพันธ์ แล้วให้มีสองสิ่ง คือให้มีกัลยาณมิตร แล้วสองมีวิธีคิดที่ถูกต้อง ถ้าคุณมีวิธีคิดที่ถูกต้อง ถึงแม้ไม่มีกัลยาณมิตร ในท่ามกลางทุกข์ก็แสวงสุขได้ ในท่ามกลางปัญหาก็มีปัญญาได้ ในท่ามกลางทุนนิยม คุณก็เป็นธรรมนิยมอยู่ได้” (หน้า 169)
“ความอยากมีสองชนิด ความอยากที่เรียกว่าความทะเยอทะยานหรือเรียกว่าเป็น ambition หรือที่เรียกว่าตัณหา อันนี้เป็นความอยากที่อิงสัญชาตญาณ ทุกคนมีอยู่ในตัว …แล้วมันมีความอยากอีกชนิดหนึ่ง คือความอยากที่ควรจะได้รับการพัฒนาต่อไป ก็คือ ‘ธรรมฉันทะ’ มันคือความอยากที่เป็นด้านบวก เรียกว่า ฉันทะ ความอยากชนิดนี้ มีฐานที่เกิดอยู่บนฐานของปัญญา” (หน้า 194)