ความเป็นธรรมกับความสามารถในการแข่งขัน

(สุนทรพจน์ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand Symposium 2019) วันที่ 1 ตุลาคม 2562)

ท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

ขอขอบคุณธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ให้เกียรติมาแลกเปลี่ยนกับทุกท่านในงานเสวนาว่าด้วยความสามารถในการแข่งขัน

บางท่านอาจสงสัยว่า “ความเป็นธรรม” เกี่ยวอะไรกับ “ความสามารถในการแข่งขัน” เพราะเราไม่ค่อยได้ยินคำสองคำนี้ในบริบทเดียวกัน

เราอยากเห็นการแข่งขัน เพราะการแข่งขันที่มากขึ้นนำไปสู่ผลิตภาพที่สูงขึ้น และผลิตภาพที่สูงขึ้นช่วยสร้างการเติบโต ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนในประเทศ และช่วยทำให้คนอยู่ดีมีสุขมากกว่าเดิม

วันนี้อยากเสนอว่า ถ้าหากเราไม่คิดเรื่องความเป็นธรรมด้วยเวลาที่คิดเรื่องการแข่งขัน เราจะไม่สามารถสร้างสนามแข่งที่เท่าเทียม สนามที่ดึงดูดการแข่งขันมากพอที่จะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเองจริง ๆ

และถ้าเราไม่คิดเรื่องความเป็นธรรม ต่อให้มีการแข่งขัน มันก็จะเป็นการแข่งขันชนิดที่ผู้ประกอบการอยากแข่งกันแสวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจ มากกว่าแข่งกันคิดค้นนวัตกรรม สร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค – ซึ่งโจทย์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะในตลาดสากล จะเป็นโจทย์ที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อต้นทุนของ “การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน” ในอดีตและปัจจุบันหลายประการรุนแรงเร่งด่วนจนผู้บริโภคมองเห็น เรียกร้องให้ภาครัฐและธุรกิจหาวิธีลดหรือกำจัดให้ได้มากที่สุด

ดังนั้น วันนี้จึงอยากจะมาชวนคิด ชวนมองความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นธรรมกับความสามารถในการแข่งขัน เพราะเราต้องการข้อมูล งานวิจัย และการถกเถียงเรื่องนี้กันอีกมาก ทั้งในแวดวงเศรษฐศาสตร์ และสังคมไทยในวงกว้าง

ก่อนอื่น ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ คือ มนุษย์เราให้คุณค่ากับความเป็นธรรม ไม่ได้ทำตัวเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นสรณะโดยไม่คำนึงถึงคุณค่าอื่น

ผลการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์เชิงทดลองทั่วโลกยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่านี้จากเกมยื่นคำขาดหรือ ultimatum game มานานกว่ายี่สิบปีแล้ว เกมนี้ให้ผู้เล่นสองคนแบ่งสมบัติอะไรสักอย่าง อาจเป็นเงิน 100 บาท หรือคะแนน 10 คะแนน โดยมีเงื่อนไขว่า ฝ่าย “ผู้เสนอ” จะเสนอแบ่งสมบัติเท่าไรก็ได้ให้กับคนที่สอง ฝ่าย “ผู้รับ” มีทางเลือกเพียงสองทางเท่านั่น คือยอมรับข้อเสนอ หรือปฏิเสธ ถ้าปฏิเสธทั้งคู่จะไม่ได้อะไรเลย

สมมุติฐานที่มองคนเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” ทำนายว่าการยื่นข้อเสนอที่ “มีเหตุมีผล” ที่สุดคือการเสนอให้น้อยที่สุด เพราะดีกว่าไม่ได้อะไรเลย แต่ในความเป็นจริง ผลการวิจัยจากหลายประเทศพบว่า ส่วนแบ่งที่ผู้รับยอมรับอยู่ที่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่แต้มเดียวหรือบาทเดียว

ผลการทดลองนี้แสดงว่าคนเราให้ความสำคัญกับ “ความเป็นธรรม” ในไทยก็พบคำตอบคล้ายกัน การทดลองเกมยื่นคำขาดโดยศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยอาจารย์ธานี ชัยวัฒน์ เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2560 ศึกษากลุ่มตัวอย่างใน 4 ภูมิภาค ผู้เข้าร่วมการทดลองเป็นนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี พบว่ากลุ่มตัวอย่างชาวไทย “กลัวการถูกปฏิเสธและไม่ได้รับอะไรเลยในระดับที่สูงกว่ากรณีของประเทศอื่น ๆ” โดยค่าเฉลี่ยส่วนแบ่งอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับ 30 เปอร์เซ็นต์ในต่างประเทศ

ทีมวิจัยเสนอการตีความว่า “ค่านี้อาจเรียกได้ว่าเป็นค่าความเป็นธรรมที่ยอมรับได้ หรือ acceptable fairness ซึ่งเด็กรุ่นใหม่มีแนวโน้มรักษาสิทธิตัวเองอย่างมาก จึงมีค่าความเป็นธรรมที่ยอมรับได้ค่อนข้างสูง”

ทีนี้ ถ้าเราย้ายจากการมองความเป็นธรรมในแง่ “ผลลัพธ์” ที่ปัจเจกต้องการ มามองความเป็นธรรมที่เกี่ยวข้องกับ “การแข่งขัน” เราอาจจะเริ่มจากคำถามที่ว่า เราหมายถึงความเป็นธรรมระหว่างใครกับใคร

จุดนี้คิดว่ามีสองมิติที่สำคัญ มิติแรกคือ ความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเอง มิติที่สองคือ ความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ในสังคม

เครื่องมือหลักในการส่งเสริมความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการ และระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค หนีไม่พ้นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และกฎหมายป้องกันการผูกขาด ซึ่งในไทยคือ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า ก่อนหน้านี้กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับมาเกือบ 20 ปี โดยที่ไม่เคยมีบริษัทไหนถูกดำเนินคดีเลย ใกล้เคียงที่สุดคืออัยการสั่งไม่ฟ้อง ทำให้หลายคนเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า “เสือกระดาษ” และผลลัพธ์ประการหนึ่งจากการเป็นเสือกระดาษก็คือ คนจำนวนมากในสังคมยังมองไม่เห็นลักษณะและผลเสียของการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

อย่างไรก็ดี เรามีข่าวดีเมื่อสองปีที่แล้ว ปี พ.ศ. 2560 เมื่อ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าได้รับการปรับปรุงแก้ไข ให้ดีกว่าเดิมในหลายมิติ โดยเฉพาะการแยก “สำนักงานแข่งขันทางการค้า” ออกมาเป็นหน่วยงานอิสระ จากเดิมที่อยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงพาณิชย์ “คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า” ก็เป็นอิสระมากขึ้นอย่างชัดเจน เพราะกฎหมายฉบับแก้ไขกำหนดว่ากรรมการต้องไม่มีตำแหน่งในองค์กรธุรกิจหรือสมาคมการค้า ไม่เป็นข้าราชการประจำ กรรมการ หรือที่ปรึกษาในหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินธุรกิจ ต่างจากกฎหมายเดิมที่เปิดช่องให้ตัวแทนจากธุรกิจรายใหญ่ตบเท้าเข้ามาเป็นคณะกรรมการ เท่ากับออกแบบให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนตั้งแต่แรก

ข้อดีอีกหลายข้อของกฎหมายใหม่มีอาทิ การปรับนิยามและออกเกณฑ์ควบรวมธุรกิจ และกำหนดบทลงโทษอย่างชัดเจน จากเดิมซึ่งเป็นเพียงระเบียบสำนักงาน ไม่มีผลทางกฎหมาย ตามกฎหมายใหม่นี้ถ้าหากบริษัทฝ่าฝืน แนวปฏิบัติ มีพฤติกรรมเข้าข่ายการค้าที่ไม่เป็นธรรม จะมีโทษปรับทางปกครองสูงสุด 10 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ในปีที่กระทำผิด

อย่างไรก็ดี กฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้ยังคงมีข้อบกพร่อง เช่น ยังคงยกเว้นไม่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจ ทั้งที่รัฐวิสาหกิจจำนวนมากทำธุรกิจแข่งกับเอกชนอย่างชัดเจนมานานแล้ว เพราะคำขยายความที่ว่า ยกเว้นให้รัฐวิสาหกิจ “เฉพาะในส่วนที่ดำเนินการตามกฎหมาย หรือมติของคณะรัฐมนตรีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ ผลประโยชน์ส่วนรวม หรือจัดให้มีสาธารณูปโภค” นั้น อ่านดูแล้วก็สงสัยว่า จะมีรัฐวิสาหกิจรายไหนที่จะไม่อยากอ้างว่าการประกอบธุรกิจของตน “จำเป็น” เพื่อ “ประโยชน์ส่วนรวม”

นอกจากนี้ กฎหมายยังไม่เอื้ออำนวยให้ผู้เสียหาย ซึ่งอาจเป็นบริษัทคู่แข่ง บริษัทคู่ค้า หรือผู้บริโภค รวมตัวกันฟ้องบริษัทที่เถลิงอำนาจเหนือตลาดอย่างผิดกฎหมายได้สะดวกเท่าที่ควร และยังไม่ยกระดับกลไกคุ้มครองผู้ให้เบาะแสหรือ whistleblower protection อย่างเป็นระบบ

คำถามใหญ่อีกคำถามที่เราจำเป็นต้องหาคำตอบและติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่องก็คือ กฎหมายที่ปรับปรุงแล้วจะรับมือได้เพียงใดกับกรณีที่นโยบายหรือมาตรการของรัฐบาลหรือหน่วยงานราชการมอบอำนาจผูกขาดให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งอย่างชัดเจนโดยปราศจากการแข่งขัน หรือกำหนดเงื่อนไขการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม อย่างเช่นการ “ล็อกสเป็ค” ซึ่งยังเกิดขึ้นเป็นประจำในไทย

ในยุคที่เราตื่นเต้นกับเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งสามารถเพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดจิ๋ว ภาครัฐก็มีนโยบาย Thailand 4.0 การแข่งขันและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐยิ่งต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่เราจะไม่เจริญรอยตามแนวคิด “ข้อมูลเปิด” หรือ open data และ “รัฐเปิด” หรือ open government และไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่เราจะไม่ทบทวนเกณฑ์ขั้นต่ำของการอนุญาตให้ทำธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะเกณฑ์กำลังการผลิตและทุนจดทะเบียน เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการหน้าใหม่ทุนน้อย

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากผู้ประกอบการรายย่อยต้องการผลิตและขายคราฟท์เบียร์ มีเหตุผลอะไรในยุคดิจิทัลที่เขาจะต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำนับสิบล้านบาท กำลังการผลิตขั้นต่ำนับแสนลิตรต่อปี มีเหตุผลอะไรที่ธุรกิจประกันต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำหลายร้อยล้านบาท ถ้าหากผู้ประกอบการต้องการวางตลาดประกันขนาดจิ๋วหรือ microinsurance โดยเฉพาะประกันที่เน้นฟังก์ชั่นประกันจริง ๆ ไม่ใช่เน้นจุดขายว่าเป็นเครื่องมือการลงทุน

ผู้คุมกฎเกณฑ์ในการเข้าตลาดและบริษัทผู้ครองตลาดบางรายอ้างว่า เกณฑ์ขั้นต่ำเหล่านี้จำเป็นต่อการดูแลผู้บริโภค จำเป็นต่อการกำหนดและกำกับมาตรฐานสินค้าและบริการ แต่เราต้องมองว่า การกำกับมาตรฐาน กับ การกระตุ้นให้ตลาดมีการแข่งขันมากขึ้น เป็นคนละประเด็นกัน การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในสนามแข่งที่เท่าเทียมน่าจะผลักดันให้ผู้ประกอบการพัฒนามาตรฐานไปข้างหน้า มากกว่าการอ้างมาตรฐานของผู้กำกับดูแลซึ่งก็อาจล้าสมัยไปแล้ว มากีดกันผู้เล่นหน้าใหม่ไม่ให้เข้าตลาด

เราคงต้องให้กำลังใจคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า และโครงการสังคายนากฎหมายหรือ Regulatory Guillotine ว่าจะช่วยเพิ่มความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการได้

การแข่งขันในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เราต้องทบทวนนิยามและลักษณะของการผูกขาด และการใช้อำนาจเหนือตลาดเช่นกัน อาจารย์ ฌอง ทิโรล (Jean Tirole) นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2014 ชี้ว่าตลาดที่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ อาทิ กูเกิล และเฟซบุ๊ก เป็นผู้ครองตลาดนั้นบางตลาดมีลักษณะ “ตลาดสองฝั่ง” หรือ two-sided market ฝั่งหนึ่งผู้บริโภคไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการใช้บริการ แลกกับการสละข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลพฤติกรรมออนไลน์ให้บริษัทเอาไปขายให้บริษัทอื่นในอีกฝั่ง ดังนั้นเราจึงวัด “อำนาจเหนือตลาด” โดยใช้วิธีดูราคาขายที่ผู้บริโภคจ่ายเทียบกับต้นทุนการผลิตหน่วยสุดท้าย (marginal cost) ไม่ได้ เพราะราคาที่ผู้บริโภคจ่ายเท่ากับศูนย์ ต้องมองให้ครบทั้งสองฝั่ง

อีกทั้งเรายังต้องหันมาให้ความสำคัญกับ “ข้อมูล” และกลไกกำกับดูแลที่จะคุ้มครองความเป็นส่วนตัวได้จริง โดยไม่ลิดรอนแรงจูงใจของผู้ประกอบการในการแข่งกันสร้างนวัตกรรม เพราะส่วนแบ่งตลาดสูง ๆ ในแง่ของรายได้และกำไร อาจไม่ส่งผลต่อการแข่งขันและความเสี่ยงที่จะละเมิดความเป็นส่วนตัว เท่ากับส่วนแบ่งตลาดสูง ๆ ในแง่ของการครอบครองและประมวลผลข้อมูล

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (2562) คณะกรรมาธิการด้านการยุติธรรมในสภาล่างของอเมริกาประกาศว่าได้เริ่มสอบสวนบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่สี่แห่งคือ กูเกิล แอมะซอน เฟซบุ๊ก และแอปเปิล โดยมุ่งตอบคำถามหลักว่า การกระจุกตัวที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี กำลังเบียดบังการแข่งขันให้ลดน้อยลงหรือไม่ ทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์หรือไม่ กฎหมายป้องกันการผูกขาดและการบังคับใช้ในปัจจุบันเหมาะสมและเพียงพอมากน้อยเพียงใด

อาจารย์ทิโรลชี้ว่าผู้เล่นในเศรษฐกิจออนไลน์ได้ประโยชน์จากผลกระทบภายนอกของเครือข่าย (network externalities) และการประหยัดจากขนาด (economies of scale) สูงมาก ดังนั้นเราจึงเห็นผู้ผูกขาดรายเดียวหรือผู้เล่นน้อยราย (oligopoly) เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า จำนวนผู้เล่นมีรายเดียวหรือน้อยราย เท่ากับอยู่ที่ความเสี่ยงจากการแข่งขัน หรือ contestability นั่นคือ ต่อให้เป็นผู้ผูกขาดรายเดียว ตราบใดที่เผชิญกับความเสี่ยงว่าจะมีผู้เล่นหน้าใหม่มาสร้างความปั่นป่วนหรือ disrupt ธุรกิจของตัวเอง แบบเดียวกับที่ตัวเองเคยทำในอดีต ผู้ผูกขาดรายนั้นก็จะถูกความเสี่ยงข้อนี้กดดันให้ต้องพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาฐานลูกค้า

การทำลายอุปสรรคที่กีดกันผู้เล่นหน้าใหม่ และสนับสนุนให้มีผู้เล่นหน้าใหม่อยู่เสมอ จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการ และรัฐควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากกว่าการออกมาตรการเอาใจผู้ครองตลาดรายเดิม หรือดำเนินนโยบายที่ผู้ครองตลาดเข้าถึงและตักตวงประโยชน์ได้มากกว่าผู้ประกอบการรายย่อยมาก โดยไม่สนใจผลต่อการแข่งขัน ไม่สนใจอุปสรรคที่กีดขวางรายย่อยอยู่

ประเด็นเรื่องตลาดสองฝั่ง การวิเคราะห์อำนาจของข้อมูล และการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวออนไลน์ ล้วนแต่เป็นเรื่องใหม่ในไทย แต่ในเมื่อโลกออนไลน์เชื่อมถึงกันหมดเป็นพื้นที่ไร้พรมแดน ก็หนีไม่พ้นที่เราจะต้องครุ่นคิดและอภิปรายเรื่องเหล่านี้กันมากขึ้น

ในเมื่อธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัลในไทยยังไม่มี “ยูนิคอร์น” แต่ธุรกิจโทรคมนาคมมีผู้ครองตลาดขนาดใหญ่ไม่กี่ราย เราอาจเริ่มต้นจากการอภิปรายและออกกฎกติกาเรื่อง “ความเป็นกลางทางเน็ต” หรือ net neutrality ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่หลายประเทศบัญญัติเป็นกฎหมายแล้ว แต่ในไทยยังไม่เคยคุยกัน หลักการนี้บอกว่า ผู้ให้บริการเครือข่ายซึ่งเปรียบเป็น “ท่อ” ส่งข้อมูล จะต้องปฏิบัติต่อข้อมูลที่ไหลผ่านท่ออย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เอาเปรียบคู่แข่ง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะดูภาพยนตร์สตรีมมิ่งผ่านแอพเน็ตฟลิกซ์ ผู้ให้บริการที่อยากเอาเปรียบจะลดความเร็วการเชื่อมต่อของเราโดยอ้างว่าสตรีมมิ่งใช้ทรัพยากรมากกว่าอ่านเว็บทั่วไป แต่ถ้าเราดูสตรีมมิ่งบนแอพที่บริษัทนี้เป็นเจ้าของ เราจะดูได้ลื่นไหลมากเพราะบริษัทอยากกีดกันคู่แข่ง กฎหมายหลายประเทศอนุญาตให้เลือกปฏิบัติต่อข้อมูลที่ไหลผ่านท่อในระดับที่จำเป็นต่อการจัดการความหนาแน่นของการจราจรในท่อ (traffic management) เท่านั้น

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ ถ้าผู้ประกอบการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมกับผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย นั่นคือเนื้อแท้ของการแสดง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือซีเอสอาร์ แต่ลักษณะของความเป็นธรรมไม่ใช่สิ่งที่ผู้ประกอบการจะตระหนักรู้หรือกำหนดเองฝ่ายเดียวได้ เพราะผู้ประกอบการย่อมเชี่ยวชาญเฉพาะการทำธุรกิจของตัวเอง ไม่อาจล่วงรู้ถึงความต้องการและความกังวลของผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายอื่น ๆ ถ้าไม่ไปทำความเข้าใจ ไม่พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเราจริง ๆ

วันนี้เราได้เห็นความคืบหน้าในธุรกิจบางสาขา ถึงแม้จะเป็นไปอย่างเชื่องช้ามาก แอพพลิเคชั่นธนาคารบนมือถือหรือ mobile banking ของธนาคารบางแห่งเริ่มจัดหมวดหมู่รายจ่ายให้เราเห็น นับเป็นก้าวแรกๆ ของการ “ฝัง” ความรู้เรื่องทางการเงิน (financial literacy) เข้าไปในผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การทำแบบนี้ย่อมดีกว่าใช้วิธีจัดอบรมลูกค้าคราวละไม่กี่สิบหรือร้อยคนในกิจกรรมซีเอสอาร์ แต่ยังมีเรื่องที่ต้องทำอีกมากมาย ก่อนที่ภาคธนาคารไทยจะขับเคลื่อนไปสู่การเงินที่เป็นธรรม (พื้นที่โฆษณา – ชวนทุกท่านติดตามเว็บไซต์ Fair Finance Thailand)

ประเด็นความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการกับผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ในสังคม ไม่เฉพาะแต่ผู้บริโภค นับวันจะเป็นประเด็นที่แหลมคมและเร่งด่วนขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ สังคม และความยุติธรรมสูงมากอย่างไทย

เมื่อความเสียหายที่เกิดจากต้นทุนภายนอกเชิงลบ (negative externalities) ชัดเจนและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ผู้ก่อความเสียหายไม่ใช่ผู้ที่ต้องแบกรับความเสียหาย ก็ไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้ยินภาษาความเป็นธรรม ภาษา “สิทธิ” ถูกใช้กับภาคธุรกิจมากขึ้น วันนี้องค์การสหประชาชาติบอกว่า บริษัทต้องมีส่วนรับผิดชอบในการเคารพสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเยียวยาในกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิ

วันนี้คนกรุงเทพฯ มากขึ้นเรื่อย ๆ ตื่นตัวกับปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 และพร้อมที่จะเรียกร้องสิทธิในอากาศสะอาด หลังจากที่คนจังหวัดอื่นเดือดร้อนกับเรื่องนี้มานานหลายปีแล้ว และเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา (2562) เด็กสาวจากสวีเดนวัย 16 ปี ก็นำการชุมนุมเรียกร้องมาตรการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่มีผู้เข้าร่วมทั่วโลกมากกว่า 4 ล้านคน เพียงหนึ่งปีเท่านั้นจากวันที่เธอโดดเรียนวันศุกร์มานั่งประท้วงอย่างเดียวดายหน้ารัฐสภาสวีเดน

การชุมนุมที่นำโดย เกรียตา ทุนแบร์ย ไม่เพียงแต่เป็นการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเคลื่อนไหวที่มีเด็กและหนุ่มสาวเข้าร่วมมากที่สุดด้วย

เหตุผลง่ายๆ ก็คือ เยาวชนรวมถึงคนรุ่นหลังที่ยังไม่เกิด คือคนที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก climate change โดยไม่มีสิทธิเลือก เพราะผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในปัจจุบันยังไม่ลงมือรับมือกับปัญหานี้ในระดับที่เพียงพอและทันต่อความรุนแรงเร่งด่วนของปัญหา

พูดอีกอย่างก็คือ ผู้ใหญ่ยังไม่ให้ความเป็นธรรมกับเยาวชนและคนรุ่นหลังมากพอ

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ ถึงเวลาแล้วที่เราจะมองเรื่องความเป็นธรรมอย่างลึกซึ้ง มองมันในฐานะเป้าหมายและคุณค่าที่เราเชื่อมั่น และในฐานะสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

ระดับความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเองจะช่วยกำหนดว่า ผู้เล่นหน้าใหม่จะมีแรงจูงใจเข้าตลาดมากน้อยขนาดไหน การแข่งขันจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด และผู้เล่นจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจริง ๆ หรือเพียงแต่เพิ่มความสามารถในการตักตวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจ

ระดับความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการกับผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายต่าง ๆ ในสังคม จะช่วยกำหนดว่าการแข่งขันจะนำเราไปสู่อะไร สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่

หมดสมัยแล้วที่จะพูดถึงการแข่งขันแบบลอย ๆ โดยไม่ดูว่าเส้นชัยอยู่ที่ไหน มันอาจอยู่ก้นเหวหรือใต้ทะเลก็เป็นได้

และถ้าเราเห็นว่าความเป็นธรรมเป็นเรื่องสำคัญ เราก็ต้องใส่ใจกับการคุ้มครอง ลดต้นทุนและความเสี่ยงของผู้ที่กล้าออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ทั้งในและนอกสนามแข่งขัน

มีแต่การแข่งขันที่เป็นธรรมเท่านั้น ที่จะนำไปสู่การแข่งขันที่เสรีอย่างแท้จริง และพลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืน

ขอบคุณมากค่ะ