ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด 7 ฉาก จากสงครามในยูเครน

แปลจาก Seven Worst-Case Scenarios From the War in Ukraine โดย Niall Ferguson

3 เมษายน 2022

ลองคิดถึงฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด

ก่อนหน้านี้ผมเสนอว่า สถานการณ์โลกวันนี้ดูคล้ายกับทศวรรษ 1970 มากกว่าช่วงเวลาอื่นใดทั้งหมด เรากำลังอยู่ในสิ่งที่เรียกได้ว่าสงครามเย็นรอบใหม่ กำลังเจอปัญหาเงินเฟ้อแล้ว สงครามในยูเครนเหมือนกับการโจมตีอิสราเอลของเหล่ารัฐในตะวันออกกลางในปี 1973 หรือการรุกรานอัฟกานิสถานของโซเวียตในปี 1979 ผลกระทบทางเศรษฐกิจของสงครามต่อราคาพลังงานและราคาอาหารกำลังสร้างความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฟุบเฟ้อ (stagflation)

แต่ถ้าหากนี่ไม่ใช่ปี 1979 แต่เป็น 1939 ดังที่นักประวัติศาสตร์ ชอน แม็คมีคิน เสนอล่ะ? แน่นอนว่าสถานการณ์ของยูเครนวันนี้ดีกว่าสถานการณ์ของโปแลนด์ในปี 1939 มาก อาวุธจากตะวันตกกำลังไปถึงยูเครน ขณะที่โปแลนด์ไม่เคยได้รับเลยหลังจากที่นาซีเยอรมันบุก ยูเครนเผชิญภัยคุกคามจากรัสเซียประเทศเดียว ขณะที่โปแลนด์ถูกแบ่งเค้กระหว่างฮิตเลอร์กับสตาลิน

ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากว่าเรามองสงครามโลกครั้งที่สองว่าเป็นการเกาะเกี่ยวกันของสงครามย่อมๆ หลายครั้ง การเปรียบเทียบนี้ก็ดูเป็นไปได้มากขึ้น สหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรทั้งหลายต้องคำนึงถึงวิกฤติภูมิรัฐศาสตร์ 3 วิกฤติ ไม่ใช่วิกฤติเดียว ซึ่งทั้งหมดนั้นอาจเกิดขึ้นติดกันอย่างรวดเร็ว ดังเช่นเมื่อครั้งญี่ปุ่นก่อสงครามกับจีนก่อนเกิดสงครามในยุโรปตะวันออก และจากนั้นก็ตามมาด้วยสงครามที่ฮิตเลอร์ก่อกับยุโรปตะวันตกในปี 1940 และสงครามที่ญี่ปุ่นก่อกับสหรัฐอเมริกาและอาณานิคมยุโรปในเอเชีย ปี 1941 ถ้าหากปีหน้าจีนจะรุกรานไต้หวัน และถ้าหากสงครามปะทุขึ้นระหว่างอิหร่านกับศัตรูในภูมิภาคนั้นซึ่งเกาะเกี่ยวกันแน่นหนาขึ้นเรื่อยๆ – นั่นคือ รัฐอาหรับและอิสราเอล – เราก็อาจจะต้องเริ่มพูดถึงสงครามโลกครั้งที่สาม ไม่ใช่แค่สงครามเย็นครั้งที่สอง

คุณจะรู้สึกอย่างไรถ้าหากคุณคิดอย่างจริงจังว่า สงครามโลกครั้งที่สามกำลังใกล้เข้ามา? สมัยเป็นวัยรุ่น ผมอ่านไตรภาคของซาตร์ (Sartre) ว่าด้วยปัญญาชนชาวฝรั่งเศสในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง อ่านอย่างหิวกระหาย เล่มแรกชื่อ “ยุคแห่งเหตุผล” ผมจำได้ว่ารู้สึกถึงความหวั่นวิตกถึงก้นบึ้งจิตวิญญาณของตัวละครของเขา (ในอุปมาอุปไมยซึ่งสะท้อนแนวคิดสุญนิยมที่ครอบงำปารีสก่อนสงคราม ความคิดแรกของ มาธิเออ ตัวเอกของเรื่อง ทันทีที่ได้ยินว่า มาร์เซลล์ เมียเก็บของเขาตั้งท้อง ก็คือความคิดว่าจะพาเธอไปทำแท้งที่ไหนได้) นั่นคือปี 1938 และเงาทะมึนแห่งหายนะก็แผ่คลุมทุกคน

หลายปีแล้วที่ผมไม่ได้คิดถึงหนังสือชุดนี้ มันย้อนมาในทรงจำหลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เพราะผมตระหนักอย่างขนหัวลุก ถึงความรู้สึกที่ว่าหายนะกำลังจะมาเยือนอย่างแน่นอน แม้กระทั่งวันนี้ หลังจากที่สงครามผ่านไป 5 สัปดาห์ สงครามที่โดดเด่นด้วยความสำเร็จเยี่ยงวีรบุรุษของชาวยูเครนผู้ต่อต้านผู้รุกรานจากรัสเซีย ผมก็ยังไม่อาจสลัดทิ้งความรู้สึกไม่สบายใจที่ว่า นี่เป็นเพียงฉากโหมโรงเท่านั้นของโศกนาฎกรรมที่ใหญ่กว่านี้มากนัก

ผมไปเยือนกรุงเคียฟครั้งสุดท้ายตอนต้นเดือนกันยายนปีกลาย [2021] ที่นั่นผมวางเดิมพันกับ สตีเวน พิงเกอร์ นักจิตวิทยาจากฮาร์วาร์ด เดิมพันของผมคือ “กว่าจะจบทศวรรษนี้ วันที่ 31 ธันวาคม 2029 สงครามกระแสหลักหรือสงครามนิวเคลียร์จะคร่าชีวิตคนมากกว่า 1 ล้านชีวิต” ผมหวังอย่างจริงจังว่าจะแพ้พนันนี้ แต่ความรู้สึกหวั่นวิตกของผมใช่ว่าจะไร้เหตุผล วันนั้นที่ผมนั่งในเคียฟ ครุ่นคิดเรื่องเจตนาของ วลาดิมีร์ ปูติน และความเปราะบางของยูเครน ผมก็มองเห็นว่าสงครามกำลังจะมา และในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สงครามในยูเครนก็นองเลือดสาหัสมาก

หลังจากที่พิงเกอร์ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง “The Better Angels of Our Nature” (นางฟ้าด้านดีของธรรมชาติเรา) ในปี 2012 เขากับผมก็เถียงกันตลอดว่าโลกนี้มีสันติภาพมากขึ้นหรือเปล่า หรือจะพูดให้ชัดคือ มีแนวโน้มจริงไหมที่สงครามจะเกิดขึ้นในจำนวนน้อยลงและคร่าชีวิตคนน้อยลง ข้อมูลที่เขาหยิบขึ้นมาอ้างในหนังสือเล่มนั้น (บทที่ 5 และ 6) ชี้ว่าดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น

พิงเกอร์อ้างสองเรื่อง เรื่องแรก มหาอำนาจต่างๆ ในโลกมี “สันติภาพอันยาวนาน” (long peace) ระหว่างกันตั้งแต่ประมาณปี 1945 เป็นต้นมา ซึ่งแปลกแยกชนิดตรงกันข้ามกับยุคก่อนๆ ที่มหาอำนาจขัดแย้งกันตลอดเวลา เรื่องที่สอง วันนี้โลกมี “สันติภาพใหม่” ซึ่งมีลักษณะ “สงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการก่อการร้ายลดจำนวนลงอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา แม้จะเกิดขึ้นเป็นพักๆ”

กล่าวโดยสรุป พิงเกอร์เสนอว่า “ความรุนแรงลดน้อยถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ…. เกิดจากเงื่อนไขทางการเมือง เศรษฐกิจ และอุดมการณ์” เขากล้าพยากรณ์แบบทีเล่นทีจริงด้วยว่า “ความน่าจะเป็นที่ความรุนแรงขนาดใหญ่จะเกิดขึ้นในทศวรรษหน้า – นั่นคือ ความขัดแย้งที่มีผู้เสียชีวิต 100,000 คนต่อปี หรือเสียชีวิตรวมกัน 1 ล้านคน อยู่ที่ร้อยละ 9.7” ชัดเจนว่าผมคิดว่ามันสูงกว่านั้นมาก

ทั่วโลกมีนักรัฐศาสตร์มากมายที่มองเหมือนกับพิงเกอร์ว่า โลกเรารุนแรงน้อยลงมาก และสุ่มเสี่ยงน้อยลงมากที่จะเกิดสงครามครั้งใหญ่ ในบทความชิ้นหนึ่งเมื่อไม่นานนี้ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือ มี นิลส์ เพตเตอร์ เกลดิทช์ แห่งสถาบันวิจัยสันติภาพในกรุงออสโลว์เป็นบรรณาธิการ ไมเคิล สปากัต และ สตีน วอน วีเซล คำนวณอัตราการตายในการสู้รบต่อประชากร 100,00 คน โดยใช้ข้อมูลระหว่างรัฐและสงครามกลางเมืองในประเทศต่างๆ ตั้งแต่ปี 1816 เป็นต้นมา ทั้งสองชี้ว่ามีจุดเปลี่ยนเชิงโครงสร้างในปี 1950 โลกหลังจากนั้นมีสันติภาพโดยพื้นฐานมากกว่าหนึ่งศตวรรษครึ่งก่อนหน้านั้น

ปัญหาของวิธีทำนองนี้ (ซึ่งพิงเกอร์ก็ยอมรับ) ดูออกง่าย ต่อให้เป็นความจริงที่โลกสุ่มเสี่ยงว่าจะเจอสงครามใหญ่ๆ น้อยลงนับตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา สถิติก็มอบความเชื่อมั่นให้กับเราไม่ได้ว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไปในอนาคต ความจริงที่ลึกซึ้งและน่าฉงนข้อนี้ถูกชี้ให้เราเห็นเป็นครั้งแรกโดยพหูสูตชาวอังกฤษ ผู้ถือกำเนิดมากกว่า 140 ปีที่แล้ว

ลูวิส ฟราย ริชาร์ดสัน ถูกฝึกเป็นนักฟิสิกส์และก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ในอาชีพของเขาทำงานเรื่องอุกกาบาตวิทยา งานวิจัยของเขาเรื่องสงครามไม่เป็นที่รู้จักตลอดอายุขัยของเขา (ตำแหน่งทางวิชาการสูงสุดของเขาอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคเพสลีย์ ในสกอตแลนด์) กว่าจะหาผู้จัดพิมพ์หนังสือสองเล่มของเขาเกี่ยวกับความขัดแย้งเจอ เรื่อง “Arms and Insecurity” (อาวุธกับความไม่มั่นคง) และ “Statistics of Deadly Quarrels” (สถิติว่าด้วยการวิวาทถึงฆาต) เวลาก็ล่วงเลยมาถึงปี 1960 หลังจากที่ริชาร์ดสันล่วงลับไปแล้ว 7 ปี

ริชาร์ดสันนิยาม “วิวาทถึงฆาต” ว่า “การวิวาทใดๆ ก็ตามที่ทำให้มนุษย์ถึงแก่ชีวิต” ไม่เฉพาะแต่สงคราม แต่รวมถึง “ฆาตกรรม โจรกรรม การก่อกบฏ การลุกฮือ” แต่ไม่รวมความตายทางอ้อมจากภาวะทุพภิกขภัยและโรคต่างๆ เขารายงานอัตราการตายในวิวาทถึงฆาตโดยใช้ลอการิทึมฐาน 10 เพื่อสร้างสเกลริกเตอร์ของความขัดแย้งถึงฆาต

ในการวิเคราะห์ “วิวาทถึงฆาต” ระหว่างปี 1820 และ 1950 ริชาร์ดสันพบว่ามีเพียงสงครามโลกสองครั้งเท่านั้นที่เป็นการวิวาทระดับ 7 นั่นคือ การวิวาทที่มีคนตายหลักสิบล้าน คนที่ตายในสงครามโลกสองครั้งคิดเป็น 3 ใน 5 ของคนตายทั้งหมดในกลุ่มตัวอย่างของเขา

ริชาร์ดสันพยายามควานหาแบบแผนในข้อมูลวิวาทถึงฆาตของเขา แบบแผนที่อาจบอกอะไรๆ กับเราเกี่ยวกับจังหวะการเกิดและขนาดของสงคราม โลกมีแนวโน้มระยะยาวที่จะมีสงครามมากขึ้นหรือน้อยลง คำตอบคือ ไม่มี ข้อมูลบ่งชี้ว่าสงครามกระจายตัวแบบสุ่ม ริชาร์ดสันเขียนว่า “ข้อมูลโดยรวมไม่ได้บ่งชี้แนวโน้มใดๆ ว่าการวิวาทถึงฆาตจะมีมากขึ้นหรือน้อยลง”

ข้อค้นพบของริชาร์ดสันถูกทำซ้ำโดย พาสควาล ซิริลโล และ นัสซิม นิโคลัส ทาเลบ และเมื่อไม่นานมานี้ก็รวม อารอน เคลาเซ็ต ด้วย (บทความเขารวมอยู่ในหนังสือที่เกลดิทช์เป็นบรรณาธิการด้วย) จริงอยู่ โลกรุนแรงน้อยลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เทียบกับครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 หรือศตวรรษที่ 19 แต่ดังที่เคลาเซ็ตเขียนว่า “สันติภาพอันยาวนานอาจไม่ใช่หลักฐานที่บอกว่าโอกาสเกิดสงครามขนาดใหญ่เปลี่ยนไป… ความเป็นไปได้ของสงครามขนาดยักษ์ [ใหญ่เท่ากับสงครามโลกครั้งที่ 2] นั้นคงที่… สันติภาพอันยาวนานต้องรอเวลา 100 ปีไปในอนาคต เราจึงจะแยกมันในทางสถิติออกจากความผันผวนขนาดใหญ่แบบสุ่ม ในกระบวนการที่หยุดนิ่งถ้าไม่นับเรื่องนี้”

พูดง่ายๆ คือ เร็วเกินไปที่เราจะบอกได้ว่า “สันติภาพอันยาวนาน” บ่งชี้การเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานหรือไม่ เราปฏิเสธความเป็นไปได้ของสงครามโลกครั้งที่ 3 ไม่ได้ จนกว่าสันติภาพจะอยู่ยั้งยืนยงจนถึงสิ้นศตวรรษนี้

วิธีคิดเรื่องนี้อีกวิธี คิดแบบเป็นประวัติศาสตร์กว่านี้ คือการบอกว่าการเรียกยุคแห่งสงครามเย็น “สันติภาพอันยาวนาน” มองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าโลกขยับเข้าใกล้หายนะจากระเบิดนิวเคลียร์มากกว่าหนึ่งครั้ง ความจริงที่ว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 ไม่ได้ปะทุขึ้นในปี 1962 หรือ 1983 เป็นเรื่องของโชคมากกว่าความก้าวหน้าของมนุษย์ ในโลกที่อย่างน้อยสองประเทศมีขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่สามารถทำลายล้างมนุษยชาติส่วนใหญ่ได้ สันติภาพอันยาวนานก็จะดำรงอยู่นานเท่ากับที่ผู้นำของประเทศเหล่านั้นปฏิเสธจะริเริ่มสงครามนิวเคลียร์เท่านั้นเอง

ข้อนี้นำเรากลับมายังการรุกรานยูเครนของรัสเซีย เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ผมเสนอว่าผลลัพธ์ของสงครามนี้ขึ้นอยู่กับคำตอบของคำถามเจ็ดข้อ ลองมาอัพเดทคำตอบเหล่านั้นกัน

1. รัสเซียจะยึดครองเคียฟและจับกุม โวโลดิมีร์ ซาเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้ในเวลา 2, 3, 4 สัปดาห์ หรือว่าไม่มีวัน?

คำตอบดูเหมือน “ไม่มีวัน”

ถึงแม้จะเป็นไปได้ที่เครมลินเพียงแต่ถอนกำลังบางส่วนจากรอบกรุงเคียฟชั่วคราว วันนี้แทบไม่มีข้อสงสัยแล้วว่ารัสเซียเปลี่ยนแผน ในแถลงการณ์วันที่ 25 มีนาคม นายพลรัสเซียอ้างว่าพวกเขาไม่เคยมีเจตนาที่จะยึดกรุงเคียฟหรือคาร์คิฟ การโจมตีเมืองเหล่านั้นเพียงแต่มุ่งเบี่ยงเบนความสนใจและทำให้กองทัพของยูเครนอ่อนแรง เป้าหมายที่แท้จริงของรัสเซียตลอดมาคือการเข้าควบคุมภูมิภาคดอนบาสทางตะวันออกของประเทศ

คำกล่าวนี้ฟังเหมือนกับหาเหตุผลมาอธิบายความสูญเสียใหญ่หลวงของรัสเซียตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการรุกรานยูเครน ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอะไรก็ตาม ตอนนี้เราจะมาดูกันว่ากองทัพของปูตินจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่จำกัดกว่า นั่นคือ ปิดล้อมกองกำลังยูเครนในดอนบาส และบางทีอาจรวมถึงการควบคุม “สะพานแผ่นดิน” ระหว่างรัสเซียกับไครเมีย ตลอดชายฝั่งทะเลอาซอฟได้หรือไม่ สิ่งเดียวที่ใครๆ ตอบได้อย่างมั่นใจก็คือ ทั้งหมดนี้จะเป็นกระบวนการที่เชื่องช้าและนองเลือด ดังที่เราเห็นชัดเจนแล้วจากการสู้รบแสนอำมหิตในมาริอูโปล

2. การคว่ำบาตรจะทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียหดตัวอย่างรุนแรงเสียจนปูตินไม่อาจได้รับชัยชนะหรือไม่?

แน่นอน เศรษฐกิจของรัสเซียได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการคว่ำบาตรของโลกตะวันตก แต่ผมยังมองว่ารัสเซียยังไม่ได้รับผลกระทบหนักจนต้องหยุดทำสงคราม ตราบใดที่รัฐบาลเยอรมันยังไม่ห้ามนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย ปูตินก็ยังคงมีเงินสดมากพอที่จะพยุงเศรษฐกิจช่วงสงครามของเขาเอาไว้ได้ หลักฐานที่ดีที่สุดของข้อนี้คือการฟื้นตัวอย่างน่าทึ่งของอัตราแลกเปลี่ยนรูเบิลกับดอลลาร์ ก่อนสงคราม 1 ดอลลาร์ซื้อได้ 81 รูเบิล หลังจากที่รัสเซียบุก อัตราแลกเปลี่ยนหล่นลงไปอยู่ที่ 140 พอถึงวันพฤหัสที่ผ่านมา [31 มีนาคม 2565] มันเด้งกลับไปที่ 81 รูเบิลแล้ว หลักๆ สะท้อนส่วนผสมของการจ่ายเงินซื้อน้ำมันและก๊าซรัสเซียจากต่างชาติ และมาตรการควบคุมการไหลเวียนของทุนของรัสเซีย

รูเบิลเด้ง

สกุลเงินของรูเบิลฟื้นคืนมูลค่าที่สูญไปหลังการบุกยูเครน

3. วิกฤติทางทหารและวิกฤติทางเศรษฐกิจรวมกันจะทำให้คนวงในก่อรัฐประหารโค่นปูตินหรือไม่?

ผมเสนอเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วว่า รัฐบาลไบเดนกำลังเดิมพันว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบในมอสโคว์ ข้อนี้เราเห็นชัดเจนตั้งแต่ผมเขียนชิ้นนั้น รัฐบาลสหรัฐวันนี้ไม่เพียงแต่ติดป้ายปูตินว่า อาชญากรสงคราม และริเริ่มกระบวนการเอาผิดกลุ่มคนรัสเซียที่ก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน ในช่วงท้ายสุนทรพจน์ที่กรุงวอร์ซอว์เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว [27 เมษายน 2565] โจ ไบเดน กล่าวคำ 9 คำที่จะเข้าสู่หนังสือประวัติศาสตร์ – “พระเจ้าช่วยด้วย ผู้ชายคนนี้จะอยู่ในอำนาจต่อไปไม่ได้” (For God’s sake, this man cannot remain in power.)

บางคนอ้างว่าเขาแค่พูดลอยๆ เป็นสร้อยตามคำกล่าวสรุป เจ้าหน้าที่สหรัฐพยายามบ่ายเบี่ยงว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้าอ่านสุนทรพจน์ทั้งฉบับ มีการอ้างถึงการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินและสหภาพโซเวียตหลายครั้ง พูดถึงการสู้รบครั้งใหม่ในยุคของเรา “ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ ระหว่างเสรีภาพและการกดขี่ ระหว่างระเบียบที่ตั้งอยู่บนกติกา และระเบียบที่ใช้กำลังควบคุม” ผมไม่สงสัยเลยว่าสหรัฐอเมริกา (และประเทศพันธมิตรในยุโรปอย่างน้อยบางประเทศ) กำลังพุ่งเป้าไปที่การโค่นปูติน

4. ความเสี่ยงที่จะถูกโค่นลงจากอำนาจ จะทำให้ปูตินลงมือใช้มาตรการจนตรอกหรือไม่ (เช่น ลงมือทำตามคำขู่ของเขาเรื่องนิวเคลียร์)?

คำถามนี้ตอนนี้สำคัญมาก ไบเดนและเหล่าที่ปรึกษาของเขาดูมั่นใจอย่างน่าทึ่งว่า ส่วนผสมของการสูญเสียในยูเครนและการคว่ำบาตรรัสเซียจะก่อให้เกิดวิกฤติการเมืองในมอสโคว์ คล้ายกับวิกฤติที่ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อ 31 ปีที่แล้ว แต่ปูตินไม่เหมือนกับทรราชในทวีปตะวันออกกลางที่หล่นจากอำนาจในช่วงสงครามอิรักและการประท้วงอาหรับสปริง เขามีอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงอยู่ในมือแล้ว รวมถึงคลังขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อาวุธเคมี และไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีอาวุธชีวภาพด้วย

คนที่อ้างก่อนเวลาว่ายูเครนได้รับชัยชนะแล้ว ดูเหมือนจะลืมไปว่ายิ่งสถานการณ์ของรัสเซียในสงครามกระแสหลักแย่ลงเพียงใด ความเป็นไปได้ที่ปูตินจะใช้อาวุธเคมี หรืออาวุธนิวเคลียร์ขนาดเล็ก ก็ยิ่งสูงขึ้นเพียงนั้น อย่าลืมว่าเป้าหมายของเขาตั้งแต่ปี 2014 คือ การป้องกันไม่ให้ยูเครนกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยฝักใฝ่ตะวันตกที่มีเสถียรภาพ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันตะวันตกอย่าง นาโต้ และสหภาพยุโรป ทุกวันที่เกิดความตาย การทำลายล้างและคนไร้ที่อยู่อาจทำให้ปูตินเชื่อว่าเขากำลังบรรลุเป้าหมายนั้น ให้ยูเครนเป็นห้องดับจิตเปล่าเปลี่ยวดีกว่าเป็นประเทศเสรี

ที่สำคัญกว่านั้นคือ ถ้าหากปูตินเชื่อว่าสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตั้งเป้าจะโค่นเขา และถ้าหากยูเครนโจมตีเป้าหมายในประเทศรัสเซียต่อไป ซึ่งก็ดูเหมือนจะทำเช่นนั้นเป็นครั้งแรกในเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา [31 มีนาคม 2565 หมายถึงการโจมตีคลังน้ำมันในเมืองเบลโกรอด ประเทศรัสเซีย] – ปูตินก็น่าจะยกระดับความขัดแย้งขึ้นไปอีก แทนที่จะลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างว่าง่าย

คนที่ปฏิเสธความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 มองข้ามความจริงอันน่าหดหู่ ในสมัยสงครามเย็น นาโต้คือฝ่ายที่ไม่อาจคาดหวังได้ว่าจะเอาชนะรัสเซียในสงครามกระแสหลัก นั่นคือสาเหตุที่นาโตมีหัวรบนิวเคลียร์ที่พร้อมยิงใส่กองทัพแดงถ้าหากว่าบุกเข้าไปในยุโรปตะวันตก แต่มาวันนี้รัสเซียไม่มีโอกาสเลยที่จะเอาชนะนาโต้ได้ในสงครามกระแสหลัก นั่นคือสาเหตุที่ปูตินมีหัวรบนิวเคลียร์ที่พร้อมยิงใส่กองทัพตะวันตกถ้าโจมตีรัสเซีย และเครมลินก็พูดแล้วว่าการโจมตีแบบนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ [2565] นิโคไล ปาตรูเชฟ เลขาธิการสภาความมั่นคงรัสเซีย พูดว่า “ในเอกสารทางการ สหรัฐอเมริกาเรียกรัสเซียว่าเป็นศัตรู” และเป้าหมายของสหรัฐ “อยู่ที่การล่มสลายของสหพันธรัฐรัสเซีย” ต่อมาในวันที่ 16 มีนาคม ปูตินประกาศว่าตะวันตกกำลัง “ก่อสงครามด้วยวิถีทางเศรษฐกิจ การเมือง และข้อมูลข่าวสาร” ที่ “มีลักษณะครอบคลุมและโจ่งแจ้ง”

“สงครามไฮบริดที่แท้จริง สงครามจริงๆ ถูกประกาศต่อต้านเราแล้ว” เซอร์ไก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียกล่าวเมื่อวันจันทร์ [4 เมษายน 2565] เป้าหมายของสงครามนี้คือ “ทำลาย หั่นเป็นชิ้นๆ และบีบรัดเศรษฐกิจของรัสเซีย ทำลายรัสเซียทั้งประเทศ”

5. จีนจะพยุงปูตินเอาไว้ ภายใต้เงื่อนไขว่าเขายอมรับสันติภาพแบบประนีประนอมที่จีนเสนอเป็นตัวกลางหรือไม่?

วันนี้ค่อนข้างชัดเจน (โดยเฉพาะจากข้อมูลข่าวสารภายในประเทศจีน เผยแพร่โดยสื่อที่รัฐควบคุม) ว่ารัฐบาลจีนจะยืนข้างรัสเซีย แต่ไม่เข้าข้างถึงขนาดที่จะจุดประกายให้สหรัฐคว่ำบาตรสถาบันของจีนที่ทำธุรกิจกับองค์กรของรัสเซียในทางที่ละเมิดการคว่ำบาตรของตะวันตก ผมไม่คาดหวังอีกต่อไปแล้วว่าจีนจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเจรจาสันติภาพ การประชุมสุดยอดออนไลน์ที่เย็นชาเมื่อวันศุกร์ [1 เมษายน 2565] ระหว่างผู้นำสหภาพยุโรปกับจีนยืนยันข้อนี้

6. อาการสมาธิสั้นของเราจะจู่โจมก่อนเกิดเรื่องเหล่านี้ทั้งหมดไหม?

น่าคิดว่าเราเจออาการสมาธิสั้นไปแล้วหลังจากที่ข่าวสงครามเดินตามวัฏจักรมา 4 สัปดาห์ ในจังหวะที่ วิล สมิธ ตบหน้า คริส ร็อค ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว แต่คำตอบที่ซับซ้อนกว่านั้นคือ ในอีกหลายเดือนข้างหน้า เสียงสนับสนุนยูเครนจากประชาชนในโลกตะวันตกจะถูกทดสอบด้วยราคาอาหารและราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับความเข้าใจผิดที่ว่า ยูเครนกำลังชนะสงคราม ไม่ใช่ว่าเพียงแต่กำลังไม่แพ้

7. ผลพวงลูกหลงคืออะไร?

โลกมีปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงและเลวร้ายลง ธนาคารกลางต่างๆ รับมือกับปัญหาช้ามาก ยิ่งสงครามนี้ทอดยาวไปเพียงใด ยิ่งเกิดภัยคุกคามว่าจะเกิดภาวะฟุบเฟ้อ (stagflation เงินเฟ้อสูงแต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำหรือติดลบ) ปัญหานี้จะรุนแรงมากในประเทศที่พึ่งพารัสเซียกับยูเครนอย่างมาก ไม่เฉพาะพลังงานและธัญพืช แต่รวมถึงปุ๋ยด้วย ราคาปุ๋ยขึ้นมาราวสองเท่าแล้วจากสงคราม ใครก็ตามที่เชื่อว่าสงครามนี้จะไม่ก่อผลพวงเชิงลบทางสังคมและทางการเมือง คือคนที่ไม่ใส่ใจประวัติศาสตร์

“แล้วทีนี้ อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป” คือคำถามที่มีคนถามผมบ่อยครั้ง ถ้าจะไปถึงบรรทัดสุดท้าย เราควรกลับไปที่รัฐศาสตร์ เริ่มจากข้อเสนอที่ว่าควรมองโลกในแง่ดี (ซึ่งในความคิดของผมเท่ากับ “นี่คือทศวรรษ 1970 ไม่ใช่ 1940”) มุมมองนี้บอกว่า สงครามส่วนใหญ่มีอายุสั้น บทความปี 1996 โดย ดี. สก็อตต์ เบนเนตต์ และ อัลลัน ซี. สแตม ที่สาม ระบุว่าระยะเวลาเฉลี่ย (ค่าเฉลี่ย) ของสงครามระหว่างปี 1816 และ 1985 อยู่ที่ 15 เดือนเท่านั้น สงครามมากกว่าครึ่งหนึ่งในกลุ่มตัวอย่างของพวกเขา (60%) กินเวลาไม่ถึง 6 เดือน และเกือบ 1 ใน 4 (23%) กินเวลาน้อยกว่า 2 เดือน มีสงครามน้อยกว่า 1 ใน 4 (19%) ที่กินเวลานานกว่า 2 ปี ดังนั้นจึงมีโอกาสอยู่บ้างที่สงครามในยูเครนจะจบภายในเวลาไม่นาน

สงครามกินเวลานานขนาดไหน

ความขัดแย้งส่วนใหญ่ระหว่างปี 1816 และ 1985 สิ้นสุดภายในเวลา 1 ปี

ในเมื่อรัสเซียกำลังดิ้นรนไขว่คว้าแม้ชัยชนะวงจำกัดในยูเครน ปูตินจึงดูไม่น่าจะยกระดับในทางที่จะทำให้เขาเข้าสู่ความขัดแย้งที่ขยายวงกว้างกว่าเดิม ดังนั้นเราจึงน่าจะเห็นสัญญาหยุดยิงในอีก 5 สัปดาห์ ราวต้นเดือนพฤษภาคม เพราะถึงตอนนั้นรัสเซียจะสามารถบรรลุการปิดล้อมกองกำลังยูเครนในดอนบาสได้สำเร็จ หรือไม่พวกเขาก็จะล้มเหลว ไม่ว่าทางไหนก็ตาม รัสเซียต้องให้เวลาทหารตัวเองได้พัก กระบวนการเกณฑ์และฝึกทหารใหม่กำลังดำเนินไป แต่ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนก่อนที่ทหารเกณฑ์จะพร้อมรบ

อย่างไรก็ดี การบรรลุสันติภาพจะต้องใช้เวลานานกว่านี้มาก จุดยืนของยูเครนดูแข็งกร้าวขึ้นทุกวันที่ประชาชนต้านทานรัสเซีย โดยเฉพาะในประเด็นอธิปไตยเหนือดินแดน (สถานะในอนาคตของ โดเนตส์ก์ ลูฮันส์ก์ และรวมถึงไครเมียด้วย) ผมจินตนาการได้เลยว่าสัญญาหยุดยิงอาจไม่เป็นผล ความพยายามที่จะคว้าความได้เปรียบอาจนำไปสู่การปะทะกันต่อเนื่อง – และทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นนานกว่าที่คนวันนี้คาดคิด นั่นหมายความว่าการคว่ำบาตรรัสเซียก็จะยังคงดำเนินต่อไป ต่อให้มันอาจไม่เข้มงวดไปกว่านี้แล้ว

ข้อสรุปข้างต้นตรงกันกับงานศึกษาหลายชิ้นเรื่องระยะเวลาสงคราม “เมื่อ[ทั้งสองฝ่าย]มีศักยภาพที่สังเกตได้ในระดับทัดเทียมกัน” บรานิสลาฟ สลานท์เชฟ เขียนในปี 2004 “ก็มีแรงจูงใจสูงสุดที่จะถ่วงเวลากว่าจะหาข้อตกลงร่วมกัน และสงครามก็มีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อ” ในบทความชิ้นสำคัญปี 2011 สก็อตต์ วอลฟอร์ด, แดน เรย์เตอร์ และ คลิฟฟอร์ด เจ. คารูบบา เสนอกฎสามข้อที่ฟังดูขัดแย้งกับสามัญสำนึก

  1. ความไม่แน่นอนในการสู้รบอาจทำให้สงครามดำเนินต่อไป ไม่ใช่สิ้นสุดลง
  2. ยิ่งสงครามดำเนินไปนานเท่าไร มันก็มีความเป็นไปได้มากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง ที่จะสิ้นสุดลง
  3. เป้าประสงค์ในสงครามมักจะเพิ่มจำนวนขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ใช่น้อยลง เป็นปฏิกิริยาต่อความไม่แน่นอน

เราจะหลีกเลี่ยง “สันติภาพที่ไม่สันติ” อันยืดเยื้อแบบนี้ได้อย่างไร สันติภาพแบบนี้รุนแรงมากเกินกว่าจะเรียกว่า “ความขัดแย้งแช่แข็ง” (frozen conflict) แบบที่รัสเซียทำในมอลโดวาและจอร์เจีย บางทีไบเดนอาจโชคดี ปูตินอาจถูกโค่นโดยสมาชิกชนชั้นนำรัสเซียที่ตีตัวออกห่างและชาวมอสโคว์ที่หิวกระหาย แต่ผมไม่อยากพนันเรื่องนี้นะ  (และถึงอย่างไรก็ตาม การปฏิวัติในรัสเซียจะเป็นผลดีกับเรา หรือดีกับประเทศจีน มากกว่าสถานการณ์ปัจจุบันอย่างไรล่ะ การหล่นจากอำนาจของ ซัดดัม ฮุสเซน เป็นผลดีกับเราหรือกับอิหร่านมากกว่าเดิมไหมครับ?)

การหล่นจากอำนาจของปูตินจะเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะเกิดสันติภาพถาวรในยูเครนอย่างแน่นอน อเล็กซ์ ไวซิเกอร์ จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย เสนอว่า “การทดแทนผู้นำดั้งเดิมอาจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแปลงบทเรียนจจากสมรภูมิรบเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย… โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยต่ำ… การเปลี่ยนตัวผู้นำมีความเชื่อมโยงกับการสิ้นสุด[ของสงคราม]… การเปลี่ยนตัวผู้นำเป็นคนใหม่ที่ไม่ได้ทำผิด คนที่จะยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ที่จำเป็นต่อการจบสงคราม มีแนวโน้มว่าจะเกิดมากขึ้นเมื่อสงครามเริ่มไปได้แย่”

เยี่ยมเลย! แต่ปัญหาก็คือ “การเปลี่ยนตัวผู้นำ” แบบนี้เป็นข้อยกเว้น ไม่ได้เกิดเป็นปกติ ในบรรดาผู้นำจำนวน 355 คน ในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ของสงครามระหว่างรัฐ ในการศึกษาของ ซาราห์ โครโค มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ มีเพียง 96 คนเท่านั้นที่ถูกเปลี่ยนตัวก่อนจบสงคราม ในจำนวนนี้มี 51 คนที่ “ไม่ได้ทำผิด” นั่นคือ คนที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล ณ จุดเริ่มต้นของสงคราม พูดอีกอย่างก็คือ สงครามส่วนใหญ่จบลงด้วยน้ำมือของผู้นำคนเดียวกันกับที่ก่อสงคราม การเปลี่ยนแปลงระบอบเกิดขึ้นในสงครามน้อยกว่า 1 ใน 4 และผู้นำที่ไม่ได้ทำผิดขึ้นสู่อำนาจในความขัดแย้งเพียง 14% เท่านั้น

ผมหวังว่าผมจะแพ้เดิมพันกับ สตีเวน พิงเกอร์ ผมหวังว่าสงครามในยูเครนจะสิ้นสุดในเร็ววัน ผมหวังว่าปูตินจะพ้นจากอำนาจในอนาคตอันใกล้ ผมหวังว่าจะไม่เกิดลูกโซ่ความขัดแย้ง ที่สงครามในยุโรปตะวันออกจะตามมาด้วยสงครามในตะวันออกกลาง และสงครามในเอเชียตะวันออก เหนือสิ่งอื่นใด ผมหวังว่าจะไม่มีใครหันไปใช้อาวุธนิวเคลียร์ในพื้นที่ขัดแย้งใดก็ตามในโลก

แต่ผมก็มีเหตุผลให้ไม่มองโลกในแง่ดีเกินไป ประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ชี้ว่าความขัดแย้งในยูเครนจะยาวนาน ต่อให้ทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญาหยุดยิงในเดือนหน้า [พฤษภาคม 2565] ประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ชี้ว่าฉากทัศน์ที่ปูตินจะหล่นจากอำนาจนั้นดูมีความเป็นไปได้ต่ำ ชี้ว่าภาวะฟุบเฟ้อและความไร้เสถียรภาพทั่วโลกเป็นฉากทัศน์ที่มีความเป็นไปได้สูง และย้ำเตือนเราว่าไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่าสงครามนิวเคลียร์จะไม่มีวันเกิดขึ้น

การเรียกปูตินตรงๆ ว่า อาชญากรสงคราม และเรียกร้องให้เขาถูกโค่นจากอำนาจ เพิ่มความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญที่อาวุธเคมีหรืออาวุธนิวเคลียร์จะถูกใช้ยูเครน และถ้าหากอาวุธนิวเคลียร์ถูกใช้เป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 21 ผมก็เกรงว่ามันจะถูกใช้อีกครั้ง ผลพวงที่ชัดเจนของสงครามยูเครนก็คือ รัฐต่างๆ ทั่วโลกจะเร่งควานหาอาวุธนิวเคลียร์ เพราะไม่มีอะไรที่สาธิตมูลค่าของสิ่งนี้ได้ดีกว่าชะตากรรมของยูเครน ซึ่งยอมสละมันไปใน 1994 แลกกับคำมั่นสัญญาที่ไร้ค่า ยุคแห่งการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (nonproliferation) ได้สิ้นสุดลงแล้ว

ผมอยากย้ำอีกครั้งว่าผมอยากแพ้เดิมพันนี้มาก แต่ผมก็ต้องเตือนคนอ่านถึงการเดิมพันก่อนหน้านี้ของพิงเกอร์ด้วย ในปี 2002 มาร์ติน รีส นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ประกาศต่อสาธารณะว่า “ภายในปี 2020 การก่อการร้ายทางชีวภาพหรือความผิดพลาดทางชีวภาพจะทำให้คนตาย 1 ล้านคนในเหตุการณ์เหตุการณ์เดียว” พิงเกอร์ตกลงเดิมพันในปี 2017 ว่าเหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้น เขาเถียงว่า “ความก้าวหน้า[เชิงวัตถุ]ทำให้มนุษยชาติทนทานกับภัยคุกคามทั้งทางธรรมชาติและที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ การแพร่กระจายของเชื้อโรคจะไม่กลายเป็นการระบาดระดับโลก”

ก็อย่างที่ผมบอกนะครับว่า ขอให้ลองคิดถึงฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด