เขียนเพื่อตีพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ สกล เหมือนพะวงศ์ ม.ป.ช., ม.ว.ม. บิดาของ สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ รุ่นพี่ที่เคารพ, 10 สิงหาคม 2563
“ตุลาการที่ดี” ในความเห็นของข้าพเจ้า มิใช่ตุลาการที่เพียงแต่แม่นยำในหลักการและเนื้อหาสาระตามตัวบทกฎหมายเท่านั้น หากแต่มีความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ในฐานะมนุษย์ เข้าใจว่า “กฎหมาย” กับ “ความยุติธรรม” ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และพยายามผลักดัน “ความยุติธรรม” ในองค์กรของตัวเองอย่างต่อเนื่อง
เพราะเหตุใดเล่าข้าพเจ้าจึงคิดว่าความแม่นยำในหลักการและตัวบทกฎหมายนั้นไม่เพียงพอ
ในความเป็นจริง โลกนี้มีหลักการทางกฎหมายมากมายหลายชุด นิยาม “ความยุติธรรม” หลายนิยาม แถมตัวบทกฎหมายหลายฉบับก็คลุมเครือ ล้าสมัยไม่ทันต่อค่านิยมหรือความรู้สึกนึกคิดของสังคมซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปนานแล้วนับจากวันที่ตรากฎหมายนั้นขึ้น หรือไม่ก็หาได้เขียนขึ้นโดยยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
ยังไม่นับว่าคำวินิจฉัยของตุลาการแต่ละท่านในคดีเดียวกัน พิจารณาข้อมูลหลักฐานเดียวกัน อาจออกมาผิดแผกแตกต่างกันได้ ดังที่เราพบเห็นทั่วไปว่าคำวินิจฉัยโดยมากมี “ตุลาการเสียงข้างมาก” กับ “ตุลาการเสียงข้างน้อย” และเหตุผลที่แจกแจงในคำวินิจฉัยส่วนตัวของแต่ละท่านก็แตกต่างกัน
ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ควรคาดหวังว่าตุลาการทุกท่านจะแม่นยำในหลักการและตัวบทกฎหมาย ‘แบบเดียวกัน’ ในเมื่อคำวินิจฉัยและเหตุผลแห่งความวินิจฉัยมีความแตกต่างหลากหลาย
หากแม้นความแม่นยำในหลักการและตัวบทกฎหมายไม่เพียงพอต่อการเป็น ‘ตุลาการที่ดี’ แล้วไซร้ ตุลาการที่ดีควรเป็นอย่างไรเล่า
ความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ในฐานะมนุษย์
ข้าพเจ้าสังเกตว่าในการพิจารณาคดี บ่อยครั้งตุลาการมักจะอนุมานว่า “วิญญูชน” ควรทำอย่างไร แล้วนำพฤติกรรมในจินตนาการนั้นมาตัดสินว่าการกระทำของจำเลยนั้นแตกต่างจากสิ่งที่วิญญูชนควรทำ หรือ “พึงคาดหมายได้ว่า” ควรทำหรือไม่อย่างไร และใช้ผลลัพธ์จากการใช้ความคิดแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งในการวินิจฉัยและกำหนดบทลงโทษ (ในกรณีที่จำเลยมีความผิด)
ถ้าหากตุลาการไร้ซึ่งความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในสถานการณ์ของโจทก์และจำเลย การใช้ชีวิต บริบทแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ตุลาการจะเข้าใจได้อย่างไรว่าการกระทำ (หรือไม่กระทำ) ของจำเลยและโจทก์มีเหตุจูงใจอันใด น่าจะมี ‘เจตนา’ หรือไม่อย่างไร
ข้าพเจ้าคิดว่าในยุคโลกาภิวัตน์อันเป็นพหุนิยมแห่งศตวรรษที่ 21 “วิญญูชน” อาจมีความแตกต่างหลากหลายทั้งความคิดและการกระทำก็เป็นได้ หาได้มีหนึ่งเดียวดังเช่น “สัตว์เศรษฐกิจ” ในตำราเศรษฐศาสตร์ (ยังมิพักต้องนับว่า ตำราเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมก็ถูกแทนที่ไปแล้วด้วยแบบจำลองใหม่ๆ และข้อค้นพบใหม่ๆ ที่มองมนุษย์เป็นมนุษย์มากกว่าในอดีต)
เช่นนั้นแล้ว ไม่ควรหรืออย่างไรที่ตุลาการจะยึดติดน้อยลงกับภาพจำลองของ “วิญญูชน” ในจินตนาการ ซึ่งย่อมถูกจำกัดด้วยความคิดและประสบการณ์ชีวิตของตุลาการท่านนั้นเอง หันมาให้ความสำคัญกับจำเลยและโจทก์ในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งมากขึ้น รวมถึงควรติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ค่านิยมและวัฒนธรรม ซึ่งล้วนแต่เปลี่ยนแปลงลื่นไหลได้เสมอตามยุคสมัย
เพราะถึงที่สุดแล้ว “ความยุติธรรมไม่อาจยุติธรรมกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ หากแต่ต้องยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย” ในวาทะอมตะของ อีเลนอร์ รูสเวลท์ อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของอเมริกา หัวหอกในการผลักดันปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ความเข้าใจว่า “กฎหมาย” กับ “ความยุติธรรม” ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
ข้าพเจ้าเห็นว่า ตุลาการมีหน้าที่อำนวยและผดุงความยุติธรรม มิใช่ก้มหน้าตีความตามตัวบทกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม หรือที่เลวร้ายกว่านั้นอีกคือ ตีความตัดสินเกินเลยตัวบทกฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งศัตรูทางการเมืองของผู้มีอำนาจ หรือเพราะเห็นแก่อามิสสินจ้าง หรือผลประโยชน์ส่วนตัวในภายภาคหน้าที่คาดว่าจะได้รับหลังจากที่ออกจากสถาบันตุลาการไปแล้ว
ด้วยเหตุนี้ ‘ตุลาการที่ดี’ จึงควรต้องเข้าใจว่า “กฎหมาย” กับ “ความยุติธรรม” ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และมีความกล้าหาญทางจริยธรรมที่จะร่วมเรียกร้องผลักดันทั้ง “กฎหมาย” และ “กระบวนการ” ที่ยุติธรรม ร่วมกับประชาชน
เพื่ออำนวยให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่มีนิติรัฐ นิติธรรม มิใช่มีแต่กฎหมายเป็นใหญ่เท่านั้น
ความพยายามผลักดัน “ความยุติธรรม” ในองค์กรของตัวเอง
สุดท้าย ข้าพเจ้าเห็นว่า ‘ตุลาการที่ดี’ ควรมีบทบาทในการผลักดันความยุติธรรมให้เกิดขึ้น หรือหากแม้ความยุติธรรมดูเป็นอุดมคติห่างไกล ก็ควรจะพยายามลดระดับ “ความอยุติธรรม” ในองค์กรของตัวเอง รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความอยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน การทุจริต การเล่นพรรคเล่นพวก หรือปัญหาธรรมาภิบาลอื่นๆ ที่ ‘คนนอก’ อาจมองไม่เห็น แต่ ‘คนใน’ รู้อยู่แก่ใจ
เพราะถ้าหากองค์กรศาลถูกมองว่าไร้ซึ่งความยุติธรรมแล้วไซร้ สังคมก็จะไม่วายข้องใจว่า ท่านจะมาอำนวยความยุติธรรมให้กับคนอื่นได้จริงหรือ