“ตุลาการที่ดี” ในความเห็นของข้าพเจ้า

เขียนเพื่อตีพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ สกล เหมือนพะวงศ์ ม.ป.ช., ม.ว.ม. บิดาของ สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ รุ่นพี่ที่เคารพ, 10 สิงหาคม 2563

“ตุลาการที่ดี” ในความเห็นของข้าพเจ้า มิใช่ตุลาการที่เพียงแต่แม่นยำในหลักการและเนื้อหาสาระตามตัวบทกฎหมายเท่านั้น หากแต่มีความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ในฐานะมนุษย์ เข้าใจว่า “กฎหมาย” กับ “ความยุติธรรม” ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และพยายามผลักดัน “ความยุติธรรม” ในองค์กรของตัวเองอย่างต่อเนื่อง

เพราะเหตุใดเล่าข้าพเจ้าจึงคิดว่าความแม่นยำในหลักการและตัวบทกฎหมายนั้นไม่เพียงพอ

ในความเป็นจริง โลกนี้มีหลักการทางกฎหมายมากมายหลายชุด นิยาม “ความยุติธรรม” หลายนิยาม แถมตัวบทกฎหมายหลายฉบับก็คลุมเครือ ล้าสมัยไม่ทันต่อค่านิยมหรือความรู้สึกนึกคิดของสังคมซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปนานแล้วนับจากวันที่ตรากฎหมายนั้นขึ้น หรือไม่ก็หาได้เขียนขึ้นโดยยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

ยังไม่นับว่าคำวินิจฉัยของตุลาการแต่ละท่านในคดีเดียวกัน พิจารณาข้อมูลหลักฐานเดียวกัน อาจออกมาผิดแผกแตกต่างกันได้ ดังที่เราพบเห็นทั่วไปว่าคำวินิจฉัยโดยมากมี “ตุลาการเสียงข้างมาก” กับ “ตุลาการเสียงข้างน้อย” และเหตุผลที่แจกแจงในคำวินิจฉัยส่วนตัวของแต่ละท่านก็แตกต่างกัน

ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ควรคาดหวังว่าตุลาการทุกท่านจะแม่นยำในหลักการและตัวบทกฎหมาย ‘แบบเดียวกัน’ ในเมื่อคำวินิจฉัยและเหตุผลแห่งความวินิจฉัยมีความแตกต่างหลากหลาย

หากแม้นความแม่นยำในหลักการและตัวบทกฎหมายไม่เพียงพอต่อการเป็น ‘ตุลาการที่ดี’ แล้วไซร้ ตุลาการที่ดีควรเป็นอย่างไรเล่า

ความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ในฐานะมนุษย์

ข้าพเจ้าสังเกตว่าในการพิจารณาคดี บ่อยครั้งตุลาการมักจะอนุมานว่า “วิญญูชน” ควรทำอย่างไร แล้วนำพฤติกรรมในจินตนาการนั้นมาตัดสินว่าการกระทำของจำเลยนั้นแตกต่างจากสิ่งที่วิญญูชนควรทำ หรือ “พึงคาดหมายได้ว่า” ควรทำหรือไม่อย่างไร และใช้ผลลัพธ์จากการใช้ความคิดแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งในการวินิจฉัยและกำหนดบทลงโทษ (ในกรณีที่จำเลยมีความผิด)

ถ้าหากตุลาการไร้ซึ่งความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในสถานการณ์ของโจทก์และจำเลย การใช้ชีวิต บริบทแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ตุลาการจะเข้าใจได้อย่างไรว่าการกระทำ (หรือไม่กระทำ) ของจำเลยและโจทก์มีเหตุจูงใจอันใด น่าจะมี ‘เจตนา’ หรือไม่อย่างไร

ข้าพเจ้าคิดว่าในยุคโลกาภิวัตน์อันเป็นพหุนิยมแห่งศตวรรษที่ 21 “วิญญูชน” อาจมีความแตกต่างหลากหลายทั้งความคิดและการกระทำก็เป็นได้ หาได้มีหนึ่งเดียวดังเช่น “สัตว์เศรษฐกิจ” ในตำราเศรษฐศาสตร์ (ยังมิพักต้องนับว่า ตำราเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมก็ถูกแทนที่ไปแล้วด้วยแบบจำลองใหม่ๆ และข้อค้นพบใหม่ๆ ที่มองมนุษย์เป็นมนุษย์มากกว่าในอดีต)

เช่นนั้นแล้ว ไม่ควรหรืออย่างไรที่ตุลาการจะยึดติดน้อยลงกับภาพจำลองของ “วิญญูชน” ในจินตนาการ ซึ่งย่อมถูกจำกัดด้วยความคิดและประสบการณ์ชีวิตของตุลาการท่านนั้นเอง หันมาให้ความสำคัญกับจำเลยและโจทก์ในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งมากขึ้น รวมถึงควรติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ค่านิยมและวัฒนธรรม ซึ่งล้วนแต่เปลี่ยนแปลงลื่นไหลได้เสมอตามยุคสมัย

เพราะถึงที่สุดแล้ว “ความยุติธรรมไม่อาจยุติธรรมกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ หากแต่ต้องยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย” ในวาทะอมตะของ อีเลนอร์ รูสเวลท์ อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของอเมริกา หัวหอกในการผลักดันปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ความเข้าใจว่า “กฎหมาย” กับ “ความยุติธรรม” ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

ข้าพเจ้าเห็นว่า ตุลาการมีหน้าที่อำนวยและผดุงความยุติธรรม มิใช่ก้มหน้าตีความตามตัวบทกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม หรือที่เลวร้ายกว่านั้นอีกคือ ตีความตัดสินเกินเลยตัวบทกฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งศัตรูทางการเมืองของผู้มีอำนาจ หรือเพราะเห็นแก่อามิสสินจ้าง หรือผลประโยชน์ส่วนตัวในภายภาคหน้าที่คาดว่าจะได้รับหลังจากที่ออกจากสถาบันตุลาการไปแล้ว

ด้วยเหตุนี้ ‘ตุลาการที่ดี’ จึงควรต้องเข้าใจว่า “กฎหมาย” กับ “ความยุติธรรม” ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และมีความกล้าหาญทางจริยธรรมที่จะร่วมเรียกร้องผลักดันทั้ง “กฎหมาย” และ “กระบวนการ” ที่ยุติธรรม ร่วมกับประชาชน

เพื่ออำนวยให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่มีนิติรัฐ นิติธรรม มิใช่มีแต่กฎหมายเป็นใหญ่เท่านั้น

ความพยายามผลักดัน “ความยุติธรรม” ในองค์กรของตัวเอง

สุดท้าย ข้าพเจ้าเห็นว่า ‘ตุลาการที่ดี’ ควรมีบทบาทในการผลักดันความยุติธรรมให้เกิดขึ้น หรือหากแม้ความยุติธรรมดูเป็นอุดมคติห่างไกล ก็ควรจะพยายามลดระดับ “ความอยุติธรรม” ในองค์กรของตัวเอง รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความอยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน การทุจริต การเล่นพรรคเล่นพวก หรือปัญหาธรรมาภิบาลอื่นๆ ที่ ‘คนนอก’ อาจมองไม่เห็น แต่ ‘คนใน’ รู้อยู่แก่ใจ

เพราะถ้าหากองค์กรศาลถูกมองว่าไร้ซึ่งความยุติธรรมแล้วไซร้ สังคมก็จะไม่วายข้องใจว่า ท่านจะมาอำนวยความยุติธรรมให้กับคนอื่นได้จริงหรือ

Comments (6):

  1. Lettie Hawk

    Mar 12, 2024 at 4:14 pm

    I have been surfing online more than 3 hours as of late,
    but I never found any interesting article like yours.
    It is lovely value enough for me. In my opinion, if all website owners and bloggers made excellent content material as you probably did, the internet can be a lot more helpful than ever
    before.

  2. CorrineN

    Jul 13, 2024 at 6:43 am

    You have remarked very interesting details! ps decent web site.Blog range

  3. latestsession

    Aug 2, 2024 at 1:41 pm

    helloI like your writing very so much proportion we keep up a correspondence extra approximately your post on AOL I need an expert in this space to unravel my problem May be that is you Taking a look forward to see you

  4. webech

    Aug 3, 2024 at 7:23 am

    Hello my loved one I want to say that this post is amazing great written and include almost all significant infos I would like to look extra posts like this

  5. amazingwise

    Aug 3, 2024 at 7:32 am

    My brother suggested I might like this blog He was totally right This post actually made my day You can not imagine simply how much time I had spent for this info Thanks

  6. Temp Mail

    Aug 7, 2024 at 7:43 am

    Thank you for sharing. I share your level of appreciation for the work you’ve completed. The painting you’ve revealed is exquisite, and the material you’ve written is sophisticated. You appear to be concerned about heading in a direction that could be seen as questionable. I recommend that you resolve this issue quickly.

Comments are closed.