ปูพื้นเรื่องสงครามการค้า

ทำไมมันจึงเกิด และทำไมมันจึงแย่

แปลจากบทความ A Primer on Trade Wars: Why they happen, and why they’re bad โดย Paul Krugman (6 เมษายน 2025)

แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล

จงร้อง “ฆ่ามัน!” และปล่อยสุนัขทหารลงสนามสงครามการค้า

ภาษีศุลกากร “วันปลดแอก” ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ใช่แค่แรงช็อคการค้าโลกที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศที่สหรัฐอเมริกาไปลงนามหลายฉบับอย่างชัดเจน รวมถึงความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade ย่อว่า GATT) ข้อตกลงการค้าที่กำกับนโยบายการค้าของประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ตั้งแต่ปี1947 เป็นต้นมา ดังนั้นจึงเท่ากับว่าทรัมป์จุดไฟเผากลไกที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย กลไกซึ่งผลักดันการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศด้วยการวางเงื่อนไขในการกำหนดภาษีศุลกากรของประเทศต่างๆ การประกาศของทรัมป์จุดชนวนไม่ใช่เฉพาะภาษีศุลกากรของเขาเอง แต่ยังจุดชนวนภาษีศุลกากรตอบโต้ของประเทศอื่น พูดอีกอย่างก็คือ ทรัมป์ได้จุดชนวนสงครามการค้าโลก

การปูพื้นของผมในสัปดาห์นี้จะอธิบายว่าทำไมสงครามการค้าถึงได้แย่ และทำไมมันจึงเกิดขึ้นอยู่ดี ผมจะครอบคลุมเรื่องต่อไปนี้

1. กรณีที่ประเทศอาจตั้งภาษีศุลกากรต่ำ ต่อให้ประเทศอื่นตั้งกำแพงภาษีสูง รวมถึงข้อยกเว้นของกรณีนี้

2. ทฤษฎีอำนาจผูกขาดของสงครามการค้า ซึ่งมีเหตุมีผลทางเศรษฐศาสตร์ แต่นั่นไม่น่าใช่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

3. ทฤษฏีกลุ่มผลประโยชน์ของสงครามการค้า ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์สายการค้าระหว่างประเทศส่วนใหญ่น่าจะยอมรับ และ

4. เราต้องคิดทฤษฎีภาษีศุลกากรโง่เง่า (stupidity theory of tariffs) ขึ้นมาใหม่มั๊ย

ก้อนหิน, อ่าวกำบัง และการตอบโต้

นักศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นทุกคนจะได้เรียนทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (theory of comparative advantage) ซึ่งบอกว่า ทุกประเทศควรเน้นทำแต่สิ่งที่ตัวเองทำได้ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และนำเข้าสิ่งที่เหลือ ทฤษฎีนี้บอกว่าภาษีศุลกากรเป็นความคิดที่แย่ เพราะมันถ่ายโอนทรัพยากรออกจากจุดที่มันสร้างผลิตภาพได้ดีที่สุด ยกตัวอย่างเช่น การเก็บภาษี 37 เปอร์เซ็นต์ บนสินค้านำเข้าจากบังคลาเทศจะทำให้เสื้อผ้า สินค้าหลักที่เรานำเข้าจากบังคลาเทศ มีราคาแพงกว่าเดิม เบี่ยงทุนและแรงงานอเมริกันไปยังการผลิตเสื้อผ้า แทนที่จะลงทุนในภาคเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งเป็นความแข็งแกร่งที่แท้จริงของเรา

ทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบสร้างความชอบธรรมให้กับการค้าเสรี นั่นคือ ปล่อยให้ตลาดตัดสินใจว่าคุณจะส่งออกอะไร นำเข้าอะไร

กรณีนี้มีข้อยกเว้นครับ คุณต้องรักษาอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการรักษาความมั่นคงของชาติ และคุณจะอยากสนับสนุนอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระฉอกเชิงบวก (spillover effects) ด้านเทคโนโลยีมูลค่าสูง ดังนั้นคุณจะไม่อยากเป็นพวกชูการค้าเสรีแบบเลือดบริสุทธิ์ มีเหตุมีผลมากเลยที่จะใช้นโยบายอุตสาหกรรมระดับชาติแบบมุ่งเป้าอย่างระมัดระวัง แบบที่รัฐบาลไบเดนทำผ่านกฎหมาย CHIPS และกฎหมาย Inflation Reduction

อย่างไรก็ดี ลำพัง “ประเทศอื่นใช้ภาษีศุลกากร!” ไม่ใช่ เหตุผลที่ดีเลยในการตั้งกำแพงภาษีของเราเอง โจน โรบินสัน (Joan Robinson) สมาชิกวงในของ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ และเธอก็เป็นสุดยอดนักเศรษฐศาสตร์เองด้วย ชี้ประเด็นนี้อย่างแหลมคมในบทความปี 1937 ชื่อ “Beggar-My-Neighbor Remedies for Unemployment” –

ความเห็นยอดนิยมที่บอกว่า การค้าเสรีนั้นยอดเยี่ยมตราบเท่าที่ทุกประเทศสมาทานการค้าเสรี แต่ถ้าประเทศอื่นตั้งกำแพงภาษีเราก็ต้องตั้งกำแพงของเราด้วยนั้น ถูกคว่ำด้วยข้อถกเถียงที่ว่า การทำแบบนั้นไร้สติพอๆ กับที่จะเอาหินไปถมอ่าวของเราเพราะประเทศอื่นมีชายฝั่งโขดหิน

โรบินสันอธิบายว่ามุมมองนี้มีเงื่อนไขภายใต้สภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง (นั่นคือ สภาวะนั้นอาจทำให้การตั้งกำแพงภาษีตอบโต้มีเหตุมีผลขึ้นมา-ผู้แปล) แต่เงื่อนไขที่เธอชี้ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับลัทธิพาณิชย์นิยมฉบับกระด้าง (crude mercantilism) ของทรัมป์ เนื่องจากภาษีศุลกากร “ตอบโต้” ของทรัมป์นั้นตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า เราจะต้องตอบโต้กำแพงภาษีสูงๆ ที่ประเทศอื่นตั้งใส่สหรัฐอเมริกา ไม่ต้องสนเรื่องอื่น ความคิดนี้เป็นเศรษฐศาสตร์ที่แย่มากต่อให้ข้ออ้างว่าประเทศอื่นปกป้องอุตสาหกรรมตัวเองจะเป็นข้อเท็จจริงก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น ในความเป็นจริงประเทศคู่ค้าของสหรัฐส่วนใหญ่นอกจากจีน เช่น สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร แคนาดา เม็กซิโก แทบไม่มีการกีดกันสินค้าส่งออกจากสหรัฐเลย

แต่ถ้าหากว่าทุกประเทศได้ประโยชน์ที่จะตั้งภาษีศุลกากรต่ำๆ ไม่ว่าประเทศอื่นจะทำอะไรก็ตาม ทำไมเราต้องมีข้อตกลงการค้าอย่าง GATT ด้วยล่ะ คำตอบหนึ่งคือ อำนาจตลาด อีกคำตอบซึ่งอาจสำคัญกว่านั้นอีกคือ การเมืองเรื่องกลุ่มผลประโยชน์ ผมจะเสนอว่าข้อตกลงการค้าที่ผ่านมามีบทบาทสำคัญในการจำกัดความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเกิดจากความโง่เขลาที่เสแสร้งว่ามันเป็นสามัญสำนึก

ภาษีศุลกากรกับอำนาจตลาด

การค้าเสรี (ด้วยข้อยกเว้นที่ผมพูดถึงด้านบน) คือนโยบายที่ดีที่สุดสำหรับเศรษฐกิจขนาดเล็กที่ไม่สามารถส่งผลต่อตลาดโลกได้ ถ้าหากเดนมาร์กจะตั้งภาษีศุลกากรที่เก็บจากสินค้าอเมริกัน นโยบายที่ดีที่สุดของเดนมาร์กก็น่าจะเป็นการค้าเสรี ไม่ว่าสหรัฐอเมริกาจะทำตัวแย่แค่ไหนก็ตาม – ที่จริงก็รวมถึงกรณีที่สหรัฐบุกกรีนแลนด์ด้วยนะครับ

แต่ในความเป็นจริง เดนมาร์กไม่ได้ตั้งภาษีศุลกากรของตัวเอง เพราะเดนมาร์กเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งเหมือนกับสหรัฐอเมริกาตรงที่มีการค้าเสรีภายในเขตแดนตัวเอง และตั้งภาษีศุลกากรต่อสินค้าจากภูมิภาคที่เหลือในโลก และสหภาพยุโรปก็ไม่ใช่เศรษฐกิจขนาดเล็ก มันเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก ใหญ่ราวสองในสามของเศรษฐกิจสหรัฐ

ขนาดสำคัญเพราะอะไร? เพราะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สามารถส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการที่พวกเขาซื้อและขาย เพราะส่งผลกระทบสูงต่ออุปทานและอุปสงค์ ราคาน้ำมันดิบทั้งในอเมริกาและทั่วโลกปรับลดลงเพราะกลัวเศรษฐกิจอเมริกาเข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะสหรัฐอเมริกาคือผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ ราคาน้ำมันมะกอกถีบตัวสูงขึ้นในปี 2024 ด้วยเหตุภัยแล้งและภัยระบาดแบคทีเรียในยุโรป ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันมะกอกรายใหญ่ในโลก

ความสามารถที่จะส่งผลต่อราคาหมายความว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่สามารถใช้ภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือช่วยลดราคาที่พวกเขาจ่ายสำหรับสินค้านำเข้า นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ฉวยโอกาสจาก “อำนาจตลาด” ของประเทศ และภาษีศุลกากรที่ถูกออกแบบมาฉวยโอกาสใช้อำนาจตลาดแบบนี้มีชื่อเรียกว่า ภาษีศุลกากรอุดมภาพ (optimum tariff) หรือบางครั้งก็ถูกเรียกว่า ภาษีศุลกากรที่เหมาะสม (optimal tariff)

ยกตัวอย่างเช่น ภาษีศุลกากรที่สหรัฐเก็บจากน้ำมันนำเข้าจะลดความต้องการน้ำมันของเราลง ส่งผลให้น้ำมันนำเข้ามีราคาถูกลง ผลลัพธ์ทางอ้อมคือ ปกติภาษีศุลกากรจะทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ฉะนั้นต่อให้ผู้ผลิตต่างชาติไม่หั่นราคาที่พวกเขาตั้งในสกุลเงินตัวเอง พวกเขาก็จะลดราคาในสกุลเงินดอลลาร์ลง (ดอลลาร์แข็งขึ้นแปลว่าสกุลเงินตัวเองอ่อนลงโดยเปรียบเทียบ-ผู้แปล) จะทางไหนก็ตาม สหรัฐอเมริกาก็ได้ฉวยโอกาสใช้อำนาจตลาดของตัวเองในการบีบให้ประเทศต่างๆ ที่ขายของให้เราลดราคา เท่ากับทำให้เรามีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

ในแง่นี้ เศรษฐศาสตร์กระแสหลักล้วนๆ ก็มองว่ามีเหตุมีผลที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่จะตั้งกำแพงภาษีเพื่อฉวยโอกาสใช้อำนาจผูกขาดของตัวเอง อย่างไรก็ดี กรณีนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า ประเทศอื่นๆ จะไม่ตอบโต้ ถ้าสหรัฐพยายามฉวยโอกาสใช้อำนาจตลาดของตัวเองด้วยการตั้งกำแพงภาษี เศรษฐกิจใหญ่อื่นๆ อย่างสหภาพยุโรปก็จะทำแบบเดียวกัน ผลลัพธ์ก็คือทุกคนจะแย่ลงกว่าเดิมอย่างค่อนข้างแน่นอน

แล้วทีนี้ คุณจะหลบเลี่ยงสงครามการค้าระหว่างเศรษฐกิจขนาดใหญ่ สงครามที่จะทำลายทั้งสองฝั่งได้อย่างไร คำตอบคือข้อตกลงอย่าง GATT ที่แต่ละประเทศมาสัญญากันว่า จะไม่ฉวยโอกาส ใช้อำนาจตลาดของตัวเอง

กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ รวมทั้งตัวผมเองด้วย ก็ไม่คิดหรอกครับว่าเรื่องเล่าอำนาจตลาดนี้เป็นชุดคำอธิบายหลักของมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ หรือแม้แต่เป็นเหตุผลหลักที่เราจำเป็นต้องมีข้อตกลงการค้า ยกตัวอย่างเช่น สองนักวิจัย Irwin และ Soderbery พยายามจำแนกตัวแปรต่างๆ เบื้องหลังภาษีศุลกากร Smoot-Hawley ซึ่งเป็นยุคที่กำแพงภาษีพุ่งสูงสุดก่อนยุคของทรัมป์ พวกเขาพบว่าตัวแปรเกี่ยวกับอำนาจตลาดอธิบายการพุ่งขึ้นของอัตราภาษีศุลกากรได้เพียง5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ที่เหลือคือตัวแปรการเมือง – นั่นคือ อำนาจของกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศต่อนโยบายศุลกากร

ภาษีศุลกากรกับกลุ่มผลประโยชน์

ในเมื่อทรัมป์จุดไฟเผาข้อตกลงการค้าของเราไปแล้ว เราก็กำลังหันหลังกลับไปสู่ยุคอันโหดร้าย ยุคย่ำแย่ที่ลงเอยด้วย Smoot-Hawley ยุคที่อัตราภาษีศุลกากรถูกกำหนดด้วยการล็อบบี้ขาขวิดของกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศ

กรณีนี้แย่ยังไง? สุดท้ายทุกคนในแง่หนึ่งย่อมเป็นสมาชิกของกลุ่มผลประโยชน์อะไรสักกลุ่มกันหมดไม่ใช่หรือ แล้วทำไมการล็อบบี้ของกลุ่มผลประโยชน์จึงไม่สะท้อนประโยชน์สาธารณะของคนทั้งชาติล่ะ?

คำตอบก็คือ กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มเท่าเทียมกว่ากลุ่มอื่น เพราะพวกเขาจัดระเบียบกันได้ดีกว่า ปกติเนื่องจากมีจำนวนผู้เล่นไม่กี่รายที่มีกระสุนการเงินมากที่สุด นั่นหมายความว่า ผู้ผลิตในประเทศกระเป๋าหนักสามารถล็อบบี้อย่างมีประสิทธิผลให้รัฐตั้งกำแพงภาษีกีดกันการแข่งขันจากสินค้านำเข้า ขณะที่ผู้บริโภคและผู้ผลิตตัวเล็กกว่าที่ได้ประโยชน์จากสินค้านำเข้าราคาย่อมเยาไม่สามารถทำแบบเดียวกันได้

ในบทความปูพื้นก่อนหน้านี้ของผมว่าด้วยภาษีศุลกากร ผมยกตัวอย่างอุตสาหกรรมน้ำตาล ผู้ผลิตน้ำตาลสหรัฐเป็นกลุ่มล็อบบี้ที่มีการจัดระเบียบกันอย่างดี สามารถทำให้รัฐออกโควตาการนำเข้า (ผลลัพธ์คล้ายกับภาษีศุลกากร) ซึ่งทำให้น้ำตาลในสหรัฐแพงกว่าในประเทศอื่นๆ มาก ผู้บริโภคจำนวนมากเสียประโยชน์จากนโยบาย แต่พวกเขาไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามีโควตาอยู่ ผมชี้ว่าโควตาน้ำตาลน้ำเข้าคือสาเหตุที่เครื่องดื่มยี่ห้อโค้กในเม็กซิโกรสชาติดีกว่าโค้กที่ผลิตในอเมริกา เพราะโค้กเม็กซิโกใช้น้ำตาลจากอ้อย ขณะที่โค้กอเมริกันใช้น้ำเชื่อมข้าวโพดฟรุกโทสสูง (high-fructose corn syrup)

แล้วทีนี้ ในเมื่อกลุ่มผลประโยชน์มีอำนาจมหาศาล ทำไมเราถึงได้เห็นภาษีศุลกากรในอัตราต่ำ ยุคก่อนที่ทรัมป์จะมาจุดไฟเผาโลกล่ะ? เครดิตเรื่องนี้ต้องยกให้ประธานาธิบดี เอฟดีอาร์ (แฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์) ครับ ท่านออกกฎหมายข้อตกลงการค้าต่างตอบแทน (Reciprocal Trade Agreements Act) ในปี 1934 กฎหมายฉบับนี้ต่อมาเป็นแม่แบบของข้อตกลง GATT

ระบบนี้ตั้งอยู่บนการต่างตอบแทน – แต่ละประเทศกดภาษีศุลกากรให้อยู่ในอัตราต่ำ แลกกับคำมั่นสัญญาของประเทศคู่ค้าว่าจะกดภาษีศุลกากร ของตัวเอง ให้ต่ำตามไปด้วย ข้อตกลงนี้ได้ผลทางการเมือง เพราะใช้กลุ่มผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมส่งออกในประเทศ ซึ่งอยากได้ภาษีศุลกากรต่ำ มาคัดง้างกับกลุ่มผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมที่อยากได้ภาษีสูง

คราวนี้ ไม่ถึงสามเดือนหลังจากทรัมป์ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลสมัยสอง ระบบเก่าแก่อายุ 90 ปีระบบนี้ได้พังพินาศยับเยินไปแล้ว ไม่ช้าก็เร็ว เราจะย้อนกลับไปสู่นโยบายกำแพงภาษีแบบสั่งได้โดยกลุ่มผลประโยชน์ นโยบายที่ทำให้เศรษฐกิจทั้งระบบเสียหาย

อย่างไรก็ดี ผมก็ควรต้องให้ความเป็นธรรมว่า บรรดากลุ่มผลประโยชน์ไม่ใช่คนที่กดปุ่มสั่งกำแพงภาษีที่ทรัมป์ประกาศใน “วันปลดแอก” หรอกครับ พวกเขาไม่มีเวลาทำอย่างนั้นหรอก ในเมื่อว่ากันว่าทรัมป์ไม่ได้ตัดสินใจเรื่องแผนนี้เลยด้วยซ้ำจนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึงสามชั่วโมงก่อนที่เขาจะกล่าวสุนทรพจน์เขย่าโลกในสวนกุหลาบ

แต่อัตราภาษีศุลกากรของทรัมป์ไม่ได้ถูกขับดันด้วยความพยายามที่จะใช้อำนาจผูกขาด หรือมาจากการล็อบบี้ของกลุ่มผลประโยชน์ แต่เกิดจากความโง่งมอันเลวร้าย ข้อเท็จจริงนี้ควรส่งผลอย่างไรต่อความเข้าใจของเราเรื่องผลกระทบจากสงครามการค้าของทรัมป์?

ความโง่งมอันเลวร้ายของ MAGA กับสงครามการค้าปัจจุบัน

โอเค มาถึงตอนนี้ ผมก็ได้อธิบายวิธีคิดมาตรฐานเกี่ยวกับสงครามการค้า วิธีคิดซึ่งลงหลักปักฐานแล้ว แต่โชคร้ายที่ทั้งหมดนั้นก็ยังอธิบายชั่วขณะปัจจุบันของเราไม่ได้ เพราะอะไรน่ะเหรอ? ก็เพราะวิธีคิดทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า ภาษีศุลกากรถูกกำหนดในเกมที่ผู้เล่นทุกรายมีเหตุมีผล พวกเขาเข้าใจดีว่าการค้าทำงานอย่างไร ต่างคนต่างลงมือทำในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของตัวเอง ต่อให้ผลลัพธ์รวมหมู่ของการกระทำเหล่านั้นจะออกมาเลวร้ายต่อสังคมก็ตาม

แต่เราคิดว่าการกระทำของ โดนัลด์ ทรัมป์ มีเหตุมีผลมั๊ยล่ะครับ?

โลกทัศน์ของทรัมป์ตั้งอยู่บนลัทธิพาณิชย์นิยมฉบับกระด้าง นักเศรษฐศาสตร์คนไหนก็ตามที่พยายามพูดเรื่องการค้าระหว่างประเทศกับคนที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ต่างรู้ดีว่า ลัทธิพาณิชย์นิยมฉบับกระด้างนั้นโดนใจคนหมู่มาก มันคือความคิดที่ว่าเราชนะเมื่อชาวต่างชาติซื้อของของเรา และเราแพ้เมื่อเราซื้อของของพวกเขา ความคิดนี้ดูเป็นสามัญสำนึกสำหรับคนจำนวนมาก เช่นเดียวกับความคิดที่ว่า เราขาดดุลการค้าเพราะประเทศอื่นต้องเล่นไม่ซื่อกับเราแน่ๆ พวกเขาต้องฉวยโอกาสจากคำมั่นสัญญาที่ไร้เดียงสาของเราต่อการค้าเสรีชัวร์ๆ

ยากมากที่เราจะเถียงกับความคิดเหล่านี้ ยากเป็นพิเศษที่จะโต้กลับความคิดแนวพาณิชย์นิยมของผู้นำภาคธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ความสำเร็จทางธุรกิจของพวกเขาทำให้เกิดภาพลวงตาว่ามีความเชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐกิจด้วย ไม่น่าแปลกใจเลยที่ในสุนทรพจน์สวนกุหลาบ ทรัมป์จะพูดถึง ลี ไออาค็อกคา (Lee Iacocca) ผู้บริหารอุตสาหกรรมยานยนต์ผู้โด่งดังในทศวรรษ 1980 ไออาค็อกคาคือนักธุรกิจผู้เก่งกาจ มีมุมมองต่อภาษีศุลกากรคล้ายคลึงกับทรัมป์

อย่างไรก็ตาม มุมมองนั้นผิดทั้งเพ การค้าระหว่างประเทศไม่ใช่เกมแบบผลรวมเป็นศูนย์ (zero-sum game) ความคิดที่ว่าการผลิตสินค้าในบ้านเกิดเมืองนอนดีกว่าทุกกรณีนั้น เป็นความคิดที่ไร้สาระพอๆ กับมุมมองที่ว่าเราทุกคนควรทำเส้นพาสต้ากินเอง หรือเลี้ยงไก่ด้วยตัวเอง

การทอดทิ้งข้อตกลงการค้าของเราทั้งหมดแปลว่า ทรัมป์ได้ทำให้ความโง่งม – ของตัวเขาเองและสุดท้ายก็ของคนอื่นด้วย – กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง เขากระชากเรากลับสู่โลกที่ลัทธิพาณิชย์นิยมแบบกระด้างและทำลายล้างจะเฟื่องฟู

อันที่จริง ผมคิดว่าอาจเป็นการเข้าใจผิดก็ได้ที่จะบอกว่า ทรัมป์จุดชนวนสงครามการค้าโลก ถ้าจะให้ถูกกว่านั้นควรพูดว่า ทรัมป์ได้ปลดปล่อยความอลหม่านโกลาหลด้วยการทำลายระบบการค้าโลกลงกับมือ โลกทั้งใบจะเป็นผู้จ่ายราคาแพง