ความเป็นสากลของประชาธิปไตย

การชุมนุมที่สี่แยกปทุมวัน

[พิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “รู้ทันตลาดทุน”, กรุงเทพธุรกิจ 23 ธันวาคม 2556]

ในสายตาของผู้เขียน การเคลื่อนไหวของ “มวลมหาประชาชน” หลังจากที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภาในเดือนพฤศจิกายน 2556 ได้กระโดดข้ามเส้นความชอบธรรมที่ออกมาต่อต้าน “เผด็จการเสียงข้างมาก” ไปสู่การเป็นม็อบที่กำลังทำตัวเป็น “เผด็จการเสียงข้างน้อย” โดยไม่แยแสว่า ประชาธิปไตยต้องใส่ใจทั้ง “เป้าหมาย” และ “วิธีการ”

คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) มีความคิดดีๆ เรื่องการปฏิรูปหลายเรื่อง ซึ่งประชาชนทุกกลุ่มน่าจะร่วมกันผลักดันต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด อุดช่องโหว่ในกระบวนการถอดถอนนักการเมือง หรือการปรับโครงสร้างตำรวจ

อย่างไรก็ดี “วิธีการ” ที่ กปปส. ยืนยันว่าจำเป็นต้องใช้ ไม่มีทางเลือกอื่น คือ ล้มการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 หา “นายกฯ คนกลาง” ตั้ง “สภาประชาชน” ขึ้นมา “ปฏิรูปประเทศ” 1-1.5 ปี แล้วค่อยคืนอำนาจให้กับนักการเมือง วิธีนี้ผู้เขียนนั่ง-นอน-ตะแคงดูทุกมุมแล้วก็ไม่เห็นจะเรียกว่าประชาธิปไตยตรงไหนได้ เพราะนายกฯ กับสภาแบบนี้ไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นตัวแทนของคนไทยทั้งประเทศได้เลย

ผู้ชุมนุมหลายคนไม่ปฏิเสธว่า นี่คือการเสนอให้ “เว้นวรรคประชาธิปไตย” ชั่วคราว โดยอ้างว่าประชาธิปไตยเป็น “ของตะวันตก” แต่ประเทศไทยมีเอกลักษณ์และบริบทเฉพาะตัว ไม่จำเป็นที่เราจะต้อง “เดินตามก้นฝรั่ง”

มุมมองเช่นนี้เป็นความเข้าใจผิดที่อันตราย โดยเฉพาะในเมื่อยุคนี้ประชากรกว่า 2 ใน 3 ของโลกในทุกทวีป ยกเว้นตะวันออกกลาง ใช้ชีวิตอยู่ในระบอบประชาธิปไตย รวมถึงประเทศที่ภูมิใจในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตัวเองที่แตกต่างจาก “อังกฤษ-อเมริกัน” อย่างเช่นอินเดีย ญี่ปุ่น และทุกประเทศในทวีปอเมริกาใต้ แม้แต่จีน ป้อมปราการท้ายๆ ของระบอบคอมมิวนิสต์ คนจีนเกินครึ่งก็ตอบแบบสำรวจว่า “ชอบแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย” และนักวิเคราะห์หลายคนก็มองว่า รัฐบาลกลางของจีนฟังเสียงประชาชนมากขึ้นมาก และฟังมากกว่ารัสเซียมาก (เช่น การนัดหยุดงานเพื่อประท้วงยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายในรัสเซีย แต่ถูกกฎหมายในจีน)

อมาตยา เซน อาจารย์ที่รักของผู้เขียนและนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เสนอมานานกว่าสองทศวรรษแล้วว่า ระบอบประชาธิปไตยประสบความสำเร็จในโลกสมัยใหม่ไม่ใช่เพราะหลายประเทศ “เห่อฝรั่ง” หากแต่เป็นเพราะประชาธิปไตยสะท้อน “คุณค่าสากล” บางอย่างที่มนุษย์ต่างเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ล้วนแต่ยึดถือร่วมกัน

ก่อนอื่น อาจารย์เซนยืนยันว่า “ประชาธิปไตย” มิได้หมายถึงระบบการปกครองของ “เสียงข้างมาก” เพียงอย่างเดียว ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งและการเคารพในสิทธิเลือกตั้งจะสำคัญ ประชาธิปไตยจะต้องมีกลไกคุ้มครองเสรีภาพ สิทธิตามกฎหมาย และวางหลักประกันว่าประชาชนจะสามารถสื่อสารกันได้อย่างเสรี สื่อไม่ถูกรัฐเซ็นเซอร์หรือบิดเบือน การเลือกตั้งอย่างเดียวอาจบกพร่อง ถ้าหากจัดการเลือกตั้งโดยไม่ให้ทุกฝ่ายในสังคมมีโอกาสนำเสนอข้อเรียกร้องและความเดือดร้อน หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่มีอิสรภาพที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ไม่มีโอกาสได้พิจารณามุมมองที่หลากหลายของผู้ลงสมัครเลือกตั้ง เมื่อมองจากแง่นี้ ประชาธิปไตยจึงเป็นระบบที่ต้องบำรุงรักษาและพัฒนาไม่หยุดนิ่ง จะดูแต่เงื่อนไขทางเทคนิค (เช่น มีการปกครองของเสียงข้างมาก) เพียงอย่างเดียวไม่ได้

มุมมองข้างต้นของอาจารย์เซนดูจะสอดคล้องกับ กปปส. ซึ่งมีชนวนอยู่ที่การต่อต้าน “เผด็จการเสียงข้างมาก” แต่อาจารย์เซนชี้ต่อไปว่า ระบอบประชาธิปไตยในนิยามข้างต้นนั้นมี “คุณค่าสากล” ซึ่งเรามองเห็นได้จากการพินิจดูว่า ประชาธิปไตยส่งผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างไร

ประการแรก เสรีภาพทางการเมืองเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ของเสรีภาพมนุษย์ และการใช้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองก็เป็นหัวใจของการมี “ชีวิตที่ดี” ของมนุษย์ ในฐานะที่เป็นสัตว์สังคม ไม่ได้เป็นเพียงสัตว์เศรษฐกิจ การมีส่วนร่วมทางการเมืองและทางสังคมนั้นมีคุณค่าในตัวมันเอง เพราะถ้าเราไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง ก็ยากที่เราจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ ในเมื่อการตัดสินใจทางการเมืองส่งผลต่อชีวิตเรา (ตัวอย่างในไทย เช่น การที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ในบางพื้นที่)

ประการที่สอง อาจารย์เซนชี้ว่าประชาธิปไตยมีคุณค่าในฐานะ “เครื่องมือ” ที่สร้างหลักประกันว่า ประชาชนทุกกลุ่มจะมีสิทธิร้องเรียน เรียกร้อง และได้รับความสนใจจากนักการเมือง ในประเด็นต่างๆ ที่ประชาชนมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงความต้องการทางเศรษฐกิจด้วย งานวิจัยชิ้นเอกของอาจารย์เซนซึ่งนำไปสู่หนังสือคลาสสิก Development as Freedom (การพัฒนาในฐานะเสรีภาพ, พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1999) และทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล (สาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 1998) คือการพิสูจน์ว่า ภาวะทุพภิกขภัย (ขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง) ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยที่มีเอกราชและสื่อเสรี เนื่องจากทุพภิกขภัยไม่ได้เกิดจากภัยธรรมชาติ แต่เกิดจากความล้มเหลวของนโยบายรัฐ รัฐที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีสื่อเสรี และไม่มีการเลือกตั้งที่ประชาชนมีตัวเลือก ฉะนั้นจึงไม่เผชิญกับแรงกดดันใดๆ ให้เปลี่ยนแปลงนโยบายที่ทำให้ประชาชนล้มตายทุกปี

ประการที่สาม ประชาธิปไตยเปิดช่องทางให้ประชาชนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และการเรียนรู้นี้ก็ช่วยให้สังคมก่อร่างสร้างรูปคุณค่าและลำดับความสำคัญของคุณค่าต่างๆ ที่ยึดมั่นร่วมกัน แม้แต่แนวคิดเรื่อง “ความต้องการ” (needs) รวมถึงการเข้าใจความต้องการทางเศรษฐกิจของประชาชนแต่ละกลุ่ม ก็ต้องอาศัยการอภิปรายสาธารณะ การแลกเปลี่ยนข้อมูล มุมมอง และการวิเคราะห์ พูดอีกอย่างคือ การจะรู้ได้ว่าคนแต่ละกลุ่มมีความต้องการอะไรบ้าง ความต้องการเหล่านั้นมีรายละเอียดอย่างไรและเร่งด่วนเพียงใด ก็ต้องเปิดให้คนทุกกลุ่มใช้สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองของตน

เมื่อมองจากมุมนี้ สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหลักประกันว่าคนจะได้อภิปราย ถกเถียง และคัดค้านในพื้นที่สาธารณะ  จึงเป็นหัวใจของการสร้าง “ทางเลือก” ที่มีเหตุมีผลและผ่านการคิดใคร่ครวญมาแล้ว

อาจารย์เซนย้ำว่า กระบวนการอภิปรายสาธารณะนั้นจำเป็นสำหรับการสร้างคุณค่าและลำดับความสำคัญของคุณค่าต่างๆ ที่เราเรียกได้ว่าเป็น “ของสังคม” ของเรา พูดอีกอย่างคือ เราไม่อาจอวดอ้างชุดคุณค่าใดๆ ก็ตามที่ไม่ได้มาจากการอภิปรายสาธารณะ ว่า “สะท้อนสังคม” โดยรวมได้เลย

ประชาธิปไตยเป็นคุณค่าสากล เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนอยากให้คนอื่นยอมรับว่า ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมโดยกำเนิด กระบวนการหรือวิธีการใดๆ ก็ตามที่มิได้ยึดมั่นในหลักการข้อนี้ ย่อมไม่อาจเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้เลย

คงเป็นเรื่องน่าเศร้าถ้า “มวลมหาประชาชน” จะภูมิใจในพลังของตัวเองที่สามารถขับไล่รัฐบาลทุนหนาเถลิงอำนาจได้สำเร็จ แต่กลับไม่มั่นใจว่ามีพลังที่จะติดตามตรวจสอบพฤติกรรมซื้อเสียงในช่วงเลือกตั้ง และพฤติกรรมลุแก่อำนาจหลังเลือกตั้ง จนถึงขั้นยอมเว้นวรรคประชาธิปไตยชั่วคราว

ผู้เขียนคิดว่า บางที “ความเป็นไทย” ที่แท้จริง อาจหมายถึงการยก “ความเป็นไทย” เป็นข้ออ้างแบบมักง่ายในการปฏิเสธคุณค่าอันเป็นสากล

Comments (5):

  1. Eliminate Skin Tags Remover

    Jun 6, 2024 at 11:21 pm

    Simply wish to say your article is as amazing The clearness in your post is just nice and i could assume youre an expert on this subject Well with your permission let me to grab your feed to keep updated with forthcoming post Thanks a million and please carry on the gratifying work

  2. alevemante

    Aug 3, 2024 at 6:48 am

    Hi Neat post There is a problem along with your website in internet explorer would test this IE still is the market chief and a good section of other folks will pass over your magnificent writing due to this problem

  3. mycroxyproxy

    Aug 5, 2024 at 10:09 am

    My brother recommended I might like this web site He was totally right This post actually made my day You cannt imagine just how much time I had spent for this information Thanks

  4. airhostess

    Aug 5, 2024 at 1:05 pm

    My brother recommended I might like this web site He was totally right This post actually made my day You cannt imagine just how much time I had spent for this information Thanks

  5. discoverblog

    Aug 5, 2024 at 2:46 pm

    Wow superb blog layout How long have you been blogging for you make blogging look easy The overall look of your site is magnificent as well as the content

Comments are closed.