Reading vs. Comprehension

(ความเดิมตอนที่แล้ว)

หลังจากที่โดนสายฟ้าชื่อ วิลเลียม เชคสเปียร์ ฟาดเข้าอย่างจังในวัยละอ่อนแค่ 14 ขวบ ภายในสัปดาห์แรกของการไปโรงเรียนประจำ ทำให้ได้รู้ว่า

1. คนโบราณสื่อสารกับคนปัจจุบันไม่รู้เรื่อง ต่อให้อยู่ชาติเดียวกันก็ตาม

2. โลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่า พจนานุกรมที่แปลอังกฤษเป็นอังกฤษ และ

3. ฉันต้องใช้พจนานุกรมสองเล่ม เล่มแรกแปลอังกฤษเป็นอังกฤษ แล้วอีกเล่มแปลอังกฤษเป็นไทย ถึงจะ ‘พอเข้าใจ’ ว่าตัวละครในเรื่อง Midsummer Night’s Dream มันพูดอะไรของมัน(ฟะ)

ผ่านไปครึ่งเดือนนับจากวันแรกที่อาจารย์สั่งการบ้านให้อ่านหนังสือวันละ 20 หน้า คิดว่าพอเข้าใจเนื้อหาราว 60-70 เปอร์เซ็นต์ จากวันแรกที่เริ่มต้นศูนย์เปอร์เซ็นต์

แต่นั่นก็ยังไม่มากพอ ยังไม่มั่นใจพอที่จะกระโจนเข้าร่วมวงสนทนากับเพื่อนในห้อง

ระบบเรียนล้อมโต๊ะหรือ Harkness table ของโรงเรียน (ซึ่งอย่างที่เล่าไปแล้วว่านั่งได้สูงสุดไม่เกิน 15 คน) เป็นระบบที่อาจเรียกได้ว่า ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางอย่างสุดขั้ว อาจารย์มีหน้าที่สั่งการบ้านและ ‘ดำเนิน’ วงสนทนาในห้อง ไม่ได้มีหน้าที่สอนแบบบรรยาย

นักเรียนที่นี่ต้องเป็นเจ้าของและกำหนดเส้นทางการเรียนรู้ของตัวเองจริงๆ ทุกคนมีหน้าที่ทำการบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือมหกรรมการ ‘อ่าน’ อ่านๆๆ อ่านเข้าไป อ่านเยอะชนิดที่ผ่านไปหนึ่งเดือนต้องอ่านมากกว่าที่โรงเรียนไทยให้อ่านทั้งปี

อ่านแล้วก็มาพูดคุยถกเถียงกับเพื่อนๆ ในชั้นเรียน หาคำตอบด้วยตัวเองและจากการสนทนากับเพื่อน อาจารย์แค่คุมวงสนทนาให้อยู่กับร่องกับรอย คอยชี้ประเด็นและตั้งคำถาม

ตัดกลับมาที่เรา เด็กไทยที่โตมากับการเรียนแบบฟังครูร่ายยาวเลคเชอร์แล้วจดตาม วันไหนจดไม่ทันหรือโดดเรียนก็ไปยืมสมุดโน้ตของเพื่อนได้ หลายวิชาไม่ต้องจดด้วยซ้ำเพราะครูสอนตามตำราเด๊ะๆ ดังนั้นต่อให้โดดเรียนก็สอบได้คะแนนดีๆ ได้ เพียงแค่ถ่างตานั่งอ่านหนังสือในคืนก่อนสอบวันเดียว

คิดดูว่าพอมาเจอระบบที่โดดเรียนก็ไม่ได้ จดเลคเชอร์ตามอาจารย์ก็ไม่ได้เพราะอาจารย์ไม่เคยเลคเชอร์ แถมยังฟังฝรั่งพูดไม่ค่อยเข้าใจ (จริงๆ ไม่ใช่แค่ฝรั่ง ฟังสำเนียงเด็กเอเชียด้วยกันก็ไม่เข้าใจหรอก แต่เข้าใจพวกมันมากกว่าเพราะสำเนียงคล้ายเราและพูดช้ากว่าฝรั่ง) อย่าว่าแต่จะพูดให้มันเข้าใจ

กว่าจะเรียบเรียงสิ่งที่อยากพูดเป็นประโยคภาษาอังกฤษในหัวได้สำเร็จ ก่อนจะพูดออกมา บทสนทนาในห้องก็เปลี่ยนหัวข้อไปไหนต่อไหนแล้วก็ไม่รู้   

จะทำอะไรได้นอกจากอยู่เฉยๆ พยายามตั้งใจฟังคนอื่น ผงกหัวตามคนอื่นพอเป็นพิธีเพื่อส่งสัญญาณบอกอาจารย์ว่า ฉันยังไม่หลับนะ ฉันเข้าใจ (ทั้งที่ก็ไม่เข้าใจหรอก!)

จากเด็กเสียงดังช่างพูดที่ไทย พูดก่อนคิดตลอดเวลา กลายเป็นเด็กเงียบๆ ดูเรียบร้อยขี้อายๆ คิดใคร่ครวญทุกสิ่งก่อนพูด แต่แล้วก็ไม่ได้พูดออกมา ได้แต่เก็บมันไว้ในใจ

อยากกู่ก้องร้องตะโกนทะลุกลางปล้องขึ้นมาว่า นี่ไม่ใช่ตัวฉันนนน ฉันอยากพูดอยากฉอด อยากมีส่วนร่วมบ้าง แต่ฉันทำไม่ด้ายยยยย (ร้องโหยหวน)

ยิ่งเป็นวิชาภาษาอังกฤษ วิชาที่ไม่มีตำราใดๆ ให้อ่าน มีแต่หนังสือวรรณกรรมยากๆ นักเรียนต้องมาปะทะคารมกันในห้องตลอดเวลา ทำให้นึกปลงตั้งแต่สัปดาห์แรกว่า อย่าว่าแต่เกรด B เลย เอาแค่ให้ ‘ผ่าน’ วิชานี้ยังดูห่างไกลแสนไกลเกินเอื้อม

เจอบทละครภาษาอังกฤษโบราณของเชคสเปียร์เข้าไปยิ่งพินาศ ยังไม่ต้องคิดว่าจะร่วมวงในห้องยังไง เอาแค่อ่านให้ ‘รู้เรื่อง’ ว่าเกิดอะไรขึ้นในเรื่อง ยังยากเย็นแสนเข็ญ เปิดดิคฯ สองเล่มมือเป็นระวิงทุกวัน

ดังนั้นจึงไม่สนใจเวลาเพื่อนคุยเรื่องเล่มนี้กันในห้อง เพราะสนใจไปก็ไลฟ์บอย ทุกสิ่งเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา เอาเวลาไป ‘ทำท่า’ ว่าฉันตั้งใจฟังดีกว่า :p

ครั้นอาจารย์ปิดเล่ม Midsummer Night’s Dream สั่งให้อ่าน Lord of the Flies นิยายอมตะของ วิลเลียม โกลดิง นักเขียนชาวอังกฤษ เป็นเล่มต่อไป ก็ให้รู้สึกลิงโลดและโล่งใจเป็นล้นพ้น

หมายมั่นปั้นมือทันที ในที่สุดอาจารย์ก็ให้เรากลับมาสู่ภาษาคนปัจจุบันแล้ว ไม่ต้องเปิดดิคฯ ทีละสองเล่มแล้ว ไชโย!

คราวนี้ล่ะ ฉันจะอ่านให้ทันพวกแก จะออกความเห็นเจ๋งๆ ในห้อง จะได้แสดงตัวตนที่แท้จริงออกมาเสียที

ยิ่งคิดยิ่งลำพองใจ โดยหารู้ไม่ว่า กำลังจะเจอสายฟ้าฟาดระลอกสอง!

—–

Lord of the Flies ถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กชายล้วนกลุ่มหนึ่งที่ต้องดิ้นรนหาทางเอาตัวรอดด้วยตัวเองเมื่อเครื่องบินที่พวกเขาโดยสารเพื่ออพยพหนีสงครามถูกยิงตก ทุกคนกลายเป็นชาวเกาะโดยบังเอิญ ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่รู้ว่าความช่วยเหลือเมื่อไหร่จะมาถึง

เล่มนี้ใครๆ ในโรงเรียนอ่านแล้วก็อินได้ไม่ยาก เพราะเด็กๆ ในเรื่องอยู่ในวัยใกล้เคียงกับพวกเรา แถมอยู่โรงเรียนประจำก่อนมาติดเกาะด้วย แม้เป็นโรงเรียนในอังกฤษ ไม่ใช่อเมริกาก็เหอะ

อาจารย์สั่งการบ้านให้อ่านทีละหลายสิบหน้าเช่นเคย แต่ตอนนี้เริ่มชินแล้ว อ่านได้เร็วขึ้นแล้วเพราะเริ่มคุ้นเคยกับคำศัพท์ และเล่มนี้อ่านง่ายกว่าบทละครกลอนของเชคสเปียร์มาก ไม่ต้องเปิดดิคฯ หลายรอบ

รู้สึกครึ้มอกครึ้มใจเพราะอ่านเล่มนี้รู้เรื่องเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ รู้ว่าในเรื่องเกิดอะไรขึ้น ฝันหวานว่าคราวนี้ล่ะ ทุกคนในห้องจะได้เลิกเข้าใจผิด คิดว่าฉันไม่ชอบพูด!  

เข้าห้องมาอย่างอารมณ์ดี บรรจงวางหนังสือ Lord of the Flies ของตัวเองที่เขียนโน้ต ขีดเส้นใต้ พับหน้ากระดาษหลายหน้าจนเยิน (เป็นเด็กไร้ระเบียบ ไม่ชอบแปะ post-its ใดๆ) ลงข้างหน้าอย่างมั่นใจ

ถามมาสิ อาจารย์ ถามมาเลยว่าแก๊งของเจ้าแจ็คแยกตัวออกไปยังไง ใครเป็นหัวโจกในเรื่อง ใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่ ถามมาเลยยยย

“นักเรียนคิดว่า การที่แว่นของพิกกี้โดนแจ็คต่อยจนแตก เป็นสัญลักษณ์ของอะไรคะ”

ฮะ…. อะไรนะ… สัญลักษณ์? แว่น? อาจารย์พูดเรื่องอะไรเนี่ย!!!

รู้สึกเหมือนโดนสายฟ้าฟาดระลอกสอง หันไปมองเพื่อนๆ ด้วยความทดท้อ พวกมันก็แข่งกันตอบอย่างถึงพริกถึงขิง บางคนบอกว่า พิกกี้เป็นตัวแทนอารยธรรมของมนุษย์ แว่นแตกก็หมายถึงการเสื่อมถอยของอารยธรรม กลับไปเป็นสังคมป่าเถื่อน อีกคนพูดขึ้นมาว่า แว่นแตกหมายถึงการที่มนุษย์ถอยกลับไปสู่สัญชาตญาณดิบ ถอยห่างจากวิทยาศาสตร์ที่ให้คนมีเหตุมีผล

พวกมันคุยกันประมาณนี้ต่อไปจนจบคาบ ส่วนเราได้แต่นั่งคอตก ผงกหัวเออออเหมือนเคย

เพิ่งเข้าใจเดี๋ยวนั้นเองว่า ‘การอ่าน’ มีหลายระดับ อ่านแบบจับใจความเป็นแค่เลเวลพื้นฐานเท่านั้น ถ้าอยากมีส่วนร่วมในห้อง จะต้องไต่เลเวลการอ่านให้สูงกว่านั้นให้ได้

เลิกใช้ดิคฯ สองเล่มแล้วก็จริง แต่ก็ต้องทุ่มเวลามากกว่าเดิมเป็นสองเท่าอยู่ดี เพื่อตั้งคำถามกับตัวละครและเรื่องราวที่อ่าน โดยใช้วิธีเรียนรู้จากการออกความเห็นของเพื่อนๆ ในห้อง

ได้ซึมซับทักษะภาษาอังกฤษ การอ่านให้แตก และการคิดเชิงวิเคราะห์ไปในคราวเดียว และทักษะเหล่านี้ก็ต้องขอบคุณเพื่อนๆ ไม่แพ้ขอบคุณอาจารย์

กว่าจะเอาตัวรอดจากสายฟ้าระลอกสองนี้ ปีแรกของชีวิตนักเรียนเกรด 9 Phillips Exeter Academy ก็ปิดฉากลงพอดี

และเกรดวิชาภาษาอังกฤษสองเทอมแรกก็คือ B- โดยไม่ผิดความคาดหมาย (มีส่วนร่วมในห้องได้น้อยมาก แต่โชคดีที่คะแนนจากการเขียนความเรียงออกมาไม่ขี้เหร่) แต่ก็อดเสียใจไม่ได้ว่า นี่น่าจะเป็น B- ตัวแรกในชีวิต

ตอนนั้นยังไม่รู้ และไม่มีทางรู้ว่า สายฟ้าฟาดในวิชาภาษาอังกฤษอีกสองระลอกที่รออยู่ในอนาคต จะเติมเต็มความเข้าใจเรื่อง “ครู” “ความคิดสร้างสรรค์” และ “ความเข้าอกเข้าใจ” อย่างสั่นสะเทือนชนิดที่ส่งอิทธิพลต่อชีวิตตลอดมา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *