ตั้งแต่ไหนแต่ไร จำได้ว่าไม่เคยหวั่นไหวเรื่องการเรียน ค่าที่ถือตัวว่าหัวดี ผลการเรียนค่อนข้างดีตลอดมาตั้งแต่ชั้นอนุบาลยันมัธยมสาม จำไม่ได้ว่าครั้งหลังสุดที่ได้เกรดต่ำกว่า 4.0 คือเมื่อไหร่ ทั้งที่ก็ไม่ได้ขยันขันแข็ง ไม่ได้เป็น ‘เด็กเรียน’ ขนาดนั้น มีความซนเป็นลิงอยู่เป็นนิจ ชวนเพื่อนโดดเรียนก็เคยมากกว่าหนึ่งครั้งทั้งๆ ที่เป็นหัวหน้าห้อง เวลาที่ครูเรียกไปต่อว่าว่า ทำไมซนขนาดนี้ ก็จะนึกสะใจเล็กๆ ที่ครูดุเราได้แค่นี้เอง ไม่สามารถด่ายืดยาวทำนอง “ดูซิเนี่ย เธอซนขนาดนี้ ผลการเรียนเลยแย่ ทำไมไม่ทำตัวเหมือน [ชื่อเด็กเรียนขวัญใจครู]” เหมือนตอนที่ดุเพื่อนคนอื่นๆ ได้ ฮ่าฮ่าฮ่า*
*(นิสัยไม่ดี เยาวชนไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง)
ในเมื่อเรียนได้คะแนนดีมาตลอด เป็นเด็กที่ชอบแข่งขัน แถมมีความมั่นใจในตัวเองสูง เมื่อตกลงตามข้อเสนอของพ่อแม่ว่าจะไปเรียนต่อ ม.ปลาย ที่ Phillips Exeter Academy โรงเรียนประจำเก่าแก่ในมลรัฐนิวแฮมเชียร์ “prep school” ที่ขึ้นชื่อว่าดีเป็นอันดับต้นๆ ในอเมริกา แต่ละปีส่งนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัย Ivy League หรือมหาวิทยาลัยเก่าแก่พวก “เถาไม้เลื้อย” ได้หลายคนชนิดเบียดกันเดิน – จึงเกิดความย่ามใจเป็นที่ตั้ง
ก่อนออกเดินทางไกล นึกกระหยิ่มในใจว่า เราคงต้องปรับตัวเยอะแหละแต่ไม่น่าจะยากอะไร ไม่มีทางพูดภาษาอังกฤษเก่งเท่ากับเจ้าของภาษาแน่ๆ แต่ของแบบนี้มันฝึกกันได้ วัฒนธรรมฝรั่งก็นัยว่าคุ้นเคยพอประมาณเพราะน้าสาวแต่งงานกับคนอเมริกัน เจอกันทุกสองปีเวลาที่น้าบินมาหาหรือครอบครัวเราบินไปเยี่ยม
ถ้าใช้สำนวนยาขอบก็คือ มั่นใจว่าข้าก็หนึ่งในตองอู สำนวนกิมย้งก็ประมาณ ฉันก็นางพญาหนึ่งในบู๊ลิ้ม ได้ยินมาว่าโรงเรียนนี้รับนักเรียนต่างชาติเยอะ คงได้เจอกับจอมยุทธ์หลายประเทศ ก็สนุกดี มาประลองกำลังกันซักตั้งเป็นไร
เพิ่งมารู้ซึ้งถึงคำว่า “เหนือฟ้ายังมีฟ้า” เมื่อโดนสายฟ้าฟาดในวิชาภาษาอังกฤษ ภายในไม่กี่วันหลังเปิดเทอม!
—-
การเรียนการสอนใน Phillips Exeter Academy ทุกวิชาให้นักเรียนนั่งเรียนแบบล้อมโต๊ะไม้หนาหนัก เวลาจะสอบค่อยดึงกระดานสอบออกมาจากใต้โต๊ะ ทุกคนหมุนเก้าอี้ไปด้านข้าง ให้นั่งเป็นมุมฉากกับโต๊ะ จะมองไม่เห็นกระดานของเพื่อนข้างๆ (ซึ่งกลายมาเป็นข้างหน้าและข้างหลัง) โต๊ะตัวหนึ่งนั่งล้อมได้สูงสุดราว 15 คน ทำให้มีอัตราส่วนนักเรียนต่อครูต่ำมาก (และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ค่าเล่าเรียนแพงพอๆ กับมหาวิทยาลัย)
โรงเรียนเรียกชื่อระบบและโต๊ะแบบนี้ว่า Harkness table และภูมิใจว่าเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่มาเป็นร้อยๆ ปี ทำแบบนี้เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนทุกคนออกความเห็น ต่อให้เป็นวิชาที่ดูเผินๆ เหมือนไม่เห็นจำเป็นที่ใครจะต้องแสดงความเห็นอะไร เช่น คณิตศาสตร์ ก็ต้องนั่งล้อมโต๊ะออกความเห็นเช่นกัน มาคุยกันว่าใครทำการบ้านมาแบบไหน ยังไง ฯลฯ ดังนั้นทุกวิชา คะแนน “การมีส่วนร่วม” (participation) ของนักเรียนจึงมีส่วนสำคัญไม่น้อยกว่า 25-30% ของคะแนนทั้งหมด
สรุปง่ายๆ ได้ว่า ใครที่เป็นคนไม่ชอบพูด มาโรงเรียนนี้ไม่น่ารุ่ง
(ซึ่งอีระบบ Harkness table นี้เอง ที่นำมาซึ่งดราม่าและน้ำตาของเพื่อนๆ ในหลากหลายเหตุการณ์อันจะเป็นเบ้าหลอมตัวตนของเราด้วย แต่เรื่องนี้ต้องยกยอดไปเล่าวันหลัง)
ตั้งแต่คาบแรกของวิชาภาษาอังกฤษ ก็เริ่มรู้สึกได้ถึงบรรยากาศที่แตกต่าง ไม่ใช่แค่การนั่งล้อมโต๊ะ Harkness ที่ไม่คุ้นเคย แต่เพื่อนร่วมห้องทุกคนดูกระเหี้ยนกะหือรือ ทุกคนมีอะไรอยากเล่าอยากพูดตลอดเวลา
นึกในใจว่า เชี่ย ฉันก็ว่าฉันพูดเร็วแล้วนะ แต่จะพูดภาษาอังกฤษทันอีพวกนี้ได้ยังไง
เปิดมาวันแรก อาจารย์ก็สั่งให้ทุกคนไปซื้อหนังสือเรื่อง Midsummer Night’s Dream ของ วิลเลียม เชคสเปียร์ มา แจ้งเพื่อทราบว่าเราจะต้องเรียนบทละครของนายเชคสเปียร์นี่ทุกเทอมนะจ๊ะ นับตั้งแต่วันนี้จนถึงเทอมสุดท้ายที่พวกเธอจบ ม.6
ตอนนั้นไม่รู้จัก เชคสปง เชคสเปียร์อะไรฟะ นี่คงดังมากสินะถึงต้องอ่านนายคนนี้ทุกเทอม
อาจารย์สั่งการบ้านว่า จงไปอ่านบทละครนี้ 20 หน้า แล้วมาคุยกันพรุ่งนี้
จำตัวเลขเป๊ะๆ ไม่ได้ แต่รู้สึกว่าเยอะมาก เยอะกว่าการบ้านที่ครูภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ ที่ไทยเคยให้อ่านหลายเท่า ที่ไทยอย่างมากก็ต้องอ่านแค่วันละ 2-3 หน้า ถ้าเป็นหนังสือนอกเวลาก็ว่าไปอย่าง แต่อันนั้นถ้าไม่อ่านก็ไม่เป็นไรด้วย
หลังจากที่รู้สึกช็อกเล็กๆ ก็ปลอบใจตัวเองว่า เอาวะ อุตส่าห์แบกพจนานุกรม ไทย-อังกฤษ / อังกฤษ-ไทย สำหรับนักเรียนมาจากเมืองไทยตั้งสองเล่ม ของไทยวัฒนาพานิชเล่มนึง กับปทานุกรมฉบับพกพาอีกเล่ม คงเอาตัวรอดได้หรอก
ไปร้านหนังสือโรงเรียน ซื้อ Midsummer Night’s Dream กับตำราอื่นๆ ตามที่ครูสั่ง เปิดหนังสือไปหน้าแรก
methinks…. thee… thou… stand forth… hast…
อ่านไม่รู้เรื่องเลย!!! อะไรของมัน คำพวกนี้คือไร มาจากไหน มันเป็นภาษาอังกฤษด้วยเหรอ
เปิดพจนานุกรม กับปทานุกรมดูแล้วไม่เจอ ทำไมถึงไม่มีคำพวกนี้!!!
เริ่มซีด เหงื่อแตก แต่ไม่ได้วะ เราต้องไม่ยอมแพ้ ไปเคาะประตูรุ่นพี่ห้องข้างๆ ที่ทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” (proctor) ประจำหอ อ้อนวอนรุ่นพี่ด้วยภาษาอังกฤษที่กระท่อนกระแท่นสุดๆ ว่า พี่จ๋า ช่วยน้องด้วย น้องไม่เข้าใจอะไรเลย!
รุ่นพี่แสนดีก็อธิบายว่า เชคสเปียร์นี่มันภาษาอังกฤษแบบโบราณอะ Ye Olde English จ้ะน้อง ไม่ใช่ภาษาของคนปัจจุบัน พจนานุกรมของเธอคงไม่มี เธอต้องไปซื้อพจนานุกรมแปลอังกฤษเป็นอังกฤษดีๆ อย่างยี่ห้อ Webster มันถึงจะมีคำพวกนี้น่ะจ้ะ
สรุปว่าต้องถ่อกลับไปที่ร้านหนังสือโรงเรียนอีกรอบ ซื้อดิคฯ Webster มา เปิดหาคำภาษาอังกฤษ แปลอังกฤษโบราณเป็นอังกฤษปัจจุบัน แล้วค่อยมาเปิดหาคำอังกฤษปัจจุบันในพจนานุกรมไทย เพื่อแปลเป็นภาษาไทยอีกที
ทุลักทุเลสุดๆ แต่อย่างน้อยก็ทำการบ้านเสร็จ อ่านรู้เรื่องพอประมาณว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
การทำการบ้านด้วยการเปิดดิคฯ สองรอบ กว่าจะเสร็จก็เลยเที่ยงคืนทุกวัน ก็เปลี่ยนนิสัยให้เป็นคนนอนดึกนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
การได้รู้จักกับเชคสเปียร์ เปรียบเป็น “สายฟ้าฟาด” ครั้งที่หนึ่ง ซึ่งทำให้เสียเซลฟ์ไปพอประมาณ
ตอนนั้นยังไม่รู้หรอกว่า จะเจอสายฟ้าฟาดเปรี้ยงในวิชาภาษาอังกฤษอย่างจังชนิดที่ลืมไม่ลง สั่นคลอนความเชื่อมั่นในตัวตนไปอีกสามหน จนกว่าจะจบมัธยมปลาย…
…และสายฟ้าระลอกสอง จะมาในชื่อ Lord of the Flies นิยายอมตะค้างฟ้าของ วิลเลียม โกลดิ้ง นักเขียนรางวัลโนเบลชาวอังกฤษ
Oliver L
Jul 13, 2024 at 6:59 am
I like this site very much, Its a rattling nice billet to read and receive info.Raise range
streameastweb
Aug 5, 2024 at 11:02 am
Usually I do not read article on blogs however I would like to say that this writeup very compelled me to take a look at and do so Your writing taste has been amazed me Thanks quite nice post