On Food and Weather (1)

PEA in winter
PEA in winter

(ความเดิมตอนที่แล้ว, ความเดิมตอนแรก)

เล่ามาถึงตรงนี้ คนอ่านคงคิดไปแล้วใช่ไหมว่า ภาวะช็อกทางวัฒนธรรม (culture shock) ที่ผู้เขียนเจอเข้าอย่างจังในโรงเรียน หลักๆ ก็คือระบบการเรียนการสอนโหดหินที่แตกต่างจากไทยสุดขั้ว แค่นั้นใช่ไหม

ก็เห็นผู้เขียนเปรียบเปรยอาการช็อกใบ้แดกในวิชาภาษาอังกฤษว่า ‘สายฟ้าฟาด’* นี่นา

*(รู้ว่ายังเหลือสายฟ้าที่ไม่ได้เล่าอีกสองระลอก ไม่ลืมหรอกนะ แต่ขออุบไว้ก่อน เรื่องมันมีความซับซ้อนระคนดราม่า และเกิดหลังจากที่ผ่านพ้นช่วง ‘เอาตัวให้รอดก่อนเถอะแก’ ในปีแรกไปแล้ว)

แต่จริงๆ ไม่ใช่ค่ะ!

อาการช็อกที่หนักหนาสาหัสกว่า และได้เผชิญหน้าก่อนมาเจอระบบ Harkness table ของโรงเรียน คืออากาศ และอาหาร

สองเรื่องใหญ่(มาก)ในชีวิตประจำวัน แต่ก่อนหน้านั้นเราไม่เคยเห็นความสำคัญ เพราะไม่เคยมีปัญหาอะไรกับมัน

เหมือนปลาว่ายน้ำไม่เห็นน้ำ นกบินบนฟ้าไม่เห็นฟ้า (ว่าไปนั่น)

ถ้าจะให้เห็นภาพเรื่องอากาศว่าทำให้ ‘ช็อก’ ได้ยังไง ก็ต้องเล่าว่าไปเรียนช่วงไหนก่อน

ปีการศึกษาที่นี่แบ่งออกเป็นสามเทอม เทอมฤดูใบไม้ร่วงเปิดต้นเดือนกันยายน เทอมฤดูหนาวเปิดต้นเดือนธันวาคม และเทอมฤดูใบไม้ผลิเปิดกลางเดือนมีนาคม ปิดภาคฤดูร้อนสามเดือนระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เหมือนกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา

เราไม่ได้เข้าเรียนตั้งแต่เทอมแรก (ฤดูใบไม้ร่วง) ไปเข้าเอาตอนเทอมสอง เพราะครั้งแรกโรงเรียนตอบกลับมาว่าเราอยู่รายชื่อสำรอง (waiting list) ต่อมาสักพักก็แจ้งว่าให้ไปเข้าเทอมสองได้

นักเรียนเกรด 9 ที่เข้าตอนเทอมสองแบบเรามีอยู่ด้วยกัน 4-5 คน (อาจารย์บอกว่าทุกปีก็ประมาณนี้แหละ) จากทั้งรุ่นประมาณ 250 คน กระจัดกระจายกันไปอยู่หอพักคนละหอ

ด้วยความที่เข้าเทอมสอง หรือเทอมฤดูหนาว จึงได้ประจันกับความหนาวของมลรัฐนิวแฮมเชียร์เข้าเต็มๆ

มันจะหนาวได้แค่ไหนกันเชียว ฤดูหนาวก็ดีนี่นา หิมะตกโปรยปราย ทิวทัศน์มองไปทางไหนก็ขาวโพลนสวยงาม ผู้อ่านบางท่านคงนึกในใจ (และอาจเป็นแฟนหนังรักโรแมนติก)

ผู้เขียนขอตอบด้วยเหตุการณ์สองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน ภายในเดือนแรกนับจากวันเปิดเทอมฤดูหนาว

1.

ด้วยความที่น้องสาวแม่แต่งงานกับคนเมกัน อยู่เมกามาหลายสิบปี แม่จึงปรึกษาน้าเราทุกเรื่องในประเด็นการเตรียมตัวของลูก* รวมทั้งเรื่องหน้าหนาวในเมกาด้วย

*(เอาจริงนางเล่นใหญ่มากกก เตรียมตัวราวกับลูกจะไปรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันก็ไม่ปาน แต่เรื่องนั้นจะยกไปเล่าตอนอื่น)

ก่อนเปิดเทอมเราสองแม่ลูกไปค้างบ้านน้าหลายวัน ฐานที่พักพิงสุดท้ายก่อนเริ่มต้นชีวิตใหม่ น้าปราดตาดูเสื้อกันหนาวที่แม่ซื้อมาให้จากเมืองไทยสองวินาทีแล้วพูดว่า “เอาไม่อยู่หรอก ต้องไปซื้อใหม่” ว่าแล้วก็ขับรถพาเราไปซื้อเสื้อหนาวถักไหมพรม เสื้อโค้ทหนาหนักมาอีกหลายตัว ถุงมือกันหนาวอีกหลายคู่

แต่น้าอยู่มลรัฐแมรีแลนด์ ไม่ใช่นิวแฮมเชียร์ น้าคงไม่รู้หรอกว่าแค่นั้นยังไม่พอ!

เหตุเกิดภายในสัปดาห์แรก เราเดินตัวสั่นงันงกฝ่าหิมะและลมหนาวไปเข้าห้องเรียน เสื้อหนาวกับถุงมือที่น้าช่วยซื้อพอประทังไปได้ แต่รู้สึกว่าหน้าชาชนิดไม่อยากอ้าปากพูด พูดแล้วต้องสูดไอหนาวเข้าปาก

พลันที่เข้าห้อง ถอดโค้ทพาดพนักเก้าอี้ เสียงเพื่อนกรีดร้องก็ลอยมา

“โอ้ มาย ก๊อดดด ซ้ารี้นี หูแกรรรรรร!!!” วี๊ดว๊ายพลางชี้นิ้วมาที่เรา

ไม่เข้าใจ นางพูดอะไร หูเราเป็นอะไรเหรอ ยืนงงจนเพื่อนอีกคนเดินเข้ามาสะกิด

“หูอะ เลือดออกทั้งสองข้างเลย ฉันว่าแกไปห้องพยาบาลดีกว่านะ”

รีบเอามือจับหู รู้สึกถึงความเกรอะกรังแปลกๆ รีบขอตัวจากอาจารย์ เดินไปเข้าห้องน้ำ มองหน้าตัวเองในกระจกจึงถึงบางอ้อ

เลือดไหลออกจากหูทั้งสองข้างเป็นทางลงมาถึงคอ แต่แข็งตัวเป็นคราบแล้วเรียบร้อยภายในเวลาไม่ถึงยี่สิบนาทีที่เดินจากหอพักไปห้องเรียน ด้วยความที่อากาศเย็นจัด

ส่วนเจ้าของหูคู่นั้นไม่รู้สึกเจ็บอะไรเลย เพราะชาทั้งหัวไปก่อนแล้ว

ไปห้องพยาบาล สิ่งที่ได้รับนอกเหนือจากการทำแผล ก็คือความรู้ใหม่ว่า หูติดเชื้อจ้ะ หนูต้องไปซื้อสิ่งที่เรียกว่า ที่ปิดหูกันหนาว (earmuffs) แล้วใส่มันทุกวันจ้ะ เพราะฤดูหนาวที่นี่โหดแบบนี้แหละ นี่วันนี้จริงๆ ไม่เท่าไหร่นะ (ไม่เท่าไหร่บ้านป้าสิ นึกเถียงในใจ หูเลือดออกแต่ไม่รู้ตัวเนี่ย)  

หลังจากนั้นก็ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงว่า วันไหนที่หิมะตกโปรยปรายสวยงามแบบในหนัง วันนั้นจะไม่ค่อยหนาว เมื่อเทียบกับวันที่หิมะไม่ตกแต่ลมหนาวพัดแรง จะดูว่าหนาวขนาดไหนจริงๆ ดูจากอุณหภูมิเทอร์โมมิเตอร์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องบวกค่าความหนาวของลม (wind chill) เข้าไปด้วย จึงจะได้ค่าความหนาวที่แท้จริง

สมมุติเทอร์โมมิเตอร์บอกว่า ขณะนี้ 15 องศาฟาเรนไฮต์ (เท่ากับประมาณติดลบ 9 องศาเซลเซียส เมกาไม่ยอมใช้ระบบเมตริกเหมือนชาวบ้านชาวช่อง ทำให้มึนกับฟาเรนไฮต์ ไมล์ นิ้ว ฟุต ฯลฯ อยู่นานสองนาน) ถ้าบวกค่า wind chill เข้าไป มันอาจเท่ากับ ติดลบ 4 ฟาเรนไฮต์ (ติดลบ 20 เซลเซียส) เลยก็ได้

2.

หลังจากที่รับบทนางเอก (หรือผีบ้า) ในหนังสยองขวัญโดยบังเอิญ (จึงเป็นที่โจษจันของเพื่อนๆ ไปหลายวัน) ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น วันหนึ่งระหว่างที่เดินกลับหอพัก ก็รู้สึกว่าใต้ฝ่าเท้าเย็นยะเยือกแปลกๆ เหมือนมีน้ำแข็งซึมเข้ามาในรองเท้า

วันนั้นหิมะไม่ได้ตก แต่ตกวันก่อนหน้านั้นไปแล้ว พื้นถนนและทางเท้าจึงฉาบด้วยน้ำแข็ง ต้องเดินด้วยความระมัดระวังเพราะลื่นมาก

(ในวันแบบนี้ รถโรยทรายของเทศบาลจะมาทำงานแต่เช้า โรยทรายเพื่อให้คนเดินบนน้ำแข็งได้ง่ายขึ้น ป้องกันการลื่นหกล้ม)

เมื่อรู้สึกเย็นแปลกๆ เลยหงายรองเท้าทีละข้างขึ้นมาดู ปรากฏว่าเป็นรูใหญ่เกือบเท่าเหรียญบาททั้งสองข้าง พื้นรองเท้าถูกความเย็นยะเยือกของน้ำแข็งกัดกินจนทะลุ

ถึงบางอ้อทันทีว่า รองเท้าที่แม่ซื้อให้จากเมืองไทยไม่มีคู่ไหนทนอากาศหนาวของที่นี่ได้เลย ต้องไปหาซื้อใหม่ทั้งรองเท้าบู้ท รองเท้าหุ้มส้น ฯลฯ สำหรับฤดูหนาวโดยเฉพาะ

(หลายคนคงสงสัยว่า แล้วตอนใส่รองเท้าไม่เห็นเหรอว่ารองเท้าเป็นรู ตอบว่าไม่เห็นค่ะ ไม่สนใจ เวลาใส่ก็รีบใส่รองเท้าแล้ววิ่งแจ้นออกมาตลอดเวลา นอกจากจะเป็นเด็กไร้ระเบียบแล้วยังใจร้อนมากๆ ด้วย)

นี่แหละ ฤดูหนาวนิวแฮมเชียร์

จากที่ไม่เคยเข้าใจสำนวน “หนาวถึงขั้วกระดูก” ก็ได้มารู้ซึ้งแสบถึงทรวงคราวนี้เอง

—–

นั่นคืออาการช็อกจากอากาศ ส่วนเรื่องอาหารน่ะเหรอ

เหอะ

#แค่นหัวเราะ

สรุปได้สั้นๆ คำเดียวก่อนว่า อหอห ที่ไม่ได้แปลว่า โอ้โหโอ้โห

เมื่อเด็กจอมแก่นจากประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นมหาอำนาจทางอาหารของโลก โคจรมาเจอโรงอาหารในโรงเรียนประจำของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่รสนิยมด้านอาหารการกินห่วยขั้นเทพ (ใช่ พูดเหมารวมอย่างเต็มปาก เพราะเพื่อนเมกันทุกคนล้วนแต่ยอมรับในจุดนี้ ใครไม่ยอมรับก็เรื่องของมึงค่ะ – ขออนุญาตใช้คำหยาบ) คุณคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ชวนมาท้าพิสูจน์ในตอนต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *