ปาฐกถา ณ เวทีขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ 2022, 25 มิถุนายน 2565
ขอขอบคุณเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ WeFair ที่ให้เกียรติเชิญมาพูดเรื่องมายาคติเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการในสังคมไทย เรื่องใหญ่ที่ประชาชนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังเรียกร้องต้องการ โดยเฉพาะเมื่ออยู่กับระบบอำนาจนิยมมา 8 ปี ระบอบที่ผู้มีอำนาจดูถูกดูแคลนประชาชน สำทับอยู่เนืองๆ ว่าประชาชนต้องช่วยเหลือตัวเอง เวลาออกนโยบายสาธารณะก็มักจะใช้ฐานคิดที่มองประชาชนอย่างไม่ไว้วางใจ แต่พอเวลาจะใช้เงินภาษีอย่างสิ้นเปลืองก็ไม่เห็นมาถามความเห็นของประชาชนล่วงหน้า
หรือถ้าจะยกตัวอย่างในระยะสั้นกว่านั้น ตลอด 2 ปี ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 ที่เราเผชิญหน้าวิกฤตโควิด-19 ก็มีตัวอย่างมากมายที่ชี้ว่า ผู้มีอำนาจขาดความเข้าอกเข้าใจในความทุกข์ร้อนของประชาชน
แม้แต่วัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นสวัสดิการจำเป็นเร่งด่วนในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ยังไม่ได้รับการจัดสรรอย่างเป็นธรรม เราเห็นรูปธรรมมากมายของเรื่องนี้ อย่างเช่นภาพความแออัดที่สถานีกลางบางซื่อเมื่อปีกลาย เมื่อคนหลายหมื่นหรือนับแสนตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างรอคิว แลกกับความแน่นอนของการได้ฉีดวัคซีน แทนที่จะต้องลุ้นตัวโก่งยิ่งกว่าซื้อหวยว่า จะได้ลงทะเบียนฉีดหรือไม่ ลงแล้วจะถูก “เท” นัดหรือไม่ ไปตามวันนัดแล้วจะได้ฉีดวัคซีนยี่ห้อที่จองไว้หรือไม่ เมื่อปีกลายดิฉันเคยชวนแฟนเพจในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวมาตอบแบบสำรวจออนไลน์เกี่ยวกับประสบการณ์การฉีดวัคซีน ผู้ตอบ 29 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าไม่ได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ตัดสินใจเดินทางเข้ามาฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ
ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ในการจัดสรรวัคซีนเป็นสิ่งที่เราสังเกตเห็นได้ชัดเจน เมื่อหลายเดือนก่อนตอนที่เขียนบทความเรื่องนี้ ดิฉันเอาสถิติ ‘จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมต่อประชากรล้านคน’ กับ ‘อัตราการได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม’ ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 มาเปรียบเทียบกัน พบว่าในบรรดาจังหวัดที่มีสัดส่วนผู้เสียชีวิตสูงสุด 10 จังหวัดแรก มีเพียงครึ่งหนึ่งหรือ 5 จังหวัดเท่านั้นที่ประชากรได้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ในอัตราที่สูงกว่า 74% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยประเทศ ณ ตอนนั้น ได้แก่ สมุทรสาคร (มีประชากรได้วัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม 98%) กรุงเทพฯ (123% — อัตราส่วนที่สูงกว่า 100% สะท้อนว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แต่เดินทางเข้ามาฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ) สมุทรปราการ (86%) ตาก (77%) และ ปทุมธานี (86%) ส่วนจังหวัดท็อปเทนจำนวนผู้เสียชีวิตที่เหลืออีก 5 จังหวัด ประชากรได้วัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศอย่างมาก ได้แก่ สมุทรสงคราม (59%) ปัตตานี (55%) ยะลา (65%) นครนายก (57%) และ นครปฐม (59%)
คนไทยว่าแย่แล้ว เพื่อนร่วมสังคมของเราที่เป็นแรงงานข้ามชาติยิ่งเจอปัญหากว่าเรามาก ทั้งอุปสรรคในการเข้าถึงวัคซีนและการรักษาพยาบาล และการถูกเอารัดเอาเปรียบสารพัดวิธี แม้กระทั่งโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ของภาครัฐ ซึ่งชื่อก็บอกว่ามุ่งหวังแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้กับผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมตามมาตรา 33 ของกฎหมายประกันสังคม ยังกำหนดเงื่อนไขว่า ผู้ประกันตนที่เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยาจากโครงการนี้จะต้องมีสัญชาติไทย ทำให้แรงงานข้ามชาตินับล้านคนที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ไม่สามารถเข้าถึงโครงการนี้ ทั้งที่พวกเขาส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคมในอัตราเดียวกันกับคนไทย
รัฐสร้างความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ ทั้งที่โรคโควิด-19 โจมตีเราอย่างเท่าเทียม ไม่เกี่ยงว่าเป็นคนจนหรือคนรวย ถือสัญชาติไทย สัญชาติอื่น หรือไร้สัญชาติ อยู่กรุงเทพฯ หรืออยู่จังหวัดอื่น
ในหลายประเทศทั่วโลก ความเหลื่อมล้ำมโหฬารของความทุกข์ยากในวิกฤตโควิด-19 ได้จุดประกายการถกเถียงและจุดเริ่มต้นของการสร้างสัญญาประชาคมฉบับใหม่ระหว่าง รัฐ-เอกชน-ประชาสังคม ที่วางสวัสดิการประชาชนไว้เป็นหัวใจ อุดรูโหว่ในตาข่ายสังคม บนความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ในสังคมไทย ภาครัฐและเอกชนดูเหมือนจะยังคงเมินเฉยต่อเรื่องนี้ ทั้งที่ประชาชนจำนวนมากตื่นตัวและเรียกร้องรัฐสวัสดิการมากขึ้นเรื่อยๆ
ดิฉันจึงเห็นด้วยกับคุณ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ในบทความบนเว็บไซต์ WeFair เรื่อง “พัฒนาการประวัติศาสตร์สวัสดิการสังคมไทย พ.ศ. 2475 ถึง พ.ศ. 2564” ที่ว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างระบบการเมืองกับรูปแบบนโยบายสวัสดิการปัจจุบัน ได้หวนคืนสู่อุดมการณ์ระบบศักดินาราชูปถัมภ์ นโยบายสวัสดิการถูกสร้างเป็นระบบอุปถัมภ์ผ่านการสงเคราะห์ สร้างความสัมพันธ์แบบบุญคุณระหว่างผู้ให้กับผู้รับ …ภาพสะท้อนจากการจัดสวัสดิการในการช่วยเหลือเยียวยาสถานการณ์โควิด โดยใช้ระบบสงเคราะห์ ซึ่งจะต้องมีการพิสูจน์ความยากจนและการตีตราความจนก็คือ การเยียวยาที่ล่าช้า ไม่ทั่วถึง กีดกันคนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี จนทำให้สังคมไทยได้บทเรียนว่า สวัสดิการถ้วนหน้าสามารถเยียวยาผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันสถานการณ์ การเข้าถึงสิทธิเสมอกันไม่แบ่งแยก”
กล่าวในทางเศรษฐศาสตร์ “รัฐสวัสดิการ” (welfare state) อาจนับเป็นระบบสวัสดิการ (welfare system) รูปแบบหนึ่ง ระบบสวัสดิการโดยทั่วไปหมายถึง ระบบที่เราสร้างเพื่อช่วยให้คนสามารถรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ที่คนต้องเผชิญตั้งแต่เกิดจนตาย อาทิ ความยากจนเรื้อรัง การขาดสารอาหาร ความเจ็บไข้ได้ป่วย และเหตุฉุกเฉินต่างๆ ระบบสวัสดิการมีได้หลากหลายรูปแบบ เช่น สวัสดิการตามหลักศาสนา สวัสดิการที่ชุมชนคิดค้นขึ้นเองอย่างสัจจะออมทรัพย์ หรือสวัสดิการที่อาศัยกลไกตลาด เช่น ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันภัย เป็นต้น
หลายประเทศในโลกวันนี้ใช้ส่วนผสมของระบบสวัสดิการหลายรูปแบบ โดยรูปแบบ “รัฐสวัสดิการ” วางอยู่บนฐานคิดที่ว่าสวัสดิการคือ “สิทธิ” ที่ประชาชนพึงได้รับจากรัฐ ไม่ใช่บริการที่ต้องไปซื้อหาในท้องตลาดหรือเป็นสวัสดิการที่ได้รับในฐานะสมาชิกของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง หรือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
เส้นแบ่งระหว่าง “ข้อวิจารณ์” กับ “มายาคติ”
ประวัติศาสตร์สอนเราว่า มายาคติหลายเรื่องเป็นเพียงสิ่งที่เราเคยเชื่อว่าเป็นจริงในอดีต แต่วันนี้มีข้อมูลหลักฐานชัดเจนแล้วว่าไม่จริง หรือไม่จริงเสมอไป ประวัติศาสตร์สอนเราด้วยว่า นโยบายแนวรัฐสวัสดิการในต่างประเทศล้วนแต่ต้องผ่านการทดลองและปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอให้ทันต่อสถานการณ์และปัญหาใหม่ๆ โดยไม่ทิ้งแก่นสำคัญของแนวคิด นโยบายที่เคยใช้การได้ดีในยุคที่ประชากรขยายตัว อัตราการเกิดอยู่ในระดับสูง อาจใช้ไม่ได้แล้วในยุคที่กำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (hyper-aged society) ที่ประชากรสูงวัยมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ
เราต้องแยกแยะระหว่าง “ข้อวิจารณ์” รัฐสวัสดิการ กับ “มายาคติ” หรือ “อคติ” ที่แฝงอยู่ภายใต้ข้อวิจารณ์เหล่านั้น เพราะข้อวิจารณ์จำนวนมากมีเหตุมีผลน่ารับฟัง และสำคัญต่อการปรับปรุงรัฐสวัสดิการอย่างต่อเนื่องให้มีความยั่งยืน และช่วยให้เรารับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ได้
มายาคติหรืออคติเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการที่เห็นว่ายังแพร่หลายในสังคมไทยมีหลายเรื่อง ถ้าจะให้สรุปมายาคติหลักๆ ที่เราเจออย่างรวบรัด อาจสรุปเป็นประโยคประโยคเดียวว่า –
“คนทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเอง การแจกเงินจะทำให้คนขี้เกียจ คนไทยยังไม่พร้อม รัฐราชการจะขยายใหญ่เทอะทะและคอร์รัปชันจะเพิ่มเป็นเงาตามตัว รัฐสวัสดิการจะถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ จะหาเงินจากไหนมาจ่าย”
เราอาจนำมายาคติในประโยคนี้มาจัดหมวดหมู่กว้างๆ เป็น 3 ด้าน ได้แก่ มายาคติด้านศีลธรรม มายาคติด้านการเมือง และมายาคติด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหมวดหมู่เหล่านี้มีความเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน แต่คิดว่าการจำแนกแบบนี้ก็เป็นประโยชน์ต่อการสำรวจและถกเถียงร่วมกัน
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงไปทีละด้าน เริ่มจากมายาคติด้านศีลธรรมก่อน
มายาคติด้านศีลธรรม
“คนทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเอง”
ผู้ที่ชอบยกข้ออ้างทำนองนี้เวลาแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐสวัสดิการเชื่อว่า สถานภาพและสถานการณ์ของคนทุกคนถึงที่สุดแล้วไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ โชคชะตา หรือปัจจัยภายนอกเป็นหลัก แต่เป็นผลจากการกระทำของตัวเองเป็นหลัก คนรวยรวยเพราะขยัน คนจนจนเพราะขี้เกียจ พูดง่ายๆ คือ เรา “ทำตัวเราเอง” และดังนั้นจึงต้องรับผิดชอบตัวเอง ไม่ใช่กงการของรัฐที่จะมารีดภาษีจากคนที่ประสบความสำเร็จด้วยลำแข้งของตัวเอง ไปโอบอุ้มดูแลคนอื่น และการทำแบบนั้นก็ “ไม่ยุติธรรม” ด้วย
แต่ความเชื่อข้อนี้ถูกท้าทายด้วยความจริงที่เราเห็นอยู่ซึ่งหน้า ในสังคมอำนาจนิยมที่มหาเศรษฐีหลายคนร่ำรวยจากการเถลิงอำนาจผูกขาดในระบอบคณาธิปไตย ระบอบที่อำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอย่างแน่นแฟ้นและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน สังคมที่คนจำนวนมากตัดสินใจจบชีวิตตัวเองเพราะขยันอย่างสุดกำลังแล้วแต่ไม่อาจตะกายพ้นหนี้กองโต สังคมที่นักเรียนยากจนพิเศษพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1.3 ล้านคนในช่วงโควิด-19
ความจริงที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวัน ทำให้คำกล่าวที่ว่า คนรวยรวยเพราะขยัน คนจนจนเพราะขี้เกียจ นับวันยิ่งดูเป็นมายาคติมากขึ้นเรื่อยๆ
เราจะรับผิดชอบตัวเองล้วนๆ โดยที่รัฐหรือสังคมไม่ยื่นมือมาช่วยได้อย่างไร ในเมื่อความเป็นจริงก็คือ ไม่มีความสำเร็จหรือความล้มเหลวใด ไม่มีความร่ำรวยหรือความยากจนใดที่เราได้มาด้วยเจตจำนงและความสามารถของตัวเองล้วนๆ ดังที่ ปรีดี พนมยงค์ เคยกล่าวว่า
“มนุษย์ที่เกิดมาย่อมต้องเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน เช่น คนจนนั้น เพราะฝูงชนทำให้จนก็ได้ คนเคยทอผ้าด้วยฝีมือ ครั้งมีเครื่องจักรแข่งขัน คนที่ทอผ้าด้วยมือต้องล้มเลิก หรือ คนที่รวยเวลานี้ไม่ใช่รวยเพราะแรงงานของตนเลย เช่น ผู้ที่มีที่ดินมากคนหนึ่งในกรุงเทพ ซึ่งเดิมมีราคาน้อย ภายหลังที่ดินมีราคาแพง สร้างตึกสูงๆ ดั่งนี้ ราคาที่ดินแพงขึ้นเนื่องจากฝูงชน ไม่ใช่เพราะการกระทำของคนนั้น ฉะนั้น จึงถือว่ามนุษย์ต่างมีหนี้ตามธรรมจริยาต่อกัน จึงต้องร่วมประกันภัยต่อกันและร่วมกันในการประกอบเศรษฐกิจ” (ข้อความนี้จากการค้นคว้าของอาจารย์ ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล)
แทนที่เราจะยึดมั่นในมายาคติแบบอิสรนิยม (libertarian) ที่ว่าคนทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเอง เราควรเปลี่ยนมาใช้แนวคิดภราดรภาพ ตามวิสัยทัศน์ของ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งตรงกับความจริงมากกว่า และช่วยสร้างสังคมน่าอยู่มากกว่า ดังคำกล่าวของปรีดีที่ว่า
“มนุษย์จำต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในประเทศหนึ่ง ถ้ามนุษย์คนหนึ่งต้องรับทุกข์ เพื่อนมนุษย์อื่นก็รับทุกข์ด้วย จะเป็นโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เหตุฉะนั้นเพียงแต่มีความอิสระและมีความเสมอภาคจึงยังไม่เพียงพอ จึงยังต้องมีการช่วยเหลือกันฉันพี่น้องด้วย”
“การแจกเงินจะทำให้คนขี้เกียจ”
ความเชื่อนี้วาดภาพว่า ถ้าคนได้เงินมาฟรีๆ ก็จะรอรับเงินจากรัฐ ไม่ออกไปหางานทำ พึ่งพาแต่เงินช่วยเหลือไปเรื่อยๆ หรือถ้าคนสามารถเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลได้ฟรี ก็จะไม่สนใจดูแลสุขภาพตัวเอง นักเศรษฐศาสตร์เรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า “จริยวิบัติ” หรือ moral hazard
ถึงแม้อาจฟังดูเหลือเชื่อว่า โลกนี้จะมีคนสักกี่คนที่เต็มใจจะอยู่เฉยๆ อยู่ได้ด้วยเงินช่วยเหลือไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจเสียงติฉินนินทาจากคนอื่นและไม่รู้สึกละอายแก่ใจตัวเอง และมีคนสักกี่คนที่รีบไปทำตัวเหลวแหลกจนป่วยหนักเข้าโรงพยาบาล เพียงเพราะรู้ดีว่ามีสวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้า – แต่กระนั้นก็ตาม ในเมื่อคนจำนวนไม่น้อยในสังคมของเรายังเชื่อว่ามีคนแบบนี้อยู่มากมาย การจะทลายมายาคติข้อนี้จึงต้องอาศัยข้อมูลจากโลกแห่งความจริง จากผลการศึกษาที่ประเมินผลลัพธ์ของโครงการสวัสดิการโดยรัฐ
ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากพยายามนำเสนอผลการวิจัยเชิงประจักษ์มาอธิบายว่าความเชื่อทำนอง “การแจกเงินจะทำให้คนขี้เกียจ” เป็นมายาคติอย่างไร งานวิจัยจำนวนมากชี้ว่าสวัสดิการที่ถูกออกแบบมาอย่างดีไม่เพียงแต่ไม่ทำให้คน “ขี้เกียจ” เท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มอัตราการมีงานทำด้วยซ้ำไป ยกตัวอย่างเช่น
- งานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2548 ชี้ว่าระบบเงินโอนสมทบผู้มีรายได้น้อยในอเมริกาที่เรียกว่า Earned Income Tax Credit (EITC) ซึ่งเป็นโครงการโอนเงินสดที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลกลางอเมริกา ช่วยเพิ่มอัตราการมีงานทำของแม่เลี้ยงเดี่ยว และแทบไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าคนที่มีงานทำอยู่แล้วมีชั่วโมงการทำงานน้อยลง (Eissa & Hoynes 2005)
- งานวิจัยชิ้นสำคัญปี 2558 นำโดย อภิจิต บาเนอร์จี เจ้าของรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ ศึกษาโครงการโอนเงินสดในประเทศกำลังพัฒนา 6 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก นิคารากัว ฮอนดูรัส ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และโมร็อกโก พบว่า “ไม่มีหลักฐานเชิงระบบใดๆ ที่บ่งชี้ว่าโครงการโอนเงินสดเหล่านี้ลดทอนแรงจูงใจที่จะทำงาน” ต่อมาในปี 2560 คณะวิจัยกลับมาวิเคราะห์ข้อมูลอีกรอบและยืนยันข้อสรุปเดิม คราวนี้จั่วหัวงานวิจัยว่า “ทลายภาพจำของผู้รับสวัสดิการหลังยาว” (Debunking the Stereotype of the Lazy Welfare Recipient) (Banerjee, Kreindler & Olken 2017)
- งานวรรณกรรมปริทัศน์ปี 2561 ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาพบว่า แม้ในงานที่พบว่าโครงการโอนเงินสดส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน ผลกระทบก็อยู่ในระดับที่ต่ำมาก โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้น 10% จากโครงการโอนเงิน จะลดอุปทานแรงงานลงเพียง 1% ในขณะเดียวกัน แม้ในกรณีที่โครงการเหล่านี้ลดชั่วโมงทำงานลง คนก็ไม่ได้นั่งเฉื่อยอยู่บ้านเฉยๆ แต่ใช้เงินสดเป็นทุนรอนในการกลับไปเรียน หรือใช้เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวระหว่างรองานที่น่าทำกว่าเดิม (Marinescu 2018)
- งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า สวัสดิการจากรัฐมีประโยชน์มากกว่าแค่ยกระดับมาตรฐานการครองชีพเฉพาะหน้าของผู้มีรายได้น้อย แต่ยังเป็น “การลงทุน” ในสุขภาพและอาชีพการงานในอนาคตของเด็กๆ ที่คุ้มค่าในระยะยาว งานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2561 ศึกษาโครงการ Prospera ของประเทศเม็กซิโก โครงการโอนเงินสดอย่างมีเงื่อนไข (conditional cash-transfer) โครงการแรกในโลก โครงการนี้ส่งเงินให้กับครัวเรือนรายได้น้อยในเม็กซิโกเกือบ 7 ล้านครัวเรือน บนเงื่อนไขว่าครอบครัวต้องส่งลูกไปโรงเรียนและพาลูกไปพบแพทย์ตามกำหนด คณะวิจัยตามไปดูผลลัพธ์ของโครงการนี้ต่อชีวิตของเด็กๆ เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี พบว่าโดยเฉลี่ยเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการติดกัน 7 ปี จะได้ไปโรงเรียนนานกว่าเยาวชนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ 3 ปี และมีโอกาสมีงานทำ 37 เปอร์เซ็นต์สูงกว่าเยาวชนที่ไม่ได้ร่วมโครงการ นอกจากนี้ เด็กๆ ในโครงการ Prospera เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็ใช้เวลาทำงานต่อสัปดาห์มากกว่าเด็กจากครอบครัวยากจนที่ไม่ได้ร่วมโครงการ เฉลี่ยมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีรายได้ต่อชั่วโมงสูงกว่า
ผลการศึกษาเหล่านี้และอีกมากมายบอกเราอย่างชัดเจนว่า โครงการสวัสดิการของรัฐที่ออกแบบมาอย่างดีไม่เพียงแต่ไม่ทำให้คนขี้เกียจเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คนหางานและทำงานที่มีคุณค่าสำหรับพวกเขามากขึ้น
พูดถึงมายาคติด้านศีลธรรมไปแล้ว ทีนี้มาดูมายาคติด้านการเมืองบ้าง
มายาคติด้านการเมือง
“คนไทยยังไม่พร้อม”
ดิฉันไม่ค่อยแน่ใจว่าเราควรมองมายาคติข้อนี้อย่างไร ในเมื่อมันดูเป็นอคติ มากกว่ามายาคติที่ตั้งอยู่บนความเชื่อผิดๆ อย่างมายาคติด้านศีลธรรมที่พูดถึงไปแล้ว
ก่อนอื่นเราคงต้องขอให้คนพูดขยายความว่า เขาคิดว่าคนไทยยังไม่พร้อมกับรัฐสวัสดิการในแง่ไหน เพราะอะไร
ถ้าเขาตอบว่า คนไทยยังไม่พร้อมเพราะคนไทยยังไม่มีวินัยมากพอที่จะใช้สวัสดิการอย่างรับผิดชอบ จะพร้อมได้ก็ต้องให้คนไทยทั้งชาติมีวินัยสูงมากๆ ก่อน คำตอบนี้ก็สะท้อนมายาคติด้านศีลธรรมที่ว่า “การแจกเงินจะทำให้คนขี้เกียจ” ซึ่งดิฉันได้อภิปรายไปแล้ว
ถ้าเขาตอบว่า คนไทยยังไม่พร้อมเพราะรัฐสวัสดิการต้องใช้เงินเยอะ ประเทศไทยยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา ไม่มีเงินพอจ่าย จะพร้อมได้ต้องรอให้ประเทศเป็นประเทศพัฒนาแล้วก่อน คำตอบนี้ก็สะท้อนมายาคติด้านเศรษฐกิจที่ว่า “จะหาเงินจากไหนมาจ่าย” ซึ่งดิฉันจะอภิปรายเป็นลำดับต่อไป
ถ้าเขาตอบว่า คนไทยยังไม่พร้อมเพราะรัฐสวัสดิการจะทำให้รัฐราชการมีขนาดใหญ่มากกว่าเดิม เพิ่มการทุจริตคอร์รัปชัน จะพร้อมได้ก็ต้องแก้ปัญหาคอร์รัปชันก่อน คำตอบนี้ก็สะท้อนมายาคติด้านการเมืองที่ว่า “รัฐราชการจะขยายใหญ่เทอะทะและคอร์รัปชันจะเพิ่มเป็นเงาตามตัว” ซึ่งเรามาว่าเรื่องนี้กันเลย
“รัฐราชการจะขยายใหญ่เทอะทะและคอร์รัปชันจะเพิ่มเป็นเงาตามตัว”
การขยายสวัสดิการของรัฐแปลว่าเราจะมอบหมายให้รัฐมีอำนาจหน้าที่มากขึ้น แต่การขยายบทบาทหน้าที่ของรัฐไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ภาวะที่ “รัฐราชการ” มีขนาดใหญ่เทอะทะอุ้ยอ้ายไร้ประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และไม่จำเป็นที่จะนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด
ดิฉันพูดอย่างนี้เพราะไม่ว่าเราจะพัฒนารัฐสวัสดิการหรือไม่ทำ เราก็จำเป็นจะต้องปฏิรูประบบราชการ และยกเครื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอยู่ดี เพราะสองเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ในตัวมันเองอยู่แล้ว
การยกปัญหาเรื่องรัฐราชการไร้ประสิทธิภาพและการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นมาเป็นข้ออ้างหรือ “เหตุผล” ที่จะไม่พัฒนารัฐสวัสดิการ จึงเป็นวิธีใช้เหตุผลแบบจับแพะชนแกะ คล้ายกับการอ้างว่าคนไทยไม่ควรมีสิทธิสมรสเท่าเทียมเพราะต้องเราเสียค่าใช้จ่ายในการแก้กฎหมายหลายฉบับ หรือบอกว่าเราไม่ควรเลิกทาสเพราะธุรกิจที่ใช้แรงงานทาสจะต้องแบกต้นทุนมากขึ้น
นอกจากนี้ เราก็สามารถผลักดันรัฐสวัสดิการควบคู่ไปกับการลดขนาดของรัฐราชการ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ และลดการทุจริตคอร์รัปชันได้ ด้วยการเพิ่มกลไกความโปร่งใส เพิ่มบทบาทของรัฐบาลท้องถิ่นและกลุ่มชุมชนในการจัดสรรและติดตามสวัสดิการ
ยกตัวอย่างเช่น การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยผู้พิการ อาจใช้วิธีจ้างกลุ่มชุมชนที่รู้จักมักคุ้นกับสมาชิกในชุมชนเป็นอย่างดี อย่างกลุ่มออมทรัพย์ หรือกองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นตัวแทนของรัฐในการจ่ายและติดตามดูแลผู้รับสวัสดิการ แทนที่จะรวมศูนย์อยู่ที่หน่วยงานราชการ เป็นต้น
พูดถึงมายาคติด้านศีลธรรม กับด้านการเมืองไปแล้ว คราวนี้ก็มาถึงมายาคติด้านสุดท้าย คือด้านเศรษฐกิจ
มายาคติด้านเศรษฐกิจ
“รัฐสวัสดิการจะถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจ”
คนที่พูดแบบนี้อาจมองเห็นแต่ “ค่าใช้จ่าย” ของรัฐสวัสดิการ มองไม่เห็น “ประโยชน์ทางสังคม” ที่เกิดจากสวัสดิการ หรือพูดอีกอย่างก็คือ มองว่ารัฐสวัสดิการคือ “การใช้จ่าย” ที่สูญเปล่า แทนที่จะมองว่าเป็น “การลงทุน” ในคุณภาพชีวิตของประชาชน นอกจากนี้ การช่วยลดหรือจัดการความเสี่ยงในชีวิตของประชาชนยังช่วยสร้าง “ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ” ด้วย ในแง่ที่เราจะได้ประชากรที่มีศักยภาพมากขึ้น ในยุคที่การพัฒนาเศรษฐกิจไม่สามารถละเลยเศรษฐกิจฐานความรู้ และเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมีการพัฒนาทุนมนุษย์เป็นหัวใจสำคัญ
สำหรับคนที่กลัวว่ารัฐสวัสดิการจะฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจเพราะบั่นทอนแรงจูงใจในการทำงานของผู้คน ข้อนี้ก็เป็นเพียงความกลัวที่ต่อยอดมาจากมายาคติที่ว่า “การแจกเงินจะทำให้คนขี้เกียจ” ซึ่งดิฉันได้พูดถึงไปแล้วก่อนหน้านี้ ส่วนคนที่กลัวว่าค่าใช้จ่ายในรัฐสวัสดิการจะเป็นภาระทางการคลังที่สูงมากจนระเบิดเป็นวิกฤต ก็อาจสับสนระหว่าง “วิธีรับมือกับปัญหา” กับ “สาเหตุของปัญหา” การที่บางประเทศหั่นรายจ่ายด้านสังคมลงในช่วงเศรษฐกิจถดถอย รัฐเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้า ไม่ได้แปลว่ารายจ่ายด้านสังคมเหล่านั้นคือสาเหตุของภาวะเศรษฐกิจถดถอย
อาจารย์โจเซฟ สติกลิทซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ชี้ว่าในประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่ ไม่เคยมีวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ครั้งใดที่เกิดจากรัฐสวัสดิการ วิกฤตหลายครั้งเกิดจากความฟุ้งเฟ้อในภาคการเงินต่างหาก (วงการที่หลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐสวัสดิการ) อาจารย์สติกลิทซ์เสนอว่า เราต้องปฏิรูปโลกาภิวัตน์เพื่อลดขอบเขตการแข่งขันกันลดภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุน ซึ่งมีส่วนจำกัดศักยภาพทางการคลังในการส่งมอบรัฐสวัสดิการ และต้องสามารถเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น (Stiglitz 2017)
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา วงการเศรษฐศาสตร์สะสมหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่า รัฐสวัสดิการมีส่วนสร้างสังคมที่เท่าเทียมมากขึ้น และสังคมแบบนั้นก็มักไปได้ดี ทั้งในแง่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และในแง่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคม งานวิจัยจากนักเศรษฐศาสตร์สแกนดิเนเวียพบว่า คนในสังคมที่มีตาข่ายสังคมแข็งแรงยินดียอมรับการเปลี่ยนแปลงและเปิดรับสิ่งใหม่ๆ มากกว่า (Karl Ove Moene et. al. 2013)
แน่นอน รัฐสวัสดิการเองก็จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ด้วย ในยุคที่ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ ปัญหาเร่งด่วนระดับโลกอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งมาพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เป็นเส้นตรง บ่งชี้ว่าเราจะต้องหาทาง “ปลดล็อก” การเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างเช่นการเข้าสู่สังคมสูงวัย ก็เพิ่มแรงกดดันต่อรัฐสวัสดิการ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนชี้ว่าประเทศร่ำรวยในโลกตะวันตกกำลังเข้าสู่ยุคที่เศรษฐกิจจะแทบไม่เติบโตเลยในระยะยาว การตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงกำลังจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป นั่นหมายความว่ากลยุทธ์การออกแบบและจัดการรัฐสวัสดิการ ซึ่งที่ผ่านมาใช้เงินภาษีเป็นแหล่งรายได้หลัก จะต้องมีการทบทวนเพื่อดูว่า เราจะสามารถ “ปลดล็อก” รัฐสวัสดิการออกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ เพียงใด นั่นหมายถึงการมองหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ ที่ถูกกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจน้อยกว่าแหล่งรายได้เดิม และตอบโจทย์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย เช่น เน้นการเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ภาษีคาร์บอน มากกว่าภาษีเงินได้ เหล่านี้คือตัวอย่างการจัดการฝั่ง ‘อุปทาน’ ของสวัสดิการ
สำหรับการจัดการฝั่ง ‘อุปสงค์’ หรือความต้องการสวัสดิการ เราก็อาจศึกษาสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์บางคนเรียกว่า “เศรษฐศาสตร์การเมืองของยุคหลังการเติบโต” (political economy of the post-growth era) (Koch & Buch-Hansen, 2020) นั่นคือ สำรวจดูว่าจะลดความต้องการสวัสดิการที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการกระจายการเข้าถึงงาน ทรัพยากร และโอกาสให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร และจะเพิ่มความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพของชุมชนและครอบครัวอย่างไรได้บ้าง
“จะหาเงินจากไหนมาจ่าย”
มายาคติประการสุดท้ายคือความเชื่อที่ว่า รัฐสวัสดิการทำได้แต่ในประเทศร่ำรวยเท่านั้น ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา จะหาเงินจากไหนมาจ่าย
ที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้ออกมาชี้ช่องทางมากมาย ตั้งแต่การปฏิรูประบบภาษีให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น เก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินมากขึ้น ลดการรั่วไหลของภาษีลง แต่ดิฉันอยากชวนให้มองอีกมุมด้วย อยากให้เริ่มต้นจากคำถามที่ว่า วันนี้เราอยู่ในสังคมที่รัฐใช้เงินภาษีเราแบบไหน
เราอยู่ในสังคมที่รัฐตกลงจ่ายเงินเป็นหมื่นล้านเพื่อซื้อเรือดำน้ำที่ไม่มีเครื่องยนต์ มีนายพลมากเกินความจำเป็นโดยที่หลายร้อยคนไม่มีหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจน มีอภิมหาเศรษฐีหนีภาษีที่ดินชนิดไม่แคร์สื่อด้วยการปลูกกล้วยเป็นพันเป็นหมื่นต้น (บางรายเอาไปโฆษณาว่านี่คือ “โครงการซีเอสอาร์” คืนกำไรสู่สังคมอีกต่างหาก) เศรษฐีบางคนไปซอยที่แปลงใหญ่เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวถี่ๆ สร้างที่ตาบอดขึ้นมา ดูไม่มีเหตุผลทางธุรกิจอะไรรองรับเลยยกเว้นว่าอยากเลี่ยงภาษี
ส่วนภาษีมรดกซึ่งผลักดันกันมานานหลายปี เคยถูกคาดหวังว่าจะช่วยสร้างรายได้เข้ารัฐเป็นกอบเป็นกำ ลดความเหลื่อมล้ำสองเด้งผ่านการเก็บภาษีมรดกจากเศรษฐี และการนำรายได้จากภาษีมาจัดสวัสดิการให้กับประชาชน สุดท้ายภาษีตัวนี้ได้ออกเป็นกฎหมายในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ คสช. แต่งตั้ง ผ่านมา 5 ปี รัฐเก็บภาษีจริงได้เพียงปีละไม่กี่ร้อยล้านบาท
สังคมไทยไม่ใช่สังคมที่สิ้นไร้ไม้ตอก ไม่ใช่สังคมที่ไม่มีเงินจ่ายเพื่อรัฐสวัสดิการ เป็นแค่สังคมที่รัฐยังไม่เห็นหัวประชาชนมากพอ ยังไม่วาง “คน” เป็นเป้าหมายและหัวใจของการพัฒนาอย่างแท้จริงเท่านั้นเอง
ดิฉันเชื่อว่า บททดสอบที่แท้จริงว่าสังคมของเรามีสิทธิเสรีภาพขนาดไหน มีความเจริญทางวัตถุและจิตใจเพียงใด วัดไม่ได้จากสิทธิเสรีภาพและความเป็นอยู่ของอภิสิทธิ์ชน คนที่อยู่บนสุดของยอดปิระมิด แต่ต้องวัดจากสิทธิเสรีภาพและความเป็นอยู่ของสมาชิกในสังคมที่อ่อนแอที่สุด ไร้อำนาจต่อรองที่สุด รวมทั้งเราต้องมองไปในอนาคต มองแนวโน้มสิทธิเสรีภาพและความเป็นอยู่ของคนรุ่นหลังที่ยังไม่เกิดมาด้วย ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน
รัฐสวัสดิการถึงที่สุดแล้วไม่ได้เป็นแค่เรื่องของความยุติธรรมทางสังคม ไม่ได้เป็นแค่หนทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในศตวรรษที่ 21 ที่ตอบโจทย์ความท้าทายของเราได้ สุดท้ายมันเป็นเรื่องของคำถามที่ว่า เราอยากเป็นคนแบบไหน และเราอยากอาศัยอยู่ในสังคมประเภทไหน
ดิฉันมองว่ารัฐสวัสดิการเป็นหัวใจของการสร้างสังคมที่น่าอยู่ สังคมที่เอื้อให้สมาชิกในสังคมมีความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน มีจิตสาธารณะ มีภราดรภาพกับเพื่อนพลเมือง และเป็นสังคมที่สร้างความหวังให้กับคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นหลังสืบไป
ขอบคุณค่ะ