ความเห็นสั้นๆ ต่อสถานการณ์การเมืองไทย & เหตุผลที่สมัครควรยุบสภา

ยังรู้สึกหดหู่ใจกับการเมืองมาก ขอโพสความเห็นสั้นๆ เพื่อแสดงความชัดเจนว่าคิดอย่างไร เพราะตอนนี้เจ้าของบล็อกถูกประณามจากทั้งสอง “ขั้ว” ในสังคมไทยแล้ว ตอนนี้บ้านเมืองเราแตกแยกกันรุนแรงน่ากลัวมากๆ

ก่อนอื่น ในฐานะคนที่เคยไปร่วมชุมนุม “กู้ชาติ” กับพันธมิตรเมื่อปลายปี 2548 (สมัยที่ยังเป็น “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” ที่สวนลุมฯ อยู่) ต่อเนื่องจนถึงกลางปี 2549 ผู้เขียนยังยืนยันและยึดมั่นในสิ่งที่เคยเขียนในบล็อกนี้แล้วว่า เหตุผลหลักที่ไปประท้วงคือ เชื่อมั่นว่ารัฐบาลของทักษิณหมดความชอบธรรมในการบริหารบ้านเมือง เพราะเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง แทรกแซงและครอบงำองค์กรอิสระและกลไกต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตยจนทำงานถ่วงดุล ตรวจสอบ และเช็กบิลไม่ได้เต็มที่ ตัวอย่างโพสก่อนๆ จากช่วงนั้นคือ –

หลังจากวันนั้นจนถึงวันนี้ สองปีกว่าผ่านไป พฤติกรรมทุจริตต่างๆ ก็ทยอยขึ้นสู่ชั้นศาล และศาลก็จะทยอยอ่านคำพิพากษาไปเรื่อยๆ

กระบวนการยุติธรรมกำลังดำเนินไป ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีการประท้วง จะมีหรือไม่มีการนองเลือด

ตอนนั้นผู้เขียนไม่เคยคิดว่าพันธมิตรฯ มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การเปลี่ยนไปใช้ “ระบอบ” อื่นใดที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ผู้เขียนเพียงแต่คิดว่าพันธมิตรเป็น “กลไกคัดง้าง” นอกรัฐสภา (หรือที่หลายท่านเรียกว่า “พรรคฝ่ายค้านนอกสภา”) ที่ทำงานได้ดี และช่วยเปิดโปงกรณีไม่ชอบมาพากลทั้งหลายให้สาธารณชนได้รับรู้และตื่นตัว และดังนั้นจึงสมควรสนับสนุน

(จริงๆ ตอนที่พันธมิตรเริ่มอ้างมาตราเจ็ดขอ “รัฐบาลพระราชทาน” ผู้เขียนก็เริ่มรู้สึกตะหงิดๆ แล้วเหมือนกัน แต่ก็ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่คิดมากอะไร เพราะคิดว่าถึงอย่างไรเราก็กำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่ (ที่ต่อมา กกต. ประกาศว่าเป็นโมฆะ) อยู่แล้ว ถ้าใครจะด่าว่าผู้เขียนตอนนั้น “โง่” และ “ไร้เดียงสา” ที่มองไม่เห็นวาระที่แท้จริงของพันธมิตร ผู้เขียนก็ขอน้อมรับคำด่าแต่โดยดี)


ยังรู้สึกหดหู่ใจกับการเมืองมาก ขอโพสความเห็นสั้นๆ เพื่อแสดงความชัดเจนว่าคิดอย่างไร เพราะตอนนี้เจ้าของบล็อกถูกประณามจากทั้งสอง “ขั้ว” ในสังคมไทยแล้ว ตอนนี้บ้านเมืองเราแตกแยกกันรุนแรงน่ากลัวมากๆ

ก่อนอื่น ในฐานะคนที่เคยไปร่วมชุมนุม “กู้ชาติ” กับพันธมิตรเมื่อปลายปี 2548 (สมัยที่ยังเป็น “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” ที่สวนลุมฯ อยู่) ต่อเนื่องจนถึงกลางปี 2549 ผู้เขียนยังยืนยันและยึดมั่นในสิ่งที่เคยเขียนในบล็อกนี้แล้วว่า เหตุผลหลักที่ไปประท้วงคือ เชื่อมั่นว่ารัฐบาลของทักษิณหมดความชอบธรรมในการบริหารบ้านเมือง เพราะเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง แทรกแซงและครอบงำองค์กรอิสระและกลไกต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตยจนทำงานถ่วงดุล ตรวจสอบ และเช็กบิลไม่ได้เต็มที่ ตัวอย่างโพสก่อนๆ จากช่วงนั้นคือ –

หลังจากวันนั้นจนถึงวันนี้ สองปีกว่าผ่านไป พฤติกรรมทุจริตต่างๆ ก็ทยอยขึ้นสู่ชั้นศาล และศาลก็จะทยอยอ่านคำพิพากษาไปเรื่อยๆ

กระบวนการยุติธรรมกำลังดำเนินไป ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีการประท้วง จะมีหรือไม่มีการนองเลือด

ตอนนั้นผู้เขียนไม่เคยคิดว่าพันธมิตรฯ มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การเปลี่ยนไปใช้ “ระบอบ” อื่นใดที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ผู้เขียนเพียงแต่คิดว่าพันธมิตรเป็น “กลไกคัดง้าง” นอกรัฐสภา (หรือที่หลายท่านเรียกว่า “พรรคฝ่ายค้านนอกสภา”) ที่ทำงานได้ดี และช่วยเปิดโปงกรณีไม่ชอบมาพากลทั้งหลายให้สาธารณชนได้รับรู้และตื่นตัว และดังนั้นจึงสมควรสนับสนุน

(จริงๆ ตอนที่พันธมิตรเริ่มอ้างมาตราเจ็ดขอ “รัฐบาลพระราชทาน” ผู้เขียนก็เริ่มรู้สึกตะหงิดๆ แล้วเหมือนกัน แต่ก็ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่คิดมากอะไร เพราะคิดว่าถึงอย่างไรเราก็กำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่ (ที่ต่อมา กกต. ประกาศว่าเป็นโมฆะ) อยู่แล้ว ถ้าใครจะด่าว่าผู้เขียนตอนนั้น “โง่” และ “ไร้เดียงสา” ที่มองไม่เห็นวาระที่แท้จริงของพันธมิตร ผู้เขียนก็ขอน้อมรับคำด่าแต่โดยดี)

แต่มาถึงตอนนี้ ผู้เขียนคิดว่าเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดของพันธมิตรไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การเปิดโปงและตรวจสอบการคดโกงในระบบอีกต่อไป การประกาศ “การเมืองใหม่” ของพันธมิตร เท่ากับเป็นการประกาศความต้องการที่จะล้างไพ่หรือล้มกระดานอีกครั้งหนึ่งโดยไม่สนใจว่ากลไกในระบบปัจจุบันกำลังทำงานอย่างไร และความต้องการที่จะ “รื้อระบบ” ใหม่ทั้งยวง ให้เป็นระบบอะไรสักอย่างที่เป็นประชาธิปไตยน้อยลง (เช่น เสนอว่าระบบเลือกตั้งควรเป็นแบบ 70/30 ฯลฯ)

ถ้าจะต้อง “ล้างระบอบทักษิณ” ด้วยการเมืองใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยน้อยลง ผู้เขียนคิดว่าเราจะได้ไม่คุ้มเสีย และจริงๆ เราก็ไม่ควรจะต้องเลือกด้วย เพราะตอนนี้ศาลก็กำลังทยอยพิพากษาคดีความผิดต่างๆ ที่เกิดในสมัยทักษิณ ซึ่งนั่นก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นแล้วมิใช่หรือว่า กลไกในระบบอย่างน้อยบางส่วนก็กำลังทำงาน?

การชุมนุมในรอบนี้นั้น แรกๆ ก็ทำท่าว่าจะเข้าท่า เพราะพันธมิตรประกาศต่อต้านความพยายามที่จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อ “ฟอก” ความผิดให้กับรัฐบาลชุดก่อน (ซึ่งเป็นจุดยืนที่ผู้เขียนเห็นด้วย คือถึงแม้ว่าจะไม่ชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อเทียบกับฉบับปี 2540 ก็ไม่อยากเห็นรัฐบาลแก้เพื่อฟอกใคร)

พันธมิตรจึงมี “ความชอบธรรม” ทางสังคมที่จะชุมนุม และก็น่าปลื้มใจที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก

แต่วันที่พันธมิตรประกาศ “ยกระดับ” การชุมนุมไปเป็นการ “ไล่รัฐบาล” วันเดียวกับที่สมัครประกาศถอนญัตติแก้รัฐธรรมนูญตามที่พันธมิตรต้องการ – นั่นคือวันที่ “ความชอบธรรม” ทางสังคมของพันธมิตรเริ่มถึงจุดเสื่อมถอย

เพราะการเป็น “นอมินี” ให้ใครของรัฐบาลสมัคร ถึงจะน่าเกลียดแค่ไหน ก็ไม่ใช่ความผิดทางกฎหมาย

ประเด็นร้อนที่สุดและมีความไม่ชอบมาพากลที่สุดที่พันธมิตรหยิบขึ้นมาโจมตีรัฐบาล คือประเด็นเรื่องเขาพระวิหาร แต่ประเด็นนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าขอบเขตที่รัฐบาลทำ “ผิด” จริงๆ นั้น อยู่ตรงไหน (เพราะต้องยอมรับว่าพันธมิตรกระพือเรื่องนี้ไปเยอะมาก) และ “ความผิด” นั้นสมควรต้องทำให้ ครม. ลาออกทั้งคณะเพื่อรับผิดชอบเลยหรือเปล่า

ประเด็นอื่นๆ ผู้เขียนไม่คิดว่ามี “เหตุผล” เพียงพอที่จะใช้เป็นเหตุผลในการขับไล่รัฐบาล จริงอยู่ รัฐบาลนี้ดำเนินนโยบายแย่ๆ หลายเรื่อง และ “หน้าด้าน” ค่อนข้างมากในการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง เช่น การแทรกแซงและความไม่โปร่งใสในการแต่งตั้งผู้บริหารของ ธปท. ก.ล.ต. ตลท. ฯลฯ

แต่ “ความร้ายแรง” ของเรื่องเหล่านี้ “แย่” จนถึงขนาดที่ประชาชนควรจะออกมาบุกทำเนียบ บุกทีวี ปิดสนามบิน ฯลฯ เรียกร้องให้นายกฯ ลาออกเลยหรือ?

ใครกล้ายืนยันหรือไม่ว่าระดับการ “ครอบงำ” และ “แทรกแซง” องค์กรอิสระและกลไกในระบบต่างๆ ของรัฐบาลนี้ (รวมทั้งศาลด้วย) เลวร้ายยิ่งกว่าหรือพอๆ กับในสมัยของทักษิณ ชินวัตร ช่วงกลางปี 2548?

ถ้าทักษิณสมัยนั้น “ลุแก่อำนาจ” และครอบงำระบบยิ่งกว่าสมัครสมัยนี้ เหตุใดตอนนั้นการประท้วงของพันธมิตรจึงกระทำอย่างสันติและอหิงสาได้ ไม่เห็นต้องไปบุกทำเนียบ บุกทีวี และการกระทำอื่นๆ ที่เป็น “อนารยะขัดขืน” มากกว่า “อารยะขัดขืน” ไปแล้ว?

ผู้เขียนคิดว่า การดื้อดึงชุมนุมในทางที่ “ไม่เป็นอารยะ” ขึ้นเรื่อยๆ ของพันธมิตร โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่บุกทำเนียบเป็นต้นมานั้น ไม่มีความชอบธรรมเพียงพอ และไม่มี “เหตุผล” อะไรที่อธิบายได้จริงๆ ยกเว้นแต่เหตุผลข้อเดียวที่ว่า พันธมิตรจงใจยั่วยุให้เกิดความรุนแรง เพื่อ “สร้างเงื่อนไข” ให้ทหารออกมาทำรัฐประหารหรือจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ”

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เราจะเรียกการกระทำที่จงใจเอาชีวิตประชาชนไปเสี่ยงกับความรุนแรง (โดยเฉพาะในเมื่อผู้ชุมนุมหลายคนเป็นคนแก่ เด็ก และผู้หญิง) เพื่อมุ่งไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลนอกกลไกการเลือกตั้ง ว่าเป็น “ประชาธิปไตย” ได้อย่างไร?

(ประเด็นนี้ผู้เขียนคิดว่าเป็นประเด็นที่แยก “แฟนพันธุ์แท้พันธมิตร” ออกจากกลุ่มอื่นๆ ได้ดี คือแฟนพันธุ์แท้ดูจะไม่สนใจว่าพันธมิตรจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็น เพราะไม่เชื่อว่าประชาธิปไตย “เหมาะสม” กับประเทศนี้อยู่แล้ว อยากได้ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” มากกว่า แฟนพันธุ์แท้จึงคิดว่าถึงอย่างไรพันธมิตรก็มีความชอบธรรม แตกต่างจากผู้สนับสนุนแบบ “แฟนขาจรที่ยินดีร่วมอุดมการณ์เมื่อมีเป้าหมายเฉพาะหน้าตรงกัน” อย่างผู้เขียน ที่พร้อมจะถอนตัวออกจากการชุมนุมเมื่อใดก็ตามที่มองว่าพันธมิตรเริ่มใช้วิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือตั้งเป้าที่ระบอบอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้ประชาธิปไตยเจือจางลง)

ถ้าเราทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า เป้าหมายเร่งด่วนที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือ 1) ระงับสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจปะทุได้อีกทุกเมื่อระหว่างคนไทยด้วยกัน อันจะนำไปสู่การสูญเสียเลือดเนื้ออย่างแน่นอน และ 2) หลีกเลี่ยงเงื่อนไขใดๆ ก็ตามที่อาจนำไปสู่การเกิดรัฐประหารหรือรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากข้อแรก)

“ทางออก” ที่ดีที่สุดที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ (ซึ่งอาจแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยเมื่อดูจากนิสัยและพฤติกรรมที่ผ่านมาของสมัครและรัฐบาล แต่อย่างน้อยผู้เขียนคิดว่ามันก็เป็นไปได้ที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นๆ ที่เป็น “อุดมคติ” ยิ่งกว่า) คือ สมัคร สุนทรเวช ในฐานะผู้นำรัฐบาลที่กุมอำนาจรัฐไว้ในมือ ควรตัดสินใจเสียหน้าและเสียสละเพื่อชาติ ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ ระบอบประชาธิปไตยจะได้เดินต่อไปได้

ตอนนี้การรักษาเลือดเนื้อคนไทยด้วยกัน สำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด

อะไรจะเกิดขึ้นในระยะยาว ก็ค่อยมาว่ากันอีกที.