จดหมายถึงนักเรียน กธ. 301 (ความประทับใจจากการได้เป็นอาจารย์ครั้งที่สองในชีวิต)

[โพสนี้เขียนถึงนักเรียนวิชา “ธุรกิจกับสังคมและชุมชน” ที่สอนเสร็จไปเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา ขออภัยท่านผู้อ่านทุกท่าน ตอนแรกพยายามจะเขียนกลางๆ เหมือนกับตอนที่เขียนเล่าความประทับใจครั้งแรก แต่คราวนี้เขียนยากกว่าคราวที่แล้ว เพราะมีเรื่องที่อยากเขียนถึงนักเรียนตรงๆ มากกว่าเรื่องที่อยากเล่า]

นักเรียน กธ. 301 ที่รัก

ขออภัยที่อาจารย์ใช้เวลานานมากๆ กว่าจะเขียนเรื่องนี้เสร็จ ถ้าพวกคุณติดตามอ่านบล็อกของอาจารย์มาบ้าง ก็คงรู้แล้วว่าอาจารย์เป็นคนฟุ้งซ่านขนาดไหน 😉

ก่อนอื่น อาจารย์ขอโทษที่สอนจนจบเทอมแล้วก็ยังจำชื่อพวกคุณไม่ได้ทุกคน (แต่อาจารย์ก็มีปัญหาเรื่องนี้จริงๆ นะ) และก็ขอโทษที่เตรียมตัวสอนได้ไม่ดีพอ หลายครั้งยังพูดเร็วไปมากๆ และพูดวกไปวนมา ฉะนั้นถ้าพวกคุณไม่เข้าใจเรื่องอะไร นั่นย่อมเป็นความผิดพลาดของคนสอน (ยกเว้นกรณีที่คุยกันจนไม่ตั้งใจฟัง คงไม่ใช่ความผิดของอาจารย์แน่ๆ)

ความที่มันเป็นวิชาชื่อ “ธุรกิจกับสังคมและชุมชน” ก็เลยทำให้วิชานี้ไม่เหมือนกับวิชาทั่วไปหลายเรื่อง และความไม่เหมือนต่างๆ เหล่านี้ก็ทำให้การสอนพวกคุณเป็นเรื่อง “ยาก” สำหรับอาจารย์ ยากกว่าสอนสิ่งที่อาจารย์พอจะมีความรู้อยู่บ้าง เช่น หลักการเงิน การประเมินมูลค่ากิจการ ตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ

แต่ในขณะที่หนักใจกับความยากของวิชานี้ไปตลอดเทอม ความยากก็ทำให้อาจารย์รู้สึกสนุกกับการค้นคว้าและสอนเรื่องนี้ไปตลอดเทอมเหมือนกัน ถึงแม้จะเสียดายว่าไม่ได้ “ทำการบ้าน” ก่อนสอนแต่ละคาบให้ดีกว่านี้

อาจารย์จะพยายามอธิบายให้พวกคุณฟังดีกว่าว่า “ความยาก” เหล่านี้มีอะไรบ้าง

1. แนวคิดที่ว่าธุรกิจควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่ และถ้ามี “ความรับผิดชอบ” นั้นควรครอบคลุมมิติใดบ้าง มีขอบเขตอยู่ที่ไหน (ทำตัวให้ถูกกฎหมายอย่างเดียวก็ “พอ” หรือเปล่า?) เป็นประเด็นที่ยังมีการถกเถียงไม่สิ้นสุด ทั้งในแวดวงวิชาการ ธุรกิจ การเมือง และภาคประชาชน การถกเถียงนี้ไม่มีทางจบลงง่ายๆ เพราะเราทุกคนก็รู้ๆ กันอยู่ว่าผลกระทบของธุรกิจต่อสังคมและชุมชนนั้น ไม่เพียงแต่ “วัด” หรือ “ตีค่า” ออกมาเป็นตัวเลขได้ยากหรือบางเรื่องก็เป็นไปไม่ได้เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่อง “นามธรรม” ที่คนแต่ละกลุ่มมีความเห็นแตกต่างกันมากมายอีกด้วย


[โพสนี้เขียนถึงนักเรียนวิชา “ธุรกิจกับสังคมและชุมชน” ที่สอนเสร็จไปเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา ขออภัยท่านผู้อ่านทุกท่าน ตอนแรกพยายามจะเขียนกลางๆ เหมือนกับตอนที่เขียนเล่าความประทับใจครั้งแรก แต่คราวนี้เขียนยากกว่าคราวที่แล้ว เพราะมีเรื่องที่อยากเขียนถึงนักเรียนตรงๆ มากกว่าเรื่องที่อยากเล่า]

นักเรียน กธ. 301 ที่รัก

ขออภัยที่อาจารย์ใช้เวลานานมากๆ กว่าจะเขียนเรื่องนี้เสร็จ ถ้าพวกคุณติดตามอ่านบล็อกของอาจารย์มาบ้าง ก็คงรู้แล้วว่าอาจารย์เป็นคนฟุ้งซ่านขนาดไหน 😉

ก่อนอื่น อาจารย์ขอโทษที่สอนจนจบเทอมแล้วก็ยังจำชื่อพวกคุณไม่ได้ทุกคน (แต่อาจารย์ก็มีปัญหาเรื่องนี้จริงๆ นะ) และก็ขอโทษที่เตรียมตัวสอนได้ไม่ดีพอ หลายครั้งยังพูดเร็วไปมากๆ และพูดวกไปวนมา ฉะนั้นถ้าพวกคุณไม่เข้าใจเรื่องอะไร นั่นย่อมเป็นความผิดพลาดของคนสอน (ยกเว้นกรณีที่คุยกันจนไม่ตั้งใจฟัง คงไม่ใช่ความผิดของอาจารย์แน่ๆ)

ความที่มันเป็นวิชาชื่อ “ธุรกิจกับสังคมและชุมชน” ก็เลยทำให้วิชานี้ไม่เหมือนกับวิชาทั่วไปหลายเรื่อง และความไม่เหมือนต่างๆ เหล่านี้ก็ทำให้การสอนพวกคุณเป็นเรื่อง “ยาก” สำหรับอาจารย์ ยากกว่าสอนสิ่งที่อาจารย์พอจะมีความรู้อยู่บ้าง เช่น หลักการเงิน การประเมินมูลค่ากิจการ ตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ

แต่ในขณะที่หนักใจกับความยากของวิชานี้ไปตลอดเทอม ความยากก็ทำให้อาจารย์รู้สึกสนุกกับการค้นคว้าและสอนเรื่องนี้ไปตลอดเทอมเหมือนกัน ถึงแม้จะเสียดายว่าไม่ได้ “ทำการบ้าน” ก่อนสอนแต่ละคาบให้ดีกว่านี้

อาจารย์จะพยายามอธิบายให้พวกคุณฟังดีกว่าว่า “ความยาก” เหล่านี้มีอะไรบ้าง

1. แนวคิดที่ว่าธุรกิจควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่ และถ้ามี “ความรับผิดชอบ” นั้นควรครอบคลุมมิติใดบ้าง มีขอบเขตอยู่ที่ไหน (ทำตัวให้ถูกกฎหมายอย่างเดียวก็ “พอ” หรือเปล่า?) เป็นประเด็นที่ยังมีการถกเถียงไม่สิ้นสุด ทั้งในแวดวงวิชาการ ธุรกิจ การเมือง และภาคประชาชน การถกเถียงนี้ไม่มีทางจบลงง่ายๆ เพราะเราทุกคนก็รู้ๆ กันอยู่ว่าผลกระทบของธุรกิจต่อสังคมและชุมชนนั้น ไม่เพียงแต่ “วัด” หรือ “ตีค่า” ออกมาเป็นตัวเลขได้ยากหรือบางเรื่องก็เป็นไปไม่ได้เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่อง “นามธรรม” ที่คนแต่ละกลุ่มมีความเห็นแตกต่างกันมากมายอีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มที่ต่อต้านการทำแท้งอาจจะประท้วงบริษัทที่ให้เงินสนับสนุนคลินิกทำแท้งด้วยการบอยคอตสินค้า แต่กลุ่มที่สนับสนุนสิทธิของผู้หญิงในการทำแท้งอาจจะสนับสนุน ในกรณีแบบนี้ บริษัทควรทำอย่างไร? ถ้าผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นและลูกค้า ไม่เคยแคร์ประเด็นนี้เลย สนใจแต่กำไรของบริษัทเท่านั้น หลักเกณฑ์เพียงข้อเดียวที่บริษัทสามารถใช้ในการตัดสินใจก็คือ ตัดสินใจว่าการกระทำแบบไหนจะทำให้เสียลูกค้า “น้อย” กว่ากัน คือจำกัดผลกระทบต่อฐานะทางการเงินให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้เท่านั้น เพราะบริษัทมีหน้าที่เดียวตามกฎหมาย คือนำส่งผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ฉะนั้นถ้ามองอย่างเคร่งครัดที่สุด พวกคุณบางคนอาจจะมองว่า บริษัทมีหน้าที่ทำตัวตามกฎหมายเท่านั้น ถ้าสังคมหรือภาครัฐคิดว่าบริษัทควรมี “ความรับผิดชอบ” เรื่องไหน ก็ควรบรรจุไว้ในกฎหมายหรือกฏเกณฑ์ของรัฐ บริษัทจะได้ทำตัวถูก

แต่ถ้าเราลองมองโครงสร้างและประสิทธิภาพของระบบกฎหมายในปัจจุบัน ที่ยังค่อนข้างอ่อนแอในประเทศไทย (ไม่นับการโกงกินในระบบราชการ) อาจารย์หวังว่าพวกคุณคงเห็นแล้วว่า โครงสร้างเชิงสถาบันของเรามีข้อบกพร่องเพียงใด

บริษัทที่รู้ดีว่าข้อบกพร่องทางกฎหมายหรือกฏระเบียบทำให้ผู้มีส่วนได้เสียบางฝ่ายเดือดร้อนหรือไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร แต่ก็ยังฉวยโอกาสจากข้อบกพร่องเหล่านั้นหรือความอ่อนแอของภาครัฐ กระทำในสิ่งที่ “ถูกกฎหมาย” แต่ไร้คุณธรรม เช่น ขายสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หลบเลี่ยงกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำเพื่อกดค่าแรงให้ต่ำที่สุด ฯลฯ – บริษัทแบบนี้มีความรับผิดชอบเพียงพอแล้วหรือไม่?

“คุณธรรม” ของบริษัทควรอยู่ตรงไหน หรือมันไม่มีความหมาย เพราะมันอยู่นอกเหนือขอบเขตของกฎหมาย?

อาจารย์ไม่มีคำตอบ และไม่คิดว่าใครจะ “ฟันธง” ได้ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องถูก-ผิดที่มีเส้นแบ่งมองเห็นชัดเจน หากเป็นผลพวงของ “การต่อรองภายนอก” ระหว่างบริษัทกับผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายต่างๆ ภายใต้บริบทของระดับวุฒิภาวะทางการเมืองและสังคม ตลอดจนความตื่นตัวของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละฝ่าย

แต่การต่อรองที่สำคัญกว่านั้นที่อาจารย์หวังว่าจะเกิดขึ้นกับพวกคุณ คือ “การต่อรองภายใน” ของนักธุรกิจ ระหว่างมโนธรรมสำนึกของเขาที่ปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ กับโลกแห่งความเป็นจริงที่บริษัททุกแห่งต้องต่อสู้ดิ้นรนกับคู่แข่งมากมาย

ถึงแม้ว่าอาจารย์อาจจะสอนสะเปะสะปะไปบ้าง ก็หวังว่าอย่างน้อยพวกคุณจะได้เห็นว่า โลกเรากำลังมีนวัตกรรม เครื่องมือ ตลาด และแนวคิดใหม่ๆ มากมายที่ช่วยให้มโนธรรมของนักธุรกิจแสดงออกมาได้ดีขึ้น ให้การต่อรองทั้งภายในและภายนอกดำเนินไปได้อย่างสอดคล้องกันมากขึ้น ลดทอนแรงปะทะระหว่างฝ่ายต่างๆ ให้โอนอ่อนเข้าหากันได้ พวกคุณมีทางเลือกมากกว่านักธุรกิจจิตสาธารณะในอดีตที่มักประสบความล้มเหลวทางธุรกิจแทบทุกครั้งที่อยากเอาธุรกิจไปช่วยสังคม

อย่างไรก็ตาม “สมดุล” นี้ไม่มีใครได้มาง่ายๆ หากต้องแลกมาด้วยการใช้ความคิด ความพยายาม การทำงานหนัก ความสามารถในการหว่านล้อม(นักลงทุนและลูกค้า) ตลอดจนความกล้าที่จะปฏิเสธกระบวนทัศน์เก่าๆ ในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะวิธีคิดแบบ “มักง่าย” ที่นักธุรกิจไทยหลายคนชอบใช้ แต่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ยั่งยืนในโลกยุคโลกาภิวัตน์ (เช่น ไม่สนใจลงทุนวิจัยหรือพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เน้นแต่การกดค่าแรงต่ำๆ เพื่อให้ขายของได้ในราคาถูก)

ในเมื่อ “องค์ความรู้” เรื่องนี้ยังไม่นิ่งและอาจไม่มีวันนิ่ง อาจารย์จึงรู้มากกว่านักเรียนไม่มาก แถมบางเรื่องอาจจะรู้น้อยกว่าด้วยซ้ำไป วิชานี้จึงไม่ควรดำเนินไปแบบอาจารย์สอนศิษย์ แต่ควรใช้ “กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน” มากกว่า

เรื่องนี้อาจารย์ยังทำได้ไม่ดีพอ เทอมหน้าต้องแก้ตัวใหม่

2. บางครั้ง “ทัศนคติ” ก็สำคัญกว่า “ความรู้”

หวังว่าพวกคุณคงจำได้ ตอนที่อาจารย์เชิญสุนิตย์มาเล่าเรื่อง “ผู้ประกอบการเพื่อสังคม” (social entrepreneur) ให้พวกเราฟัง ช่วงหนึ่งของการบรรยาย สุนิตย์ถามพวกคุณทุกคนว่า จะแก้ปัญหาในรูปด้านล่างนี้อย่างไร:

The problem

ไอเดียของพวกคุณส่วนใหญ่เป็น “ไอเดียใหญ่” ที่ต้องใช้เงินทุนสูง ไม่ว่าจะเป็นการคิดวิธีบำบัดน้ำเสีย การคิดค้นยารักษาโรคที่มากับน้ำไม่สะอาด ฯลฯ

สุนิตย์ชี้ให้เห็นว่า วิธีง่ายๆ ก็อาจช่วยแก้หรือบรรเทาปัญหาใหญ่ๆ ได้ เช่น LifeStraw:

The solution

หลังจบวันนั้น อาจารย์ก็ไปบันทึกไว้ในบล็อกของวิชานี้ว่า:

  • ผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จ จะคิดแบบ “นอกกรอบ” โดยเข้าใจ “ข้อจำกัด” (constraint) ของสังคมที่ตัวเองเป็นสมาชิก ไ่ม่ใช่คาดหวังให้รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจรายอื่นมากำจัดข้อจำกัดเหล่านั้นให้ก่อน เป็นเงื่อนไขในการทำธุรกิจ
  • ยกตัวอย่างเช่น LifeStraw อุปกรณ์กรองน้ำราคาถูกที่ขายในประเทศยากจนต่างๆ ใช้หลักการง่ายๆ หน้าตาเหมือนหลอดดูดน้ำ เป็นวิธีบรรเทาปัญหาเด็กตายจากโรคภัยที่มีสาเหตุมาจากน้ำไม่สะอาด ที่ทำได้จริงและมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องรอให้รัฐบาลสร้างเขื่อน บริษัทใหญ่สร้างโรงบำบัดน้ำเสีย หรือนักวิทยาศาสตร์คิดค้นวัคซีนป้องกันโรค
  • “เทคโนโลยีเหมาะสม” สำหรับแก้ปัญหาสังคม อาจไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่เอี่ยมล่าสุด แต่อาจใช้ประโยชน์จากงานวิจัยล่าสุด (เช่น ผ้ากรองน้ำที่ทำจากส่าหรีเก่าๆ ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเกี่ยวกับลักษณะของผ้ากรองน้ำที่ได้ผล)

วันนั้นอาจารย์ไม่ได้พูดเรื่องนี้ แต่วันนี้อาจารย์อยากจะพูดเสริมว่า สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากธุรกิจเพื่อสังคมดีๆ นั้น เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในธุรกิจที่แสวงหากำไรสูงสุดด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า บางครั้ง การเปลี่ยนมุมมองหรือ “ทัศนคติ” ของตัวเราเสียใหม่ สำคัญยิ่งกว่าการมี “ความรู้” มากมายมหาศาลที่เอามาใช้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าไม่ได้

solution ที่เรียบง่ายอาจไม่ได้ “คิดง่าย” ตามไปด้วย

อย่าดูถูกลูกค้า แต่ในขณะเดียวกันก็อย่ามุ่งตอบสนองแต่ความต้องการระดับฉาบฉวยหรือสัญชาตญาณพื้นฐานของลูกค้าเพียงอย่างเดียว (ภาษาอังกฤษเรียกว่า “pander to basic instincts”) พยายามผลิตสินค้าหรือบริการที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในระยะยาวจะดีกว่า

อย่าดูถูกเทคโนโลยีชาวบ้านหรือภูมิปัญญาไทย เพราะความรู้ทุกประเภทล้วนมีค่าเท่าเทียมกัน ประเด็นอยู่ที่ว่าความรู้แบบไหนจะเหมาะกับสถานการณ์ไหนที่สุด

อาจารย์อยากกระตุ้นให้พวกคุณสนใจติดตามเรื่องราวของ “ธุรกิจเพื่อสังคม” ถึงแม้ว่าคุณอาจไม่เคยคิดที่จะประกอบธุรกิจเพื่อสังคม เพราะนวัตกรรมและไอเดียใหม่ๆ ของธุรกิจเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จ ล้วนเป็น “ของจริง” ที่อาจช่วยพวกคุณในการทำธุรกิจทั่วไปด้วย – เพราะถ้าไอเดียเหล่านั้นไม่ “เจ๋ง” จริง ธุรกิจเพื่อสังคมก็ไม่มีวันอยู่ได้อย่างยั่งยืน (เพราะอย่างที่เรารู้แล้วว่า “ลูกค้า” ของพวกเขามีกำลังซื้อน้อยมากๆ)

อาจารย์อยากให้พวกคุณโตขึ้นเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ปฏิเสธการทำธุรกิจแบบ “มักง่าย” เพราะอาจารย์เชื่อว่าการทำธุรกิจแบบ “มักง่าย” นั้น เป็นสัญญาณบ่งบอกความ “ไร้ความรับผิดชอบ” ของนักธุรกิจที่ชัดเจนที่สุด

วิธีลดต้นทุนแบบไหนจะง่ายไปกว่าการไล่คนงานออก หรือลดเงินเดือนพนักงานชั้นผู้น้อย?

วิธีดันราคาหุ้นแบบไหนจะง่ายไปกว่าการประโคม “ข่าวดี” เกี่ยวกับ “โครงการใหม่ในอนาคต” ที่บริษัทรู้อยู่แก่ใจว่าไม่มีวันเกิดขึ้นจริง?

แต่บริษัทที่ “มักง่าย” แบบนี้จะอยู่ได้นานเท่าไหร่?

อาจารย์อยากให้พวกคุณคิดเรื่อง “ความยั่งยืน” ของธุรกิจให้มาก เพราะประเด็นนี้เกี่ยวโยงกับความรับผิดชอบของธุรกิจกับสังคมอย่างแยกจากกันไม่ออก

3. “สำนึก” สำคัญกว่า “ความเข้าใจ”

ในเมื่อเรื่อง “ความรับผิดชอบของธุรกิจ” เป็นเรื่องของจิตสำนึก การต่อรองกับระบบกฎหมาย การบริหารจัดการผู้มีส่วนได้เสีย ฯลฯ มากกว่า “ความถูกต้อง” เชิงคณิตศาสตร์ และในเมื่อเรื่องนี้ไม่มี “สัจธรรม” อะไรให้เรา “เข้าใจ” ร่วมกันได้ เข้าใจได้แต่ “คำถาม” ที่เราควรจะถามไปเรื่อยๆ อาจารย์ก็เลยคิดว่าเกรดของวิชานี้ไม่ค่อยมีความหมายเท่าไหร่

ใครที่ไม่ได้ “A” ไม่ได้แปลว่าคิดอะไรผิด เพราะเรื่องนี้ไม่มีผิดหรือถูก มันเพียงแต่แปลว่าคุณยังอธิบายความคิดและเหตุผลของคุณได้ไม่ชัดเจนเพียงพอ หรือยังไม่โยงกับข้อมูลที่ใช้เป็นหลักฐาน ก็เท่านั้นเอง 🙂

4. “ผลกระทบของธุรกิจต่อสังคม” เป็นเรื่อง “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น”

อาจารย์ดีใจที่พวกคุณส่วนใหญ่ตกลงไปเยือนนิคมมาบตาพุดด้วยกัน ไปคุยกับแกนนำชาวบ้านที่กำลังรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศให้บริเวณนี้เป็นเขตปลอดมลพิษ จำได้ไหม ตอนที่ใบหม่อนถามคุณลุงที่มาบตาพุดว่า ถ้าที่นี่มีปัญหามลพิษจริง ทำไมมะม่วงบ้านคุณลุงถึงได้ลูกดก? แล้วคุณลุงตอบว่า ไม่ใช่ ที่มะม่วงลูกดกนั่นเพราะแถวนี้ดินจะตายหมดแล้ว เวลามะม่วงมันรู้ตัวว่าใกล้ตาย จะรีบออกลูก คนโบราณเวลาอยากให้มะม่วงลูกดกก็เลยจะเอามีดมาฟันต้นให้มันเป็นแผล มันจะได้ออกลูกเยอะๆ

เรื่องแบบนี้อาจารย์ไม่มีวันเล่าให้ฟังได้ เพราะอาจารย์ก็เป็น “คนเมือง” ที่โง่เรื่องนี้เหมือนกัน 🙂

อาจารย์หวังว่าพวกคุณจะจำอะไรๆ จากทริปนี้ได้ไม่มากก็น้อย เพราะเวลาเราพูดกันเรื่องผลกระทบของธุรกิจต่อสังคมและชุมชน เราไม่มีทางรู้ว่า “ผลกระทบ” มันหนักหนาขนาดไหนสำหรับคนอื่นที่ไม่ได้สุขสบายอย่างเรา จนกว่าเราจะได้ไปเห็นกับตาจริงๆ (เช่น ว่าบ้านเรือนของคนมาบตาพุดอยู่ติดโรงงานขนาดไหน)

ยังไม่นับว่าสื่อมวลชนไทยเรายังชอบเสนอข่าวทุกอย่างจากมุมของ “ความขัดแย้ง” ระหว่าง “ฝ่าย” สองฝ่าย (เช่น โรงงาน vs. ชาวบ้าน) และในการเสนอข่าวแบบนี้ ก็ยากมากที่เราจะมองเห็น “ความจริง” จากพื้นที่ตรงกลางที่ยังไม่ถูกบิดเบือนจากคนทั้งสองขั้ว

ในสถานการณ์บ้านเมืองที่ผู้คนแตกแยกเป็นสองขั้วตรงข้ามชัดเจน “พื้นที่ตรงกลาง” ในเมืองไทยที่ก็ไม่ค่อยมีอยู่แล้วกำลังเลือนหายไปเรื่อยๆ ทำให้อาจารย์รู้สึกว่าการสอนวิชานี้จะยิ่งยากขึ้นไปอีก – เพราะผู้มีประสบการณ์ที่อยากเชิญมาบรรยาย ก็มีแนวโน้มว่าจะชื่นชอบธุรกิจอย่างสุดขั้ว หรือไม่ก็เกลียดธุรกิจอย่างสุดขั้วเหมือนกัน

ปัญหาการขาด “มุมมองตรงกลาง” ที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจว่าประเด็นสำคัญคืออะไร ข้อเท็จจริงคืออะไร เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อาจารย์ไม่ค่อยอยากใช้เคสของธุรกิจในประเทศไทย อย่างน้อยเคสของประเทศพัฒนาแล้วก็มี “ข้อเท็จจริง” ที่ปรากฏ (ในชั้นศาล การทำข่าวของสื่อ หรือ ฯลฯ) มากพอที่เราจะใช้สร้าง “พื้นที่ตรงกลาง” เพื่ออภิปรายกันได้ แต่อาจารย์คิดว่าในคราวต่อๆ ไป ถ้าอาจารย์เตรียมตัวมาดีกว่านี้ ก็คงหาวิธีแลกเปลี่ยนความรู้ที่ดีกว่าเดิมได้ โดยใช้กรณีศึกษาของไทยเป็นแกนกลาง

พรรณนามายาวมากแล้ว อาจารย์ขอจบตรงนี้ก็แล้วกัน สรุปว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่มีโอกาสได้สอนเด็กรุ่นใหม่ไฟแรงที่เขียนหนังสือรู้เรื่องอย่างพวกคุณ (ซึ่งอาจารย์คิดว่าหายากมากๆ สมัยนี้) ขอบคุณทุกคนที่ตั้งใจเรียน ส่วนคนที่ไม่ตั้งใจเรียนเท่าไหร่ก็ขอแช่งให้สอบตก ..เอ๊ย! ไม่ใช่! หวังว่าอย่างน้อยก็ขอให้ตั้งใจเรียนในวิชาอื่น เพราะอาจารย์ของพวกคุณทุกคนล้วนหวังดีต่อพวกคุณทั้งนั้น แต่อาจจะแสดงออกกันคนละแบบเท่านั้นเอง

ท้ายที่สุด ขอให้ทุกคนโชคดีกับวิชาอื่นๆ และเวลาที่เหลือในธรรมศาสตร์ หวังว่าจะได้พบกันอีก และถ้าใครสนใจเรื่องทำนองนี้ ก็ลองติดตามบล็อกนี้และเข้าไปดูบล็อกของวิชานี้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีนี้อีก เพราะอาจารย์ตั้งใจว่าจะสอนไปเรื่อยๆ ตราบใดที่คณะบัญชียอมให้สอน 😉