จรรยาบรรณของบล็อกเกอร์ในฐานะสื่อพลเมือง

[เขียนบทความนี้ให้กับวารสารของสภาการหนังสือพิมพ์ ได้รับอนุญาตให้นำมาขึ้นบล็อกได้ด้วยค่ะ]

จรรยาบรรณของบล็อกเกอร์ในฐานะสื่อพลเมือง

ปัจจุบันการเขียนบล็อก (ย่อมาจาก “เว็บล็อก” – weblog) ได้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในชีวิตประจำวันของนักท่องเน็ตนับร้อยล้านคนทั่วโลก (ตัวเลข ณ สิ้นปี 2009 ของเทคโนราติ (Technorati.com) บริษัทเก็บสถิติ อยู่ที่ 112 ล้านบล็อก) ผู้เชี่ยวชาญอินเทอร์เน็ตหลายคนบอกว่าบล็อก “ตกสมัย” ไปแล้วในยุคที่สื่อสังคมอย่างเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ครองใจคนทั่วโลก

แต่ในเมื่อบล็อกมีความเป็น “สาธารณะ” มากกว่าเฟซบุ๊คซึ่งจำกัดผู้อ่านเพียงกลุ่ม “เพื่อน” และยาวกว่าทวิตเตอร์ซึ่งจำกัดเนื้อที่เพียง 140 ตัวอักษรต่อครั้ง งานเขียนของบล็อกเกอร์จึงมีส่วนคล้ายกับงานของนักข่าวมืออาชีพ และด้วยเหตุนั้น หากคำว่า “จรรยาบรรณของบล็อกเกอร์” จะมีความหมาย มันก็ควรมีส่วนคล้ายกับจรรยาบรรณของสื่ออาชีพ มากกว่าจรรยาบรรณของคนที่เล่นเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อบล็อกเกอร์ส่วนใหญ่ไม่ใช่สื่ออาชีพ และคนอ่านบล็อกก็ไม่ได้คาดหวังให้เป็นอย่างนั้น (ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่เข้ามาอ่านบล็อก และการเขียนบล็อกก็คงจะหมดสนุกและขาดเสน่ห์ถ้าบล็อกเกอร์พยายามทำตัวเป็นนักข่าวตลอดเวลา) จรรยาบรรณของบล็อกเกอร์จึงไม่ควรจะเท่ากับจรรยาบรรณของสื่ออาชีพ ถึงแม้ว่าจะมีพื้นฐานเดียวกัน

ถ้าเปรียบกับพุทธศาสนา จรรยาบรรณของบล็อกเกอร์อาจเปรียบเสมือนศีล 5 ข้อของฆราวาส ไม่ใช่ 227 ข้อที่เคร่งครัดกว่าของพระภิกษุในฐานะนักปฏิบัติธรรม “มืออาชีพ”

บล็อกเกอร์ส่วนใหญ่เขียนบล็อกเป็นงานอดิเรกด้วยแรงจูงใจที่แตกต่างกัน บางคนเขียนเพื่อระบายอารมณ์หลังจากที่ทนเก็บกดในที่ทำงานมาทั้งวัน บางคนเขียนบันทึกประสบการณ์ประจำวันให้เพื่อนอ่านเหมือนไดอารี่ส่วนตัว บางคนเขียนเพราะอยากแบ่งปันข้อมูลข่าวสารหรือสาระที่คิดว่าน่าสนใจ บางคนเขียนเพราะอยากโฆษณาสินค้าหรือบริการของบริษัทนายจ้าง และบางคนก็เขียนด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ อยากเขียน

ไม่ว่าบล็อกเกอร์แต่ละคนจะเขียนบล็อกเพราะอะไร ความที่อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ “สื่อสารส่วนตัว” และ “สื่อสารมวลชน” ในเวลาเดียวกัน ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าอะไรที่เราเขียนบนอินเทอร์เน็ตมีสิทธิ์อยู่ไปชั่วนิรันดร์ (ถึงเราลบออกก็อาจช้ากว่าคนที่มาก๊อปปี้เนื้อหาไปส่งต่อแล้ว) ก็หมายความว่าบล็อกเกอร์ควรคำนึงถึงจรรยาบรรณบางข้อเวลาเขียน โดยเฉพาะถ้าเราอยากสร้าง “ความน่าเชื่อถือ” ในหมู่คนอ่าน


[เขียนบทความนี้ให้กับวารสารของสภาการหนังสือพิมพ์ ได้รับอนุญาตให้นำมาขึ้นบล็อกได้ด้วยค่ะ]

จรรยาบรรณของบล็อกเกอร์ในฐานะสื่อพลเมือง

ปัจจุบันการเขียนบล็อก (ย่อมาจาก “เว็บล็อก” – weblog) ได้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในชีวิตประจำวันของนักท่องเน็ตนับร้อยล้านคนทั่วโลก (ตัวเลข ณ สิ้นปี 2009 ของเทคโนราติ (Technorati.com) บริษัทเก็บสถิติ อยู่ที่ 112 ล้านบล็อก) ผู้เชี่ยวชาญอินเทอร์เน็ตหลายคนบอกว่าบล็อก “ตกสมัย” ไปแล้วในยุคที่สื่อสังคมอย่างเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ครองใจคนทั่วโลก

แต่ในเมื่อบล็อกมีความเป็น “สาธารณะ” มากกว่าเฟซบุ๊คซึ่งจำกัดผู้อ่านเพียงกลุ่ม “เพื่อน” และยาวกว่าทวิตเตอร์ซึ่งจำกัดเนื้อที่เพียง 140 ตัวอักษรต่อครั้ง งานเขียนของบล็อกเกอร์จึงมีส่วนคล้ายกับงานของนักข่าวมืออาชีพ และด้วยเหตุนั้น หากคำว่า “จรรยาบรรณของบล็อกเกอร์” จะมีความหมาย มันก็ควรมีส่วนคล้ายกับจรรยาบรรณของสื่ออาชีพ มากกว่าจรรยาบรรณของคนที่เล่นเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อบล็อกเกอร์ส่วนใหญ่ไม่ใช่สื่ออาชีพ และคนอ่านบล็อกก็ไม่ได้คาดหวังให้เป็นอย่างนั้น (ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่เข้ามาอ่านบล็อก และการเขียนบล็อกก็คงจะหมดสนุกและขาดเสน่ห์ถ้าบล็อกเกอร์พยายามทำตัวเป็นนักข่าวตลอดเวลา) จรรยาบรรณของบล็อกเกอร์จึงไม่ควรจะเท่ากับจรรยาบรรณของสื่ออาชีพ ถึงแม้ว่าจะมีพื้นฐานเดียวกัน

ถ้าเปรียบกับพุทธศาสนา จรรยาบรรณของบล็อกเกอร์อาจเปรียบเสมือนศีล 5 ข้อของฆราวาส ไม่ใช่ 227 ข้อที่เคร่งครัดกว่าของพระภิกษุในฐานะนักปฏิบัติธรรม “มืออาชีพ”

บล็อกเกอร์ส่วนใหญ่เขียนบล็อกเป็นงานอดิเรกด้วยแรงจูงใจที่แตกต่างกัน บางคนเขียนเพื่อระบายอารมณ์หลังจากที่ทนเก็บกดในที่ทำงานมาทั้งวัน บางคนเขียนบันทึกประสบการณ์ประจำวันให้เพื่อนอ่านเหมือนไดอารี่ส่วนตัว บางคนเขียนเพราะอยากแบ่งปันข้อมูลข่าวสารหรือสาระที่คิดว่าน่าสนใจ บางคนเขียนเพราะอยากโฆษณาสินค้าหรือบริการของบริษัทนายจ้าง และบางคนก็เขียนด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ อยากเขียน

ไม่ว่าบล็อกเกอร์แต่ละคนจะเขียนบล็อกเพราะอะไร ความที่อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ “สื่อสารส่วนตัว” และ “สื่อสารมวลชน” ในเวลาเดียวกัน ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าอะไรที่เราเขียนบนอินเทอร์เน็ตมีสิทธิ์อยู่ไปชั่วนิรันดร์ (ถึงเราลบออกก็อาจช้ากว่าคนที่มาก๊อปปี้เนื้อหาไปส่งต่อแล้ว) ก็หมายความว่าบล็อกเกอร์ควรคำนึงถึงจรรยาบรรณบางข้อเวลาเขียน โดยเฉพาะถ้าเราอยากสร้าง “ความน่าเชื่อถือ” ในหมู่คนอ่าน

ความน่าเชื่อถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับทุกคนที่อยากเขียนบล็อกให้คนอื่น (ที่ไม่ใช่เพื่อน) อ่าน เพราะถ้าคนอ่านรู้สึกว่าคนเขียนไม่น่าเชื่อถือ อ่านครั้งเดียวก็คงไม่อยากกลับมาเยือนบล็อกนี้ใหม่ในอนาคต

ในเมื่อบล็อกเกอร์ไม่ใช่สื่ออาชีพที่มีคนรู้จัก “ยี่ห้อ” ดีอยู่แล้ว และหลายคนก็ไม่อยากเปิดเผยชื่อจริงนามสกุลจริงเวลาเขียน ความน่าเชื่อถือจึงเป็นสิ่งที่ต้องสร้าง และต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าจะสร้างได้ นั่นหมายความว่าบล็อกเกอร์ที่คนอ่านให้ความเชื่อถือยึดมั่นในจรรยาบรรณอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ในความคิดของผู้เขียน จรรยาบรรณของบล็อกเกอร์ที่สำคัญที่สุด คือ “ความเป็นภววิสัย” ตามด้วย “ความถูกต้องแม่นยำ” และ “ความโปร่งใส”

ความเป็นภววิสัย

ความเป็นภววิสัย (objective) คือแนวคิดที่ว่าผู้เขียนบทความควรเขียนอย่างเป็นกลางและเข้าใกล้สิ่งที่เกิดขึ้นจริงมากที่สุด เพื่อเปิดโอกาสผู้อ่านตัดสินด้วยตนเองว่าอะไรหรือใครในเรื่องนี้ถูก/ผิด/ดี/เลว หรือถ้าบล็อกเกอร์อยากบอกคนอ่านว่าเขาคิดอย่างไร ก็ควรแยกให้ชัดเจนระหว่าง “ข้อเท็จจริง” กับ “ความเห็น” ไม่ใช่เขียนแต่ความเห็นของตัวเอง ฝังข้อเท็จจริงไว้ในความเห็นจนแยกไม่ออก หรือไม่ก็ไม่พูดถึงข้อเท็จจริงเลย

ยกตัวอย่างข้อความต่อไปนี้

1. “ส.ส. กระทรวงไอซีทีนี่เลวมากเลยนะครับ งาบงบไปกินตั้งเป็นแสนล้าน”

2. “กระทรวงไอซีปีนี้ได้งบประมาณ 100,000 ล้าน เพิ่มจากปีที่แล้วถึง 30% มากกว่าทุกกระทรวง ปีที่แล้วผลงานที่โดดเด่นก็เห็นมีแต่การบล็อกเว็บไปหลายพันเว็บ ผมสงสัยว่าเอาเงินไปทำอะไรกันแน่”

ข้อความหลังเป็นการเขียนอย่างเป็นภววิสัยมากกว่าข้อความแรก เพราะแยกแยะระหว่างความเห็นกับข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน ยังไม่นับว่าข้อความแรกทำให้บล็อกเกอร์สุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องหมิ่นประมาทด้วยถ้าไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า ส.ส. คนนั้น “งาบงบไปกิน” จริงหรือเปล่า

ถ้าจะให้ดี นอกจากจะเขียนแบบข้อความหลังแล้ว บล็อกเกอร์ควรใส่ลิ้งก์ตรงคำว่า “งบประมาณ 100,000 ล้าน” ไปยังหัวข้อข่าวหรือแหล่งข้อมูลนี้ด้วย คนอ่านจะได้ตรวจสอบหรือหารายละเอียดเพิ่มเติมเองได้

ผู้เขียนคิดว่า “ความเป็นภววิสัย” ทำนองนี้สำคัญกว่า “ความเป็นกลาง” ในความหมาย “การนำเสนออย่างรอบด้าน” เพราะบล็อกเกอร์เป็นปุถุชนธรรมดา ย่อมอยากเขียนเชียร์คนนี้บ้างด่าคนโน้นบ้างตามรสนิยม ความเชื่อ หรือจุดยืนทางการเมือง บล็อกเกอร์คนไหนอยากเขียนแบบรัดกุมและนำเสนอข้อมูลรอบด้านระดับเดียวกับสื่อมืออาชีพคงไปเป็นนักข่าวจริงๆ แล้ว (ผู้เขียนสงสัยด้วยว่าทุกวันนี้ยังมีสื่ออาชีพที่ “เป็นกลาง” ในความหมายนั้นหลงเหลืออยู่อีกหรือ)

ด้วยเหตุนี้ ถ้าบล็อกเกอร์พยายามเขียนให้เป็นภววิสัยที่สุด คือแยกให้ชัดเจนระหว่างข้อเท็จจริงกับความเห็น ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงก็น่าจะพอแล้ว ไม่ถึงกับต้องไม่เลือกข้างหรือพิสูจน์ว่าตัวเอง “เป็นกลาง” แต่อย่างใด (ในกรณีตัวอย่างข้างต้น หมายความว่าแค่ระบุข้อเท็จจริงให้ถูกต้องก็พอ ไม่ต้องถึงกับพยายามหาข้อมูลอื่นที่ชี้ว่า ส.ส. คนนี้น่าจะเป็นคนดี มาถ่วงดุลข้อมูลส่วนแรก)

ความถูกต้องแม่นยำ

จรรยาบรรณของบล็อกเกอร์ข้อนี้เป็นจรรยาบรรณพื้นฐานของนักเขียนสารคดีทั่วไป ข้อนี้หมายความว่าเราควรตรวจสอบข้อเท็จจริง หรืออย่างน้อยก็มีแหล่งอ้างอิงที่มา ก่อนที่จะนำมาใช้ในการเขียน กฎคร่าวๆ คือ ข้อมูลจากหน่วยงานที่มีหน้าที่เก็บข้อมูลนั้นอยู่แล้ว (เช่น ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจจากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย) หรือจากพยานรู้เห็นในกรณีที่เขียนถึงเหตุการณ์ (เช่น คนที่ไปชุมนุมประท้วง) มีความน่าเชื่อถือสูงกว่าแหล่งข้อมูลอื่น

นอกจากการยึดมั่นในข้อเท็จจริงจะสำคัญแล้ว ความเข้าใจใน “ขอบเขต” ของข้อเท็จจริงที่มี ว่ามันบอกอะไรได้และไม่บอกอะไร ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะการตีความที่เกินเลยอาจทำให้คนเข้าใจผิดได้

ยกตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ภาพถ่ายจากเหตุการณ์ชุมนุมระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 –

1. ภาพทหารยืนอยู่บนรางรถไฟฟ้า BTS ถ้าบล็อกเกอร์ไม่รู้ว่าภาพนี้ถ่ายวันที่เท่าไร เวลาใด และเป็นรางไฟฟ้า ณ จุดใด ก็ไม่ควรตั้งชื่อภาพนั้นว่า “หลักฐานทหารสังหารประชาชนในวัดปทุมฯ”

2. ภาพผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ซอยรางน้ำ ผู้โพสภาพคนแรกๆ เขียนถามเฉยๆ ว่าคนที่ทำท่าหมอบในภาพนี้ 10 คน ถูกยิงหมดหรือไม่ บล็อกเกอร์ที่เขียนถึงเรื่องนี้ก็ควรตั้งคำถามทำนองเดียวกันหรือเสนอคำตอบถ้าคิดว่ามีหลักฐาน ไม่ใช่ยกภาพนี้เป็นตัวอย่างของการ “จัดฉาก” เพราะผู้โพสไม่ได้แสดงเจตนาดังกล่าว

เนื่องจากบล็อกเกอร์แต่ละคนย่อมรับรู้ข้อเท็จจริงได้จำกัด และไม่รู้ทุกเรื่อง บล็อกเกอร์จึงควรเปิดพื้นที่ให้คนอ่านแสดงความเห็นท้ายข้อเขียนทุกชิ้น เพื่อเชื้อเชิญให้คนอ่านมาเติมเต็มในสิ่งที่คนเขียนไม่รู้ หรือทักท้วงข้อมูล เพราะบล็อกเกอร์อาจเขียนผิดหรือใช้ข้อมูลเท็จโดยไม่รู้ตัว หรือไม่ผู้อ่านอาจรู้จักแหล่งข้อมูลที่ดีกว่า การเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านได้วิพากษ์วิจารณ์และแสดงความเห็น จึงช่วยให้บล็อกเกอร์สามารถนำข้อมูลและข้อคิดเห็นเหล่านั้นไปปรับปรุงข้อเขียนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น (โดยควรให้เครดิตกับผู้อ่านทุกครั้ง)

เจฟ จาร์วิส (Jeff Jarvis) บล็อกเกอร์ชาวอเมริกันชื่อดัง (แห่ง BuzzMachine) บอกว่าบล็อกเกอร์ควรให้ความสำคัญกับบทสนทนาที่เกิดขึ้นท้ายบทความ เพราะบทสนทนานำไปสู่สิ่งที่สำคัญกว่าความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล นั่นคือ “ความเข้าใจ” ทั้งในข้อมูล และในความแตกต่างหลากหลายของความคิด

ความโปร่งใส

ความโปร่งใสหมายถึงการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญต่อการตัดสินใจของคนอ่าน โดยเฉพาะในประเด็นต่อไปนี้

1. ผลประโยชน์ทับซ้อนของบล็อกเกอร์ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าบล็อกเกอร์อยากเขียนเชียร์สินค้าของบริษัทที่ตัวเองทำงานให้ ก็ควรเขียนเกริ่นนำก่อนว่าทำงานให้บริษัทผู้ผลิต เพราะคนอ่านบล็อกย่อมคาดหวังให้บล็อกเกอร์มีความเป็นอิสระมากกว่าสื่ออาชีพ การเปิดเผยผลประโยชน์ทับซ้อนก่อนเขียนจึงสำคัญมาก

2. การยอมรับความผิดพลาดทันทีที่ผู้อ่านทักท้วงว่าบล็อกเกอร์เขียนผิดหรือเข้าใจผิด ในเมื่อข้อเขียนบนบล็อกสามารถแก้ไขปรับปรุงได้ตลอดเวลา บล็อกเกอร์ควรมีความโปร่งใสในเรื่องนี้ด้วย ถ้าแก้ข้อเขียนเก่าเล็กๆ น้อยๆ ให้อ่านง่ายขึ้นก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าแก้ไขในสาระสำคัญ ควรขีดฆ่าเนื้อหาเดิมเพื่อป้องกันไม่ให้คนอ่านสับสน

3. แหล่งข้อมูล – บล็อกเกอร์ควรทำลิ้งก์ไปยังแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการเขียนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ประเด็นนี้อาจเป็นเรื่องของความถูกต้องแม่นยำมากกว่า แต่ผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องของความโปร่งใสด้วย)

4. การเขียนเรื่องที่หมิ่นเหม่ต่อ “ศีลธรรมอันดี” ในความรู้สึกของคนไทยทั่วไป เช่น วิจารณ์หนังโป๊ ควรเขียน “คำเตือน” ที่ชัดเจนก่อนลงมือเขียน (เช่น “เนื้อหาต่อไปนี้ไม่เหมาะสำหรับเด็ก”) เพราะบล็อกเกอร์ไม่มีทางรู้ว่าใครจะเข้ามาอ่านบ้าง อาจมีเด็กอายุสิบขวบหลงเข้ามาโดยบังเอิญก็ได้

ข้อแนะนำเพิ่มเติม

ในภาวะที่สังคมมีความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายสูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ผู้เขียนคิดว่านอกจากจรรยาบรรณพื้นฐานที่บล็อกเกอร์ควรมีเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแล้ว ยังมี “ข้อควรปฏิบัติ” อีกบางประการที่น่าทำ เพื่อช่วยลดความเกลียดชังในสังคมและเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกัน –

1. ควรหลีกเลี่ยงการเย้ยหยัน ถากถาง เหน็บแนม หรือขุดเรื่องส่วนตัวมาโจมตี สื่อกระแสหลักหลายค่ายทำแบบนี้เป็นสรณะ บล็อกเกอร์ไม่ควรเลียนแบบ

2. ควรหลีกเลี่ยงการเขียนถึงข่าวลือที่ยืนยันไม่ได้ว่าจริงหรือเท็จ

3. ควรเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เราเรียนรู้จากคนที่ไม่เห็นด้วยได้มากกว่าคนที่เห็นด้วยกับเราเสมอ ดังนั้นยิ่งบล็อกเกอร์ “ฟัง” คนอ่านเพียงใด ก็จะยิ่ง “เข้าใจ” ผู้อื่นเพียงนั้น และความเข้าใจนั้นก็จะช่วยให้บล็อกเกอร์สามารถเขียนได้อย่างใจกว้างกว่าเดิม ไม่ด่วนตัดสินใครในอนาคต

4. ควรหลีกเลี่ยงการใช้เหตุผลผิดๆ – ขอแนะนำกระทู้ “[fallacy] คุณใช้เหตุผลอย่างเหมาะสมหรือไม่” โดยคุณ Cryptomnesia ที่ กระทู้ในห้องหว้ากอ (หรือที่บันทึกไว้ในคลังกระทู้)