[เพื่อนๆ ขอใช้พื้นที่โฆษณาหน่อย เนื่องจากโอเพ่นออนไลน์ยังมีปัญหา เข้าไม่ได้ เลยขอใช้พื้นที่ในบล็อกนี้ไปพลางๆ ก่อน ท่านใดที่สนใจไฟล์ PDF ของบทความชิ้นนี้ สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ (2 หน้า)]
ชำแหละระบบบัญชีรายชื่อในร่าง รธน. 2550: gerrymandering แบบไทยๆ?
โดย “ม้านอก” และ “เด็กนอกกรอบ”
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่สุดของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับลงประชามติ คือการเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเปลี่ยนจากระบบเดิมที่ให้ผู้มีสิทธิจากทั่วประเทศเลือก 100 คน มาเป็นระบบใหม่ที่ให้แบ่งประเทศออกเป็น 8 “กลุ่มจังหวัด” ก่อน โดยให้แต่ละกลุ่มจังหวัดมีผู้แทนได้ 10 คน รวม 80 คน ที่น่าสนใจคือวิธีการแบ่งเขต ซึ่ง มาตรา 96(2) ระบุว่า “ให้จัดจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกันอยู่ในกลุ่มจังหวัดเดียวกัน และในกลุ่มจังหวัดทุกกลุ่มต้องมีจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง รวมกันแล้วใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ โดยให้จังหวัดทั้งจังหวัดอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียว”
เราคิดว่าวิธีแบ่งเขตเลือกตั้งแบบนี้ไม่มีเหตุผล และจะทำให้เกิดการแบ่งเขตในทางที่เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใดพรรคหนึ่งได้ง่าย หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า gerrymandering (อ่านรายละเอียดได้ที่บทความนี้ของ Wikipedia) ซึ่งการทำ gerrymandering อธิบายได้ด้วยกรณีสมมุติดังต่อไปนี้ (ภาพจาก Wikipedia):
ผลของการแบ่งเขตใหม่ จากซ้ายไปขวา เป็นการการันตีชัยชนะ 3-ต่อ-1 เขตให้กับพรรคสีม่วง จากเดิมที่ทั้งสองฝ่ายมีผู้สนับสนุนจำนวนเท่าๆ กันทุกเขต เพราะผู้สนับสนุนพรรคสีเขียว 14 คนถูก “อัด” ให้ไปอยู่รวมกันในเขตเลือกตั้งเดียว แต่ที่เหลืออีก 18 คนต้องกระจัดกระจายไปอยู่ใน 3 เขตที่เหลือ
เมื่อลองแบ่งเขตประเทศไทยตามวิธีที่ระบุในมาตรา 96(2) ดู เราพบว่าสามารถทำให้แบ่งเขตระบบบัญชีรายชื่อในทางที่เป็น gerrymandering ได้ (เช่น แยกหลายจังหวัดในภาคอีสาน ฐานเสียงหลักของอดีต ส.ส. พรรคไทยรักไทย ออกไปอยู่รวมกับกลุ่มจังหวัดอื่น) นอกจากนี้ก็ยังดู “ไร้เหตุผล” และค่อนข้างน่าขบขัน เช่น สามารถทำให้นครราชสีมาไปอยู่กลุ่มจังหวัดเดียวกันกับกำแพงเพชรและพิจิตร สองจังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง หรือทำให้บุรีรัมย์จากอีสานไปอยู่กลุ่มเดียวกันกับชลบุรี (ภาคตะวันออก) และสมุทรปราการ (ภาคกลาง) ได้! ซึ่งก็คงเป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์ไม่น้อย หากผู้แทนที่มาจากกลุ่มจังหวัดดังกล่าวจะสามารถเป็นคนที่ประชาชนเรียกว่า “ผู้แทน” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ดังตัวอย่างต่อไปนี้:
เราไม่แน่ใจว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ได้คิดถึง “ความสมเหตุสมผล” ของวิธีการแบ่งเขตบัญชีรายชื่อ หรือแนวโน้มที่วิธีนี้จะนำไปสู่การแบ่งเขตแบบ gerrymandering หรือไม่ แต่ไม่ว่าเจตนาของ สสร. จะเป็นเช่นใด เราหวังว่าประเด็นสำคัญประเด็นนี้จะเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้าง เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้ร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบแปลกๆ นี้ และนัยยะที่มีต่อประชาธิปไตยไทยต่อไปในอนาคต
สำหรับความเห็นอื่นๆ ของเราที่มีต่อ ร่าง รธน. ปี 2550 ขอเชิญดาวน์โหลดสไลด์ฉบับเต็มได้ที่นี่:
บทวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับลงประชามติ [PDF, 20 หน้า]
พร้อมกันนี้ เราขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกท่านออกไปร่วมลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ ในวันที่ 19 สิงหาคมที่จะถึงนี้ เพื่อร่วมกันเปิดมิติใหม่ให้กับการเมืองไทย.
“ม้านอก” และ “เด็กนอกกรอบ”
7 สิงหาคม 2550