ถ้าต้องเลือก คุณจะเลือกอะไรระหว่าง ความจริง ความยุติธรรม และมนุษยธรรม?

ตอนแรกกะว่าในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังปีใหม่ จะทยอยเขียนและโพสเล่าเรื่องเมืองลพบุรี เชียงใหม่ ตรัง และนครศรีธรรมราช ที่ตะลุยเที่ยวในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาให้เสร็จ แต่วันนี้เจอเหตุการณ์หวาดเสียวมาสดๆ ร้อนๆ ที่ทำให้ฉุกคิดถึงเรื่องหนึ่งที่ถกเถียงกับตัวเอง (ในหัว) มานาน เลยต้องขอระบายความในใจไว้ตรงนี้ ก่อนที่จะลืม

(เชิญดูรูปถ่ายจากการตะบันเที่ยวของผู้เขียน ไปพลางๆ ก่อนได้ที่ flickr: เที่ยวลพบุรี, เที่ยวเชียงใหม่ (รอบ 2), เที่ยวตรัง, เที่ยวนครศรีธรรมราช (แว่บไปหนึ่งวัน))

เรื่องของเรื่องคือ เมื่อชั่วโมงที่แล้ว ผู้เขียนเพิ่งมีส่วนร่วมในอุบัติเหตุรถชน 3 คัน เป็นครั้งแรกในชีวิต

(ถึงตอนนี้ ใครที่อาจสงสัยว่าหัวข้อบล็อกวันนี้เกี่ยวอะไรกับรถชน ขอให้อดทนอ่านต่อไปอีกนิดหนึ่ง)

วันนี้ตอนประมาณ 3 ทุ่ม ระหว่างทางขับรถกลับบ้าน ได้ไฟเขียวที่สี่แยก กำลังจะเลี้ยวซ้ายเข้าซอยบ้านตัวเองอยู่แล้ว มีรถแท็กซี่คันหนึ่งมาจากไหนไม่รู้ โผล่พรวดออกมาอยู่เลนรถสวน กว่าผู้เขียนจะมองเห็น ก็ตอนรถเลี้ยวเข้าซอยไปแล้วครึ่งคัน ทั้งสองคนเหยียบเบรกกันตัวโก่ง แต่ไม่วายประสานงากันอยู่ดี พอได้ยินเสียงรถชนข้างหน้าปุ๊บ ก็ได้ยินเสียง “ปัง” ที่ดังยิ่งกว่ามาจากด้านหลัง

เมื่อเหลียวไปดูก็พบว่า รถคันท้ายที่ตามมาก็เบรกตามไม่ทัน เลยเสยท้ายรถผู้เขียน ทำเอากันชนฉีกเป็นแนวยาว


ตอนแรกกะว่าในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังปีใหม่ จะทยอยเขียนและโพสเล่าเรื่องเมืองลพบุรี เชียงใหม่ ตรัง และนครศรีธรรมราช ที่ตะลุยเที่ยวในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาให้เสร็จ แต่วันนี้เจอเหตุการณ์หวาดเสียวมาสดๆ ร้อนๆ ที่ทำให้ฉุกคิดถึงเรื่องหนึ่งที่ถกเถียงกับตัวเอง (ในหัว) มานาน เลยต้องขอระบายความในใจไว้ตรงนี้ ก่อนที่จะลืม

(เชิญดูรูปถ่ายจากการตะบันเที่ยวของผู้เขียน ไปพลางๆ ก่อนได้ที่ flickr: เที่ยวลพบุรี, เที่ยวเชียงใหม่ (รอบ 2), เที่ยวตรัง, เที่ยวนครศรีธรรมราช (แว่บไปหนึ่งวัน))

เรื่องของเรื่องคือ เมื่อชั่วโมงที่แล้ว ผู้เขียนเพิ่งมีส่วนร่วมในอุบัติเหตุรถชน 3 คัน เป็นครั้งแรกในชีวิต

(ถึงตอนนี้ ใครที่อาจสงสัยว่าหัวข้อบล็อกวันนี้เกี่ยวอะไรกับรถชน ขอให้อดทนอ่านต่อไปอีกนิดหนึ่ง)

วันนี้ตอนประมาณ 3 ทุ่ม ระหว่างทางขับรถกลับบ้าน ได้ไฟเขียวที่สี่แยก กำลังจะเลี้ยวซ้ายเข้าซอยบ้านตัวเองอยู่แล้ว มีรถแท็กซี่คันหนึ่งมาจากไหนไม่รู้ โผล่พรวดออกมาอยู่เลนรถสวน กว่าผู้เขียนจะมองเห็น ก็ตอนรถเลี้ยวเข้าซอยไปแล้วครึ่งคัน ทั้งสองคนเหยียบเบรกกันตัวโก่ง แต่ไม่วายประสานงากันอยู่ดี พอได้ยินเสียงรถชนข้างหน้าปุ๊บ ก็ได้ยินเสียง “ปัง” ที่ดังยิ่งกว่ามาจากด้านหลัง

เมื่อเหลียวไปดูก็พบว่า รถคันท้ายที่ตามมาก็เบรกตามไม่ทัน เลยเสยท้ายรถผู้เขียน ทำเอากันชนฉีกเป็นแนวยาว

เราทั้งสามคนเอารถไปจอดเลียบสี่แยก (นึกดีใจว่า โชคดีที่คู่กรณีทั้งสองคนไม่ขับหนีไปไหน) แล้วต่างคนต่างก็โทรฯ เรียกประกันของตัวเองมาคุย

ระหว่างที่รอประกัน คนขับแท็กซี่เดินมาคุยด้วย บอกว่าเพิ่งเลี้ยวออกจากโรงแรมในซอย เลยมองไม่เห็น ผู้เขียนรีบต่อว่าว่า อันตรายนะคุณ จะรีบร้อนออกมาผิดเลนทำไม เพราะรถเลนโน้นติดไฟแดง จะไปก็ไปไม่ได้อยู่ดี เมื่อกี้ตกใจนะ โดนชนทั้งข้างหน้าข้างหลัง

คนขับแท็กซี่เถียงว่า ผมเบรกทันแล้ว แต่รถข้างหลังมาชนรถพี่ พุ่งมาชนรถผมอีกที

หยุดทบทวนเหตุการณ์ในใจครู่หนึ่งแล้วก็แย้งคนขับไปว่า ไม่ใช่นะ เพราะได้ยินเสียงรถชนข้างหน้าก่อน แล้วค่อยได้ยินเสียงปังข้างหลัง รถไม่ได้พุ่งไปชนแท็กซี่ข้างหน้าอีกทีแน่ๆ ดูสิ คิ้วรถข้างหน้ามันงัดกันจนหลุดออกมาแบบนี้ แสดงว่ามันชนกันตั้งแต่แรกแล้ว

คนขับรถแท็กซี่ปฏิเสธเสียงแข็ง ว่าผมเบรกทัน ไม่ได้ชน แต่พอลับหลังคู่กรณีอีกคน (คนขับรถคันที่มาชนหลัง) ที่ไปคุยกับประกัน ก็เดินมากระซิบกับผู้เขียนว่า ช่วยผมหน่อยนะพี่ เถ้าแก่เอาผมตายแน่งานนี้ คงให้ผมออกค่าซ่อมเอง ไม่รู้จะหาเงินมาจากไหน

เลยถึงบางอ้อว่า แท็กซี่คงอยากให้เราโกหกกับประกัน เพราะถ้าบอกไปตามความจริง ประกันของแท็กซี่ (ซึ่งเป็นรถเช่า) ต้องจ่ายค่าเสียหายด้านหน้าให้กับผู้เขียน ประกันของคันหลังที่ชนท้ายรับผิดชอบแค่ส่วนท้าย แต่ถ้าเอาเวอร์ชั่นของแท็กซี่บอกประกัน ประกันของแท็กซี่จะไม่ต้องจ่ายอะไรเลย ประกันของคันหลังรับไปเต็มๆ

ในกรณีหลัง แท็กซี่จะผิดแค่ขับรถผิดเลนเท่านั้น ถ้าเรื่องไม่ถึงโรงพักก็ไม่ต้องเสียค่าปรับด้วย

ลีลาร้องขอความเห็นใจของคนขับแท็กซี่ทำให้ผู้เขียนนึกใจอ่อนเล็กน้อย แต่พอเห็นแววตาของคนขับแล้วก็เปลี่ยนใจ เพราะมองไม่เห็นความรู้สึกผิดอยู่ในนั้นเลย เห็นแต่แววตาที่ดูเหมือนจะรำพึงว่า ซวยล่ะสิกู จะหาเงินจากไหนมาซ่อมให้เขาวะ

ผู้เขียนเลยพูดตัดบทไปว่า งั้นปล่อยให้เป็นเรื่องของประกันเราคุยกันเองก็แล้วกัน

ประกันของผู้เขียนกับของคนขับชนท้าย ซึ่งเป็นประกันชั้นหนึ่งทั้งคู่ มาถึงที่เกิดเหตุภายในเวลา 40 นาที แต่ต้องรออีกเกือบชั่วโมงกว่าประกันของแท็กซี่ (ชั้นสาม) จะโผล่มาถึง ประกันของผู้เขียนกับของคนขับชนท้ายถ่ายรูป สัมภาษณ์ ฯลฯ เสร็จแล้วก็บอกว่า เขาเห็นทันทีว่าข้อเท็จจริงคืออะไร เพราะผ่านประสบการณ์ทำนองนี้มาเยอะ แต่แท็กซี่ก็ยังยืนกรานว่า รถเขาไม่ได้ชน เบรกทัน รถของผู้เขียนนั่นแหละโดนชนแล้วมาชนเขาอีกที

แน่นอน ประกันของแท็กซี่เข้าข้างลูกค้า พยายามถามผู้เขียนแบบชี้นำ ให้บอกว่าคนขับรถแท็กซี่พูดถูก บอกว่าผู้เขียนอาจจำลำดับเหตุการณ์จริงๆ ไม่ได้ เพราะทั้งหมดเกิดขึ้นเร็วมาก

ถึงตอนนี้ก็ปาเข้าไป 5 ทุ่มแล้ว ผู้เขียนกัดฟันพูดว่า งั้นไปโรงพักก็แล้วกัน ไปให้การกับตำรวจ เพราะเราพูดไม่ตรงกันซักที

หลังจากที่ประกันสามคนปรึกษากัน ประกันคุยกับแท็กซี่ ฯลฯ อีก 10 นาทีให้หลัง ก็บอกว่า โอเค เขายอมรับแล้วว่าขับมาชนก่อน เราทุกคนเซ็นเอกสารต่างๆ ไว้เป็นหลักฐาน แล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน

ระหว่างที่เลื่อนรถออก ผู้เขียนหันไปมองคู่กรณีสองคน

คนขับรถชนท้ายขับรถฮอนด้า สมาชิกชนชั้นกลางดูจากชุดวิ่งจ็อกกิ้งยามดึก หัวเราะร่วนอย่างสบายใจ คงเพราะประกันของเขาไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายเกินกว่าที่ควรจะเป็น (พี่คนนี้บอกว่า เขาทำงานอยู่ฮอนด้า ผู้เขียนเลยเดาว่าบริษัทอาจให้สิทธิพิเศษเกี่ยวกับประกัน เลยดูไม่อนาทรร้อนใจเท่าไหร่ตั้งแต่แรก)

คนขับรถชนหน้าขับรถแท็กซี่เช่า นั่งนิ่งอยู่หลังพวงมาลัย หน้าเสีย ตาลอยเหมือนจะร้องไห้

ผู้เขียนบอกกับตัวเองว่า เราได้ซื่อสัตย์ต่อความจริง และคนทำผิดก็สมควรได้รับโทษแห่งกรรมของตัวเอง จะนึกสงสารเขาทำไม

แต่ก็ไม่วายที่แววตาของคนขับแท็กซี่จะติดตามมาถึงบ้าน พร้อมกับคำถามเก่าๆ บางคำถาม ที่ผุดขึ้นในใจบ่อยครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา เมื่อผู้เขียนได้โอกาสมีส่วนร่วมใน “ปรากฎการณ์สนธิ” ช่วงต้นปี และได้เลือกที่จะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร อย่างชัดเจนไม่ปิดบังใคร:

เราควรพูดความจริงหรือไม่ ในกรณีที่การโกหก หรือความเงียบ อาจทำให้ชีวิตคนดีขึ้น? หรือทำให้สังคมสามัคคีกันต่อไปไม่แตกแยก (ถึงแม้จะเป็นความสามัคคีในอวิชชา คือความไม่รู้)?

สิ่งที่เราเชื่อมั่นว่าเป็น “ความยุติธรรม” ในระยะยาว คุ้มกันไหมกับการละเลย “มนุษยธรรม” ในระยะสั้น?

ถ้าคนขับแท็กซี่คนนั้นต้องถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัวเพราะจ่ายค่าซ่อมรถให้ผู้เขียน ผู้มีทั้งฐานะและปัญญาที่จะจ่ายเงินค่าซ่อมเอง ผู้เขียนจะไม่รู้สึกผิดไปตลอดชีวิต ไม่เสียดายที่ไม่โกหกประกันเพื่อช่วยเขาจริงหรือ?

คำถามเหล่านี้คงมีคำตอบง่ายๆ ถ้าหากเราทุกคนสามารถมองเห็นอนาคตของทุกๆ ทางเลือก ในทุกๆ การกระทำ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถ้าเราไม่ทำ A แต่ทำ B, C แทน

ในเมื่อเราไม่มีทางรู้ผลลัพธ์ของทุกๆ สถานการณ์ การเลือกว่าจะยืนตรงไหนระหว่างความจริง-ความยุติธรรม-มนุษยธรรม ในกรณีที่ “คุณธรรม” เหล่านี้ขัดแย้งกันเอง จึงเป็นเรื่องยาก และเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” อย่างยิ่ง

……

ในแง่หนึ่ง คำถามนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในรอบปีที่ผ่านมา เพราะผู้เขียนรู้สึกไม่สบายใจทุกครั้งที่เห็นใครยก “คุณธรรม” หรือ “จริยธรรม” มาเป็นเหตุผลในการสนับสนุน หรือต่อต้านอดีตนายกฯ

เพราะนิยามของคุณธรรมและจริยธรรม หรืออย่างน้อยก็ “ระดับความสำคัญ” ของคุณธรรมแต่ละข้อ ย่อมเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ตามบริบททางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ที่เปลี่ยนไปไม่อยู่นิ่ง (สมัยนี้ “ความเร็ว” และ “ความเก่ง” กลายเป็น “ความดี” ที่สำคัญกว่า “ความซื่อสัตย์” และ “ความรอบคอบ”)

ก็ไม่ใช่เพราะการเห็น “คุณธรรม” สำคัญกว่า “หลักการ” หรอกหรือ ที่ทำให้คนไทยพร้อมที่จะ “สงสาร” และ “ให้อภัย” นักการเมืองขี้ฉ้อ แทบทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา?

คงมีน้อยคนที่จะพูดเรื่องนี้ได้ดีเท่ากับคุณเปลว สีเงิน ที่เขียนเตือนสติชาวไทยเรื่อง “ส่วนผสม” ที่เหมาะสมระหว่าง “คุณธรรม” และ “ประชาธิปไตย” ไว้ตั้งแต่เดือนต้นเมษายน 2549 ไม่กี่วันหลังจากอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ออกมาบีบน้ำตาเรียกคะแนนสงสารออกทีวี บอกว่าจะ “เว้นวรรค” หลังเลือกตั้ง (แล้วเอาเข้าจริงก็กลืนน้ำลายตัวเอง กลับมาเป็นนายกฯ ใหม่จนได้):

“การเมืองไม่ใช่ละครหลังข่าว มันจะใช้แค่ “คราบน้ำตา” จากบทสงสารมาชดเชยความเสียหายของชาติไม่ได้

การเมืองอย่าเสพอย่างฉาบฉวย และสรุปอย่างฉาบฉวย ความดีกับความชั่ว, ความผิดกับความถูก, สิ่งขาวกับสิ่งดำ เป็นสิ่งที่จะนำมาประนีประนอมกันไม่ได้ ในสังคมชาติ ประชาธิปไตย ที่ไม่มี คุณธรรม-ศีลธรรม-จริยธรรม กำกับควบคู่ มันก็คือ..สังคมอนาธิปไตย บ้านเมืองที่ไร้ขื่อ ไร้แป

คุณธรรม-ศีลธรรม-จริยธรรม ที่ไม่มีระบอบประชาธิปไตยเป็นส่วนผสมเพื่อการใช้ร้อยรัดสังคมชาติ มันก็คือ ความอ่อนแอชนิดเหลวเป๋ว คำก็บาป.. สองคำก็บาป.. จะยังประโยชน์อะไรให้สำเร็จในทางปฏิบัติไม่ได้เลย

ฉะนั้น ส่วนผสมเพื่อการดำรงวิถีคน, วิถีสังคม, และวิถีชาติ สู่จุดสร้างสรรค์เพื่อสังคมรวม เราต้องแยกแยะ ผสมผสานกันให้ถูกส่วน มาตรการนั้นถึงจะพร้อมด้วยคุณค่าในทางปฏิบัติอันยอมรับกันได้ทุกฝ่าย

ถ้าสงสาร-อภัย ตะพึดตะพือ แบบไร้สติแยกแยะ นั่นจะกลายเป็น “สังคมแหย” และต้องพบกับความยับเยินซ้ำซาก

ถ้าหยาบกร้าน จองเวร ไม่อภัย ตะพึดตะพือ คนดีก็ฉิบหาย คนร้ายก็จะฮึดสู้ สังคมก็เหมือนตกอยู่ในกองเพลิง คนที่มีชีวิตอยู่รอดเท่านั้น คือคนถูก ส่วนคนที่ถูกทำให้ล้มไป คือคนผิด”

ถ้าต้องเลือกระหว่างความจริง ความยุติธรรม และมนุษยธรรม ผู้เขียนคงเลือกยืนอยู่ข้างความจริงเสมอ เพราะเชื่อว่านั่นคือสิ่งที่ใกล้เคียงกับ “ความยุติธรรม” ในอุดมคติที่สุด และความจริงนั้นเป็น “มนุษยธรรม” ที่ประเสริฐกว่าคุณธรรมข้ออื่นๆ แม้ว่าในระยะสั้น เราอาจมองไม่เห็นว่ามันเป็นมนุษยธรรม อาจมองว่ามันฝ่าฝืนมนุษยธรรมเสียด้วยซ้ำ

เพราะกรรมคือการกระทำ กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมสนอง ถ้าผู้เขียนโกหกเพื่อช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้แท็กซี่ คนขับคนนั้นก็อาจได้ใจ ขับรถแบบอันตรายและมักง่ายต่อไปเรื่อยๆ

การ “ไม่ช่วย” เขาในวันนี้ อาจเป็นการ “ช่วย” เขาในวันหน้า

แต่นั่นอาจเป็นการคิดเข้าข้างตัวเองฝ่ายเดียว แววตาละห้อยของคนขับแท็กซี่จะได้เลิกกวนใจเสียที

จอห์น เคนส์ (John Keynes) นักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ กล่าววาทะอมตะเอาไว้ว่า “In the long run, we’re all dead.” (ในระยะยาว เราทุกคนก็ตายหมดแล้ว)

ในโลกแห่งความจริงสัมบูรณ์ (ultimate truth) ที่โสตประสาทและพลังสมองของมนุษย์เราอาจเข้าไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ความจริง ความยุติธรรม และมนุษยธรรม อาจไม่มีอะไรขัดแย้งกันเลยก็ได้ เพียงแต่มีมุม มีเหลี่ยม มีด้านที่ “แสดงออก” ให้เราเห็นและสัมผัสไม่เท่ากัน ในแต่ละกรณีก็เท่านั้น

แต่ “ราคา” ของความจริงแพงเหลือเกิน และใช้พลังงานมากเหลือเกิน

ถ้าเป็นคุณ จะเลือกอะไร?