บันทึก EISENHOWER FELLOWSHIP 2013 (2)

me-ben.jpg

(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทาง, วันที่ 1 & 2)

วันที่สาม

ฟิลาเดลเฟีย: 1/10/2013

ตอนเช้าเจ้าหน้าที่มูลนิธิมาพาพวกเราเดินไป National Constitution Center เพิ่งเปิดเมื่อปี 2003 หรือสิบปีก่อนเอง อยู่ถัดจาก Liberty Bell หรือ “ระฆังแตก” ที่เป็นสัญลักษณ์ของการประกาศเอกราชของอเมริกา แต่ Liberty Bell วันนี้ปิดเพราะ government shutdown (จัดเป็นอาคารของรัฐบาลกลาง) โชคดีที่ National Constitution Center ยังเปิดอยู่ เพราะจัดตั้งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ

ตึกนี้สนุกดี จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เน้นแต่ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญของอเมริกาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีความหมายตั้งแต่ตัวตึก คือใช้วัสดุสมัยใหม่ทำผนัง ไม่ใช่อิฐแดงแบบเก่าแก่ เพื่อสื่อว่ารัฐธรรมนูญอเมริกันนำชาติเข้าสู่ยุคใหม่ ส่วนกระจกบานใหญ่จากเพดานถึงพื้นก็สื่อว่า รัฐธรรมนูญเป็นเอกสารที่ “โปร่งใส” คือทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ที่จริงอเมริกาก็แก้รัฐธรรมนูญหลายครั้งเหมือนกัน แต่เป็นการ “ปรับปรุง” เพื่อ “ขยับขยายสิทธิ” ของประชาชนมากกว่า เช่น เลิกทาส เลิกแบ่งแยกสีผิว ให้ผู้หญิงกับคนผิวสีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ฯลฯ ไม่ได้ขยันฉีกกันง่ายๆ บ่อยๆ แล้วเขียนขึ้นใหม่เหมือนกับบ้านเรา

แม้แต่ผู้แทนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับแรก ไม่ยอมลงนาม 4 คน (ตอนนี้มีชื่อเรียกกลุ่มนี้ว่า “กลุ่มคัดค้าน” – the Dissenters) ก็มีเหตุผลที่ดีมากๆ ที่จะไม่ลงนาม คือกลัวว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจกับรัฐบาลกลางมากเกินไป และยังไม่มีบทบัญญัติเรื่องสิทธิพลเมือง (ซึ่งจะถูกเพิ่มเข้ามาหลังจากนั้นไม่นาน ใน Bill of Rights)

The Dissenters

รูปปั้น “The Dissenters” ในพิพิธภัณฑ์

Benjamin Franklin

ถ่ายรูปกับ “ปู่เบน” – Benjamin Franklin รัฐบุรุษ นักประดิษฐ์ นักคิด นัก ฯลฯ คนโปรด

เนื่องจากอเมริกาได้เอกราชมาจากการต่อสู้กับจักรวรรดิอังกฤษ คนอเมริกันตั้งแต่สมัยโน้นจนถึงปัจจุบันก็เลยไม่ค่อยไว้ใจรัฐ โดยเฉพาะรัฐบาลกลาง ข้อถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญของอเมริกาหลายเรื่องจะเน้นที่เส้นแบ่ง “อำนาจ” ระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมลรัฐต่างๆ เช่น รัฐบาลกลางมีอำนาจกำกับ “ธุรกิจระหว่างรัฐ” (interstate commerce) แต่ไม่มีอำนาจกำกับธุรกิจภายในรัฐต่างๆ 

หลายคนถึงได้บอกว่า สหรัฐอเมริกาไม่ใช่ประเทศประเทศเดียว แต่เหมือน 50 ประเทศ (50 มลรัฐ) มารวมกัน ก็เลยทะเลาะกันตลอดเวลา และศาลฎีกาซึ่งตัดสินข้อพิพาทเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ (ส่วนใหญ่คือคดีที่ฟ้องว่าจำเลย “ขัดต่อรัฐธรรมนูญ”) ก็จะตัดสินด้วยการตีความ “เจตนา” ของรัฐบุรุษผู้ร่างรัฐธรรมนูญ (“บิดาแห่งชาติ” ทั้งหลาย หรือ Founding Fathers)

(บางคนเปรียบเปรยว่า อเมริกาเหมือนกับครอบครัวใหญ่ที่คนในครอบครัวไปด้วยกันไม่ค่อยได้ แต่ยังมีสำนึกว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน)

พิพิธภัณฑ์จัดนิทรรศการได้เจ๋งดี สามารถ “ย่อย” ประเด็นทางกฎหมายยากๆ ให้คนเข้าใจผ่านเคสจริง ที่ชอบเป็นพิเศษคือซุ้มกับจอแสดงพลเมือง 100 คน ที่สร้างผลกระทบต่อรัฐธรรมนูญ และซุ้มคำตัดสินศาลฎีกา ประกอบคำอธิบายคดี Gideon คนจนที่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาจนมีคำตัดสินครั้งประวัติศาสตร์ในปี 1963 ว่า พลเมืองทุกคนมีสิทธิมีทนาย ไม่เกี่ยงว่าถูกฟ้องในข้อหาอะไร ทำให้ Gideon พ้นโทษเป็นอิสระ (จากที่ก่อนหน้านี้เขาไม่มีทนายเพราะกฎหมายรัฐฟลอริดาบอกว่ารัฐจะหาทนายให้ก็ต่อเมื่อทำผิดกฎหมายที่มีโทษประหารเท่านั้น Gideon ถูกขังคุก 5 ปีฐานบุกรุกด้วยเจตนาลักทรัพย์ ยืนกรานตลอดมาว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ บากบั่นนั่งเขียนจดหมายร้องเรียนศาลฎีกาจากในคุก)

100 Citizens

ซุ้มกับจอแสดงพลเมือง 100 คน ที่สร้างผลกระทบต่อรัฐธรรมนูญ

Supreme Court decisions

ซุ้มคำตัดสินศาลฎีกา ประกอบคำอธิบายคดี Gideon

วิธีกำกับ highway

ตัวอย่างในนิทรรศการ : การแบ่งอำนาจระหว่างรัฐบาลกลาง รัฐบาลมลรัฐ กับรัฐบาลท้องถิ่น เรื่องการสร้างและกำกับทางหลวงแผ่นดิน

ตอนบ่ายมูลนิธิเรียกให้พวกเราทยอยไปรับบัตรค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด (per dium ซึ่งมีงบให้ $50 ต่อวัน บวกค่าเดินทาง $25 ต่อวัน ค่าแท็กซี่ไปสนามบิน ค่าอินเทอร์เน็ต ฯลฯ เอามาเบิกได้) บัตรชาร์จค่าโรงแรม กับโทรศัพท์ เขาให้เราใช้สามอย่างนี้ระหว่างที่อยู่อเมริกาเท่านั้น จบโครงการต้องเอามาคืน โทรศัพท์เป็นยี่ห้อ htc ใช้ Blackberry รุ่นพระเจ้าเหาเลยทีเดียว พวกเราพยายามลากนิ้วไปมาอยู่นานกว่าจะจำได้ว่ามันไม่ใช่จอสัมผัส :p

First generation Blackberry

โทรศัพท์มือถือที่ให้ Fellow ติดตัว 

ระหว่างเช็คตัวเลข ผู้เขียนชวนเฮลีน (Helene) เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน คุยเรื่อง government shutdown เธอบอกว่านี่เป็นความผิดของประธานาธิบดีโอบามาที่ “ไม่ฟังเสียงประชาชน” และ “ไม่ยอมประนีประนอม” กับพรรครีพับลิกัน นึกในใจว่ามันจะเป็นความผิดของโอบามาได้ยังไง(ฟะ) แต่ไม่กล้าเถียง กลัวเดี๋ยวได้เงินไม่ครบ :p

ตอนเย็นมูลนิธิพาไปกินร้านอาหารกรีก-เมติเตอเรเนียนใกล้โรงแรม ชื่อ Estia อาหารอร่อยดี ได้นั่งโต๊ะเดียวกับ อะบีดิน จากมาเลเซีย, เวลิน จากสิงคโปร์, รอน อาจารย์สอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมัธยม เป็นสามีของเจ้าหน้าที่มูลนิธิคนนึงชื่อ เอริน, คนสุดท้ายคือ มาร์ค ผู้อำนวยการฝ่ายระดมทุนของมูลนิธิ คนอเมริกันทั้งคู่บอกว่า พวกเขาผิดหวังกับโอบามาที่พยายาม “ประนีประนอม” เพราะเป็น “คนนอก” จนไม่ทำให้ใครพอใจ ทำให้รัฐบาลเสียหน้าเรื่อง government shutdown เชื่อว่าถ้าอีกสองปี ฮิลลารีลงเลือกตั้งจะดีขึ้น เพราะ “มีบิล (คลินตัน) หนุนหลัง” เสริมอีกว่านักการเมืองที่เขาชอบตายไปหมดแล้ว

(ฟังแล้วนึกอยากค้านอีกแหละว่าทำไมไม่ไปด่าพวกขวาจัดในพรรครีพับลิกัน ตัวขัดขวางที่แท้จริง แต่คิดไปคิดมาไม่อยากค้านมาก กลัวกินข้าวไม่อร่อย เพราะร้านนี้อาหารอร่อยดี :))

Zucchini

ผัก Zucchini 

รอน พูดประโยคนึงซึ่งสะท้อนเหตุผลที่เขา “เซ็ง” กับการเมือง และคิดว่าประเทศของเขาจะยังโซซัดโซเซไปอีกสักพัก – เขาบอกว่า นักการเมืองในอำนาจตอนนี้ “ไม่ได้ลงมือทำในสิ่งที่ผมเชื่อ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำอะไรที่คัดง้างกับสิ่งที่ผมเชื่อเหมือนกัน”