(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทาง, วันที่ 1 & 2, วันที่สาม, วันที่สี่, วันที่ห้า)
วันที่หก
ฟิลาเดลเฟีย: 4/10/2013
วันนี้สนุกดี 🙂 ตอนเช้าพวกเราห้าคน มีผู้เขียน เต๋า (ณัฏฐา) เฉินเช่าจากมาเลเซีย เมเกนจากอินโดนีเซีย และจอห์นจากมาเลเซีย มีนัดคุยงานนัดแรกในฐานะ Eisenhower Fellows คือไปคุยกับ คอรี โดโนแวน (Cory Donovan) ผู้อำนวยการโครงการ Project Liberty Digital Incubator
สาเหตุที่พวกเราไปนัดเดียวกันพร้อมกันห้าคนเพราะผู้เขียนสนใจเรื่องสื่อใหม่ เต๋าสนใจเรื่องการหลอมรวมสื่อ (convergence journalism) เฉินเช่าสนใจเรื่อง digital start-up (เขาดูแล Groupon ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด อายุไม่ถึง 35 แต่สามารถฟื้นฟู Groupon ไต้หวันจากขาดทุนจนมีกำไร) ส่วนจอห์นกับเมแกนสนใจเรื่อง venture capital พวกเราก็เลยมาที่นี่พร้อมกัน เพราะเป็นโครงการ “ฟูมฟักบริษัทใหม่” หรือ incubator (ถ้าใช้คำนี้ดูเหมือนส่วนใหญ่จะหมายถึง start-up ด้านไอทีเป็นหลัก) แห่งแรกของประเทศที่จัดตั้งขึ้นภายในองค์กรสื่อ (คือไม่ใช่สื่อออกเงินสนับสนุนในฐานะนักลงทุนหรือ Venture Capital ใน start-up เฉยๆ) ซึ่งเป็นเจ้าของสื่อสามค่าย ได้แก่ Philadelphia Inquirer (หนังสือพิมพ์ระดับประเทศซึ่งเคยใหญ่เป็นอันดับหกของทั้งอเมริกา, Philly.com (เว็บไซต์แนะนำร้านอาหาร ที่เที่ยว และเสนอข่าวท้องถิ่น) และ Philadelphia Daily News (หนังสือพิมพ์หัวสีรายสัปดาห์)
ตอนนี้โครงการ “ฟูมฟักบริษัทใหม่ใต้ร่มสื่อ” แบบ Inquirer มีสื่ออีกหลายค่ายทำตามแล้ว อาทิ New York Times, Boston Globe และอีก 2-3 เจ้า
ที่นี่เขาจะเปิดรับสมัครเฉพาะ digital start-up ที่มี prototype ของผลิตภัณฑ์แล้ว (คือไม่ใช่พวกที่เพิ่งก่อตั้ง มีแต่ไอเดีย) ตัวผลิตภัณฑ์ดิจิตอลมีความเกี่ยวข้องกับสื่อ และมีส่วนช่วยจ้างงานในบริเวณเมืองฟิลาเดลเฟีย สิ่งที่หนังสือพิมพ์มอบให้กับ start-up ที่ได้รับการคัดเลือกคือ พื้นที่สำนักงานฟรี 6 เดือน (ต่ออายุได้อีก 6 เดือน) และโอกาสที่จะได้ทำงานในห้องข่าว สามารถหารือกับนักข่าวได้อย่างใกล้ชิด สิ่งที่หนังสือพิมพ์ได้รับตอบแทนคือ สิทธิที่จะปฏิเสธ (right of first refusal) ผลิตภัณฑ์ของ start-up เหล่านี้เมื่อธุรกิจเริ่มไปรุ่ง
(Philadelphia Inquirer ต้องลดคนกว่า 300 คนเมื่อหลายปีก่อนเพราะฐานะทางการเงินย่ำแย่ไม่ต่างจากหนังสือพิมพ์อื่น ทำให้มีโต๊ะเหลือใช้มากกว่า 15 โต๊ะ เอามาจัดโครงการนี้ได้สบาย)
โครงการนี้เกิดจากไอเดียของซีอีโอคนก่อนของบริษัท เขาไปขอทุนสนับสนุนจากมูลนิธิ Knight (เป็นมูลนิธิหลักที่สนับสนุนสื่อในประเทศนี้ จะไปเจอในโครงการนี้เหมือนกัน ที่เมืองไมอามี อีกสองอาทิตย์ข้างหน้า) ร่วมกับ Benjamin Franklin Technology Partners ซึ่งอยู่ใต้สังกัดรัฐบาลมลรัฐเพนซิลวาเนีย วันนี้เราได้เจอกับ start-up สี่บริษัทซึ่งได้ทุนจากโครงการ มาใช้พื้นที่ใน Inquirer
Start-up รายแรกที่ผู้เขียนชอบมากชื่อ Fitly ก่อตั้งขึ้นมาแก้ปัญหาโรคอ้วนและกินอาหารไม่เหมาะสมของคนอเมริกัน โดยเฉพาะครอบครัวฮิสปานิก (เชื้อสายสเปน) แอนโธนี โอทิซ (Anthony Otiz) ผู้ก่อตั้ง บอกว่าได้แรงบันดาลใจส่วนตัวจากพ่อของเขา ผ่าตัดบายพาสหัวใจมาแล้วสามครั้ง ลูกพี่ลูกน้องของเขาหลายคนก็น้ำหนักเกิน
งานวิจัยบอกว่า 85% ของปัญหาสุขภาพทั้งหมดในประเทศนี้แก้ไขได้ด้วยการกินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ บริษัทของเขาช่วยด้วยการออกแบบเมนูเพื่อสุขภาพ เผยแพร่สูตรอาหารที่ทำง่ายในบ้าน และใช้วัตถุดิบราคาถูก สมาชิกของ Fitly ต้องจ่ายค่าสมาชิกแค่ $5 ต่อเดือน แลกกับเมนูอาหารเพื่อสุขภาพและวัตถุดิบในการปรุงอาหารที่นำมาส่งถึงบ้าน (บริษัทไม่ปรุงอาหารสำเร็จให้เลยเพราะต้นทุนจะสูงกว่านี้มาก เขาว่าอาจสูงถึง $18-$20 ต่อมื้อ เนื่องจากค่าแรงแพง เลยทำแค่ส่งวัตถุดิบและวิธีปรุงให้ ราคาจะได้ถูกพอที่จะเข้าถึงครอบครัวรายได้น้อย)
ตอนนี้ Fitly เริ่มทำโครงการนำร่องแล้ว เริ่มจากเข้าหาลูกค้าบริษัทที่อยากมีโครงการดีๆ สำหรับพนักงาน
ผู้ก่อตั้ง start-up อีกสองเจ้าที่มานั่งคุยกับเราไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไรในสายตาของผู้เขียน เจ้านึงทำ universal ID สำหรับออนไลน์ และกำลังโค้ด social media ตัวใหม่ที่เขาอ้างว่าดีกว่า Facebook กับ Twitter (“เพราะคุณไม่ต้องจ่าย $60,000 ให้ดาราอย่าง คิม คาร์ดาเชียน ทวีตโฆษณาให้คุณ”) อีกเจ้าทำระบบโฆษณาผ่านมือถือ เขาบอกว่าการเก็บข้อมูลลูกค้าผ่านเว็บนั้นง่ายมาก แต่ถ้าจะเก็บผ่านมือถือยุ่งยากกว่า ต้องใช้เทคโนโลยีคนละเรื่อง
เสียดายที่เราไม่ได้คุยกับผู้ก่อตั้ง Tuvalabs เป็น start-up ในโครงการอีกเจ้า เพราะซีอีโอเขาไม่ว่าง บริษัทนี้ใช้โปรแกรม “แปลง” เนื้อข่าวเป็นแบบฝึกหัดเลขสำหรับเด็กโดยอัตโนมัติ เช่น ถ้าเด็กคนนี้ชอบเบสบอล ก็จะแปลงข่าว “เมื่อวานนักกีฬาดัง X ตีลูกโฮมรันได้ 2 ครั้ง” เป็นโจทย์เลขเช่น “X ตีลูกโฮมรันได้คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของลูกทั้งหมดที่เขาตี?” อะไรแบบนี้ เท่ากับช่วยลดภาระของครู ไม่ต้องคิดการบ้านให้เด็ก และน่าจะสร้างจูงใจให้เด็กๆ อยากคิดเลขมากขึ้นเพราะคำถามตรงกับสิ่งที่เขาชอบ
สรุปว่าโครงการ incubator ของสื่อค่ายนี้สนุกดี ผู้ก่อตั้งก็อายุยังไม่ถึง 30 ทั้งนั้น แต่น่าใจหายที่หนังสือพิมพ์กำลังจะตายจริงๆ และตายก่อนเมืองไทยนานหลายปี ถ้าวัดจากบรรยากาศห้องข่าวที่ค่อนข้างเงียบเหงา ผิดกับห้องข่าวไทย รองผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรบอกว่าตอนนี้รายได้ของบริษัทราว 25% มาจากการพิมพ์หนังสือพิมพ์ค่ายอื่นในภูมิภาคนี้ (คือเพนซิลวาเนียกับนิวยอร์ก) เช่น New York Times, New York Post, Wall Street Journal เพราะเขามีแท่นพิมพ์ที่ทันสมัย รายได้จากหนังสือพิมพ์ลดลงเรื่อยๆ สวนทางจากรายได้ของเว็บ Philly.com
(แสดงว่าค่ายนี้ได้ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงมาสักพักแล้ว เพราะเนื้อหาในเว็บนี้ตั้งเป้าที่คนอ่านอายุน้อยกว่าหนังสือพิมพ์ Inquirer มาก ก่อนหน้านี้ไม่นาน (ปี 2012) เขาลดขนาดหนังสือพิมพ์ลงมาเหลือเท่ากับหัวสี คือ Daily News แสดงว่าตอนนี้มีแต่ New York Times เท่านั้นที่หนังสือพิมพ์ยังคงขนาดเดิมเอาไว้)
คุณคอรีสรุปหลักเกณฑ์ที่เขาใช้ในการเลือก start-up มาร่วมโครงการ Project Liberty ว่า ต้อง 1) มีมูลค่าสำหรับสื่อสารมวลชน 2) มีผลิตภัณฑ์พร้อมทดสอบแล้ว 3) สร้างงานให้กับเมืองฟิลาเดลเฟีย และ 4) นิสัยดี ทำงานกับคนอื่นได้
ช่วงบ่ายพวกเราหลายคน นำทีมโดยพี่ก็ (วิรไท) ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ Barnes Foundation ซึ่งผู้เขียนได้ยินกิตติศัพท์มานานนับสิบปี เพราะมี CD-ROM เกี่ยวกับผู้ก่อตั้งและพิพิธภัณฑ์นี้ที่ดีมากๆ เรื่อง A Passion for Art แต่ไม่เคยมาเยือนเลย
Barnes Foundation
พวกเราจ่ายเงินค่าตั๋ว $22 ไม่ต้องจ่ายเพิ่มสำหรับไกด์เสียบหูฟัง (audio guide) ซึ่งอธิบายงานศิลปะหลายร้อยชิ้นในตัวอาคาร นับว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม ใช้เวลา 2 ชั่วโมง เดินดูของสองชั้น ออกมาพร้อมกับความประทับใจ ได้ทั้งอาหารตาและอาหารสมอง ประสบการณ์สุดยอดจนต้องยกนิ้วให้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะของเอกชนที่ดีที่สุดในชีวิตตั้งแต่ดูมาเลยทีเดียว เพราะไม่เพียงแต่คอลเล็กชั่นจะสวยมากๆ เท่านั้น (ส่วนใหญ่เป็นภาพวาดยุค Impressionist กับ Post-Impressionist โดยเฉพาะ Cezanne, Renoir, และ Matisse) แต่ “การจัดวาง” ศิลปะ (เรียกว่า “ensemble” เสมือนวงดนตรี) ในแต่ละห้องยังโดดเด่นจนต้องนับเป็นพระเอกของพิพิธภัณฑ์
ดร. อัลเบิร์ต บาร์นส์ (Albert Barnes) เศรษฐีผู้สะสมงานศิลปะเหล่านี้ จงใจ “คละ” ศิลปะในทางที่เราไม่คุ้นเคย นำภาพหลายยุค หลายทวีป หลายศาสนา หลายความเชื่อ และหลายเทคนิคมาวางติดกัน เช่น ภาพวาดจากฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่ 18 อาจอยู่ติดกับภาพวาดจากอิตาลีสมัยศตวรรษที่ 14 และอยู่เหนือตู้ไม้จากศตวรรษที่ 20 ซึ่งในนั้นบรรจุศิลปะแอฟริกาสมัยศตวรรษที่ 19 ก็เป็นได้ และทั้งหมดนี้ก็ดูกลมกลืนกันอย่างประหลาด นอกจากนี้ ของใช้ประจำบ้านอย่างเช่น กาน้ำ ช้อนส้อม กลอนประตู ตู้ โต๊ะ ยังเอามาใช้ประดับผนังและพื้นห้องทุกห้อง
ทั้งหมดนี้สะท้อนปรัชญาของ ดร. บาร์นส์ ว่า จิตรกรรม ศิลปอุตสาหกรรม (ช้อนส้อม ฯลฯ) ล้วนมี “คุณค่า” ทางศิลปะไม่ต่างกัน เพราะทำจากความรักในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ภาพวาดของ แวน โก๊ะห์ ไม่ได้ “สูงส่ง” ไปกว่ากลอนประตูที่แขวนอยู่เหนือรูปของเขา ถึงแม้ภาพของแวน โก๊ะห์ วันนี้จะมีมูลค่าสูงกว่าเป็นล้านๆ เท่าก็ตาม
ภาพ “The Card Players” (นักเลงไพ่) โดย Paul Cezanne
เป้าหมายของ ดร. บาร์นส์ สำหรับพิพิธภัณฑ์นี้คือ อยากแสดง “ความต่อเนื่อง” ของศิลปะจากยุคต่อยุค และ “ความเป็นสากล” ของ “แรงขับให้สร้างสรรค์” (impulse to create) ของมนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ไกลกันเพียงใด จากวิธีจัดแสดงงานอันน่าทึ่ง คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเขาได้บรรลุเป้าหมายทั้งสองนี้อย่างงดงาม
นอกจากจะมีรสนิยมดีมาก ดร. บาร์นส์ ยังมีอารมณ์ขันเหลือร้าย ลองสังเกตดูรูปด้านบน นึกถึง “ความเชื่อมโยง” ระหว่างโครงเหล็กสองอัน สองฟากของผนัง กับภาพวาดนู้ดของ Renoir สองใบที่แขวนอยู่ข้างใต้ แล้วจะมองเห็นโครงเหล็กเป็นรูป “ก้น” ของผู้หญิงในภาพด้านล่าง 😉
วันนี้พิพิธภัณฑ์บาร์นส์ก็เป็นจุดหมายสำคัญของคนรักศิลปะทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าคอลเล็กชั่นทั้งตึกนี้มีมูลค่าราว $20,000-$30,000 ล้านเลยทีเดียว นอกจากจะได้ดูรูปสวยๆ ของศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ โดยเฉพาะ Van Gogh และ Cezanne แล้ว ผู้เขียนยังต้องขอบคุณ ดร. บาร์นส์ และการจัดวางชั้นเซียน ที่แนะนำให้รู้จักศิลปินอีกหลายคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ที่ชอบมากคือ Horace Pippin ศิลปินผิวดำชาวอเมริกัน ผู้ถ่ายทอดความอยุติธรรมของการเหยียดผิวและการใช้แรงงานทาสผ่านงานศิลปะ เขาร่ำเรียนศาสตร์แห่งศิลปะด้วยตัวเอง หลังจากที่แขนขวาพิการใช้ไม่ได้เพราะถูกยิงในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เริ่มวาดรูปเป็นวิธีบำบัดแขน ต้องใช้แขนซ้ายประคองพู่กันตลอดเวลา Pippin พิถีพิถันในการวาดรูปมากจนผลิตงานเพียง 140 ชิ้นเท่านั้นก่อนล่วงลับ
“Giving Thanks” (สวดมนต์ก่อนอาหาร) โดย Horace Pippin (1942)
กลางคืนไปงานเลี้ยงส่งพวกเรา (เลี้ยงพิซซ่ากับเบียร์) ที่บ้านคุณแดน รองผู้อำนวยการมูลนิธิ ก่อนจะแยกย้ายไปทางใครทางมันตามโปรแกรมส่วนตัววันพรุ่งนี้ แต่พวกเราส่วนใหญ่จะเริ่มต้นที่เมืองเดียวกัน คือวอชิงตัน ดี.ซี. ตบท้ายวันด้วยไอศกรีมที่รอนานมาก แต่อร่อยมากคุ้มค่าการรอคอยจากร้านไอศกรีมเก่าแก่ชื่อ Franklin’s Fountain และช็อกโกแลตจากร้านขนม Shane Confectionery ที่อยู่ติดกัน อายุเกินร้อยปีทั้งสองร้าน ถ้าไม่อร่อยจริงคงไม่ได้อยู่มานานขนาดนี้
บรรยากาศในร้าน Franklin’s Fountain
You must be logged in to post a comment.