(ดาวน์โหลดเวอร์ชั่น PDF เพื่อความสะดวกในการเผยแพร่ได้จากที่นี่)
คดีร่ำรวยผิดปกติ 76,000 ล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้กำหนดพิพากษาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 เป็น “คดีร้อน” ที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนจำนวนมาก
แน่นอนว่าผลคำพิพากษาที่เป็นไปได้มีอยู่ 3 แนวทางเท่านั้น คือ 1. ยกฟ้อง 2. ยึดทรัพย์ทั้งหมด และ 3. ยึดทรัพย์บางส่วน (อ่านฐานคิดและแนวฎีกาในอดีตได้ในข่าวหนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ หัวข้อ “เปิดแนวฎีกา ‘คดีร่ำรวยผิดปกติ’ ในศาลฎีกา ไขธงคำตอบ 7.6 หมื่นล้าน “ทักษิณ”” วันที่ 21 มกราคม 2553)
ผู้เขียนไม่อยากฟันธงหรือออกความเห็นว่าแนวทางคำพิพากษา “น่าจะ” หรือ “ควรจะ” ออกมาในแนวทางใด เพราะผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ศาลยังไม่ตัดสิน และข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้องจำนวนมากก็ยังไม่ปรากฏต่อสาธารณะ
อย่างไรก็ดี คดีนี้มีแง่มุมที่ผู้เขียนคิดว่าสามารถใช้หลักวิชาการเงินมาอธิบายให้เกิดความกระจ่างได้ โดยเฉพาะวิธีประเมินมูลค่า “ประโยชน์ส่วนเกิน” ที่ครอบครัวชินวัตรได้รับ จากกรณีต่างๆ ที่อัยการฟ้อง พ.ต.ท. ทักษิณว่า “เอื้อประโยชน์” แก่ บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น (“ชินคอร์ป”)
ก่อนจะอธิบายต่อไปในรายละเอียด ผู้เขียนขอชี้แจงว่า “ผลประโยชน์ส่วนเกิน” ของครอบครัวชินวัตรที่ผู้เขียนประเมินโดยใช้หลักการเงินในบทความนี้ อาจไม่ใช่และไม่ตรงกับมูลค่า “ความเสียหายต่อรัฐ” และระดับความ “ร่ำรวยผิดปกติ” ตามกฎหมายที่ศาลกำลังพิจารณาก็ได้ เนื่องจากเหตุผล 4 ประการหลัก ได้แก่
1. มูลค่า “ความเสียหายต่อรัฐหรือสังคม” อาจสูงกว่ามูลค่า “ผลประโยชน์ส่วนเกิน” ที่ครอบครัวชินวัตรได้รับ ยกตัวอย่างเช่น กรณีการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตนั้นน่าจะทำให้มูลค่าหุ้นของชินคอร์ป (ที่ครอบครัวชินวัตรถือ) เพิ่มสูงขึ้นจากอำนาจตลาดที่เพิ่มขึ้น (กีดกันคู่แข่งรายใหม่) แต่กรณีนี้น่าจะก่อความเสียหายให้กับประชาชนผู้บริโภคในระยะยาวด้วย เพราะมีผลกระทบเชิงลบต่อแรงจูงใจของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาแข่งขันในตลาดใหม่ๆ อาทิ 3G
(ดาวน์โหลดเวอร์ชั่น PDF เพื่อความสะดวกในการเผยแพร่ได้จากที่นี่)
คดีร่ำรวยผิดปกติ 76,000 ล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้กำหนดพิพากษาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 เป็น “คดีร้อน” ที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนจำนวนมาก
แน่นอนว่าผลคำพิพากษาที่เป็นไปได้มีอยู่ 3 แนวทางเท่านั้น คือ 1. ยกฟ้อง 2. ยึดทรัพย์ทั้งหมด และ 3. ยึดทรัพย์บางส่วน (อ่านฐานคิดและแนวฎีกาในอดีตได้ในข่าวหนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ หัวข้อ “เปิดแนวฎีกา ‘คดีร่ำรวยผิดปกติ’ ในศาลฎีกา ไขธงคำตอบ 7.6 หมื่นล้าน “ทักษิณ”” วันที่ 21 มกราคม 2553)
ผู้เขียนไม่อยากฟันธงหรือออกความเห็นว่าแนวทางคำพิพากษา “น่าจะ” หรือ “ควรจะ” ออกมาในแนวทางใด เพราะผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ศาลยังไม่ตัดสิน และข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้องจำนวนมากก็ยังไม่ปรากฏต่อสาธารณะ
อย่างไรก็ดี คดีนี้มีแง่มุมที่ผู้เขียนคิดว่าสามารถใช้หลักวิชาการเงินมาอธิบายให้เกิดความกระจ่างได้ โดยเฉพาะวิธีประเมินมูลค่า “ประโยชน์ส่วนเกิน” ที่ครอบครัวชินวัตรได้รับ จากกรณีต่างๆ ที่อัยการฟ้อง พ.ต.ท. ทักษิณว่า “เอื้อประโยชน์” แก่ บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น (“ชินคอร์ป”)
ก่อนจะอธิบายต่อไปในรายละเอียด ผู้เขียนขอชี้แจงว่า “ผลประโยชน์ส่วนเกิน” ของครอบครัวชินวัตรที่ผู้เขียนประเมินโดยใช้หลักการเงินในบทความนี้ อาจไม่ใช่และไม่ตรงกับมูลค่า “ความเสียหายต่อรัฐ” และระดับความ “ร่ำรวยผิดปกติ” ตามกฎหมายที่ศาลกำลังพิจารณาก็ได้ เนื่องจากเหตุผล 4 ประการหลัก ได้แก่
1. มูลค่า “ความเสียหายต่อรัฐหรือสังคม” อาจสูงกว่ามูลค่า “ผลประโยชน์ส่วนเกิน” ที่ครอบครัวชินวัตรได้รับ ยกตัวอย่างเช่น กรณีการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตนั้นน่าจะทำให้มูลค่าหุ้นของชินคอร์ป (ที่ครอบครัวชินวัตรถือ) เพิ่มสูงขึ้นจากอำนาจตลาดที่เพิ่มขึ้น (กีดกันคู่แข่งรายใหม่) แต่กรณีนี้น่าจะก่อความเสียหายให้กับประชาชนผู้บริโภคในระยะยาวด้วย เพราะมีผลกระทบเชิงลบต่อแรงจูงใจของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาแข่งขันในตลาดใหม่ๆ อาทิ 3G
2. ราคาหุ้นที่กองทุนเทมาเส็กซื้อไปนั้นมิได้สะท้อนแต่มูลค่าของกิจการในเครือชินคอร์ป ณ วันที่ตกลงซื้อ (มกราคม 2549) หากยังสะท้อนผลประกอบการที่เทมาเส็กคิดว่าน่าจะเป็นในอนาคตด้วย เนื่องจากเราไม่มีทางรู้ว่าเทมาเส็กประเมินมูลค่ากิจการอย่างไร ตัวเลขใดๆ ก็ตามที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (เช่น มูลค่าของส่วนแบ่งรายได้ที่รัฐสูญเสียในอนาคต) จึงเป็นได้อย่างมากเพียงตัวเลขประมาณการเท่านั้น ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนใช้ตัวเลขที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี (คตส.) ประเมิน (ซึ่งหลายกรณีเป็นตัวเลขประมาณการของ บมจ. ทีโอที คู่สัญญาสัมปทาน) ประกอบกับตัวเลขที่ประเมินโดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ มูลนิธิสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในรายงานวิจัยเรื่อง “ทุนสัมปทานกับธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ” (ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์การสัมมนาวิชาการประจำปี 2006)
ผู้เขียนคิดว่าตัวเลขประมาณการของ คตส. และอาจารย์สมเกียรตินั้นค่อนข้างสมเหตุสมผล คือน่าจะใกล้เคียงกับความเป็นจริง หลังจากที่ผู้เขียนลองวิเคราะห์แนวโน้มของบริษัทในเครือชินคอร์ป เปรียบเทียบกับบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ
3. ตัวเลขมูลค่าความเสียหายต่อรัฐที่ คตส. ประเมินนั้นอาจมิใช่ตัวเลขที่ศาลใช้ในการพิพากษาขั้นสุดท้ายก็ได้ บทความฉบับนี้มุ่งอธิบายวิธีประเมินตามหลักการเงินและข้อเท็จจริงที่ปรากฏ มากกว่าจะชี้ชัดลงไปว่าตัวเลขสุดท้ายจะต้องเป็นเท่านั้นเท่านี้
4. ความผิดฐาน “ร่ำรวยผิดปกติ” ตามกฎหมายนั้นน่าจะต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลว่า แต่ละกรณีที่อัยการกล่าวหา พ.ต.ท. ทักษิณว่า “เอื้อประโยชน์” แก่ชินคอร์ปนั้น เอื้อประโยชน์จริงหรือไม่ และ “บทลงโทษ” ตามกฎหมายควรเป็นเช่นใดและจะเป็นตัวเงินจำนวนเท่าใด ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนเพียงแต่ต้องการคำนวณขนาดของผลกระทบจากกรณีต่างๆ ในสำนวนของอัยการ ต่อผลประโยชน์ที่ครอบครัวชินวัตรได้รับจากการขายหุ้นเท่านั้น มิได้ต้องการแสดงความคิดเห็นหรือพิสูจน์ว่ากรณีใดเอื้อประโยชน์ (คือทำให้ชินคอร์ปได้ประโยชน์อย่างผิดกฎหมาย) กรณีใดไม่เอื้อประโยชน์ (คือทำให้ชินคอร์ปได้ประโยชน์อย่างถูกกฎหมาย)
พูดอีกนัยหนึ่งคือ ถ้าศาลตัดสินว่ากรณีใด “เอื้อประโยชน์” ผู้อ่านก็จะสามารถเทียบเคียงได้ว่าครอบครัวชินวัตร “ร่ำรวยผิดปกติ” เท่าไรจากกรณีดังกล่าว จาก “ผลประโยชน์ส่วนเกิน” ที่ผู้เขียนคำนวณ ถ้าศาลตัดสินว่ากรณีใดไม่ใช่การ “เอื้อประโยชน์” ก็หมายความว่า “ผลประโยชน์ส่วนเกิน” ของครอบครัวชินวัตรนั้นเป็นผลประโยชน์ที่ชอบธรรมตามกฎหมาย มิใช่มูลค่าที่ “ร่ำรวยผิดปกติ” แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่สนใจประเด็นเอื้อประโยชน์และ “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” ผู้เขียนขอแนะนำให้อ่านรายงานวิจัยเรื่อง “ทุนสัมปทานกับธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ” โดยอาจารย์สมเกียรติที่กล่าวถึงข้างต้น เนื่องจากอธิบายประเด็น “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” ในสมัยรัฐบาลทักษิณเอาไว้อย่างชัดเจน และหลายกรณีก็ตรงกับกรณีที่ คตส. และอัยการสอบสวน
วิธีการและขั้นตอนการประเมิน “ผลประโยชน์ส่วนเกิน” ของครอบครัวชินวัตรในแต่ละกรณีที่อัยการสั่งฟ้อง
1. ประเมินมูลค่าประโยชน์ส่วนเกินที่บริษัทในเครือได้รับ ซึ่งในหลายกรณีสามารถคิดจากฐานมูลค่าความเสียหายต่อรัฐได้ เช่น การแก้สัญญาสัมปทานเพื่อลดส่วนแบ่งรายได้ ส่งผลให้รัฐเสียหาย บริษัทคู่สัญญาได้ประโยชน์จากการจ่ายส่วนแบ่งรายได้น้อยลง มูลค่าประโยชน์ส่วนเกินนั้นรวมทั้งมูลค่าที่เกิดขึ้นแล้ว และประมาณการมูลค่าที่จะเกิดในอนาคต คิดลด (discount) กลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน สาเหตุที่ต้องรวมประมาณการในอนาคตด้วยคือ “มูลค่ากิจการ” ที่เทมาเส็กใช้เป็นพื้นฐานในการเสนอซื้อนั้น รวมมูลค่าของกิจการ ณ ปัจจุบัน และมูลค่าของกิจการในอนาคตที่คาดว่าจะเกิด
ในการคิดลดตัวเลขประมาณการในอนาคตกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ผู้เขียนใช้อัตราส่วนคิดลด (discount rate) เท่ากับ 6% เนื่องจากเป็นตัวเลขที่สะท้อนต้นทุนทางการเงินของชินคอร์ปในขณะนั้น
2. ประเมินประโยชน์ส่วนเกินหลังหักภาษี ถ้าบริษัทต้องเสียภาษี เพื่อคำนวณ “กำไรสุทธิส่วนเกิน” ที่บริษัทได้รับ ถ้าความเสียหายของรัฐในกรณีนั้นๆ ทำให้บริษัทได้ประโยชน์
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าการลดส่วนแบ่งรายได้ทำให้รัฐเสียหาย (ได้ส่วนแบ่งน้อยลง) 10,000 ล้านบาท กรณีนี้ทำให้บริษัทประหยัดเงิน (จ่ายส่วนแบ่งรายได้น้อยลง) 10,000 ล้านบาท บริษัทเสียภาษีเงินได้ 30% จึงเท่ากับว่าบริษัทมีกำไรสุทธิส่วนเกิน 10,000 x (100%-30%) = 7,000 ล้านบาท
3. นำมูลค่ากำไรสุทธิส่วนเกินของบริษัทที่ได้ประโยชน์ส่วนเกิน (จากข้อ 2.) มาคูณกับสัดส่วนการถือหุ้นของชินคอร์ป ณ ต้นปี 2549 (ตอนที่เทมาเส็กมาซื้อหุ้น) เพื่อคำนวณ “กำไรสุทธิส่วนเกิน” ของชินคอร์ป เนื่องจากบริษัทที่ได้รับประโยชน์ในกรณีต่างๆ นั้นไม่ใช่ชินคอร์ปโดยตรง เพราะชินคอร์ปเป็น “บริษัทแม่” (holding company)
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่า บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (“เอไอเอส”) มีกำไรสุทธิส่วนเกิน 7,000 ล้านบาทจากการแก้สัญญาสัมปทาน ก็เท่ากับว่าชินคอร์ปได้รับกำไรสุทธิส่วนเกิน 7,000 x 42.9% (สัดส่วนการถือหุ้นของชินคอร์ปในเอไอเอส) = 3,000.2 ล้านบาท
4. นำมูลค่ากำไรสุทธิส่วนเกินของชินคอร์ป (จากข้อ 3.) มาคูณกับสัดส่วนการถือหุ้นของครอบครัวชินวัตร ณ ต้นปี 2549 (ตอนที่เทมาเส็กมาซื้อหุ้น) เพื่อคำนวณกำไรสุทธิส่วนเกินที่ครอบครัวชินวัตรได้รับ
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าชินคอร์ปมีกำไรสุทธิส่วนเกิน 3,000.2 ล้านบาท ก็เท่ากับว่าครอบครัวชินวัตรได้รับกำไรสุทธิส่วนเกิน 3,000.2 x 49.6% (สัดส่วนหุ้นที่ครอบครัวถือ) = 1,488 ล้านบาท
5. นำมูลค่ากำไรสุทธิส่วนเกินของครอบครัวชินวัตร (จากข้อ 4.) มาคูณกับอัตราส่วนราคาเสนอซื้อของเทมาเส็กต่อมูลค่าปัจจุบันของมูลค่าทางบัญชีของชินคอร์ป (ส่วนของผู้ถือหุ้น) ที่ผู้เขียนประมาณการตลอดอายุสัญญาสัมปทานของเอไอเอส (ถึงปี พ.ศ. 2558) คือ 49.25 บาทต่อหุ้น (ราคาเสนอซื้อของเทมาเส็ก) / 28.69 บาทต่อหุ้น (มูลค่าทางบัญชีสะสมที่ผู้เขียนประเมิน) = 1.72 เท่า เพื่อคำนวณ “ผลประโยชน์ส่วนเกิน” ที่ครอบครัวชินวัตรได้รับ ในราคาหุ้นที่ขายให้กับเทมาเส็ก
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าครอบครัวชินวัตรได้รับกำไรสุทธิส่วนเกิน 1,488 ล้านบาท ก็เท่ากับว่าครอบครัวชินวัตรได้รับผลประโยชน์ส่วนเกิน 1,488 x 1.72 = 2,554 ล้านบาท
ราคาหุ้นที่เทมาเส็กจ่ายให้กับครอบครัวชินวัตรนั้นสามารถแบ่งได้เป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ “มูลค่ากิจการ” ของบริษัทในแง่ของ “ส่วนของผู้ถือหุ้น” (ซึ่งประกอบด้วยมูลค่าทางบัญชีปัจจุบัน และมูลค่าเพิ่มจากการทำกำไรในอนาคตที่คิดลดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน) ส่วนที่สองคือ “ค่าจูงใจให้ขาย” (acquisition premium) ที่เทมาเส็กจ่ายเพิ่ม ดังนั้น ถ้าหากว่าชินคอร์ปมีมูลค่ากิจการลดลงทั้งในปัจจุบันและอนาคต (ถ้าหากไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการต่างๆ ที่อัยการกล่าวหา) ก็เท่ากับว่าเทมาเส็กเสนอซื้อหุ้นที่ราคา 1.72 เท่า ของมูลค่ากิจการที่น้อยลง
แนวทางการประเมินของผู้เขียนสรุปเป็นแผนภาพได้ดังนี้ –
ประเมิน “ผลประโยชน์ส่วนเกิน” ของครอบครัวชินวัตรรายกรณี
ในการประเมิน ผู้เขียนจะแบ่งกรณีต่างๆ ตามอัยการ ซึ่งแบ่งเป็น 5 กรณี ได้แก่ (ข้อความในเครื่องหมายคำพูดมาจากสำนวนของอัยการ)
“1. กรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิต โดยมีการตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 พ.ศ. 2546 ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม โดยให้นำค่าสัมปทานมาหักกับภาษีสรรพสามิต อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กิจการของผู้ถูกกล่าวหาและพวกพ้อง อีกทั้งยังมีการกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 20-50 ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องรับภาระมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเดิมมีสิทธินำค่าสัมปทานไปหักจากภาษีของตนได้ พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการกีดกันระบบโทรคมนาคมเสรีอย่างแท้จริง ทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาประกอบกิจการแข่งขันกับบริษัทเอไอเอส”
บริษัทในเครือชินคอร์ปที่ได้รับประโยชน์ส่วนเกิน: เอไอเอส (ชินคอร์ปถือหุ้น 42.9%) มีรายได้เพิ่มจากอำนาจตลาดที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเก็บภาษีสรรพสามิตเป็นการลดแรงจูงใจของคู่แข่งรายใหม่ที่จะเข้ามาแข่งขัน (เพราะไม่อยากเสียภาษี)
มูลค่าประโยชน์ส่วนเกินที่บริษัทในเครือได้รับ: ประโยชน์ส่วนเกินของเอไอเอสในกรณีนี้ประเมินเป็นตัวเลขยาก เนื่องจากขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกมากมายที่ไม่ชัดเจนว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไรถ้าไม่มีภาษีสรรพสามิต เช่น ระดับการแข่งขันในตลาด พฤติกรรมของผู้บริโภค ฯลฯ
ด้านค่าใช้จ่ายของบริษัทไม่มีผลกระทบสุทธิ เพราะเอไอเอสจะต้องจ่ายรัฐเท่าเดิม เพียงแต่อยู่ในรูปของภาษีสรรพสามิต บวกกับส่วนแบ่งรายได้ (เช่น 11% + 9%) แทนที่จะเป็นส่วนแบ่งรายได้อย่างเดียวดังเดิม (เช่น 20%)
ในด้านความเสียหายต่อรัฐ บมจ. ทีโอที ในฐานะคู่สัญญาสัมปทานของเอไอเอส ได้รับความเสียหายมูลค่า 30,667 ล้านบาท (ปี 2546-2550 ก่อนที่รัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จะยกเลิกการเก็บภาษีดังกล่าว ตัวเลขจากสมุดปกเหลืองของ คตส. ดาวน์โหลดได้ที่ เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์) จากค่าสัมปทาน (ส่วนแบ่งรายได้) ที่น้อยกว่าที่ควรจะได้รับ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังมีรายได้จากภาษีสรรพสามิตในส่วนนั้นแทน ทำให้ความเสียหายต่อรัฐที่เป็นตัวเงินมีมูลค่าสุทธิเท่ากับศูนย์ แต่การกีดกันคู่แข่งรายใหม่นั้นไม่อาจประเมินมูลค่าความเสียหายด้วยหลักการเงินได้ จำต้องอาศัยหลักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตของบทความฉบับนี้และความสามารถของผู้เขียน
อย่างไรก็ดี ถ้าหากศาลพิพากษาว่า การออกพระราชกำหนด 2 ฉบับที่ให้เก็บ “ภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคม” นั้นชอบด้วยกฏหมาย แต่มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 11 ธันวาคม 2546 เรื่องการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม (ที่ให้คู่สัญญาภาคเอกชนมีสิทธินำเงินค่าภาษีดังกล่าวมาหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายตามสัญญาสัมปทาน) นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีนั้น “ประโยชน์ส่วนเกิน” ของเอไอเอสก็จะเท่ากับมูลค่าความเสียหายต่อ บมจ. ทีโอที คือส่วนแบ่งรายได้ที่ควรจะได้รับ จำนวน 30,667 ล้านบาท ซึ่งก็จะหมายความว่า
“กำไรส่วนเกิน” ที่เอไอเอสได้รับหลังหักภาษี เท่ากับ 30,667 x (1-30%) = 21,467 ล้านบาท
“กำไรส่วนเกิน” ที่ชินคอร์ปได้รับ (ถือหุ้นเอไอเอส 42.9%) เท่ากับ 21,467 x 42.9% = 9,201 ล้านบาท
“กำไรส่วนเกิน” ที่ครอบครัวชินวัตรได้รับ (ก่อนขายหุ้น) เท่ากับ 9,201 x 49.6% = 4,563 ล้านบาท
“ผลประโยชน์ส่วนเกิน” ที่ครอบครัวชินวัตรได้รับ (หลังขายหุ้น) เท่ากับ 4,563 x 1.72 เท่า = 7,833 ล้านบาท (เฉพาะในกรณีที่ศาลพิพากษาว่า พรก. 2 ฉบับนั้นชอบด้วยกฎหมาย แต่ มติ ครม. ที่ให้หักภาษีออกจากส่วนแบ่งรายได้ ไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่อย่างนั้นผลประโยชน์ส่วนเกินย่อมจะน้อยกว่านี้ และคำนวณยากด้วยเหตุผลที่ผู้เขียนอธิบายไปแล้วข้างต้น)
“2. กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ลงวันที่ 27 มีนาคม 2533 (ครั้งที่ 6) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า ให้แก่บริษัท เอไอเอส ซึ่งจากการจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญา (ครั้งที่ 6) ดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทเอไอเอสจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่ บริษัท ทศท ในอัตรา 20% คงที่ตลอดอายุสัญญาสัมปทานตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2544 จากเดิมที่ต้องจ่ายตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นแบบก้าวหน้าในอัตรา 25% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2543-30 กันยายน 2548 และในอัตรา 30% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548-30 กันยายน 2558 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน”
บริษัทในเครือชินคอร์ปที่ได้รับประโยชน์ส่วนเกิน: เอไอเอส (ชินคอร์ปถือหุ้น 42.9%) ได้กำไรเพิ่มจากการจ่ายส่วนแบ่งรายได้น้อยลง
มูลค่าประโยชน์ส่วนเกินที่บริษัทในเครือได้รับ: 70,872 ล้านบาท จากส่วนแบ่งรายได้ที่เอไอเอสประหยัดได้ เท่ากับส่วนแบ่งรายได้ที่ บมจ. ทีโอที ได้รับน้อยลง (ปี 2546-2549 และประมาณการในอนาคตโดย บมจ. ทีโอที, อ้างในมติ คตส. เดือนกรกฎาคม 2551), คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันเท่ากับ 39,588 ล้านบาท
มูลค่ากำไรส่วนเกินที่บริษัทในเครือได้รับ: 39,588 x (1-30%) = 27,712 ล้านบาท
มูลค่ากำไรส่วนเกินที่ชินคอร์ปได้รับ: 27,712 x 42.9% = 11,877 ล้านบาท
มูลค่ากำไรส่วนเกินที่ครอบครัวชินวัตรได้รับ (ก่อนขายหุ้น): 11,877 x 49.6% = 5,891 ล้านบาท
มูลค่าผลประโยชน์ส่วนเกินที่ครอบครัวชินวัตรได้รับ (หลังขายหุ้น): 5,891 ล้านบาท x 1.72 เท่า = 10,111 ล้านบาท
“3. กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม 2533 (ครั้งที่ 7) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2545 เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และกรณีการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายรวม เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่นฯ และบริษัท เอไอเอส การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่ให้บริษัท เอไอเอส เข้าไปใช้เครือข่ายร่วมผู้ให้บริการรายอื่นมีผลต่อการจ่ายเงินผลประโยชน์ที่ บริษัท เอไอเอส ต้องจ่ายให้แก่ บริษัท ทศท และบริษัท กสท ไม่น้อยกว่า 18,970,579,711 บาท กลายเป็น บริษัท เอไอเอส จะได้รับผลประโยชน์ที่ไม่ต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว”
บริษัทในเครือชินคอร์ปที่ได้รับประโยชน์ส่วนเกิน: เอไอเอส (ชินคอร์ปถือหุ้น 42.9%) สามารถประหยัดส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายให้กับ บมจ. ทีโอที จากการที่ บมจ. ทีโอที ปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายรวม และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ
มูลค่าประโยชน์ส่วนเกินที่บริษัทในเครือได้รับ: ไม่ชัดเจน เนื่องจากถึงแม้ว่าเอไอเอสจะประหยัดส่วนแบ่งรายได้ได้ 18,970 ล้านบาท ที่ไม่ต้องจ่าย บมจ. ทีโอที (ปี 2545-2550 และประมาณการในอนาคตที่จัดทำโดย บมจ. ทีโอที, อ้างในมติ คตส. เดือนกรกฎาคม 2551, คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันเท่ากับ 12,595 ล้านบาท) บริษัทก็ยังต้องจ่ายค่าเชื่อมโยงโครงข่ายกับบริษัทอื่นในระบบ ซึ่งผู้เขียนไม่มีข้อมูลพอที่จะประเมินได้
“4. กรณีละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบหลายกรณี ได้แก่ การอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพี สตาร์, การอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน ครั้งที่ 5 วันที่ 27 ตุลาคม 2547 ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่นฯ ในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ ที่เป็นผู้ขออนุมัติสร้างและส่งดาวเทียมไทยคม และการอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนของดาวเทียมไทยคม 3 จำนวน 6.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศ อันเป็นการเอื้อประโยชน์บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่นฯ และบริษัท ชิน แซทฯ”
บริษัทในเครือชินคอร์ปที่ได้รับประโยชน์ส่วนเกิน: ชิน แซทฯ (ชินคอร์ปถือหุ้น 41.3%) ได้กำไรเพิ่มจากการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้โครงการไอพี สตาร์
มูลค่าประโยชน์ส่วนเกินที่บริษัทในเครือได้รับ: 16,459 ล้านบาท เท่ากับมูลค่าภาษีที่ได้รับยกเว้นจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในโครงการดาวเทียม ไอพี สตาร์, คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันเท่ากับ 12,776 ล้านบาท (สำหรับกรณีอื่นๆ ที่กล่าวถึงในสำนวนอัยการนั้น ผู้เขียนไม่มีรายละเอียด)
มูลค่ากำไรส่วนเกินที่บริษัทในเครือได้รับ: 12,776 ล้านบาท (ไม่ต้องหักภาษี เพราะนี่คือมูลค่าภาษีที่ได้รับยกเว้น)
มูลค่ากำไรส่วนเกินที่ชินคอร์ปได้รับ: 12,776 x 41.3% = 5,276 ล้านบาท
มูลค่ากำไรส่วนเกินที่ครอบครัวชินวัตรได้รับ (ก่อนขายหุ้น): 5,276 x 49.6% = 2,617 ล้านบาท
มูลค่าผลประโยชน์ส่วนเกินที่ครอบครัวชินวัตรได้รับ (หลังขายหุ้น): 2,617 ล้านบาท x 1.72 เท่า = 4,492 ล้านบาท
“5. กรณีอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชิน แซทฯ โดยเฉพาะ ซึ่งครั้งแรกผู้ถูกกล่าวหาได้สั่งการเห็นชอบให้เอ็กซิมแบงก์ให้วงเงิน 3,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า แล้วต่อมาได้สั่งการเห็นชอบเพิ่มวงเงินกู้อีก 1,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 4,000 ล้านบาท สำหรับโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของสหภาพพม่า โดยให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน รวมทั้งให้ขยายระยะเวลาปลอดการชำระหนี้ การจ่ายเงินต้นจาก 2 ปี เป็น 5 ปี เพื่อประโยชน์ของบริษัท ชิน แซทฯ ที่ผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวชินวัตรกับพวกมีผลประโยชน์ถือหุ้นอยู่ ในการให้ได้รับงานจ้างพัฒนาระบบโทรคมนาคมจากรัฐบาลสหภาพพม่า”
บริษัทในเครือชินคอร์ปที่ได้รับประโยชน์ส่วนเกิน: ชิน แซทฯ (ชินคอร์ปถือหุ้น 41.3%) น่าจะได้กำไรส่วนเกินจากการมีรายได้การขายสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น
มูลค่าประโยชน์ส่วนเกินที่บริษัทในเครือได้รับ: ไม่มีรายละเอียดพอที่จะคำนวณ เนื่องจากไม่มีข้อมูลว่าถ้าเอ็กซิมแบงก์ไม่ปล่อยกู้ รัฐบาลพม่าจะยังซื้อสินค้าและบริการจาก ชิน แซทฯ อยู่หรือไม่ ถ้าซื้อจะซื้อในราคาใดและเงื่อนไขใด แตกต่างจากกรณีที่เอ็กซิมแบงก์ให้กู้อย่างไรบ้าง
มูลค่าความเสียหายต่อรัฐในกรณีนี้คือ 950 ล้านบาท คิดจากต้นทุนส่วนต่างในการอุดหนุนดอกเบี้ย ประเมินโดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ในรายงานวิจัยเรื่อง “ทุนสัมปทานกับธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ”
จากทั้ง 5 กรณีดังกล่าวข้างต้น รวมมูลค่าผลประโยชน์ส่วนเกินที่ครอบครัวชินวัตรได้รับจากมาตรการที่อัยการกล่าวหาว่า “เอื้อประโยชน์” เฉพาะกรณีที่ผู้เขียนประเมินได้จากมูลค่าประโยชน์ส่วนเกินที่ชัดเจน เท่ากับประมาณ 10,111 + 4,492 = 14,603 ล้านบาท สรุปเป็นตารางได้ดังต่อไปนี้
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากศาลพิพากษาในกรณีที่ 1 ว่า การออกพระราชกำหนด 2 ฉบับที่ให้เก็บ “ภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคม” นั้นชอบด้วยกฏหมาย แต่มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 11 ธันวาคม 2546 เรื่องการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม (ที่ให้คู่สัญญาภาคเอกชนมีสิทธินำเงินค่าภาษีดังกล่าวมาหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายตามสัญญาสัมปทาน) นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีนั้น “ประโยชน์ส่วนเกิน” ก่อนหักภาษีของเอไอเอสก็จะเท่ากับมูลค่าความเสียหายต่อ บมจ. ทีโอที คือ 30,667 ล้านบาท และเมื่อนำตัวเลขนี้มาผ่านขั้นตอนการประเมินของผู้เขียน ก็จะประเมิน “ผลประโยชน์ส่วนเกิน” ที่ครอบครัวชินวัตรได้รับจากกรณีนี้ได้ว่า อยู่ที่ประมาณ 7,833 ล้านบาท รวมผลประโยชน์ส่วนเกินที่ครอบครัวชินวัตรได้รับ เท่ากับประมาณ 7,833 + 10,111 + 4,492 = 22,436 ล้านบาท
กรณีนี้สรุปเป็นตารางได้ดังต่อไปนี้
พึงสังเกตว่า ตัวเลขผลประโยชน์ส่วนเกินที่ครอบครัวชินวัตรได้รับในประมาณการของผู้เขียนทั้งสองกรณีนั้น (14,603 ล้านบาท หรือ 22,436 ล้านบาท) มีมูลค่าน้อยกว่า “ความเสียหายต่อรัฐ” (65,909 ล้านบาท หรือ 96,576 ล้านบาท) ในประมาณการของผู้เขียนค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเนื่องจากกำไรส่วนเกินที่บริษัทในเครือชินคอร์ปได้รับนั้นหลายรายการไม่อาจประเมินค่าเป็นตัวเงินได้โดยง่าย เนื่องจากขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกหลายประการที่ไม่แน่นอน เช่น ระดับการแข่งขันในตลาด กลยุทธ์ของผู้เล่นในตลาด พฤติกรรมของผู้บริโภค ฯลฯ
อีกประเด็นหนึ่งที่พึงสังเกตคือ ตัวเลข “ความเสียหายต่อรัฐ” นั้นยังไม่รวม “ความเสียหายต่อสังคม” ในแง่ของการแข่งขันที่ลดลง การกีดกันคู่แข่งรายใหม่ ฯลฯ ซึ่งสามารถใช้หลักเศรษฐศาสตร์ประเมินมูลค่าได้ แต่อยู่นอกเหนือขอบเขตของทั้งบทความฉบับนี้และความสามารถของผู้เขียน
ถ้าศาลตัดสินว่า พ.ต.ท. ทักษิณ “ซุกหุ้น” และ “เอื้อประโยชน์” ให้กับชินคอร์ปจริง ศาลก็อาจตัดสินให้จำเลยชดใช้ความเสียหายให้แก่รัฐ ไม่ว่าตนและ/หรือครอบครัวจะได้รับผลประโยชน์ส่วนเกินจากการ “เอื้อประโยชน์” ดังกล่าว น้อยกว่ามูลค่าความเสียหายต่อรัฐเพียงใดก็ตาม
มูลค่าผลประโยชน์ส่วนเกินที่ผู้เขียนประมาณการได้ในบทความฉบับนี้เป็น “ค่าขั้นต่ำ” ในแง่ที่ว่าไม่ได้ประมาณการผลประโยชน์ส่วนเกินที่ครอบครัวชินวัตรได้รับจากกรณีที่ 1, 3 และ 5 (พูดอีกนัยหนึ่งคือ สามารถประมาณการได้เฉพาะกรณีที่ 2 และ 4 เท่านั้น) โดยในกรณีที่ 1 ประโยชน์ส่วนเกินที่เอกชนได้รับจะสูงหรือต่ำ ขึ้นอยู่กับมุมมองทางกฎหมายที่แตกต่างกันมาก.