ผ่านพบได้ผูกพัน : ความประทับใจจากเมืองตรัง (1) / เร็กเก้ Job2Do

(อ่านตอนนี้จบแล้วขอเชิญอ่าน ตอนที่ 2 ต่อ)

หาดปากเมง

กลับมาพร้อมเศษทรายในรองเท้า
กับแสงดาวสุกใสในเส้นผม
กลิ่นสะตอกรุ่นเกลือเจือสายลม
กรุคำคมคำผวนล้วนชำนาญ

กลองเร็กเก้เห่ประดังยังก้องโสต
กลอนการเมืองเรืองอุโฆษยังโจษขาน
ใกล้นายหัวนักปราศรัยในตำนาน
แกงไก่บ้าน-น้ำพริกกะลายังตราตรึง

การเมืองถกใครก็ได้ไม่รู้เบื่อ
กับข้าวถูกเหลือเชื่อนึกไม่ถึง
กรวดทรายขาวราวบ่วงห้วงคำนึง
กระนั้นจึงต้องมนต์คนเมืองตรัง.

……

ก่อนไปเที่ยวเมืองตรังช่วงหยุดปีใหม่ 2550 ทุกคนที่รู้ว่าจะไปต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องชอบเมืองตรังแน่ๆ เพราะคนใต้มีนิสัยหลายอย่างตรงกันกับผู้เขียน คือโผงผาง ตรงไปตรงมา และชอบถกกันเรื่องการเมือง แถมภูเขาเมืองตรังก็เขียวชอุ่ม อาหารก็รสจัดจ้าน อากาศก็กำลังสบาย ไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป

เมื่อไปถึงก็พบว่า ทุกอย่างเป็นอย่างที่คาดไว้ เพียงแต่ขนาดของ “หัวใจ” คนตรังใหญ่กว่าที่คิดไว้ แถมความน่ารักของคนตรังที่ผู้เขียนโชคดีที่ได้รู้จัก ก็ช่วยทลายกำแพงอคติหรือทัศนคติผิดๆ ที่ผู้เขียนอาจเคยมีเกี่ยวกับ “ไฮโซ” “นักธุรกิจ” “ศิลปิน” และอาชีพอื่นๆ ลงเกือบราบคาบ (ถ้ามันจะยังมีเหลืออยู่อีกหลังจากที่ช่วง 3-4 เดือนกลางปี 2549 ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้คนมากมายหลายฐานะและสาขาอาชีพที่ไปนอนประท้วงทักษิณที่สนามหลวงด้วยกัน)

เพราะคนตรังที่โชคดีได้รู้จัก มีตั้งแต่ไฮโซเจ้าของร้านอาหารชื่อดังที่ไปประท้วงทักษิณด้วยกันจนดึกดื่น ทั้งๆ ที่หลังเจ็บจนก้มตัวไม่ได้ นักธุรกิจบ้านจัดสรรแต่งตัวสไตล์นักดนตรีเร็กเก้ เร่ซื้อบ้านไม้เก่าๆ มาอนุรักษ์ นักกิจกรรมการเมืองสมัย 6 ตุลาผันตัวมาเป็นนักปฏิบัติธรรมตัวยง และสถาปนิกคนหนึ่งประดับบ้านด้วยขยะที่ขยันดำน้ำเก็บมาจากใต้ท้องทะเล ซึ่งเธอทำบ่อยจนแทบจะเป็นงานประจำไปแล้ว

เมื่อบรรดา “ผู้มีอันจะกิน” ทั้งหลายยังทำตัวน่ารักขนาดนี้ จะไม่ให้ติดใจเมืองตรังได้อย่างไร


(อ่านตอนนี้จบแล้วขอเชิญอ่าน ตอนที่ 2 ต่อ)

หาดปากเมง

กลับมาพร้อมเศษทรายในรองเท้า
กับแสงดาวสุกใสในเส้นผม
กลิ่นสะตอกรุ่นเกลือเจือสายลม
กรุคำคมคำผวนล้วนชำนาญ

กลองเร็กเก้เห่ประดังยังก้องโสต
กลอนการเมืองเรืองอุโฆษยังโจษขาน
ใกล้นายหัวนักปราศรัยในตำนาน
แกงไก่บ้าน-น้ำพริกกะลายังตราตรึง

การเมืองถกใครก็ได้ไม่รู้เบื่อ
กับข้าวถูกเหลือเชื่อนึกไม่ถึง
กรวดทรายขาวราวบ่วงห้วงคำนึง
กระนั้นจึงต้องมนต์คนเมืองตรัง.

……

ก่อนไปเที่ยวเมืองตรังช่วงหยุดปีใหม่ 2550 ทุกคนที่รู้ว่าจะไปต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องชอบเมืองตรังแน่ๆ เพราะคนใต้มีนิสัยหลายอย่างตรงกันกับผู้เขียน คือโผงผาง ตรงไปตรงมา และชอบถกกันเรื่องการเมือง แถมภูเขาเมืองตรังก็เขียวชอุ่ม อาหารก็รสจัดจ้าน อากาศก็กำลังสบาย ไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป

เมื่อไปถึงก็พบว่า ทุกอย่างเป็นอย่างที่คาดไว้ เพียงแต่ขนาดของ “หัวใจ” คนตรังใหญ่กว่าที่คิดไว้ แถมความน่ารักของคนตรังที่ผู้เขียนโชคดีที่ได้รู้จัก ก็ช่วยทลายกำแพงอคติหรือทัศนคติผิดๆ ที่ผู้เขียนอาจเคยมีเกี่ยวกับ “ไฮโซ” “นักธุรกิจ” “ศิลปิน” และอาชีพอื่นๆ ลงเกือบราบคาบ (ถ้ามันจะยังมีเหลืออยู่อีกหลังจากที่ช่วง 3-4 เดือนกลางปี 2549 ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้คนมากมายหลายฐานะและสาขาอาชีพที่ไปนอนประท้วงทักษิณที่สนามหลวงด้วยกัน)

เพราะคนตรังที่โชคดีได้รู้จัก มีตั้งแต่ไฮโซเจ้าของร้านอาหารชื่อดังที่ไปประท้วงทักษิณด้วยกันจนดึกดื่น ทั้งๆ ที่หลังเจ็บจนก้มตัวไม่ได้ นักธุรกิจบ้านจัดสรรแต่งตัวสไตล์นักดนตรีเร็กเก้ เร่ซื้อบ้านไม้เก่าๆ มาอนุรักษ์ นักกิจกรรมการเมืองสมัย 6 ตุลาผันตัวมาเป็นนักปฏิบัติธรรมตัวยง และสถาปนิกคนหนึ่งประดับบ้านด้วยขยะที่ขยันดำน้ำเก็บมาจากใต้ท้องทะเล ซึ่งเธอทำบ่อยจนแทบจะเป็นงานประจำไปแล้ว

เมื่อบรรดา “ผู้มีอันจะกิน” ทั้งหลายยังทำตัวน่ารักขนาดนี้ จะไม่ให้ติดใจเมืองตรังได้อย่างไร

เนื่องจากประสบการณ์เที่ยวเมืองตรังของผู้เขียน เกี่ยวกระหวัดอยู่กับอุปนิสัยและทัศนคติของคนตรังแต่ละคนที่พาเที่ยว จนแยกระหว่าง “เหตุการณ์” กับ “คน” ไม่ได้ เลยขอเล่าเรื่องตามลำดับของคนตรังที่ได้ผ่านพบและผูกพัน ตามฉายานามดังต่อไปนี้

โซ้ยโกว

น้ำพริกกะลา
น้ำพริกกะลาจากพังงา โซ้ยโกวอุตส่าห์ใส่ช่องฟรีซในตู้เย็น
เป็นอาทิตย์ รอให้เรามากิน อร่อยมากๆ

โซ้ยโกว คืออาของรุ่นพี่ ไม่ใช่คนตรังโดยกำเนิดแต่ย้ายตามสามีไปอยู่เมืองตรัง โซ้ยโกวคือผู้เอื้อเฟื้อห้องนอนของลูกสาว (ซึ่งกำลังเรียนต่อต่างประเทศ) ให้ผู้เขียนพักระหว่างเที่ยวเมืองตรัง โซ้ยโกวเป็นเจ้าของร้านอาหารอร่อยและดังในเมืองตรัง ชื่อ “Richy” ซึ่งขายอาหารทั้งไทยและเทศ สั่งไอศกรีมยี่ห้อ iBerry ไปขายด้วย อารมณ์ประมาณร้าน “กัลปพฤกษ์” ที่ถนนประมวญ ราคาค่อนข้าง “แพง” ถ้าเทียบกับมาตรฐานค่าครองชีพของเมืองตรัง แต่ “ถูก” เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ

“ไฮโซ” เมืองตรังคนนี้มีปัญหาหลังเจ็บเรื้อรังจนก้มตัวไม่ได้ แต่สปิริตแรงกล้าถึงขนาดไปนอนประท้วงอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ด้วยกันกับผู้เขียน ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ก่อนที่ “ปรากฎการณ์สนธิ” จะกลายเป็น “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ในที่สุด

เมื่อเห็นโซ้ยโกวคาดผ้ารัดเอวเพื่อบรรเทาอาการเจ็บหลัง ไปนอนประท้วงอย่าง “อึด” มากติดต่อกันหลายชั่วโมง ต้องนอนตะแคง พลิกตัวไปมาหลายรอบ (ยังไม่นับผู้อาวุโสจากต่างจังหวัดหลายท่านที่ปักหลักค้างแรมที่สนามหลวง เพราะไม่มีที่พักในกรุงเทพฯ) ปัญหาเจ็บเข่าเรื้อรังของผู้เขียนซึ่งทำให้คุกเข่าหรือนั่งขัดสมาธินานๆ ไม่ได้ ก็กลายเป็น “เรื่องจิ๊บจ๊อย” ที่ไม่คิดว่าควรบ่นให้ใครฟังอีกต่อไป

ช่วงปลายปี 2549 ที่ไปเยือนเมืองตรัง ร้านอาหารของโซ้ยโกวขายดีมากๆ คลาคล่ำไปด้วยแขกที่มากินข้าวและซื้อเค้ก โซ้ยโกวบอกว่าช่วงนี้เค้กมะพร้าวขายได้วันละหลายร้อยกล่อง เพราะลูกค้านิยมซื้อไปเลี้ยงแขก และแจกเป็นของขวัญปีใหม่

เห็นคนแน่นร้านก็นึกดีใจแทน เพราะเมืองตรังไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น ถ้าไม่ใช่หน้าเทศกาล ร้านอาหารก็ขายได้เรื่อยๆ เท่านั้น ไม่ถึงกับดีมาก

โซ้ยโกวบอกว่า ได้รับผลกระทบจากที่มีโลตัส แม็คโคร ฯลฯ มาเปิดในตรังเหมือนกัน ทำให้ยอดขายขนมต่างๆ เช่น คุ้กกี้ ฯลฯ ลดลง แต่ก็ปรับตัวด้วยการเลิกขายของบางอย่าง ไม่คิดจะไปประท้วงเรื่องห้างใหญ่ๆ กับใคร เพราะยอมรับว่าลูกค้าส่วนใหญ่คงมองว่าคุ้กกี้ของร้านแพงไป ชอบไปซื้อคุ้กกี้ของโลตัสมากกว่า

ถ้าทุกคนเรียนรู้ที่จะมอง “ออกนอกตัวเอง” เป็นกิจวัตร คือคำนึงถึงคนอื่นมากกว่าตัวเอง คนขายของคิดถึงประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก พยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการทำธุรกิจ (หรือไปทำอย่างอื่น) เมื่อรู้ว่าสิ่งที่ทำมานานนั้นล้าสมัยไปแล้ว ในขณะที่ผู้บริโภคเองก็เห็นใจโชว์ห่วยที่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการปรับตัวให้ทันกับการแข่งขันที่รุนแรงกว่าเดิม ปัญหาเรื่องโชว์ห่วย vs. ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า ไฮเปอร์มาร์เก็ต คงไม่บานปลายออกเป็นสองขั้วตรงข้าม หาจุดประนีประนอมไม่ค่อยได้อย่างทุกวันนี้

เพราะ “มือที่มองไม่เห็น” ของทุนนิยม จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมได้จริง ก็ต่อเมื่อทุกคนไม่เห็นแก่ตัวเท่านั้น

นอกจากจะไม่ยอมให้ผู้เขียนจ่ายค่าอาหารแม้แต่มื้อเดียว โซ้ยโกวยังให้ยืมรถไปขับเล่นคนเดียวอีกด้วย (สงสัยจะไม่เคยได้ยินกิตติศัพท์ว่าผู้เขียนขับรถอันตรายขนาดไหน) แต่รถคันนี้ทาสีแดงแป๊ด มีรูปขนมปังและชื่อร้าน “Richy” ตัวใหญ่เบ้อเริ่มอยู่ข้างรถทั้งสองข้าง ความที่เกรงว่าฝีมือขับรถอันไม่เอาอ่าวของผู้เขียนจะทำให้ร้านเสื่อมเสียชื่อเสียงเลยทำให้ไม่กล้าขับไปไหนไกลๆ หรือลุยถนนเล็กๆ ได้แต่ขับรถไปเที่ยวเล่นแถวๆ หาดหยงหลิง ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตอำเภอสิเกา ไม่ไกลจากตัวเมืองตรังเท่าไหร่

ต้นโกงกาง(?) บนหาดเจ้าไหม
ต้นโกงกาง(?) บนหาดเจ้าไหม

หาดหยงหลิงเป็นหาดเล็กๆ น่ารัก ทรายสีขาวตัดกันสวยงามกับสีดำทะมึนของภูเขาหินที่มีต้นไม้เขียวสลับแซมเพียงประปราย (เคยได้ยินว่าภูเขาตามชายหาดเมืองตรังเป็นจุดที่นักปีนเขาชอบมาไม่น้อย) ต้นโกงกาง(หรือเปล่าไม่แน่ใจ รู้จักต้นไม้น้อยมากๆ)รากสูงคร่อมผืนทรายหลายร้อยต้นแผ่กิ่งใบร่มครึ้มไปทั่วบริเวณ วันที่ไปคนค่อนข้างเยอะเพราะเป็นช่วงปีใหม่ สังเกตป้ายทะเบียนรถส่วนใหญ่มาจากภาคใต้ เช่น ประจวบ พังงา ฯลฯ คงเป็นนักท่องเที่ยวแถวนี้ แต่ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่เรียกว่าคนน้อยแล้ว ลองไปกระบี่หรือภูเก็ตช่วงปีใหม่ดูสิ จะตกใจ

ความที่เมืองตรังยังไม่เป็น “เมืองท่องเที่ยว” เต็มตัวเหมือนจังหวัดเพื่อนบ้านคือกระบี่ ทำให้ยังคงความ “น่ารัก” แบบ “บ้านๆ” เอาไว้ได้ มีคนเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนเจ้าเมืองตรังประกาศยกเกาะหลายเกาะในน่านน้ำตรังให้กระบี่ดูแล เพราะไม่อยากรับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ทำให้ปัจจุบันกระบี่กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวแทน ทั้งๆ ที่เกาะในเขตกระบี่หลายเกาะอยู่ใกล้เมืองตรังมากกว่า แต่คนตรังทุกคนที่คุยเรื่องนี้ด้วยบอกว่า เป็นแบบนี้แหละดีแล้ว เพราะเสน่ห์ของเมืองตรังคือชีวิตเรียบง่าย สบายๆ แบบชาวเล ไม่ต้องรีบร้อนไปไหน (เรื่องนี้ผู้เขียนยืนยันได้ อยู่เมืองตรัง 4 วันไม่เคยได้ยินเสียงแตรรถเลยสักครั้ง และเวลาขับรถก็แซงคันอื่นตลอดทั้งๆ ที่รถไม่ติด เพราะคนเมืองนี้เขาขับรถกัน 40-50 ก.ม. ต่อชั่วโมงเท่านั้นเอง)

แต่คนตรังหลายคนที่คุยด้วยก็แสดงความกังวลเหมือนกัน ว่าอีก 5-10 ปีเมืองตรังอาจเปลี่ยนไป มีนักท่องเที่ยวและคนต่างถิ่นเข้ามาอยู่เยอะขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวเริ่มจะ “ล้น” กระบี่แล้ว และชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนที่กำลังเผชิญกับความรุนแรงรายวันอันไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด ส่วนใหญ่เลือกตรังเป็นจังหวัดอันดับสองที่อยากย้ายเข้ามาอยู่ ถ้ามีเงินและโอกาส (อันดับหนึ่งคือสงขลา)

ป้ายเส้นทางหนีคลื่นยักษ์
ป้ายเส้นทางหนีคลื่นยักษ์ หาดปากเมง
คาดว่าคนหนีคงขาดใจตายกว่าจะวิ่ง
ไปได้ 2,825 เมตร ตามป้าย

ขับรถเลาะไปตามถนนเลียบชายหาดไปเรื่อยๆ จนถึงหาดปากเมง สังเกตเห็นป้าย “โปรดรักษาปะการังโดยการใช้ทุ่นจอดเรือ” ปักอยู่ในศาลาเล็กๆ ไม่ไกลจากท่าเรือปากเมงเท่าไรนัก มีภาพสาธิตการใช้ทุ่นจอดเรือ แทนการทอดสมอลงไปในน้ำลึก เพราะสมอจะไปทำลายปะการัง ดูแล้วน่ารักดี อดสงสัยไม่ได้ว่าจะมีเรือทำแบบนี้สักกี่ลำ เพราะป้ายปักให้คนบนฝั่งดู ไม่ได้ให้เรือดู แต่คิดว่าคนที่นี่น่าจะทะนุถนอมปะการังได้ดี สังเกตจากการที่เมืองตรังได้รับการขนานนามอยู่เนืองๆ ว่าเป็นจังหวัดที่รักษาสิ่งแวดล้อมดีเด่น ไม่ว่าจะในด้านการปลูกป่า การรักษาสภาพชายทะเล ฯลฯ

อดคิดไม่ได้ว่า เมื่อวันที่เมืองตรังเปลี่ยนสถานะเป็น “เมืองท่องเที่ยว” มาถึง สภาพสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้นหรือเลวลงกว่าเดิม ขนาดไหน คนไทยเราจะเรียนรู้บทเรียนอันนับไม่ถ้วนจากประสบการณ์ของ พัทยา ภูเก็ต สมุย และกระบี่ ได้ทันเวลาหรือไม่ และเราจะส่งเสริม “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” ได้จริงหรือ?

เมื่อกลับมาจากขับรถเล่น เพื่อนของโซ้ยโกวคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ผู้เขียนคงสังเกตเห็นว่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมนั้นกินบริเวณกว้างมาก นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เมืองตรังยังไม่มีโรงแรม รีสอร์ท หรือคอนโดสูงๆ ผุดขึ้นพร้อมหาดส่วนตัวเป็นหย่อมๆ เลยทำให้เมืองตรังคงไม่สามารถเปลี่ยนเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมได้ง่ายๆ อย่างกระบี่

เปล่า เขาไม่ได้เล่า้ด้วยความเศร้าใจ หากแววตาเปล่งประกายแห่งความสุขก่อนกล่าวเสริมว่า อย่างนี้แหละดีแล้ว ไม่อยากให้เมืองตรังกลายเป็นเมืองท่องเที่ยว

เพื่อนของโซ้ยโกวผู้นี้คือ โกเกี้ย หนุ่มใหญ่หัวใจวัยรุ่น เจ้าของหมู่บ้านจัดสรรชื่อดังแห่งเมืองตรัง ผู้ที่ถ้าดูจากรูปร่างหน้าตาการแต่งตัวแล้วจะไม่มีวันทายถูกเลยว่าเป็นเศรษฐีนักธุรกิจ

เพราะโกเกี้ยแต่งตัวเหมือนนักดนตรีวงร็อคหัวก้าวหน้าอย่าง Butterfly ห้อยคอด้วยเครื่องเล่น MP3 แบบพกพา ไว้ผมยาวเอาหนังสติ๊กรวบ ออกตัวว่าไม่อ่านหนังสือแต่สามารถอ้างอิงวรรคทองจากวรรณคดีได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน และผวนคำเก่งไม่เป็นรองใคร

โกเกี้ยเป็นคนแรกทำให้ผู้เขียนถึงบางอ้อ(เสียที)ว่า เพลงเร็กเก้ที่ “ดี” นั้นเป็นอย่างไร หลังจากที่เข้าใจผิดมาตลอดว่าเร็กเก้มีแต่เนื้อหาประเภท “ไปทะเลกันดีกว่า” ด้วยการแนะนำให้รู้จักกับเพลงและ VCD ของศิลปินเร็กเก้สายเลือดตรังแท้ นาม Job2Do (บรรจบ พลอินทร์) ตลอดเวลาสามวันที่ขับรถพาผู้เขียนตระเวนตรัง (หลังจากวันแรกที่ขับรถโซ้ยโกวแล้ว โกเกี้ยก็รับอาสาพาไปเที่ยว เลยไม่ต้องขับรถอีกเลย)

นามแฝงเต็มๆ ของคุณบรรจบคือ “Job2Do Up2Gu”

เป็นการสรุปรวมนิสัยใจคอของคนตรังแบบกระชับและติดหูดีทีเดียว

ไหนๆ ก็พูดถึง Job2Do แล้ว ก็ขอถือโอกาสนี้แนะนำเพลงโปรดสองเพลง ก่อนที่จะมาเล่าเรื่องโกเกี้ยต่อ ใครที่เข้าใจผิดเหมือนผู้เขียนเมื่อก่อนนี้ว่า เร็กเก้ไม่สนใจการเมือง และร้องเพลงเศร้าไม่เป็น ขอเชิญฟังเพลง “ลายเคง” และ “คลื่นกระซิบสั่ง”:

(เพื่อความเข้าใจก่อนฟัง: “ลายเคง” เป็นภาษาใต้ ลาย หมายถึง ทำลาย เคง หมายถึง ปลวกชนิดหนึ่งที่ทำรังเล็กๆ คนใต้เอาเคงมาสับให้ไก่หรือปลาดุกกินเพื่อเพิ่มโปรตีน ลายเคงเป็นคำเปรียบเปรย หมายถึงคนที่ทำลายบรรยากาศหรือโอกาสของเรา หรือทำให้เราเสียเงิน โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้อะไรตอบแทนด้วย)

ลายเคง [MP3, 4.43MB]
Job2Do (บรรจบ พลอินทร์)

(เริ่มสร้อย) ลาย ลาย ลาย ล้าย ลายเคง
ลาย ลาย ลาย ล้าย ลายเคง
ชีวิตฉันไม่สุขสบาย จะไปทางไหนก็มีแต่พวกลายเคง
ลาย ลาย ลาย ล้าย ลายเคง
ลาย ลาย ลาย ล้าย ลายเคง
(จบสร้อย)

ดูเพื่อนเราพอไม่เมาล่ะเหมือนปราชญ์
พอเหล้าเข้าปากแม้แต่เปรตยังเกรง
ไปทุกงานล่ะเมาได้ทุกที
พอได้ดีกรีชอบทำเป็นนักเลง
เงินทองไม่เคยพกติดตัว
ชอบทำเป็นเจ้าสัว กูละเซ็ง เซ้ง เซ็ง
(สร้อย)

ลายเคงวงเราไม่เท่าไร
แต่ประเทศไทยมีนักการเมืองลายเคง
บอกให้เราประหยัดน้ำมันและไฟ
แต่คอร์รัปชั่นบรรลัย ทำไมไม่ปราบกันเอง
เงินกองทุนบริจาคมันอยู่ไหน
ไอ้ที่ไม่แจกไม่จ่าย หรือจะเก็บกินเอง
(สร้อย x2)

นโยบายมากมายจนล้นพ้น
คนไทยทุกคนจะมีแต่คนดวงเฮง
คนจนต้องหมดจากพื้นดินไทย
เมื่อคนจนอดตาย แล้วมันก็หมดไปเอง
จะร้องเพลงเพื่อระบายความในใจ
ไอ้ที่ไม่ได้ตั้งใจ ก็ว่าไปตามเสียงเพลง
(สร้อย)

แถมด้วย music video เพลงเร็กเก้แนวเศร้าชื่อ “คลื่นกระซิบสั่ง” ซึ่งคุณบรรจบแต่งให้กับภรรยาของคนรู้จักคนหนึ่ง ที่หายตัวไปในวันที่คลื่นลมแรงจัด หลังจากนั้นไม่มีใครพบเห็นเธออีกเลย

(สั่งซื้อ VCD ชุดนี้ได้ที่ eThaiCD.com)

เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของเพลงนี้ชื่อ “PP. Princess Paradise” ก็เนื้อหาดีไม่แพ้กัน:

(โปรดติดตามตอนต่อไป)