“ภูฏาน อารยธรรมแห่งสุดท้าย” หนังสือของผู้เขียนที่รวบรวมบทความที่เคยลงบล็อกนี้ไปแล้วหกตอน (ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 และ ตอนที่ 6) บวกเนื้อหาเพิ่มเติม และอีกสี่ตอนใหม่ พร้อมภาพประกอบสี่ีสีสวยงาม 16 หน้าเต็ม วางแผงแล้วนะคะ จัดพิมพ์โดยโอเพ่นบุ๊คเจ้าเก่า ราคา 190 บาท สามารถ สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่
บทนำ
สุดขอบหล้าฟ้าใสไม่หม่นหมอง
ทุกทุ่งท้องทองปลิวเป็นทิวแถว
หาดหินเกลี้ยงเคียงคุ้งรายรุ้งแนว
คลอคลื่นน้ำใสแจ๋วแวววับวาว
หิมะขาวพราวระยับจับภูผา
ป่าสนเบียดเสียดฟ้าเวหาหาว
หิมาลัยใคร่หมายตะกายดาว
แลดูราวสวรรค์เคลื่อนมาเยือนดิน
……
เมื่อเอ่ยชื่อภูฏาน นักท่องเที่ยวประเภทแบกเป้เข้าป่าคงบ่นอุบว่าอยากไปแต่แพง นักท่องเที่ยวประเภทไปมิลานหรือนิวยอร์คปีละครั้งคงย่นจมูกใส่ และนักท่องเที่ยวประเภทไปฮ่องกงทุกปีช่วงซัมเมอร์เซลล์คงส่ายหน้าไม่รู้จักเลย
ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะประเทศเล็กๆ เพื่อนบ้านของทิเบตแห่งนี้ เพิ่งเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2517 ปัจจุบันเก็บภาษีท่องเที่ยวแพงระยับถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อวัน และไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางในประเทศโดยไม่มีไกด์ท้องถิ่นประกบติด ด้วยเกรงว่าการไหลบ่าของนักท่องเที่ยวจะทำลายสภาพแวดล้อมของประเทศ
“ภูฏาน อารยธรรมแห่งสุดท้าย” หนังสือของผู้เขียนที่รวบรวมบทความที่เคยลงบล็อกนี้ไปแล้วหกตอน (ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 และ ตอนที่ 6) บวกเนื้อหาเพิ่มเติม และอีกสี่ตอนใหม่ พร้อมภาพประกอบสี่ีสีสวยงาม 16 หน้าเต็ม วางแผงแล้วนะคะ จัดพิมพ์โดยโอเพ่นบุ๊คเจ้าเก่า ราคา 190 บาท สามารถ สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่
บทนำ
สุดขอบหล้าฟ้าใสไม่หม่นหมอง
ทุกทุ่งท้องทองปลิวเป็นทิวแถว
หาดหินเกลี้ยงเคียงคุ้งรายรุ้งแนว
คลอคลื่นน้ำใสแจ๋วแวววับวาว
หิมะขาวพราวระยับจับภูผา
ป่าสนเบียดเสียดฟ้าเวหาหาว
หิมาลัยใคร่หมายตะกายดาว
แลดูราวสวรรค์เคลื่อนมาเยือนดิน
……
เมื่อเอ่ยชื่อภูฏาน นักท่องเที่ยวประเภทแบกเป้เข้าป่าคงบ่นอุบว่าอยากไปแต่แพง นักท่องเที่ยวประเภทไปมิลานหรือนิวยอร์คปีละครั้งคงย่นจมูกใส่ และนักท่องเที่ยวประเภทไปฮ่องกงทุกปีช่วงซัมเมอร์เซลล์คงส่ายหน้าไม่รู้จักเลย
ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะประเทศเล็กๆ เพื่อนบ้านของทิเบตแห่งนี้ เพิ่งเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2517 ปัจจุบันเก็บภาษีท่องเที่ยวแพงระยับถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อวัน และไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางในประเทศโดยไม่มีไกด์ท้องถิ่นประกบติด ด้วยเกรงว่าการไหลบ่าของนักท่องเที่ยวจะทำลายสภาพแวดล้อมของประเทศ
ตามเกณฑ์สากลที่ใช้วัดระดับ “ความเจริญ” ภูฏานเป็นหนึ่งใน 40 ประเทศยากจนที่สุดในโลก ทั้งประเทศมีทางหลวงเพียงหนึ่งเส้น ที่วิ่งอย่างฉวัดเฉวียนคดเคี้ยวเลียบเขาจากตะวันตกไปตะวันออก มีถนนเส้นตรงแต่เพียงในเมืองใหญ่สามเมือง (“ใหญ่” ในมาตรฐานภูฏาน คือมีประชากรเกิน 10,000 คน) ว่ากันว่ารถที่วิ่งในภูฏานนั้นต้องหักเลี้ยวทุกๆ 6 วินาที
นอกเหนือจากความอุดมสมบูรณ์ของป่าเขาลำเนาไพร และความท้าทายของยอดเขาหิมาลัยที่อยู่ลิบตาลดหลั่นลงมาจากทิเบต มองเผินๆ ภูฏานไม่น่าจะมีอะไรที่ดึงดูดให้ไปเที่ยว
แต่จุดเล็กๆ บนแผนที่โลกแห่งนี้ มีอะไรบางอย่างที่สะกิดใจนักท่องเที่ยวทุกคนที่ได้ไปเยือน ไม่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะกร้านโลก เจนจัดชั่วโมงบินหรือหลักไมล์มามากเพียงใด
มนต์เสน่ห์ลึกลับของภูฏาน ที่แฝงอยู่ในรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของผู้คน เสียงกรากแกรกของกงล้อภาวนาพลังน้ำที่หมุนอย่างอ้อยอิ่ง และสายลมที่พัดผ่านธงภาวนาหลากสีที่ปักเป็นร้อยๆ อยู่บนเนินเขาทุกลูก สะกดจิตวิญญาณของผู้มาเยือนทุกคน ในหลากหลายรูปแบบ
อาทิเช่น ทำให้คนคิดมาก เสียงดัง มุทะลุร้อนรุ่มอย่างผู้เขียน กลับกลายเป็นคนละคนแทบจะในทันทีที่เครื่องบินร่อนลงแตะพื้นสนามบินเมืองพาโร
กลายเป็นคนใจเย็นที่สามารถนั่งมองภูเขาลูกแล้วลูกเล่าผ่านกระจกมัวๆ ของรถตู้ที่วิ่งโคลงเคลงน่าเวียนหัว ฝุ่นตลบบนถนนเลียบหุบเหวอันคดเคี้ยว ได้อย่างไม่รู้เวลา ไม่รู้เบื่อ และไม่มีเรื่องอะไรติดค้างเกรอะกรังอยู่ในสมอง
……
ในบรรดาประเทศแถบเทือกเขาหิมาลัยทั้งหมด ภูฏานเป็นประเทศเดียวที่ยังรักษาอธิปไตยของตัวเองเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่นและเด็ดเดี่ยว ได้แต่เฝ้ามองประเทศเพื่อนบ้านค่อยๆ ถูกกลืนเป็นส่วนหนึ่งของมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ที่ขนาบเหนือใต้ คือจีนและอินเดีย ไปทีละรายสองราย
ลาดักห์และสิกขิมตกเป็นดินแดนของอินเดียอย่างเงียบเชียบ ก่อนที่คนส่วนใหญ่ในโลกจะงัวเงียขึ้นมาสังเกตเห็น หรือแม้แต่จะล่วงรู้ว่าเคยมีประเทศชื่อนี้อยู่ในโลก
ทิเบตถูกจีนบุกยึดอย่างรุนแรงและเป็นข่าวอึกทึกครึกโครมไปทั่วโลก จนก่อเกิดขบวนการปลดปล่อยที่มีแนวร่วมเป็นดาราฮอลลีวู้ดหลายคน แต่จะพยายามเพียงใด ความหวังของทิเบตที่จะเห็นโปตาลาหรือวัดอื่นๆ ในอ้อมกอด “หลังคาโลก” กลับมากังวานเสียงระฆังขานเพลหรือก้องเสียงสวดมนต์ของพระสงฆ์เช่นในอดีตที่ผ่านมา ดูจะริบหรี่ลงเรื่อยๆ ในเมื่อมีชาวจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนมากเข้าไปตั้งรกรากในทิเบต เบียดบังจนเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมต้องกลายเป็นคนชายขอบ
เนปาลไม่ตกเป็นเมืองขึ้นใคร หากทำร้ายตัวเองด้วยการตัดไม้ทำลายป่าอย่างไม่ลดละ จนเหลือแต่ที่ราบโล่งแห้งแล้ง ไม่สามารถผลิตอาหารเลี้ยงประชากรได้อย่างเพียงพอ ความแร้นแค้นเป็นเหตุให้ประชาชนเรือนแสนตัดสินใจอพยพไปอยู่ภูฏาน กลายเป็นปัญหาคาราคาซังของรัฐบาลภูฏานมาจวบจนทุกวันนี้
ดังนั้น ใครที่อยากสัมผัสวัฒนธรรม และความเป็นอยู่แถบหิมาลัยของแท้ดั้งเดิม ภูฏานเป็นจุดหมายเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
……
ภูฏานไม่เหมือน “ประเทศท่องเที่ยว” อื่นใดในโลกกำลังพัฒนา ตรงที่ไม่มีวิวซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์สากลของการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ไปแล้ว คือตึกระฟ้าแบบตะวันตกที่สูงลิบลิ่ว บดบังกองขยะหรือสลัมที่อยู่เบื้องหลัง (แต่บางครั้งแผลเป็นจากการพัฒนาเหล่านี้ก็อยู่เบื้องหน้าอย่างโจ่งแจ้ง เช่นในมหานครของอินเดียส่วนใหญ่)
นักท่องเที่ยวต้องแกล้งมองไม่เห็น หรืออย่างน้อยก็ไม่สนใจความเป็นสากลเหล่านี้ ระหว่างเดินทางไป “สถานที่ท่องเที่ยว” ต่างๆ ที่ไกด์บุ๊คนิยามว่าเป็น “เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม” ของประเทศนั้นๆ
ย่อมไม่มีไกด์กรุงเทพคนไหนที่จะนำกรุ๊ปทัวร์เยี่ยมชมสลัมคลองเตย ระหว่างทางไปวัดพระแก้ว
ฉะนั้น ใครเลยจะเชื่อว่า ความแปลกแยกแตกต่างระหว่าง “สถานที่ท่องเที่ยว” และ “ความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชากร” เช่นนี้ ไม่มีในภูฏาน
นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนภูฏานเพื่อแสวงหาธรรมชาติบริสุทธิ์หรือพิชิตยอดหิมาลัย ย่อมต้องสังเกตเห็นอิทธิพลของศาสนาและวัฒนธรรม ที่แยกไม่ออกจากวิถีชีวิตชาวภูฏาน เพราะธรรมชาตินั้นอยู่ท่ามกลาง และแวดล้อมหมู่บ้าน วัดวาอาราม ธงภาวนา และกงล้อภาวนาจำนวนนับไม่ถ้วน
เช่นกัน นักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสวัฒนธรรมอันแปลกตาและแปร่งหูที่มีพุทธวัชรยานเป็นองค์ประกอบสำคัญ ย่อมต้องสังเกตเห็นธรรมชาติอันน่าตื่นตาตื่นใจ และวิถีชีวิตของชาวบ้าน ระหว่างทางไปวัดต่างๆ ซึ่งบางวัดอยู่บนยอดเขาที่ต้องใช้เวลาและความอุตสาหะมากกว่าเส้นทางปีนเขาบางเส้น
ภูฏานไม่ซ่อนอะไรจากสายตาของผู้มาเยือน ภูฏานที่แท้จริงเป็นอย่างไร นักท่องเที่ยวก็เห็นอย่างนั้น
ในแง่นี้ ภูฏานอาจเป็นประเทศที่ “กลมกลืน” ที่สุดในโลก
แต่ก็เป็นความกลมกลืนที่ลึกๆ แล้วเต็มไปความย้อนแย้ง
ภูฏานจนเป็นอันดับท้ายๆ ของโลก คืออันดับที่ 189 จาก 222 ประเทศทั่วโลก
…แต่ไม่มีคนจรจัด หรือขอทานในภูฏาน
คนภูฏานมีรายได้ต่อหัวเพียง 4,300 บาทต่อเดือนเท่านั้น ประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรผู้ยากไร้
…แต่บ้านภูฏานล้วนมีขนาดใหญ่โต อย่างน้อยสองหรือสามชั้น ไม่เคยเห็นกระต๊อบหรือเพิงเล็กๆ ไม่ว่าหมู่บ้านนั้นจะแร้นแค้นเพียงใด
พระพุทธเจ้า เทวดา และนักบุญในศาสนาพุทธวัชรยานที่มีต้นตอมาจากทิเบต ผสมผสานกับความเชื่อท้องถิ่น ส่วนใหญ่มีปางดุร้าย หน้าตาเหี้ยมเกรียม น่ากลัวมากกว่าน่าเลื่อมใส
…แต่คนภูฏานที่เห็นส่วนใหญ่มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่เคยเจอเด็กภูฏานคนไหนที่โบกมือให้แล้วไม่โบกตอบ พร้อมแถมรอยยิ้มไล่หลังรถให้เราถ่ายรูปมือเป็นระวิงทุกครั้ง
ความย้อนแย้ง (paradox) เหล่านี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้อย่างไร?
คำตอบของภูฏาน อาจเป็นคำตอบของโลก
……
หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ “หนังสือนำเที่ยว” ทำนองแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ พร้อมที่อยู่และเบอร์ติดต่อของโรงแรมที่พักและร้านอาหาร
แต่เป็น “สมุดบันทึก” ความประทับใจ และข้อคิดต่างๆ ที่ผู้เขียนได้รับจากการไปเยือนภูฏานสิบเจ็ดวันสองครั้ง ระหว่างปี พ.ศ. 2548 และ 2549
เป็นประจักษ์พยานในวันที่ชาวภูฏานกำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การพัฒนาอันแสนสั้นของพวกเขา
ถ้าเป็นคน ภูฏานก็คงเป็นเด็กบ้านนอกวัยคะนองที่กำลังแตกเนื้อหนุ่ม หลงใหลสาวงามคนเมืองชื่อ “ความเจริญ” แต่ไม่แน่ใจว่า เขาต้องลงทุนเปลี่ยนตัวเองขนาดไหนเพื่อให้คู่ควรกับเธอ และเมื่อเปลี่ยนบางมุมของตัวเองไปแล้ว เขาจะยังคงเป็นตัวของตัวเองได้อีกต่อไปหรือไม่
อยากเขียนหนังสือแบบที่ทำให้คนไทยรู้สึกอยากเก็บเงินไปเที่ยวภูฏาน และคนอื่นที่ไม่คิดว่าจะได้ไปเพราะภาษีแพง อย่างน้อยก็ได้สัมผัสบางเสี้ยวของหนึ่งในประเทศที่ “น่ารัก” ที่สุดในโลก
ภูฏานไม่ได้เป็นสมบัติของชาวภูฏานเท่านั้น แต่เป็นสมบัติของคนทั้งโลก
เพราะภูฏานอาจเป็นอารยธรรมแห่งสุดท้าย ที่ทำให้คำขวัญของขบวนการต่อต้านความไม่เป็นธรรมของวิธีการที่ประเทศมหาอำนาจใช้รณรงค์โลกาภิวัตน์ ดูไม่ไกลเกินเอื้อม: