ภูฏาน: อารยธรรมแห่งสุดท้าย? (5)

“ภูฏาน อารยธรรมแห่งสุดท้าย” หนังสือของผู้เขียนที่รวบรวมบทความที่เคยลงบล็อกนี้ไปแล้วหกตอน (ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 และ ตอนที่ 6) บวกเนื้อหาเพิ่มเติม และอีกสี่ตอนใหม่ พร้อมภาพประกอบสี่ีสีสวยงาม 16 หน้าเต็ม วางแผงแล้วนะคะ จัดพิมพ์โดยโอเพ่นบุ๊คเจ้าเก่า ราคา 190 บาท สามารถ สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่

บุมทัง: เสน่ห์ของชนบทภูฏาน

“…พอรถผ่านโค้งหน้า จะมีที่เหมาะสำหรับการยิงกระต่ายและเก็บดอกไม้อีกจุดแล้วนะครับ ท่านใดที่อยากแวะกรุณาเตรียมตัวให้พร้อม” เสียงเพม่าดังทำลายความเงียบที่ปกคลุมรถเรามากว่าสองชั่วโมงแล้ว

ทุกคนถ้าไม่กำลังดื่มด่ำกับวิวสองข้างทาง ก็หลับเอาแรง หรือไม่ก็ต่อสู้กับอาการเมารถตู้ที่วิ่งโคลงเคลงและตีวงเลี้ยวแทบทุกสิบวินาที

“ยิงกระต่าย” และ “เก็บดอกไม้” เป็นโค้ดสุภาพของเพม่าที่มีความหมายเดียวกันกับ “ไปทุ่ง” ในภาษาไทย คำแรกใช้สำหรับผู้ชาย คำที่สองสำหรับผู้หญิง แต่ถึงแม้จะเป็นแค่โค้ด ดอกไม้ป่าอันแสนสวยของภูฏานทำให้พวกเราหลายคนอดไม่ได้ที่จะเก็บดอกไม้จริงๆ ติดไม้ติดมือขึ้นรถมาแทบทุกครั้งหลังเสร็จกิจ

ต้นศรีตรังบนหลังคาบ้าน
ต้นศรีตรังบนหลังคาบ้าน

แม้จะรู้สึกผิดที่ทำลายธรรมชาติอันงดงาม แต่ด้วยตัณหาของนักท่องเที่ยวที่ไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสกลับมาเยือนภูฏานอีกเมื่อไหร่ ก็อดอยากจะนำเศษเสี้ยวของธรรมชาตินั้นติดตัวมากับเราด้วยไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเพม่าบอกว่า ดอกไม้ป่าหลายชนิดที่เราเห็นนั้นเป็นพันธุ์หายาก เช่น ดอกฝิ่นสีฟ้า (blue poppy) ดอกไม้ประจำชาติภูฏาน, ศรีตรัง ดอกไม้สีครามสดที่ฝรั่งเรียกว่า jacaranda, ดอกซากุระ ที่สวยไม่แพ้ในญี่ปุ่น, โรโดเด็นดรอนป่า (wild rhododendron) ดอกไม้ประจำชาติเนปาลที่มีหลายร้อยชนิดให้เห็นในประเทศแถบหิมาลัย ที่เราเห็นบ่อยที่สุดในภูฏานคือดอกสีแดงสด ต้นสูงเด่นชัดเป็นสัญญาณให้เตรียมตัวกดชัตเตอร์แต่ไกล

ดอกแมกโนเลียบานสะพรั่งกลางเดือนเมษายน
ดอกแมกโนเลียบานสะพรั่งกลางเมษา

และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ แมกโนเลีย ต้นไม้มหัศจรรย์ที่สลัดใบทิ้งทั้งต้น เหลือแต่ดอกสีขาวบานสะพรั่งเต็มทุกกิ่งก้าน สูงเสียดแซมต้นไม้อื่นๆ กว่า 20 เมตรขึ้นมาจากขอบเหว เห็นทีไรจะมีคนขอหยุดรถถ่ายรูปแทบทุกครั้ง (แต่ไกด์จะให้หยุดหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

ดอกไม้ป่าอันสวยงามสองข้างทาง เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฤดูใบไม้ผลิระหว่างเดือนมีนาคมและมิถุนายน เป็นช่วงที่เหมาะกับการเยือนภูฏานมากที่สุด (นอกเหนือจากเป็นช่วงที่อากาศดีและมีเทศกาลประจำปีในหลายเมือง) เพราะดอกไม้จะบานเฉพาะในช่วงนี้เท่านั้น


“ภูฏาน อารยธรรมแห่งสุดท้าย” หนังสือของผู้เขียนที่รวบรวมบทความที่เคยลงบล็อกนี้ไปแล้วหกตอน (ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 และ ตอนที่ 6) บวกเนื้อหาเพิ่มเติม และอีกสี่ตอนใหม่ พร้อมภาพประกอบสี่ีสีสวยงาม 16 หน้าเต็ม วางแผงแล้วนะคะ จัดพิมพ์โดยโอเพ่นบุ๊คเจ้าเก่า ราคา 190 บาท สามารถ สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่

บุมทัง: เสน่ห์ของชนบทภูฏาน

“…พอรถผ่านโค้งหน้า จะมีที่เหมาะสำหรับการยิงกระต่ายและเก็บดอกไม้อีกจุดแล้วนะครับ ท่านใดที่อยากแวะกรุณาเตรียมตัวให้พร้อม” เสียงเพม่าดังทำลายความเงียบที่ปกคลุมรถเรามากว่าสองชั่วโมงแล้ว

ทุกคนถ้าไม่กำลังดื่มด่ำกับวิวสองข้างทาง ก็หลับเอาแรง หรือไม่ก็ต่อสู้กับอาการเมารถตู้ที่วิ่งโคลงเคลงและตีวงเลี้ยวแทบทุกสิบวินาที

“ยิงกระต่าย” และ “เก็บดอกไม้” เป็นโค้ดสุภาพของเพม่าที่มีความหมายเดียวกันกับ “ไปทุ่ง” ในภาษาไทย คำแรกใช้สำหรับผู้ชาย คำที่สองสำหรับผู้หญิง แต่ถึงแม้จะเป็นแค่โค้ด ดอกไม้ป่าอันแสนสวยของภูฏานทำให้พวกเราหลายคนอดไม่ได้ที่จะเก็บดอกไม้จริงๆ ติดไม้ติดมือขึ้นรถมาแทบทุกครั้งหลังเสร็จกิจ

ต้นศรีตรังบนหลังคาบ้าน
ต้นศรีตรังบนหลังคาบ้าน

แม้จะรู้สึกผิดที่ทำลายธรรมชาติอันงดงาม แต่ด้วยตัณหาของนักท่องเที่ยวที่ไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสกลับมาเยือนภูฏานอีกเมื่อไหร่ ก็อดอยากจะนำเศษเสี้ยวของธรรมชาตินั้นติดตัวมากับเราด้วยไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเพม่าบอกว่า ดอกไม้ป่าหลายชนิดที่เราเห็นนั้นเป็นพันธุ์หายาก เช่น ดอกฝิ่นสีฟ้า (blue poppy) ดอกไม้ประจำชาติภูฏาน, ศรีตรัง ดอกไม้สีครามสดที่ฝรั่งเรียกว่า jacaranda, ดอกซากุระ ที่สวยไม่แพ้ในญี่ปุ่น, โรโดเด็นดรอนป่า (wild rhododendron) ดอกไม้ประจำชาติเนปาลที่มีหลายร้อยชนิดให้เห็นในประเทศแถบหิมาลัย ที่เราเห็นบ่อยที่สุดในภูฏานคือดอกสีแดงสด ต้นสูงเด่นชัดเป็นสัญญาณให้เตรียมตัวกดชัตเตอร์แต่ไกล

ดอกแมกโนเลียบานสะพรั่งกลางเดือนเมษายน
ดอกแมกโนเลียบานสะพรั่งกลางเมษา

และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ แมกโนเลีย ต้นไม้มหัศจรรย์ที่สลัดใบทิ้งทั้งต้น เหลือแต่ดอกสีขาวบานสะพรั่งเต็มทุกกิ่งก้าน สูงเสียดแซมต้นไม้อื่นๆ กว่า 20 เมตรขึ้นมาจากขอบเหว เห็นทีไรจะมีคนขอหยุดรถถ่ายรูปแทบทุกครั้ง (แต่ไกด์จะให้หยุดหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

ดอกไม้ป่าอันสวยงามสองข้างทาง เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฤดูใบไม้ผลิระหว่างเดือนมีนาคมและมิถุนายน เป็นช่วงที่เหมาะกับการเยือนภูฏานมากที่สุด (นอกเหนือจากเป็นช่วงที่อากาศดีและมีเทศกาลประจำปีในหลายเมือง) เพราะดอกไม้จะบานเฉพาะในช่วงนี้เท่านั้น

ไกด์ภูฏานต้องบอกแขกให้เตรียมตัวก่อนเวลาจอดรถให้คนลงไปยิงกระต่ายและเก็บดอกไม้ เพราะถนนภูฏานมีไหล่ทางที่กว้างพอให้รถจอดข้างทางน้อยมาก ไม่ต้องพูดถึงจุดแวะที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครันตั้งแต่ปั๊มน้ำมันไปจนถึงร้านอาหารแบบในเมืองไทย แต่เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาสำหรับพวกเรานักท่องเที่ยวชาวไทยที่เตรียมเสบียงไปแบบครบเครื่องโดยไม่ต้องมีใครบอก ตั้งแต่ขนมขบเคี้ยว เปลือกส้มแก้เมารถ ไปจนถึงน้ำพริกเผา และแม้กระทั่งหมูย่างข้าวเหนียว ที่พี่เจ้าของร้านอาหารคนหนึ่งมีน้ำใจทำมาหลายสิบห่อเผื่อพวกเราทุกคน

ซากุระบานในภูฏาน
ซากุระบานในภูฏาน

อาหารภูฏานมีอยู่ไม่กี่อย่าง ถ้าไม่นับแกงแบบอินเดีย เนื้อ (วัว หมู แพะ และแกะ) ส่วนใหญ่ใส่พริกกับชีส อร่อยสู้อาหารจานผักไม่ได้ เพราะผักภูฏานแม้จะปลูกได้ไม่กี่ชนิดก็จริงแต่หวานอร่อยมาก โดยเฉพาะแอสพารากัส และมันฝรั่ง รัฐบาลภูฏานเคยเชื้อเชิญให้บริษัทเลย์ ผู้ผลิตมันฝรั่งกรอบรายใหญ่ของโลก มาตั้งฐานการผลิตในภูฏาน แต่เลย์ตอบปฏิเสธด้วยเหตุผลว่ามันฝรั่งภูฏานมีน้ำตาลสูงเกินไป ใช้ทำมันฝรั่งกรอบไม่ได้

ส่วนพริกภูฏานนั้นก็ใช่ย่อย ขนาดพอๆ กับพริกชี้ฟ้าแต่เผ็ดกว่า แม้ไม่เผ็ดเท่าพริกขี้หนู คนภูฏานชอบกินพริกเปล่าๆ จิ้มเกลือ บีบเอาเมล็ดออกก่อนกิน เขามองว่าพริกเป็นผักชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เครื่องปรุงรสเหมือนคนไทย

พอจอดรถให้คนลงไปยิงกระต่ายและเก็บดอกไม้เสร็จแล้วก็ได้เวลาออกเดินทางต่อ

ซักพักเพม่าร้องให้เราดูฝูงลิงหน้าขาวที่โหนตัวอย่างว่องไวอยู่ตามกิ่งไม้บนเขา คนภูฏานเชื่อว่า ถ้าเจอลิงหน้าขาวระหว่างทางจะโชคดี หน้าดำจะโชคร้าย

โดยทั่วไป คนภูฏานเชื่อว่าสีดำเป็นสีนำโชคร้าย ดังนั้นจึงไม่นิยมใช้สีนี้ในการทาสีบ้าน หรือการแต่งตัว

เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเห็นสัตว์ป่าอยู่บนเขาตลอดการเดินทาง บางครั้งรถเราต้องหยุดให้ลิง เก้ง หรือแมวป่าเดินข้ามถนน

พอรถผ่านฝูงจามรี เพม่าก็เล่านิทานเรื่องกำเนิดจามรีให้ฟัง:

“สมัยก่อนภูฏานไม่มีจามรี มีแต่ควาย ปีหนึ่งเกลือขาดแคลน (เกลือมีราคาแพงในภูฏานเพราะประเทศไม่มีทางออกทะเล จึงต้องนำเข้าเกลือจากประเทศเพื่อนบ้าน) ควายกลุ่มหนึ่งจึงอาสาเดินทางขึ้นเหนือไปทิเบตเพื่อนำเกลือกลับมา เนื่องจากทิเบตมีอากาศหนาวเย็น ควายนักเดินทางจึงขอยืมขนจากพรรคพวกไปคลุมร่างกายให้อบอุ่น พอควายขนปุยเดินทางถึงทิเบตก็ตกหลุมรักภูเขาหิมาลัย ตั้งรกรากอยู่ที่นั่น ไม่เดินทางกลับภูฏานอีกต่อไป ควายเหล่านั้นคือบรรพบุรุษของจามรี และถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าควายภูฏานหันหัวไปทางทิศเหนือเสมอเวลายืนอยู่นิ่งๆ เพราะยังเฝ้ารอวันเวลาที่เพื่อนควายขนปุยจะกลับมาจากหิมาลัย”

เสียดายที่ไม่เคยเห็นควายในภูฏาน เลยไม่รู้ว่าพวกมันยังชะเง้อคอรอเพื่อนอยู่หรือเปล่า

……

ใครนั่งที่ริมหน้าต่างรถตู้ต้องเป็นคนไม่กลัวความสูง เพราะถนนแคบจนรถทุกคันต้องขับชิดขอบถนน และความที่ถนนภูฏานแทบไม่มีไหล่ถนน ก็แปลว่าต้องขับชิดขอบเหวลึก 2,000-3,000 เมตรไปตลอดทางด้วย

ปรากฎการณ์ปกติระหว่างทางไปบุมทัง
ปรากฎการณ์ปกติระหว่างทางไปบุมทัง

บางครั้งรถตู้เราต้องหักหลบรถสิบล้อคันมหึมา ที่ตีคู่มาพร้อมกับฝูงจามรีนับสิบตัวที่ชาวบ้านจูงผ่านมาพอดี รถต้องเบียดหลบเจ้าจามรีพวกนี้ด้วย เพราะจามรีไม่เคยหลบเรา (บางครั้งดูเหมือนพวกมันจะตาบอดเสียด้วยซ้ำ) ส่งผลให้คนนั่งริมหน้าต่างไม่ค่อยกล้ามองลงล่าง หรือถามคนขับว่าล้อรถทั้งสี่ยังติดพื้นดีอยู่หรือเปล่า

ระทึกใจกว่าเล่นเรือเหาะตีลังกามาก

แต่อย่างว่า อยากได้รูปสวยๆ ก็ต้องลงทุนกันหน่อย

ดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างสุดขั้วในชั่วพริบตา แปลว่าพวกเราต้องเตรียมตัวกดชัตเตอร์ตลอดเวลา เพราะอาจมีเวลาแค่เสี้ยวนาทีที่จะบันทึกภาพ ถ้าโชคดีจริงๆ ฟ้าดินก็จะเป็นใจให้มีเวลาถ่ายรูปอย่างใจเย็น ดังเช่นรูปชุด “เมฆสวย” ที่น้องป้อ หนึ่งในตากล้องประจำทีมบรรจงบันทึกภาพ ระหว่างเดินทางออกจากเมืองพาโรไปทางทิศตะวันออก

เมฆสวยในภูฏาน เมฆสวยในภูฏาน

เมฆสวยในภูฏาน เมฆสวยในภูฏาน

นับถอยหลังไปหนึ่งปี เรากำลังเดินทางจากทิมพู เมืองหลวงของภูฏาน ไปยังบุมทัง มณฑลในภาคกลางที่มีวัดเก่าแก่ที่สุด ผู้คนเคร่งศาสนาที่สุดของประเทศ

อีกสองวันรถเราจะวิ่งบนอีกข้างของถนนเส้นเดียวกันนี้ เพื่อกลับไปยังทิมพู และเลยไปขึ้นเครื่องบินกลับบ้านที่เมืองพาโร

ภูมิประเทศที่ยากต่อการเดินทาง และการที่ทั้งประเทศมีสนามบินเพียงแห่งเดียวในเมืองพาโร ที่อยู่เกือบสุดขอบชายแดนทิศตะวันตก ทำให้ใครที่มาเยือนภูฏานต้องเผื่อเวลาเป็นสองเท่าของเวลาที่ต้องใช้จริง ดังนั้นถ้าอยากไปไกลถึงบุมทัง ก็ต้องเผื่อเวลา 7-8 วันเป็นอย่างน้อย

เพราะ “ความเจริญ” ของการพัฒนาสมัยใหม่แผ่ขยายจากภาคตะวันตกไปยังภาคตะวันออกของประเทศ การเดินทางจากพาโรไปยังเมืองต่างๆ ทางทิศตะวันออก จึงให้ความรู้สึกราวกับเดินทางย้อนเวลาหาอดีต ยิ่งเดินทางไกลเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเห็นชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมของคนภูฏานมากขึ้นเท่านั้น

เครื่องทำความร้อนในโรงแรมที่บุมทัง
เครื่องทำความร้อนในโรงแรม Mountain Lodge ที่บุมทัง มีตะกร้าหวายใส่ฟืนให้ทุกห้อง

บุมทังถือว่าเป็นบริเวณที่ยังล้าหลังอยู่มาก ชาวบ้านหลายครัวเรือนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ อาศัยแสงไฟจากการเผาเปลือกต้นสนยามค่ำ ทำให้โรงแรมบริเวณนี้ส่วนใหญ่ เช่นโรงแรมที่เราไปพักชื่อ Mountain Lodge ต้องใช้เครื่องปั่นไฟ เวลาแขกโรงแรมอาบน้ำพร้อมกันหลายคนไฟจะดับ น้ำร้อนจะกลายเป็นน้ำเย็นยะเยือกทันที ทำให้เราต้องจัดเวรผลัดกันอาบน้ำเพื่อรักษาสันติสุข และสุขภาพจิตของหมู่คณะ

……

มนต์เสน่ห์แห่งบุมทัง

พอรถเข้าเขตมณฑลบุมทัง ก็เริ่มเห็นนาข้าวสาลีแบบขั้นบันได สลับแซมด้วยสวนแอปเปิ้ล ไร่มันฝรั่ง และไร่หน่อไม้เป็นระยะๆ บุมทังประกอบด้วยหุบเขาสี่แห่ง มีวัดวาอารามมากมาย คนส่วนใหญ่เป็นมังสวิรัติเพราะเคร่งศาสนาพุทธ

อาหารท้องถิ่นของที่นี่คือก๋วยเตี๋ยวเส้นข้าวสาลี สีน้ำตาลอ่อน เหนียวกว่าเส้นใหญ่ไทย รสชาติคล้ายเส้นเฟ็ตตูชินี่ของอิตาลี ผัดกินกับผักแอสพารากัสยิ่งอร่อย

มนต์เสน่ห์แห่งบุมทัง

แถวนี้มีชื่อเสียงเรื่องหวาย บ้านในชนบทบุมทังจะทำจากหวายขัดเป็นลวดลายคล้ายของไทย ไม่ใช้หินหรือคอนกรีตเหมือนบ้านแถบเมืองพาโรหรือทิมพู

เงินช่วยเหลือจากสวิสเซอร์แลนด์ส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาบริเวณนี้ของภูฏาน คนสวิสมาสอนให้คนภูฏานทำชีสแบบสวิส ทำน้ำแอปเปิ้ลไซเดอร์ น้ำผึ้ง และเหล้ารสแอปเปิ้ล ขายนักท่องเที่ยวในโครงการที่เรียกว่า Swiss Guest House ซึ่งเป็นโรงแรมที่เก่าแก่ที่สุดในบุมทังด้วย รสชาติค่อนข้างดี คนในคณะเราซื้อชีสก้อนเท่าเขียงและเหล้าเป็นของฝากหลายก้อนและหลายขวด

ชาวนาในภูฏานไม่ชอบปลูกข้าวสาลี นิยมปลูกข้าวเจ้ามากกว่าเพราะอร่อยกว่าและเก็บเกี่ยวได้ปีละสองครั้ง ชาวนาที่ปลูกข้าวเจ้ามองพวกที่ปลูกข้าวสาลีว่าเป็นพวก “บ้านนอก” เพราะคนที่ปลูกข้าวสาลีคือคนที่อาศัยอยู่ในที่ทุรกันดารที่ปลูกข้าวเจ้าไม่ได้ จึงจำเป็นต้องปลูกข้าวสาลีแทน (ฟังดูคล้ายกับทัศนคติทีคนปลูกข้าวเจ้าในบ้านเราบางคน มองพวกชาวนาที่ปลูกข้าวเหนียวว่าอยู่ไกลปืนเที่ยง)

มนต์เสน่ห์แห่งบุมทัง

ยามเช้าตรู่และพลบค่ำในบุมทังมักเห็นหมอกบางๆ ปกคลุมทั้งหุบเขา ช่วงเมษาที่เรามาเยือน อากาศที่นี่เย็นกว่าที่พาโรและทิมพู แต่ก็ไม่ถึงกับต้องใช้แจ็คเก็ตหนาเตอะ อุณหภูมิประมาณ 8-12 เซลเซียส หนาวกว่านั้นเล็กน้อยหลังอาทิตย์อัสดง

สีเขียวของป่าเขาค่อยๆ เลือนหายเข้าไปในสายหมอก สวยงามจนเข้าใจได้ว่า เหตุใดคนภูฏานจึงรักธรรมชาติ และเอาจริงกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขนาดนี้

แม้คนบุมทังจะเคร่งศาสนาที่สุดในประเทศ คนภูฏานในชนบทส่วนใหญ่ก็เคร่งครัดไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องการถือศีลข้อแรก คือไม่ฆ่าสัตว์

คนมองโลกในแง่ดีอาจบอกว่า นี่แสดงว่าคนภูฏานมีความเมตตาสูง ในขณะที่คนมองโลกในแง่ร้ายอาจแย้งว่า คนภูฏานกลัวตกนรกเพราะบาปกรรมมากกว่าต่างหาก จำไม่ได้แล้วหรือว่าพระโพธิสัตว์และเทวดาในนิกายตันตระนั้นหน้าตาดุดันขนาดไหน

แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร การที่ชาวบ้านภูฏานถือศีลข้อแรกอย่างเคร่งครัดก็ทำให้เกิดปรากฎการณ์อันน่าสนใจเยอะแยะไปหมด

จริงๆ แล้ว ภูฏานยังใช้หลักพุทธธรรมที่สืบทอดมาจากสมัยชับดรุงในการปกครองประเทศ ดังนั้นจึงถือว่าการล่าสัตว์และจับปลาเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ยกเว้นฆ่าเพื่อรับประทานในครอบครัว คนที่จับปลากินกันในครัวเรือนจะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐ และละเว้นจากการจับปลาในฤดูวางไข่ กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อสัตว์ในตลาดเป็นเนื้อที่ชำแหละและนำเข้าจากอินเดีย ที่เหลือเป็นเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าโดยชาวฮินดูที่เข้ามาตั้งรกรากในภูฏาน หรือไม่ก็เป็นสัตว์ที่คนภูฏานรอให้แก่ตายตามธรรมชาติ

ความที่เป็นเนื้อคุณภาพต่ำจากอินเดีย หรือไม่ก็เป็นเนื้อสัตว์ที่แก่ตาย เนื้อสัตว์ในภูฏานเลยเหนียวๆ ไม่ค่อยอร่อยเท่าไหร่ กินแต่ผักสบายใจกว่า

คนบุมทังที่เลี้ยงสัตว์นิยมใช้วิธีผูกวัวติดขอบเหว รอเวลาที่มันจะก้าวพลาดตกเหวลงไปตาย จะได้กินเนื้อวัวโดยไม่ต้องทำบาป

แต่ก็น่าคิดว่า ระหว่างการฆ่าสัตว์ด้วยน้ำมือตัวเอง กับการวางแผนฆ่าด้วยการยืมมือคนอื่นหรือโชคชะตานั้น ระดับของ “บาป” จะต่างกันขนาดนั้นจริงหรือ

ถ้าไม่ลงมือเองอาจไม่นับว่าผิดศีล แต่ในแง่ของบาปบุญคุณโทษ เรื่องอย่างนี้น่าจะเข้าข่าย “แค่คิดก็ผิดแล้ว”

คนแก่ในบุมทังบางคนไม่ดื่มชา เพราะหนอนและแมลงบางชนิดต้องถูกปลิดชีพในกระบวนการผลิตชา คนแก่ที่เคร่งกว่านั้นอีกจะใช้ผ้าผืนบางๆ ปิดหน้าตั้งแต่จมูกลงมาทุกวัน เพราะไม่อยากฆ่าแมลงตัวเล็กๆ โดยบังเอิญถ้ามันติดเข้าจมูกไปกับลมหายใจ

การรักษาศีลอย่างเคร่งครัดขนาดนี้ทำให้บุมทังมีแมลงวันและยุงมากมายกว่าในเมืองอื่นๆ ที่เราไปเยือน ไอ้เรานึกอยากตบก็ไม่กล้าตบต่อหน้าคนท้องถิ่น ต้องพยายามไล่กำมันไว้ในมือแล้วปล่อยออกไปนอกหน้าต่างแทน

มนต์เสน่ห์แห่งบุมทัง

สิ่งหนึ่งที่บุมทังมีไม่น้อยหน้าเมืองอื่นๆ คือหมาจรจัด เพม่าบอกว่าคนภูฏานรักหมามาก สังเกตว่ามีหมาจรจัดเดินเพ่นพ่านเต็มเมืองทุกหนแห่ง ทุกตัวดูอุดมสมบูรณ์เหมือนมีคนเลี้ยง ไม่มีหมาขี้เรื้อนตัวผอมโกรกแบบในกรุงเทพฯ

ปัญหาก็คือหมาพวกนี้หอนเสียงดังและนานมากเวลากลางคืน เป็นที่รำคาญของนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่คงรักหมาเหมือนกัน แต่ไม่ชินกับเสียงเห่าหอนเท่ากับคนภูฏาน

ใครไปเยือนภูฏานขอแนะนำว่า อย่าลืมพกที่อุดหูไปด้วย ไม่งั้นเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน

ปัญหาเรื่องหมาจรจัดนี้เป็นปัญหาเรื้อรังที่รัฐบาลพยายามแก้ไขหลายครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แม้จะอยากจับหมามายิงทิ้งก็ทำไม่ได้เพราะชาวภูฏานผู้รักหมาจะลุกฮือขึ้นประท้วง รัฐบาลเคยจับหมาจรจัดไปปล่อยไว้บนภูเขาสูง แต่ภายในสองเดือนหมาพวกนี้ก็เดินทางกลับมาเพ่นพ่านในเมืองใหม่ (รู้ทางสมกับเป็นหมาภูฏานจริงๆ) จนในที่สุดรัฐบาลตัดสินใจจับหมาจรจัดหลายร้อยตัวมาตอนเพื่อให้ออกลูกไม่ได้ ตัดหางพวกนี้ทิ้งเพื่อให้แยกแยะจากหมาที่คนเลี้ยง

การเคร่งศีลข้อแรกของคนภูฏานยังส่งผลในทางที่เราคิดไม่ถึง เช่น สาเหตุหลักที่ผ้าไหมภูฏานมีความหยาบกว่าไหมไทยหรือไหมจีนหลายเท่า เป็นเพราะคนภูฏานไม่อยากฆ่าหนอนไหม ดังนั้นจึงหยุดกระบวนการไว้ก่อนที่หนอนไหมจะคายเส้นใยออกมาหมด (ซึ่งเป็นจุดที่ไหมมีความละเอียดที่สุด) ทำให้ได้ไหมที่หยาบกว่าถ้าบีบให้หนอนคายออกมาหมดจนตาย (แล้วเอาไปต้มกินเป็นอาหารจานเด็ดแบบคนไทย)

ทาชิเล่าว่า ตอนที่รัฐบาลสวิสเริ่มโครงการพัฒนาธุรกิจน้ำผึ้งในแถบนี้ คนสวิสต้องคิดค้นรังผึ้งแบบพิเศษเพื่อสกัดน้ำผึ้ง เพราะคนภูฏานไม่ยอมใช้ควันรมรังผึ้งแบบวิธีปกติ เพราะกลัวว่าผึ้งจะตาย

ความเมตตา (หรือความกลัวเกรงต่อบาป หรือทั้งสองอย่างก็แล้วแต่) ของคนบุมทังไม่จำกัดแต่เฉพาะกับสัตว์เท่านั้น หากยังเผื่อแผ่ไปถึงสิ่งมีชีวิตชนิดที่เคลื่อนไหวไม่ได้ คือพืชพันธุ์ต่างๆ ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ชาวบ้านจะรอให้ต้นไม้ตาย หรือแก่จนใกล้ตายก่อน จึงจะโค่นมันลงไปใช้สอย และบางครั้งก่อนโค่นก็จะทำพิธีกรรมเพื่อขอขมาผีสางนางไม้ที่อาจอาศัยอยู่ในนั้น

แม้จะล้าหลังในแง่วัตถุ แต่สำหรับอารยธรรมในแง่ความสูงส่งของจิตวิญญาณ ผู้เขียนคิดว่าชาวบุมทังไม่เป็นรองใครในโลก

……

เนื่องจากถนนหนทางภูฏานค่อนข้างแคบและอันตราย รถทัวร์ขนาดใหญ่จึงไม่มีให้เห็น ใช้แต่รถตู้ประมาณสิบห้าที่นั่งในการรับส่งนักท่องเที่ยว ดังนั้นถ้าคณะใหญ่กว่าสิบห้าคนก็ต้องใช้รถตู้สองคันและไกด์สองคน เพราะต้องมีไกด์ชาวภูฏานประจำรถแต่ละคัน

แต่นักท่องเที่ยวไม่ต้องกังวลกับเรื่องเหล่านี้ เพราะการจองรถ จองโรงแรม รวมทั้งการจัดแผนการท่องเที่ยวทั้งหมด รวมอยู่ค่าใช้จ่าย US$200 ต่อหัวต่อวันที่ต้องจ่ายให้กับบริษัททัวร์ภูฏานก่อนออกเดินทาง เงินจำนวนนี้รวมค่าใช้จ่ายทุกประเภทแล้ว ตั้งแต่วีซ่า ภาษีท่องเที่ยว ค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าไกด์ ค่ารถ ค่าอาหาร ฯลฯ

นโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของปรัชญา GNH และเป็นนโยบายที่ภูฏานให้ความสำคัญกว่าตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ภูฏานเลือกดำเนินนโยบายท่องเที่ยวแบบเข้มงวด เช่น รัฐบาลไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าภูฏานด้วยตัวเองโดยไม่มีไกด์ท้องถิ่นประกบไปด้วยตลอดทาง ยกเว้นว่าจะมาเยือนในฐานะแขกของคนภูฏาน นักท่องเที่ยวต้องส่งแผนการเดินทางให้ทางการภูฏาน พร้อมกับแจ้งว่าใช้บริษัททัวร์ท้องถิ่นชื่ออะไร ก่อนจะได้รับอนุมัติวีซ่า เมื่อยื่นเอกสารทั้งหมดผ่านบริษัททัวร์แล้วนักท่องเที่ยวจะได้วีซ่าเมื่อไปถึงสนามบินภูฏาน

วิธี “เหมาจ่าย” แบบนี้ ประจวบกับการที่ไกด์ภูฏานทุกคนพูดภาษาอังกฤษคล่อง และบริษัททัวร์ส่วนใหญ่มีเว็บไซด์ มีอีเมล์ให้ติดต่อ ทำให้การวางแผนไปเที่ยวภูฏานในปัจจุบันเป็นเรื่องสะดวกกว่าสมัยก่อนมาก วางแผนล่วงหน้าเพียง 15-20 วันก็พอ

ใครที่มีเงินเก็บหลายหมื่นบาท สื่อสารภาษาอังกฤษพอรู้เรื่อง ไม่เกี่ยงเรื่องไปทุ่ง และไม่เมารถ (หรือเมาแต่เต็มใจกินยาแก้เมาทุกวัน) ก็สามารถไปเที่ยวภูฏานได้สบาย เริ่มจากการอีเมล์แจ้งความสนใจไปยังบริษัททัวร์ภูฏาน ผ่านเว็บไซด์ของเขาเท่านั้น ว่าจะไปกันกี่คน และสนใจทัวร์ด้านวัฒนธรรมเป็นหลัก หรือด้านธรรมชาติเป็นหลัก

คนไปเที่ยวภูฏานไม่จำเป็นต้องแข็งแรงมาก ยกเว้นจะไปปีนเขาสูงที่ต้องใช้เวลาเดินเป็นวันๆ เพราะอากาศภูฏานไม่บางเท่ากับในทิเบต ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 5,000 เมตรเป็นอย่างต่ำ ที่ราบสูงในภูฏานตลอดทางหลวงนั้นสูงประมาณ 1,500-3,000 เมตร ครั้งแรกที่ขึ้นสูงกว่า 2,500 เมตรอาจรู้สึกหน้ามืด เวียนศีรษะเล็กน้อย แต่หลังจากนั้นร่างกายจะค่อยๆ ปรับตัวได้เองตามธรรมชาติ (แต่เห็นผู้ใหญ่อายุเกิน 70 บางท่านก็พกยาแก้ความสูงติดตัวมาด้วย แถมบอกว่าหาซื้อยาแบบที่กินแล้วไม่ทำให้ง่วงได้เฉพาะในเซ็นทรัลชิดลมเท่านั้น)

ความสะดวกในการจัดทัวร์เที่ยวภูฏานโดยผ่านอินเตอร์เน็ต นับเป็นประโยชน์ข้อหนึ่งของโลกาภิวัตน์ที่ย่อโลกทั้งใบลงได้จริงๆ แต่คนก็ต้องมีศักยภาพเพียงพอที่จะใช้มันให้เป็นประโยชน์ด้วย ในแง่นี้ การที่รัฐบาลภูฏานบังคับให้ทุกโรงเรียนใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการเรียนการสอน นับเป็นนโยบายที่ชาญฉลาด เพราะเป็นการสร้าง “ทางลัด” ให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงขุมความรู้ที่นำไปใช้ในการพัฒนาประเทศได้ นอกเหนือจากจะใช้เป็นช่องทางทำธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ

เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับ ลาทู วังชุก อธิบดีการท่องเที่ยวของภูฏาน ท่านลาทูเล่าให้ฟังว่า รัฐต้องการให้การท่องเที่ยวในประเทศเป็นแบบ “high value, low impact” (คุณค่าสูง ผลกระทบต่ำ) คืออยากได้นักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อ อยู่ในวัยทำงาน แต่ในขณะเดียวกันก็มีวินัย รักธรรมชาติ และสนใจวัฒนธรรมของภูฏานจริงๆ ไม่ใช่มาเที่ยวเพียงเพราะเห่อ “ของแปลก” หรือมากินเหล้าเมากันในป่า ทิ้งขยะกองพะเนินให้เป็นภาระกับเจ้าของบ้าน

ท่านลาทูบอกว่า ปัจจุบันนโยบาย high value, low impact ของภูฏานประสบความสำเร็จค่อนข้างดี นักท่องเที่ยวที่มาภูฏานมีอายุเฉลี่ย 40 ปี อยู่ภูฏานเฉลี่ยคนละ 8 วัน ใช้เงินคนละกว่าวันละ 100 เหรียญสหรัฐ (4,000 บาท – นี่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวนอกเหนือจากราคาเหมาจ่ายคนละ 200 เหรียญสหรัฐต่อวัน) นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดียและยุโรป (ที่คนอินเดียมาเที่ยวเยอะ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะรัฐบาลยกเว้นภาษี 200 เหรียญให้นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย เป็นหนึ่งในข้อตกลงทวิภาคีระหว่างสองประเทศ) แต่พักหลังเริ่มมีทัวร์พุทธศาสนาจากญี่ปุ่นและไทยมามากขึ้น

วิวหุบเขาทิมพู
วิวหุบเขาทิมพู ป้อถ่ายเป็นพาโนรามา

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าภูฏานมีโควตานักท่องเที่ยวในแต่ละปี จริงๆ แล้วภูฏานไม่มีโควตา เพียงแต่ภาษีท่องเที่ยวที่แพง ขั้นตอนการขอวีซ่าที่เข้มงวด ความลำบากในการเดินทาง ภาวะขาดแคลนเครื่องอำนวยความสะดวกสมัยใหม่ และความเป็นดินแดนลี้ลับที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวยังค่อนข้างน้อย ในปี พ.ศ. 2548 ภูฏานมีนักท่องเที่ยวเพียง 13,600 คน แต่ก็นับว่าเป็นตัวเลขที่สูง เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ๆ อย่างทิมพูหรือพาโร ซึ่งมีประชากรเพียง 10,000 – 20,000 คนเท่านั้น

ผู้เขียนถามว่า ทำไมรัฐไม่ลดภาษีท่องเที่ยวลงหน่อย จะได้ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือนภูฏานมากขึ้น เพิ่มรายได้ที่ภูฏานต้องใช้จำนวนมหาศาลในการพัฒนาประเทศ เพราะได้ยินมาว่าภูฏานต้องพึ่งพิงเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศในอัตราส่วนค่อนข้างสูง คือกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของ GDP

ท่านลาทูตอบว่า รัฐบาลพยายามเน้นการสร้างธุรกิจภาคเอกชนให้เป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาประเทศและลดการพึ่งพิงเงินช่วยเหลือ แทนที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ จริงอยู่ นั่นอาจเป็นวิธีหาเงินที่ง่ายที่สุด แต่เนื่องจากภูฏานให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมมาก การเปิดประเทศจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง และค่อยเป็นค่อยไป

ภูฏานยังไม่ค่อยมีนักธุรกิจเอกชนนอกจากในธุรกิจท่องเที่ยว เพราะคนภูฏานส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยกล้าเสี่ยง นอกจากนี้ ความอุดมสมบูรณ์ของปัจจัยสี่ และความพอใจที่จะใช้ชีวิตพอเพียงแบบพุทธ ทำให้คนภูฏานส่วนใหญ่ไม่มีความกระตือรือร้นที่จำเป็นต่อการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ ภายในประเทศ

“ความพอเพียง” เป็นเรื่องน่าสรรเสริญก็จริง แต่ความพอเพียงผิดจังหวะในยามที่ประเทศต้องการความขวนขวายจากปัจเจกชนผู้มีการศึกษา เพื่อหาเงินมาปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ก็อาจฉุดรั้งอัตราการพัฒนาประเทศ และกดดันให้รัฐบาลภูฏานต้องอาศัยเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ภาคเอกชนยังไม่เข้มแข็ง

หากชาวภูฏานขยับมาตรฐานของ “ความพอเพียง” ในชีวิตให้สูงขึ้นเล็กน้อย เพื่อตั้งเป็นเป้าหมายให้ผลักดันตนเองไปสู่จุดนั้น น่าจะเป็นการดีไม่น้อย

อย่างน้อยก็นับเป็นโชคดีของประเทศ เพราะการขยับนิยามของ “ความพอเพียง” ให้สูงขึ้น น่าจะง่ายกว่าการสอนให้ชนชั้นกลางส่วนใหญ่ในโลกที่ติดกับดักบริโภคนิยมไปแล้วจนถอนตัวไม่ขึ้น หันมาเรียนรู้เรื่อง “ความพอเพียง” จากคนภูฏาน

อธิบดีผู้นี้ยังให้แง่คิดที่น่าสนใจว่า การที่นักท่องเที่ยวต้องจ่ายภาษีแพง ทำให้ต้องการใช้เวลาในภูฏานอย่าง “คุ้มค่า” ด้วยการสัมผัสกับธรรมชาติและวัฒนธรรมภูฏานให้ได้มากที่สุดเท่าที่เวลาและโอกาสจะอำนวย ความกระตือรือร้นของนักท่องเที่ยวนี้ก็ช่วยกระตุ้นให้คนภูฏานเอง โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ เกิดความสนใจและความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตน

แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า ในอนาคตเมื่อคนภูฏานรุ่นใหม่มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นในแง่ความสะดวกสบายด้านวัตถุ ความผูกพันกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมก็ย่อมเจือจางลงเรื่อยๆ จนวันหนึ่งคนภูฏานอาจมองวัฒนธรรมโบราณต่างๆ ว่าเป็นเพียง “สินค้า” ขายนักท่องเที่ยวเท่านั้น ไม่มีความสลักสำคัญอะไรกับชีวิตของพวกเขาอีกต่อไป

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าเศร้าอะไร ในเมื่อธรรมชาติของวัฒนธรรมไม่เคยหยุดนิ่ง แต่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ค่านิยม และสภาพแวดล้อมของสังคม

หากสังคมสามารถ “ปลูกถ่าย” สิ่งดีๆ ในวัฒนธรรมเก่า ไปสู่วัฒนธรรมใหม่ เพียงเท่านั้นก็น่าจะพอแล้ว มิใช่หรือ?

หนุ่มภูฏานยุคใหม่อาจเลิกพกถ้วยเหล้าไว้ในกระเป๋าหน้าท้องของชุดประจำชาติ แต่ถ้าน้ำใจยังไม่หกหายไปไหน ไปเลี้ยงเพื่อนตามบาร์ยุคใหม่ก็ใช่ว่าจะด้อยค่ากว่ารินเหล้าเลี้ยงเพื่อนในบ้านตัวเอง

ลองไปสัมผัสชีวิต “คนเมือง” ภูฏานกันบ้างเป็นไร…

(โปรดติดตามตอนต่อไป)